วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ๑-๒๕๖๑ (๓) "บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการรับใช้สังคม"

ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ นิสิตที่มัวแต่เรียนในหลักสูตร มุ่งเอาใบปริญญา รอเรียนจบตามหลักสูตร ๔ ปี แล้วไปสมัครงานเป็นลูกจ้างบริษัทเหมือนที่ผ่านมา อาจจะช้าและถือว่าประมาทเกินไป เพราะลักษณะของงานและความต้องการงานเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะ AI (Artificial Intelligence) ที่จะเข้ามาแทนแรงคนถึงร้อยละ ๗๐ ของคนงานในไทยในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า (ตามข้อมูลที่เคยถอดบทเรียนไว้ที่นี่)

มหาวิทยาลัยเองก็กำลังปรับตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน บทบาทของมหาวิทยาลัยในการรับใช้สังคมกำลังเปลี่ยนจากผู้ให้-ผู้นำ (Give&Take) ไปเป็น "หุ้นส่วน" หรือที่เรียกว่า "มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม" (Social Engagement University) 

“มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม” หมายถึง มหาวิทยาลัยกับสังคมเป็น “หุ้นส่วน” กัน มีพันธกิจสัมพันธ์กัน มีการลงทุนร่วมกัน มีกิจกรรมความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง มีการเรียนรู้ร่วมกัน และมีความประสงค์ที่จะแบ่งปันให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ร่วมกัน  

เครือข่าย “พันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” แห่งประเทศไทย หรือ Social Engagement Thailand (EnT) กำหนดหลักการ 4 ประการของการเป็น "มหาวิทยาลัยหุ่นส่วนสังคม" คือ ๑) การร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน (Partnership) ๒) เกิดประโยชน์ร่วมกันกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย (Mutual benefit) ๓) มีการใช้ความรู้และเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน (Scholarship) และ ๔) เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้ (Social Impact)  โดยนิยามคำว่า "สังคม" ในที่นี้หมายรวมถึงกลุ่มบุคคลที่อาจเชื่อมโยงกับชุมชนในมิติของพื้นที่ เช่น สถานที่ทำงาน ชุมชนใกล้เคียง ทั้งที่เป็นทางการหรือไม่ทางการ หรือในมิติสังคม คืออยู่ในภาคส่วนเดียวกัน มีความสนใจร่วมกัน เช่น ชุมชนพื้นเมือง ชุมชนนักปฏิบัติ สมาคมวิชาชีพ โรงเรียน รัฐบาล ศิษย์เก่า เป็นต้น โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในเชิงพื้นที่

ด้วยหลักการ ๔ ประการนี้ บทบาทของมหาวิทยาลัยในการรับใช้สังคมจะเปลี่ยนไป พันธกิจ (หน้าที่) ๔ ด้านของมหาวิทยาลัยคือ สอน วิจัย ให้บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมจะเปลี่ยนไปด้วย รวมทั้งบทบาทของนิสิตและอาจารย์ในบริบทของรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนก็จะต้องเปลี่ยนไป ดังนี้ 

๑) บทบาทด้านการผลิตบัณฑิต

การจัดการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 19 หรือ 20 เนื่องจากนิสิตจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง หลักสูตรและการเรียนการสอนจำเป็นต้องได้รับการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของสังคมและลักษณะของนิสิตผู้เรียน การพัฒนาหลักสูตรแบบเดิมที่ยึดอาจารย์ผู้สอนหรือผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลาง ต้องสร้างโอกาสให้ตัวแทนชุมชนหรือสังคมเข้ามาร่วมกันออกแบบหลักสูตรและแนวทางในการผลิตบัณฑิต และรวมถึงมีส่วนร่วมมือในการจัดการเรียนการสอน

นิสิตเองต้องปรับวิธีการเรียนรู้ของตนเอง จากเดิมที่เรียนเฉพาะสิ่งที่กำหนดไว้ในเนื้อหาของรายวิชา เฉพาะในชั้นเรียนหรือในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนไปเป็นเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลาโดยพิจารณาด้วยวิจารณญาณของตนเองว่าอะไรต้องรู้ อะไรควรต้องรู้ และอะไรที่น่าจะรู้ไว้ไม่เสียหลาย ส่วนอาจารย์ผู้สอน ต้องเปลี่ยนวิธีการสอนจากเดิมที่เน้นการบรรยาย (Lecture) ถ่ายทอดความรู้ มองนิสิตเป็นผู้รับ ต้องปรับบทบาทตนเองเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) เป็นครูฝึก (Coach) เป็นผู้จัดการชั้นเรียน (Classroom Manager) หรือเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ทั้งผู้เรียนและผู้สอนต้องมีเป้าหมายร่วมกันชัดเจนในการเรียนรู้แต่ละวิชา

๒) บทบาทด้านการวิจัย

ที่ผ่านมาการวิจัยของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทำให้สังคมได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัยน้อย โจทย์วิจัยส่วนใหญ่มาจากผู้วิจัย แม้จะมีผลงานหรือนวัตกรรมใหม่ แต่มักประสบปัญหาในการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่สามารถนำความสำเร็จในห้องปฏิบัติการไปขยายต่อยอดได้ เนื่องจากความแตกต่างทั้งทางกายภาพและทางวิชาการ

มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม จะให้ความสำคัญกับสังคมและชุมชนตลอดกระบวนการของงานวิจัย ตั้งแต่ร่วมกันพัฒนาโจทย์หรือปัญหาวิจัย ร่วมกันดำเนินการวิจัย ร่วมนำองค์ความรู้หรือนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน และจัดแบ่งรายได้หรือได้รับประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม สังคมก็ได้เรียนรู้กระบวนการวิจัย อาจารย์และนิสิตในมหาวิทยาลัยก็ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากสังคม มีชุมชนเป็นห้องปฏิบัติการในการทำวิจัยในสถานการณ์จริง

๓) บทบาทด้านการให้บริการวิชาการ

การบริการวิชาการของมหาวิทยาลันหุ้นส่วนสังคม จะไม่ได้มองสังคมหรือชุมชนเป็น “ผู้รับ” มหาวิทยาลัยเป็น “ผู้ให้” แต่จะมองเป็น “หุ้นส่วน” กัน ตัวแทนสังคมหรือผู้นำชุมชนควรได้มีส่วนร่วม หรือได้ร่วมกันกับอาจารย์หรือนิสิตในการร่างข้อเสนอโครงการบริการวิชาการ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมและชุมชน มีการดำเนินการร่วมกัน ฉลองความสำเร็จร่วมกัน และรวมถึงได้ถอดบทเรียนและกำหนดแนวทางพัฒนาต่อเนื่องด้วยกัน โดยบริหารจัดการทรัพยากรบางอย่างร่วมกัน  

๔) บทบาทด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

บทบาทการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยไทย มหาวิทยาลัยในต่างประเภทไม่ได้กำหนดไว้ในพันธกิจ ดังนั้นการรับใช้สังคมในมิติด้านวัฒนธรรมจึงเป็นเอกลักษณ์ นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย จึงถือเป็นกำลังสำคัญในการทำนุบำรุงและสืบสานงานด้านวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคม การปลูกฝังให้นิสิตเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม และเป็นผู้นำในการสืบสานและสร้างสรรค์วัฒนธรรมร่วมกับสังคม ถือเป็นงานหลักประการหนึ่งต่อไป 

ต่อไปในภายหน้า จะได้นำเอาผลการขับเคลื่อนฯ ตามแนวทางนี้มาเล่าสู่ฟังต่อไปครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น