วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๖) "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" กับ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

หากท่านผู้อ่านสังเกตให้ดี ร้อยละ ๘๐ ของคนไทย รวมถึงสื่อสารมวลชน จะพูดคำว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" แทนที่จะพูดคำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"



ทำไมต้องมีคำว่า "ของ" จำเป็นด้วยหรือ? คือคำถามที่ผุดในใจของทุกคนที่หันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ... ผู้ฟังที่อัตตามากก็จะดันทุรังพูดไป บอกว่า "ไม่สำคัญ" แล้วสอนสั่งให้เราฟังทันทีว่า "อยู่ที่ใจ"  แต่หากเป็นผู้ฟังที่เปิดใจ ฟัง และรักการเรียนรู้ จะรับรู้และยอมรับภายหลังว่า เราควรใช้คำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ให้ถูกต้อง เพื่อแสดงความเคารพเทิดทูลและระลึกถึงในหลวง ร.๙ อันเป็นที่รักและบูชายิ่งของปวงชนชาวไทย

หลังจากมีพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ทรงเป็นกังวลต่อความเข้าใจไม่ถูกต้องต่อ "เศรษฐกิจพอเพียง" (ดังที่ผู้เขียนได้เล่าถึงที่นี่) คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สิปนนท์ เกตุทัต (ท่านนี้เป็นนักฟิสิกส์) จึงได้ริเริ่มชักชวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์และสาขาต่างๆ มาร่วมกันศึกษากลั่นกรองพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เวลา ๖ เดือน จึงสามารถสรุปเป็นบทความชื่อ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

หลังจากคณะทำงานได้กลั่นกรองเป็นบทความ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" แล้ว ศสช. ได้ทำหนังสือราชการถึงราชเลขาธิการ เพื่อขอกราบบังคมทูลขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและขอพระบรมราชานุญาตเผยแพร่ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒  ซึ่งต่อมาทรงได้แก้ไขและโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรมราชานุญาตในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒  ดังสำเนาหนังสือนี้


โปรดสังเกตว่า  ในสำเนาหนังสือนี้ ทรงใช้คำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  ดังนั้น เราต้องใช้คำว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Philosophy of Sufficiency Economy ตามที่ทรงมีพระบรมราชานุญาต

ขอให้ผู้อ่านช่วยบอกต่อไปจะเป็นการสมควรยิ่ง ... ขอบพระคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น