วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๒) ค่ายจิตอาสาพาน้องเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง"

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๑  ได้รับเกียรติจากชมรมตามรอยเท้าพ่อ ไปร่วมเปิดค่ายอาสาพาน้องเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่โรงเรียนบ้านดอนหมากพริกลิ้นฟ้า ตำบลแคนเหนือ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  โรงเรียนประถมศึกษา (เปิดถึง ป.๖)  ทั้งโรงเรียนมีนักเรียน ๒๘ คน มีครู ๓ คน นักการ ๑ คน และมีเลือดครูรุ่นใหม่ไปฝึกงานอีก ๑ คน (ดูข้อมูลโรงเรียนที่นี่​)​
ค่ายนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ผมรู้สึกชื่นชมทั้งนิสิตและกองกิจฯ กำหนดนโยบาย ที่ริเริ่มทำกิจกรรมอาสานำพาเพื่อนๆ นิสิตผู้สนใจไปสู่สนามเรียนรู้ของจริง มีนิสิตจิตอาสาไปร่วมค่ายนี้กว่า ๓๐ คน รวมคณะกรรมการชมรมผู้ดำเนินค่ายอีกประมาณ ๒๐ AAR แล้วคุ้มค่าต่อการปลูกฝังยิ่งนัก


ขอขอบพระคุณ ผอ.รุ่งโรจน์ โบราณมูล และผู้นำชุมชนทั้ง ผู้ใหญ่บ้านทั้งสองหมู่บ้าน (บ้านดอนหมากพริกและบ้านหมากลิ้นฟ้า) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พี่ อสม. (อาสาพัฒนาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) สอบต. (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) และผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนร่วม ๑๐ ท่านมาต้อนรับอย่างอบอุ่น และให้เกียรติอย่างสูงยิ่ง ... ที่จริงวันนั้นท่านมีราชการต้องเดินทางก่อนวันค่าย แต่ท่านไม่ไป เลือกที่จะขับรถยนต์ส่วนตัวตามไป

กิจกรรมที่ชมรมตามรอยเท้าพ่อ ออกแบบไว้ ๖ กิจกรรม ได้แก่ ทำแปลงผักพอเพียง ทำพานบายศรี แข่งกีฬาโบราณ ทำสบู่จากสมุนไพร ปลูกต้นไม้ และร่วมขบวนแห่งบุญเผวสของหมู่บ้าน กิจกรรมหลังนี้เป็นการปรับเพิ่มให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของชุมชน ...  ด้วยเหตุผลของคนมีครัวจึงไม่สามารถจะอยู่ร่วมเรียนรู้ดูผลงานของนิสิตตลอดค่ายได้ จึงมีโอกาสเพียงช่วยขุดดินในฐานแรก "แปลงผักพอเพียง"

"พอเพียง" คือ การพึ่งตนเองบนทางสายกลาง โรงเรียนมีพื้นที่ๆ สามารถปลูกผักได้เอง นักเรียนจะได้กินผักที่ตนเองปลูกอย่างภาคภูมิใจ ครูและผู้ปกครองก็จะมั่นใจเต็มที่ว่าลูกหลานได้กินผักปลอดสารปลอดภัยที่สุด

การออกแบบกิจกรรมของชมรมฯ ก็ทำอย่าง "พอเพียง" คือ พอประมาณกับศักยภาพของน้องๆ ตัวเล็กๆ  ให้ช่วยกันกรอกดินใส่ถุงและส่งลำเลียงถังดินที่ใส่แต่เพียงครึ่ง และให้ยืนแทรกระหว่างพี่ๆ ที่ส่งแรงและโมเมนตัมเหวี่ยงต่อๆ กัน  ในส่วนขุดแปลงและผสมดินเป็นหน้าที่ของน้านักการฯ และเป็นงานของผู้ชาย (กว่าจะเสร็จมือก็สุก เพราะดินแห้งแข็งมาก)








แปลงผักพอเพียง จะเป็นแปลงผัก "พอเพียง" ตามที่ในหลวงทรงสอนหรือไม่ สามารถวัดได้จากความสุขและความสำเร็จ ทราบข่าวในตอนเย็นว่า กระบวนการปลูกผักสำเร็จเสร็จด้วยดี  แต่นี่ก็ยังไม่ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์  ผลผลิตจากแปลงผักนี้ จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า มีการดูแลแปลงผักนี้อย่าง "พอเพียง" หรือไม่

ขณะที่เขียนนี้ ทราบว่า ผักเริ่มขึ้นแปลงแล้ว ได้ผลผลิตอย่างไรจะมาเล่าอีกที หากมีโอกาส 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น