ผลลัพธ์ทางการเรียนที่คาดหวัง (Learning Outcome, LO)
LO ในบทเรียนนี้กำหนดไว้เพียง ๒ ประการหลัก ได้แก่
- นิสิตสามารถเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาชุมชนได้
- นิสิตสามารถใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนเบื้องต้นในการเรียนรู้ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมได้
ผลลัพธ์การเรียนรู้โดยละเอียดกำหนดไว้ใน มคอ.๓ (ดาวน์โหลดได้ทีี่นี่) LO ทั้งสองข้อกำหนดไว้กว้างๆ โดยเน้นไปที่การเรียนรู้ร่วมกันและการใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนพื้นฐานเบื้องต้นในการเรียนรู้ชุมชนอย่างมีส่วนร่วมเท่านั้น นิสิตที่จะสามารถศึกษาและบรรลุผลตามนี้ ควรจะมีความรู้และสมรรถนะ ดังต่อไปนี้
- สามารถบอกได้ว่า "ชุมชน" คืออะไร และเนื่องจากชุมชนมีความหมายกว้างขวางมาก จึงเจาะจงลงไปที่ "ชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน"
- สามารถยกตัวอย่าง "ชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนได้"
- สามารถบอกถึงปรัชญาและหลักการในการศึกษาเพื่อพัฒนาชุมชนได้
- สามารถบอกได้ว่า เครื่องมือศึกษาชุมชนเบื้องต้นที่จำเป็นมีอะไรบ้าง
- สามารถอธิบายวิธีการใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนเบื้องต้นที่จำเป็นได้
- สามารถอภิปรายวิธีนำองค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือศึกษาชุมชนไปใช้ได้
- สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจในการศึกษาชุมชนได้อย่างเหมาะสม
- สามารถประเมินความสำเร็จของการศึกษาพื่อพัฒนาชุมชนได้
เนื้อหา
(ถอดบทเรียนจากการบรรยายของอาจารย์สายไหม ไชยศิรินทร์
ประธานสาขาวิชาพัฒนาชุมชน
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
๑) ความหมายของชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
“ชุมชน” มีความหมายที่หลากหลายมาก
แตกต่างไปตามสภาพของสังคม การดำเนินชีวิตของผู้คนในแต่ละพื้นที่
โดยเฉพาะสังคมในยุคโลกาภวัตน์ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง การนิยามความหมายมาจากหลายศาสตร์
ได้แก่ ภูมิศาสตร์ คือ มีอาณาเขต
อาณาบริเวณ พื้นที่ สังคมวิทยา คือ ความสัมพันธ์ของคน วัฒนธรรม วิถีชีวิต
แบบแผนการดำเนินชีวิต มานุษยวิทยา คือ อุดมการณ์ จิตวิญญาณ
และเป้าหมายในการพัฒนาร่วมกัน และจิตวิทยา คือ การมีสำนึกร่วมกัน มีความรู้สึกเป็นพี่เป็นน้องกัน
เช่น
ศาสตราจารย์สัญญาวิวัฒน์
นักสังคมวิทยาอาวุโสของสังคมไทย ได้ให้ความหมายของชุมชนไว้ว่า
"องค์การทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีอาณาเขตครอบคลุมท้องถิ่นหนึ่ง
ที่ปวงสมาชิกสามารถบรรลุถึงความต้องการพื้นฐานส่วนใหญ่และสามารถแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่ในชุมชนของตนเองได้"
ศาตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี
ราษฎรอาวุโสของสังคมไทย ได้ให้ความหมายว่า "การที่คนจำนวนหนึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน
มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความพยายามทำอะไรร่วมกัน
มีการรับรู้ร่วมกันซึ่งรวมถึงการติดต่อสื่อสารกัน”
รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
เป็นรายวิชาที่จัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหลักสูตร
ทำให้ลักษณะของชุมชนที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสาขาหรือหลักสูตรแตกต่างกันมาก
ดังนั้น ความหมายของชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
จึงควรกำหนดให้ครอบคลุมความหมายทั้งหมดที่กล่าวมา และมีความยืดหยุ่นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้เรียนและชุมชน
ดังนี้
ชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
หมายถึง กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน
หรือกลุ่มคนที่มีความสนใจเหมือนกัน
หรือองค์กรทางสังคมที่มีการใช้กฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบร่วมกัน
ที่สมาชิกมีปฏิสัมพันธ์กันหรือความสัมพันธ์กันหรือมีการรับรู้ร่วมกัน
มีการสื่อสารเพื่อทำอะไรร่วมกัน
ชุมชนในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
จึงเป็นชุมชนที่แตกต่างหลากหลายไปตามธรรมชาติทางวิชาการของแต่ละหลักสูตร เช่น
ชุมชนเชิงพื้นที่ (กำหนดอาณาบริเวณ) เช่น หมู่บ้าน เทศบาล ฯลฯ ชุมชนที่เป็นกลุ่มคน
(มีความสนใจเดียวกัน) เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้เลี้ยงปลา กลุ่มทำฟาร์มเห็ด สมาคม
ครูสอนสาระวิชาเดียวกัน ฯลฯ ชุมชนสถาบันทางสังคม เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด
ฯลฯ ชุมชนนักปฏิบัติ (Coperative Community; CoP) หรือชุมชนทางวิชาชีพ
(Professional Learning Community) เช่น ครู อาจารย์
ช่างยนต์ มัคคุเทศก์ ฯลฯ หรืออาจเป็นชุมชนเชิงเศรษฐกิจ
ซึ่งครอบคลุมถึงการซื้อขายออนไลน์ด้วย เช่น ตลาดนัด ตลาดนัดออนไลน์ ฯลฯ
คำว่า "พัฒนา"
หมายถึง กระบวนการเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปยังอีกสภาพหนึ่งในทางที่ดีขึ้น
การพัฒนาอาจแยกได้เป็น ๒ แบบ คือ การริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เช่น การประดิษฐ์คิดค้น
ฯลฯ และการปรับปรุงพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีขึ้น
การพัฒนาต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งด้านวัตถุและจิตใจไปพร้อมๆ กัน
การพัฒนาชุมชนจึงหมายถึง
การพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น ด้วยวิธีการ (Method) ขบวนการ (Movement)
และกระบวนการ (Process) ที่กำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบ
เพื่อให้ชุมชนส่วนรวมดีขึ้น
โดยให้สมาชิกของชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ จุดมุ่งหมายหลักของการพัฒนาชุมชน ๓
ประการ ได้แก่ ชุมชนเข้มแข็ง ชุมชนอยู่ดีมีสุข และชุมชนน่าอยู่
ชุมชนเข้มแข็ง หมายถึง
คนมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาของตนเองและชุมชนได้
สมาชิกแต่ละคนนำความสามารถของตนเองออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์
และที่สำคัญคือสมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาชุมชน มีความสามัคคีกัน
ชุมชนอยู่ดีมีสุข หมายถึง คนในชุมชนคุณภาพชีวิตที่ดี
มีฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวและชุมชนดีขึ้น ชุมชนน่าอยู่ มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
ผู้คนมีจิตใจดี เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ
มีสิทธิและอิสรภาพตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
๓) กระบวนการพัฒนาชุมชน
กระบวนการพัฒนาชุมชน
มีอย่างน้อย ๖ ขั้นตอน ได้แก่ การศึกษาชุมชน การวิเคราะห์ชุมชน
จัดลำดับปัญหาและความต้องการของชุมชน การวางแผนพัฒนาในลักษณะโครงการ การดำเนินโครงการพัฒนาชุมชน
การประเมินผลความสำเร็จของโครงการ และการทบทวนปัญหาและอุปสรรค์
การศึกษาชุมชน คือ
การเข้าไปศึกษาเพื่อทำความเข้าใจในสถานการณ์ต่างๆ ของชุมชน ทั้งทางด้านกายภาพ
สังคม วัฒนธรรม ประเพณี เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ของการศึกษาชุมชนที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ศึกษา
วัตถุประสงค์ของการศึกษาชุมชนหลักๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ๑) เพื่อหาข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ๒) เพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่หรือเพิ่มเติมองค์ความรู้เดิมเกี่ยวกับชุมชนเป้าหมายมากยิ่งขึ้น และ ๓) เพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ศึกษา
๔) วิธีการและเครื่องมือในการศึกษาชุมชน
(เรียบเรียงจากผลงานของ ผศ.ดร.กนกพร รัตนสุธีระกุล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)
การศึกษาชุมชนที่จะทำความเข้าใจบริบทของชุมชน
ทำเป็นต้องอาศัยการใช้เครื่องมือที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การศึกษาในมิติต่างๆ
เพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อและเที่ยงตรง
โดยปกติแล้วกระบวนการศึกษาชุมชนจะเกี่ยวข้องกับประเด็นที่เป็นสภาพทั่วไป
ทุนของชุมชน ปัญหาและความต้องการของชุมชน
เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านั้นในการนำทางไปสู่การวางแผนเพื่อพัฒนาชุมชน
โดยมีเครื่องมือที่สำคัญๆ ๓ ประการ ได้แก่ การสังเกต (Observation) การสัมภาษณ์ (Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus
group) ดังมีรายละเอียดดังนี้
๔.๑) การสังเกต (Observation)
ความหมาย
การสังเกตคือ กระบวนการการเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นหรือปรากฏการณ์
โดยใช้ โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น หรือผิวกายสัมผัส อย่างเอาใจใส่
อย่างมีระเบียบวิธี เพื่อวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ๆ
กับบริบทรอบข้าง วัตถุประสงค์หลักของการสังเกตคือการทำความเข้าใจลักษณะธรรมชาติและปรากฏการณ์ของชุมชน
และพฤติกรรมของผู้คนในชุมชน
ประเภทของการสังเกต
โดยปกติแล้วการสังเกตมี 2 ประเภทได้แก่
๑) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant
Observation/Field observation) คือ
กระบวนการที่ผู้สังเกตเข้าไปมีส่วนร่วมในชุมชนหรือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนที่ทำการศึกษา
ทำกิจกรรมร่วมกันและทำให้คนในชุมชนยอมรับ
๒) การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม (Non-Participant
Observation) เป็นกระบวนการสังเกตที่ผู้สังเกตเฝ้าอยู่วงนอก
ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมกลุ่มที่ทำการศึกษา
เป็นเพียงเฝ้าสังเกตพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยเป็น ภายใต้การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมยังจำแนกออกเป็น
๒.๑) การสังเกตแบบมีโครงสร้าง (Structure
observation) เป็นการสังเกตการณ์ที่เป็นระบบ
ผู้ศึกษาทราบถึงวัตถุประสงค์ของการสังเกตการณ์
มีการเตรียมการสิ่งที่ต้องการสังเกตไว้ล่วงหน้า ข้อที่ต้องศึกษา
และวิธีการวิเคราะห์ทำให้สามารถที่จะสังเกตการณ์อย่างเป็นระบบ
๒.๒) การสังเกตแบบไม่มีโครงสร้าง (Unstructured
observation) เป็นการสังเกตการณ์ที่ผู้ศึกษาได้เตรียมวัตถุประสงค์ของการสังเกตไว้ล่วงหน้า
เนื่องจากการสังเกตแบบนี้เป็นการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงตามธรรมชาติ
ตามปกติวิสัย และพฤติกรรมที่แสดงออกจึงเป็นไปตามเงื่อนไขของบุคคลนั้น
ผู้ศึกษาไม่อาจจะเตรียมการไว้ล่วงหน้าได้
- สามารถสังเกตหรือบันทึกพฤติกรรมได้ทันที่ที่เกิดขึ้น ทำให้สามารถจดบันทึก เรียบเรียงสิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างรวดเร็ว
- ได้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงตรงกับสภาวการณ์จริงของพฤติกรรมนั้น โดยปราศจากอคติ ความลำเอียง หรือตีความไปในประเด็นที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
ข้อจำกัดของการสังเกต
- ไม่สามารถที่จะทำนายได้อย่างแน่ชัดว่า เหตุการณ์ๆหนึ่งจะเกิดตามธรรมชาติเมื่อใด จึงสังเกตการณ์ได้ทัน
- มีสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยภายนอกที่ไม่คาดคิดมาก่อน
เทคนิคเบื้องต้นของการสังเกต
- เทคนิคในการสังเกตมีหลากหลาย ไม่ตายตัว นิสิตอาจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายๆ วีธีในการสังเกต
- สังเกตและจดบันทึกทุกอย่างที่มองเห็นในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง
- รอให้มีเหตุการณ์ ที่สะดุดตา สะดุดใจ แล้วจึงเริ่มการสังเกตในประเด็นที่สอดคล้องกับความสนใจของผู้สังเกต
- สังเกตสิ่งที่เห็นว่าเป็นความขัดแย้ง เป็นปัญหา เริ่มสังเกตจากสิ่งที่ชาวบ้านมองว่าเป็นปัญหา
ในขณะเดียวกันในการบันทึกข้อมูลที่สังเกตเห็นจะต้องรีบจดบันทึกสั้นๆ
เพื่อกันลืมแล้วขยายใจความทีหลัง อาจวาดภาพ แผนผังประกอบการบันทึก
ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงด้วยว่าในขณะที่บันทึกผู้สังเกตจะต้องดูบรรยากาศเหตุการณ์ว่าอำนวยในการบันทึกหรือไม่
๔.๒) การสัมภาษณ์ (Interview)
ความหมายของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ คือ
การสนทนาซักถามอย่างมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องการ
ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ จะช่วยอธิบายสิ่งที่พบเห็นหรือสังเกตได้
ซึ่งจำเป็นต้องมีโครงสร้างของคำถามและสามารถควบคุมทิศทางโครงสร้างของเนื้อหาให้เป็นเรื่องที่ต้องการทราบหรือปัญหาในการศึกษา
(มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2540)
โดยมีจุดสนใจของการสัมภาษณ์ คือ การหาข้อมูลเกี่ยวกับกฎ ระเบียบหรือ
ระบบความหมายที่เหตุการณ์หรือปรากฎการณ์สังคมหนึ่งๆ มีอยู่
องค์ประกอบของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์จะเกิดขึ้นเมื่อมีการกระทำหรือความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างผู้ถูก(ให้)สัมภาษณ์และผู้สัมภาษณ์ โดยหลักของการสัมภาษณ์ที่ดีควรต้องคำนึงทั้งผู้สัมภาษณ์และผู้ให้สัมภาษณ์ดังนี้
- ผู้ให้สัมภาษณ์ เป็นบุคคลที่สามารถให้ข้อมูลที่แท้จริงในประเด็นที่ต้องการศึกษา ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์สามารถที่จะแสดงออกในการตอบคำถาม ตามความคิดเห็นของตนเอง
- ผู้สัมภาษณ์ อาจจะเป็นผู้ศึกษา และ หรือ บุคคลอื่นที่ผู้ศึกษาได้คัดเลือกให้เป็นผู้สัมภาษณ์ ซึ่งต้องได้รับการฝึกฝนวิธีการสัมภาษณ์ ในขณะเดียวกันผู้สัมภาษณ์จะต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของเรื่องที่จะทำการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อให้สามารถซักถามผู้ให้สัมภาษณ์ได้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์
ประเภทของการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์สามารถแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการศึกษาได้
๓ ประเภท ได้แก่
- การสัมภาษณ์แบบเจาะจง (Focus Group Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่เจาะจงหัวข้อเรื่องที่ต้องการข้อมูล เช่น การสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่ง เช่น การบริหารกองทุนหมู่บ้าน
- การสัมภาษณ์ที่ไม่กำหนดคำตอบล่วงหน้า (Non-Directive Interview) เป็นวิธีการสัมภาษณ์ที่ต้องการรายละเอียดมากที่สุดในเรื่องที่ผู้ศึกษาต้องการ เช่น การสัมภาษณ์ของนักจิตวิทยาต่อผู้ป่วย
- การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-dept Interview) เป็นวิธีการสัมภาษณ์ซึ่งต้องการรายละเอียดมากที่สุดในเรื่องที่ผู้ศึกษาต้องการและผู้ศึกษาเองก็ต้องมีกระบวนการเตรียมข้อมูลเพื่อที่จะสัมภาษณ์ เช่น การสัมภาษณ์ชีวประวัติบุคคล
แบ่งตามเทคนิคการสัมภาษณ์
แบ่งได้ ๓ ประเภท ได้แก่
- การสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง (Structured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ผู้ถูกสัมภาษณ์ถามคำถามต่างๆที่มีไว้ในแบบสัมภาษณ์ โดยไม่สามารถที่จะดัดแปลงเป็นคำถามอื่นๆได้ เป็นการสร้างมาตรฐานเดียวกันกับการสัมภาษณ์บุคคลอื่นๆด้วยเช่นกัน
- การสัมภาษณ์อย่างไม่มีโครงสร้าง (Unstructured Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีกรอบในคำถามของการสัมภาษณ์ที่แน่นอน ชัดเจน เป็นเพียงแนวทางกว้างๆในการสัมภาษณ์ (Interview guide) ซึ่งสร้างขึ้นเป็นประด็นหรือหัวข้อในการสัมภาษณ์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการ โดยผู้สัมภาษณ์จะต้องกำหนดว่าต้องการสัมภาษณ์ในประเด็นอะไร เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ได้แสดงความคิดเห็นต่อข้อคำถามได้อย่างเปิดกว้าง
- การสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structure Interview) เป็นการสัมภาษณ์ที่ประกอบด้วยคำถามต่างๆในแบบสอบถามแต่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนของคำตอบ
หลักการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์เพื่อให้ได้คำตอบที่น่าเชื่อถือ
เที่ยงตรงจะต้องมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- การแนะนำตัวเอง (Introduction) ผู้สัมภาษณ์จะต้องแนะนำตัวเองเสียก่อนเพื่อให้ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ทราบและคุ้นเคย และจะต้องสังเกตในขณะเดียวกันว่าผู้ให้สัมภาษณ์มีความพร้อมที่จะให้สัมภาษณ์หรือไม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของระยะเวลาและสถานที่
- หลักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี (Good Relationship) เป็นขั้นตอนการสัมภาษณ์ที่จะต้องสร้างความคุ้นเคย มีมนุษยสัมพันธ์อันดีต่อผู้ให้สัมภาษณ์
- การเข้าใจวัตถุประสงค์ (Objective) โดยผู้สัมภาษณ์จะต้องมีความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์ของคำถามที่กำหนดขึ้น เพื่อที่จะทำให้เกิดความเข้าใจในการซักถาม และควรจะต้องแจ้งวัตถุประสงค์ของการสัมภาษณ์ให้แก่ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกครั้งเพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจร่วม
- การจดบันทึก (Take note) ในทุกกระบวนการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะต้องเตรียมการจดบันทึกในขณะที่ทำการสัมภาษณ์ การจดบันทึกเพื่อให้ได้คำตอบที่ได้โดยเป็นการบันทึกลงในแบบสัมภาษณ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งขั้นตอนนี้ผู้สัมภาษณ์จะต้องมีความตั้งใจ ในการเก็บประเด็นการสัมภาษณ์ เพื่อให้ข้อมูลที่สมบูรณ์
- เทคนิคที่สำคัญในระหว่างการสัมภาษณ์ ประกอบไปด้วย
- การสังเกตกริยา พฤติกรรม สิ่งแวดล้อมและบรรยากาศรอบๆของผู้ให้สัมภาษณ์
- การฟัง (listening) ผู้สัมภาษณ์จะต้องตั้งใจฟัง ยอมรับบทสนทนาของผู้ให้สัมภาษณ์แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ศึกษา
- การซักถาม (Questioning) ผู้สัมภาษณ์จะต้อมีทักษะในการรู้จักตั้งคำถาม เพื่อให้เข้าใจง่ายและไม่ชี้นำในการตอบคำถาม
- การถามซ้ำ (probling) การถามซ้ำจะดำเนินในกรณีที่ต้องการกระตุ้นคำถามเพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงประเด็น หรือเพื่อสร้างความชัดเจนในคำตอบ หรือเพื่อให้ได้ภาพรายละเอียดอย่างต่อเนื่อง (channel probe) หรือเพื่อสังเกตปฏิกิริยาตอบรับของผู้ให้สัมภาษณ์
- การกล่าวขอบคุณ เป็นกระบวนการสุดท้ายของการสัมภาษณ์ โดยเมื่อเสร็จสิ้นการสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์จะต้องกล่าวขอบคุณแก่ผู้ให้สัมภาษณ์ ที่เสียสละเวลาในการให้สัมภาษณ์ โดยปกติการสัมภาษณ์ที่ดีไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง การสัมภาษณ์ที่เหมาะสมควรอยู่ในระหว่าง 30-45 นาที
ข้อดีของการสัมภาษณ์
- ผู้สัมภาษณ์ เป็นการติดต่อโดยตรงระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้ถูกสัมภาษณ์ (two way communication) ซึ่งสามารถทำความเข้าใจในข้อมูลได้ตรงกัน ได้คำตอบที่ต้องการอย่างสมบูรณ์ และสามารถอธิบายข้อสงสัยต่างๆให้ผู้ตอบได้
- สามารถเก็บข้อมูลได้กับกลุ่มเป้าหมายทุกระดับ ไม่ใช่เฉพาะผู้ที่อ่านออกเขียนได้เท่านั้น
- สามารถสังเกตบริบทสภาพแวดล้อมในระหว่างการสัมภาษณ์ได้
ข้อจำกัดของการสัมภาษณ์
- ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์จะน่าเชื่อถือ และสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อผู้สัมภาษณ์ให้ความร่วมมือ และผู้สัมภาษณ์มีเทคนิคและทักษะในการสัมภาษณ์ และการตั้งคำถามเพื่อตอบให้ได้ตรงตามประเด็นที่ต้องการ
- การสัมภาษณ์บางครั้งขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทันทีของผู้ให้สัมภาษณ์ อาจทำให้ข้อมูลผิดพลาดได้
- สิ้นเปลืองเวลา ค่าใช้จ่าย และแรงงาน
๔.๓) เทคนิคการสนทนากลุ่ม (Focus Group)
ความหมายของการสนทนากลุ่ม
การสนทนากลุ่ม
เป็นวิธีการศึกษาชุมชนที่ต้องการเก็บรวบรวมข้อมูลในภาพรวม เช่น ทัศนคติ
ความคิดเห็น
ซึ่งมักจะเริ่มจากการเลือกบุคคลที่มีคุณลักษณะทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน
(Homogeneous group) มารวมกลุ่มเพื่อสนทนากัน
โดยจะมีผู้นำการสนทนา ที่เรียกว่า Moderator ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถในการนำประเด็นการสนทนาและมีทักษะในการควบคุมสถานการณ์ในการสนทนาได้เป็นอย่างดี
โดยปกติแล้วการสนทนากลุ่มจะต้องเลือกสถานที่ที่มีบรรยากาศที่สงบปราศจากเสียงรบกวน
หรือมีปัจจัยภายนอกเข้ามารบกวน
รูปแบบการสนทนากลุ่ม
จะเป็นการนั่งพูดคุยสนทนาระหว่างคนมากกว่า ๒ คน แต่ไม่เกิน ๑๒ คน หรือ
การเป็นพูดคุยกลุ่มเล็ก
โดยมีผู้ดำเนินการสนทนาและมีผู้คอยจดประเด็นการพูดคุยของสมาชกในกลุ่ม
ชัดจูงให้ผู้ร่วมสนทนาให้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นที่ยกขึ้นมาเพื่อเปิดกว้างให้ผู้เข้าร่วมสนทนา
ร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นร่วมกัน และหาข้อสรุป
องค์ประกอบของการสนทนากลุ่ม
บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- ผู้ดำเนินการสนทนา (Moderator) ผู้ดำเนินการสนทนาจะต้องเป้นผู้ที่สื่อสารภาษาถิ่นได้ถูกต้อง มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความรู้ ความเข้าใจต่อวัตถุประสงค์การศึกษาเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถตั้งประเด็นการสนทนาได้
- ผู้จดบันทึกการสนทนา (Notetaker) ทำหน้าที่ในการจดบันทึกตามประเด็นที่ผู้ร่วมสนทนาได้แสดงความคิดเห็น และเชื่อมโยงประเด็นเข้าสู่ข้อมูลที่ต้องการศึกษา
- ผู้ช่วย (Assistant) ผู้ช่วยทำหน้าที่ช่วยเหลือในการประชุมการสนทนากลุ่มเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย
ขั้นตอนการสนทนากลุ่ม
ขั้นตอนในการสนทนากลุ่ม
ประกอบด้วย
- การเลือกบุคคลที่จะเข้าร่วมการสนทนากลุ่ม จำนวน ๖-๑๒ คน
- นำผู้เข้าร่วมกันสนทนามาพบกันที่จุดหมาย
- ผู้ดำเนินการสนทนาแนะนำตัวเอง อธิบายวัตถุประสงค์ของการสนทนา สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ขอความยินยอมจากผู้เข้าร่วมสนทนาหากต้องการบันทึกเสียง
- เริ่มการสนทนาตามแนวทางการสนทนาที่ได้ดำเนินการเตรียมประเด็นคำถามไว้
- สรปุประเด็น เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการสนทนาซักถาม และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
- กล่าวขอบคุณ
๕) เทคนิคการเรียนรู้ในชุมชน
ปรัชญาหรือกระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง
ก่อนที่จะเข้าศึกษาชุมชน ผู้ปฏิบัติงานพัฒนาจะต้องมีฐานคิดสำคัญต่อการมองภาพของชุมชน
4 ประการ ดังนี้
- ชุมชนไม่ใช่ภาชนะที่ว่างเปล่า การมองชุมชน “เปรียบเสมือนกับภาชนะว่างเปล่า ที่ไม่มีอะไรอยู่ข้างในเลย” จะเกิดการเข้าไปกำหนดทุกอย่าง โดยไม่ได้ดูว่าชุมชนมีศักยภาพหรือทุนทางสังคมอะไรอยู่บ้าง ทำให้ชุมชนต้องเป็นฝ่ายรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ หรือ องค์กรภายนอกที่จะนำความรู้ เทคโนโลยีอุปกรณ์ เครื่องมือ และระเบียบวิธีการจัดการต่างๆ เข้าไปให้ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดในการพัฒนาชุมชน
- ชุมชนไม่ได้อยู่แบบแยกส่วนในแต่ละมิติ หากแต่ชุมชนคือองค์รวม และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันทั้งในมิติของประวัติศาสตร์ โครงสร้างสังคม ระบบเศรษฐกิจ ระบบความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี ดังนั้นผู้ปฏิบัติงานไม่ควรมองชุมชนแบบขาดการเชื่อมโยง เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องแยกเป็นส่วนๆ โดยไม่มองปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลเชื่อมโยงถึงกัน
- ชุมชนไม่ได้มีองค์กรเดียว เมื่อลงไปเกี่ยวข้องกับองค์กรชุมชน เรามักจะนึกถึงองค์กรผู้นำที่เป็นทางการอย่างเดียว เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ผู้ใหญ่บ้าน (ผญ.บ.) กรรมการหมู่บ้าน (กม.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในขณะที่องค์กรหรือผู้นำธรรมชาติอื่นๆ นั้นเรามักไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ในวิถีชีวิตจริงของชาวบ้านมักมีกลุ่มที่รวมตัวกันเองตามธรรมชาติ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุที่ถือศีลอยู่ในวัดช่วงเข้าพรรษา กลุ่มคนเลี้ยงวัว กลุ่มแม่บ้านที่รวมตัวกันไปปลูกแตงในฤดูแล้ง กลุ่มพ่อบ้านที่รวมตัวกันไปทำงานต่างถิ่น หรือแม้แต่คณะกรรมการผ้าป่า กลุ่มศรัทธาวัด หรือกลุ่มเล่นแชร์ ซึ่งล้วนแต่เป็นองค์กรชุมชนลักษณะหนึ่ง แต่เรามักไม่ได้ให้ความสนใจกับองค์กรที่ไม่เป็นทางการเหล่านี้ ทำให้เราเห็นศักยภาพของชุมชนอย่างจำกัด (โกมาตร, 2550)
- ชุมชนทุกชุมชนไม่เหมือนกันหมด หากนักพัฒนามีฐานมาจากความคิดที่ว่า “หากแผนงานโครงการหนึ่งทำสำเร็จในที่หนึ่งก็สามารถขยายผลไปทำในที่อื่นๆ ได้ทั่วประเทศ” อาจจะไม่ใช่ข้อสรุป เพราะชุมชนแต่ละชุมชนมีบริบท สภาพแวดล้อม ทุนทางสังคม ปัจจัย เงื่อนไข ข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้นการทำงานพัฒนาชุมชน จะต้องให้ความสำคัญต่อการศึกษาชุมชนเพื่อนำไปสู่การวางแผนที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน (real need)
ทำความเข้าใจหลักการศึกษาชุมชน
หลักในการศึกษาชุมชนสำคัญๆ มีดังต่อไปนี้
- คำนึงถึงความต้องการและความสนใจของสมาชิกชุมชน โดยต้องคำนึงถึงเสมอว่าชุมชนมีความหลากหลายและอาจขัดแย้งได้
- ควรให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการศึกษา ชุมชน/ท้องถิ่น ตนเอง เพื่อพัฒนาจิตสำนึก ประเด็นปัญหา เช่น บุคคลประเภทใดและใครที่ควรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการศึกษาพัฒนา
- วิธีการศึกษา ได้แก่การสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม ให้สมาชิกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล สรุปข้อมูล ทำให้เกิดความตระหนักด้วยตนเอง การลงไปชุมชนแล้ววิจัยเฉยๆ ไม่เห็นผล ต้องมีการปฏิบัติการด้วย
- สิ่งที่ควรพิจารณาในการศึกษาชุมชนเพื่อการพัฒนาคือ ความไม่เท่าเทียมกันของศักยภาพของกลุ่ม บุคคลต่างๆ ความตั้งใจ เวลา ความรู้ ความร่วมมือ ทรัพยากรอื่นๆ เช่น เงิน วัตถุ วัฒนธรรม สถานที่ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายของคนที่สนใจ แต่ละกลุ่มสนใจงานพัฒนาไม่เหมือนกัน จุดมุ่งหมายต่างกัน
- มองบริบทของชุมชน เช่น ลักษณะสภาวะและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน บทบาทองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ปัญหาสำคัญของชุมชน ประเพณี ความเชื่อ ค่านิยมสำคัญของชุมชน
การเตรียมตัวเข้าชมุชน
ในกระบวนการเก็บข้อมูลชุมชน คำว่า
สนาม หมายถึง พื้นที่ หรือ ปรากฏการณ์ทางสังคม ชุมชน ที่เราจะศึกษา สนาม อาจจะเป็นหมู่บ้านในชนบท
ชุมชนแออัดในเมือง
ดังนั้นการเตรียมตัวทำงานภาคสนามจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปูพื้นฐานเพื่อให้สามารถมองเห็นภาพรวมของแต่ละชุมชนที่นักพัฒนาลงไปปฏิบัติงาน
ต้องวางแผนการเข้าพื้นที่โดยคำนึงถึงความผสมกลมกลืนที่และดูเป็นธรรมชาติมากสุด (สุภางค์ จันทวานิช, 2546
) เช่น
- การแต่งกายที่เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่
- การวางตัวที่เหมาะสม เช่น ไม่ควรดื่มเหล้าจนเมามาย ไม่ควรเกี่ยวพาราสีหญิงสาวในชุมชน ควรวางตัวให้เรียบร้อยเพื่อให้สอดคล้องกับแบบแผนประเพณีของแต่ละท้องถิ่น
- การเตรียมอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นในการปฏิบัติงานภาคสนาม เช่น กล้องถ่ายภาพ เทปบันทึกเสียง
- การใช้ภาษาที่เหมาะสม สุภาพ และเป็นกันเอง
- การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นก่อนลงศึกษาภาคสนาม เช่น การศึกษาค้นคว้าข้อมูลของชุมชนจากเอกสาร
การแนะนำตัว
การเข้าไปในชุมชนแม้จะไม่ใช่เรื่องยาก
แต่การเข้าไปแล้วจะนักพัฒนาจะเป็นที่ยอมรับเสมือนหนึ่งเป็นลูกหลานเป็นสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนนั้น
เป็นเรื่องที่ต้องอาศัย เทคนิคกระบวนการที่หลากหลาย และเทคนิคขั้นแรกที่สำคัญคือ
การสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบ (First impression) ดังนั้นเทคนิคการแนะนำตัว
มีหลายวิธีการได้แก่
ให้คนที่" “ชุมชนรู้จักดี”
ช่วยเป็นผู้แนะนำเข้าพื้นที่
- แนะนำตนเองใน “บทบาทที"ชาวบ้านรู้จักได้ง่าย” รู้จักเลือกบอกบทบาทที่คิดว่าชาวบ้านรู้จักได้ง่าย จะเหมาะสมกว่า เช่น แนะนำตนเองในบทบาท “นิสิต” ซึ่งเป็นสถานภาพที่รู้จักกันโดยทั่ว ไปอยู่แล้ว ช่วยให้ชาวบ้านรู้ได้ถึงความเป็นลูกหลาน
- อาจมีจดหมายนำส่งจากหน่วยงานต้นสังกัดของผู้ที่ไปปฏิบัติงานในชุมชน
- แนะนำตน ผ่าน “ผู้นำชุมชน”
สิ่งที่ควรตระหนักตามมาในการแนะนำตัวคือ
การชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ของการเข้าพื้นที่ และบอกระยะเวลาของการเข้าศึกษาชุมชน ตลอดจนอาจขอความอนุเคราะห์จากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานเพื่อผลประโยชน์ของชุมชน
เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน
เทคนิคพื้นฐานของการเข้าพื้นที่ชุมชน
คือ เทคนิคการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนซึ่งถือว่าเป็นเทคนิคแรกและเป็นเทคนิคที่สำคัญของการพัฒนาชุมชน
การสร้างความสัมพันธ์ ความศัรทธา และความไว้เนื้อเชื้อใจจากชุมชน มีเทคนิคดังนี้
- สร้างความประทับใจเมื่อแรกพบ
- แสดงความสงบเสงี่ยม
- หลีกเลี่ยงการตั้งคำถามที่ทำให้อึดอัด
- ไม่ทำตัวทัดเทียมผู้นำชุมชน
- พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมชุมชน
- ควรมีผู้เริ่มแนะนำที่ชาวบ้านยอมรับ
- เมื่ออึดอัดอย่างท้อถอย
- ถือว่าการทำงานในสนาม ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องงาน
- ต้องเข้าใจว่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีอาจต้องใช้เวลา
- เป็นมิตรกับทุกคน
- เคารพถึงความแตกต่างและหลากหลายภายในชุมชน
- อย่าด่วนสรุปหรือตีความ
- เข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนอย่างสม่ำเสมอ
- ให้ “เด็ก” เป็นสื่อสานสัมพันธ์ชุมชน
- เข้าถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร
- เที่ยว “ตลาดชุมชน” เพื่อเห็นถึงหลากหลายสินค้า ผู้คน และเรื่องราวของชุมชน
- ไปร่วมกิจกรรมกับ “วัด” ในชุมชน
การปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในชุมชน
ทุกคนที่จะเข้าพื้นที่ศึกษาชุมชนต้องเรียนรู้เพื่อการปรับตัวร่วมกับชุมชนให้ได้
เช่น
- คำนึงถึงค่านิยมของชุมชน
- ระมัดระวัง ข้อห้าม หรือ สิ่งต้องห้ามในชุมชน
- ตัวเป็นผู้เรียนรู้ ไม่ควรทำตัวเป็นผู้รู้
- คงไว้ซึ่งความเป็นคนนอกชุมชน (out-sider)
- เรียนรู้ภาษาถิ่น
- เรียนรู้วัฒนธรรมการกินการอยู่
- การดำรังชีวิตของชุมชน
- เรียนรู้กิจกรรมชุมชนทุกครั้งที่มีโอกาส
- เรียนรู้การใช้ชีวิตในชุมชน
ข้อพึงระวังในการเข้าพื้นที่ชุมชน
- ควรรู้จักและคำนึงถึงกาลเทศะหรือความเหมาะสมของเวลาและสถานที่
เช่น ควรรู้ว่าสถานที่ใดถ่ายภาพได้หรือไม่ได้ บริเวณใดที่เป็นที่ห้ามเข้า
- การวางตัวที่เหมาะสมของเพศชายและเพศหญิงที่แสดงออกถึงความสนิทสนมมากเกินไป
แต่ต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆ
- ไม่ควรสนิทสนมกับใครเป็นพิเศษอย่างรวดเร็ว
โดยเฉพาะกับคนต่างเพศซึ่งอาจถูก
- เข้าใจผิดไปในทางชู้สาวได้
- การใช้คำพูด
ภาษาที่มีความแตกต่างวัฒนธรรม คำบางคำอาจใช้กันอย่างปกติในวัฒนธรรมหนึ่ง แต่อาจเป็นคำที่เป็นไปในทางลบของอีกวัฒนธรรมหนึ่ง
- การทำตัวเด่นเกินไป
เป็นเรื่องที่ควรระวังให้มาก การเข้าชุมชนนั้น
ควรวางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นนักศึกษา มีความอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่คุยโวโอ้อวดและทำตัวเด่นเกินจำเป็น
- หากพบความขัดแย้งในพื้นที่จะต้องไม่เลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ให้วางตัวเป็นกลาง
การออกจากชุมชน
การออกจากชุมชนดูเหมือนจะเป็นเทคนิคที่ทำได้ง่าย
แต่ส่วนใหญ่ผู้ปฏิบัติงานชุมชนมักละเลยให้ความสำคัญหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์เมื่องานเสร็จก็ออกไปจากชุมชนโดยไม่มีเทคนิคที่เหมาะสม
ซึ่งในความเป็นจริงผู้ปฏิบัติงานจะต้องรักษาความสัมพันธ์เดิมกับชุมชนไว้ หลักการที่สำคัญของการออกจากชุมชน
คือ ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการออกจากชุมชน กล่าวลาในที่ประชุมของหมู่บ้าน
จะทำให้การออกจากชุมชนมีความนุ่มนวล เหมาะสม ตามหลัก ไปลา มาไหว้ และสง่างาม
มีเครืื่องมือศึกษาชุมชนที่กำหนดให้นิสิตได้เลือกใช้เพิ่มเติมอีก ๗ ชิ้น ที่คิดค้นโดย นพ.โกมาตร จึงสเถียรทรัพย์ จะขอนำมาให้ศึกษาในบันทึกต่อไป (หรืออาจสืบค้นได้ทั่วไปไม่ยากเลย)
เอกสารอ้างอิง
โกมาตรจึงเสถียรทรัพย์และคณะ. (๒๕๔๕). วิถีชุมชน. กรมการพัฒนาชุมชน คู่มือการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชนสำหรับการพัฒนา หน้า ๘๑
ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ. (๒๕๓๖) “วิธีการเก็บข้อมูลเพื่อเข้าใจสภาวะและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน” คู่มือการวิจัยเชิงคุณภาพเพื่องานพัฒนา. ขอนแก่น: สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
สัญญา สัญญาวิวัฒน์. (๒๕๒๕) การพัฒนาชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ ๒, กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช
สุภางค์ จันทวานิช. (๒๕๓๖) “วิธีการเก็บข้อมูลในการวิจัยเชิงคุณภาพ.” ใน คู่มือการวิจัยเชิง กรุงเทพฯ: สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น