นอกจากเครื่องมือหรือวิธีการศึกษาชุมชนเบื้องต้นที่สำคัญ ๓ ประการคือ สังเกต สัมภาษณ์ และสนทนากลุ่มแล้ว (อ่านได้ที่นี่) นิสิตอาจเลือกเอาเครื่องมือหรือวิธิการศึกษาชุมชนในมุมมองของสายมานุษยวิทยา ซึ่งได้จำแนกเครื่องมือในการศึกษาชุมชนเพื่อทำให้การศึกษาชุมชนมีวิธีการที่ชัดเจนขึ้น
ได้แก่ แผนที่เดินดิน ประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชน แผนที่ทรัพยากร แผนผังเครือญาติ
โครงสร้างองค์กรชุมชน และประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ ซึ่งเสนอโดย นพ.โกมาตร
จึงเสถียรทรัพย์ (๒๕๔๕) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
(ถอดบทเรียนจากการศึกษาผลงานของ ผศ.ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
๑) แผนที่เดินดิน
เป็นเครื่องมือในการศึกษาชุมชนด้วยวิธีการเดินสำรวจด้วยตา
และมีการจดบันทึกสิ่งแวดล้อมที่สังเกตพบทั้งในมิติกายภาพ และชีวภาพ
เพื่อสร้างภาพให้เกิดความเข้าใจต่อความหมายทางสังคม (Social meaning) และหน้าที่ทางสังคมของสถาบันต่างๆในชุมชน (Social function) ของพื้นที่กายภาพ ด้วยวิธีการง่ายๆ และใช้เวลาไม่นานในขณะเดียวกันการทำแผนที่เดินดินผู้นำชุมชนและผู้ศึกษาควรวางแผนการสำรวจไปพร้อมกันเพื่อให้ได้รายละเอียดมากที่สุด
(ขอขอบคุณตัวอย่างชิ้นงานจาก นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์ ม.ราชธานี วิทยาเขตอุดรธานี)
เป้าหมายของการใช้แผนที่เดินดินเพื่อการศึกษาชุมชนเพื่อทำให้มองเห็นภาพรวมของชุมชน
และเป็นการเก็บข้อมูลได้ค่อนข้างมากในเวลาที่จำกัด
และสามารถสามารถฉายภาพรวมของชุมชนได้
ในขณะเดียวกันก็ข้อมูลที่ได้ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือเนื่องจากผู้ศึกษาเป็นผู้สังเกตได้ด้วยตนเอง
และสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปขยายรายละเอียดในมิติอื่นๆ
หลักการหรือเทคนิคในการทำแผนที่ชุมชนที่สำคัญๆ
มีดังนี้
- อาจนำแผนที่เก่าที่เคยทำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐาน แล้วตรวจสอบเพิ่มเติมรายละเอียดให้เป็นปัจจุบันขึ้น
- ควรสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนที่เดินดินร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อสร้างกระบวนการเก็บข้อมูลและใช้ข้อมูลร่วมกันเพื่อการพัฒนาชุมชน และการสำรวจควรดำเนินการเป็นทีมเพื่อช่วยในการเก็บรายละเอียด รวมถึงระหว่างการเดินสำรวจควรดำเนินการสังเกต พูดคุย แลกเปลี่ยนกันในระหว่างเดินสำรวจพื้นที่ว่าพื้นที่ที่เห็นบอกเรื่องราวอะไรที่สำคัญของชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในการศึกษาชุมชน
- ไม่ควรใช้รถยนต์ ในการเก็บข้อมูลในกรณีที่เป็นพื้นที่หรือชุมชนที่มีขนาดใหญ่เพราะจะไม่เห็นรายละเอียดของชุมชน หากจำเป็นต้องใช้อาจจะใช้มอเตอร์ไซค์และจอดเป็นระยะเพื่อเก็บข้อมูลและสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
- ต้องเดินสำรวจให้ทั่วถึง โดยเฉพาะบ้านของคนจน คนชายชอบ คนด้อยโอกาสในชุมชน ข้อมูลบางอย่างไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเพียงอย่างเดียว ผู้สำรวจควรสอบถามจากชุมมชนเพิ่มเติม
- สำรวจพื้นที่กายภาพแต่ผู้ศึกษาควรวิเคราะห์ให้เห็นความหมายของปรากฎการณ์ทางสังคมนั้น
๒) ผังเครือญาติ
เป็นเครื่องมือหนึ่งในการถอดความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติในชุมชน
ที่เกิดขึ้นของคนในชุมชนทั้งโดยสายเลือดและจากการแต่งงาน
เพื่อให้รู้จักเครือข่ายทางสังคม (Social Network) การใช้ผังเครือญาติจะมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจชุมชนและสังคม
เพราะเครือญาติเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพื้นฐานของชีวิตและครอบครัวและจะมีความเกี่ยวข้องกันไปตลอดชีวิต
และสามารถทำให้ผู้ศึกษาสร้างความคุ้นเคยกับคนในชุมชนได้อย่างรวดเร็ว
โดยการรู้จักและเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบเครือญาติในชุมชน
๓) โครงสร้างองค์กรชุมชน
เป็นเครื่องมือหนึ่งในการศึกษาความสัมพันธ์ทางสังคมของชาวบ้านในแง่มุมต่างๆ
ทั้งโครงสร้างด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม ของชุมชน ด้วยการศึกษาสถาบัน
องค์กร กลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อทราบถึงความสัมพันธ์เชิงสถานภาพ
บทบาท หน้าที่ และ อำนาจระหว่างองค์กรภายในชุมชน
การศึกษาโครงสร้างองค์กรชุมชนจะช่วยให้ผู้ศึกษาสามารถสังเกตบทบาทสถาบัน
องค์กรและบุคคลต่างๆ ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุมชน
นอกจากนี้จะทำให้ผู้ศึกษาสามารถจัดความสัมพันธ์ของตนเองกับชุมชนได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึง
ชุมชนและสามารถนำข้อมูลมาประกอบภาพของชุมชนให้มีความชัดเจนมากขึ้น
วิธีการการทำผังโครงสร้างองค์กรชุมชน
เริ่มจากการทำความเข้าใจแบบแผนความสัมพันธ์ขององค์กรชุมชนในมิติต่างๆ
ทั้งความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สัมพันธ์ทางสังคม สัมพันธ์ทางการเมือง โดยการสัมภาษณ์
พูดคุย การสังเกต ( มองที่การปฏิบัติการขององค์กร
Organization in Action ) จนเข้าใจแล้ว จึงนำมาประมวลเป็นผังโครงสร้างอย่างเป็นระบบโดยกำหนดสัญลักษณ์ที่ใช้ในการทำผังโครงสร้างองค์กรชุมชน
ตามขั้นตอนดังนี้
- ขั้นที่ 1 เริ่มจากผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในชุมชน ( ทางการ/ ไม่เป็นทางการ ) เขียนเส้นแสดงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับบุคคลทีมีความสัมพันธ์ / บทบาทที่เกี่ยวข้อง ใกล้ชิด
- ขั้นที่ 2 เขียนเส้นแสดงความสัมพันธ์ของคนทุกคนที่อยู่ในแวดวงของผู้นำในลักษณะเดียวกัน
- ขั้นที่ 3 ทำเช่นเดียวกับผู้นำหรือบุคคลอื่นๆ ที่มีความสำคัญในชุมชน เช่น ผู้นำด้านศาสนา พิธีกรรมความเชื่อ ประธานกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนที่ไม่มีตำแหน่งทางการแต่มีบทบาทสำคัญในชุมชน เขียนเป็นเครือข่ายแต่ละบุคคล
- ขั้นที่ 4 นำเครือข่ายของบุคคลต่างๆ มาโยงกัน เป็นผังโครงสร้างองค์กรชุมชน
๔) ระบบสุขภาพชุมชน
การจัดทำแผนผังระบบสุขภาพชุมชน เป็นเครื่องมืออีกชนิดที่ใช้ในการศึกษาชุมชนทำให้เห็นภาพรวมของระบบสุขภาพชุมชนอย่างเชื่อมโยงกับมิติของชุมชนรวมทั้งความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพที่ดำรงอยู่ในชุมชน เพื่อช่วยในการวิเคราะห์
ปัญหา ศักยภาพ และทุนทางสังคมด้านสุขภาพของชุมชน ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการที่ต้องการศึกษาพฤติกรรมหรือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของคนในชุมชน
โดยออกแบบหัวข้อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ประโยชน์ของผู้ศึกษา
แผนผังแสดงระบบสุขภาพชุมชน อาจทำได้หลากหลายแบบ แล้วแต่ความถนัดหรือวัตถุประสงค์ในการศึกษา เช่น เป็นผังแสดงรูป
๕) ปฏิทินชุมชน
เป็นเครื่องมือหนึ่งในการเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านว่าในหนึ่งรอบปี
กิจกรรมการผลิต วัฒนธรรมประเพณีในชุมชนมีอะไรบ้าง เกิดขึ้นอย่างไร
เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านอย่างไร
โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิตชาวบ้าน
ทั้งวงจรและจังหวะการทำงานในรอบปีว่าชาวบ้านทำอย่างไรบ้างในช่วงเวลาใด
และยังเป็นเครื่องมือที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความสัมพันธอันดีกับชาวบ้าน
ในชุมชน และเกิดความรู้สึกที่ดี และมีความไว้วางใจมากขึ้น
และสามารถทราบได้ว่าช่วงเวลาใด จังหวะใดของชุมชนที่เหมาะสมในการวางแผนงานโครงการ
จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
การทำปฏิทินทางเศรษฐกิจ
เริ่มจากการจัดทำปฏิทินทางเศรษฐกิจ แยกประเภทอาชีพของชาวบ้าน ช่วงเวลาใด ทำอะไร
เขียนแจกแจงในแต่ละเดือน เช่น อาชีพทำนา การหว่านไถ ลงกล้า ปักดำ เก็บเกี่ยว
ช่วงใดเดินทางไปทำงานต่างถิ่น แล้วค่อยลงมือจัดทำปฏิทินวัฒนธรรม
ขนบธรรมเนียมประเพณี พิธีกรรมที่สำคัญ ที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของชาวบ้านในชุมชน
และมีอิทธิพลต่อความคิด
ความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในแต่ละเดือน อาจเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในงานประเพณีทั้งหลาย
จะทำให้รู้รายละเอียดเพิ่มขึ้น เช่น ทำอะไรบ้าง ใครเข้าร่วม การประกอบพิธีกรรม
1)ประวัติศาสตร์ชุมชน
เป็นเครื่องมือในการศึกษาเรื่องราวความเป็นมาประวัติศาสตร์ของชุมชนในมิติเศรษฐกิจ
สังคม วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ตลอดจนการเปลียนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชน
การใช้เครื่องมือประวัติศาสตร์ชุมชนจะช่วยให้ผู้ศึกษาเห็นภาพรวมและประวัติความเป็นมาของชุมชนชัดเจนขึ้น
ผ่านมิติของเวลา ที่จะช่วยให้เข้าใจความคิด
เหตุผลและการแสดงออกของผู้คนในระยะเวลาที่แตกต่างกัน
เป้าหมายของการใช้เครื่องมือประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อ
- ทำให้ทราบถึงที่มาที่ไปของปรากฏการณ์ ปัญหาและผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชนแต่ละช่วงเวลา
- ทำให้ทราบพัฒนาการร่วมกันของชุมชน ที่มีส่วนในการกำหนดความรู้สึกนึกคิดของชาวบ้านได้
- ทำให้เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆในชุมชน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนกับชาวบ้าน ความสัมพันธ์ของชุมชนกับนโยบายรัฐ และ ช่วยให้ผู้ศึกษาตีความปรากฏการณ์ของชุมชนตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง ผ่านการวิเคราะห์เรื่องราวของชุมชน และสามารถกำหนดประเด็นที่มีความน่าสนใจและสำคัญในการวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน
ประเด็นในการเก็บข้อมูลด้วยการใช้เครื่องมือประวัติศาสตร์ชุมชน
ไดแก่
- ประวัติความเป็นมาของชุมชน ผู้ก่อตั้ง การขยายตัวของชุมชนแต่ละช่วง
- พิธีกรรมที่ความสำคัญๆในอดีตเป็นอย่างไร
- เหตุการณ์ร่วมที่สำคัญๆ ในชุมชน ที่ผ่านมา เช่น เริ่มมีถนน ไฟฟ้า น้ำประปา เหตุการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง โรคระบาด การเกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การเข้ามาของอาชีพใหม่ในชุมชน การบุกเบิกที่ดินทำกิน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในชุมชนจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ
- เป็นต้น
๗) ประวัติชีวิตบุคคลที่น่าสนใจ
การสัมภาษณ์และถอดบทเรียนจากประวัติชีวีตของบุคคลที่มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ในชุมชน
จะทำให้ผู้ศึกเข้าใจสาเหตุและปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของชุมชนมากขึ้น
โดยมักเขียนในลักษณะ Timeline อธิบายปัญญาปฏิบัติของคนสำคัญในชุมชน
มีนักขับเคลื่อนชุมชนที่สุดยอดท่านหนึ่งบอกว่า "...อยากจะรักมหาวิทยาลัยไหมครับ ... หากท่านอยากจะรักและภูมิใจในมหาวิทยาลัยของเราให้มาก... ให้ท่านลงไปชุมชนให้มากๆ ครับ...." นิสิตจะเข้าใจประโยคนี้ด้วยการปฏฺิบัติเท่านั้น ....
ขอจบเท่านี้ครับ
ป.ล. ในการทดสอบกลางภาคเรียน จะทดสอบด้วยว่า นิสิตรู้จักเครื่องมือเหล่านี้หรือไม่ ประโยชน์ของแต่ละเครื่องมือคืออะไร แม้จะไม่มุ่งเน้นประเมินประสบการณ์หรือความเข้าใจเชิงลึกถึงการนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น