วันพฤหัสบดีที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๖) "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" กับ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"

หากท่านผู้อ่านสังเกตให้ดี ร้อยละ ๘๐ ของคนไทย รวมถึงสื่อสารมวลชน จะพูดคำว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" แทนที่จะพูดคำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"



ทำไมต้องมีคำว่า "ของ" จำเป็นด้วยหรือ? คือคำถามที่ผุดในใจของทุกคนที่หันมาศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง (รวมถึงผู้เขียนด้วย) ... ผู้ฟังที่อัตตามากก็จะดันทุรังพูดไป บอกว่า "ไม่สำคัญ" แล้วสอนสั่งให้เราฟังทันทีว่า "อยู่ที่ใจ"  แต่หากเป็นผู้ฟังที่เปิดใจ ฟัง และรักการเรียนรู้ จะรับรู้และยอมรับภายหลังว่า เราควรใช้คำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ให้ถูกต้อง เพื่อแสดงความเคารพเทิดทูลและระลึกถึงในหลวง ร.๙ อันเป็นที่รักและบูชายิ่งของปวงชนชาวไทย

หลังจากมีพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ที่ทรงเป็นกังวลต่อความเข้าใจไม่ถูกต้องต่อ "เศรษฐกิจพอเพียง" (ดังที่ผู้เขียนได้เล่าถึงที่นี่) คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ ดร.สิปนนท์ เกตุทัต (ท่านนี้เป็นนักฟิสิกส์) จึงได้ริเริ่มชักชวนผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์และสาขาต่างๆ มาร่วมกันศึกษากลั่นกรองพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทในโอกาสต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง ใช้เวลา ๖ เดือน จึงสามารถสรุปเป็นบทความชื่อ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ดังนี้

เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี

หลังจากคณะทำงานได้กลั่นกรองเป็นบทความ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" แล้ว ศสช. ได้ทำหนังสือราชการถึงราชเลขาธิการ เพื่อขอกราบบังคมทูลขอให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและขอพระบรมราชานุญาตเผยแพร่ ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒  ซึ่งต่อมาทรงได้แก้ไขและโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรมราชานุญาตในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๒  ดังสำเนาหนังสือนี้


โปรดสังเกตว่า  ในสำเนาหนังสือนี้ ทรงใช้คำว่า "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"  ดังนั้น เราต้องใช้คำว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ Philosophy of Sufficiency Economy ตามที่ทรงมีพระบรมราชานุญาต

ขอให้ผู้อ่านช่วยบอกต่อไปจะเป็นการสมควรยิ่ง ... ขอบพระคุณครับ

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๕) "เศรษฐกิจพอพียง" กับ "ความพอเพียง"

ก่อนจะจบบันทึกที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปการศึกษาพระราชดำรัสวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ถึงสิ่งที่ทรงแนะนำเพื่อก้ไขและป้องกันวิกฤตเศรษฐกิจพ ดังนี้ว่า

  • ให้ทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" สัก ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ภาษาฝรั่งเรียกว่า "Self-Sufficient Economy" 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ตรงข้ามกับ "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" ซึ่งฝรั่งเรียกว่า "Trade Economy"
  • คำว่า "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ไม่ใช่ "เศรษฐกิจพอเพียง" 
  • "เศษฐกิจพอเพียง" เป็นคำใหม่ ไม่มีในบัญญัติของฝรั่ง ทรงใช้คำว่า Suffiency Economy 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ การทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามยุคสมัย  เช่น  ทรงแนะให้ใช้ประมาณ ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน กล่าวคือ ผลิตและใช้เอง ๑ ส่วน แลกเปลี่ยนกับคนอื่นสัก ๓ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" จะทำให้ คนไทย "พออยู่ พอกิน" มีอยู่ มีกิน ไม่เดือดร้อน 
หลังจากในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ต่างสนใจ เรียนรู้ และนำมาใช้กับตน ๆ  สื่อต่าง ๆ ต่างช่วยกันขยายเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง  แต่ผ่านไป ๑ ปี แทนที่จะเข้าใจและน้อมนำไปใช้อย่างถูกต้อง แต่คนไทยส่วนใหญ่กับไม่เข้าใจ รวมไปถึงดอกเตอร์ที่มีหน้าที่ขยายทำความเข้าใจกลับเข้าใจผิด จึงเป็นที่มาให้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสถึง "เศษรฐกิจพอเพียง" อีกครั้งในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ดังคลิปนี้  


เว็บไซต์ของสำนักข่าวเจ้าพระยาได้ถอดเทปและเผยแพร่ไว้ที่นี่ ขอคุณความดีนี้จงตอบแทนให้ท่านเจริญ ๆ

ขออัญเชิญพระราชดำรัส ในหลวง ร.๙ วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ดังต่อไปนี้

ต้องพูดเข้าในเรื่องเลย เพราะหนักใจว่า แม้แต่คนที่เป็นดอกเตอร์ก็ไม่เข้าใจ อาจจะพูดไม่ชัด แต่เมื่อกลับไปดูที่เขียนจากที่พูด ก็ชัดแล้วว่าควรจะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงไม่ต้องทั้งหมด เพียงครึ่งหนึ่งก็ใช้ได้ แม้จะเป็นเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ หมายความว่าวิธีปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ไม่ต้องทำทั้งหมด และขอเติมว่าถ้าทำทั้งหมดก็จะทำไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่ง หรือแม้หมู่บ้านหนึ่งทำเศรษฐกิจพอเพียงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็จะเป็นการถอยหลังถึงสมัยหิน สมัยคนอยู่ในอุโมงค์หรือในถ้ำ ซึ่งไม่ต้องอาศัยหมู่อื่น เพราะว่าหมู่อื่นก็เป็นศัตรูทั้งนั้น ตีกัน ไม่ใช่ร่วมมือกัน จึงต้องทำเศรษฐกิจพอเพียง แต่ละคนต้องหาที่อยู่ ก็หาอุโมงค์หาถ้ำ ต้องหาอาหาร คือไปเด็ดผลไม้หรือใบไม้ตามที่มี หรือไปใช้อาวุธที่ได้สร้างได้ประดิษฐ์เอง ไปล่าสัตว์ กลุ่มที่อยู่ในอุโมงค์ในถ้ำนั้น ก็มีเศรษฐกิจพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ปฏิบัติได้
แต่ต่อมาเมื่อออกจากถ้ำ ในสมัยต่อมา ที่สร้างบ้านเป็นที่อาศัย ก็เริ่มจะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหลือประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะว่ามีคนไปผ่านมา ซึ่งไม่ได้เป็นศัตรู เอาอะไร ๆ มาแลกเปลี่ยนกัน เช่นคนที่มาจากไกล ผ่านมามีหนังสัตว์ที่เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องนุ่งห่ม ก็ซื้อด้วยการแลกเปลี่ยนด้วยอาหาร เช่นปลาที่จับได้ในบึง อย่างนี้ก็ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เวลาก้าวล่วงมาอีก มาถึงปัจจุบันนี้ ถ้าคนที่อยู่ทั้งข้างนอกทั้งข้างในนี้ จะปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง 100 เปอร์เซ็นต์ คงทำไม่ได้ และถ้าสำรวจตัวเอง หรือเศรษกิจของตัวเอง ก็เข้าใจว่า จะเห็นได้ว่าไม่ได้ทำ เข้าใจว่าทำได้ไม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงเศษหนึ่งส่วนสี่ เพราะว่าสิ่งที่ตนผลิตหรือทำ ส่วนใหญ่ก็เอาไปแลกกับของอื่นที่มีความจำเป็น ฉะนั้นจึงพูดว่าเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็ควรจะพอและทำได้ อันนี้เป็นข้อหนึ่ง ที่จะอธิบายคำพูดที่พูดมาเมื่อปีที่แล้ว
คำว่าพอเพียงมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีความหมายกว้างออกไปอีก ไม่ได้หมายถึงการมีพอสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่มีความหมายว่าพอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ ถ้าใครได้มาอยู่ที่นี่ ในศาลานี้ เมื่อ เท่าไหร่ 20  24 ปี เมื่อปี 2517  2517 ถึง 2541 นี้ ก็ 24 ปี ใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกินพอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้น ก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน  จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้บางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจ หรือระบบพอเพียง เมื่อปีที่แล้วตอนที่พูดพอเพียง แปลในใจ แล้วก็ได้พูดออกมาด้วย ว่าจะแปลเป็น Self-sufficiency(พึ่งตนเอง) ถึงได้บอกว่าพอเพียงแก่ตนเอง แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ กว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรที่มีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง (พึ่งตนเอง)
บางคนแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี่ มีคนบางคนพูดว่าชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็ต้องเสียหลักหกล้มหรือล้มลง อันนี้ก็เป็นความคิดที่อาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่า เป็นตามที่เขาเรียกว่ายืนบนขาของตัวเอง (ซึ่งแปลว่าพึ่งตนเอง) หมายความว่าสองขาของเรานี่ ยืนบนพื้น ให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาของคนอื่นมาใช้สำหรับยืน แต่พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอก็เพียงพอ เพียงนี้ก็พอดังนั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด – อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ – มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง
เคยพูดว่า ท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าอยากจะไปนั่งบนเก้าอี้ของผู้ที่อยู่ข้างๆ เช่นนี้ไม่พอเพียง และทำไม่ได้ ถ้าอยากนั่งอย่างนั้นก็เดือดร้อนกันแน่ เพราะว่าอึดอัด จะทำให้ทะเลาะกัน เมื่อมีการทะเลาะกัน ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ฉะนั้นควรที่จะปฏิบัติสิ่งที่พอเพียง ทางความคิดก็เหมือนกัน ไม่ใช่ทางกายเท่านั้น ถ้ามีใครมีความคิดอย่างหนึ่ง และต้องการบังคับให้คนอื่นคิดอย่างเดียวกับตัว ซึ่งอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูก ก็ไม่สมควรทำ ปฏิบัติอย่างนี้ก็ไม่ใช่การปฏิบัติแบบพอเพียง ความพอเพียงในความคิดก็คือ แสดงความคิดของตัว ความเห็นของตัว และปล่อยให้อีกคนพูดบ้าง และมาพิจารณาว่าที่เขาพูด กับที่เราพูด อันไหนพอเพียง อันไหนเข้าเรื่อง ถ้าไม่เข้าเรื่องก็แก้ไข เพราะว่าถ้าพูดกันโดยที่ไม่รู้เรื่องกัน ก็จะกลายเป็นการทะเลาะกัน จากการทะเลาะด้วยวาจาก็กลายเป็นการทะเลาะด้วยกาย ซึ่งในที่สุดก็นำมาสู่ความเสียหาย เสียหายแก่ผู้ที่เป็นตัวละครทั้งสองคน ถ้าเป็นหมู่ก็เลยเป็นการตีกันอย่างรุนแรงได้ ซึ่งจะทำให้คนอื่นอีกมากเดือดร้อน
ฉะนั้น ความพอเพียงนี้ก็แปลว่า ความพอประมาณและความมีเหตุผล ที่พูดอย่างนี้ก็เพราะต้องอธิบายคำว่าพอเพียงที่คนไม่เข้าใจเมื่อปีที่แล้ว และไม่เข้าใจจนกระทั่งถึงประมาณ 2-3 อาทิตย์นี้ ที่แปลกที่สุด คนที่มาพูดก็นึกว่าเขาเข้าใจ เพราะว่าเป็นคนที่เคยได้คุยด้วยมาก และก็คุยในเรื่องพรรณอย่างนี้ เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความหมายของคำต่างๆ แต่ก็ยังไม่วาย ฉะนั้นจึงต้องอธิบายอย่างกว้างขวางพอใช้ ไม่ทราบว่าวันนี้พูดเข้าใจหรือไม่ ถ้าพูดไม่เข้าใจวันนี้อาจจะต้องอธิบายต่อปีหน้า (เสียงหัวเราะ) เพราะน่าเบื่อถ้าต้องอธิบายต่อไปอย่างนี้ คนที่อยู่ต่อหน้านี่ก็ชักจะง่วง (เสียงหัวเราะ) แต่ว่านี่ก็ได้อธิบาย ที่ท่านทั้งหลายหัวเราะ ก็คงแปลว่าท่านก็เริ่มเข้าใจนิดหน่อย(เสียงหัวเราะ) ก็ดีแล้ว เข้าใจนิดหน่อย ดีกว่าไม่เข้าใจ
มีผู้นำเสนอเป็นแผนผังดังภาพด้านล่าง และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวเจ้าพระยา (ดูได้ที่นี่) ผู้เขียนนำมาวาดใหม่ ให้มีสีต่างๆ ให้ดูง่ายขึ้น 



ขออัญเชิญพระราชดำรัสในส่วนที่ให้ความหมายของ "ความพอเพียง" อย่างชัดเจนอีกครั้ง ดังนี้ 

คนเราถ้าพอในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อย ก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง

และจากการอ่านวนเวียนหลายรอบและพิจารณาอย่างไคร่ครวญแล้ว ผู้เขียนได้สรุปกับตนเองดังนี้ว่า

  • คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่ทรงตรัสในปี ๒๕๔๐ ก็คือ "พอมีพอกิน" ที่ทรงมีพระราชดำรัสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ (๔๓ ปีที่แล้ว) (๒๔ ปีก่อนวิกฤตเศษรษฐกิจ)
  • สมัยก่อนเราพอมีพอกิน แต่มาสมัยนี้คนไทยไม่พอมีพอกินเสียแล้ว (บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ๆ ) จึงต้องมีนโยบายให้ทำเศรษฐกิจพอเพียง 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" (Sufficiency Economy) อยู่ตรงกลางระหว่าง "เศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง" (Self-Sufficiency Economy) กับ "เศรษฐกิจแบบทุนนิยม" (Trade Economy) 
  • คำว่า "ความพอเพียง" หรือ "พอเพียง" มีความหมายกว้างกว่าคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" 
  • คำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องกายภาพ เรื่องปากท้อง ปัจจัยสี่ ส่วนคำว่า "พอเพียง" หรือ "ความพอเพียง" มีความหมายกว้างออกไปครอบคลุมความคิดและการกระทำ พูดจาก็ต้องพอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง 
  • "ความพอเพียง" หมายถึง ความพอประมาณและมีเหตุมีผล 

หลังจากได้ฟังพระราชดำรัสนี้แล้ว ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและรวบรวมพระราชดำรัสเกี่ยวกับ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ใช้เวลา ๖ เดือน ก่อนนำขึ้นถวายให้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยและบรมราชานุญาตเผยแพร่ต่อประชาชนคนไทยในเวลาต่อมา

วันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๔) พระราชทานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เงินบาทอ่อนค่าลงไปสูงสุดถึง ๕๖ บาท GDP ติดลบทันทีในปีนั้น ส่งผลกระทบต่อคนชนชั้นกลางถึงสูงในสังคม (Elite : ผู้รากมากดี ผู้มีอันจะกิน) ลูกจ้างคนงานที่มาทำงานในเมืองแม้จะถูกปลดจากงาน แต่ก็ยังมีบ้านให้กลับไปทำไร่ทำสวน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเดือดร้อนมากนัก ...

ในวิกฤตย่อมมีโอกาส "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หรือ วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๔๐ ก่อโอกาสดีของคนไทยใน ๒ ประการ ได้แก่

๑) ดีสำหรับการส่งสินค้าเกษตรไทยไปขายต่างประเทศ สินค้าไทยราคาถูกกว่าคู่แข่งทันที คำสั่งซื้อจึงเพิ่มขึ้น ดุลการค้าเราจึงค่อย ๆ ดีขึ้น ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนสามารถนำเงินไปใช้หนี้ที่กู้มาค้ำประกันหนี้จำนวน ๑.๗๒ หมื่นล้าน ได้ก่อนกำหนด (อ่านบันทึกตอนที่แล้ว "ฟองสบู่แตก") .... แต่หนี้เงินต้นเดิมจำนวน ๑.๑๔ แสนล้านยังคงอยู่ (ใช้เงินต้นไปไม่เท่าไหร่) ซึ่งคนไทยรู้เรื่องนี้น้อยมาก  แถมรัฐบาลประชานิยม ยังถือโอกาสยกเอาการปลดหนี้ IMF ซึ่งต้องทำตามตารางเวลาที่ IMF กำหนดว่าจะต้องใช้ภายใน ๓๔ เดือน มาสร้างภาพเอาดีใส่ตัว จนกลายเป็นขวัญใจรากหญ้า  แต่ต่อมาก็ต้องหนีคดีทุจริตออกจากประเทศไปจนถึงวันนี้

๒) ดีที่มีการตื่นตัวของสังคมไทย ประชาชนคนไทยครั้งใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และสนใจน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการดำเนินชีวิต

อย่างไรก็ดี ...  หลังจากที่ในหลวง ร.๙ ทรงมีพระราชดำรัสให้ความหมายของ "เศรษฐกิจพอเพียง" ในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ผ่านไปหนึ่งปี คนไทยก็ยังไม่เข้าใจในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ควรจะรู้ก็ยังเข้าใจผิด  วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ทรงมีพระราชดำรัสอธิบายครั้ง และภายหลังจึงเกิดทีมทำงานเพื่อสังเคราะห์ร่วมรวมและถอดความ แล้วนำขึ้นถวายขอให้มีพระบรมราชวินิจฉัยและขอพระบรมราชานุญาตนำไปเผยแพร่ขยายให้คนไทยเข้าใจได้ตรงกันต่อไป

นิสิตที่เรียนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทุกคน ควรจะได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวง ร.๙ เกี่ยวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง"  ที่ตรัสต่อพสกนิกรชาวไทยจำนวน ๒๐,๐๐๙ คนที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลเนื่องในวรโรกาสครบรอบพระชนพรรษา (๗๑ พรรษา) ในค่ำวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ตามลิงค์ด้านล่าง หรือหากท่านใดไม่ชอบฟัง-ดู ชอบเรียนรู้ด้วยการอ่านเชิญที่นี่



หากผู้อ่านที่ศึกษาพระราชดำรัสนี้ ท่านจะต้องอยากฟังหรืออ่านพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ แน่นอน ผู้เขียนสืบค้นไม่พบคลิปฉบับเต็ม พบเฉพาะที่มีการถอดเทป (ที่นี่) ดังนั้นผู้เขียนจึงขออันเชิญเอาพระราชดำรัสตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มาให้อ่านเป็นตอน ๆ  ก่อนจะสรุปความเข้าใจของผู้เขียนเพื่อเป็นเงื่อนไขหรือประเด็นให้นิสิตผู้อ่านได้เห็นและเรียนรู้แลกเปลี่ยนกัน

ต้นเหตุของวิกฤตการณ์เห็นได้ตั้งแต่ ๔๐ ปีแล้ว

ขออัญเชิญพระราชดำรัส วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ ดังนี้

...ดังนี้ก็ทำให้คิดว่า วิกฤตการณ์ เกิดขึ้นมาอย่างไร เราเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์ และเราก็ได้ชื่อว่า กำลังก้าวหน้าไปสู่ เมืองที่เป็น มหาอำนาจทางการค้า ทำไมเกิดมีวิกฤตการณ์ ความจริงวิกฤตการณ์นี้ เห็นได้มานานแล้ว สี่สิบกว่าปีมาแล้ว แต่ไม่รู้ตัว เมื่อ 40 กว่าปี มีผู้หนึ่งเป็นข้าราชการ ชั้นผู้น้อย มาขอเงิน ที่จริงก็ได้เคยให้ เงินเขาเล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่อยๆ เขาบอกไม่พอ เขาก็ขอยืมเงิน ขอกู้เงิน เมื่อเขาขอกู้เงิน ก็บอกว่า เอ้าให้ แต่ขอให้เขาทำบัญชี บัญชีรายรับ บัญชีรายจ่าย รายรับก็คือ เงินเดือนของเขา ซึ่งเป็นข้าราชการ ชั้นผู้น้อย และเงินที่อุดหนุนเขา ส่วนรายจ่าย ก็เป็นของที่ใช้ ในครอบครัว แต่มีสิ่งหนึ่ง ที่ครั้งนั้นไม่เข้าใจ ไม่เคยเห็น คือไม่เคยทราบ มีรายการหนึ่ง บอกว่าค่าแชร์ แล้วอีกตอนหนึ่ง ก็มีค่าแชร์อีก
ถามเขาว่า แชร์คืออะไร เขาก็อธิบายว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ “เจ้ามือ” จ่ายให้เขา ทุกเดือน เมื่อเดือดร้อน ก็ขอ “ประมูลแชร์” ได้ แต่การประมูลนี้ ก็หมายความว่า… สมมติว่า แชร์หนึ่ง ต้องเสียเดือนละ ร้อยบาท เขาก็จะได้รับ คล้ายๆ เงินกู้ ควรจะได้เป็น เงินพันสองร้อยบาท ต่อปีหนึ่ง โดยให้ร้อยบาท ต่อเดือน ก็ควรจะดี แต่เขาไม่ได้รับ พันสองร้อยบาท เขาได้ราวๆ แปดร้อยบาท หรือเจ็ดร้อยบาท เท่านั้น แล้วแต่จะประมูลได้ คนที่มีเงิน เขาไม่ประมูล เขาทิ้งไว้ ในแชร์นั้น ถึงเวลา เขาก็จะได้เงินกลับ คือมาเต็มเม็ดเต็มหน่วย บวกดอกเบี้ย ถามเขาว่า ทำอย่างนี้ สามารถที่จะหมุนเงิน ได้หรือเปล่า แล้วก็ถามเขาว่า ทำไมจ่ายค่าแชร์แล้ว ยังจ่ายแชร์ ซ้ำอีกทีหนึ่ง เขาบอกว่า สำหรับจ่ายแชร์เดือนนั้น เขาต้องออกมา ทำแชร์สัปดาห์ คือ 7  วัน  7  วันนี้เขาก็เปียแชร์มา สำหรับไปใช้ ค่าแชร์เดือน
           เขาก็นึกว่า เขาฉลาด ความจริงแชร์นี่ ไม่ใช่เฉพาะ คนนี้เท่านั้น แต่มีทั่วไปทุกแห่ง ทั้งทางราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม ก็มี ทุกบริษัท ทุกส่วน แม้จะเอกชน เขาก็มีแชร์ ได้บอก ให้เขาเลิกแชร์ เลิกแล้ว ให้ทำบัญชี ต่อไป ทีหลังเขาทำบัญชีมา เขาไม่ขาดทุนแล้ว เขาสามารถ ที่จะมีเงินพอใช้ เพราะบอกให้เขาทราบว่า มีเงินเดือนเท่าไหร่ จะต้องใช้ ภายในเงินเดือนของเขา การทำแชร์นี้ เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงิน ที่นำมาใช้ในสิ่ง ที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับ จะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ...

จากพระราชดำรัสนี้ ได้เรียนรู้ดังนี้ว่า

  • สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตคือ การเป็นหนี้ การกู้หนี้  การก่อหนี้ที่นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้ 
  • การเล่นแชร์ เปียแชร์ ซึ่งนิยมเล่นกันทั่วไป เป็นการกู้เงิน กู้หนี้ 
  • สิ่งที่จะช่วยให้ไม่เกิดวิกฤตหรือแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจได้คือ ให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ทำให้รู้ว่ารายจ่ายใดไม่ดี (เช่น การเล่นแชร์) แล้วลดหรือละ ให้ใช้จ่ายเท่าที่หาได้ 

บุคคลผู้สมควรได้รับความช่วยเหลือให้เงินทุน

ขออัญเชิญพระราชดำรัส วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ อีกตอนหนึ่ง ดังนี้

...มีอีกรายหนึ่ง ในระยะนั้น กว่า 40  ปี ก็เข้ามาบอก ขอกู้เงิน เขาขอกู้เงิน สามหมื่นบาท ถามว่า เอาไปทำอะไร บอกว่าจะไปซื้อเครื่องมือ สำหรับตัดเย็บผ้า ให้ภรรยาทำร้าน ก็ตกลงให้เขา แล้วเขาจะคืนมาเมื่อไหร่ ก็แล้วแต่เขา ในที่สุด เมื่อเขาตั้งร้านแล้ว เขาก็เอาเงินมาคืน ทุกเดือนสม่ำเสมอ จนกระทั่งหมด จำนวนที่ได้ให้กู้ ด้วยความฉลาด ด้วยความซื่อสัตย์ของเขา รู้ว่ากิจการนี้ จะทำให้มีกำไรได้ สามารถที่จะคืนเงิน มาให้ครบจำนวนที่กู้ และต่อไป ก็เป็นกำไรทั้งนั้น ก็ชมเขาว่าดี คือคนนี้ เขาเป็นคนซื่อสัตย์ และในที่สุด ก็มาเป็นคนที่ช่วย ในด้านช่างฝีมือ และได้รับใช้ อย่างซื่อสัตย์ จนกระทั่ง ถึงสิ้นอายุ...

จากพระราชดำรัสนี้ ได้เรียนรู้อย่างนี้ว่า

  • การกู้ยืมเงินมาใช้ในสิ่งที่จทำให้เกิดรายได้ (ลงทุน) นั้นสามารถทำได้ เช่น ตัวอย่างผู้นี้ที่กู้ไปซื้อจักรเย็บผ้าเพื่อเปิดร้านรับเย็บผ้า 
  • ผู้ที่สมควรได้รับโอกาส ให้กู้ยืมนั้น เป็นคนซื่อสัตย์ ขยัน มีสัจจะ และมีความสม่ำเสมอ 
สาเหตุของวิกฤตการณ์มาจากกู้เงินมาใช้ในสิ่งที่ไม่ก่อรายได้


มีอีกรายหนึ่ง เขามาวันหนึ่ง เอาหัวเข็มขัดมาให้ เราถามว่าหัวเข็มขัดนี่ เอามาให้ทำไม ในที่สุดก็ทราบว่า เขาขอกู้เงิน อันนี้ ก็เป็นสิ่งที่ประหลาด เพราะว่า เขาไม่มีเงินใช้ ทำไมไปซื้อหัวเข็มขัด ซึ่งก็ราคา ไม่ค่อยถูกนัก เอามาให้ ก็เลยบอกเขาว่า ไม่ให้ไปหาเงินที่อื่น เพราะว่าทราบดีว่า ถ้าให้เขา เขาจะไม่มีเอามาใช้คืน เงินที่จะให้เขาก็มี แต่ถ้าให้เงินเขาแล้ว เขาก็เอาไปใช้ อย่างอีลุ่ยฉุยแฉก และไม่มีผล อย่างผู้ที่ขอกู้ สำหรับทำอาชีพ จะกลายเป็น การทำให้คน ยิ่งเสียใหญ่ อันนี้ เป็นสิ่งที่ จะต้องสอนว่า กู้เงิน เงินนั้นจะต้อง ให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับ ไปเล่น ไปทำอะไร ที่ไม่เกิดประโยชน์
อันนี้ ก็มีอีกคนหนึ่ง เขาจะแต่งงาน และขอกู้เงิน นึกว่าคนนั้น เขาก็ทำงานมาดี ก็น่าจะให้ เหมือนเป็นรางวัลเขา ก็ให้เงินเขาหมื่นบาท สมัยโน้นหมื่นบาท ไม่ใช่น้อย หมื่นบาท เพื่อจะไปจัดงานแต่งงานของเขา ตกลงเขาได้แต่งงาน เขายังไม่ได้คืนเงิน ก็ไม่ค่อยถืออะไร เพราะว่าเขาแต่งงาน เขามีความสุข ก็ดีไป เขาจะได้ทำงานได้ดี แต่หารู้ไม่ว่า สักปีสองปีภายหลัง เขามาขอเงินสามหมื่นบาท เลยบอก เอ๊ะ! สามหมื่นบาท ไปทำอะไร เขาบอกว่า เมื่อแต่งงาน เงินไม่พอ เขาจึงไปกู้เงินที่อื่นมา ใช้หนี้ไม่ได้ และต้องเสียดอกเบี้ย จนกระทั่ง เงินที่ใช้หมดแล้ว
ต้องใช้ดอกเบี้ย จำนวนทั้งหมด ทั้งต้น และดอกนั้น ก็คือสามหมื่นบาท ไม่นับเงิน หนึ่งหมื่นบาท ที่เราให้เขาไปแล้ว หมายความว่า ไปติดหนี้นุงนัง หนี้ที่ไม่สามารถ ที่จะใช้คืนได้ เลยไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะได้ความว่า ถ้าไม่ได้อย่างนี้ เขาจะฆ่าตัวตาม เพราะไม่มีทางออก เงินเดือนเขาก็ไม่พอ ที่จะไปใช้หนี้ ดอกเบี้ย ก็จะเพิ่มขึ้นทุกที ทุกครั้ง ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็ต้องติด อีกต่อไป ทบต้น ก็เลยเห็นว่า เมื่อครั้งแรก เขาขอยืมเงิน สำหรับแต่งงาน น่าจะมีความสุข กลับมีความทุกข์ ก็เลยคิดว่าไหนๆ ให้ไปหมื่นบาทแล้ว ก็ควรให้ครบ ที่จะไปใช้หนี้ได้ ลงท้าย เขาก็สามารถ มีชีวิตต่อไป และทำงานได้ แต่คงเป็นบทเรียนที่ดี อันนี้ ก็หมายความว่า เขาขอเรา เราก็ให้ เราก็ได้ ช่วยชีวิตเขา
มีอีกรายหนึ่งมา เป็นคนข้างนอก เขามาบอกว่า ลูกของเขาเจ็บตา ถ้าไม่ทำอะไร ตาจะบอด เราก็สงสารเขา ก็ให้เงินเขา สามหมื่นบาทเหมือนกัน ลงท้ายก็ไม่ทราบว่า ลูกเขาได้ไปผ่าตัดตา ได้ผลดีอย่างไร แต่วันหนึ่ง ก็โผล่มาอีกที บอกว่าเรียบร้อยแล้ว ลูกนั้นเรียบร้อยแล้ว แต่ก็ขอบ้าน ขอบ้านอยู่ แล้วเขาก็ไปสืบเสร็จว่า บ้านนั้นว่างแล้ว ขออยู่ฟรี ก็เลยเลิกเลย เพราะว่าเขา ควรจะมีฐานะ พอสมควร ที่จะ มีบ้านอยู่ บ้านที่ขอนี้ เป็นบ้านที่ นับว่าใหญ่ ถ้าให้บ้านตามที่เขาขอ เขาก็จะต้องมาขอ ค่าใช้จ่าย สำหรับในบ้านอีก เมื่อบ้านใหญ่ ก็คงมีญาติ มีเพื่อน มาอาศัยบ้านอีกที ก็ต้องเสียเงินอีก เลยบอกไม่ให้ ที่พูดไม่ให้นั้น ก็เรียกว่า มีความเดือดร้อนเหมือนกัน ที่จะพูดอย่างนั้น เพราะว่า จะว่าสงสาร ก็สงสาร เวลาใครมาขออะไร แล้วไม่สามารถที่จะให้ มันก็ไม่ค่อยสบายใจ ในที่สุดก็เงียบไป เรื่องเหล่านี้ ที่เล่าให้ฟัง ก็เพราะว่า มันเป็นต้นเหตุของ วิกฤตการณ์ปัจจุบัน

จากพระราชดำรัสนี้ทั้งสามย่อหน้า ด้เรียนรู้ ดังนี้ว่า 
  • ต้นเหตุของวิกฤตการณ์คือ การใช้จ่ายเกินตัว และการกู้เงินมาใช้ในสิ่งที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ เช่น การกู้หนี้มาจัดงานแต่งงาน (อีสานบ้านผม กู้หนี้มาบวชลูกชาย (บวช ๗ วัน) ว่ากันว่าต้องใช้เงินหลักแสน) ฯลฯ  ในข้อนี้น่าจะเรียกได้ว่า ขาดวินัยทางการเงินต่อตนเอง
  • ต้นเหตุของวิกฤตการณ์ อีกประการหนึ่งคือ การสร้างหนี้แต่ไม่คิดจะใช้หนี้ ไม่มีวินัยทางการเงินต่อคนอื่น เช่น ยืมเงินไปใช้ในสิ่งที่จำเป็นแล้วก็ไม่คิดจะใช้หนี้ 
  • ต้นเหตุของวิกฤตอย่างหนึ่งคือ การไม่พึ่งตนเอง ไม่พยายามที่จะพึ่งตนเอง ดังเช่นกรณีคนที่มาขอบ้านอยู่ ทั้งที่ตนเองก็มีฐานะพอสมควรจะช่วยตนเองได้ 
  • คนรวยควรจะมีปัญญาในการช่วยเหลือผู้ที่อ่อนด้อยกว่า แม้จะสงสารแต่การให้ที่ไม่สมควรจะนำปัญหาอื่น ๆ ตามมา  แต่ในบางกรณีก็จำเป็นต้องให้เพื่อช่วยให้มีชีวิตมีโอกาสต่อไป 
สาเหตุของวิกฤตการณ์ภาคอุตสาหกรรม

ในภาคอุตสาหกรรม ในหลวง ร.๙ ทรงมีพระราชดำรัส ดังนี้

                ...ต้องเล่านิทาน อีกเรื่องหนึ่ง คือ ไปทางชลบุรี ครั้งหนึ่ง นี่ก็ หลายสิบปีมาแล้ว มีพ่อค้าคนหนึ่ง เขาบอกว่า เขาทำโรงงาน สำหรับทำ สับปะรดกระป๋อง เขาลงทุนเป็นล้าน จำไม่ได้แล้ว กี่ล้าน เพื่อสร้างโรงงาน การลงทุนมากอย่างนั้น บอกให้เขาทราบว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะว่าเคยทำ โรงงานเล็กๆ ที่ทางภาคเหนือ ใช้เงินสามแสนบาท เพื่อที่จะเอาผลิตผล ของชาวบ้านชาว เขามาใส่กระป๋อง แล้วขาย ก็ได้ผล เป็นโรงงานเล็กๆ บอกว่า ที่เขาลงทุนเป็นล้าน รู้สึกว่าเสี่ยง เขาบอกว่า ต้องทำอย่างนั้น เขาก็ลงทุน ทำไปทำมา สับปะรดที่ อำเภอบ้านบึง ทางชลบุรี ก็มีไม่พอ เมื่อมีไม่พอ ต้องไปสั่งสับปะรด มาจากปราณบุรี สับปะรดจากปราณบุรี ต้องขนส่งมา ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำไปทำมา โรงงานก็ล้ม อย่างนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ทำโครงการอะไร ก็จะต้อง นึกถึงขนาดที่เหมาะสม กับที่เรียกว่า อัตภาพ หรือกับสิ่งแวดล้อม

               นี่พูดไปพูดมา ยังมีอีกรายการหนึ่ง ที่ลำพูน มีการตั้งโรงงาน สำหรับแช่แข็งผลผลิต ของชาวไร่ ได้ไปเยี่ยม เขาบ่นว่า ข้าวโพดที่เขาใช้ สำหรับแช่แข็ง คุณภาพไม่ค่อยดี ก็เลยซื้อ ในราคาแพงไม่ได้ ตอนนั้น ก็ยังไม่ทราบว่า เขาจะมีอันเป็นไปอย่างไร ก็บอกเขาว่า นี่น่าจะส่งเสริม ด้านการเงิน ให้เกษตรกร ที่ปลูกข้าวโพด ให้ได้ข้าวโพด ที่มีคุณภาพดี โรงงานจะเจริญ เขาบอกให้ไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพไม่ดี อันนี้ก็ เป็นปัญหาโลกแตก ถ้าไม่ให้ ราคาดี หรือไม่สนับสนุนเกษตรกร ในการเพาะปลูก ก็จะไม่ได้ รับประโยชน์ จะไม่ได้คุณภาพ จะได้ข้าวโพด ที่ฟันหลอ ซึ่งเขาก็บอกว่า ต้องทิ้ง เพราะว่าเครื่องจักรของเขา ต้องมีข้าวโพด ที่ขนาดเหมาะสม อย่างนี้โรงงานนั้น – ความจริง ไม่ได้แช่งเขา – แต่นึกในใจว่า โรงงานนี้อยู่ไม่ได้ แล้วในที่สุดก็จริงๆ ก็ล้ม อาคารอะไรต่างๆ ก็ยังอยู่เดี๋ยวนี้ แต่ไม่มีใคร เป็นเจ้าของ เกะกะอยู่


ฉะนั้น การที่จะทำ โครงการอะไร จะต้องทำ ด้วยความ รอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป คือบางคนเห็นว่า มีโอกาส ที่จะทำโครงการ อย่างโน้นอย่างนี้ และไม่ได้นึกถึงว่า ปัจจัยต่างๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่ง คือ ขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักร ที่สามารถ ที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ วัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถ ที่จะให้ค่าตอบแทน วัตถุดิบ แก่เกษตรกร เกษตรกร ก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าวัตถุดิบ สำหรับใช้ ในโรงงานนั้น เป็นวัตถุดิบ ที่ต้องนำมาจาก ระยะไกล หรือนำเข้า ก็จะยิ่งยาก เพราะว่า วัตถุดิบที่นำเข้านั้น ราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบนั้น มีบริบูรณ์ ราคาอาจจะ ต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของ ที่ผลิตจากโรงงาน ก็ขายยากเหมือนกัน เพราะว่ามีมาก จึงทำให้ ราคาตก นี่ก็เป็นกฎเกณฑ์ ที่ต้องมี
แต่ข้อสำคัญ ที่อยากจะพูดถึง คือ ถ้าเราทำโครงการ ที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก เช่น โรงงานกระป๋อง ที่ริเริ่มทำ ที่อำเภอฝางนั่น วันหนึ่ง เขาติดต่อมา บอกว่าน้ำท่วม น้ำเขาลงมา พัดโรงงานเสียหาย ก็เลยบอกว่า ไม่เป็นไร จะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม ที่ดินที่ตรงนั้น ก็ซื้อไว้แล้ว และเครื่องมือ เครื่องใช้ ก็ไม่เสียหมด ก็สนับสนุนเขา อีกสี่แสน คือ เป็นสี่แสน ไม่ใช่สามแสน ตามราคาเดิม เพราะว่า เป็นเวลาที่เงิน มีค่าน้อยลง ตั้งขึ้นมาใหม่ ต่อไป ก็ใช้งานได้ มีกำไร อันนี้เกิดขึ้น หลายปีมาแล้ว มาเร็วๆ นี้ โครงการต่างๆ โรงงาน เกิดขึ้นมามาก จนกระทั่งคนนึกว่า ประเทศไทยนี้ จะเป็นเสือตัวเล็กๆ แล้วก็เป็นเสือ ตัวโตขึ้น เราไปเห่อว่า จะเป็นเสือ

เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ทรงสรุปชัดตามตัวอักษรที่เน้นทึบ คือ 
  • การที่จะทำ โครงการอะไร จะต้องทำ ด้วยความ รอบคอบ และอย่าตาโตเกินไป 
  • ถ้าเราทำโครงการ ที่เหมาะสม ขนาดที่เหมาะสม อาจจะไม่ดูหรูหรา แต่จะไม่ล้ม หรือถ้ามีอันเป็นไป ก็ไม่เสียมาก 
วิธีแก้ไขวิกฤตการณ์

ในหลวง ร.๙ ทรงแนะนำแนวทางสำหรับการแก้ไขวิกฤตการณ์ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังจะเห็นได้

...อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุน ให้ปลูกข้าว ให้พอเพียง กับตัวเอง แต่ละครอบครัว เก็บเอาไว้ ในยุ้งเล็กๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่น กลับบอกว่า ไม่สมควร โดยเฉพาะ ในทางภาคอีสาน เขาบอกว่า ต้องปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อจะขาย อันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิ ขายได้ดี แต่เมื่อขายแล้ว จะบริโภคเอง ต้องซื้อ ต้องซื้อจากใคร ทุกคนก็ ปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานส่วนมาก เขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็น คนปลูกข้าวเหนียว เพราะ ประกาศโฆษณาว่า คนที่ปลูกข้าวเหนียว เป็นคนโง่ อันนี้ เป็นสิ่งที่สำคัญ เลยได้สนับสนุน บอกว่า ให้เขาปลูกข้าว บริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียว ก็ปลูกข้าวเหนียว เขาจะชอบปลูกข้าว อะไรก็ตาม ให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้ เพื่อที่จะ บริโภคตลอดปี ถ้ามีที่ ที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอ สำหรับปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย
ที่พูดอย่างนี้ ก็เพราะว่า ข้าวที่ปลูก สำหรับบริโภค ไม่ต้องเที่ยวรอบโลก ถ้าข้าวที่ซื้อมา ต้องเที่ยว อาจจะไม่ถึงรอบโลก แต่ก็ต้อง ข้ามจังหวัด หรืออาจจะ ข้ามประเทศ ค่าขนส่งนั้น ก็บวกเข้าไป ในราคาข้าว ตกลง เขาจะต้องขายข้าว ในราคาถูก เพราะว่าข้าวนั้น ต้องขนส่ง ไปสู่ต่างประเทศ ที่จะขายได้กำไร ก็ต้องบวกค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็บวกเข้ามา ในราคาข้าว หมายความว่า ราคาข้าวของเกษตรกร จะถูกตัด เขาบอกว่า ขายข้าวหอมมะลิ ได้ราคาแพง จริง ตอนขายถึงผู้บริโภค ในต่างประเทศ แต่ต้นทาง ก็ไม่ได้ ค่าตอบแทนมากนัก และยังต้องไป ซื้อข้าวบริโภค ซึ่งจะแพงกว่า เพราะว่าจะต้อง ขนส่งมา
ในข้อนี้ ได้ทราบดี เพราะเมื่อมี ภัยธรรมชาติ จะเป็นที่ไหนก็ตาม สมมติว่า เกิดที่เชียงราย มีเจ้าหน้าที่ ออกไปสงเคราะห์ แล้วก็ขอข้าว เพื่อไปแจก เราก็ซื้อข้าว ซื้อข้าว ในราคากรุงเทพฯ หมายความว่า ข้าวนั้นมาจาก เชียงราย เพราะเชียงราย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ขนส่งมาถึงกรุงเทพฯ ซื้อที่กรุงเทพฯ แล้วก็ส่ง ไปเชียงราย เสียค่าขนส่งเท่าไหร่ แท้จริง ไปซื้อที่เชียงรายได้ ซื้อที่กรุงเทพฯ นี่ แต่ให้เขาจ่าย ที่เชียงราย ข้าวนั้น ไม่ต้องเดินทาง แต่ว่าราคานั้น “เดินทาง” คือพ่อค้า เขานำข้าว มาในนาม – ในเอกสาร – นำเข้ากรุงเทพ” และเมื่อเราสั่งข้าว คำสั่งนั้น ต้องเดินทาง ไปเชียงราย แต่ไม่ใช่เอกสาร สั่งข้าวเท่านั้น ที่เดินทางไป เขายังเอาค่าขนส่งข้าว จากเชียงราย เข้ากรุงเทพฯ และค่าขนส่ง จากกรุงเทพฯ กลับไปเชียงราย บวกเข้าไปอีก ลงท้าย ต้องเสียราคาข้าวแพง ผู้ที่บริโภคข้าว ในภาคเหนือ ก็ต้องเสียราคาแพง ทางภาคใต้ ก็เช่นเดียวกัน นั่นใกล้หน่อย อย่างนราธิวาส ซื้อข้าวจากพัทลุง
สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องของ “เศรษฐกิจ แบบค้าขาย” ภาษาฝรั่ง เขาเรียก TRADE ECONOMY ไม่ใช่ “แบบพอเพียง” ซึ่ง ฝรั่งเรียก SELF-SUFFICIENT ECONOMY ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือ เศรษฐกิจแบบพอเพียง กับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน อย่างทุกวันนี้ เราเดือดร้อน สำหรับข้าว ก็เห็นชัด สำหรับสิ่งอื่น ประชาชนก็ต้องใช้ มีสิ่งของจำเป็น ที่จะใช้หลายอย่าง ที่เราทำได้ ในเมืองไทย แล้วก็สามารถ ที่จะเป็นสินค้า ส่งนอก ใช้เองด้วย และเป็นสินค้า ส่งนอกด้วย แต่ว่า สำหรับส่งนอกนั้น ก็มีพิธีการ ที่จะต้องผ่าน มากมาย ลงท้าย กำไรเกือบไม่เหลือ แต่ถ้าสามารถ ติดต่อโดยตรง ก็อย่าง กลองนี้ เขาติดต่อโดยตรง ก็ส่งไปลงเรือ ที่เรียกว่า CONTAINER ส่งไปเต็ม CONTAINER และค่าขนส่งนั้น ก็ไม่แพงนัก
ที่พูดกลับไปกลับมา ในเรื่องการค้า การบริโภค การผลิต และการขายนี้ ก็นึกว่า ท่านทั้งหลาย กำลังกลุ้มใจ ในวิกฤตการณ์ ตั้งแต่คนที่ มีเงินน้อย จนกระทั่ง คนที่มีเงินมาก ล้วนเดือดร้อน แต่ถ้าสามารถ ที่จะเปลี่ยนไป ทำให้กลับเป็น เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่ง ก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะ สามารถอยู่ได้ การแก้ไข อาจจะต้อง ใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมาก คนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถ ที่จะแก้ไขได้ ที่จริงในที่นี้ ก็มีนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็ควรจะเข้าใจ ที่พูดไป ดังนี้

ผู้เขียนขออันเชิญเอาเฉพาะพระราชดำรัสที่ได้ทำอักษรทึบไว้ อีกครั้ง ดังนี้ว่า

  • ที่ไหนทำแบบ SELF-SUFFICIENT ECONOMY คือ เศรษฐกิจแบบพอเพียง กับตัวเอง เราก็อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน อย่างทุกวันนี้ 
  • ให้กลับเป็น เศรษฐกิจแบบพอเพียง ไม่ต้องทั้งหมด แม้แค่ครึ่ง ก็ไม่ต้อง อาจจะสักเศษหนึ่งส่วนสี่ ก็จะ สามารถอยู่ได้ การแก้ไข อาจจะต้อง ใช้เวลา ไม่ใช่ง่าย ๆ โดยมาก คนก็ใจร้อน เพราะเดือดร้อน แต่ว่าถ้าทำ ตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ก็สามารถ ที่จะแก้ไขได้ 

จากการศึกษาพระราชดำรัสในวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐ และ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ อย่างรอบคอบ ขอสรุปความเข้าใจขอตนเองเกี่ยวกับวิธีแก้ไขและป้องกันวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ ดังนี้ครับ

  • ให้ทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" สัก ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ภาษาฝรั่งเรียกว่า "Self-Sufficient Economy" 
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ตรงข้ามกับ "เศรษฐกิจแบบค้าขาย" ซึ่งฝรั่งเรียกว่า "Trade Economy"
  • "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ไม่ใช่อันเดียวกับ "เศรษฐกิจพอเพียง" 
  • "เศษฐกิจพอเพียง" เป็นคำใหม่ ไม่มีในบัญญัติของฝรั่ง ทรงใช้คำว่า Suffiency Economy 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" คือ การทำ "เศรษฐกิจแบบพอเพียง" ในสัดส่วนที่เหมาะสมตามยุคสมัย  เช่น  ทรงแนะให้ใช้ประมาณ ๑ ส่วนใน ๔ ส่วน กล่าวคือ ผลิตและใช้เอง ๑ ส่วน แลกเปลี่ยนกับคนอื่นสัก ๓ ส่วน 
  • "เศรษฐกิจพอเพียง" จะทำให้ คนไทย "พออยู่ พอกิน" มีอยู่ มีกิน ไม่เดือดร้อน 

วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๓) ถอดบทเรียน ๒๓๔ กับสิ่งที่ทำให้เกิด "วิกฤตต้มยำกุ้ง"

จุดมุ่งหมายของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงประการแรก คือ ทำให้ผู้เรียนเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้องพร้อมๆ กับการน้อมนำเอาใช้กับการดำเนินชีวิตของตน ๆ  กิจกรรม "ถอดบทเรียนกับหลัก ๒ เงื่อนไข ๓ ห่วง ๔ มิติ" ที่กำหนดเป็นใบงานต่าง ๆ ในเอกสารประกอบการสอนจะทำให้เข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้องในเบื้องต้น ส่วนกิจกรรมการทำบัญชีรับ-จ่ายรายวัน และกิจกรรมทำโครงงาน "ธุรกิจพอเพียง" ที่กำหนดไว้ในกิจกรรมบังคับนั้น นิสิตจะได้ฝึก(ทดลอง) น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

บันทึกนี้ ผู้เขียนลองถอดบทเรียน เหตุการณ์ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว โดยใช้หลักคิดของเศรษฐกิจพอเพียง ... ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไร หากเขียนบันทึกแลกเปลี่ยนกันไว้น่าจะดี

๑) พิจาณา ๒ เงื่อนไข

  • เงื่อนไขคุณธรรม  
    • ไม่มีใครตั้งใจผิดเงื่อนไขคุณธรรมโดยจงใจให้ประเทศไทยเกิดวิกฤต...เว้นแต่จะมีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะมีการลอยตัวค่าเงินบาทแล้วไปแอบซื้อประกันความเสี่ยงไว้ หรือกักตุนเงินดอลลาร์ไว้แลกไทยบาททีหลัง 
    • อาจจะมีบ้างก็คือ ความโลภครอบงำทำให้มืดบอด ไปกู้เงินดอกเบี้ยงถูกจากต่างประเทศ มาปล่อยกู้ดอกเบี้ยแพง และอีกอย่างคือการเก็งกำไร ซื้อมาถูกไว้ขายแพง  โดยไม่ลังเลใจว่าใครจะเดือดร้อนตามมา ... แต่ที่สุดคงไม่มีใครจงใจอยากให้เกิดวิกฤต 
  • เงื่อนไขความรู้ 
    • ธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น มีความรู้ไม่เพียงพอที่จะจัดการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤต ไม่รู้ว่าควรจะปรับเปลี่ยนระบบแลกเปลี่ยนเงินของไทยให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของการไหลเข้าของเงินทุนต่างประเทศ 
    • นักธุรกิจและผู้ประกอบการของไทย ไม่มีความรู้และวิทยาการสำหรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ต้องพึ่งทั้งทุน ความรู้ และเทคโนลยีในอุตสาหกรรมการผลิต เป็นเหตุให้ต้องลงทุนสูง เป็นหนี้มาก 
    • วิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้เราคนไทย ให้ความสำคัญกับการศึกษาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างจริงจัง 
๒) มองในมุม ๓ ห่วง
  • ห่วงเหตุผล
    • การกู้เงินตราต่างประเทศแบบระยะสั้น (ต้องใช้คืนใน ๕ ปี) มาปล่อยกู้ในไทยให้ผ่อนระยะยาวในภาคอสังหาริมทรัพย์ (๑๐- ๒๐ ปี) ถือว่าผิดวินัยการเงิน ไม่สมเหตุสมผล ไม่เป็นไปตามหลักตรรกะ 
    • การเปิดเสรีทางการเงิน ให้ใบอนุญาตเปิดบริการวิเทศธนกิจ (BIBF) ให้สถาบันการเงินไทยไปกู้เงินดอกเบี้ยงถูกได้ ทั้งที่รู้ว่าดอกเบี้ยเงินกู้ภายในประเทศแพงกว่า ๕ - ๑๒ % ... ถือเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลอันควร 
  • ห่วงพอประมาณ
    • ไม่พอประมาณในการลงทุน จนเกิดหนี้สินท่วมท้นเกือบแสนล้านดอลลาร์ ลงทุนเกินตัว จำนวนเงินลงทุนสูงกว่าความสามารถในการใช้หนี้ถึง ๘ เท่า
    • เก็งกำไรกันแบบไม่พอประมาณ ซื้อมาเพื่อขายไปในราคาที่แพงกว่า จนเกิดเศรษฐกิจฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัยพ์ 
  • ห่วงภูมิคุ้มกัน
    • เราขาดภูมิคุ้มกันด้านความรู้ ไม่รู้ว่าตนเองกำลังตกอยู่สถานการณ์รุนแรงเพียงใด หลงอยู่ในความโลภ เพลินอยู่กับเงินที่หาง่าย (กู้ได้ง่าย) เมื่อเกิดปัญหาแล้วก็ไม่มีองค์ความรู้ที่จะจัดการกับปัญหา ไม่ได้เรียนรู้ (ถอดบทเรียน) จากประสบการณ์ของอาเจนติน่าและแมกซิโกที่ประสบปัญหาคล้าย ๆ กันมาก่อน 
    • ไม่ได้วางแผนหรือเตรียมการรองรับการเปลี่ยนแปลง ก่อนจะเปิด BIBF ให้เงินไหลเข้าสู่ประเทศ  
๓) มอง ๔ มิติ
  • มิติวัตถุ/เศษฐกิจ 
    • หนี้สินจากต่างประเทศ 
    • ไปซื้อโรงงานเก่าต่างประเทศ หรือ นำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ 
    • ใช้จ่ายเกินตัว ซื้อของฟุ่มเฟือย ไปเที่ยวเมืองนอก ซื้อของแบรนด์เนมอย่างอู้ฟู่
  • มิติสังคม
    • การลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้บริษัทและธุรกิจล้ม ต้องปลดคนงาน ขายรายได้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน กระทบต่อครอบครัว  คนชักดาบหนีหนี้ส่งผลต่อมิตรไมตรีอันดีที่เคยมีมาของผู้คน 
    • ในทางกลับกัน เมื่อประเทศประสบปัญหา คนไทยหันมาสามัคคีกัน ร่วมแรงร่วมใจกันประหยัดและบริจาคทาน โดยเฉพาะโดยการนำของหลวงตามหาบัว ที่สามารถรวบรวมทองคำและเงินดอลลาร์จากประชาชน ได้ถึง ๑๓ ตัน เงินกว่า ๑๐ ล้านดอลลาร์ (อ่านได้ที่นี่)  เงินจำนวนนี้มีส่วนสำคัญทำให้ "เงินไทยไม่กลายเป็นกระดาษ" ได้นำเข้ารวมไว้ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศในส่วนที่ประกันการพิมพ์เงิน ทำให้สามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ในตลาดกว่า ๒ หมื่นล้านบาท 
  • มิติสิ่งแวดล้อม 
    • มองในอีกมุมหนึ่ง อาจจะเป็นการดีที่ประเทศไทยก้าวไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ หรือเป็น "นิค" (NIC: New Industry Country) ไม่สำเร็จ เพราะหากเป็นนิค สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรคงต้องถูกทำลายไปอีกมาก ...
    • เมื่อคนไทยหันมาศึกษาหลักปร้ชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงสอนให้เราตระหนักรู้ตนเอง และให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติ สู่ความสมดุลยั่งยืน ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ขึ้นในเมืองไทย 
  • มิติวัฒนธรรม 
    • เมื่อหันมาศึกษาให้รู้จักตนเอง เพื่อจะพึ่งตนเอง และเดินตามหลักทางสายกลาง คนไทยจึงพบว่า นอกจากทรัพยากรธรรมชาติแล้ว เรามีรากเหง้าวัฒนธรรมอันงดงามและมีคุณค่ายิ่ง นำมาสู่สิ่งที่เราถนัด คือ ธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะวัฒนธรรมการกินอยู่ อาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
    • วิกฤตต้มยำกุ้ง เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความไม่พอเพียงที่เรามองข้ามวัฒนธรรมของตนเอง 


วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๒) วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ (สาเหตุฟองสบู่)

ภาคเรียนที่ผ่านมา มีนิสิตคนหนึ่งแสดงความเห็นผ่านการประเมินการเรียนรู้ว่า "... ควรจะปรับเนื้อหาให้ทันสมัย..." เมื่อลองใคร่ครวญดู ผู้เขียนเห็นว่า อย่างไรก็ต้องเรียนเรื่อง "วิกฤตต้มยังกุ้ง" เว้นแต่ว่าจะมีวิกฤตครั้งใหม่ใหญ่กว่าวิกฤตครังนั้น ... แต่คงไม่มีใครอยากให้มันเกิดอีกเป็นแน่...

สาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐

มูลนิธิสถาบันวิจัยการพัฒนาประเทศไทยได้จัดพิมพ์ "รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ" ที่เสนอโดยคณะกรรมการศึกษาและและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๑ หลังจากวันประกาศค่าเงินบาทลอยตัว ๙ เดือน  และมีการจัดพิมพ์เพิ่มเติมอีก ๓ ครั้ง  (ผู้สนใจอ่านได้ที่นี่)  รายงานฉบับนี้ระบุถึงสาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้งไว้ชัดเจนว่า เป็นเพราะปัจจัยภายในประเทศทั้งสิ้น โดยกำหนดไว้ในคำนำในการพิมพ์ครั้งที่ ๔ ดังนี้ ว่า

ต้นเหตุของวิกฤตในครั้งนี้...มีสาเหตุมาจากภายในประเทศทั้งสิ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เราเป็นผู้สร้างปัญหาให้แก่ตัวเราเอง การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะสองสามปีก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น แม้ทางการจะเห็นปัญหาแต่ขาดความเด็ดขาดในการกำหนดมาตรการที่จะป้องกัน... และเมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้วยังขาดความกล้าหาญที่จะใช้มาตรการที่อาจไม่เป็นที่นิยมทางการเมืองเข้าแก้ไข... มาตรการการแทรกแทรงปกป้องค่าของเงินบาทที่ใช้...เป็นเพียงการซื้อเวลาให้กับตนไประยะเวลาหนึ่งเท่านั้น... การกระทำดังดล่าวเป็นการซื้อเวลาที่มีต้นทุนสูงมากเพราะในที่สุดจะมีผลกระทบกลายเป็นภาระที่หนักของธุรกิจและประชาชนทั่วประเทศในอนาคตที่ยาวนาน


ผู้สนใจคลิกอ่านเอกสารทั้งเล่มได้ที่นี่

ผู้เขียนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นข้อสรุปเรื่องราวจาก "เอกสารประวัติศาสตร์ "นี้ อาจจะขาดตกพร่องจนอ่านแล้วไม่เข้าใจก็เป็นได้ จึงขอแนะนำให้ผู้อ่านดูคลิปที่เผยแพร่กันทางยูทูปต่อไปนี้ (สัก ๒ รอบจะดี) ก่อนจะอ่านข้อความที่ผู้เขียนพยายามจะสรุปให้สั้น เป็นขั้นตอน และให้ง่ายสำหรับนิสิตรุ่นลูกหลาน ซึ่งยากจะจินตนาการด้วยตนเอง




๑) เติบโตเพราะคนอื่น (ทุนจากต่างชาติ)

ปี ๒๕๑๘ การก่อตั้ง "ตลาดหลักทรัพย์" ขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นให้เงินตราจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศค่อย ๆ ไหลมาสู่ประเทศไทย ด้วยความพร้อมหลายๆ ด้าน ประเทศสงบสุขมีเสถียรภาพ มีประชาชากรมาก (ผู้ซื้อมาก หากนำอะไรใหม่ ๆ มาขาย)  ค่าแรงราคาถูกมาก (เมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว) ทำให้เกิดประเทศไทยเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในช่วงปี ๒๕๓๒ เป็นต้นมาที่เงินเย็นของญี่ปุ่นเริ่มแข็งค่าขึ้น

เมื่อมีเงินทุนไหลเข้า ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น เงินทุนสำรองฯ ส่วนหนึ่งที่มีไว้ประกันการพิมพ์เงินภายในประเทศมากขึ้น ทำให้สามารถพิมพ์เงินออกมาใช้ในประเทศได้มากขึ้น คนมีเงินมีรายได้มากขึ้นจึงใช้จ่ายมากขึ้น เรียกรวมๆ คือ "เศรษฐกิจดีขึ้น"

วิธีดูการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ คือดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือที่เรียกว่า GDP (Gross Domestic Product) ซึ่งหมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ (เช่น รายปี หรือรายไตรมาศ) หรือก็คือรายจ่าย/รายได้ของประเทศ นั่นเอง  ซึ่งคำนวณได้จาก

GDP = รายจ่ายจากการบริโภค + รายจ่ายเพื่อลงทุน + รายจ่ายของรัฐบาล + รายจ่ายสุทธิจากการส่งออกและนำเข้า

สังเกตว่า GDP เพิ่มขึ้นด้วย ๔ สาเหตุได้แก่  ๑) บริโภคสินค้าหรือบริการให้มาก ๒) ลงทุนให้มากคือผลิตให้มาก ๓) ใส่งบประมาณเข้าไปในระบบให้มากๆ และ ๔) ส่งออกให้มาก ให้ได้ดุลการค้ามากๆ

ปกติค่า GDP โตขึ้นปีละ 5% ถือว่าเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่ GDP ของประเทศไทยในช่วงก่อนจะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เติบโต 8-10% ทุกปีต่อเนื่องเป็นสิบปี เพราะมีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าและส่งออกสินค้าได้ดี

ตั้งแต่เริ่มมีตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทยรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเงินโดยผูกเงินบาทไทยไวักับทองคำและเงินสกุลหลักของโลก (ดอลลาร์) เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินให้มั่นคง ก่อนจะพัฒนามาใช้ระบบ "ตระกร้าเงิน" เพื่อลดความเสี่ยงจากการผันผวนของเงินสกุลต่าง ๆ  วิธีการคือไม่ได้ผูกเงินไว้กับทองคำหรือดอลลาร์เท่านั้น แต่เอาสกุลหลักอื่น ๆ เช่น เย็น ปอร์น ฯลฯ มาเก็บรวมกันไว้ในตระกร้า แล้วใช้สถิติคำนวณว่าจะใช้มาตรการอย่างไรในการรักษาค่าเงินบาท  อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนต้มยำกุ้ง เงินในตระกล้ากว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์เป็นดอลลาร์ จึงไม่ต่างอะไรกับการผูกค่าเงินบาทไว้กับดอลลาร์เลย

๒) ย่ามใจ อยากรวย (เป็นศูนย์กลางทางการเงิน )

ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่อเนื่องหลายปี ด้วยความย่ามใจจากความมั่นใจอันล้นเหลือ  ถึงกับหวังจะเป็นเสือตัวที่ ๕ แห่งภูมิภาคถัดจากสิงค์โปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และใต้หวัน ตามคำขนานนามของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ จึงมีการผลักดันจากทั้งฝั่งเอกชนและคนการเมือง (รัฐบาล) คิดอ่านที่จะเป็น "ศูนย์กลางทางการเงิน" ของภูมิภาคนี้แทนฮ่องกงที่สหรัฐอเมริกาจำต้องคืนให้แก่จีนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ... นี่คือความคิดอ่านเกินตัว ไม่สำเนียกว่าการเจริญเติบโตของตนในขณะนั้นล้วนมาจากผู้อื่นทั้งสิ้น ขาดความรู้และวิทยาการ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีที่นำเข้าทั้งหมด  "คิดไม่พอเพียง"

ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ธนาคารแห่งประเทศไทยปฏิบัติตามนโยบายเปิดเสรีทางการเงินเต็มที่ เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรงโดยไม่ผ่านการควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม ในช่วงแรกๆ การกู้เงินจากต่างประเทศยังไม่สามารถทำได้สะดวกนักเพราะต้องทำผ่านสิงคโปร์และมีขั้นขั้นหลายตอน แต่หลังจากวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๕ ที่มีการออกประการใช้กฎหมายการประกอบการวิเทศธนกิจของธนาคารพาณิชย์ อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยตรง ผ่านวิเทศธนกิจ หรือ Bangkok International Banking Facilities (BIBF) มีการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนมีนาคม ๒๕๓๖ อนุญาตให้ธนาคารทั้งในและต่างประเทศรวม ๔๗ แห่ง (แบงค์ต่างชาติ ๓๒ แห่ง) เปิดสาขาวิเทศธนกิจได้ การกู้เงินจากต่างชาติจึงเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ...  การเปิดเสรีเต็มที่ครั้งนี้นำมาสู่วิกฤตในอีกสี่ปีต่อมา ความหวังดีที่จะให้ประเทศเจริญอย่างรวดเร็ว "ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี" มากเพียงพอ

รากเหง้าของปัญหาคือ "ความโลภ" ความโลภของคนไทยในภาคธุรกิจการเงิน (่สถาบันการเงิน) และผู้ประกอบการที่มากู้เงินจากสถาบันการเงินเหล่านั้น ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนจะมีการบริการวิเทศธนกิจ อยู่ที่ ๑๔ ถึง ๑๗ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารต่างชาติต่ำกว่า ๙ - ๑๒ เปอร์เซ็นต์ (อยู่ที่ ๕ เปอร์เซ็นต์) สถาบันการเงินจึงแห่กันไปกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ภายในประเทศอย่างหละหลวม กินกำไรจากส่วนต่าง ๆ มหาศาล ผู้ประกอบการเองเมื่อเห็นว่าสามารถกู้เงินได้ในดอกเบี้ยต่ำกว่าที่เคยเป็นมา จึงดาหน้าเข้ามากู้ไปลงทุนกันอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะกู้ไปทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (บ้าน คอนโด ที่ดิน) เก็งกำไร (ซื้อมา-ขายไป) ทำให้ราคาที่แท้จริงที่ซื้อขายกันในตลาดสูงกว่าราคาที่แท้จริงของทรัพยสิน เรียกว่าเกิด "ฟองสบู่" เกิดสภาพ "เศษรฐกิจฟองสบู่ขึ้น" การเก็งกำไรในภาคอสังหารริมทรัพย์ในช่วงก่อนที่ฟองสบู่จะแตก อัตราหนี้ต่อเงินทุนสูงถึง ๖-๘ ต่อ ๑ (คือเงินที่ลงทุนมากกว่าความสามารถในการชำระถึง ๘ เท่า)

กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมสนอง ในอีกสี่ปีต่อมา ผู้ประกอบการเหล่านั้นและบุคลากรของสถาบันการเงินที่ล้มกันระเนรนาด ต้องตกงาน ถูกยึดบ้าน ยึดรถ บางคนหนี บางคนฆ่าตัวตาย ดังที่ได้กล่าวไปในบันทึกที่แล้ว (อ่านที่นี่) ... ชาวนาชาวสวนปลอดภัยเพราะยังไม่รู้เรื่องอะไรในขณะนั้น

เมื่อประเทศไทยมีเงินดอลลาร์ไหลเข้า แต่ตอนเอาไปใช้จ่ายในประเทศต้องเป็นเงินบาท ความต้องการเงินบาทมากขึ้น ทำให้เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น เพื่อรักษาค่าเงินบาทให้อยู่ที่ประมาณ ๒๕ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ ตามนโยบายการคงอัตราแลกเปลี่ยนเงินให้คงที่ด้วยระบบ "ตระกร้าเงิน" (แกว่งขึ้นลงอยู่ในช่วงแคบ) ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเอาเงินบาทมาซื้อเงินดอลลาร์เก็บไว้ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศ ปริมาณเงินในประเทศไทยจึงเพิ่มขึ้น ๆ คนหาเงินได้ง่าย ยิ่งได้มาง่ายก็ยิ่งใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ยิ่งใช้จ่ายมากขึ้นทำให้ต้องผลิตมากขึ้น เศรษฐกิจก็ยิ่งดีขึ้น คนไทยจำนวนมากออกไปเที่ยว ช็อปปิ้ง ซื้อของแบรนด์เนมจากต่างประเทศ ทำให้เงินบาทจำนวนมากไหลออกนอกประเทศ

๓) คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด (แกมโกง)

ณ ขณะที่ควายเครป (ควายชนิดหนึ่งในแอฟริกา กินหญ้ากันเป็นฝูง) กำลังสุขสวรรค์กับหญ้างอกใหม่  ในที่ไม่ห่างไกล มีสิงโตเฝ้ามองอยู่ ....

จอร์จ โซรอส นักค้าเงิน เจ้าของกองทุนเก็งกำไรจากค่าเงิน หรือ Hedge Funds เห็นเหตุการณ์ด้วยเฝ้าดูอยู่ตลอด เห็นคนไทยไปกู้เงินดอลลาร์จากต่างประเทศจำนวนมาก รู้ทันทีว่าอีก ๕ ปีข้างหน้า ลูกหนี้เหล่านั้นต้องวิ่งหาเงินดอลลาร์มาใช้หนี้กันเป็นโกลาหลแน่ จึงเก็บตุนเงินดอลลาร์และเงินบาทที่ไหลออกนอกประเทศสำหรับเป็นกระสุนไว้โจมตี ในขณะที่ควายเครป(เอ้ย) สถานบันการเงินไทย ไม่ได้เฉลียวใจว่า ถึงเวลาจะไม่มีเงินคืน เพราะเศรษฐกิจดีเหลือเกิน หรือหากครบเงื่อนเวลาก็น่าจะหมุนเงินมาใช้ "รีไฟแนนซ์"ใหม่ได้สบาย ... "อยู่ในความประมาท"

สิ่งที่ผิดพลาดมากๆ คือการการกู้เงินระยะสั้น (๕ ปี) มาปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัยพ์และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหนี้ระยะยาว (๑๐ - ๒๐ ปี) เพราะถือเป็นการผิดวินัยการเงิน ผิดหลักการ ไม่เป็นไปตามห่วง "เหตุผล" ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง "ไม่พอเพียงในการปฏิบัติ"

ทันทีที่ได้โอกาส เห็นว่าควายเครปหลงระเริงและอ่อนแอ สิงโตแห่งทุ่งหญ้าสะวันนาก็ออกไล่ล่าทันที ตั้งราคาเงินดอลลาร์ไว้ที่ ๕๐ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ ล่อให้ขบวนควายเครปโกลาหล ไม่ผิดคาด ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาต่อสู้ปกป้องค่าเงินบาท โดยขนเงินดอลลาร์ในกองทุนสำรองระหว่างประเทศที่เก็บไว้ได้เกือบ ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ออกมาขายในอัตรา ๒๕ บาทตามระบบตระกร้าเงิน (เข้าทาง!!!) จอร์ส โซรอส ขนเงินบาทที่ตุนไว้ออกมาซื้อดอลลาร์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยนำออกมาขายทันที แล้วขนเงินดอลลาร์ที่ได้ไปซื้อเงินบาทในตลาดต่างประเทศที่ราคาถูกกว่า ๓๐ บาทต่อดอลลาร์ ได้เงินบาทไทยมาจำนวนมากขึ้น แล้วเอากลับไปซื้อดอลลาร์ในประเทศไทยวนไป ๆ เรียกว่า "การโจมตีค่าเงินบาท" ... ธนาคารแห่งประเทศไทยสู้สุดใจ จนเงินเงินทุนสำรองระหว่างประเทศฯ เกือบจะหมด (จาก ๓,๙๐๐ ล้าน เหลือเพียง ๑๕๘ ล้านบาท) ก่อนจะยกธงขาวย้อมแพ้และปล่อยให้ค่าเงินเป็นไปตามกลไกการตลาด ด้วยการ "ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท"

จอร์ส โซรอส รวย ... หวังว่าเขาคงมีความสุข... แต่หากพิจารณาตามหลักพุทธแล้วไม่น่าใช่ เพราะการกระทำของเขาทำให้เรากว่า ๖๐ ล้านคน เป็นทุกข์

๔) ฟองสบู่แตก 

ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๙ ไม่มีใครสังเกตเห็นสัญญาณอันตรายใดๆ จากการขยายตัวของฟองสบู่ เนื่องจากการส่งออกดี ประเทศไทยได้ดุลการค้า GDP ยังแสดงว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง การเก็งกำไร (ซื้อมา-ขายไป) ยังมีต่อไป คนแห่ไปกู้เงิน บ้านจัดสรรหรือคอนโดยังไม่สร้าง เพียงเปิดขายใบจองเพื่อเป็นเจ้าของในกระดาษ ก็มีผู้ไปต่อแถวซื้อกันแน่นขนัด แค่เพียงใบจองก็ขายต่อได้ "พ่อค้าคนกลาง" เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด เนื่องจากเงินหาง่าย ผลิตอะไรออกมาก็ขายได้ ทุกคนจึงยังมีเงินมาใช้หนี้ธนาคาร

"น้ำมาลด ตอมาผุด" ตอนที่จีนประกาศลดค่าเงินหยวน จาก ๕ หยวนต่อดอลลาร์ มาเป็น ๘ หยวนต่อดอลลาร์ สินค้าจาจีนซึ่งราคาถูกว่า เข้าไปตีตลาดแทนสินค้าจากไทย ทำให้การส่งออกลดลง เสียดุลการค้า ส่งผลให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "ขาดดุลบัญชีเงินสะพัด" ในเวลาต่อมา ว่ากันว่าเป็นสาเหตุหลักประการหนึ่งของวิกฤตต้มยำกุ้ง

เมื่อส่งออกไม่ได้ กอปรกับถึงเวลาที่ต้องใช้หนี้ เจ้าหนี้เริ่มระแวงว่าจะไม่มีเงินมาใช้หนี้ จึงเริ่มทวงหนี้จากสถาบันการเงินที่ไปยืมเงินมา ลูกหนี้ของสถาบันการเงินก็ไม่มีเงินมาใช้หนี้เพราะขายสินค้าไม่ได้ สินทรัพย์ที่มีไร้ค่าราคาตกขายไม่ได้ ผู้ประกอบการจึงเริ่มลดคนงาน ประหยัดสุดชีวิต

เมื่อมีข่าวว่าสถาบันการเงินบางแห่ง (ธนาคารบางแห่ง) กำลังจะเจ้ง ผู้ฝากเงินก็แห่กันไปถอนเงิน สถาบันการเงินเล็ก ๆ ก็ล้มทันที  "....ฟองสบู่แตก...."  สถานบันการเงินจำนวน ๕๘ แห่งถูกปิดโดยรัฐบาลในเวลาต่อมา ธนาคารพาณิชย์รอดมาได้เพียง ๖ แห่ง ได้แก่ ธ.กรุงเทพฯ ธ.กรุงไทย ธ.กสิกรไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.กรุงศรีอยุทธยา และ ธ.ทหารไทย นอกจากนั้นถูกสั่งปิดโดยมีรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เสียทั้งหมด ๑,๑๔๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (อ่านว่า หนึ่งพัน หนึ่งร้อยแสน สี่หมื่น ล้าน ล้าน บาท) (ข้อมูลจาก Spokedark.com ดูได้ที่นี่) เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจไทยล้มละลายไปเหมือนอาเจนติน่า ... สรุปเรารักษาประเทศไว้ได้ ไม่ได้ล้มละลาย ไม่ได้ประกาศชักดาบ ... เพียงแต่พ่อแม่พี่น้องที่ไม่รู้อิโน่อิเหน่ใดๆ ทั่วประเทศไทย ต้องมาแบกรับหนี้กันไปคนละ ๑๖,๒๘๕.๗ บาท เท่านั้นเอง

๕) ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

ปกติ "การประกาศลอยตัวค่าเงินบาท" เป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีนักการเมืองคนใดกล้าทำ ทุกครั้งที่มีการประกาศลดค่าเงินบาทในอดีต ผู้บริหารประเทศล้วนถูกด่า(บางทีถึงขั้นปองร้าย)จากผู้ที่จะได้รับความเสียหาย คะแนนนิยมหดหาย ผู้เขียนตีความว่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ฝ่ายบริหารไม่กล้าตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวในการแก้ปัญหา แต่เลือกหนทางที่จะต่อสู้เพื่อประวิงเวลา (ซื้อเวลา) ออกไปเรื่อยๆ  หลายมาตรการที่ดีถูกนำมาใช้เมื่อตอนสายเกินไป (อ้างอิงจากรายงานข้อเท็จจริงฯ) จนกระทั่งหมดทางสู้  เมื่อผู้ว่าการและรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานข้อมูลจำนวนเงินที่เหลือในกองทุนสำรองฯ ต่อนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ (คนที่สาม) ที่พึ่งย้ายมาแทนคนเก่าที่พึ่งลาออกไป ด้วยประสบการณ์นายธนาคารใหญ่ จึงตัดสินใจว่าจะลอยตัวค่าเงินบาททันที

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจยิ่งในขณะเวลานั้นคือ การรักษาความลับของผู้ใหญ่ที่ร่วมกันตัดสินใจในวันนั้น มีการตัดสินใจกันลับๆ กับรัฐมนตรีคลังว่าจะลอยตัวค่าเงินบาทในวันเสาร์ วันจันทร์เป็นวันหยุดของธนาคารจึงยังประกาศไม่ได้ ดังนั้นต้องเก็บความลับไว้เกือบสามวันก่อนจะถึงวันอังคารที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ จึงประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หากมีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อนว่าจะมีการลอยตัวค่าเงินบาท แล้วไปซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงินบาทไว้มาก ๆ หรือไปซื้อเงินดอลลาร์ไว้เก็งกำไรมากๆ เขาจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ หนำยังรวยมหาศาลทันที เพราะทันทีที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เงินบาทลดค่าลงไปทันทีกว่าเท่าตัว และขึ้นไปสูงสุดถึง ๕๖ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์ในเวลาต่อมา ... (มีใครล่ะที่หลุดและรวยจากงานนี้ลองอ่านบทความนี้เอง)

๖) จำใจต้องไปกู้ IMF

ทันที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หนี้สินของสถาบันการเงินที่ล้มไปที่เพิ่มขึ้นไปตามค่าเงินเป็นแสนล้านล้านบาทได้กลายมาเป็นภาระของคนไทยทั้งประเทศ

คนมีหนี้เยอะไม่ได้รับเครดิตฉันใด ประเทศที่มีหนี้มหาศาลก็ไม่ได้รับเครดิตฉันนั้น เมื่อนักลงทุนไม่มีความมั่นใจย่อมจะต้องถอนเงินออกไป ประเทศไทยก็จะเหมือนคนป่วยไข้ไม่มีแรงทำงานหาเงินทันที  รัฐบาลไทยจึงเร่งหาความช่วยเหลือและแหล่งเงินกู้มาค้ำประกันหนี้สิน (หนี้เสีย) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน  ต่อไปนี้นี้เป็นรายนามของประเทศที่ช่วยให้ไทยยืมเงินในครานั้น ได้แก่ ๑) ออสเตรเลีย ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๒) จีน ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๓) ฮ่องกง ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๔) อินโดนีเซีย ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ๕) ญี่ปุ่น ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์  ๖) เกาหลีใต้ ๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ๗) มาเลเซีย ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ๘) สิงคโปร์ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ และ ๙) บรูไน ๕๐๐ ล้านดอลลาร์  ไปกู้ธนาคารโลกอีก ๑,๕๐๐ ล้านดอลลาร์ ได้จากธนาคารพัฒนาเอเชียอีก ๑,๒๐๐ ล้านดอลลาร์ และไปขอกู้จากองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund)  อีก ๔,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ โดยพ่วงมาพร้อม "สัญญาทาส" หลายประการที่แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือไทย กลับซ้ำเติมให้ไทยจมดิ่งลงเหว รวมหนี้สินที่รัฐบาลไทยกู้มาใช้เป็นทุนตั้งตัวใหม่ในขณะนั้น ๑.๗๒ หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ห้าแสนล้านบาท) ... เมื่อรวมกับหนี้เก่า เราเป็นนี้ไปกว่าสองล้านล้านบาท

สังเกตว่า สหรัฐอเมริกา พันธมิตรที่มีความสัมพันธ์กันมาเป็น ๕๐ -๖๐ ปี ไม่มีความช่วยเหลือให้ไทยใด ๆ เลย แม้แต่สักเหรียญเดียว (ขอให้ดูคลิปนี้)

ที่เรียกว่า "สัญญาทาส" เพราะ IMF มีข้อกำหนดให้ต้องดำเนินการต่าง ๆ มากมาย  ปล่อยเงินให้เป็นงวดๆ แต่ละงวดต้องใช้คืนภายใน ๓ ปี (จริง ๆ ๓๔ เดือน) รัฐบาลต้องจัดงบประมาณแบบรัดเข็มขัด ปฏิรูปสถาบันการเงินอย่างเข้มงวด (ผลคือกู้เงินยากมาก) แปรรูปรัฐวิสาหกิจ ขึ้นภาษีเพื่อหารายได้มาใช้หนี้ ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุนของต่างชาติ จำกัดการขึ้นเงินเดือนของข้าราชการต้องไม่เกินอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน เป็นต้น ผลคือ คนไทยต้องลำบาก ประหยัดสุดชีวิต เศรษฐกิจทรุดอย่างรุนแรงในปีต่อมาแทนที่จะดีขึ้น (GDP ติดลบ ๑.๔ เปอร์เซ็นต์ในปี ๒๕๔๐ และติดลบ ๑๐.๕ เปอร์เซนต์) ตลาดหุ้นลดจากพันกว่าจุดเหลือสองร้อยจุดในปี ๒๕๔๑  ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านจัดสรรถูกปิดจำนวนมาก หนี้สินท่วมจนต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ไปกว่า ๑ ล้านล้านบาท

ยังดีที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทย ได้ศึกษาน้อมนำมาปฏิบัติ

๗) สรุปสาเหตุของ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" 

จากการสืบค้นและศึกษาจากรายงานข้อเท็จจริงฉบับนี้มี ๖ ประการหลัก มีผู้สรุปไว้หลายเว็บไซต์ (เช่น ที่นี่ และ ที่นี่) ดังนี้ได้แก่ ๑) การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสะสม ขนาดสะสมถึง ๑๔,๓๕๐ ล้านดอลลาร์ ในช่วง ๑๐ ปีก่อนฟองสบู่จะแตก ๒) หนี้ต่างประเทศสูงถึง ๑๐๙๒๗๐ ล้านดอลลาร์ ๓) การลงทุนที่เกินตัว ๔) ประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสถาบันการเงินอ่อนแอ ปล่อยกู้มั่วง่ายใช้หนี้คืนไม่ได้ จนต้องถูกปิดไปถึง ๕๘ แห่ง ๕) ความไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบาย ปล่อยให้เปิด BIBF โดยความไม่รู้เท่าทันการณ์ และ ๖) ถูกโจมตีค่าเงินบาทจากกองทุนเก็งกำไร Quantum Fund ของจอร์ส โซรอส (Gorge Soros) และนักค้าเงินรายอื่นๆ ผสมโรงกัน


ขอจบประสบการณ์เรียนรู้จากความรู้มือสองไว้ที่นี่ครับ  บันทึกต่อไป จะมาตีความถึงความไม่พอเพียงที่ทำให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง

๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙๙
ขอย้ำอีกครั้งว่า ผู้เขียนไม่มีได้เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐศาสตร์ หากตีความสรุปพลาดบกพร่องอย่างไร โปรดเขียนแสดงความคิดเห็นไว้อย่างสุภาพด้านล่างเถิด


วันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๒-๒๕๖๐ (๑) วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐

รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เปิดสอนตามหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘) ต่อเนื่องมาแล้ว ๒ ปีการศึกษา มีนิสิตลงทะเบียนเรียนปีการศึกษาละ ๔,๐๐๐ คน ผลการเรียนเฉลี่ยภาคเรียนที่ผ่านมาอยู่ที่ ๓.๒๐ ตีความได้ว่า นิสิตชั้นปี ๒-๓ น่าจะมีความรู้ความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างถูกต้อง

ปีการศึกษา ๒/๒๕๖๐ เป็นปีการศึกษาแรกที่ผู้เขียนได้ทำบทบาทการเป็นอาจารย์ผู้สอน เชื่อว่าการทำหน้าที่อาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชาที่ผ่านมา แม้อาจขาดตกบกพร่องบ้าง แต่อาจารย์ผู้สอนทุกท่าน น่าจะเห็นในความมุ่งมั่น ตั้งใจ และอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย ...  อย่างไรก็ดี ผมได้ปวารนากับอาจารย์ทุกท่านตั้งแต่แรก จึงประกาศกับทุกท่านแล้วว่า ผมจะมอบค่าตอบแทนการสอนในส่วนที่มได้รับนี้ให้เป็นงบประมาณกลางในการพัฒนารายวิชาต่อไป

ผู้เขียนตั้งใจจะบันทึกประสบการณ์และการเรียนรู้ของตนจากการทำบทบาทอาจารย์ผู้สอน เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนต่อ ๆ ไป  หรืออาจมีผู้สนใจในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ  ซึ่งกำลังขับเคลื่อนกันอย่างแข็งขันเช่นกัน ได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนกัน

จุดมุ่งหมายการเรียนรู้ แผนการสอน และแผนการประเมิน สำหรับภาคเรียนที่ ๒/๒๕๖๐ นี้ สามารถดาวน์โหลดได้จาก รายละเอียดรายวิชาตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.๓) ได้ที่นี่ และท่านที่สนใจอยากได้เอกสารประกอบการสอนที่คัดลอกจากหนังสือของใหญ่ที่ขับเคลื่อนฯ เรื่องนี้ในประเทศและกำลังขับเคลื่อนไปสู่ต่างประเทศ คือ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา มาเป็นแนวทางและเครื่องมือเรียนรู้ในชั้นเรียน สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

บทที่ ๑ ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (วิกฤตต้มยำกุ้ง)

คำถามสำคัญคือ จะสอนหรือออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร ให้ผู้เรียนเห็นผลลัพธ์ของ "ความไม่พอเพียง" ของการพัฒนาประเทศและของกลุ่มบุคคลผู้ "ไม่พอเพียง" จนนำมาสู่ความเสียหายรุนแรงระดับวิกฤตของชาติ ที่เรียกว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" หรือ "วิกฤตเศรษฐกิจ ปี ๒๕๔๐" เป้าหมายการเรียนจึงไม่ใช่เพียงเข้าใจที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น แต่ต้องทำให้ผู้เรียนตระหนักและเกิดฉันทะ อยากเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และน้อมนำมาใช้กับตนเอง

มีองค์ความรู้ ๒ เรื่องที่จำเป็นต้องทำให้ผู้เรียนซึ่งทั้งหมดเกิดหลังปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รู้ก่อนเพื่อปูพื้นฐานนำมาสู่ เหตุการณ์ที่ในหลวง ร.๙ ทรงพระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ๑) ค่าของเงิน และ ๒) ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังจะอธิบายเป็นเชิงความคิดรวบยอด ดังนี้

๑) ค่าของเงิน

ถ้าตั้งคำถามกับตนเองว่า เงินบาทของไทยกับเงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา เงินสกุลใดมีค่ามากกว่ากัน? ... ผู้อ่านทั้งหมดจะตอบว่า เงินดอลลาร์มีค่ามากกว่า  แต่ถ้าหากเปลี่ยนเทียบคำตอบของคำถามว่า  "เงินสกุลใดมีมูลค่ามากกว่า" กับ "เงินสกุลใดมีคุณค่ามากกว่า"  การตอบคำถามหลังนั้นจะอยู่ในความลังเลทันที เงินบาทจะมีมูลค่าน้อยกว่าเงินดอลลาร์ก็ต่อเมื่อเราคิดเปรียบเทียบตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ การคิดเปรียบเทียบค่าเงินตราเป็นมายาที่ทุกคนในโลกนี้เต็มใจให้หลอก

แท้ที่จริงนั้น หากไม่ตัดสินเปรียบเทียบ มูลค่าของเงินจะมากหรือน้อยขึ้นกับการให้คุณค่าของคนที่ใช้เงินเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อคนอยู่รวมกันเป็นชุมชน สังคม ประเทศ ค่าของเงินก็จะแตกต่างไปตามสถานที่และกาลเวลา ที่เรียกกันว่า "กลไกการตลาด" ลองคิดถึงเงิน ๓๐ บาท คนไทยสามารถซื้ออาหารตามสั่งได้ ๑ มื้อ แต่คนอเมริกันซื้อไม่ได้ทั้งที่มีค่าเท่ากันตามอัตราแลกเปลี่ยน (คนอเมริกันต้องใช้ ๕ ดอลลาร์ต่อ ๑ มื้อ) นั่นแสดงว่า เงินบาทมีมูลค่ามากกว่า

ปัจจุบันโลกนี้มีประชากรประมาณเจ็ดพันล้านคน แบ่งเขตเป็นประเทศ ๆ  ทั้งหมด ๑๙๕ ประเทศ หลายประเทศมีสกุลเงินของตนเอง รวมถึงประเทศไทย ที่ใช้สกุลเงินบาท (Thai Baht)  จะใช้จ่ายที่ไหน ต้องได้รับการยอมรับสกุลจากรัฐบาลของประเทศนั้น ซึ่งจะมีหน่วยงานหรือสถานบริการให้แลกเงินอัตราแลกเปลี่ยนที่สุดแสนจะไม่เป็นธรรม ดังที่ได้บอกเป็นนัยแล้ว

ลองจิตนาการว่า ประเทศไทยทั้งประเทศมีเงินเพียง  ๖๙ ล้านบาท สมมติทุกคนมีเงินเท่ากันคนละ ๑ บาท ท่านคิดว่า อาหารตามสั่ง ๑ จาน ควรจะตั้งราคาเท่าใดจะเหมาะสม แน่นอนว่าหากขายจานละ ๓๐ บาท จะขายไม่ได้ ทุกคนจะปลูกข้าวและทำกินเองทั้งหมด หรือแม้แต่ขาย ๑ บาท ก็จะมีผลไม่ต่างกัน เพราะไม่น่าจะใช้เงินทั้งหมดที่มีซื้อข้าวเพียงมื้อเดียว ดังนั้นข้าว ๑ จาน ต้องตั้งราคาในระดับสตางค์หรือสลึงจึงจะพอขายได้ สังเกตว่าหากเงินมีน้อยสินค้าจะต้องราคาต่ำ ในทางกลับกันหากเงินมีมากราคาสินค้าจะสูงขึ้น (ลองสมมติเรามีเงินคนละ ๑ แสนบาท ท่านจะเห็นว่า ข้าวจานละ ๓๐ ราคาถูกทันที) ... วิถีการตีมูลค่าของสินค้าในลักษณะที่กล่าวมานี้ เรียกได้ว่า "กลไกการตลาด" อย่างหนึ่ง

ประเทศที่พัฒนาแล้ว มีวิทยาการก้าวหน้า จะผลิตสินค้าและกำหนดราคาสูงลิ่ว เช่น โทรศัพท์ไอโฟนหรือซัมซุง เครื่องหนึ่งสามหมื่นบาท ทั้งที้ใช้เวลาผลิตต่อเครื่องไม่กี่นาที ส่วนประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ก็ผลิตสินค้าการเกษตรที่ราคาแสนถูก (เพราะกำหนดราคาเองไม่ได้) เช่น ต้องขายข้าวถึง ๓ ตัน และเวลา ๔ เดือน กว่าจะได้เงินไปซื้อโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง  ดังนั้น ด้วยวิถีกลไกแบบนี้ จึงไม่มีวันที่ประเทศไทยที่กำลังพัฒนาไปอยู่แนวหน้าได้ด้วยเกษตรกรรม ... วิธีคิดแบบนี้ทำให้เกิดนโยบายจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมโดยเร็ว ซึ่งนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ๒๕๔๐ ในที่สุด

ความจริงมีหลากหลายวิธีการที่ "ผู้ฉลาด (แกมโกง)" กระทำให้เงินในประเทศมีมาก ๆ โดยไม่ต้องผลิตสินค้าจริง เพียงแต่สร้างสินค้าเทียม สร้างสินค้ามายา ปั้นและสนองอัตตาความอยากของมนุษย์ขึ้นไปเรื่อย ๆ เรียกสวยหรูรวมๆ ว่า "บริการ" มุ่งไปที่ความสุข ความสนุกทางโลกแบบไม่มีขีดจำกัด เกิดเป็นระบบกลไกการตลาดแบบ "ทุนนิยม" ดังที่รู้กันทั่วไป ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ นำการกีฬา การศึกษา และศรัทธาศาสนา มาพัฒนาเป็นสินค้า เป็นต้น .... ค่าซื้อขายนักเตะที่พลีเมียร์ลีกของอังกฤษ ลาลีกาลีกของสเปน อยู่ที่หลายพันล้านบาท ค่าแรงต่อสัปดาห์หลายล้านบาท รัฐบาลก็เพียงเก็บภาษีจากจำนวนมูลค่าเทียมที่ปั่นขึ้นมาเองเหล่านี้ ก็เป็นรายได้มากกว่าประเทศ "ผู้โง่เขลา" หาได้ทั้งปี ...

ผู้ควบคุม "กลไกการตลาด (โลก)" คือ ธนาคารโลก แต่ละประเทศจะร่ำรวยได้ ไม่ใช่อยากพิมพ์เงินเท่าใดก็ทำได้ ต้องเอาเงินสกุลดอลลาร์ไปคำประกันไว้ที่ธนาคารโลกก่อนจึงสามารถพิมพ์สกุลของตนเองออกมากได้ ดังนั้นวิธีที่จะทำให้เศรษฐกิจดีตามวิถีของกลไกการตลาดคือ ต้องดึงเงินมาไว้ในประเทศมาก ๆ  ด้วยการผลิตสินค้า แปรรูป ส่งออก ค้าขาย ฯลฯ ... มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ไม่จำเป็นต้องเอาเงินดอลลาร์มาค้ำประกัน มีอิสระในการพิมพ์ออกมาเต็มที่ (แต่ขณะที่กำลังเขียนนี้จีน รัสเซีย อินเดีย ก็เริ่มมีกลไกมารักษาสมดุล)

๒) ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ ๙ ประการ ได้แก่ ๑) พิมพ์เงินและจัดการเงิน ๒) กำหนดนโยบายการเงิน ๓) จัดการทรัพย์สินของ ธปท. (ยกเว้นทุนสำรองระหว่างประเทศ) ๔) เป็นนายธนาคารและนายทะเบียนของรัฐบาล ๕) เป็นนายธนาคารของสถาบันการเงิน ๖) จัดตั้งหรือสนับสนุนให้จัดตั้งระบบชำระเงิน ๗) กำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน ๘) บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและบริหารจัดการทรัพย์สินในทุนสำรองเงินตรา ๙) กำกับควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมาย

แต่ละประเทศจะมีธนาคารแห่งชาติคอยดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ กำกับดูแลเงินเข้า เงินออก อัตราแลกเปลี่ยนเงินในสกุลของตนเองกับสกุลเงินต่างชาติ หรืออาจเรียกว่าธนาคารแห่งประเทศจะเป็นผู้ควบคุมอิสระเสรีทางการเงินของประเทศ สังเกตว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดนโยบายการเงิน และควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเงิน

ก่อนปี ๒๕๓๓ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายควบคุมการเข้าออกของเงินตราต่างประเทศอย่างเคร่งครัด สถาบันการเงินในประเทศ (เช่น ธนาคารพาณิชย์) ไม่สามารถจะกู้เงินจากต่างประเทศได้ ต้องกู้จากธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น สามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้อย่างสมดุล แต่พอมีการนำนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่ศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องผ่อนปรนและปล่อยให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าอย่างเสรีในปี ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในเวลาเพียง ๕ ปี

ก่อนเศรษฐกิจฟองสบู่จะแตกในวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ (วันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท) ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ระบบแลกเปลี่ยนอัตราคงที่ ๒๕ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ โดยผูกค่าเงินบาทไว้กับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถืออยู่ เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก รัฐบาลออกมาต่อสู้ด้วยการช้อนซื้อเงินบาท จนเงินทุนลดจาก ๓๙,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ เหลือเพียง ๑๕๘ ล้านดอลลาร์ จนจำเป็นต้องประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. ๒๕๔๐

วิกฤตเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่ประเทศไทย ก่อนจะขยายไปทั่วอาเซียนและเอเชียอีกหลายประเทศ ทั่วโลก จึงเรียกอีกชื่อว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ตามชื่ออาหารไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก ถือเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่ไม่มีใครมีประสบการณ์ที่จะรับมือ ระบบเศรษฐกิจพังทะลายลงแบบไม่มีใครรู้ว่าควรจะทำอย่างไร

ผลกระทบของวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้ประเทศไทยเกือบตกอยู่ในภาวะล้มละลาย บริษัทและผู้ประกอบการทั่วทุกมุมเมืองประกาศเลิกจ้างอย่างมโหฬาร ส่งผลกระทบโดยตรงกับลูกจ้าง เกิดคนว่างงานจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดบ้านเกิดมานาน ไม่มีที่ไป ต้องประหยัดกินประหยัดใช้อย่างสุดชีวิต โชคดีที่คนส่วนใหญ่ยังมีบ้านที่ยังพอมีสวน ไร่ นา ให้กลับไปทำมาหากินเลี้ยงชีพได้ วิกฤตจึงไม่ส่งผลต่อชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ยังคงเป็นเกษตรกร

วิกฤตต้มยำกุ้ง ส่งผลโดยตรงกับสถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนและหลักทรัพย์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง อุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้าง และบริษัทเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ ต่างมีหนี้ท่วมหัว ล้มละลายกันจำนวนมาก หลายบริษัทต้องปิดตัวลง ผู้ที่ทำงานในธุรกิจเหล่านี้ต้องถูกยึดบ้าน ยึดรถ ยึดทรัพย์สินทั้งหมด ลูกหลานที่เคยส่งไปเรียนต่างประเทศต้องกลับบ้าน  หลายคนเดินทางหนีหนี้ออกนอกประเทศ บางคน "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" หลังวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่เป็นวันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท มีข่าวการฆ่าตัวตายแทบจะรายวัน สถิติการฆ่าตัวตายพุ่งสูงสุดถึง ๔,๙๖๔ คนในปี ๒๕๔๑ และสูงขึ้นเป็นประวัติการถึง ๕,๒๙๐ คนในปี ๒๕๔๒ ก่อนจะลดลงมาเป็นอัตราปกติที่ประมาณสี่พันคนต่อปี (อ่านที่นี่)

แม้จะผ่านแล้วกว่า ๒๐ ปี หลายครอบครัวยังคงไม่อาจตั้งตัวได้จากการล้มละลายในคราวนั้น การแก้ปัญหาการโดยการเข้าไปอุ้มสถาบันการเงิน ๕๘ แห่ง และประกาศนโยบายประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของสถาบันการเงินหลังจากสั่งปิดกิจการของสถาบันการเงินเหล่านั้น ทำให้หนี้สินกว่า ๑.๑๔ ล้านล้านบาท กลายมาเป็น "หนี้สาธารณะ" ที่คนไทยทุกคนต้องแบบรับจนถึงทุกวันนี้ ....ขอแนะนำให้ผู้อ่านดูคลิปจากรายการ "เจาะข่าวตื้น" ด้านล่าง  จะได้ตัวเลขหนี้ที่แต่ละคนต้องแบกรับมาถึงทุกวันนี้


บันทึกหน้า... มาว่ากันถึงสาเหตุของวิกฤตต้มยำกุ้งครับ

วันอาทิตย์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๐ (๑๓) ระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย (กลุ่ม ลี กวน ยู)

บันทึกที่ ๑ กลุ่ม จอร์จ วอชิงตันบันทึกที่ ๒ กลุ่ม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตช์บันทึกที่ ๓ กลุ่มตูน บอดี้สแลมด์บันทึกที่ ๔ กลุ่มปัญญา นิรันดร์กุลบันทึกที่ ๕ กลุ่มอับบราฮัม ลินคอล์นบันทึกที่ ๖ บารัค โอบามากลุ่ม จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลุ่มสืบ นาคะเสถียรกลุ่ม จอน เอฟ เคนเนดี้กลุ่ม ดอนัลด์ ทรัมป์

กลุ่ม ลี กวน ยู

ผู้เขียนเคย ถอดบทเรียน "ภาวะผู้นำ" ไว้ที่นี่ แต่ไม่รู้ว่า ประเด็นไหนที่ตรงใจสมาชิกกลุ่มที่สุด อย่างไรก็ดี  กลุ่มลี กวน ยู น่าจะมาแลกเปลี่ยนประวัติการสร้างประเทศของบุรุษท่านนี้ให้เพื่อน ๆ ฟังหน้าชั้นเรียน สักวัน



ปัญหาและสาเหตุ
  • ปัญหาการจราจร 
    • คนไม่ปฏิบัติตามกฎ 
      • มหาวิทยาลัยไม่เคร่งครัด
      • นิสิตขาดจิตสำนึก
    • รถเยอะ
      • ไม่มีที่ห้ามใช้รถมอเตอร์ไซด์
      • ระบบคมนาคมของมหาวิทยาลัยไม่สะดวก
    • พื้นที่ไม่เพียงพอ
      • ที่จอดรถไม่เพียงพอ
      • ถนนแคบ
  • ความสะอาด 
    • ขยะล้น 
      • ค้นทิ้งมักง่าย
      • ระบบจัดการขยะไม่มีประสิทธิภาพ
      • ที่ทิ้งขยะไม่เพียงพอ 
    • ห้องน้ำสกปรก
      • นำไม่ไหล <- ระบบน้ำไม่ดี
      • ห้องน้ำน้อย <- ห้องน้ำชำรุด
      • นิสิตไม่รักษาความสะอาด <- ขาดจิตสำนึก 
ผลกระทบ
  • การจราจร
    • รถติด
      • เสียเวลา
      • สิ้นเปลืองพลังงาน
    • อุบัติเหตุ 
      • เสียโอกาส
      • เกิดการทะเลาะวิวาท
      • อารมณ์เสีย
  • ห้องน้ำสกปรก
    • เจ็บป่วย
      • ภูมิแพ้
      • เสียสุขภาพจิต
      • เสียการเรียน
    • เกิดมลภาวะ
      • น้ำเน่าเหม็น 
      • กลิ่นเหม็น กลิ่นไม่พึงประสงค์
ขอชมเชยกลุ่มลี กวน ยู ครับ ว่า วิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุได้ดี เหมาะสมกับคะแนนเกือบเต็มที่ประเมินตนเอง  ขั้นตอนต่อไปคือ เลือกปัญหาโดยพิจารณาไปที่สาเหตุ ตามหลัก ๓ ประการตามเงื่อนไขที่ตกลงของรายวิชา (อ่านที่นี่)  ก่อนจะลงมือศึกษาสภาพปัญหาอย่างเป็นระบบ ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 



รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๐ (๑๒) ระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย (กลุ่ม ดอนัลด์ ทรัมป์)


กลุ่ม ดอนัลด์ ทรัมป์

น่าสนใจมากกว่า ทำไมถึงเลือกดอนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยไม่ชอบเขา และตั้งข้อกังขาในภาวะผุ้นำของเขา แม้แต่สำนักข่าวชื่อดังต่าง ๆ อเมริกาเอง ก็ตั้งคำถามนี้เช่นกัน ...  รอฟังสมาชิกกลุ่มนี้มาตอบครับ


ปัญหาและสาเหตุ

  • ปัญหาขยะ <- ปริมาณขยะล้น <- ถังขยะไม่เพียงพอ <-ทิ้งขยะไม่รู้ประเภท <- ขาดความรู้ในการแยกขยะ, ขาดวินัย 
  • ปัญหาห้องน้ำ 
    • กลิ่นไม่พึงประสงค์ <- นิสิตผู้ใช้ไม่รักษาความสะอาด, นิสิตสูบบุหรี่ในห้องน้ำ 
    • สกปรก <- ไม่มีถังขยะให้ทิ้ง กระดาษชำระ/ผ้าอนามัย 
  • ระบบสาธารณสุข <- น้ำเน่าเสีย <- การจัดการระบบน้ำ, การทิ้งขยะลงแม่น้ำ 
  • ห้องเรียน 
    • อุปกรณ์ชำรุด <- การใช้งานที่ยาวนาน, นิสิตไม่ช่วยกันดูแลรักษาอัปกรณ์ 
    • สกปรก <- นิิสิตไม่รักษาความสะอาด
  • จราจร 
    • การจราจรติดขัด <- อุบัติเหตุ , ปริมาณรถเยอะ
    • จอดรถไม่เป็นระเบียบ <- เส้นแบ่งช่องจอดรถไม่ชัดเจน, นิสิตขาดระเบียบวินัย, ที่จอดรถไม่เพียงพอ 
ผลกระทบ 
  • ขยะล้น -> เกิดการแพร่ของเชื้อโรค, -> ไม่สามารถกำจัดขยะได้ถูกต้อง 
  • จราจรติดขัด -> เกิดอุบัติเหตุ, หาที่จอดรถไม่ได้ -> นิสิตมาเรียนสาย
  • อุปกรณ์ชำรุด -> อุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อผู้เรียน 
  • สาธารณสุข -> ภาพลักษณ์เสียหาย, มีผลต่อสุขภาพร่างกายของนิสิตและบุคลากร
  • ห้องน้ำ -> ห้องน้ำใช้ไม่ได้, เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ 
เนื่องจาก ผู้เขียนไม่ทราบว่า ทางกลุ่มเลือกที่จะศึกษาปัญหาใด จึงขอแนะนำหลักการสำหรับขั้นตอนต่อไป ซึ่งจะต้องทำต่อไป คือ การศึกษาสภาพปัญหา (ที่เลือก) ให้เห็นบริบทและความรุนแรงของปัญหา โดยอาจเลือกพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมกับศักยภาพของกลุ่ม การศึกษาสภาพปัญหา ต้องออกแบบการสืบค้นและสำรวจข้อมูล ให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ 



รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๐ (๑๑) ระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย (กลุ่ม จอน เอฟ เคนเนดี้)


กลุ่ม จอน เอฟ เคนเนดี้

ผู้เขียนชอบประโยคอมตะของอดีตประธานาธิบดี จอน เอฟ เคเนดี้ .... " ...จงอย่าถามว่าประเทศชาติให้อะไรแก่ท่าน จงถามตัวท่านเองว่าจะทำอะไรให้ประเทศชาติ..."  เหตุการณ์หลากหลายที่ทำให้เคนเนดี้ คือผู้นำที่ดีที่สุดในโลกท่านหนึ่ง ... แต่ "ภาวะผู้นำ" ของเขาโดดเด่นแค่ไหนอย่างไร ต้องให้สมาชิกกลุ่ม ออกมาเล่าให้ฟังครับ


ปัญหา

  • การจอดรถที่ไม่เป็นระเบียบ 
  • ขับรถคร่อมเลน
  • ไม่เปิดไฟสัญญาณ
  • ขับรถย้อนศร 
สาเหตุ
  • คนไม่รู้จักกฎจราจร 
  • การขาดจิตสำนึก
  • ที่จอดรถไม่เพียงพอ
  • สัญลักษณ์ป้ายจราจรไม่ชัดเจน 
ผลกระทบ
  • สร้างความเดือนร้อนให้กับผู้อื่น
  • ขัดขวางทางเดินเท้า  (มอเตอรไซด์จอดขวางทางเดิน)
  • รถเข้าออกลำบาก 
  • ทัศนียภาพไม่สวยงาม
นอกจากปัญหาด้านคมนาคมแล้ว กลุ่มจอน เอฟ เคนเนดี้ ยังนำเสนอปัญหาด้านอื่นด้วย ดังแผนผังด้านล่าง  ส่วนแนวทางการแก้ไข ขอยกมาพิจารณาเฉพาะด้านการจอดรถและจราจร เพื่อสอดคล้องกับ "ต้นไม้เจ้าปัญหา" 


วิธีการแก้ปัญหา 
  • จัดการระบบการเดินทางและคมนาคม เช่น ชัตเทิลบัสและจักรยาน ฯลฯ 
  • ปลูกฝังจิตสำนึกให้นิสิตและบุคลากร
  • มีการจัดระบบความปลอดภัย 
  • มีการพัฒนาถนนบริเวณรอบ ๆ มหาวิทยาลัย ให้สะดวกมากขึั้น 
วิธีแก้ปัญหาทั้งหมดที่กลุ่มเสนอ น่าจะเกินศักยภาพในฐานะนิสิต และเวลาที่มีจำกัดเพียง ๑ ภาคเรียนเท่านั้น คงไม่สามารถจะปลูกฝังจิตสำนึกให้เกิดผลได้จริง ... อย่างไรก็ดีหากมีวิธี (ไอเดีย) สร้างสรรค์ นำสมัย ของคนรุ่นใหม่ ... รอเตรียมเซอร์ไพรส์ครับ












รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๒-๒๕๖๐ (๑๐) ระดมปัญหาในมหาวิทยาลัย (สืบ นาคะเสถียร)


กลุ่มสืบ นาคะเสถียร


ปัญหาและสาเหตุ

  • ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ 
    • สร้างมานาน
    • ประสิทธิภาพจึงลดลง
    • ไม่มีการปรับปรุงดูแล
  • ห้องเรียนสกปรก
    • ไม่ได้รับการดูแลทำความสะอาด
    • นำอาหารไปรับประทานแล้วไม่นำไปทิ้ง
  • ปัญหาขยะ
    • ทิ้งขยะไม่ลงถัง
    • กินไหนทิ้งนั่น
    • สุนัขคุัยขยะ
    • ขาดจิตสำนึกที่ดี 
  • ไม่มีแผนที่เดินรถราง 
    • ไม่มีจุดบริการที่ชัดเจน
    • ไม่มีแผนที่เดินรถ
  • ไฟถนนมืด
    • งบประมาณไม่เพียงพอ
  • สนามไม่มีอัฒจันทร์
    • งบประมาณไม่พอ
    • จัดสรรเงินทุนไม่ดี 
ผลกระทบ 

  • ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ 
    • ส่งผลต่อการขับขี่
    • เครื่องยนต์เสียหาย
  • ห้องเรียนสกปรก
    • เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค 
    • บรรยากาศไม่น่าเรียน
    • เกิดฝุ่นละออง ภูมิแพ้
  • ปัญหาขยะ
    • มหาวิทยาลัยสกปรก 
    • ส่งกลิ่นเหม็น 
    • นิสิตไม่มีความสุข
  • ไม่มีแผนที่เดินรถราง 
    • รอผิดที่
    • รอนาน
    • รถไม่จอด
  • ไฟถนนมืด
    • เกิดอุบัติเหตุ
    • เกิดการปล้อนทรัยพสิน
  • สนามไม่มีอัฒจันทร์
    • สนามแออัด
    • เปลี่ยว อันตราย



วิธีการแก้ปัญหาที่เสนอโดยกลุ่ม สืบ นาคะเสถียร แสดงดังแผนผังความคิดด้านบน  หากวิเคราะห์ด้วยเงื่อนไข ๓ ประการ  เรื่องที่ค่อนข้างใหม่และนิสิตให้ความสนใจคือ รถราง ประเด็นที่น่าสนใจคือ

  • มหาวิทยาลัยมีรถรางกี่คัน 
  • แต่ละวันมีนิสิตใช้รถรางประมาณกี่คน 
  • แผนที่เดินรถเป็นอย่างไร ใช้เวลาเท่าใดต่อรอบ แต่ละวัน รถที่มีรองรับได้กี่คน 
  • ความต้องการใช้รถเป็นเท่าใด ต้องมีกี่คนถึงจะพอ 
  • ค่าใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่อย่างไร 
  • ฯลฯ 
ทุกกลุ่ม หากจะได้คะแนนเต็ม ต้องศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการอย่างเป็นระบบครับ สู้ ๆ ครับ ... อยากรู้ข้อมูลที่แท้จริง มาแลกเปลี่ยนกัน