ปีการศึกษา ๒/๒๕๖๐ เป็นปีการศึกษาแรกที่ผู้เขียนได้ทำบทบาทการเป็นอาจารย์ผู้สอน เชื่อว่าการทำหน้าที่อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาที่ผ่านมา แม้อาจขาดตกบกพร่องบ้าง แต่อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน น่าจะเห็นในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ... อย่างไรก็ดี ผมได้ปวารนากับอาจารย์ทุกท่านตั้งแต่แรก จึงประกาศกับทุกท่านแล้วว่า ผมจะมอบค่าตอบแทนการสอนในส่วนที่มได้รับนี้ให้เป็นงบประมาณกลางในการพัฒนารายวิชาต่อไป
ผู้เขียนตั้งใจจะบันทึกประสบการณ์และการเรียนรู้ของตนจากการทำบทบาทอาจารย์ผู้สอน เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนต่อ ๆ ไป หรืออาจมีผู้สนใจในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนกันอย่างแข็งขันเช่นกัน ได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนกัน
จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ แผนการสอน และแผนการประเมิน สำหรับภาคเรียนที่ ๒/๒๕๖๐ นี้ สามารถดาวน์โหลดได้จาก รายละเอียดรายวิชาตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.๓) ได้ที่นี่ และท่านที่สนใจอยากได้เอกสารประกอบการสอนที่คัดลอกจากหนังสือของใหญ่ที่ขับเคลื่อนฯ เรื่องนี้ในประเทศและกำลังขับเคลื่อนไปสู่ต่างประเทศ คือ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา มาเป็นแนวทางและเครื่องมือเรียนรู้ในชั้นเรียน สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่
บทที่ ๑ ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (วิกฤตต้มยำกุ้ง)
คำถามสำคัญคือ จะสอนหรือออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร ให้ผู้เรียนเห็นผลลัพธ์ของ "ความไม่พอเพียง" ของการพัฒนาประเทศและของกลุ่มบุคคลผู้ "ไม่พอเพียง" จนนำมาสู่ความเสียหายรุนแรงระดับวิกฤตของชาติ ที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หรือ "วิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐" เป้าหมายการเรียนจึงไม่ใช่เพียงเข้าใจที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น แต่ต้องทำให้ผู้เรียนตระหนักและเกิดฉันทะ อยากเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำมาใช้กับตนเอง
มีองค์ความรู้ ๒ เรื่องที่จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนซึ่งทั้งหมดเกิดหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รู้ก่อนเพื่อปูพื้นฐานนำมาสู่ เหตุการณ์ที่ในหลวง ร.๙ ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ๑) ค่าของเงิน และ ๒) ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังจะอธิบายเป็นเชิงความคิดรวบยอด ดังนี้
๑) ค่าของเงิน
ถ้าตั้งคำถามกับตนเองว่า เงินบาทของไทยกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา เงินสกุลใดมีค่ามากกว่ากัน? ... ผู้อ่านทั้งหมดจะตอบว่า เงินดอลลาร์มีค่ามากกว่า แต่ถ้าหากเปลี่ยนเทียบคำตอบของคำถามว่า "เงินสกุลใดมีมูลค่ามากกว่า" กับ "เงินสกุลใดมีคุณค่ามากกว่า" การตอบคำถามหลังนั้นจะอยู่ในความลังเลทันที เงินบาทจะมีมูลค่าน้อยกว่าเงินดอลลาร์ก็ต่อเมื่อเราคิดเปรียบเทียบตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การคิดเปรียบเทียบค่าเงินตราเป็นมายาที่ทุกคนในโลกนี้เต็มใจให้หลอก
แท้ที่จริงนั้น หากไม่ตัดสินเปรียบเทียบ มูลค่าของเงินจะมากหรือน้อยขึ้นกับการให้คุณค่าของคนที่ใช้เงินเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นชุมชน สังคม ประเทศ ค่าของเงินก็จะแตกต่างไปตามสถานที่และกาลเวลา ที่เรียกกันว่า "กลไกการตลาด" ลองคิดถึงเงิน ๓๐ บาท คนไทยสามารถซื้ออาหารตามสั่งได้ ๑ มื้อ แต่คนอเมริกันซื้อไม่ได้ทั้งที่มีค่าเท่ากันตามอัตราแลกเปลี่ยน (คนอเมริกันต้องใช้ ๕ ดอลลาร์ต่อ ๑ มื้อ) นั่นแสดงว่า เงินบาทมีมูลค่ามากกว่า
ปัจจุบันโลกนี้มีประชากรประมาณเจ็ดพันล้านคน แบ่งเขตเป็นประเทศ ๆ ทั้งหมด ๑๙๕ ประเทศ หลายประเทศมีสกุลเงินของตนเอง รวมถึงประเทศไทย ที่ใช้สกุลเงินบาท (Thai Baht) จะใช้จ่ายที่ไหน ต้องได้รับการยอมรับสกุลจากรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งจะมีหน่วยงานหรือสถานบริการให้แลกเงินอัตราแลกเปลี่ยนที่สุดแสนจะไม่เป็นธรรม ดังที่ได้บอกเป็นนัยแล้ว
ลองจิตนาการว่า ประเทศไทยทั้งประเทศมีเงินเพียง ๖๙ ล้านบาท สมมติทุกคนมีเงินเท่ากันคนละ ๑ บาท ท่านคิดว่า อาหารตามสั่ง ๑ จาน ควรจะตั้งราคาเท่าใดจะเหมาะสม แน่นอนว่าหากขายจานละ ๓๐ บาท จะขายไม่ได้ ทุกคนจะปลูกข้าวและทำกินเองทั้งหมด หรือแม้แต่ขาย ๑ บาท ก็จะมีผลไม่ต่างกัน เพราะไม่น่าจะใช้เงินทั้งหมดที่มีซื้อข้าวเพียงมื้อเดียว ดังนั้นข้าว ๑ จาน ต้องตั้งราคาในระดับสตางค์หรือสลึงจึงจะพอขายได้ สังเกตว่าหากเงินมีน้อยสินค้าจะต้องราคาต่ำ ในทางกลับกันหากเงินมีมากราคาสินค้าจะสูงขึ้น (ลองสมมติเรามีเงินคนละ ๑ แสนบาท ท่านจะเห็นว่า ข้าวจานละ ๓๐ ราคาถูกทันที) ... วิถีการตีมูลค่าของสินค้าในลักษณะที่กล่าวมานี้ เรียกได้ว่า "กลไกการตลาด" อย่างหนึ่ง
ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีวิทยาการก้าวหน้า จะผลิตสินค้าและกำหนดราคาสูงลิ่ว เช่น โทรศัพท์ไอโฟนหรือซัมซุง เครื่องหนึ่งสามหมื่นบาท ทั้งที้ใช้เวลาผลิตต่อเครื่องไม่กี่นาที ส่วนประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ก็ผลิตสินค้าการเกษตรที่ราคาแสนถูก (เพราะกำหนดราคาเองไม่ได้) เช่น ต้องขายข้าวถึง ๓ ตัน และเวลา ๔ เดือน กว่าจะได้เงินไปซื้อโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง ดังนั้น ด้วยวิถีกลไกแบบนี้ จึงไม่มีวันที่ประเทศไทยที่กำลังพัฒนาไปอยู่แนวหน้าได้ด้วยเกษตรกรรม ... วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดนโยบายจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยเร็ว ซึ่งนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ ในที่สุด
ความจริงมีหลากหลายวิธีการที่ "ผู้ฉลาด (แกมโกง)" กระทำให้เงินในประเทศมีมาก ๆ โดยไม่ต้องผลิตสินค้าจริง เพียงแต่สร้างสินค้าเทียม สร้างสินค้ามายา ปั้นและสนองอัตตาความอยากของมนุษย์ขึ้นไปเรื่อย ๆ เรียกสวยหรูรวมๆ ว่า "บริการ" มุ่งไปที่ความสุข ความสนุกทางโลกแบบไม่มีขีดจำกัด เกิดเป็นระบบกลไกการตลาดแบบ "ทุนนิยม" ดังที่รู้กันทั่วไป ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ นำการกีฬา การศึกษา และศรัทธาศาสนา มาพัฒนาเป็นสินค้า เป็นต้น .... ค่าซื้อขายนักเตะที่พลีเมียร์ลีกของอังกฤษ ลาลีกาลีกของสเปน อยู่ที่หลายพันล้านบาท ค่าแรงต่อสัปดาห์หลายล้านบาท รัฐบาลก็เพียงเก็บภาษีจากจำนวนมูลค่าเทียมที่ปั่นขึ้นมาเองเหล่านี้ ก็เป็นรายได้มากกว่าประเทศ "ผู้โง่เขลา" หาได้ทั้งปี ...
ผู้ควบคุม "กลไกการตลาด (โลก)" คือ ธนาคารโลก แต่ละประเทศจะร่ำรวยได้ ไม่ใช่อยากพิมพ์เงินเท่าใดก็ทำได้ ต้องเอาเงินสกุลดอลลาร์ไปคำประกันไว้ที่ธนาคารโลกก่อนจึงสามารถพิมพ์สกุลของตนเองออกมากได้ ดังนั้นวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจดีตามวิถีของกลไกการตลาดคือ ต้องดึงเงินมาไว้ในประเทศมาก ๆ ด้วยการผลิตสินค้า แปรรูป ส่งออก ค้าขาย ฯลฯ ... มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องเอาเงินดอลลาร์มาค้ำประกัน มีอิสระในการพิมพ์ออกมาเต็มที่ (แต่ขณะที่กำลังเขียนนี้จีน รัสเซีย อินเดีย ก็เริ่มมีกลไกมารักษาสมดุล)
๒) ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ ๙ ประการ ได้แก่ ๑) พิมพ์เงินและจัดการเงิน ๒) กำหนดนโยบายการเงิน ๓) จัดการทรัพย์สินของ ธปท. (ยกเว้นทุนสำรองระหว่างประเทศ) ๔) เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนของรัฐบาล ๕) เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน ๖) จัดตั้งหรือสนับสนุนให้จัดตั้งระบบชำระเงิน ๗) กำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน ๘) บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและบริหารจัดการทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตรา ๙) กำกับควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมาย
แต่ละประเทศจะมีธนาคารแห่งชาติคอยดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ กำกับดูแลเงินเข้า เงินออก อัตราแลกเปลี่ยนเงินในสกุลของตนเองกับสกุลเงินต่างชาติ หรืออาจเรียกว่าธนาคารแห่งประเทศจะเป็นผู้ควบคุมอิสระเสรีทางการเงินของประเทศ สังเกตว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน และควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงิน
ก่อนปี ๒๕๓๓ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายควบคุมการเข้าออกของเงินตราต่างประเทศอย่างเคร่งครัด สถาบันการเงินในประเทศ (เช่น ธนาคารพาณิชย์) ไม่สามารถจะกู้เงินจากต่างประเทศได้ ต้องกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น สามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้อย่างสมดุล แต่พอมีการนำนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องผ่อนปรนและปล่อยให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าอย่างเสรีในปี ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในเวลาเพียง ๕ ปี
ก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่จะแตกในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ (วันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ระบบแลกเปลี่ยนอัตราคงที่ ๒๕ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ โดยผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถืออยู่ เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก รัฐบาลออกมาต่อสู้ด้วยการช้อนซื้อเงินบาท จนเงินทุนลดจาก ๓๙,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง ๑๕๘ ล้านดอลลาร์ จนจำเป็นต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท
ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐
วิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ก่อนจะขยายไปทั่วอาเซียนและเอเชียอีกหลายประเทศ ทั่วโลก จึงเรียกอีกชื่อว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ตามชื่ออาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีใครมีประสบการณ์ที่จะรับมือ ระบบเศรษฐกิจพังทะลายลงแบบไม่มีใครรู้ว่าควรจะทำอย่างไร
ผลกระทบของวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ประเทศไทยเกือบตกอยู่ในภาวะล้มละลาย บริษัทและผู้ประกอบการทั่วทุกมุมเมืองประกาศเลิกจ้างอย่างมโหฬาร ส่งผลกระทบโดยตรงกับลูกจ้าง เกิดคนว่างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดบ้านเกิดมานาน ไม่มีที่ไป ต้องประหยัดกินประหยัดใช้อย่างสุดชีวิต โชคดีที่คนส่วนใหญ่ยังมีบ้านที่ยังพอมีสวน ไร่ นา ให้กลับไปทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ วิกฤตจึงไม่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังคงเป็นเกษตรกร
วิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลโดยตรงกับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง และบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ต่างมีหนี้ท่วมหัว ล้มละลายกันจำนวนมาก หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ผู้ที่ทำงานในธุรกิจเหล่านี้ต้องถูกยึดบ้าน ยึดรถ ยึดทรัพย์สินทั้งหมด ลูกหลานที่เคยส่งไปเรียนต่างประเทศต้องกลับบ้าน หลายคนเดินทางหนีหนี้ออกนอกประเทศ บางคน "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" หลังวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่เป็นวันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท มีข่าวการฆ่าตัวตายแทบจะรายวัน สถิติการฆ่าตัวตายพุ่งสูงสุดถึง ๔,๙๖๔ คนในปี ๒๕๔๑ และสูงขึ้นเป็นประวัติการถึง ๕,๒๙๐ คนในปี ๒๕๔๒ ก่อนจะลดลงมาเป็นอัตราปกติที่ประมาณสี่พันคนต่อปี (อ่านที่นี่)
แม้จะผ่านแล้วกว่า ๒๐ ปี หลายครอบครัวยังคงไม่อาจตั้งตัวได้จากการล้มละลายในคราวนั้น การแก้ปัญหาการโดยการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ๕๘ แห่ง และประกาศนโยบายประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหลังจากสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินเหล่านั้น ทำให้หนี้สินกว่า ๑.๑๔ ล้านล้านบาท กลายมาเป็น "หนี้สาธารณะ" ที่คนไทยทุกคนต้องแบบรับจนถึงทุกวันนี้ ....ขอแนะนำให้ผู้อ่านดูคลิปจากรายการ "เจาะข่าวตื้น" ด้านล่าง จะได้ตัวเลขหนี้ที่แต่ละคนต้องแบกรับมาถึงทุกวันนี้
บันทึกหน้า... มาว่ากันถึงสาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้งครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น