วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2561

mini-UKM : การวัดผลประเมินผลด้านคุณธรรมและจริยธรรม

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในงาน mini-UKM ครั้งที่ ๑๘ ณ มรภ.สวนสุนันทา เมื่อวันที่ ๔-๕ เมษายน ๒๕๖๑ (ดูกำหนดการที่นี่) ที่ผ่านมา แบ่งเป็นหลายกลุ่มตาม "หัวปลา" ๕ ประเด็นได้แก่ ๑) เทคนิคการสอนแบบอาจารย์มืออาชีพ ๒) การพัฒนา Successor เพื่อสนับสนุนการสร้างคุณภาพอุดมศึกษา ๓) เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อให้ได้รับทุน ๔) Best Practice เรื่องเทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ ๕) Data analysis for QA development system ... ผมเข้าร่วมกลุ่มที่ ๔) เทคนิคการประเมินผลสัมฤทธิ์ ด้านคุณธรรม จริยธรรม.... บันทึกนี้สรุป "ความคิด-ความอ่าน" และประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนวันนั้นครับ 



BP และ GP 

BP คือ Best Practice เรียกว่า แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ส่วน GP คือ Good Practice เรียกว่า แนวปฏิบัติที่ดี สองคำนี้แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

ผมเพิ่งจะได้ "ความหมาย" และ "คำอธิบาย" ที่เป็นคำตอบของคำถามนี้ ชัดเจนที่สุดก็คราวที่ ศ.นพ.วุฒิชัย นี้เองครับ ท่านบอกว่า แนวปฏิบัติที่ดี คือ แนวปฏิบัติที่ได้ผลของตน (ของคนคนเดียว) ส่วนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด คือ แนวปฏิบ้ติที่ดีที่ได้ผลที่สุด (เปรียบเทียบของคนหลายคน) ...  สรุปคือ BP คือ GP ที่ดีที่สุด

การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ท่านได้มอบการบ้านให้แต่ละมหาวิทยาลัย ส่งตัวแทนที่มี GP เกี่ยวกับ "หัวปลา" และให้ส่ง GP มาตามแบบฟอร์มที่กำหนด ... ผมสนใจเรื่องการประเมินผลสัมฤทธิ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรม จึงอาสาและส่ง GP ของตนเองมาร่วม  (ดาวน์โหลดที่นี่หากท่านสนใจ)

เป้าหมาย

ฟังทั้ง ๒ วันแล้ว ผมเข้าใจว่า ศ.นพ.วุฒิชัย ท่านมีความเห็นว่า ผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ที่กำหนดไว้ใน มคอ. (TQF) นั้น ส่วนใหญ่ไม่ชัดเจน และไม่ได้ระบุวิธีการประเมินไว้ ท่านจึงได้ตั้ง "หัวปลา" นี้ขึ้น เพื่อค้นหา BP การวัดประเมินคุณธรรม เพื่อนำไปขยายผลต่อไป หรือ เป้าหมายข้อใดไม่สามารถวัดได้ก็ไม่ควร กำหนดไว้ในแผนผัง "ดำ กลวง" ใน TQF

ผมเสนอในที่ประชุมแบบ "สวนทาง" กับแนวคิดข้างต้น ผมมีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นนามธรรมไม่สามารถวัดให้เห็นเป็นรูปธรรมได้อย่างแม่นยำ  คุณธรรมบางประการไม่สามารถวัดให้ได้ข้อมูลจริงได้  เป็นสิ่งที่รู้เองและรู้ได้เฉพาะตน ... (ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว อ่านได้ที่นี่)

อย่างไรก็ตาม ท่านก็เตือนว่า เราต้องพยายามที่จะหาวิธีวัดและประเมินให้รู้ว่า สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายไว้เป็น Learning Outcome นั้น บรรลุผลหรือไม่อย่างไร เพื่อจะได้รู้และพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ

คุณธรรม จริยธรรม

มีผู้รู้กำหนดประเด็นคุณธรรมจริยธรรมไว้ต่างกรรมต่างวาระไว้หลายหมวด ผมเคยสรุปไว้ในบันทึกนี้ ดังภาพด้านล่าง


ตามความหมายที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ไว้ คุณธรรม หมายถึง ธรรมะที่เป็นความดีที่ควรมีประจำตน ธรรมะที่เป็นประโยชน์สุขต่อมวลมนุษย์ (มีการขยายความเพิ่ม อ่านได้ที่นี่)

ผมเข้าใจว่า "คุณธรรม" คือ คุณลักษณะประจำจิตใจของสัตว์โลกผู้ประเสริฐ ตามตำราพุทธศาสนา ลักษณะของ "ธรรม" ประจำจิตจะเป็นสิ่งกำหนดภพภูมิที่ต้องเกิดเวียนว่ายไปตามการกระทำของตน ๆ ที่อยู่ใน "กรรมาวัฏจรภูมิ" นี้  สัตว์โลกที่มีคุณธรรมประจำจิตใจจะมีสุขคติเป็นที่ไป สัตว์โลกที่ไม่มีคุณธรรมจะมีทุกข์คติเป็นที่ไป  ตัวอย่าง "ธรรม" ประจำจิตใจของสัตว์โลก เช่น

  • ธรรมประจำใจของมนุษย์คือ ศีล ๕ ข้อ (ไม่เบียดเบียนร่างกาย ทรัยพ์สิน จิตใจ ชื่อเสียง ของคนอื่น สัตว์อื่น และไม่ดื่มสุราเมรัยให้เสียสติ)
  • ธรรมประจำใจของเทวดาคือ "หิริ" ละอายต่อบาป และ "โอตัปปะ" ความเกรงกลัวต่อผลของบาป
  • ธรรมประจำใจของพระพรหม คือ พรหมวิหาร ๔ มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 
  • สัตว์เดรัจฉานคือ "ความหลง" อสุรกายคือ "ทิฐิ ความยึดตัวกู" เปรตคือ "ความโลภ" สัตว์นรกคือ "ความโกรธ ซึมเศร้า" 
  • ฯลฯ 
สังเกตว่า "คุณธรรม" เป็นสิ่งประจำใจให้เกิดการกระทำหรือ "กรรม" ที่เป็นความดีมีประโยชน์ เรียกว่า "ทำกรรมดี" การกระทำใด ๆ ของมนุษย์นั้นตั้งอยู่บนการยึดมั่นใน "ตัวตน" เป็นหลัก คือมีผู้กระทำ มีฉันมีเธอ มีเรามีเขา มีใคร  และการอยู่รวมกันเป็นสังคมของมนุษย์ก็ทำให้เกิดการสมมติ "บทบาท" หรือ "หัวโขน" แต่ละหัวโขนจะมีบทบาทหน้าที่ที่สังคมคาดหวังตาม "คุณธรรม" ประจำจิตใจของคนในสังคมนั้น ๆ   

ด้วยหลักคิดดังที่ว่ามานี้  เราจึงควรที่จำนำเอาหลัก "คุณธรรม" ประจำจิตใจที่กำหนดไว้ในคำสอนของศาสนาพุทธที่เรานับถือ มาเป็นแนวทางในการปลูกฝังและประเมินผลของการปลูกฝังด้านคุณธรรม จริยธรรม  ดังนี้ 
  • คุณธรรมพื้นฐานประจำใจคน คือ ศีล ๕ 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะลูก คือ ความตัญญู กตเวที 
  • คณธรรมประจำใจในฐานะเพื่อนหรือมิตร คือ สัจจะ กัลยาณมิตร 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะนิสิตนักศึกษา คือ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ ใฝ่เรียนรู้ ฯลฯ 
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะพลเมือง คือ จิตสาธารณะ จิตอาสา พอเพียง ยึดมั่นในความเป็นธรรม
  • คุณธรรมประจำใจในฐานะอาชีพต่างๆ คือ จรรยบรรณวิชาชีพนั้น ๆ 
  • ฯลฯ 
อย่างไรก็ดี การกำหนดข้อคุณธรรมให้เป็นกฎเกณฑ์มากมายหลากหลายคงไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะความดีนั้นสอนกันไม่ได้ ต้องใช้การปลูกฝังต่อเนื่องยาวนานจึงกลายเป็นนิิสัย 

จากที่ได้ฟังผู้รู้ในการแลกเปลี่ยน ผมจับประเด็นได้ว่า การประเมินด้านคุณธรรมจริยธรรม สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ส่วนใหญ่ ได้แก่ ๑) ประเมินจากการใช้เหตุผลเชิงคุณธรรม (ประเมินความคิด ความเห็น หรือทักษะทางปัญญาด้านคุณธรรม) ๒) ประเมินจากพฤติกรรมที่แสดงออก  แบบแรกสามารถประเมินจากแบบทดสอบหรือแบบสัมภาษณ์หรือแบบสอบถามก็ได้ ส่วนแบบหลังต้องใช้แบบสังเกตเท่านั้น.... สิ่งที่วงสนทนาของของเราสนใจเป็นพิเศษคือ การสร้างเครื่องมือสังเกตแบบรูบริก (Rubric Scale)

ผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ที่กำหนดไว้ใน TQF ที่ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเห็นร่วมกันว่า สำคัญมาก ๗ ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความตรงต่อเวลา จิตสาธารณะ การยึดมั่นในคุณธรรม(ยุติธรรม) ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน(เมตตา) และความ "พอเพียง"  ผลสรุปการ ลปรร. ได้แนวทางและวิธีการในการประเมินผลวัดผลฯ หลากหลายเทคนิค ... ขอสรุปตามความเข้าใจของตนเอง ดังนี้

ความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์ ควรเรียกให้เต็มว่า ความซื่อสัตย์สุจริต หมายถึง การประพฤติปฏิบัติถูกต้อง ตรงต่อความจริง ทั้งกาย วาจา ใจ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ความไม่ซื่อสัตย์คือปัญหาที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ การค้นหาและยกย่องว่าใครซื่อสัตย์ง่ายกว่า การค้นหาว่าใครไม่ซื่อสัตย์ คนที่จะรู้ว่าใครซื่อสัตย์หรือไม่ ต้องเป็นผู้ที่ได้อยู่ร่วมกันกับคนนั้นนานพอสมควร  ผู้ที่สามารถบอกได้ว่าใครซื่อสัตย์ต้องรู้จักคนนั้นหลายปี เช่น พ่อ แม่ พี่-น้อง ครูประจำชั้นสมัยประถม มัธยม หรือเพื่อนสนิท เป็นต้น การประเมินที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนที่ว่ามานี้ ไม่น่าจะได้คำตอบที่แม่นตรง  โดยเฉพาะการถามจากผู้ถูกประเมินโดยตรง

ดังนั้น ในการประเมินเรื่องความซื่อสัตย์ของนิสิตนักศึกษา ที่เรานำมาแลกเปลี่ยนกันวันนี้ จึงมีแต่วิธีการประเมินทางอ้อม แบบควบคุม ได้แก่

  • สังเกตการคัดลอกผลงาน หรือลอกงาน (หรือไม่อ้างอิงผลงาน)
  • สังเกตจากผลหรือชิ้นงานที่ผิดสังเกต ไม่ได้ทำเอง แต่บอกว่าทำด้วยตนเอง 
  • ฯลฯ
ความรับผิดชอบ


ความรับผิดชอบ  หมายถึง  การประพฤติปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตน ทั้งในฐานะผู้นำและผู้ตามที่ดีของกลุ่มและสังคม ด้วยความตั้งใจ พากเพียร ละเอียดรอบคอบและมีเหตุมีผล รวมทั้งยอมรับผลแห่งการกระทำนั้น (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ความรับผิดชอบประเมินได้ง่าย ค่อนข้างแม่นยำ สามารถประเมินด้วยการสังเกตจากพฤติกรรมการทำงานที่ได้รับมอบหมายและการส่งงาน ซึ่งสามารถแปลงเป็นคะแนนรายวัตถุประสงค์ได้ไม่ยากนัก โดยอาจกำหนดให้มีผู้ประเมินที่หลากหลาย เช่น อาจารย์ ประเมินตนเอง หรือให้เพื่อนเป็นผู้ประเมินในกระบวนการกลุ่ม

ประเด็นเรื่องความรับผิดชอบนั้น มักถูกกำหนดไว้ใน Learning Outcome ของ TQF3 ทั้งด้านคุณธรรม และด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ คำถามคือ "ความรับผิดชอบ" ที่เขียนไว้ทั้งสองด้านนั้นเหมือนกันหรือไม่ แตกต่างกันอย่างไร?

ผู้บริหารจากแม่ฟ้าหลวงได้แลกเปลี่ยนว่า มหาวิทยาลัยได้กำหนดให้ ความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนนั้นถือเป็นความรับผิดชอบในหมวดคุณธรรม ส่วนความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นที่เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของตนนั้นอยู่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลฯ

ผมเสนอในที่ประชุมว่า ความรับผิดชอบด้านคุณธรรม น่าจะเป็นคุณธรรมประจำใจของตนเอง กำกับตนเองให้เป็นคนดี ทำความดี ตั้งใจ พากเพียรในการรักษาความดี ทั้งต่อตนเองและสังคม  ส่วนความรับผิดชอบที่อยู่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลฯ น่าจะเป็นความรับผิดชอบต่อหน้าที่บทบาทของตน รับผิดชอบต่อคำพูดและการกระทำของตนในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่น

อย่างไรก็ดี คงไม่มีผิดถูก .... แต่ผมเองก็อยากรู้เหมือนกันว่า คนที่คิดเรื่องนี้เป็นท่านแรก ท่านกำลังหมายถึงอะไรใน TQF ด้านที่๔

ความตรงต่อเวลา

ความตรงต่อเวลา น่าจะรวมอยู่กับคำว่า "ความรับผิดชอบ" หรือไม่ก็รวมไว้ในคำว่า "ความมีวินัย" ซึ่งหมายถึง การประพฤติตนตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติตา หรือข้อตกลงต่างๆ ในสังคม (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ)  แต่เนื่องจากความตรงต่อเวลา เป็นสิ่งที่สากลยอมรับและให้ความสำคัญมากโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงจำเป็นต้องปลูกฝังอย่างเข้มข้น

วิธีประเมินความตรงต่อเวลาที่เสนอกันมา คือการสังเกตจากพฤติกรรมการเข้าเรียนของนิสิตนักศึกษา เป็นหลัก

จิตสาธารณะ

จิตสาธารณะ หมายถึง จิตที่คิดสร้างสรรค์ เป็นกุศล และมุ่งทำความดีที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ประเมินโดยการสังเกตจากพฤติกรรมการทำงานกลุ่มหรือทำงานเดี่ยว เช่น ทำโครงงานความดี โครงงานบริการวิชาการ หรือโครงการบริการสังคม ฯลฯ  โดยให้เขียนสะท้อน (Reflection)  เช่น อาจให้เขียนอนุทินสะท้อนความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง เพิ่มเติมจากที่เขียนรายงาน ฯลฯ

การยึดมั่นในคุณธรรม

การยึดมั่นในการคุณธรรม คือการยึดมั่น มุ่งมั่น แน่วแน่ในการรักษาคุณความดี รักษาความถูกต้อง เป็นธรรม ชอบธรรม (ผมนิยามเอง)

อาจารย์หมอที่แลกเปลี่ยนเรื่องนี้ ท่านเล่าว่าสามารถสังเกตหรือสอบถามได้โดยใช้แบบประเมินแบบรูบริก เสียดายที่ไม่ได้เอาเครื่องมือมาแลกกันในรอบนี้

ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน (เมตตา)

น่าจะใช้คำว่า ความเสียสละ ซึ่งหมายถึง การมีน้ำใจ แบ่งปันให้แก่ผู้อื่น ด้วยกำลังกาย  กำลังใจ กำลังทรัพย์  หรือกำลังปัญญา (นิยามตามคู่มือการประเมินคุณธรรมจริยธรรมผู้เรียน โครงการเด็กดีมีที่เรียน ๒๕๕๘, สพฐ.)

ประเมินโดยให้นิสิตสะท้อนคิดหลังการเรียนหรือกิจกรรม กิจกรรมการเรียนการสอนที่ท่านนำมาแลกเปลี่ยน ที่ให้นักศึกษาพยาบาลได้ลองทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหรือผู้ต้องการความช่วยเหลือ โดยมีการทำ AAR และ ALR ด้วยการให้เขียนสะท้อนคิดนั้น ผมถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด ที่ผมจะลองนำเอาไปปรับใช้ต่อไป

"ความพอเพียง" 

"ความพอเพียง" เกิดจากการน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต เกี่ยวข้องครอบคลุมกับคุณธรรมทุกข้อที่กล่าวมา รวมถึงคุณธรรมอื่นๆ อีก เช่น

  • การพึ่งตนเอง ซึ่งหมายถึง ความสามารถและทักษะในการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว การเรียนและการทำงานอย่างมีความสุข  
  • ความประหยัด ซึ่งหมายถึง การใช้ทรัพยากรหรือสิ่งของต่าง ๆ ทั้งของตนเองและส่วนรวม อย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และระมัดระวัง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและความคุ้มค่า และ 
  • ความอุตสาหะ หมายถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจ เพียรพยายามทำหน้าที่การงานทั้งของตนเองและส่วนรวมอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอด้วยความอดทน เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงาน  
  • ความสามัคคี หมายถึง ความพร้อมเพรียง ความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำกิจกรรมที่ดีงามเป็นหมู่คณะ  โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว
  • ฯลฯ

หลัก ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ และหลักแห่งทางสายกลางนั้น ครอบคลุมและตีความหรือนำไปปรับใช้ได้ทุกสิ่งอย่างทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ

ผมแลกเปลี่ยนว่า วิธีหนึ่งในการประเมิน "ความพอเพียง" คือให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ที่มีองค์ประกอบ ๕ กรรม ดังนี้ได้แก่

  • มีการตั้งใจออมทุกครั้งที่ได้รับเงิน 
  • มีการบันทึกรายรับ-รายจ่าย ตามเป็นจริง ทุกวันอย่างน้อย ๒ เดือน 
  • มีการแบ่งปันตามสมควร (มีคอลัมน์แบ่งปัน)
  • มีการบันทึกรายละเอียดการใช้จ่ายที่ "ไม่พอเพียง" ประจำวัน (คอลัมน์สุดท้าย)
  • มีการ AAR หรือ Refletion ประจำเดือนถึง "ความพอเพียง" ในการใช้จ่ายของตนเอง และตั้งเป้าด้วยว่าจะปรับปรุงพัฒนาตนเองอย่างไร 
แม้การทำบัญชีรับจ่าย จะเน้นด้านมิติวัตถุ/เศรษฐกิจ แต่หากสังเกตการทำบัญชีของนิสิตอย่างละเอียด จะพบคุณธรรมข้ออื่นๆ เกี่ยวข้องมาก  เช่น  ความซื่อสัตย์ ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ ความเอื้อเฟื้อแบ่งปัน ฯลฯ 

... ตั้งใจว่า บันทึกครั้งถัดไปเกี่ยวกับเรื่องนี้ จะนำตัวอย่างที่ดี มาแสดงด้วยครับ ....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น