ทักษะในการเขียนโครงการ
การดำเนินโครงการ การทำงานเป็นทีม การประเมินผลโครงการ การรายงานผลโครงการ
และการนำเสนอผลงาน เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับนิสิตรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการด้วยการฝึกทำโครงการบริการหรือโครงการบริการชุมชนหรือสังคมจริงๆ
จะทำให้นิสิตเกิดทักษะดังกล่าวเหล่านั้นในตนเอง
๑) ความหมายและความสำคัญของโครงการ
โครงการคืออะไร
โครงการ (Project) หมายถึง แผนหรือเค้าโครงตามที่กะกำหนดไว้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน
พ.ศ. ๒๕๕๒
การเขียนโครงการ คือ
การเขียนแผนงานหรือเค้าโครงของแผนปฏิบัติงานที่มีกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจนและรอบคอบ
มีรายละเอียดที่สามารถสื่อสารกับผู้อนุมัติโครงการและผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่น ชื่อโครงการ หลักการและเหตุผล
วัตถุประสงค์ ผู้รับผิดชอบ กลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาดำเนินงาน
วิธีการหรือแผนการดำเนินงาน แผนงบประมาณ การประเมินผลโครงการ เป็นต้น
ในปัจจุบัน
การเขียนโครงการเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการพัฒนางาน
โดยเฉพาะงานเชิงรุกที่มุ่งให้เกิดผลผลิตและผลลัพธ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ
ให้ดีขึ้น
ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานตามวงจรคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act;
PDCA) ที่ใช้ในระบบการทำงานทั่วไป ดังนั้น ความสามารถในการเขียนโครงการเป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานทั้งในหน่วยงานราชการและเอกชน
นิสิตทุกคนจำเป็นต้องศึกษาและพัฒนาตนเองให้สามารถเขียนโครงการได้ด้วยตนเอง
ความสำคัญของโครงการ
ความสำคัญเบื้องต้นของโครงการ ๕ ประการ ได้แก่
- ๑) เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นมาเพื่อแปลงแผนงานให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
- ๒) เพื่อแก้ปัญหา
- ๓) เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาองค์กร
- ๔) เป็นเครื่องมือหรือตัวแทนที่ใช้ในการถ่ายทอดหรืออธิบายสิ่งที่เจ้าของโครงการต้องการดำเนินการ และ
- ๕) เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน (เช่น ช่วยในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณ)
๒) ประเภทของโครงการ
โครงการอาจแบ่งหรือจัดหมวดหมู่ได้หลากหลายแบบ
เช่น แบ่งตามลักษณะกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการวิจัย โครงการพัฒนา โครงการวิจัยและพัฒนา
หรือกำหนดเอาแผนงานเป็นเกณฑ์ ได้แก่ โครงการปกติ โครงการต่อเนื่อง โครงการพิเศษ
เป็นต้น ไม่มีทฤษฎีกำหนดตายตัว
เพื่อให้ง่ายต่อการศึกษาและสะดวกต่อการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ขอแบ่งโครงการออกเป็น ๓ ประเภท ตามลักษณะเป้าหมาย ได้แก่ โครงการบนฐานนโยบาย โครงการบนฐานปัญหา
และโครงการฐานความคิดสร้างสรรค์ (ผู้เขียน)
- ๑) โครงการบนฐานนโยบาย (Policy-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้แผนงานของหน่วยงาน เช่น แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติราชการประจำปี ฯลฯ บรรลุเป้าประสงค์ของแผน กล่าวคือ เป็นโครงการที่เกิดจากการแปลงแผนกลยุทธ์มาเป็นแผนปฏิบัติ สิ่งที่ได้คือ "แผนดำเนินการ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ
- ๒) โครงการบนฐานปัญหา (Problem-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา สำคัญว่าต้องมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอย่างดี ให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่เข้าท่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสำคัญ คือ เมื่อแก้ปัญหานั้นแล้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นตามมา โครงการบนฐานปัญหานี้ อาจแบ่งแยกย่อยไปอีกตามเป้าหมายเน้นของโครงการ ได้เป็น ๓ ประเภท (ผู้เขียน) ได้แก่
- ๒.๑) โครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือ โครงการที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน โดยการลงมือทำเพียงครั้งเดียว เป็นโครงการระยะสั้น เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการค่ายอาสาสร้าง หรือ โครงการบริการชุมชนและสังคม (Service-based Project) หรือ โครงการบริการวิชาการ ที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี เป็นต้น
- ๒.๒) โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเรียกว่า "โครงงาน" หรือ Project for Learning คือ โครงการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้ทำโครงงานเอง มักใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
- ๒.๓) โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "โครงการวิจัย" หรือ Research-based Project คือ โครงการที่มุ่งศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหาที่กำหนดอย่างเป็นระบบ
๓)
โครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative-based Project) หมายถึง
โครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์
ผู้ต้องการทำโครงการมีฉันทะที่จะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือนำสิ่งใหม่ๆ
นำนวัตกรรม หรือมองไปในอนาคตและทำนายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น
จึงเขียนโครงการขึ้นเพื่อป้องกัน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ ขึ้น ฯลฯ
๓) การเขียนโครงการ
การเขียนโครงการของแต่ละหน่วยงานราชการอาจมีรูปแบบแตกต่างกันไป
โดยฝ่ายที่รับผิดชอบเรื่องการจัดทำแผนงานและฝ่ายประกันคุณภาพของหน่วยงาน
มักจะกำหนดรูปแบบและองค์ประกอบของโครงการขึ้นใช้ให้เป็นไปแนวทางเดียวกันภายในหน่วยงาน
มหาวิทยาลัยมหาสารคามกำหนดรูปแบบและองค์ประกอบในการเขียนโครงการทั้งหมด ๑๔ ข้อ
แต่บางข้อผู้เขียนได้พิจารณาแล้วว่าเป็นองค์ประกอบที่กำหนดขึ้นเพื่อวัตถุเฉพาะเกินไป
เช่น เพื่อประโยชน์ในงานประกันคุณภาพเฉพาะด้าน ซึ่งยังไม่เกี่ยวข้องกับนิสิต
จึงกำหนดองค์ประกอบของโครงการให้นิสิตได้ศึกษาจำนวน ๘ ข้อ ได้แก่
- ๑. ชื่อโครงการ
- ๒. ผู้รับผิดชอบโครงการ
- ๓. หลักการและเหตุผล
- ๔. วัตถุประสงค์/ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
- ๕. กลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาดำเนินงาน
- ๖. วิธีการและแผนการดำเนินงาน
- ๗. แผนงบประมาณ
- ๘. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
โดยแต่ละองค์ประกอบมีแนวทางและเทคนิคการเขียนดังต่อไปนี้
1.3.1 การตั้งชื่อโครงการ
๓.๑) การตั้งชื่อโครงการ
การตั้งชื่อโครงการ
ควรระบุให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังหรือผลตอบแทนจากการทำโครงการ ผู้อ่านอ่านแล้วถึงแนวทาง
ทิศทางของโครงการ หรือบอกว่าเกี่ยวกับอะไร
- ถ้าเป็นโครงการบนฐานปัญหา อาจเขียนได้ ๒ แบบ คือ
- ๑) เขียนแบบบอกปัญหา เช่น โครงการแก้ปัญหา หรือ
- ๒) เขียนแบบบอกทางแก้ไข เช่น โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ โดยเขียนปัญหาอ่านไม่ออกอ่านไม่คล่องของน้องไว้ในหัวข้อหลักการและเหตุผล ฯลฯ
- ถ้าเป็นโครงการบนฐานนโยบาย ควรเขียนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น โครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ฯลฯ
- ถ้าเป็นโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ เขียนให้เห็นภาพฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จจะดี เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ ฯลฯ
๓.๒) ผู้รับผิดชอบโครงการ
ผู้รับผิดชอบโครงการคือ
บุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ต้องรับผิดชอบการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
และรวมถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในการดำเนินโครงการ
หากเป็นโครงการของหน่วยงาน มักเป็นหัวหน้างานที่ต้องรับผิดชอบสูงสุดในงานนั้น
ๆ ในบริบทของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
ซึ่งอาจาย์ผู้สอนจะแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มย่อยๆ
และมอบหมายให้จัดทำโครงการบริการวิชาการหรือโครงการบริการสังคม
ผู้รับผิดชอบโครงการ คือสมาชิกทุกคนในกลุ่มย่อย
๓.๓) หลักการและเหตุผล
หลักการและเหตุผลคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะสื่อสารกับผู้พิจารณาซึ่งมีอำนาจอนุมัติหรือไม่อนุมัติโครงการ
ดังนั้นจะต้องเขียนแสดงให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของโครงการ เพื่อโน้มน้าวความสนใจและรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องอนุมัติโครงการนี้
หลักคิดในการเขียนเบื้องต้น คือ เขียนอย่างน้อย ๓ ประเด็น ได้แก่
- ๑) ทำไมต้องทำ
- ๒) ทำอย่างไร (คร่าว ๆ พอเข้าใจพอสังเขป) และ
- ๓) ทำแล้วประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคืออะไร ส่วนจะเพิ่มเติม เน้นย้ำให้ผู้อ่านสนใจและเชื่อถืออย่างไร สามารถเพิ่มเติมได้
ควรจะเขียนเป็น ๓ ย่อหน้าๆ ละประเด็น ย่อหน่าแรกเขียนให้ผู้อ่านเห็น "วิธีคิด"
หรือ "กระบวนทัศน์" ย่อหน้าที่สอง เขียนให้เห็น "วิธีการ"
หรือ "กระบวนการ" และย่อหน้าที่สาม เขียนให้เห็น "ผลลัพธ์"
หรือ "ประโยชน์" ของโครงการ
แต่ละประเภทของโครงการจะเขียนส่วนย่อหน้าแรกต่างกันตามเหตุผลว่า ทำไมต้องทำ
ดังจะชี้ให้เห็น ดังนี้
การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานนโยบาย
- ย่อหน้าแรก ให้เขียนเกี่ยวกับนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ หรือแผนกลยุทธ์ ของหน่วยงาน ในทำนองว่า เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องจัดทำกิจกรรม/โครงการนี้ขึ้น เห็นความเป็นมาของการทำโครงการ
- ย่อหน้าที่สอง ให้เขียนรายละเอียดพอสังเขปว่า จะทำอะไร? ที่ใหน? อย่างไร? ให้เข้าใจพอสังเขป เช่น จะเชิญใครมาเป็นวิทยากร มาบรรยายหรืออบรมเรื่องอะไร ด้วยเทคนิคอะไร ทำไมถึงน่าสนใจ เป็นต้น สรุปคือ เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง
- ย่อหน้าที่สาม ให้เขียนถึงผลที่คิดว่าจะเกิดขึ้นจากโครงการ เช่น ผลผลิตหรือผลลัพธ์เชิงพฤติกรรม ที่จะเกิดขึ้น หัวข้อนี้เสมือนการเอาหัวข้อ "วัตถุประสงค์" และ "ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ" มาเขียนเรียบเรียงเพื่อโน้มน้าวกระตุ้นความสนใจ ทำให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญ เห็นภาพแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น
การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการบนฐานปัญหา
- ย่อหน้าแรก ให้เขียนปัญหา ที่มาของปัญหา และบริบทของปัญหา ผู้อ่าน ๆ แล้ว ให้ทราบว่า ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร สาเหตุของปัญหานั้น ๆ คืออะไร มีบริบทปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ควรจะเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกว่า
-
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ๆ
-
เป็นปัญหาที่สำคัญ
มีผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก หรือเป็นต้นเหตุของปัญหาอื่น ๆ
-
ข้อมูลปัญหาที่เขียน มีการสำรวจ
สืบค้น สังเคราะห์ หรือวิเคราะห์แล้ว
-
เป็นปัญหาที่ค้นพบ สำรวจ วิเคราะห์
โดยเจ้าโครงการเอง
-
แสดงข้อมูลเชิงสถิติ ตัวเลข
แสดงให้เห็นความรุนแรง หรือมากน้อย ฯลฯ
- ย่อหน้าที่สอง เขียนวิธีการจะแก้ปัญหานั้น อ่านแล้วให้รู้ว่าจะแก้อย่างไร ใช้ใครหรืออะไร ที่ไหน อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ หรือเห็นหลักการนั่นเอง
- ย่อหน้าที่สาม เขียนเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น บอกวิธีประเมินผลพอสังเขป
การเขียนหลักการและเหตุผลสำหรับโครงการฐานความคิดสร้างสรรค์
- ย่อหน้าแรก เขียนถึงสิ่งที่เป็นเหตุจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นปัญหาหรือการมองปัญหาในมุมมองของตน หรือเป็นการค้นพบของตนเอง หรือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือแม้แต่เป็น (ประกาย) ความคิดของตนเองที่ "ปิ๊ง" ขึ้นมา หรือเป็นประสบการณ์ของตนเองที่ได้เรียนรู้จนตกผลึกมั่นใจ
- ย่อหน้าที่สอง เขียนถึงรายละเอียดของความคิดสร้างสรรค์นั้นให้เห็นพอสังเขป ว่าจะทำอะไร อย่างไร ... เขียนให้เห็นหลักคิดและหลักปฏิบัติ
- ย่อหน้าที่สาม เขียนถึงภาพความสำเร็จหรือผลที่จะได้รับจากการสร้างสรรค์งานนั้น ๆ
อย่างไรก็ดี
วิธีการเขียนหลักการและเหตุผลที่เสนอมาข้างต้นนี้ เป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น
การเขียนหลักการและเหตุผล แท้จริงแล้วเขียนแบบใดก็ได้ กี่ย่อหน้าก็ได้
ขึ้นอยู่กับผู้เขียนและผู้อ่านโครงการนั้น จะกำหนดให้เห็นเป็นอย่างไร ขอให้เห็น
"เหตุผล" และ "หลักการ"
๓.๔) วัตถุประสงค์/ตัวชี้วัดความสำเร็จ และเป้าหมาย
การเขียนวัตถุประสงค์โครงการ
วัตถุประสงค์ คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นเนื่องจากการดำเนินโครงการ
ลักษณะที่ดีของวัตถุประสงค์ คือ ชัดเจน ทำได้จริง วัดประเมินได้
สามารถบอกเป้าหมายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากเป็นการพัฒนาคน
ต้องระบุได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์คืออะไร
"วัตถุ" คือวัตถุ
สิ่งที่จับต้องได้ นับได้ มองเห็นเป็นรูปธรรม ส่วนคำว่า "ประสงค์"
คือความต้องการ ดังนั้น คำว่า "วัตถุประสงค์" น่าจะแปลว่า
ความต้องการอะไรที่จำต้องได้เป็นรูปธรรมจากโครงการ ... แต่แปลตามตัวแบบนี้ก็เกินไป
เพราะโครงการส่วนใหญ่ ไม่ใช่สร้างวัตถุสิ่งของ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาสมรรถนะหรือความสามารถของคน
จึงขอให้ยึดหลักว่า วัตถุประสงค์ทุกข้อจะต้องวัดได้ ประเมินได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินดาพร
จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิกาบดีผู้ดูแลรับผิดชอบงานประกันคุณภาพการศึกษา เสนอหลักการเขียนวัตถุประสงค์ว่า
ต้องมีลักษณะสำคัญ SMART คือ
-
Specific คือ
มีความเฉพาะเจาะจงลงประเด็นเดียวในแต่ละข้อ
-
Measurable คือ
ต้องสามารถวัดและประเมินผลสำเร็จได้
-
Attianable คือ
ระบุถึงการกระทำที่สามารถปฏิบัติได้ บรรลุผลได้
-
Realistic คือ
ต้องระบุให้มีความเป็นเหตุเป็นผลและสอดคล้องกับความเป็นจริง
-
Time bound คือ มีการกำหนดขอบเขตของเวลาที่จะกระทำให้สำเร็จได้อย่างชัดเจน
โดยวัตถุประสงค์สามารถแบ่งออกได้เป็น
๔ ระดับ ได้แก่
- ระดับที่ ๑ ให้เขียนถึง "ผลผลิต" (Output) คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นทันทีหลังจบโครงการ ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน และต้องสามารถประเมินได้ทันทีหลังจบโครงการ เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงการมีความมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ
- ระดับที่ ๒ ให้เขียนถึง "ผลลัพธ์" (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการที่อยากให้เกิดขึ้น เช่น ทักษะ ความสามารถ หรือศักยภาพ หรือเจตคติ ฯลฯ
- ระดับที่ ๓ ให้เขียนถึง "ผลพลอยได้" (By-product) หรือประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ
- ระดับที่ ๔ (ถ้ามี...ในกรณีเป็นโครงการต่อเนื่องหรือโครงการระยะยาว) ให้เขียนถึง "ผลกระทบ" (Impact) คือสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากโครงการ หรือผลที่เกิดขึ้นต่อจากการมีผลผลิตนั้น ๆ
วัตถุประสงค์จะเขียนกี่ระดับก็ได้
แต่ทุกข้อที่เขียนจะต้องวัดผลและประเมินผลได้ จำนวนวัตถุประสงค์ไม่มากเกินไป
และไม่น้อยเกินไปจนทำให้ความสำคัญของโครงการน้อย วัตถุประสงค์ควรจะครอบคลุมสาระสำคัญของโครงการ
ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
หลักการสำคัญในการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ
คือ ต้องเขียนให้ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ สามารถบอกได้ว่าวัตถุประสงค์นั้นสำเร็จหรือไม่
และต้องกสามารถวัดได้จริงด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือเครื่องมือใดเครื่องมือหนึ่ง
ส่วนเป้าหมาย คือ เกณฑ์ที่กำหนดระดับความสำเร็จของแต่ละวัตถุประสงค์ ตัวชี้วัดความสำเร็จ
อาจแบ่งเป็น ๒ หรือ ๓ ประเภทก็ได้
ถ้าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
- ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่แสดงผลเป็นตัวเลข เช่น จำนวน ร้อยละ ระดับความสำเร็จ ระดับความพึงพอใจ เป็นต้น และ
- ๒) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนำเสนอออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้
ถ้าแบ่งเป็น 3 ประเภท จะได้แก่
- ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับได้ หรือ เป็นปริมาณเชิงกายภาพที่มีหน่วยวัด เช่น จำนวน ความยาว น้ำหนัก ระยะเวลา เป็นต้น
- ๒) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ตัวชี้วัดที่สร้างเกณฑ์ให้สิ่งนามธรรมนั้นเป็นตัวเลข เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับคุณธรรม ระดับความโปร่งใส ฯลฯ และ
- ๓) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดไม่ใช่เชิงปริมาณ ไม่มีหน่วยวัดใด ๆ แต่ใช้การวัดเทียบกับค่าเป้าหมายที่เป็นเกณฑ์ในลักษณะพรรณนา หรือเป็นคำอธิบายของเกณฑ์ซึ่งจะช่วยในการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมิน เช่น การมีคุณค่ากับสถาบัน ศักยภาพของผู้เข้าอบรม ฯลฯ
ตัวอย่างตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงปริมาณ
เช่น
-
จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ
ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมาย
-
ระดับความพึงพอใจของกลุ่มเป้าหมาย
ไม่น่อยกว่า 3.51 คะแนน (คะแนนเต็ม 5.00)
-
จำนวนผู้ผ่านการทดสอบความรู้ความเข้าใจเรื่อง....... ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
-
เป็นต้น
ตัวอย่างตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมายเชิงคุณภาพ
เช่น
-
กลุ่มเป้าหมายมีเจตคดีที่ดีต่อการ...............
-
เกิดประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อชุมชน
-
ได้รับการยอมรับจากชุมชน
-
เป็นต้น
๓.๕) กลุ่มเป้าหมาย/ระยะเวลาดำเนินการ/สถานที่ดำเนินโครงการ
กลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มคนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการ
การเขียนต้องระบุประเภทของกลุ่มคนให้ชัดเจนพร้อระบุจำนวนที่แน่นอน
เนื่องจากข้อมูลนี้จะถูกนำไปใช้ในการคำนวณในการทำแผนงบประมาณโครงการ ตัวอย่างการเขียนกลุ่มเป้าหมายเช่น
-
กลุ่มแม่บ้านทอเสื่อกกบ้านดอนมัน
จำนวน 50 คน
-
ครูโรงเรียนบ้านขามเฒ่า จำนวน 5 คน
-
ชาวบ้านหมู่ที่ 3 บ้านห้วยซัน จำนวน
20 คน
-
เป็นต้น
กลุ่มเป้าหมายจะแตกต่างจากกลุ่มตัวอย่าง
การทำโครงการบริการวิชาการหรือโครงการพัฒนาต่างๆ มักกำหนดเป็นกลุ่มเป้าหมาย
ส่วนโครงการวิจัยหรือโครงการสำรวจมักจะกำหนดกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ถือเป็นตัวแทนของ
“ประชากร” หรือกลุ่มคนที่ต้องการจะศึกษาทั้งหมด
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ให้ระบุวันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดโครงการ
เช่น
-
วันเริ่มโครงการ 24 สิงหาคม 2560 วันสิ้นสุดโครงการ 30 สิงหาคม
2561
สถานที่ดำเนินโครงการ
ให้ระบุสถานที่ พื้นที่ ที่ตั้ง หรือที่อยู่
ที่กระบวนการดำเนินโครงการจะเกิดขึ้น เช่น
-
บ้านดอนนา ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย
จ.มหาสารคาม
-
อาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
-
เป็นต้น
๓.๖) วิธีการดำเนินโครงการและแผนการดำเนินงาน
วิธีการดำเนินโครงการ
ให้เขียนวิธีการและขั้นตอนของการดำเนินงาน
โครงการประเภทโครงการบนฐานปัญหาหรือโครงการแก้ปัญหา
ควรจะแบ่งวิธีการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่การสำรวจปัญหา การกำหนดปัญหา การศึกษาปัญหา การกำหนดวิธีการการแก้ไข การวางแผนงาน และการสร้างเครื่องมือประเมินผลโครงการต่าง ๆ
- ระยะกลางน้ำ เริ่มจากดำเนินโครงการตามแผนงานที่วางไว้ ควรจะแบ่งเป็นขั้นตอนต่างๆ ให้ชัดเจน และกำหนดบทบาทหน้าที่ของแต่ละคนแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน เช่น กำหนดผู้รับผิดชอบหลักในแต่ละขั้นตอน เป็นต้น
- ระยะปลายน้ำ เป็นการประเมินผลการดำเนินโครงการ ซึ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์ที่คาดว่ากลุ่มเป้าหมายจะได้รับ และองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ รวมถึงการสร้างสื่อและการนำเสนอองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อไป
แผนการดำเนินงาน
การเขียนแผนการดำเนินงาน
เป็นเหมือนการสรุปวิธีการดำเนินงานลงในตาราง
แสดงแผนการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน
โดยนำเอาขั้นตอนการทำงานที่สำคัญๆ ทั้งหมดหัวเรื่องวิธีการทำงาน มาเขียนในคอลัมน์
แล้วใช้ลูกสอนหรือเส้นสัญลักษณ์แสดงช่วงระยะเวลาที่จะดำเนินงานขั้นตอนนั้นๆ
ดังตัวอย่าง
ที่
|
ขั้นตอน/กิจกรรม
|
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
|
|||||||||||
ต.ค.
|
พ.ย.
|
ธ.ค.
|
ม.ค.
|
ก.พ.
|
มี.ค.
|
เม.ย.
|
พ.ค.
|
มิ.ย.
|
ก.ค.
|
ส.ค.
|
ก.ย.
|
||
1
|
ประชุมเตรียมสำรวจ
|
||||||||||||
2
|
ลงพื้นที่สำรวจชุมชน
|
||||||||||||
3
|
กำหนดปัญหา/ชุมชน
|
||||||||||||
4
|
เขียนเค้าร่างโครงการ/ขออนุมัติโครงการ
|
||||||||||||
5
|
ดำเนินโครงการ
|
||||||||||||
6
|
………………………
|
๓.๗) แผนงบประมาณ
การเขียนแผนงบประมาณถือเป็นเรื่องสำคัญ
โดยเฉพาะในการเขียนโครงการบนฐานนโยบาย ที่มีแผนงบประมาณของหน่วยงานกำหนดไว้
โดยเฉพาะการเขียนโครงการในหน่วยงานราชการ
การเขียนแผนงบประมาณถือเป็นปัจจัยกำหนดว่า
การดำเนินโครงการและการสรุปโครงการจะราบรื่นหรือไม่ แผนงบประมาณที่ชัดเจน
จะทำให้การจัดเก็บเอกสารข้อมูลและหลักฐานการเงินเป็นไปอย่างมีระบบ
ดังนั้นผู้เขียนโครงการจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับระเบียบด้านการเงินและฝึกตนเองให้มีความรอบคอบถี่ถ้วนในการบันทึกค่าใช้จ่าย ตัวอย่างแผนงบประมาณในโครงการบนฐานนโยบายแสดงดังตารางด้านล่าง
งบรายจ่าย -รายการ
|
งบประมาณ (บาท)
|
ค่าใช้จ่ายภายในประเทศ
|
|
1.
ค่าตอบแทนวิทยากร
วันอังคารที่
26 มิถุนายน 2561 จำนวน 2 คน จำนวน 3 ชั่วโมง (2 คน x 600 บาท x 3 ชั่วโมง)
|
3,600
|
2. ค่ารับรองวิทยากร
วันอังคารที่
26 มิถุนายน 2561 จำนวน 2 คน
|
800
|
6.
ค่าอาหารกลางวัน
วันอังคารที่
26 มิถุนายน 2561 (130 บาท x 110 คน x 1 มื้อ)
|
14,300
|
7.
ค่าอาหารว่าง
วันอังคารที่
26 มิถุนายน 2561 (30 บาท x 110 คน x 2
มื้อ)
|
6,600
|
8.
จ้างพิมพ์เกียรติบัตร จำนวน 100 แผ่น
(แผ่นละ 5 บาท x 100 แผ่น)
|
500
|
รวม
|
25,800
|
จะเห็นว่า
การตั้งงบประมาณระบบราชการในการจัดโครงการ จำเป็นต้องระบุว่า ต้องการจ่ายค่าอะไร
วันที่เท่าใด ราคาต่อหน่วยเท่าไหร่ จำนวนกี่คน
(ซึ่งจำเป็นต้องสอดคล้องกับจำนวนกลุ่มเป้าหมายของโครงการ)
คิดเป็นงบประมาณรวมในแต่ละรายการเท่าใด รวมเป็นเงินทั้งสิ้นเท่าใด
๓.๘ ผล/ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
ส่วนนี้สำคัญมาก
เพราะผู้อ่านโครงการจะให้ความสนใจว่า
ผู้เขียนโครงการมั่นใจถึงความสำเร็จของโครงการอย่างไรบ้าง
ถ้าผลที่คาดว่าจะได้รับไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นั่นแสดงว่าผู้ขออนุมัติโครงการไม่เข้าใจ
และถ้ามีวัตถุประสงค์แต่ไม่มีในผลที่คาดว่าจะได้รับ นั่นแสดงว่า
ผู้ขออนุมัติโครงการไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้น
ให้เขียนผลที่จะเกิดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
ให้เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ให้ระบุผลผลิต ผลลัพธ์ หรือผลพลอยได้
ตามวัตถุประสงค์แต่ละข้อ โดยนำเอาผลการประเมินตัวชี้วัดความสำเร็จ
ที่วัดด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เช่น แบบสอบถาม แบสัมภาษณ์ แบบทดสอบ ฯลฯ มาเขียนรายงาน
เป็นข้อ ๆ
1.2 การประเมินผลโครงการ
1.2.1 ความหมายและประเภทของการประเมินโครงการ
๔) การประเมินโครงกร
๔.๑) ความหมายและประเภทของการประเมินโครงการ
มีผู้ให้ความหมายของ
"การประเมินโครงการ" ไว้มากมาย ท่านที่สนใจ สามารถสืบค้นได้จากงานเขียนวิทยานิพนธ์หรือเล่มงานวิจัยทางศึกษาศาสตร์
ได้ไม่ยาก หลังจากอ่านหลายๆ ความหมาย สามารถสังเคราะห์ให้ครอบคลุ่มที่สุดได้ดังนี้
การประเมินผลโครงการ หมายถึง
กระบวนการค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล
แล้วพิจารณาตัดสินความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ความคุ้มค่า คุณค่า
และการพัฒนาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ เพื่อให้ได้สารสนเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการให้ดีขึ้นต่อไปหรือตัดสินใจยุติโครงการ
ประเภทของการประเมินโครงการมีหลากหลายแบบ
สาระสำคัญที่น่าสนใจคือ การแบ่งประเภทของการประเมินตามเวลาการลงมือประเมิน ซึ่งแบ่งได้เป็น
๓ ประเภท ได้แก่
- การประเมินก่อนดำเนินโครงการ (Preliminary Evaluation) โดยควรประเมิน ๒ ลักษณะ ได้แก่
- การประเมินความต้องการหรือความจำเป็น (Needs Assessment) และ
- การประเมินความเป็นไปได้ (Feasibility Study) เพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปประกอบการตัดสินใจในการทำแผนหรือปรับแผนการดำเนินโครงการ
- การประเมินระหว่างการดำเนินโครงการ (On going Evaluation) เป็นการประเมินความก้าวหน้าหรือการพัฒนาของโครงการ (Formative Evaluation) ว่า เป็นไปตามแผนของโครงการหรือไม่ มีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างไร
- การประเมินเมื่อโครงการสิ้นสุด (Pay-off Evaluation) เป็นการประเมินเพื่อผลรวมสรุป (Summative Evaluation) หลังจากการดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว เป็นการประเมินความสำเร็จของโครงการตามตัวชี้วัดหรือวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น การประเมินผลผลิต (output) ผลลัพธ์ (Outcome) หรือ ผลกระทบ (Impact) อันเป็นผลมาจากโครงการ
๔.๒) เครื่องมือประเมินโครงการ
เครื่องมือประเมินโครงการ คือ
เครื่องมือในการศึกษา ค้นหา รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ
เพื่อให้เป็นสารสนเทศในการตัดสินใจ ตัดสินคุณค่า ความคุ้มค่า หรือการพัฒนาของโครงการ
เช่น แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึก แบบสอบถาม แบบทดสอบ แบบวัดความพึงพอใจ
รายงานโครงการ และรวมถึง การถอดบทเรียน ฯลฯ
ไม่เครื่องมือใดดีที่สุดสำหรับทุกโครงการ ผู้ประเมินต้องเลือกใช้อย่างเหมาะสม
หรือจะดีที่สุดคือ ออกและสร้างเครื่องมือด้วยตนเอง ซึ่งจะมีกระบวนการสร้างอย่างเป็นขั้นตอน
ซึ่งจะได้นำมาแลกเปลี่ยนในบันทึกต่อ ๆ ไป
สำหรับกิจกรรมนิสิต
โครงการส่วนใหญ่เกิดจาก "จิตอาสา"
และจุดมุ่งหมายสำคัญนอกจากวัตถุประสงค์ของแต่ละโครงการซึ่งจำเป็นต้องประเมินให้ครอบคลุมและครบถ้วนตามตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์ทุกข้อแล้ว
ทุกกิจกรรมยังมุ่งให้นิสิตฝึกฝนพัฒนาทักษะและภาวะผู้นำในตนเอง
จึงควรต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ (Learning Evaluation) ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญก็คือ
"การถอดบทเรียน" นั่นเอง
๔.๓) การเขียนรายงานผลการประเมินโครงการ
รูปแบบการเขียนรายงานผลการประเมินโครงการของแต่ละหน่วยงานหรือองค์กรอาจไม่เหมือนกัน
และแตกต่างกันตามแต่ละประเภทของโครงการด้วย
รูปแบบที่จะกำหนดให้นิสิตได้ฝึกเขียนรายงานการประเมินโครงการครั้งนี้
ปรับจากแบบฟอร์มการเขียนรายงานผลการดำเนินโครงการของกองบริการวิชาการและวิจัยของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
และแบบฟอร์มการเขียนโครงการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โดยตัดให้เหลือเฉพาะบางหัวข้อที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการคิดและการเขียนสำหรับพัฒนาภาวะผู้นำของนิสิต
มีองค์ประกอบทั้งหมด ๑๐ ข้อดังนี้
- ๑) ชื่อโครงการ
- ๒) ผู้รับผิดชอบโครงการ
- ๓) หลักการและเหตุผล
- ๔) วัตถุประสงค์ของโครงการ
- ๕) ตัวชี้วัดความสำเร็จและเป้าหมาย
- ๖) กลุ่มเป้าหมาย/ระยะเวลา/สถานที่ดำเนินโครงการ
- ๗) ผลการดำเนินโครงการ
- ให้เขียนรายงานกระบวนการดำเนินงานตามแผนดำเนินงานที่เขียนไว้ในโครงการตามลำดับเวลาและขั้นตอน โดยเขียนให้เห็นกระบวนการการดำเนินงานของแต่ละขั้นตอน ประกอบผลงาน ชิ้นงาน หรือภาพถ่าย โดยเน้นสอดคล้องกับการทำงานจริง ให้ยึดเอาขั้นตอนการทำงานจริง ๆ เป็นหลัก ดังนั้น ขั้นตอนการทำงานของแต่ละกลุ่มอาจแตกต่างกันได้ ตามกระบวนการทำงานเป็นของกลุ่ม
- ๘) ผลการประเมินโครงการ
- ๙) สรุปรายงานงบประมาณ
- เขียนรายการและจำนวนเงินของแต่ละรายการ และรวมงบประมาณทั้งหมด ในกรณีของโครงการเสริมการเรียนรู้โดยไม่ต้องแนบหลักฐานใดๆ เว้นแต่อาจารย์ผู้สอนจะกำหนดเพื่อให้ได้เรียนรู้วิธีการทางงบประมาณของหน่วยงานราชการไทย
- ๑๐) รายชื่อผู้จัดทำรายงาน
- ให้เขียนเฉพาะรายชื่อ ผู้มีส่วนในการเขียนสรุปรายงานและประเมินโครงการ ไม่จำเป็นต้องมีรายชื่อนิสิตทุกคนในกลุ่ม และให้ผู้ทำหน้าที่เลขานุการ (ผู้รวบรวม เรียบเรียง) เป็นผู้ลงรายมือชื่อ ร่วมกับหัวหน้าโครงการ
สุดท้ายนี้ ขอย้ำว่า
รูปแบบการเขียนรายงานผลการประเมินโครงการนั้น ไม่มีรูปแบบตายตัว
ขึ้นอยู่กับลักษณะของโครงการและนโยบายของหน่วยงานนั้น ๆ จะกำหนด จึงขอให้ผู้อ่าน
ศึกษาเอาหลักการ เทคนิค และคำนึงถึงเหตุผลของการเขียนในแต่ละครั้งเสมอ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น