บ้านสวนขวัญข้าว ขุดบ่อยกแปลงดินไปตั้งแต่ต้นปี ถึงวันนี้ (พฤษภาคม ๒๕๖๑) ระบบน้ำและรั้วเรียบร้อยแล้วดังภาพด้านล่าง แผนต่อไปคือปลูกหญ้าแฝกรอบๆ ริมบ่อและร่องน้ำเพื่อป้องกันการพังของดินให้ได้มากที่สุด ปลูกกล้วยไว้เป็นพืชพี่เลี้ยงรักษาความชื้นและใช้ลำต้นและใบเป็นอินทรีวัตถุให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ต่อ และเมื่อฝนมา ก็จะถึงเวลาของการลงปลูกพืช ๗ ชั้น ตามแผนที่ได้เขียนไว้ในบันทึกแรก (อ่านที่นี่)
คุณยายของขวัญข้าวเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) สืบสานเอาพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขยายผลไปสู่คนชนบท มรภ.ชัยภูมิเริ่มแล้วตอนนี้ และถามว่า ที่บ้านสวนขวัญข้าว น้อมนำศาสตรพระราชาอะไรมาใช้บ้าง วันนี้มีแรงบันดาลใจ ขอใช้บันทึกนี้ตอบไว้แลกเปลี่ยนกับผู้รู้ต่อไป ดังนี้
ศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาดิน
แน่นอนว่าศาสตร์พระราชาที่กำลังน้อมนำมาใช้คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "เกษตรทฤษฎีใหม่" แต่หากจะลงรายละเอียดว่านำมาใช้อย่างไรในแต่ละด้าน ณ ขณะนี้ กำลังศึกษาและลองผิดลองถูกในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการ "พัฒนาดิน" มาใช้
สิ่งที่ทั่วโลกยกย่องในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สุดเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาดิน ถึงขั้นที่สหประชาชาติกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพ ๕ ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดินโลก" (Wold Soil Day) ทรงทำให้ดู แสดงให้เห็นว่า ดินพรุที่เปรี๊ยวจัดก็แก้ได้ ผู้สนใจให้ศึกษาข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นาราธิวาส ดินปนทรายที่เสื่อมโทรมแบบสุดๆ จนเหลือแต่ทราย ขนาดมันสัมปะหลังยังปลูกไม่ได้ผล ก็สามารถแก้ได้จนกลายเป็นป่า ไปดูที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา ดินที่เป็นหินกรวดและแล้ง ก็หายได้ด้วย กลายเป็นต้นแบบของ "ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง" ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จ.เชียงใหม่ หรือหากเป็นดินดาน แข็ง และดินเป็นดินลูกรัง ก็กลายเป็นดินสมบูรณ์ได้ ตัวอย่างอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี และหากเป็นดินเค็มในพื้นที่ภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยเฉพาะบริเวณห้วยบ่อแดง บ.ม่วง จ.สกลนคร ก็เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ ... (ผู้สนใจคลิกอ่านตามลิงค์ เหล่านี้ได้ บทความจากผู้จัดการออนไลน์ มูลนิธิปิดทองฯ และที่ผมชอบมากคือเรื่องนี้ )
ที่บ้านสวนขวัญข้าวชั้นหน้าดินลึกลงไปประมาณ ๑ เมตรเป็นดินร่วนปนทรายค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เพราะเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าโคกกลางมาก่อน ลึกลงไปเป็นดินหนียวปนทรายที่ไม่น่าจะมีอินทรีย์วัตถุใดๆ ปัญหาคือตอนที่ขุดดินรถขุดไม่ได้แยกตามที่บอกไว้ หน้าดินส่วนใหญ่จึงกลายเป็นดินทรายปนดินเหนียวไป ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญในช่วงปีแรกจึงเป็นการพัฒนาดิน ไม่ใช่การปลูกหวังผลอย่างที่คาดไว้
การตรวจคุณภาพดินตาม "ระบบราชการ" ที่กำหนดไว้ให้บริการชุมชนของสำนักพัฒนาที่ดิน ต้องใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ ๒ เดือน เกษตรกรต้องเป็นผู้เก็บตัวอย่างดินตามคำแนะนำที่กำหนด (อ่านที่นี่) หรือดูคลิปด้านล่าง
สิ่งที่ตรวจได้ทันดีคือค่าความเป็นกรด-เบส และจากการสังเกตและสอบถามชาวบ้านเบื้องต้น ดินมีสีน้ำตาลแดง-ขาว มีน้ำซับ (น้ำใต้ดิน) ที่ระดับความลึก ๓ เมตรในหน้าแล้ง (มีนาคม-เมษายน) เป็นน้ำกร่อย แสดงว่าน่าจะเป็นดินเค็มเป็นกรดซึ่งต้องหว่านด้วยปูนขาว ... ต้องเอาไว้คำนวณปริมาณให้พอดีทำตอนนี้ไม่ได้
หญ้าแฝก
จากที่กล่าวมา ศาสตร์พระราชาที่ควรน้อมนำมาใช้ทันทีคือ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินขอบร่องและบ่อพังทลาย ราคาหญ้าแฝกในตลาดออนไลน์ซื้อขายกันที่ต้นละ ๓๐ สตางค์ มัดละ ๑๕ บาท แต่ละมัดมี ๕๐ ต้น จากการคำนวณต้องใช้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ต้น จึงต้องลงทุนไปถึง ๓,๖๐๐ บาท ความจริงหากเป็นเกษตรกรที่มีกำลังและเวลาเต็มที่ มีหญ้าแฝกที่ขึ้นตามคลองน้ำสาธารณะให้ไปขอขุดมาขยายพันธ์ได้ด้วยตนเองแบบฟรี ในกรณีนี้ทำเองไม่ได้ เพราะลองดูแล้ว ใช้เวลาไปครึ่งวันได้มาเพียงประมาณ ๓๐๐ ต้น จึงใช้วิธีการซื้อและจ้างคนปลูกไปอีก ๑,๒๐๐ บาท รวมเป็น ๔,๘๐๐ บาท เฉพาะแฝก .... แต่กลับรู้สึกดีที่ได้ทำให้คนปลูกแฝกมีรายได้และพี่ชาวบ้านที่รู้จักมีรายได้ ... ปัญหาคือหญ้าแฝกจะโตทันกับฝนหรือไม่ (เอาไว้เล่าให้ฟังครั้งต่อไป)
การห่มดิน
ศาสตร์พระราชาอีกประการในการพัฒนาดินคือ "การห่มดิน" ปกติชาวนาจะมีฟางข้าวเหลือจากการเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นวัสดุที่เหมาะที่สุดสำหรับการห่มดินน่าจะเป็นฟางแห้ง ในกรณีนี้เราไม่มี แต่ดวงดีที่มีฟางจากงานเกษตรแฟร์ขายทิ้งถูกๆ ก้อนละไม่ถึง ๑๐ บาท (ปกติก้อนละ ๒๕-๓๕ บาท) จึงได้เหมามาทั้งหมดกว่า ๑๐๐ ก้อน พอสำหรับคลุมดินทั่วพื้นที่ปลูกได้กว่า ๘๐ % โดยคาดหวังว่าฟางจะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น คลุมรักษาหน้าดิน ป้องกันแรงน้ำจากฝนไม่ให้ไหลแรงไปทลายดิน และปกคลุมควบคุมไม่ให้วัชพืชขึ้นและก่อปัญหาทีหลัง และที่สำคัญที่สุดคือกลายเป็นปุ๋ยพืชแห้งที่อุดมไปด้วยฟอสฟอรัสให้พืชต่อไป
บ้านสวนขวัญข้าวมีหลายสิ่งที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากการทำการเกษตรทั่วไป เช่น ระบบน้ำที่สามารถฉีดนำจุลินทรีย์ได้ทั่วบริเวณพื้นที่ปลูก การล้อมรั้วที่ทิ้งระยะห่างกว่า ๖ เมตรเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ออกแบบเทปูนซีเมนต์ทำฐานอย่างดีเพื่อความยั่งยืน ฯลฯ เอาไว้เล่าต่อคราวหน้าว่าจะได้ผลเพียงใด ผู้สนใจโปรดติดตามตอนต่อไป หรือแนะนำความรู้จะดีมาก
หลังจากสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นเช่นห้องสุขาเสร็จ เคลียร์เศษตะปูและกองไม้ แหล่งเรียนรู้ของขวัญข้าวก็จะพร้อมให้มาปลูกต้นไม้ทันที
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น