วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2561

เรียนรู้ "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" จากคลิปบรรยายพิเศษ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม

"ศาสตร์พระราชา" คือเนื้อหาบทหนึ่งในการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้นิสิตรู้และเข้าใจในศาสตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างและพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทยตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่่ทรงครองราช และให้ทุกคนสามารถน้อมนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตของตนๆ ตามสมควร

ศาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ของพระราชา ทั้งที่เป็นองค์ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และองความรู้ฝังลึกในพระองค์ (ความรู้ฝังลึกในตัวตน Tacit Knowledge) ซึ่งสามารถศึกษาเรียนรู้ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท หรือพระราชอัตยาศัย

ผู้ที่บรรยายให้ความรู้เรื่องนี้ (ศาสตร์พระราชา) ได้ดีที่สุดและได้รับการยอมรับที่สุดท่านหนึ่งคือ อาจารย์วิษณุ เครืองาม (ขณะที่กำลังเขียนบันทึกนี้ท่านดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี) ในช่วงหลังวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๙ ท่านบรรยายเรื่องนี้ไว้หลายที่หลายวาระ เช่น ที่นี่ และ ที่นี่ ฯลฯ  โดยใช้ชื่อการบรรยายพิเศษว่า "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" .... ฟังเพลินและประเทืองปัญญายิ่งครับ

ศาสตร์พระราชา

รัชกาลที่ ๑ ทรงเป็นนักรบ

  • ทรงชนะสงครามเก้าทัพ อันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย... ศาสตร์พระราชาแห่งรชกาลที่ ๑ คือ การรบ การทำศึก

รัชกาลที่ ๒ ทรงเป็นกวี

  • ทรงแต่งกลอน แต่งโครง เสภา ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กวีอย่างสุนทรภู่ก็มีชื่อเส่ียงในสมัยนี้  โขน ระบำ รำ ฟ้อน ก็รุ่งเรืองในยุคนี้ หลังจากที่กรำศึกมานาน  ๑๕ ปี... ดังนั้นศาตร์พระราชาแห่งรัชกาลที่สองก็คือ ศิลปวัฒนธรรม 

รัชกาลที่ ๓ ทรงเป็นธรรมิกราชาและนักค้าขาย

  • ทรงไม่ทอดพระเนตรโขน ระบำรำฟ้อนละครเลย ทรงเชี่ยวชาญ ๒ เรื่อง คือ เรื่องวัดในพระพุทธศาสนาและเรื่องเศรษฐกิจ 
  • เงินทองที่ทรงได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ใช้ในราชการแผ่นดิน ๑ อีกส่วนใช้ส่วนพระองค์ และส่วนที่เหลือทรงบรรจุไว้ในถุงแดง รวบรวมไว้ข้างที่พระบรรทม แล้วทรงสั่งว่าให้เอาไว้ใช้ในการทำนุบำรุงวัดวาอารามที่ทรงสร้างขึ้นในภายหน้า และเอาไว้ไถ่บ้านไถ่เมืองในรัชกาลต่อไป
  • ทรงโปรดและส่งเสริมเรื่องทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและเรื่องเศรษฐกิจค้าขาย ผู้ค้าขายเก่งจะทรงโปรด ... ศาสตราพระราชาจึงเป็น เรื่องเศรษฐกิจ และเรื่องพระพุทธศาสนา  
  • รัชกาลที่ ๓ แม้มีภรรยามาก มีลูกมาก แต่ท่านทรงไม่แต่งตั้งองค์ใดเป็นพระมเหสีเลย ลูกท่านจึงไม่ได้เป็นพระองค์เจ้า ไม่มีคุณสมบัติที่จะสืบต่อราชสมบัติเลย 
รัชกาลที ๔ วิทยาการที่ทันสมัย ทัดเทียมฝรั่ง
  • ทรงผนวชอยู่ ๒๗ ปีตลอดรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงทรงแตกฉานกาลพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง 
  • สิ่งแรกที่ทรงทำคือ ปฏิรูปประเทศไปสู่อารยธรรมสากล ทรงสั่งให้คนทั้งหลายสวมเสื้อเวลาเข้าเฝ้า  เป็นสัญญาณสำคัญของการปฏิรูปประเทศไปสู่อารยประเทศ 
  • เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่จ้างชาวต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษ และทรงใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างดีเยี่ยม
  • ทรงสามารถทำนายสุริยุปราคาได้อย่างแม่นยำ ... ทรงรับสั่งว่า ทำการนี้เพื่อเอกราช  ทรงแสดงให้เห็นว่า เราไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน เรามีความรู้ เราก้าวเท่าทันสมัย ทำให้ต่างชาติไม่ดูถูกคนไทย เกิดความเกรงใจ จนประเทศไทยมีเอกราชมาถึงทุกวันนี้ 
  • ศาสตร์พระราชาของสมัยรัชกาลที่ ๔ คือ วิทยาการสมัยใหม่ เท่าทันสมัยต่างชาติ 

รัชกาลที่ ๕ นักปฏิรูป
  • ทรงเลิกทาสสำเร็จอย่างเรียบร้อยไม่เสียเลือดเนื้อใดๆ โดยทำแบบค่อยเป็นค่อยไปใน ๔๐ ปี (ทรงเตรียมการอยู่ ๑๐ ปี และใช้เวลาเลิกทาส ๓๐ ปี) 
  • ทรงโปรดการปฏิรูปสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ใครเป็นนักปฏิรูปจะได้รับการโปรด
  • ๒๔๒๘ ทรงปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มี กระทรวง ทบวง กรม
  • ทรงมีศาสตร์ในการดูแล เลี้ยงดู และส่งเสริมการศึกษาให้กับลูกๆ ของท่าน
  • ลูกคนที่ประหยัด เก็บเงินดี ส่งไปเรียนเศรษฐศาสตร์ที่อังกฤษ  คือ กรมพระยาจันทบุรีนฤนาถ ต้นสกุลกิตตยากร มาทำผู้สร้างกระทรวงพาณิชย์ 
  • ลูกคนนี้รักความเป็นธรรม ชอบตัดสิน ส่งไปเรียนอังกฤต คือ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ บิดาของกฎหมายไทย 
  • ลูกคนนี้เหมาะที่จะเรียนทหารเพราะองอาจผึ่งผาย รักษาวินัยดี แต่ต้องไปเรียนทหารเรือ  คือ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อีกคนไปเรียนทหารบก คือ สมเด็จเจ้าฟ้านครสวรรค์วรพินิจ ฯลฯ 
  • ท่านส่งลูกชายทั้ง ๓๗ คนไปเรียนต่างประเทศหมด 
  • ปกเกล้าปกกระหม่อม ฝรั่งเรียกว่า The King's Rain ไม่ได้ปกครองแต่ปกเกล้าปกกระหม่อม

รัชกาลที่ ๖ สร้างแรงบันดาลใจให้รักชาติ

  • สมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น ใครที่รักชาติ ก็จะโปรด  เช่น ตอนนั้นใครช่วยบริจาคเงินซื้อเรือรบ ก็จะโปรด ฯลฯ
  • ทรงเขียนหนังสือ (เทศนาเสือป่า หัวใจพระร่วง) แต่ง ประพันธ์ เพลง กลอน เพื่อให้คนไทยมีแรงบันดาลใจให้รักชาติ 

รัชกาลที่ ๗ ใครแก้ไขเศรษฐกิจได้จะทรงโปรด

  • เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี มีการต้องเอาคนออกจากงาน ดังนั้นใครที่คิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้จะเป็นคนโปรด

รัชกาลที่ ๘ ใครที่เรียกขวัญกำลังใจคนให้กลับมาได้น่าจะโปรดปราน

  • ใครที่เรียกขวัญกำลังใจคนให้กลับมาได้น่าจะเป็นที่โปรดปราน 

รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา

  • ทรงขึ้นครองราชย์ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ตอนนั้นทรงพระเยาว์ เรียนยังไม่จบ ทรงพระราชนิพนธ์ไว้เองว่า ต้องเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิทเซอร์แลนด์  วันที่ทรงเสด็จกลับ ทรงให้เครื่องบินพระที่นั่งบินวน ๓ รอบ ด้วยความยากยิ่งในการตัดสินใจเสด็จกลับ 
  • เดิมทรงศึกษาวิทยาศาสตร์ จำต้องเปลี่ยนมาเรียนรัฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง 
  • ทรงกำพร้ามาตั้งแต่ ๒ พรรษา ทรงรับสั่งว่าทรางจำพระพักตร์ของพระบรมราชชนกไม่ได้  แต่ทรงเจริญด้วยการเลี้ยงดูของพระบรมราชชน 
  • ทรงศึกษาจากศาสตร์ต่างๆ ที่ได้จากครอบครัว จากโรงเรียน และที่สำคัญคือได้จากการลงมือปฏิบัติในประเทศ 
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลังพระบรมราชาภิเษก  ทรงเริ่มออกเยี่ยมประชาชน  
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๗ คนไทยได้เห็นรูปในหลวงทรงคุกเข่าต่อหน้าประชาชน ทำให้ประชาชนคนไทยประหลาดใจต่อบทบาทของพระราชาอย่างมาก 
  • ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ แม่เฒ่าวัยชรานำดอกบัวมารอถวายตั้งแต่เช้า พระองค์ทรงน้อมพระองค์ลงต่ำ ถือเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ
  • ศาสตร์พระราชา ก็คือ "กิจที่ทรงทำ คำที่ทรงแนะ" ทรงทำอย่างมีขั้นตอน มีการวางแผน มีการศึกษา 
  • คราวหนึ่ง... ในขณะที่ประชวรอยู่ เมื่อทรงทราบว่าดินพรุที่นาราธิวาส สามารถปลูกข้าวได้ หลังจากที่พระองค์ทรงแก้ไขด้วยการแกล้งดิน ทรงปลื้มพระทัยกับความสำเร็จนั้นมาก  
  • ในหลวงราชกาลที่ ๙ นั้น ทรงทำและทรงสอน ตรงกับหลักการศึกษาและศาสนา  คือ ต้อง ทำอะไรก็ต้อง ปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิเวธ  ... บางประเทศ เช่น พม่า ถึงขั้นตั้งเป็นคำขวัญของประเทศทีเดียว
  • ศาสตร์พระราชานั้น ได้มาจาก ๓ ทาง ได้แก่ ๑) พระราชประสบการณ์ ๒) พระราชกรณียกิจ และ ๓) 
  • พระราชประสบการณ์อันยาวนาน ทุกๆ ครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรี จะต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณ ที่ห้องทอง ที่วังสวนจิตรลดา  แต่ละปีนั้นมีเป็น ๑๐ ครั้ง  ...  บุคคลเปลี่ยนหน้ามารับ แต่ทรงเป็นพระองค์เดิมยืนอยู่ ... ดังนั้น  พระราชประสบการณ์นั้นมากล้นยิ่ง 
  • เริ่มต้นจาก กปร. (สำนักงานคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ได้รวบรวม หลักการทรงงาน ๒๓ ข้อ ต่อมาจึงเรียกว่า "ศาสตร์พระราชา" 
  • ศาสตร์พระราชามีเนื้อหา ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ศาสตร์แห่งการพัฒนา ๒) ศาสตร์แห่งการครองตนครองงาน และ ๓) ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสงบสุข
  • ศาสตร์แห่งการพัฒนา เช่น เรื่องพัฒนาดิน พัฒนาน้ำ ฯลฯ จนได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติว่าเป็น "กษัตริย์นักพัฒนา"
  • กษัตริย์จิ๊กมี่ของประเทศภูฏาน พูดเรื่องพระเจ้าอยู่หัวของเราว่า  ท่านรักเหลือเกิน ท่านประทับใจเหลือเกินที่ ในหลวงตรัสตอนไปเยี่ยมราษฎร ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน แล้วในหลวงนั่งกับพื้นแทนที่จะนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ แต่ผู้ใหญ่บ้านไม่สบายใจ... ทรงรับสั่งว่า รู้ไหมว่าทำไมพระเจ้าแผ่นดินต้องนั่งกับพื้น ทำไมไม่นั่งอยู่บนบันลังก์ ... เพราะคนไทยยังจนอยู่ เมื่อยังจนอยู่ ก็ยังไม่มีการศึกษา เมื่อไม่มีการศึกษาก็ไม่มีความรู้ เมื่อไม่มีความรู้ ก็จะยังไม่มีประชาธิปไตยได้  ทรงประทับใจอีกตอนหนึ่งที่ ในหลวงรับสั่งว่า ประเทศไทยเหมือนสามเหลี่ยมพีระมิดกลับด้านที่ในหลวงอยู่ด้านล่าง แบกรับทุกสิ่งไว้ 
  • ศาสตร์แห่งการครองตน ครองงาน ทรงมีวิธีการสอนที่แยบยลยิ่ง หากแต่ทรงใช้วิธีทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เช่น ....
  • ครั้งหนึ่ง ตอนที่ ดร.วิษณุ เป็นเลขาธิการสำนักนายกฯ  มีมหาดเล็กนำเอาซองสีน้ำตาลมาคืนให้ บอกว่า สำนักราชเลขาธิการฯ ได้รับพระกระแสรับสั่งว่า ให้เอากลับไปใช้ใหม่ และต่อไปอย่าใส่เลขที่หนังสือหนังสือบนซอง ให้เขียนแต่เพียง "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย.." จะได้เรียบร้อย
  • ครั้งหนึ่ง สมัยนายกฯ ชวนหลีกภัย ได้อนุมัติกฎหมายขึ้นเงินเดือนราชการ  ได้เขียนหน้าซองกฎหมายเพื่อขอทรงลงพระปรมาภิไธย ว่า "ทูลเกล้าฯ ...."  ไม่มีคำว่าถวาย เป็น "ทูลเกล้าฯ ถวาย" แล้วรอเรื่องอยู่นานจนทนไม่ได้ จึงทูลถามในวันหนึ่งในโอกาสที่ทรงเลี้ยงอาหารค่ำ  ทรงมีพระราชอารมณ์ขัน ดร.วิษณุเล่าว่า ทรงรับสั่งว่า".. ทูลเกล้าทูลกระหม่อม จึงยังอยู่บนเกล้า ยังมาไม่ถึงฉัน ..." "...ไม่ต้องตกใจ ฉันก็ไม่ใช่คนเจ้ายศเจ้าอย่าง แต่วันนี้วันที่ ๒๙ ธันวาคม กะว่าจะเซ็นวันที่ ๑ มกราคม เป็นของขวัญให้ข้าราชการ...."  ทรงสอนทั้งวิธีคิด วิธีทำงาน รายละเอียดในการทำงาน 
  • ศาสตร์แห่งการอยู่ร่วมกัน ทรงพระปรีชายิ่ง เช่น ครั้งหนึ่งมีการโต๊ะแย้งกันสองฝ่าย ต่างฝ่ายต่างอ้างเหตุผลของตน  ทรงรับสั่งว่า ในเมืองดีทั้งคู่ ก็ใช้อาวุโสก็แล้วกัน .... 
  • ทรงรับสั่งว่า "กฎหมาย กับ ความยุติธรรม นั้นเป็นคนละอันกัน ความยุติธรรมเป็นจุดหมาย กฎหมายนั้นเป็นวิถีทางหนึ่งไปสู่ความยุติธรรม อาจมีวิถีทางอื่นอยู่ด้วยก็ได้" 
  • ครั้งหนึ่งทรงรับสั่งว่า "...กฎหมายบอกคนบุกรุกป่า  แท้จริงแล้วอาจเป็นกฎหมายบุกรุกคน..." 

ผมสรุปจากการฟังบรรยายนี้ว่า  "ศาสตร์พระราชา " คือ ศาสตร์ของในหลวงองค์รัชกาลที่ ๙ เป็น "สิ่งที่ทรงทำ คำที่ทรงสอน" แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ศาสตร์แห่งการพัฒนา ๒) ศาสตร์ในการครองตนและครองงาน และ ๓) ศาสตร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ศาสตร์พระราชามีที่มาจาก ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) จากพระราชประสบการณ์ ๒) จากพระราชกรณียกิจ และ ๓) 




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น