ในวิกฤตย่อมมีโอกาส "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อโอกาสดีของคนไทยใน ๒ ประการ ได้แก่
๑) ดีสำหรับการส่งสินค้าเกษตรไทยไปขายต่างประเทศ สินค้าไทยราคาถูกกว่าคู่แข่งทันที คำสั่งซื้อจึงเพิ่มขึ้น ดุลการค้าเราจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถนำเงินไปใช้หนี้ที่กู้มาค้ำประกันหนี้จำนวน ๑.๗๒ หมื่นล้าน ได้ก่อนกำหนด (อ่านบันทึกตอนที่แล้ว "ฟองสบู่แตก") .... แต่หนี้เงินต้นเดิมจำนวน ๑.๑๔ แสนล้านยังคงอยู่ (ใช้เงินต้นไปไม่เท่าไหร่) ซึ่งคนไทยรู้เรื่องนี้น้อยมาก แถมรัฐบาลประชานิยม ยังถือโอกาสยกเอาการปลดหนี้ IMF ซึ่งต้องทำตามตารางเวลาที่ IMF กำหนดว่าจะต้องใช้ภายใน ๓๔ เดือน มาสร้างภาพเอาดีใส่ตัว จนกลายเป็นขวัญใจรากหญ้า แต่ต่อมาก็ต้องหนีคดีทุจริตออกจากประเทศไปจนถึงวันนี้
๒) ดีที่มีการตื่นตัวของสังคมไทย ประชาชนคนไทยครั้งใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และสนใจน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินชีวิต
อย่างไรก็ดี ... หลังจากที่ในหลวง ร.๙ ทรงมีพระราชดำรัสให้ความหมายของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผ่านไปหนึ่งปี คนไทยก็ยังไม่เข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ควรจะรู้ก็ยังเข้าใจผิด วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ทรงมีพระราชดำรัสอธิบายครั้ง และภายหลังจึงเกิดทีมทำงานเพื่อสังเคราะห์ร่วมรวมและถอดความ แล้วนำขึ้นถวายขอให้มีพระบรมราชวินิจฉัยและขอพระบรมราชานุญาตนำไปเผยแพร่ขยายให้คนไทยเข้าใจได้ตรงกันต่อไป
นิสิตที่เรียนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกคน ควรจะได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวง ร.๙ เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ตรัสต่อพสกนิกรชาวไทยจำนวน ๒๐,๐๐๙ คนที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลเนื่องในวรโรกาสครบรอบพระชนพรรษา (๗๑ พรรษา) ในค่ำวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ตามลิงค์ด้านล่าง หรือหากท่านใดไม่ชอบฟัง-ดู ชอบเรียนรู้ด้วยการอ่านเชิญที่นี่
หากผู้อ่านที่ศึกษาพระราชดำรัสนี้ ท่านจะต้องอยากฟังหรืออ่านพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ แน่นอน ผู้เขียนสืบค้นไม่พบคลิปฉบับเต็ม พบเฉพาะที่มีการถอดเทป (ที่นี่) ดังนั้นผู้เขียนจึงขออันเชิญเอาพระราชดำรัสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มาให้อ่านเป็นตอน ๆ ก่อนจะสรุปความเข้าใจของผู้เขียนเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือประเด็นให้นิสิตผู้อ่านได้เห็นและเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน
ต้นเหตุของวิกฤตการณ์เห็นได้ตั้งแต่ ๔๐ ปีแล้ว
ขออัญเชิญพระราชดำรัส วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ดังนี้
...ดังนี้ก็ทำให้คิดว่า วิกฤตการณ์ เกิดขึ้นมาอย่างไร เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราก็ได้ชื่อว่า กำลังก้าวหน้าไปสู่ เมืองที่เป็น มหาอำนาจทางการค้า ทำไมเกิดมีวิกฤตการณ์ ความจริงวิกฤตการณ์นี้ เห็นได้มานานแล้ว สี่สิบกว่าปีมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัว เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการ ชั้นผู้น้อย มาขอเงิน ที่จริงก็ได้เคยให้ เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้า…ให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับก็คือ เงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการ ชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่าย ก็เป็นของที่ใช้ ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์ แล้วอีกตอนหนึ่ง ก็มีค่าแชร์อีก
ถามเขาว่า แชร์คืออะไร เขาก็อธิบายว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ “เจ้ามือ” จ่ายให้เขา ทุกเดือน เมื่อเดือดร้อน ก็ขอ “ประมูลแชร์” ได้ แต่การประมูลนี้ ก็หมายความว่า… สมมติว่า แชร์หนึ่ง ต้องเสียเดือนละ ร้อยบาท เขาก็จะได้รับ คล้ายๆ เงินกู้ ควรจะได้เป็น เงินพันสองร้อยบาท ต่อปีหนึ่ง โดยให้ร้อยบาท ต่อเดือน ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับ พันสองร้อยบาท เขาได้ราวๆ แปดร้อยบาท หรือเจ็ดร้อยบาท เท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้ คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ ในแชร์นั้น ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับ คือมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย ถามเขาว่า ทำอย่างนี้ สามารถที่จะหมุนเงิน ได้หรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ ซ้ำอีกทีหนึ่ง เขาบอกว่า สำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมา ทำแชร์สัปดาห์ คือ 7 วัน 7 วันนี้เขาก็เปียแชร์มา สำหรับไปใช้ ค่าแชร์เดือน
เขาก็นึกว่า เขาฉลาด ความจริงแชร์นี่ ไม่ใช่เฉพาะ คนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์ ได้บอก ให้เขาเลิกแชร์ เลิกแล้ว ให้ทำบัญชี ต่อไป ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถ ที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ ภายในเงินเดือนของเขา การทำแชร์นี้ เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงิน ที่นำมาใช้ในสิ่ง ที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับ จะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ...จากพระราชดำรัสนี้ ได้เรียนรู้ดังนี้ว่า
- สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตคือ การเป็นหนี้ การกู้หนี้ การก่อหนี้ที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้
- การเล่นแชร์ เปียแชร์ ซึ่งนิยมเล่นกันทั่วไป เป็นการกู้เงิน กู้หนี้
- สิ่งที่จะช่วยให้ไม่เกิดวิกฤตหรือแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้คือ ให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ทำให้รู้ว่ารายจ่ายใดไม่ดี (เช่น การเล่นแชร์) แล้วลดหรือละ ให้ใช้จ่ายเท่าที่หาได้
บุคคลผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือให้เงินทุน
ขออัญเชิญพระราชดำรัส วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ อีกตอนหนึ่ง ดังนี้
...มีอีกรายหนึ่ง ในระยะนั้น กว่า 40 ปี ก็เข้ามาบอก ขอกู้เงิน เขาขอกู้เงิน สามหมื่นบาท ถามว่า เอาไปทำอะไร บอกว่าจะไปซื้อเครื่องมือ สำหรับตัดเย็บผ้า ให้ภรรยาทำร้าน ก็ตกลงให้เขา แล้วเขาจะคืนมาเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่เขา ในที่สุด เมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืน ทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมด จำนวนที่ได้ให้กู้ ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้ จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงิน มาให้ครบจำนวนที่กู้ และต่อไป ก็เป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี คือคนนี้ เขาเป็นคนซื่อสัตย์ และในที่สุด ก็มาเป็นคนที่ช่วย ในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้ อย่างซื่อสัตย์ จนกระทั่ง ถึงสิ้นอายุ...
จากพระราชดำรัสนี้ ได้เรียนรู้อย่างนี้ว่า
- การกู้ยืมเงินมาใช้ในสิ่งที่จทำให้เกิดรายได้ (ลงทุน) นั้นสามารถทำได้ เช่น ตัวอย่างผู้นี้ที่กู้ไปซื้อจักรเย็บผ้าเพื่อเปิดร้านรับเย็บผ้า
- ผู้ที่สมควรได้รับโอกาส ให้กู้ยืมนั้น เป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน มีสัจจะ และมีความสม่ำเสมอ
สาเหตุของวิกฤตการณ์มาจากกู้เงินมาใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อรายได้
มีอีกรายหนึ่ง เขามาวันหนึ่ง เอาหัวเข็มขัดมาให้ เราถามว่าหัวเข็มขัดนี่ เอามาให้ทำไม ในที่สุดก็ทราบว่า เขาขอกู้เงิน อันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่า เขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคา ไม่ค่อยถูกนัก เอามาให้ ก็เลยบอกเขาว่า ไม่ให้ไปหาเงินที่อื่น เพราะว่าทราบดีว่า ถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้คืน เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้ อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผล อย่างผู้ที่ขอกู้ สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็น การทำให้คน ยิ่งเสียใหญ่ อันนี้ เป็นสิ่งที่ จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้อง ให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับ ไปเล่น ไปทำอะไร ที่ไม่เกิดประโยชน์
อันนี้ ก็มีอีกคนหนึ่ง เขาจะแต่งงาน และขอกู้เงิน นึกว่าคนนั้น เขาก็ทำงานมาดี ก็น่าจะให้ เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขาหมื่นบาท สมัยโน้นหมื่นบาท ไม่ใช่น้อย หมื่นบาท เพื่อจะไปจัดงานแต่งงานของเขา ตกลงเขาได้แต่งงาน เขายังไม่ได้คืนเงิน ก็ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุข ก็ดีไป เขาจะได้ทำงานได้ดี แต่หารู้ไม่ว่า สักปีสองปีภายหลัง เขามาขอเงินสามหมื่นบาท เลยบอก เอ๊ะ! สามหมื่นบาท ไปทำอะไร เขาบอกว่า เมื่อแต่งงาน เงินไม่พอ เขาจึงไปกู้เงินที่อื่นมา ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่ง เงินที่ใช้หมดแล้ว
ต้องใช้ดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมด ทั้งต้น และดอกนั้น ก็คือสามหมื่นบาท ไม่นับเงิน หนึ่งหมื่นบาท ที่เราให้เขาไปแล้ว หมายความว่า ไปติดหนี้นุงนัง หนี้ที่ไม่สามารถ ที่จะใช้คืนได้ เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้ความว่า ถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาม เพราะไม่มีทางออก เงินเดือนเขาก็ไม่พอ ที่จะไปใช้หนี้ ดอกเบี้ย ก็จะเพิ่มขึ้นทุกที ทุกครั้ง ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องติด อีกต่อไป ทบต้น ก็เลยเห็นว่า เมื่อครั้งแรก เขาขอยืมเงิน สำหรับแต่งงาน น่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์ ก็เลยคิดว่าไหนๆ ให้ไปหมื่นบาทแล้ว ก็ควรให้ครบ ที่จะไปใช้หนี้ได้ ลงท้าย เขาก็สามารถ มีชีวิตต่อไป และทำงานได้ แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี อันนี้ ก็หมายความว่า เขาขอเรา เราก็ให้ เราก็ได้ ช่วยชีวิตเขา
มีอีกรายหนึ่งมา เป็นคนข้างนอก เขามาบอกว่า ลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไร ตาจะบอด เราก็สงสารเขา ก็ให้เงินเขา สามหมื่นบาทเหมือนกัน ลงท้ายก็ไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตา ได้ผลดีอย่างไร แต่วันหนึ่ง ก็โผล่มาอีกที บอกว่าเรียบร้อยแล้ว ลูกนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ขอบ้าน ขอบ้านอยู่ แล้วเขาก็ไปสืบเสร็จว่า บ้านนั้นว่างแล้ว ขออยู่ฟรี ก็เลยเลิกเลย เพราะว่าเขา ควรจะมีฐานะ พอสมควร ที่จะ มีบ้านอยู่ บ้านที่ขอนี้ เป็นบ้านที่ นับว่าใหญ่ ถ้าให้บ้านตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องมาขอ ค่าใช้จ่าย สำหรับในบ้านอีก เมื่อบ้านใหญ่ ก็คงมีญาติ มีเพื่อน มาอาศัยบ้านอีกที ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกไม่ให้ ที่พูดไม่ให้นั้น ก็เรียกว่า มีความเดือดร้อนเหมือนกัน ที่จะพูดอย่างนั้น เพราะว่า จะว่าสงสาร ก็สงสาร เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ ในที่สุดก็เงียบไป เรื่องเหล่านี้ ที่เล่าให้ฟัง ก็เพราะว่า มันเป็นต้นเหตุของ วิกฤตการณ์ปัจจุบัน
จากพระราชดำรัสนี้ทั้งสามย่อหน้า ด้เรียนรู้ ดังนี้ว่า
- ต้นเหตุของวิกฤตการณ์คือ การใช้จ่ายเกินตัว และการกู้เงินมาใช้ในสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การกู้หนี้มาจัดงานแต่งงาน (อีสานบ้านผม กู้หนี้มาบวชลูกชาย (บวช ๗ วัน) ว่ากันว่าต้องใช้เงินหลักแสน) ฯลฯ ในข้อนี้น่าจะเรียกได้ว่า ขาดวินัยทางการเงินต่อตนเอง
- ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ อีกประการหนึ่งคือ การสร้างหนี้แต่ไม่คิดจะใช้หนี้ ไม่มีวินัยทางการเงินต่อคนอื่น เช่น ยืมเงินไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นแล้วก็ไม่คิดจะใช้หนี้
- ต้นเหตุของวิกฤตอย่างหนึ่งคือ การไม่พึ่งตนเอง ไม่พยายามที่จะพึ่งตนเอง ดังเช่นกรณีคนที่มาขอบ้านอยู่ ทั้งที่ตนเองก็มีฐานะพอสมควรจะช่วยตนเองได้
- คนรวยควรจะมีปัญญาในการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนด้อยกว่า แม้จะสงสารแต่การให้ที่ไม่สมควรจะนำปัญหาอื่น ๆ ตามมา แต่ในบางกรณีก็จำเป็นต้องให้เพื่อช่วยให้มีชีวิตมีโอกาสต่อไป
สาเหตุของวิกฤตการณ์ภาคอุตสาหกรรม
ในภาคอุตสาหกรรม ในหลวง ร.๙ ทรงมีพระราชดำรัส ดังนี้
...ต้องเล่านิทาน อีกเรื่องหนึ่ง คือ ไปทางชลบุรี ครั้งหนึ่ง นี่ก็ หลายสิบปีมาแล้ว มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่า เขาทำโรงงาน สำหรับทำ สับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้ว กี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำ โรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผล ของชาวบ้านชาว เขามาใส่กระป๋อง แล้วขาย ก็ได้ผล เป็นโรงงานเล็กๆ บอกว่า ที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมา สับปะรดที่ อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอ ต้องไปสั่งสับปะรด มาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรี ต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมา โรงงานก็ล้ม อย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ทำโครงการอะไร ก็จะต้อง นึกถึงขนาดที่เหมาะสม กับที่เรียกว่า อัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม
นี่พูดไปพูดมา ยังมีอีกรายการหนึ่ง ที่ลำพูน มีการตั้งโรงงาน สำหรับแช่แข็งผลผลิต ของชาวไร่ ได้ไปเยี่ยม เขาบ่นว่า ข้าวโพดที่เขาใช้ สำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี ก็เลยซื้อ ในราคาแพงไม่ได้ ตอนนั้น ก็ยังไม่ทราบว่า เขาจะมีอันเป็นไปอย่างไร ก็บอกเขาว่า นี่น่าจะส่งเสริม ด้านการเงิน ให้เกษตรกร ที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพด ที่มีคุณภาพดี โรงงานจะเจริญ เขาบอกให้ไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพไม่ดี อันนี้ก็ เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ ราคาดี หรือไม่สนับสนุนเกษตรกร ในการเพาะปลูก ก็จะไม่ได้ รับประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพด ที่ฟันหลอ ซึ่งเขาก็บอกว่า ต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขา ต้องมีข้าวโพด ที่ขนาดเหมาะสม อย่างนี้โรงงานนั้น – ความจริง ไม่ได้แช่งเขา – แต่นึกในใจว่า โรงงานนี้อยู่ไม่ได้ แล้วในที่สุดก็จริงๆ ก็ล้ม อาคารอะไรต่างๆ ก็ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใคร เป็นเจ้าของ เกะกะอยู่
ฉะนั้น การที่จะทำ โครงการอะไร จะต้องทำ ด้วยความ รอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป คือบางคนเห็นว่า มีโอกาส ที่จะทำโครงการ อย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่า ปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่ง คือ ขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักร ที่สามารถ ที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ วัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถ ที่จะให้ค่าตอบแทน วัตถุดิบ แก่เกษตรกร เกษตรกร ก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าวัตถุดิบ สำหรับใช้ ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบ ที่ต้องนำมาจาก ระยะไกล หรือนำเข้า ก็จะยิ่งยาก เพราะว่า วัตถุดิบที่นำเข้านั้น ราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบนั้น มีบริบูรณ์ ราคาอาจจะ ต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของ ที่ผลิตจากโรงงาน ก็ขายยากเหมือนกัน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ ราคาตก นี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ ที่ต้องมี
แต่ข้อสำคัญ ที่อยากจะพูดถึง คือ ถ้าเราทำโครงการ ที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก เช่น โรงงานกระป๋อง ที่ริเริ่มทำ ที่อำเภอฝางนั่น วันหนึ่ง เขาติดต่อมา บอกว่าน้ำท่วม น้ำเขาลงมา พัดโรงงานเสียหาย ก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร จะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม ที่ดินที่ตรงนั้น ก็ซื้อไว้แล้ว และเครื่องมือ เครื่องใช้ ก็ไม่เสียหมด ก็สนับสนุนเขา อีกสี่แสน คือ เป็นสี่แสน ไม่ใช่สามแสน ตามราคาเดิม เพราะว่า เป็นเวลาที่เงิน มีค่าน้อยลง ตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อไป ก็ใช้งานได้ มีกำไร อันนี้เกิดขึ้น หลายปีมาแล้ว มาเร็วๆ นี้ โครงการต่างๆ โรงงาน เกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่า ประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็กๆ แล้วก็เป็นเสือ ตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่า จะเป็นเสือ
เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ทรงสรุปชัดตามตัวอักษรที่เน้นทึบ คือ
- การที่จะทำ โครงการอะไร จะต้องทำ ด้วยความ รอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป
- ถ้าเราทำโครงการ ที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก
วิธีแก้ไขวิกฤตการณ์
ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำแนวทางสำหรับการแก้ไขวิกฤตการณ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังจะเห็นได้
...อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุน ให้ปลูกข้าว ให้พอเพียง กับตัวเอง แต่ละครอบครัว เก็บเอาไว้ ในยุ้งเล็กๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่น กลับบอกว่า ไม่สมควร โดยเฉพาะ ในทางภาคอีสาน เขาบอกว่า ต้องปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อจะขาย อันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิ ขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้ว จะบริโภคเอง ต้องซื้อ ต้องซื้อจากใคร ทุกคนก็ ปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานส่วนมาก เขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็น คนปลูกข้าวเหนียว เพราะ ประกาศโฆษณาว่า คนที่ปลูกข้าวเหนียว เป็นคนโง่ อันนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เลยได้สนับสนุน บอกว่า ให้เขาปลูกข้าว บริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียว ก็ปลูกข้าวเหนียว เขาจะชอบปลูกข้าว อะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้ เพื่อที่จะ บริโภคตลอดปี ถ้ามีที่ ที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอ สำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย
ที่พูดอย่างนี้ ก็เพราะว่า ข้าวที่ปลูก สำหรับบริโภค ไม่ต้องเที่ยวรอบโลก ถ้าข้าวที่ซื้อมา ต้องเที่ยว อาจจะไม่ถึงรอบโลก แต่ก็ต้อง ข้ามจังหวัด หรืออาจจะ ข้ามประเทศ ค่าขนส่งนั้น ก็บวกเข้าไป ในราคาข้าว ตกลง เขาจะต้องขายข้าว ในราคาถูก เพราะว่าข้าวนั้น ต้องขนส่ง ไปสู่ต่างประเทศ ที่จะขายได้กำไร ก็ต้องบวกค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็บวกเข้ามา ในราคาข้าว หมายความว่า ราคาข้าวของเกษตรกร จะถูกตัด เขาบอกว่า ขายข้าวหอมมะลิ ได้ราคาแพง จริง ตอนขายถึงผู้บริโภค ในต่างประเทศ แต่ต้นทาง ก็ไม่ได้ ค่าตอบแทนมากนัก และยังต้องไป ซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่า เพราะว่าจะต้อง ขนส่งมา
ในข้อนี้ ได้ทราบดี เพราะเมื่อมี ภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่า เกิดที่เชียงราย มีเจ้าหน้าที่ ออกไปสงเคราะห์ แล้วก็ขอข้าว เพื่อไปแจก เราก็ซื้อข้าว ซื้อข้าว ในราคากรุงเทพฯ หมายความว่า ข้าวนั้นมาจาก เชียงราย เพราะเชียงราย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ ซื้อที่กรุงเทพฯ แล้วก็ส่ง ไปเชียงราย เสียค่าขนส่งเท่าไหร่ แท้จริง ไปซื้อที่เชียงรายได้ ซื้อที่กรุงเทพฯ นี่ แต่ให้เขาจ่าย ที่เชียงราย ข้าวนั้น ไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคานั้น “เดินทาง” คือพ่อค้า เขานำข้าว มาในนาม – ในเอกสาร – นำเข้ากรุงเทพ” และเมื่อเราสั่งข้าว คำสั่งนั้น ต้องเดินทาง ไปเชียงราย แต่ไม่ใช่เอกสาร สั่งข้าวเท่านั้น ที่เดินทางไป เขายังเอาค่าขนส่งข้าว จากเชียงราย เข้ากรุงเทพฯ และค่าขนส่ง จากกรุงเทพฯ กลับไปเชียงราย บวกเข้าไปอีก ลงท้าย ต้องเสียราคาข้าวแพง ผู้ที่บริโภคข้าว ในภาคเหนือ ก็ต้องเสียราคาแพง ทางภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน นั่นใกล้หน่อย อย่างนราธิวาส ซื้อข้าวจากพัทลุง
สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจ แบบค้าขาย” ภาษาฝรั่ง เขาเรียก TRADE ECONOMY ไม่ใช่ “แบบพอเพียง” ซึ่ง ฝรั่งเรียก SELF-SUFFICIENT ECONOMY ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือ เศรษฐกิจแบบพอเพียง กับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน อย่างทุกวันนี้ เราเดือดร้อน สำหรับข้าว ก็เห็นชัด สำหรับสิ่งอื่น ประชาชนก็ต้องใช้ มีสิ่งของจำเป็น ที่จะใช้หลายอย่าง ที่เราทำได้ ในเมืองไทย แล้วก็สามารถ ที่จะเป็นสินค้า ส่งนอก ใช้เองด้วย และเป็นสินค้า ส่งนอกด้วย แต่ว่า สำหรับส่งนอกนั้น ก็มีพิธีการ ที่จะต้องผ่าน มากมาย ลงท้าย กำไรเกือบไม่เหลือ แต่ถ้าสามารถ ติดต่อโดยตรง ก็อย่าง กลองนี้ เขาติดต่อโดยตรง ก็ส่งไปลงเรือ ที่เรียกว่า CONTAINER ส่งไปเต็ม CONTAINER และค่าขนส่งนั้น ก็ไม่แพงนัก
ที่พูดกลับไปกลับมา ในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขายนี้ ก็นึกว่า ท่านทั้งหลาย กำลังกลุ้มใจ ในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่ มีเงินน้อย จนกระทั่ง คนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถ ที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็น เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่ง ก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะ สามารถอยู่ได้ การแก้ไข อาจจะต้อง ใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมาก คนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถ ที่จะแก้ไขได้ ที่จริงในที่นี้ ก็มีนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ควรจะเข้าใจ ที่พูดไป ดังนี้
ผู้เขียนขออันเชิญเอาเฉพาะพระราชดำรัสที่ได้ทำอักษรทึบไว้ อีกครั้ง ดังนี้ว่า
- ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือ เศรษฐกิจแบบพอเพียง กับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน อย่างทุกวันนี้
- ให้กลับเป็น เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่ง ก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะ สามารถอยู่ได้ การแก้ไข อาจจะต้อง ใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมาก คนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถ ที่จะแก้ไขได้
จากการศึกษาพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ และ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ อย่างรอบคอบ ขอสรุปความเข้าใจขอตนเองเกี่ยวกับวิธีแก้ไขและป้องกันวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ดังนี้ครับ
- ให้ทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" สัก ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน
- "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ภาษาฝรั่งเรียกว่า "Self-Sufficient Economy"
- "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ตรงข้ามกับ "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" ซึ่งฝรั่งเรียกว่า "Trade Economy"
- "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ไม่ใช่อันเดียวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง"
- "เศษฐกิจพอเพียง" เป็นคำใหม่ ไม่มีในบัญญัติของฝรั่ง ทรงใช้คำว่า Suffiency Economy
- "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ การทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามยุคสมัย เช่น ทรงแนะให้ใช้ประมาณ ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน กล่าวคือ ผลิตและใช้เอง ๑ ส่วน แลกเปลี่ยนกับคนอื่นสัก ๓ ส่วน
- "เศรษฐกิจพอเพียง" จะทำให้ คนไทย "พออยู่ พอกิน" มีอยู่ มีกิน ไม่เดือดร้อน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น