"ภาวะผู้นำ" ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ด้วยการบอกหรือสอนแบบส่งผ่าน จากการศึกษาสืบค้นและสังเคราะห์ของผู้เขียน สรุปได้ว่า "ภาวะผู้นำ" มีความหมายไม่ตายตัว คนส่วนใหญ่ในสังคมมักเข้าใจว่า ผู้นำคือผู้ที่มีตำแหน่งหรือได้รับการแต่งตั้ง เข้าใจว่าผู้นำคือผู้บริหาร ผู้บริหารคือผู้นำ แต่แท้จริงแล้ว "ภาวะผู้นำ" มีคุณลักษณะของ "ผู้นำ" ที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องการได้รับการแต่งตั้ง หากแต่เพียงมี "ผู้ตาม" ที่นั่นก็มี "ผู้นำ"
จุดเริ่มต้นในการฝึกฝนพัฒนา "ภาวะผู้นำ" คือ "นำตนเอง" (Self-directed) ผู้นำที่ดีต้องสามารถ กำกับและควบคุมตนเอง ไม่ยอมให้ตนเองตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความโลภ (ความอยาก อยากมี อยากเป็น ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น) ความโกรธ ความหลงต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่ต้องศึกษาเ็นอันดับแรกคือ "ตนเอง" ให้ "รู้จักตนเอง" จะได้สามารถ "นำตนเอง" ได้เป็นเบื้องต้น ... อย่างไรก็ดี การศึกษาให้รู้จักตนเองเป็นเรื่องเฉพาะคน ต้องเฝ้าดูกายใจของตน ๆ ต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ
อีกกระบวนวิธีในการสร้างผู้นำคือการเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกัน คำว่า "ผู้นำ" หมายถึง ผู้นำคน ดังนั้นการทำงานร่วมกันของคน จะทำให้ได้ฝึกฝนภาวะผู้นำไปในตนเอง จึงมีการสร้างหลักสูตรหรือแม้แต่โรงเรียนผู้นำขึ้นทั่วโลก เช่น โรงเรียนผู้นำคานาอาน (CANAAN) ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จสำคัญที่ทำให้ เกาหลีใต้ เปลี่ยนจากประเทศยากจนอันดับต้น กลายเป็นประเทศพัฒนาแนวหน้าอย่างทุกวันนี้ ่ฯลฯ คนไทยก็เคยไปอบรมหลักสูตร ๓ วัน ๒ คืนที่โรงเรียนนี้ รุ่นแรกที่ไปคือ พล.ตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งต่อมาท่านได้นำเอาแนวคิดนี้มาสร้างโรงเรียนผู้นำที่จังหวัดกาญจนบุรี
สิ่งสำคัญที่โรงเรียนผู้นำสอนคือ ๑) สอนให้รู้จักรู้จักชุมชนตนเอง ประเทศตนเอง ทรัพยากรของตน รากเหง้าของตนเอง สอนให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัด เห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี ๒) ปลูกฝังให้เป็นคนรักชาติ รักการทำงาน พึ่งตนเอง ไม่งอมืองอเท้า ที่เกาหลีสอนโดยใช้คำขวัญ "ถ้าขี้เกียจทำงานก็ไม่ต้องกินข้าว" ๓) ปลูกฝังความกตัญญู รู้คุณของแผ่นดิน ๔) สอนให้รอบรู้ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง ฯ ๕) สอนให้เอาชนะปัญหา แก้ปัญหาด้วยตนเอง
กรเรียนรู้ผ่านกระบวนการบนฐานปัญหา (Problem-based Learning) โดยเฉพาะปัญหาใกล้ตัว ปัญหาภายในมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของเรา น่าจะเป็นกิจกรรมที่นำสู่ "ประตูเข้า" ของการเป็นผู้นำที่เป็นที่พึ่งของชุมชนและสังคม ดังอัตลักษณ์ของเราต่อไป
กิจกรรมระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย "
นิสิตแต่ละกลุ่มได้รับมอบหมายให้สำรวจปัญหาและระดมปัญหา ด้วยกระบวนการ ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ได้รับมอบหมายให้รวมตัวสมาชิกและระดมความคิดมองปัญหาบนกระดาษโดยใช้ Mind Mapping เป็นการเตรียมตัวก่อนการจะวิเคราะห์ปัญหาในขั้นที่ ๒ ที่ใช้เป็นขั้นสรุปและนำเสนอด้วยเครื่องมือ "ต้นไม้เจ้าปัญหา" (อ่านได้ที่นี่)
กลุ่มจอร์จ วอชิงตัน
ทำไมจึงเลือก จอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้นำในดวงใจ เอาไว้ต้องให้สมาชิกกลุ่มมาเล่าให้ฟัง
กลุ่มจอร์จ วอชิงตัน เสนอ ปัญหา->ผลกระทบ ภายในมหาวิทยาลัย เรียงลำดับดังนี้
- การแต่งกายไม่ถูกระเบียบ -> บุคลิกไม่ดี ภาพลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเสียหาย
- สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ -> เหม็น ทัศนียภาพไม่สวย
- นิสิตเล่นโทรศัพท์ในห้องเรียน -> ผลการเรียนไม่ดี
- อุบัติเหตุเกิดบ่อย ไม่ใส่หมวกกันน็อค ขับรถย้อนศร -> เสียเวลา เสียตังค์ เสียชีวิต
- สนามกีฬาไม่เพียงพอ สระน้ำไม่สะอาด -> เกิดโรคติดต่อ
- สถานที่จอดรถคับแคบ ไม่เพียงพอ -> การจราจรขัดข้อง
- ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง ใช้ห้องน้ำไม่ถูกสุขลักษณะ ของหายบ่อย
- สถานที่ทานอาหารไม่เพียงพอ -> นิสิตเข้าเรียนช้า รอนาน
สาเหตุของปัญหา
- นิสิตขาดระเบียบวินัย
- นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
- พื้นที่สาธารณะไม่เพียงพอ/ไม่เหมาะสม
- นิสิตขาดจิตสำนึกต่อส่วนรวม
- ประชากรมีจำนวนมาก
การแก้ไขปัญหาต้องมุ่งไปที่สาเหตุของปัญหา หากพิจารณาตามผลการวิเคราะห์ของกลุ่มนี้ โดยใช้หลัก ๓ ประการ คือ ๑) ทำได้และท้าทาย ๒) เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ๓) แก้ไขเกิดความยั่งยืน (หรือยั่งยืนพอสมควร) (อ่านรายละเอียดที่นี่) จะพบว่า เรื่องการเพิ่มพื้นที่และการลดประชากรนั้นไม่น่าจะทำได้โดยศักยภาพของนิสิต ส่วนเรื่องจิตสำนึกและเรื่องวินัยของนิสิตนั้น หากจะทำให้ได้ผลเกิดความยั่งยืน จะต้องปรับพฤติกรรมและทำอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ด้วยเวลาและศรัทธาต่อเพื่อนนิสิตที่ยากจะเชื่อถือฟังกันโดยง่าย ดังนั้น สาเหตุที่เหลือเพียงข้อเดียวคือ การไม่ปฏิบัติตามกฏจราจร
หากกลุ่ม จอร์จ วอชิงตัน จะเลือกปัญหาและสาเหตุข้อนี้ มาเพื่อทำเป็นโครงงาน สิ่งที่ต้องดำเนินการขั้นต่อไปคือ การศึกษาสภาพปัญหาให้แน่ชัด เช่น
- มีจุดใดบ้างที่นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร (ภายในมหาวิทยาลัย) ควรแยกกันไปสังเกตหลาย ๆ จุด มีการบันทึกพฤติกรรมการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเป็นระบบ มีการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ
- ควรแบ่งสมาชิกไปขอข้อมูล หรือสืบค้นข้อมูล เกี่ยวกับการทำผิดกฎจราจรของนิสิต จากกองกิจการนิสิต เจ้าหน้าที่ รปภ. สุ่มถามชาวบ้าน ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมนั้น
- ควรมีการสุ่มถาม หรือ ออกแบบสอบถาม นิสิตกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน ถึงสาเหตุที่ทำให้นิสิตไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร
- ฯลฯ
.... กลุ่มต่อไป ขอยกไปบันทึกหน้าครับ....
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น