ไปคราวนี้ผมเห็นความสุข ความสนุกสนานในชั้นเรียน เห็นแรงบันดาลใจของเด็กๆ มากขึ้น เห็นบรรยายกาศของการควบคุมสั่งการน้อยลง... เรามาถูกทางแล้ว
นิสิตคนที่ ๑
- จุดเด่นที่สุดของนิสิตคนนี้คือ การจัดทำแบบทดสอบ หรือ ข้อสอบเพื่อประเมินผล ทำได้ดี ตรงประเด็น นิสิตคนอื่นควรจะศึกษาและเอาเป็นแบบอย่าง นิสิตก็ควรจะส่งผลงานของตนเองออกไปให้เพื่อนๆ เป็นวิทยาทาน งานตัวอย่าง
- สิ่งที่พัฒนาขึ้นจากครั้งที่แล้ว
- บรรยายกาศในชั้นเรียนเป็นไปอย่างผ่อนคลาย และสนุกสนาม มากขึ้น นักเรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น ... ครูฝึกสอนลดปฏิสัมพันธ์ของการควบคุมลง
- การออกแบบการสอน การออกแบบสื่อที่ใช้ และการนำมาใช้ในการสื่อสารกับนักเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- มีการแทรกสอน กำกับ กำชับ บ่อยๆ ซ้ำ ย้ำ ทวน เรื่องความปลอดภัย และแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น
- การสร้าง "วัฒนธรรมการเรียนรู้" โดยทำ "กิจวัตรการเรียนรู้" ที่ชัดเจนขึ้น คือมีช่วง "เรารู้อะไร" "ช่วงทบทวนความรู้เดิม" ฯลฯ
- มีช่วงประเมินผลเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนได้สะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง โดยการตั้งคำถามให้ตอบ
- สิ่งที่นิสิตพัฒนาขึ้นใหม่
- การนำ Application "plicker" มาใช้ในการประเมินผลและเช็คชื่อเข้าชั้นเรียน ... น่าสนใจมาก สามารถประเมินและตรวจสอบการมาเรียนด้วยไปในตัว
- สิ่งที่นิสิตยังสามารถพัฒนาได้อีก จากที่เคยแนะนำไว้ในครั้งที่แล้ว
- การสร้างเงื่อนไขก่อนการเรียนรู้ จากการสังเกตพบว่า นิสิตมีความพยายามที่จะนำ "คะแนน" มาผูกใช้กับการควบคุมพฤติกรรมนักเรียน หรือนำมาใช้ในการเสริมแรง แต่ได้ยกให้เป็นเงื่อนไขตั้งแต่แรก หรือไม่ได้กำหนดให้เป็นกติกา
- ระลึกและเน้นเสมอว่า เรากำลังฝึกทักษะกระบวนการ และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ให้เกิดกับนักเรียน ดังนั้น จึงต้องมี "ช่วงกำหนดปัญหา" "ช่วงตั้งสมมติฐาน" "ช่วงรวบรวมข้อมูล หรือช่วงทดลอง " และ "ช่วงสรุปผลการศึกษา/ทดลอง" ... เน้นย้ำแบบนี้ทุกครั้ง นักเรียนจะได้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้กับเรื่องใดๆ ที่ตนจะศึกษา หรือทุกปัญหาที่ต้องการแก้ไข
- การกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้นในแต่ละกลุ่ม เพราะจากการสังเกต นักเรียนยังไม่มีทักษะในการจัดการ แบ่งงาน หรือทำงานเป็นทีม ครูจึงควรเป็นผู้กำหนดให้ก่อน
- สิ่งที่อยากจะแนะนำเพิ่มเติม
- "รอเวลา" "รอคอย" รอคอยให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ภายในตนเอง ให้พิจารณาว่า ช่วงเวลาใดจะทิ้งระยะเวลาให้นักเรียนได้ศึกษาด้วยตนเองหรือภายในกลุ่มบ้าง เช่น อาจกำหนดช่วงตั้งสมมติฐาน แล้วให้นักเรียนช่วยกันตั้งสมมติฐาน โดยบอกว่า จะให้เวลาสัก ๕ นาที เมื่อหมดเวลาก็สุ่มให้ลองนำเสนอสั้นๆ ฯลฯ
- การสะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) แบบเชิงรุก ที่ครูเป็นผู้ตั้งคำถามจี้ไปที่ K ก็ดี เป็นการประเมินผลไปในตัว แต่สิ่งที่ไม่ควรขาดคือ การสะท้อนการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self - Refleciton) ดังนั้น ก่อนจะสอบถามหรือประเมิน ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้ของวันนี้ว่า ได้เรียนรู้อะไรไหม ทำอะไรได้หรือเก่งขึ้น ฯลฯ (ต้องจัดการเวลา ให้ความสำคัญกับส่วนนี้อย่างน้อย ๕-๑๐ นาที)
คนที่ ๒
- สิ่งที่ค่อนข้างโดดเด่นของนิสิตคนที่ ๒ คือ การตั้งคำถาม การสอนโดยการตั้งคำถาม ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการคิดไปเรื่อยๆ และการวางน้ำเสียงและจังหวะจะโคนในการพูด
- สิ่งที่ได้พัฒนาขึ้นจากครั้งที่ ๑ ที่ผ่านมา
- จัดการเวลาของแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนรู้ได้ดีขึ้นมาก
- มีการเน้นย้ำ ซ้ำ ทวน เรื่องแนวปฏิบัติต่างๆ ด้านความปลอดภัยในการใช้เครื่องมือ
- สอนโดยการตั้งคำถาม
- การสอนมีลักษณะให้นักเรียนได้วิเคราะห์และสังเคราะห์จากการทดลองมากขึ้น
- สิ่งใหม่ที่นิสิตพัฒนาตนเองขึ้น
- ลำดับขั้นของการพูด การสอน การวางน้ำเสียง ความเร็วในการพูด
- การเลือกสื่อที่ทำให้ง่ายมากขึ้นสำหรับนักเรียนที่จะเข้าใจได้ ชัดเจน
- ลักษณะการสอนให้นักเรียนได้ทดลองด้วยการ "พาทำ" ที่ละขั้นตอน เพื่อลดภาระในการทำความเข้าใจวิธีการขั้นตอนด้วยตนเอง ซึ่งวิธีนี้เหมาะสำหรับนักเรียนที่ไม่ค่อยมีทักษะเรื่องการทดลองทางวิทยาศาสตร์
- นำเข้าสู่บทเรียนได้น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะการตั้งคำถาม ที่เข้าใจคำถามได้ง่าย แต่ท้าทายมากขึ้น รู้สึกการติดรูปแบบจะลดลงบ้าง
- สิ่งที่เคยแนะนำไว้แต่ยังสามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้ได้อีก
- ต้องจัดเวลาให้มีการสะท้อนการเรียนรู้
- การเขียนศัพท์เฉพาะทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ควรวงเล็บภาษาอังกฤษไว้ให้คุ้นชิน
- กระบวนการกลุ่ม คือ การมอบหมายหน้าที่ให้สมาชิกแต่ละกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น เพราะจากการสังเกต นักเรียนยังไม่สามารถทำงานเป็นกลุ่มหรือเป็นทีมได้ด้วยตนเอง ... ดังที่ได้แนะนำไว้กับนิสิตคนที่ ๑
- ระลึกเสมอว่า "เรากำลังฝึกทักษะกระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์" ให้กับนักเรียน ดังนั้น ในทุกแผนการเรียนการสอน ต้องเน้นว่า นักเรียนจะต้องได้ฝึกขั้นใดหรือทักษะใด
- สิ่งที่นิสิตสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้
- การ "รอคอย" การ "ทิ้งช่วงเวลา" ให้นักเรียนได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นด้วยตนเอง หลังจากการตั้งคำถามสำคัญๆ
จบเท่านี้ครับ สำคัญที่ "การเรียนรู้" ไม่นิ่งดูดายกับปัญหา "ปัญญาปฏิบัติ" จะมาเอง .... ไว้แลกเปลี่ยนกันต่อไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น