บันทึกนี้ อยากจะสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้ และมุมมองป้อนกลับสำหรับให้นิสิตทั้งสองได้พัฒนาภาวะแห่งความเป็นครู หรือ จิตวิญญาณแห่งความเป็น "ครูเพื่อศิษย์" ต่อไป
คนที่ ๑
สถานการณ์ยากไปกว่าครั้งแรกที่มาเยี่ยม เนื่องจากอาคารเดิมหลังคาชำรุดแบบสุดวิสัย จึงจำเป็นต้องย้ายชั้นเรียนมาใต้อาคารเรียนหลังใหม่ และเรียนแบบใกล้ๆ กัน ๔ ชั้นเรียน ใช้ไมค์ใช้เสียงก็ไม่เหมาะ ... หากดูด้วยตา อาจเห็นว่าบรรยากาศเย็นสบายดี โล่งดี แต่ใครที่มาเจอแบบนี้ จะพบข้อดีว่าทำไมห้องเรียนถึงต้องมีผนัง
- สิ่งที่เห็นเป็นจุดเด่น
- ยังคงเป็นความพยายามและการเตรียมตัวอย่างดีเช่นเดิม
- สื่อการสอนที่ทำอย่างประณีต .... วินัยและนิสัยนี้ คือสิ่งที่ส่งผลให้ นิสิตคนนี้ เข้าใจและแม่นยำในเนื้อหาที่ตนเองสอน ... ความจริง หากทำให้นักเรียนทำเหมือนตนเองเตรียมสอนได้ เด็กก็จะเข้าใจเป้าหมายของการเรียนรู้ (Learning Outcome) ได้แน่
- เห็นความพยายามที่จะนำเอา "คะแนน" มาเป็นกลไกในการควบคุมชั้นเรียน ... แต่ไม่ได้สร้างเงื่อนไขชัดเจนนัก เลยอาจทำให้ "พลัง" น้อยไป
- การทดลองทำให้นักเรียนสนใจได้ สนุกสนานได้เสมอ
- แนะนำต่อจากสิ่งที่เคยแนะนำไว้ในบันทึกแรก (อ่านที่นี่)
- เรื่องการสร้างเงื่อนไข และรักษาเงื่อนไข กติตา ให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์
- เรื่องการออกแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม ... คอมเมนต์สำหรับการทดลองนี้ คือ ออกแบบงานแต่ละกลุ่มน้อยเกินไป ทำให้กิจกรรมทำแบบเดียวก็เสร็จ คุณครูต้องทำทุกวิธีเพื่อให้มั่นใจว่า จะมีวัสดุอุปรณ์ต่างๆ จัดเตรียมเอง จัดหาเอง หรือหากจะมอบหมายให้นักเรียนนำมา ก็ต้องจัดการให้มั่นใจว่า นักเรียนจะนำมาจริงๆ และควรมีแผนสำรอง
- อาจออกแบบเพิ่มเติมให้จับเวลา และความสูงที่ลำเลียงขึ้นไปได้ เพื่อให้ฝึกคำนวณอัตราการลำเลียงของพืช เป็นต้น
- อย่าลืมว่า "เรากำลังฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ วิธีการคิดและทำตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ " ดังนั้น ต้องค่อยๆ พานักเรียนดำเนินการ ๔ ขั้นตอนเสมอ คือ พากำหนดปัญหา พาตั้งสมมติฐาน ทดลอง/พิสูจน์/รวบรวมข้อมูล และสรุปผลการศึกษาทดลอง
- แนะนำสำหรับ การสอนห้องโล่งๆ แบบนี้
- ใช้การสอนแบบเน้นกิจกรรม (Activity-based Learning) เช่น
- อาจง่ายๆ ตรงเป้าหมายคือ ให้วาดรูปท่อลำเลี้ยงเหมือนที่ครูเตรียมสอน กำชับและกำกับให้วาดให้ละเอียด ประณีต ระบายสีสวยๆ ทำเป็นชั่วโมงศิลปะไปเลย
- อาจเป็นกิจกรรมสำรวจและทดลองแบบลองผิดลองถูกด้วยตนเองได้ โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มไปเด็ดลำต้นพืช (วัชพืชร) ต่างๆ ที่เห็นเยอะทั่วไปข้างห้องเรียน มาลองทำ แล้วใช้ใบงานนำให้สังเกตดูว่า เหมือนหรือต่างกันหรือไม่อย่างไร
- อาจสอนโดยใช้ใบงานที่มีกิจกรรมที่มีขั้นตอนชัดเจน ท้าทาย และมีจำนวนข้อมากพอสำหรับการดำเนินการสัก ๑๕-๒๐ นาที
- ฯลฯ.... จงเป็นนักออกแบบกิจกรรม
- สอนแบบไม่ใช้เสียง สื่อสารด้วยเสียงให้น้อยที่สุด เช่น สอนโดยมอบหมายงานเดี่ยว แล้วให้ทำแบบประเมินแบบเปิด ให้สืบค้นด้วยตนเองได้ เมื่อเสร็จให้เอามาส่งครูรายบุคคลทันที แล้วตรวจประเมินป้อนกลับรายบุคคลทันที และหากทำเสร็จก็ให้ทำกิจกรรมอื่นได้ตามอัธยาศัย
- สำคัญคือ ต้องกำหนด KPA ให้ชัดเจนมากๆ กำหนดเลยว่า ต้องการให้นักเรียนรู้อะไร (K) ทำอะไรได้ (P) ตระหนักถึงอะไร (A) แล้วออกแบบให้ง่ายและตรงที่สุด พร้อมออกแบบกิจกรรมให้ได้ประเมิน KPA ของตนเองโดยไม่รู้ตัว
คนที่ ๒
- สิ่งที่เห็นว่าเป็นจุดเด่น
- ยังคงเป็นบุคลิกที่ สุขุม นอบน้อม นิ่มนวล ต่อทั้งผู้เรียนและผู้คนที่ได้คุยด้วย เป็นบุคลิกที่แสดงออกให้เห็นความเกรงใจ จึงไม่แปลกที่จะเห็นนักเรียนในชั้นเรียน ตั้งใจและให้ความร่วมมือต่อกิจกรรมที่ครูฝึกสอนบอกโดยไม่ต้องให้ตะโกนใดๆ
- อีกอย่างหนึ่งที่ชอบคือ "การทิ้งเวลา" หรือ "รอเวลา" ให้นักเรียนได้ลองคิดหรือทำด้วยตนเองก่อน เช่น ตอนที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เขียนสรุปผลของตนก่อน โดยไม่รีบเฉลย
- แนะนำต่อจากสิ่งที่เคยแนะนำไว้ในบันทึกแรก (อ่านที่นี่)
- ระลึกเสมอว่า "เรากำลังสอน กำลังฝึกทักษะกระบวนการและวิธีการทางวิธีการทางวิทยาศาสตร์" ให้นักเรียน ดังนั้น การพาทำหรือให้ทำด้วยตนเองใน ๔ ขั้นตอนนนี้ ต้องทำทุกครั้งเมื่อจะมีการทดลอง คือ กำหนดปัญหา กำหนดสมมติฐาน พิสูจน์/ทดลอง และสรุปผล
- กิจกรรมที่ออกแบบให้ทำ ยังไม่เหมาะสม ง่ายเกินไป ใช้เวลาน้อยเกินไป เวลาที่เหมาะสม น่าจะอย่างน้อย ๒๐ นาที โดยมีปัญหาหรือความท้าทายให้ค้นหาคำตอบโดยการพิสูจน์
- กิจกรรมการทดลอง ต้องออกแบบให้นักเรียนได้ บันทึกข้อมูลเป็นตัวเลขเสมอ (ระดับมัธยม) ได้มีการวัด การคำนวณ การตีความหมายข้อมูล การลงความเห็นจากข้อมูล และการนำเสนอ
- ความทั่วถึงต่อกิจกรรมที่ทำเป็นเรื่องสำคัญ การพิจารณานักเรียนรายบุคคล ประเมนรายบุคคล จะเป็นไปไม่ได้ และกลายเป็นเรื่องไม่จริงทันที หากบทบาทการทำงานในกลุ่มไม่ชัด ซึ่งจะเกิดขึ้นแน่ๆ ในกรณีที่กลุ่มใหญ่เกินไป
- อย่างลืมเรื่องการ สะท้อนการเรียนรู้ (Reflection) โดยเฉพาะการเรียนรู้ของตนเอง (Self-Reflection) ต้องเหลือเวลาให้มีกิจกรรมนี้เสมอ
ช่วงท้ายของการนิเทศ เรานั่งคุยกันถึงเรื่องวิจัยในชั้นเรียน ผมแนะนำว่า สิ่งสำคัญคือ การฝึกนิสิตและการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียน เรากำลังสร้างวัฒนธรรมวิทยาศาสตร์ เราไม่ได้เพียงสอนวิทยาศาสตร์ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเข้าใจ คือ ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ๑๓ ข้อที่ยอมรับกันทั่วโลก วิธีหนึ่งในการทำความเข้าใจคือ นำมาวาดรูปและสร้างระบบจดจำอย่างเป็นระบบเสียก่อน เช่น ภาพด้านล่างนี้
เข้าใจได้ด้วยการพิเคราะห์ภาพ ไม่ยากเลย ใช่ไหมครับ เป้าหมายคือการเข้าใจธรรมชาติ เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ๆ ใกล้ความจริงเข้าไปเรื่อยๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น