วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2561

KM beyound 4.0

วันที่ ๔-๕  เมษายน ๒๕๖๑ มีงาน ลปรร. (แลกเปลี่ยนเรียนรู้) ของกลุ่มชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ​" mini-UKM" ซึ่งจัดต่อเนื่องกันมาถึงครั้งที่ ๑๘ (อ่านที่มาได้ที่นี่​) ครั้งนี้จัดที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา มี "หัวปลา" ๕ ประเด็นได้แก่ ๑) เทคนิคการสอนแบบอาจารย์มืออาชีพ ๒) การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา ๓) เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน ๔) Best Practice เรื่องเทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) Data analysis for QA development system มีช่วง "ให้อาหารปลา" (ยกระดับความรู้) ๒ ช่วง เป็นการบรรยายพิเศษขององค์ปาฐกเรื่อง "KM beyound 4.0" โดย ศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช และก่อนปิดงานเรื่อง "กระทรวงอุดมศึกษา สู่มหาวิทยาลัย 4.0" โดย ศาสตราจารย์คลีนิค นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ...  
ผม ALR ว่า ตนเองได้ทั้งประเทืองความรู้เดิม ได้เติมความรู้ใหม่ ได้ไอเดียและแนวทางที่จะไปทำต่อ และที่สำคัญได้มิตรภาพสำคัญที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ mini-UKM และเป็นโอกาสดีที่จะได้ทบทวนความหมาย หลักการ และวิธีการในการนำเอา KM ไปใช้ในการพัฒนางาน จึงเขียนบันทึก KM beyond 4.0 นี้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่าน ในการนี้ ...
ศ.นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร กับ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ น่าจะเป็นหัวใจของการนำเอา KM มาใช้ในงานมหาวิทยาลัยไทยทั่วประเทศ กลุ่ม mini-UKM ที่ท่านทั้งสองร่วมกันเป็นวิทยากรหลัก สามารถจัดต่อเนื่องได้ยาวนานหลายปี ดังนั้นประสบการณ์ของท่านทั้งสอง น่าจะเป็นแนวทางให้เราไม่หลงทาง และโดยเฉพาะ ศ.นพ.วิจารณ์ ผู้บุกเบิกนำเอา KM มาใช้ในประเทศไทย ที่มาให้ความมั่นใจในครั้งนี้
หลายท่านคงคิดเชิงวิพากษ์ว่า ทำไมต้องสร้างวาทะกรรม "4.0" ขึ้นมา สำหรับผมเห็นว่านี้เป็นกลยุทธ์ในการสร้างความเข้าใจและความนิยมเบื้องต้น เป็นวิธีการสื่อสารที่ใช้กันมานานมากแล้ว โดยเฉพาะในการบริหารจัดการสมัยใหม่ การสร้างคำหรือวาทะกรรมแบบนี้ สามารถสร้างความสนใจ สร้างความสงสัย หรือสร้างคำที่แทนความหมายหรือเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง 
การบรรยายของรัฐมนตรี ท่านเน้นย้ำว่า เป้าหมายของมหาวิทยาลัยต้องทำให้เป้าหมายของประเทศบรรลุผล ไม่มียุคใดสมัยไหนที่เป้าหมายของประเทศไทยชัดเจนเท่านี้มาก่อน (มีแผนชัด) คือทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง วิธีที่จะทำให้ก้าวไปสู่ประเทศที่ "มั่งคั่ง" ได้คือทำให้ก้าวไปสู่ "ประเทศไทย ๔.๐" ซึ่งจำเป็นต้องทำให้การศึกษาเป็น "การศึกษาไทย ๔.๐"  ดังสไลด์ด้านล่าง ... 
ผมเข้าใจว่า ผู้ใหญ่ในวงการ KM คงคิดต่อว่า  จะทำให้การศึกษาไปสู่จุดนั้น จะต้องพัฒนาไปให้ถึง KM 4.0 และเสนอต่อไปอีกว่า KM beyond 4.0 จะเป็นอย่างไร 
(สไลด์ ศ.นพ.อุดม คชินทร รมต.ช่วย กระทรวงศึกษาธิการ)

ความแตกต่างระหว่าง KM 1.0, 2.0, 3.0 และ 4.0 โดยศาสตราจารย์ นพ.วุฒิชัย ธนาพงศธร
ศ.นพ.วุฒิชัย ท่านอธิบายให้ทุกคนได้สะท้อนระดับการพัฒนาของ KM ด้วยการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง KM 1.0, 2.0, 3.0, และ 4.0 ดังภาพ 

ผมชอบความชัดเจนของบรรทัดสุดท้าย ที่เรียงลำดับ "การรับรู้" (Perception) ต่อ KM ๔ ระดับ ได้แก่
  • KM 1.0 เข้าใจว่า KM เป็นภาระงานเพิ่มเติมที่ฉันต้องทำ
  • KM 2.0 เข้าใจว่า KM เป็นส่วนหนึ่งของงานของฉัน 
  • KM 3.0 เข้าใจว่า KM คือเครื่องมือที่ช่วยฉันทำงาน 
  • KM 4.0 เข้าใจว่า KM คือเครื่องมือที่ช่วยฉันและองค์กรทำงานของเรา 
ผมตีความลักษณะของ KM 4.0 ตามที่ ศ.นพ.วุฒิชัย เสนอ ดังนี้ 
  • เน้นเอาผลผลิตและนวัตกรรมเป็นศูนย์กลาง 
  • เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชุมชนนักปฏิบัติ (สังคม) 
  • เน้นพัฒนาที่ตัวคนและทีม ความร่วมมือ โดยใช้ระบบกระจายอำนาจ 
  • ชุมชนร่วมกันเลือกใช้เครื่องมือต่างๆ 
  • ใช้ KM ในการทำงานทั้งกับตนเอง เพื่อนร่วมงาน และองค์กร (องค์กรแห่งการเรียนรู้) อย่างเป็นธรรมชาติ 
หากตีความว่า KM 4.0 เป็นดังนี้ คำถามคือ แล้ว "KM beyond 4.0" จะเป็นอย่างไร ... ไปดูคำตอบของผู้รู้ทั้งสองท่านครับ

KM beyond 4.0 ในมุมมองของ รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ (คุณหมอ JJ)


คุณหมอ JJ เขียนแผนที่ KM ดังสไลด์ด้านล่างนี้ 
ผมตีความเอาเองจากสไลด์นี้ว่า KM ในแต่ละยุค ท่านหมายถึง 
  • KM 1.0 เป็น Hard Science เน้นให้ความสำคัญเฉพาะ "วิชาการ" ทฤษฎี ข้อเท็จจริงชัดแจ้ง ให้ความสำคัญเฉพาะความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge, EK) เช่น ข้อเท็จจริง ทฤษฎี กฎ ผลการวัด ผลการทดลอง ฯลฯ  โดยไม่สนใจความรู้สึกนึกคิดของคนและสังคม 
  • KM 2.0 เป็น Soft Science สนใจประสบการณ์การเรียนรู้ของคนและระหว่างคนกับคน โดยใช้ KM เป็นเครื่องมือ (tools) ในการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อจะสร้างวัฒนธรรมในการทำงานเชิงราบร่วมกัน... ในระดับ KM 2.0 นี้ กระบวนการ KM ต่าง ๆ อาจยังเป็นรูปแบบ 
  • KM 3.0 คือความสำเร็จของ KM 2.0 เกิดขึ้นเมื่อการนำ KM Tools มาใช้ต่อเนื่องจนเกิดเป็น "วิถี" (อยู่ในวิถีชีวิต วิถีการทำงาน) เกิดเป็นวัฒนธรรมในการทำงาน มีเป้าหมาย มีกระบวนการตาม SECI Model ครบวงจร ดังนี้ 
    • S (Socialization) คือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge, TK) ระหว่างกันแบบเผชิญหน้า
    • E (Externalization) คือ มีการถอดบทเรียนหรือสกัดความรู้ จากความรู้ฝังลึกไปเป็นความรู้ชัดแจ้ง (เปลี่ยนจาก TK ไปเป็น EK) 
    • C (Combination) คือ การควบรวมหรือบูรณาการความรู้ชัดแจ้งเข้าด้วยกัน สังเคราะห์เป็นองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ 
    • I (Internalization) คือ การนำเอาความรู้ชัดแจ้งไปใช้ เกิด(กลาย)เป็นความรู้ฝังลึกในคน
  • KM 4.0 ในสไลด์นี้ ท่านสรุปลักษณะของ KM ที่ ศ.นพ.วิจารณ์ บรรยายในฐานะองค์ปาฐกครั้งนี้ ... ดังจะกล่าวต่อไป 
  • KM beyond 4.0 จะต้องไม่ใช่เพียง การนำเอา KM ไปใช้เป็นวิถี แต่ฝังลึกลงไปในใจ จนกลายอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ (เรียนรู้ตลอดชีวิต) เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้(วัฒนธรรมเรียนรู้) และมีจิตสำนึกความเป็นเจ้าของ (Sense of Belonging) ในองค์กร ชุมชน สังคม ประเทศ ฯลฯ 
KM beyond 4.0 ในมุมมองของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ฟังท่านพูดกี่ครั้งก็ได้ความรู้ใหม่เสมอ วิธีการหยิบเอา "แก่นความรู้" ที่เกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาเรียงต่อบรรทัด เป็นวิธีลัดในการทำให้ผู้ฟังได้เข้าใจได้เสมอ  ท่านสรุปแก่นของ KM ในเบื้องต้น บอกองค์ประกอบของ KM 4.0 และเปรียบต่างให้เห็นในตอนกลาง และลงรายละเอียดวิธีการนำไป Internalized ในตอนท้าย โดยเฉพาะเรื่อง Framework ในตอนท้าย ... เข้าใจว่า ท่านคงจะเผยแพร่ Narrated ppt เร็วๆ นี้  ขอนำมาแลกเปลี่ยนบางส่วน ดังนี้ 
  • KM คือ การจัดการให้ "ความรู้" ออกฤทธิ์ ส่งผลต่อความสำเร็จของงาน  คนได้เรียนรู้มาก องค์กรได้บรรยากาศที่ดี มีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรเรียนรู้ 
  • KM คือ เครื่องมือ ของการเรียนรู้จากการปฏิบัติ สะท้อนคิดร่วมกัน คือการจัดให้มีความรู้พร้อมใช้ในการทำงาน หมุนเกลียวยกระดับความรู้ 
  • KM เป็น Tools,  ความรู้เป็น means, End คือ งาน คน และองค์กร 
(สไลด์ คุณหมด JJ)


ท่านเปรียบเทียบ KM ในแต่ละยุค ดังนี้ว่า 
  • KM 1.0 สร้างถังใส่ความรู้ 
  • KM 2.0  Human KM , เน้นฝึกทักษะคน เช่น การฟังอย่างลึกซึ้ง เรื่องเล่าเร้าพลัง AI(Appriciative Inquiry), เปิดใจ ยินดี กล้าแลกเปลี่ยน EK, TK, SECI cycle, BAR, DAR, AAR, ถอดความรู้, Peer Assist เป็นต้น 
  • KM 3.0 อยู่ในวิถี มีเป้าหมาย ใช้ IT มีการจัดการ "หัวปลา" และสารสนเทศ มีการจัดการความรู้จากภายนอก
  • KM 4.0 มี Framework KM (กรอบงาน KM) มีการจัดระบบ คือ จับเป้า ทำเป็นระบบ ทำอย่างเป็นขั้นตอน มีการวัดและการสื่อสาร  
    • จับเป้า -> มีเป้าหมายที่ยึดกุมภาพใหญ่ ครอบคลุม ทำเล็กแต่ต้องพุ่งเป้าภารกิจหลักขององค์กร  จับเป้าจัดการความรู้ที่จะทำให้เป้าหมายที่กำหนดสำเร็จ (Critical K.) 
    • ทำเป็นระบบ -> มีกรอบงาน KM ที่กำหนดชัดถึง คน ผู้แสดงบทบาทและรับผิดชอบ (roles) กระบวนการที่ช้ (process) ที่เป็นมาตรฐานกลาาง เทคโนโลยี เพื่อหนุนการ ลปรร. และกลไกกำกับดูแล (governance) คือสร้างกติกาและข้อตกลง
    • ทำอย่างเป็นขั้นตอน -> มียุทธศาสร์ มีการวางแผน มีการทดสอบ&โครงการนำร่องก่อนการขยายผล และมีการบูรณาการกับงานประจำ 
    • มีการวัดและสื่อสาร -> ตั้งเป้าหรือผลที่คาดจะได้รับ มีการสร้างวิธีวัด สื่อสารผล และสร้างการยอมรับ ทำให้เกิดพลังมวลชน เกิดพลังนโยบาย 
สไลด์ที่ผมสะดุดใจมากที่สุด คือ ตังอย่างภารกิจด้าน KM 4.0 นอกเหนือจากที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว ท่านลิสท์เป็นข้อ ๆ ดังนี้ 
  • K Engineer : กำหนด critical knowledge, ถอดความรู้, จัดระบบ K. Assets, จัดประเมินความรู้ 
  • Lessons-Learned Facilitator : จัดการประชุม, จัดเสวนาจนความรู้สำคัญ "โผล่", ตรวจจับความรู้, ทำเป็นเอกสารที่ใช้ง่าย (Lessons Management Systems), ติดตามผลการใช้งาน สู่การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติงาน
  • Learning Historian: สัมภาษณ์เก็บข้อมูล, กลั่นกรองร้อยเรียง, เขียนเป็นพรรณนาโวหาร, ตรวจจำความแม่นยำ, เผยแพร่
  • K Base Publisher: เขียนบทความเผยแพร่ออกภายนอก 

หลายข้อผมกำลังทำอยู่ บางข้ออยู่ในแผน เป็นเส้นทางที่กำลังเดิน แต่บางข้อก็ยังทำไม่สำเร็จ ... ผมเข้าใจว่า ศ.นพ.วิจารณ์ ท่านกำลังให้แผนที่การเดินทางของคน KM ทุกท่าน  ทุกข้อท่านได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างทั้งหมดแล้ว....

สไลด์สุดท้าย ท่านสรุปว่า KM beyond 4.0 จะทำให้เกิดผลลัพธ์/ผลกระทบที่ต้องการ มีเป้าหมายชัด มีการจัดการอย่างเป็นระบบ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการองค์กร มีการวัดและปรับตัวสม่ำเสมอ เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร

ข้อสรุป KM beyond 4.0 

หลังจากศึกษามุมมองของผู้รู้ทั้ง ๓ ท่าน ผมสรุปว่า KM ไม่ได้มียุค 1.0, 2.0, 3.0, หรือ 4.0  ทุกท่านมองไปที่ระดับความสำเร็จของการนำ KM มาใช้  ผมตีความว่า ท่านเพียงจะนิยามลักษณะองค์ประกอบหรือลักษณะของผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังยกระดับความเข้าใจและแนวทางการนำไปพัฒนาตนเองเท่านั้น  ซึ่งสามารถแบ่งระดับความสำเร็จได้ ๕ ระดับ ดังนี้ 
  • ระดับ ๑ ได้เพียงองค์ความรู้ คลังความรู้ หรือถังใส่ความรู้ ซึ่งอาจจะเก็บอยู่ในลักษณะฐานข้อมูล 
  • ระดับ ๒ เกิดกิจกรรมหรือกระบวนการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นการใช้ KM เป็นเครื่องมือในรูปแบบ เป็นทางการ 
  • ระดับ ๓ เกิดเป็นวิถีในการทำงาน มีกระบวนการ SECI ครบวงจร อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นวิถีในการดำเนินชีวิต 
  • ระดับ ๔ เป็นวิถีในชีวิต มีกรอบการทำ KM มีเป้าหมายชัดเจน มีระบบ มีขั้นตอน มีการวัดและสื่อสาร เป็นนโยบายขององค์กร 
  • ระดับ ๕ เกิดผลลัพธ์บรรลุตามเป้าหมายของงาน เกิดวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ ระดับบุคคลเกิดอุปนิสัยใฝ่เรียนรู้ ระดับองค์กรเกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ บุคลากรเกิดจิตสำนึกรักและเป็นเจ้าขององค์กร
คำถามสำคัญคือ KM ในหน่วยงานของเรา สำเร็จหรือไม่ อยู่ในระดับความสำเร็จใด?  ...  ผมมีพลังใจขึ้นมานิดหน่อย เมื่อผู้รู้ท่านบอกว่า 
  • KM ไม่ใช่สุกี้ ที่ ๓ นาทีพร้อมทาน 
  • KM ไม่ใช่เกมเศรษฐี ไม่มีสูตรสำเร็จ 
  • KM จะต้องพบกับความไม่ราบรื่นแน่นอน...
  • ฯลฯ
ขอจบเท่านี้ครับ ....

 รองอธิการ มรภ.สวนสุนันทา กล่าวเปิดงาน

 รศ.นพ.จิตเจริญ ไชยาคำ BAR พาเข้าสู่กระบวนการ


ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช บรรยายพิเศษ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น