สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐
มูลนิธิสถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทยได้จัดพิมพ์ "รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ" ที่เสนอโดยคณะกรรมการศึกษาและและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ หลังจากวันประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ๙ เดือน และมีการจัดพิมพ์เพิ่มเติมอีก ๓ ครั้ง (ผู้สนใจอ่านได้ที่นี่) รายงานฉบับนี้ระบุถึงสาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้งไว้ชัดเจนว่า เป็นเพราะปัจจัยภายในประเทศทั้งสิ้น โดยกำหนดไว้ในคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ ดังนี้ ว่า
ต้นเหตุของวิกฤตในครั้งนี้...มีสาเหตุมาจากภายในประเทศทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่ตัวเราเอง การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสองสามปีก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น แม้ทางการจะเห็นปัญหาแต่ขาดความเด็ดขาดในการกำหนดมาตรการที่จะป้องกัน... และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วยังขาดความกล้าหาญที่จะใช้มาตรการที่อาจไม่เป็นที่นิยมทางการเมืองเข้าแก้ไข... มาตรการการแทรกแทรงปกป้องค่าของเงินบาทที่ใช้...เป็นเพียงการซื้อเวลาให้กับตนไประยะเวลาหนึ่งเท่านั้น... การกระทำดังดล่าวเป็นการซื้อเวลาที่มีต้นทุนสูงมากเพราะในที่สุดจะมีผลกระทบกลายเป็นภาระที่หนักของธุรกิจและประชาชนทั่วประเทศในอนาคตที่ยาวนาน
ผู้สนใจคลิกอ่านเอกสารทั้งเล่มได้ที่นี่
ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นข้อสรุปเรื่องราวจาก "เอกสารประวัติศาสตร์ "นี้ อาจจะขาดตกพร่องจนอ่านแล้วไม่เข้าใจก็เป็นได้ จึงขอแนะนำให้ผู้อ่านดูคลิปที่เผยแพร่กันทางยูทูปต่อไปนี้ (สัก ๒ รอบจะดี) ก่อนจะอ่านข้อความที่ผู้เขียนพยายามจะสรุปให้สั้น เป็นขั้นตอน และให้ง่ายสำหรับนิสิตรุ่นลูกหลาน ซึ่งยากจะจินตนาการด้วยตนเอง
๑) เติบโตเพราะคนอื่น (ทุนจากต่างชาติ)
ปี ๒๕๑๘ การก่อตั้ง "ตลาดหลักทรัพย์" ขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้เงินตราจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศค่อย ๆ ไหลมาสู่ประเทศไทย ด้วยความพร้อมหลายๆ ด้าน ประเทศสงบสุขมีเสถียรภาพ มีประชาชากรมาก (ผู้ซื้อมาก หากนำอะไรใหม่ ๆ มาขาย) ค่าแรงราคาถูกมาก (เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว) ทำให้เกิดประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมาที่เงินเย็นของญี่ปุ่นเริ่มแข็งค่าขึ้น
เมื่อมีเงินทุนไหลเข้า ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น เงินทุนสำรองฯ ส่วนหนึ่งที่มีไว้ประกันการพิมพ์เงินภายในประเทศมากขึ้น ทำให้สามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ในประเทศได้มากขึ้น คนมีเงินมีรายได้มากขึ้นจึงใช้จ่ายมากขึ้น เรียกรวมๆ คือ "เศรษฐกิจดีขึ้น"
วิธีดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือที่เรียกว่า GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งหมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่น รายปี หรือรายไตรมาศ) หรือก็คือรายจ่าย/รายได้ของประเทศ นั่นเอง ซึ่งคำนวณได้จาก
GDP = รายจ่ายจากการบริโภค + รายจ่ายเพื่อลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายสุทธิจากการส่งออกและนำเข้า
สังเกตว่า GDP เพิ่มขึ้นด้วย ๔ สาเหตุได้แก่ ๑) บริโภคสินค้าหรือบริการให้มาก ๒) ลงทุนให้มากคือผลิตให้มาก ๓) ใส่งบประมาณเข้าไปในระบบให้มากๆ และ ๔) ส่งออกให้มาก ให้ได้ดุลการค้ามากๆ
ปกติค่า GDP โตขึ้นปีละ 5% ถือว่าเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่ GDP ของประเทศไทยในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เติบโต 8-10% ทุกปีต่อเนื่องเป็นสิบปี เพราะมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าและส่งออกสินค้าได้ดี
ตั้งแต่เริ่มมีตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยผูกเงินบาทไทยไวักับทองคำและเงินสกุลหลักของโลก (ดอลลาร์) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้มั่นคง ก่อนจะพัฒนามาใช้ระบบ "ตระกร้าเงิน" เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของเงินสกุลต่าง ๆ วิธีการคือไม่ได้ผูกเงินไว้กับทองคำหรือดอลลาร์เท่านั้น แต่เอาสกุลหลักอื่น ๆ เช่น เย็น ปอร์น ฯลฯ มาเก็บรวมกันไว้ในตระกร้า แล้วใช้สถิติคำนวณว่าจะใช้มาตรการอย่างไรในการรักษาค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง เงินในตระกล้ากว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นดอลลาร์ จึงไม่ต่างอะไรกับการผูกค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์เลย
๒) ย่ามใจ อยากรวย (เป็นศูนย์กลางทางการเงิน )
ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายปี ด้วยความย่ามใจจากความมั่นใจอันล้นเหลือ ถึงกับหวังจะเป็นเสือตัวที่ ๕ แห่งภูมิภาคถัดจากสิงค์โปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และใต้หวัน ตามคำขนานนามของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงมีการผลักดันจากทั้งฝั่งเอกชนและคนการเมือง (รัฐบาล) คิดอ่านที่จะเป็น "ศูนย์กลางทางการเงิน" ของภูมิภาคนี้แทนฮ่องกงที่สหรัฐอเมริกาจำต้องคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ... นี่คือความคิดอ่านเกินตัว ไม่สำเนียกว่าการเจริญเติบโตของตนในขณะนั้นล้วนมาจากผู้อื่นทั้งสิ้น ขาดความรู้และวิทยาการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่นำเข้าทั้งหมด "คิดไม่พอเพียง"
ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามนโยบายเปิดเสรีทางการเงินเต็มที่ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรงโดยไม่ผ่านการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม ในช่วงแรกๆ การกู้เงินจากต่างประเทศยังไม่สามารถทำได้สะดวกนักเพราะต้องทำผ่านสิงคโปร์และมีขั้นขั้นหลายตอน แต่หลังจากวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๕ ที่มีการออกประการใช้กฎหมายการประกอบการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรง ผ่านวิเทศธนกิจ หรือ Bangkok International Banking Facilities (BIBF) มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ อนุญาตให้ธนาคารทั้งในและต่างประเทศรวม ๔๗ แห่ง (แบงค์ต่างชาติ ๓๒ แห่ง) เปิดสาขาวิเทศธนกิจได้ การกู้เงินจากต่างชาติจึงเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ... การเปิดเสรีเต็มที่ครั้งนี้นำมาสู่วิกฤตในอีกสี่ปีต่อมา ความหวังดีที่จะให้ประเทศเจริญอย่างรวดเร็ว "ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี" มากเพียงพอ
รากเหง้าของปัญหาคือ "ความโลภ" ความโลภของคนไทยในภาคธุรกิจการเงิน (่สถาบันการเงิน) และผู้ประกอบการที่มากู้เงินจากสถาบันการเงินเหล่านั้น ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนจะมีการบริการวิเทศธนกิจ อยู่ที่ ๑๔ ถึง ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารต่างชาติต่ำกว่า ๙ - ๑๒ เปอร์เซ็นต์ (อยู่ที่ ๕ เปอร์เซ็นต์) สถาบันการเงินจึงแห่กันไปกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ภายในประเทศอย่างหละหลวม กินกำไรจากส่วนต่าง ๆ มหาศาล ผู้ประกอบการเองเมื่อเห็นว่าสามารถกู้เงินได้ในดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เคยเป็นมา จึงดาหน้าเข้ามากู้ไปลงทุนกันอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะกู้ไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน คอนโด ที่ดิน) เก็งกำไร (ซื้อมา-ขายไป) ทำให้ราคาที่แท้จริงที่ซื้อขายกันในตลาดสูงกว่าราคาที่แท้จริงของทรัพยสิน เรียกว่าเกิด "ฟองสบู่" เกิดสภาพ "เศษรฐกิจฟองสบู่ขึ้น" การเก็งกำไรในภาคอสังหารริมทรัพย์ในช่วงก่อนที่ฟองสบู่จะแตก อัตราหนี้ต่อเงินทุนสูงถึง ๖-๘ ต่อ ๑ (คือเงินที่ลงทุนมากกว่าความสามารถในการชำระถึง ๘ เท่า)
กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมสนอง ในอีกสี่ปีต่อมา ผู้ประกอบการเหล่านั้นและบุคลากรของสถาบันการเงินที่ล้มกันระเนรนาด ต้องตกงาน ถูกยึดบ้าน ยึดรถ บางคนหนี บางคนฆ่าตัวตาย ดังที่ได้กล่าวไปในบันทึกที่แล้ว (อ่านที่นี่) ... ชาวนาชาวสวนปลอดภัยเพราะยังไม่รู้เรื่องอะไรในขณะนั้น
เมื่อประเทศไทยมีเงินดอลลาร์ไหลเข้า แต่ตอนเอาไปใช้จ่ายในประเทศต้องเป็นเงินบาท ความต้องการเงินบาทมากขึ้น ทำให้เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น เพื่อรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ประมาณ ๒๕ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ ตามนโยบายการคงอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้คงที่ด้วยระบบ "ตระกร้าเงิน" (แกว่งขึ้นลงอยู่ในช่วงแคบ) ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเอาเงินบาทมาซื้อเงินดอลลาร์เก็บไว้ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ ปริมาณเงินในประเทศไทยจึงเพิ่มขึ้น ๆ คนหาเงินได้ง่าย ยิ่งได้มาง่ายก็ยิ่งใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นทำให้ต้องผลิตมากขึ้น เศรษฐกิจก็ยิ่งดีขึ้น คนไทยจำนวนมากออกไปเที่ยว ช็อปปิ้ง ซื้อของแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ทำให้เงินบาทจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ
๓) คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด (แกมโกง)
ณ ขณะที่ควายเครป (ควายชนิดหนึ่งในแอฟริกา กินหญ้ากันเป็นฝูง) กำลังสุขสวรรค์กับหญ้างอกใหม่ ในที่ไม่ห่างไกล มีสิงโตเฝ้ามองอยู่ ....
จอร์จ โซรอส นักค้าเงิน เจ้าของกองทุนเก็งกำไรจากค่าเงิน หรือ Hedge Funds เห็นเหตุการณ์ด้วยเฝ้าดูอยู่ตลอด เห็นคนไทยไปกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศจำนวนมาก รู้ทันทีว่าอีก ๕ ปีข้างหน้า ลูกหนี้เหล่านั้นต้องวิ่งหาเงินดอลลาร์มาใช้หนี้กันเป็นโกลาหลแน่ จึงเก็บตุนเงินดอลลาร์และเงินบาทที่ไหลออกนอกประเทศสำหรับเป็นกระสุนไว้โจมตี ในขณะที่ควายเครป(เอ้ย) สถานบันการเงินไทย ไม่ได้เฉลียวใจว่า ถึงเวลาจะไม่มีเงินคืน เพราะเศรษฐกิจดีเหลือเกิน หรือหากครบเงื่อนเวลาก็น่าจะหมุนเงินมาใช้ "รีไฟแนนซ์"ใหม่ได้สบาย ... "อยู่ในความประมาท"
สิ่งที่ผิดพลาดมากๆ คือการการกู้เงินระยะสั้น (๕ ปี) มาปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัยพ์และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาว (๑๐ - ๒๐ ปี) เพราะถือเป็นการผิดวินัยการเงิน ผิดหลักการ ไม่เป็นไปตามห่วง "เหตุผล" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ไม่พอเพียงในการปฏิบัติ"
ทันทีที่ได้โอกาส เห็นว่าควายเครปหลงระเริงและอ่อนแอ สิงโตแห่งทุ่งหญ้าสะวันนาก็ออกไล่ล่าทันที ตั้งราคาเงินดอลลาร์ไว้ที่ ๕๐ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ ล่อให้ขบวนควายเครปโกลาหล ไม่ผิดคาด ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาต่อสู้ปกป้องค่าเงินบาท โดยขนเงินดอลลาร์ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศที่เก็บไว้ได้เกือบ ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ออกมาขายในอัตรา ๒๕ บาทตามระบบตระกร้าเงิน (เข้าทาง!!!) จอร์ส โซรอส ขนเงินบาทที่ตุนไว้ออกมาซื้อดอลลาร์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำออกมาขายทันที แล้วขนเงินดอลลาร์ที่ได้ไปซื้อเงินบาทในตลาดต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า ๓๐ บาทต่อดอลลาร์ ได้เงินบาทไทยมาจำนวนมากขึ้น แล้วเอากลับไปซื้อดอลลาร์ในประเทศไทยวนไป ๆ เรียกว่า "การโจมตีค่าเงินบาท" ... ธนาคารแห่งประเทศไทยสู้สุดใจ จนเงินเงินทุนสำรองระหว่างประเทศฯ เกือบจะหมด (จาก ๓,๙๐๐ ล้าน เหลือเพียง ๑๕๘ ล้านบาท) ก่อนจะยกธงขาวย้อมแพ้และปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกการตลาด ด้วยการ "ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท"
จอร์ส โซรอส รวย ... หวังว่าเขาคงมีความสุข... แต่หากพิจารณาตามหลักพุทธแล้วไม่น่าใช่ เพราะการกระทำของเขาทำให้เรากว่า ๖๐ ล้านคน เป็นทุกข์
๔) ฟองสบู่แตก
ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๙ ไม่มีใครสังเกตเห็นสัญญาณอันตรายใดๆ จากการขยายตัวของฟองสบู่ เนื่องจากการส่งออกดี ประเทศไทยได้ดุลการค้า GDP ยังแสดงว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง การเก็งกำไร (ซื้อมา-ขายไป) ยังมีต่อไป คนแห่ไปกู้เงิน บ้านจัดสรรหรือคอนโดยังไม่สร้าง เพียงเปิดขายใบจองเพื่อเป็นเจ้าของในกระดาษ ก็มีผู้ไปต่อแถวซื้อกันแน่นขนัด แค่เพียงใบจองก็ขายต่อได้ "พ่อค้าคนกลาง" เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด เนื่องจากเงินหาง่าย ผลิตอะไรออกมาก็ขายได้ ทุกคนจึงยังมีเงินมาใช้หนี้ธนาคาร
"น้ำมาลด ตอมาผุด" ตอนที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวน จาก ๕ หยวนต่อดอลลาร์ มาเป็น ๘ หยวนต่อดอลลาร์ สินค้าจาจีนซึ่งราคาถูกว่า เข้าไปตีตลาดแทนสินค้าจากไทย ทำให้การส่งออกลดลง เสียดุลการค้า ส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "ขาดดุลบัญชีเงินสะพัด" ในเวลาต่อมา ว่ากันว่าเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง
เมื่อส่งออกไม่ได้ กอปรกับถึงเวลาที่ต้องใช้หนี้ เจ้าหนี้เริ่มระแวงว่าจะไม่มีเงินมาใช้หนี้ จึงเริ่มทวงหนี้จากสถาบันการเงินที่ไปยืมเงินมา ลูกหนี้ของสถาบันการเงินก็ไม่มีเงินมาใช้หนี้เพราะขายสินค้าไม่ได้ สินทรัพย์ที่มีไร้ค่าราคาตกขายไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงเริ่มลดคนงาน ประหยัดสุดชีวิต
เมื่อมีข่าวว่าสถาบันการเงินบางแห่ง (ธนาคารบางแห่ง) กำลังจะเจ้ง ผู้ฝากเงินก็แห่กันไปถอนเงิน สถาบันการเงินเล็ก ๆ ก็ล้มทันที "....ฟองสบู่แตก...." สถานบันการเงินจำนวน ๕๘ แห่งถูกปิดโดยรัฐบาลในเวลาต่อมา ธนาคารพาณิชย์รอดมาได้เพียง ๖ แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพฯ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงศรีอยุทธยา และ ธ.ทหารไทย นอกจากนั้นถูกสั่งปิดโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เสียทั้งหมด ๑,๑๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (อ่านว่า หนึ่งพัน หนึ่งร้อยแสน สี่หมื่น ล้าน ล้าน บาท) (ข้อมูลจาก Spokedark.com ดูได้ที่นี่) เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจไทยล้มละลายไปเหมือนอาเจนติน่า ... สรุปเรารักษาประเทศไว้ได้ ไม่ได้ล้มละลาย ไม่ได้ประกาศชักดาบ ... เพียงแต่พ่อแม่พี่น้องที่ไม่รู้อิโน่อิเหน่ใดๆ ทั่วประเทศไทย ต้องมาแบกรับหนี้กันไปคนละ ๑๖,๒๘๕.๗ บาท เท่านั้นเอง
๕) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ปกติ "การประกาศลอยตัวค่าเงินบาท" เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีนักการเมืองคนใดกล้าทำ ทุกครั้งที่มีการประกาศลดค่าเงินบาทในอดีต ผู้บริหารประเทศล้วนถูกด่า(บางทีถึงขั้นปองร้าย)จากผู้ที่จะได้รับความเสียหาย คะแนนนิยมหดหาย ผู้เขียนตีความว่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายบริหารไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการแก้ปัญหา แต่เลือกหนทางที่จะต่อสู้เพื่อประวิงเวลา (ซื้อเวลา) ออกไปเรื่อยๆ หลายมาตรการที่ดีถูกนำมาใช้เมื่อตอนสายเกินไป (อ้างอิงจากรายงานข้อเท็จจริงฯ) จนกระทั่งหมดทางสู้ เมื่อผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลจำนวนเงินที่เหลือในกองทุนสำรองฯ ต่อนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ (คนที่สาม) ที่พึ่งย้ายมาแทนคนเก่าที่พึ่งลาออกไป ด้วยประสบการณ์นายธนาคารใหญ่ จึงตัดสินใจว่าจะลอยตัวค่าเงินบาททันที
เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่งในขณะเวลานั้นคือ การรักษาความลับของผู้ใหญ่ที่ร่วมกันตัดสินใจในวันนั้น มีการตัดสินใจกันลับๆ กับรัฐมนตรีคลังว่าจะลอยตัวค่าเงินบาทในวันเสาร์ วันจันทร์เป็นวันหยุดของธนาคารจึงยังประกาศไม่ได้ ดังนั้นต้องเก็บความลับไว้เกือบสามวันก่อนจะถึงวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หากมีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการลอยตัวค่าเงินบาท แล้วไปซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้มาก ๆ หรือไปซื้อเงินดอลลาร์ไว้เก็งกำไรมากๆ เขาจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ หนำยังรวยมหาศาลทันที เพราะทันทีที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เงินบาทลดค่าลงไปทันทีกว่าเท่าตัว และขึ้นไปสูงสุดถึง ๕๖ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ในเวลาต่อมา ... (มีใครล่ะที่หลุดและรวยจากงานนี้ลองอ่านบทความนี้เอง)
๖) จำใจต้องไปกู้ IMF
ทันที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หนี้สินของสถาบันการเงินที่ล้มไปที่เพิ่มขึ้นไปตามค่าเงินเป็นแสนล้านล้านบาทได้กลายมาเป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ
คนมีหนี้เยอะไม่ได้รับเครดิตฉันใด ประเทศที่มีหนี้มหาศาลก็ไม่ได้รับเครดิตฉันนั้น เมื่อนักลงทุนไม่มีความมั่นใจย่อมจะต้องถอนเงินออกไป ประเทศไทยก็จะเหมือนคนป่วยไข้ไม่มีแรงทำงานหาเงินทันที รัฐบาลไทยจึงเร่งหาความช่วยเหลือและแหล่งเงินกู้มาค้ำประกันหนี้สิน (หนี้เสีย) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ต่อไปนี้นี้เป็นรายนามของประเทศที่ช่วยให้ไทยยืมเงินในครานั้น ได้แก่ ๑) ออสเตรเลีย ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๒) จีน ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๓) ฮ่องกง ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๔) อินโดนีเซีย ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ๕) ญี่ปุ่น ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๖) เกาหลีใต้ ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ๗) มาเลเซีย ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๘) สิงคโปร์ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ และ ๙) บรูไน ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ไปกู้ธนาคารโลกอีก ๑,๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ได้จากธนาคารพัฒนาเอเชียอีก ๑,๒๐๐ ล้านดอลลาร์ และไปขอกู้จากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) อีก ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ โดยพ่วงมาพร้อม "สัญญาทาส" หลายประการที่แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือไทย กลับซ้ำเติมให้ไทยจมดิ่งลงเหว รวมหนี้สินที่รัฐบาลไทยกู้มาใช้เป็นทุนตั้งตัวใหม่ในขณะนั้น ๑.๗๒ หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนล้านบาท) ... เมื่อรวมกับหนี้เก่า เราเป็นนี้ไปกว่าสองล้านล้านบาท
สังเกตว่า สหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็น ๕๐ -๖๐ ปี ไม่มีความช่วยเหลือให้ไทยใด ๆ เลย แม้แต่สักเหรียญเดียว (ขอให้ดูคลิปนี้)
ที่เรียกว่า "สัญญาทาส" เพราะ IMF มีข้อกำหนดให้ต้องดำเนินการต่าง ๆ มากมาย ปล่อยเงินให้เป็นงวดๆ แต่ละงวดต้องใช้คืนภายใน ๓ ปี (จริง ๆ ๓๔ เดือน) รัฐบาลต้องจัดงบประมาณแบบรัดเข็มขัด ปฏิรูปสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด (ผลคือกู้เงินยากมาก) แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขึ้นภาษีเพื่อหารายได้มาใช้หนี้ ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ จำกัดการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการต้องไม่เกินอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ผลคือ คนไทยต้องลำบาก ประหยัดสุดชีวิต เศรษฐกิจทรุดอย่างรุนแรงในปีต่อมาแทนที่จะดีขึ้น (GDP ติดลบ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๔๐ และติดลบ ๑๐.๕ เปอร์เซนต์) ตลาดหุ้นลดจากพันกว่าจุดเหลือสองร้อยจุดในปี ๒๕๔๑ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านจัดสรรถูกปิดจำนวนมาก หนี้สินท่วมจนต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ไปกว่า ๑ ล้านล้านบาท
ยังดีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทย ได้ศึกษาน้อมนำมาปฏิบัติ
๗) สรุปสาเหตุของ "วิกฤตต้มยำกุ้ง"
จากการสืบค้นและศึกษาจากรายงานข้อเท็จจริงฉบับนี้มี ๖ ประการหลัก มีผู้สรุปไว้หลายเว็บไซต์ (เช่น ที่นี่ และ ที่นี่) ดังนี้ได้แก่ ๑) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม ขนาดสะสมถึง ๑๔,๓๕๐ ล้านดอลลาร์ ในช่วง ๑๐ ปีก่อนฟองสบู่จะแตก ๒) หนี้ต่างประเทศสูงถึง ๑๐๙๒๗๐ ล้านดอลลาร์ ๓) การลงทุนที่เกินตัว ๔) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงินอ่อนแอ ปล่อยกู้มั่วง่ายใช้หนี้คืนไม่ได้ จนต้องถูกปิดไปถึง ๕๘ แห่ง ๕) ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย ปล่อยให้เปิด BIBF โดยความไม่รู้เท่าทันการณ์ และ ๖) ถูกโจมตีค่าเงินบาทจากกองทุนเก็งกำไร Quantum Fund ของจอร์ส โซรอส (Gorge Soros) และนักค้าเงินรายอื่นๆ ผสมโรงกัน
ขอจบประสบการณ์เรียนรู้จากความรู้มือสองไว้ที่นี่ครับ บันทึกต่อไป จะมาตีความถึงความไม่พอเพียงที่ทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง
๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
ขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่มีได้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์ หากตีความสรุปพลาดบกพร่องอย่างไร โปรดเขียนแสดงความคิดเห็นไว้อย่างสุภาพด้านล่างเถิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น