วงการศึกษาในพื้นที่ฯ ไม่ได้กว้างใหญ่อะไรเลย ผมมีโอกาสได้เจอ ท่านรองผู้อำนวยการ สพป.มค.๑ ซึ่งผมเคยทำงานร่วมกันท่านที่ สพป.มค.๓ คือ รองฯ สายทอง ไตรยะวิภาค ท่านมาเป็นประธานเปิดงานนี้ ขอขอบพระคุณในความเมตตาของท่าน แม้เวลาจะผ่านไป ก็ยังให้โอกาสเสมอ
กิจกรรม PLC ครั้งนี้เป็นการจัดต่อเนื่องครั้งที่ ๓ หลังจากที่เรา อบรมถ่ายทอดกระบวนการ ๖ ขั้นของครูตุ๋มไปเมื่อกลางปี ๒๕๖๐ (ผมบันทึกไว้ที่นี่) และอบรมเชิงปฏิบัติการให้ครูพี่เลี้ยง (ผมบันทึกไว้ที่นี่)
๑) BAR (Before Action Review)
เป็นวัฒนธรรม "นำเรียนรู้" แล้ว สำหรับกิจกรรม ทบทวนก่อนการปฏิบัติงาน (Before Action Review) หรือ BAR โดยการตั้งคำถาม ๒ ข้อ (ปกติจะถาม ๔ คำถาม) ได้แก่ ๑) คาดหวังอะไรในวันนี้ ๒) หากบรรลุผลเลิศ จะเกิด/จะได้ อะไร (๓) อุปสรรคอะไรจะทำให้ไม่บรรลุ และ ๔) จะป้องกันอุปสรรคนั้นอย่างไร) .... ผมบรรยายเล่าความเป็นมาของ BAR สร้างความสนใจและกระตุ้นให้นำกิจกรรมนี้ไปใช้บ้าง ผมเขียนบันทึกแนะนำไว้ที่นี่
เราวางและออกแบบกระบวนการที่จะทำกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบ Show & Share ด้วยการเล่าเรื่อง (Story Telling) ในกลุ่มเล็ก แต่พอได้เห็นคำเขียนจากครูจากิจกรรม BAR ผมเปลี่ยนปรับกิจกรรมเป็น อบรมเชิงปฏิบัติการทันที ด้วยที่เหตุที่ ครูส่วนใหญ่ต้องการ "วิธีการ" และ "เทคนิค" การแก้ปัญหานักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และกว่าครึ่งของคุรครูเป็นผู้มาใหม่
๒) วิเคราะห์สภาพและความรุนแรงของปัญหา
เราพากันวิเคราะห์ผู้เรียนแบบ "ครูเพื่อศิษย์" แบบ "รายบุคคล" คือ ให้คุณครูระลึกถึงลูกศิษย์ (นักเรียน) ทีละคนที่ตนรับผิดชอบ ว่า เขามีปัญหาอยู่ในระดับใด โดยใช้ ๖ เหลี่ยมความรุนแรงของปัญหา ๖ ระดับ คือ ๑) อ่านไม่ออก ๒) อ่านออกแต่เขียนไม่ได้ ๓) อ่านออก เขียนได้ แต่ลายมือไม่สวยเลย ๔) อ่านออกเขียนได้ลายมือสวย แต่ทำได้ในปริมาณคำที่น้อยกว่าจำนวนที่ควรจะเป็น ๕) อ่านออก เขียนได้ ลายมือสวย รวยศัพท์คำ แต่นำมาแต่งประโยคไม่ได้ และ ๖) อ่านออก เขียนได้ ลายมือสวย รวยศัพท์คำ นำมาแต่งประโยคได้ แต่แต่งเป็นเรื่องไม่ได้ (เขียนอิสระไม่ได้) นักเรียนคนนั้นอยู่ขั้นไหน พิจารณาไปทีละคนๆ โดยบันทึกไว้โดยใช้ชื่อ ลงในรูปนี้
ผลการสำรวจบอกว่า นักเรียนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นนักเรียนบกพร่องด้านการเรียนรู้ ส่วนนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่จัดว่าเป็น LD จะมีปัญหาอยู่ในระดับที่ ๔ - ๕ - ๖ ซึ่งก็สอดคล้องกลับนักเรียนกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของเพื่อนครู จ.เลย ที่เคยสำรวจไว้ที่นี่
๓) อบรมเชิงปฏิบัติการ "การแก้ปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้โดยใช้กระบวนการ ๖ ขั้น และนักเรียนจิตอาสา
เราใช้วิธีการอบรมเชิงปฏิบัติการไปที่ขั้นๆ เพื่อให้เข้าใจไปทีละขั้นๆ ตั้งแต่ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน คัดลายมือ จำแนกคำ แต่งประโยค และเขียนอิสระ โดยสาธิตการทำแบบฝึก โดยเน้นให้เข้าใจไปพร้อมกันเป็นขั้นตอน
ขอแนะนำให้คุณครูอ่านบันทึกเกี่ยวกับกระบวนการแก้ปัญหาด้วยกระบวนการ ๖ ขั้นของครูตุ๋มที่นี่ และอ่านปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เป็นหลักการสำคัญที่ต้องทำในบันทึกนี้
- แบบฝึกเล่ม ๑ เรื่อง อักษรไทย จะทำไปถึงขั้นตอนที่ ๓ เท่านั้น ไม่ต้องครบ ๖ ขั้นตอน เพราะเป็นการปูพื้นฐานที่จำเป็นเรื่องการอ่านการเขียน
- แบบฝึกเล่มที่ ๒-๔ แม่ ก.กา คำประสมฯ ทำไปถึงขั้นตอนที่ ๔ ถึงการจำแนกคำ
- ส่วน แบบฝึกเล่มที่ ๕ ซึ่งมีลำดับขั้นตอนถึง ๑๕ เล่มย่อย สามารถทำไปถึงขั้นตอนการเขียนอิสระได้เลย คือ ครบทั้ง ๖ ขั้นตอน
- แบบฝึกเล่มที่ ๖ อาจแบ่งออกเป็น ๔ เล่มย่อย ขั้นตอนนี้เตรียมง่าย เพราะสามารถนำหนังสือเรียนมาพาน้องอ่านได้เลย
เนื่องจากเวลาที่มีจำกัดมาก จึงเป็นการจำลองเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว โดยบอกให้ไม่ต้องสนใจความสวยงาม ลงในกระดาษ A4 มีคุณครู ๒-๓ ท่านที่ทำผลงานได้ดีมาก แม้จะต้องทำภายในเวลาจำกัด สามารถแสดงให้เห็นชิ้นงานที่ต้องกลับไปฝึกให้เด็กจิตอาสาพาน้องทำได้ต่อไป
ผลงานคุณครูภาพร ศรีบุญเรือง โรงเรียนบ้านเหล่าตามาอุดมชัย
ผลงานคุณครูคนที่ ๒ ครูลัดดาวัลย์ รัตนพล
คุณครูท่านที่ ๒ คุณครูรัตนา บุญหล้า จากโรงเรียนบ้านใคร่นุ่น
เสียดายที่ผมติดภาระการสอนตอนบ่าย จึงไม่ได้อยู่ร่วม AAR แต่จากการสอบถามครูตุ๋ม ครูตุ๋มส่งข้อสะท้อน AAR มาให้ดังภาพ อ่านแล้วก็ชื่นใจครับ ... ขอเป็นกำลังใจให้คุณครูทุกท่านครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น