วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๑) BAR ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? คำถามก่อนเรียน

วันนี้เปิดเรียนภาคเรียนพิเศษเป็นวันแรก (๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑)  มีจำนวนนิสิตลงทะเบียนประมาณ ๑๐๐ คน มีอาจารย์ผู้สอน ๓ ท่าน ๒ ท่านเป็นอาจารย์ใหม่สำหรับวิชานี้ เป็นการสังเกตการสอนก่อนที่ท่านจะเริ่มสอนในปีการศึกษาหน้า  วันนี้มีนิสิตเข้าเรียน ๖๓ คน

ผมใช้กิจกรรม "ดอกไม้ ๕ กลีบ" เพื่อทำ BAR (Before Action Review) ด้วย ๕ คำถาม ได้แก่ ๑) ทำไมถึงมาเรียนรายวิชานี้ ๒) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) คืออะไร ๓) จะนำ ปศพพ. ไปใช้อย่างไร ๔) ไม่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้หรือไม่ เพราะอะไร และ ๕) ใครคือคนที่ "พอเพียง" ที่สุด ที่เคยเห็นมา







ทำไมถึงมาเรียนรายวิชานี้

มีคำตอบหลากหลายกระจายไป แต่ที่มากที่สุดคือ "มาเก็บหน่วยกิต" "ลงวิชาอื่นไม่ทัน" "ลงตามเพื่อน" "หน่วยกิตเหลือ" "ลงวิชาจีนไม่ทัน" (หมายถึงวิชาภาษาจีน) "เวลาเรียนพอดี" "ตารางไม่ซ้อนวิชาอื่น"  มีนิสิตที่เขียนว่า "ชอบ อยากเรียน" ๑๗ คน มี ๓ คนเท่านั้น ที่เขียนว่า เพื่อนำไปต่อยอดชีวิตของเรา และมีเพียง ๑ คน เขียนว่า "คิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตตนเองพอเพียงมากขึ้น"





ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร 

คำตอบหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น ๕ กลุ่มคำตอบ มีนิสิตจำนวน ๒๐ ตอบว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ การประหยัด อดออม ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า  นิสิต ๑๔ คน ตอบย้อนคำถามว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ "ความพอเพียง" หรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" มีนิสิต ๑๑ คน บอกว่า ปศพพ. คือ "๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" มีนิสิตจำนวนถึง ๑๖ คนที่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องตามเอกสารที่เผยแพร่กันทั่วไป เช่น "พออยู่ พอกิน" "การใช้ชีวิตบนทางสายกลาง" "การใช้ชีวิตบนความพอดี" "พอกินพอใช้" "แบ่งปัน" "แนวคิดแนวปฏิบัติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน"  ฯลฯ มีนิสิต ๓ คน บอกว่า "เป็นแนวคิดของในหลวง ร.๙"

จะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร 

คำตอบของนิสิตน่าสนใจยิ่ง แบ่งได้เพียง ๔ กลุ่มคำตอบเท่านั้น  นิสิตส่วนใหญ่ (๔๓ คน) ตอบว่า การนำ ปศพพ. ไปใช้คือ การประหยัด อดออม มีนิสิต ๒๒ คน ตอบว่า "นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน" มีนิสิตประมาณ ๕ คน บอกว่า ใช้ในการทำการเกษตร จัดสรรที่ดิน อีก ๔ คน บอกว่า จะนำไปบริหารจัดการชีวิต

เมื่อสังเกตดีๆ ผมพบว่า กลุ่มที่ตอบว่า ใช้ในชีวิตประจำวัน บางคน ยกตัวอย่างว่า "ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ประหยัด อดออม" อาจเป็นไปได้ว่า มีนิสิตสองกลุ่มนี้มีความเข้าใจคล้ายกัน คือ เข้าใจการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปช้เฉพาะในมิติวัตถุและเศรษฐกิจ

ใครคือคนที่พอเพียงที่สุดที่เคยเห็นมา

แบ่งคำตอบได้เป็น ๓ กลุ่มเช่นกัน นิสิต ๓๓ คน ตอบว่า "ในหลวง ร.๙" นิสิต ๒๘ คน บอกว่า คนที่ "พอเพียง" ที่สุดคือพ่อ แม่ หรือปู่ (ญาติสนิท)  มี ๖ คนที่เขียนเป็นชื่อเพื่อน

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมตัวเลขรวมจึงไม่เท่ากับ ๖๓ จำนวนผู้เข้าเรียน  ที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะมีการซ้ำกันของคำตอบ เนื่องจากตอนที่ให้นิสิตสุ่มไปหาเพื่อน ๕ คน เพื่อถาม ๕ คำถามนั้น อาจมีบางคนถูกถามซ้ำได้

ผมตีความจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแบบมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนครั้งนี้ดังนี้

  • นิสิตเข้าใจถูกต้องแล้วว่า ปศพพ. ไม่ใช่ใช้ในการเกษตรเท่านั้น 
  • นิสิตเข้าใจแล้วว่า สามารถนำหลัก ปศพพ. มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ 
  • นิสิตส่วนใหญ่ ยังเข้าใจ ปศพพ. ในมิติวัตถุหรือเศรษฐกิจเท่านั้น
  • นิสิตส่วนใหญ่ มีศรัทธาต่อในหลวง ร.๙  
ผม AAR ว่า การขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา ๒ ปี เริ่มมีมรรคผลบ้างแล้ว ....

ขอบคุณทุกท่านครับ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น