วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

งานพัฒนาอาจารย์ด้านการเรียนการสอน_๐๔ : การวัดผลประเมินผลการศึกษา เรียนรู้จาก ผศ.ดร.ญาณภัทร สีหะมงคล

ช่วงสุดท้ายของหลักสูตรวัดผลประเมินผลและออกข้อสอบเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ ๒๑ ได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ดร.ญาณภัทร สีหะมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาวิจัยและพัฒนาการศึกษา มหาวิทยาลัยหมาสารคาม

ก่อนจะเริ่มการอบรม ผมทำแบบทดสอบก่อนเรียนเกี่ยวกับการวัดผลประเมินและการออกสอบ จำนวน ๕๐ ข้อ ๕๐ คะแนน  หากท่านผู้อ่านที่อยากลองดู เชิญดาวน์โหลดที่นี่   โดยเฉพาะอาจารย์ท่านที่อยากจะทบทวนความรู้ที่เคยได้รับจากการอบรมในหลักสูตรนี้ 




ผลการสืบค้นพบว่า องค์ความรู้เรื่องการวัดและการประเมินด้านการศึกษาค้นหาได้ไม่ยากเลย เว็บที่มีข้อมูลครบถ้วนมากๆ คือเว็บไซต์ของอาจารพเยาว์ เนตรประชา (คลิกที่นี่)  



ในทางการศึกษา คำว่า "การวัดผล" มีความหมายแตกต่างจาก "การประเมินผล"   การวัดผลการศึกษา คือ กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งปริมาณที่แสดงเป็นตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่มีความหมายแทนคุณลักษณะหรือคุณภาพของสิ่งที่จะวัด  ส่วนการประเมินผลการศึกษา หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าหรือมูลค่าของสิ่งต่างๆ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่มีมาตรฐานซึ่งกำหนดขึ้นอย่างเป็นระบบ การประเมินผลอาจจะแสดงผลเป็นเชิงปริมาณหรือตัวเลข หรืออาจนำเสนอเป็นระดับคุณภาพก็ได้ .... สรุปสั้นๆ คือ การวัดผลจะต้องได้ผลเป็นตัวเลข ส่วนการประเมินผลจะต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน 


  • การวัดแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ การวัดทางกายภาพศาสตร์ หรือการวัดทางวิทยาศาสตร์ วัดสิ่งที่เป็นรูปธรรม เช่น ความยาว น้ำหนัก เวลา พื้นที่ ฯลฯ  และการวัดทางสังคมศาสตร์  วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น การวัดทางการศึกษา การวัดทางจิตวิทยา การวัดทางพฤติกรรมศาสตร์ เป็นต้น 



  • ขั้นตอนการวัด มาตรฐานอย่างน้อยต้องมี ๔ ขั้นตอนนี้  
    • ๑) เริ่มจากกำหนดคุณลักษณะที่จะวัดก่อน จะวัดอะไร K(knowledge) P (กระบวนการหรือทักษะ) หรือ A (Attitute) เจตคติ  
    • ๒) สร้างเครื่องมือวัด หรือเลือกเครื่องมือวัดที่เหมาะสมและมีคุณภาพ 
    • ๓) ดำเนินการวัด อย่างรอบคอบ ระมัดระวังปัจจัยภายนอกที่จะมีผลทำให้เกิดความคาดเคลื่อน 
    • ๔) สรุปและนำเสนอผลการวัด ต่อผู้ที่นำใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อไป 




  • การวัดทางการศึกษาเป็นการวัดที่จัดอยู่ในด้านการวัดทางสังคมศาสตร์ 
  • ลักษณะที่สำคัญของการวัดทางการศึกษา ที่สำคัญๆ คือ
    • เป็นการวัดทางอ้อม 
    • วัดได้เป็นบทางส่วน
    • ค่าที่ได้มีลักษณะเชิงเปรียบเทียบ 
    • มีความคลาดเคลื่อนเสมอ 
    • มารตวัดละเอียดไม่เพียงพอ
    • หน่วยที่ช้มีหลากหลาย มีขนาดไม่เท่ากัน 




  • สมการพื้นฐานของการวัดทางการศึกษา แสดงได้ด้วยสมการ  X = T + E  เมื่อ T คือค่าจริง (True) ส่วน E คือค่าคลาดเคลื่อน Error  
  • การวัดที่ได้ค่าคะแนนเท่ากัน เช่น นายแดงและนานเหลือง ได้ ๗ คะแนน  แต่หากความคลาดเคลื่อนสูงถึง ๔๐ เปอร์เซ็น นานแดงและเหลืองอาจมีคะแนนต่างกันถึง ๔ คะแนน ได้ 



  • จุดเน้นของการวัดผลประเมินผลด้านการศึกษา ที่สำคัญ  ได้แก่ 
    • ควรประเมินตามสภาพจริง ไม่ใช่ประเมินกับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่อยู่สภาพจริงๆ  
    • วัดผลประเมินให้ครบ ๓ ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ/กระบวนการ และคุณธรรมจริยธรรมหรือค่านิยม 
    • ควรวัดและประเมินผลควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้ ไม่ใช่รอประเมินหลังการเรียนรู้เท่านั้น 
    • เนื่องจากการวัดแต่ละเครื่องมือเป็นการวัดได้เพียงบางส่วน  จึงควรใช้การวัดด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อลดความคลาดเคลื่อนลง 




  • ไม่ควรเป็นการประเมินเพื่อสรุปผลหลังการเรียนรู้ (Summative) เช่น การสอบปลายภาคเรียนเท่านั้น  ควรมีการประเมินระหว่างการเรียนการสอนด้วย เช่น การทดสอบท้ายบทเรียน การทดสอบกลางภาคเรียน การสังเกตจากผลงานหรือชิ้นงาน หรือการสังเกตพฤติกรรม เป็นต้น 




  • สได์ด้านบนนี้ แสดงประโยชน์หรือความสำคัญของการวัดผลต่อผู้เรียนและผู้สอน 



  • กระบวนการประเมิน ควรมีทั้ง ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน โดยมีวัตถุประสงค์แต่ละช่วงแตกต่างกัน ดังนี้ 
    • การวัดก่อนเรียน  เพื่อ ให้ทราบความรู้และทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการเรียนรู้มโนทัศน์ใหม่มากน้อยเพียงใด  หากไม่มีหรือมีไม่พอ ผู้สอนต้องออกแบบการเรียนรู้เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเรียน 
    • การวัดระหว่างเรียน เพื่อตรวจสอบว่า ผู้เรียนเข้าใจมโทัศน์ใหม่ที่กำลังศึกษาหรือไม่ เข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่  ผู้สอนจะได้ปรับกระบวนการเรียนรู้ได้ทันที 
    • การวัดหลังเรียน  เพื่อตรวจสอบว่า ผู้เรียนเรียนรู้มโนทัศน์ใหม่ได้ครบถ้วนตามที่ได้ระบุไว้ในแผนการจัดการเรียนรู้หรือไม่และพร้อมที่จะเรียนรู้ในระดับต่อไปได้หรือไม่ 




  • กระบวนการทางการศึกษา มีองค์ประกอบ ๓ ประการได้แก่ เป้าหมายการเรียนรู้ (Objective) การจัดการเรียนรู้ (Learning Experience) และการประเมินผลการศึกษา  (Evaluation)
  • ทั้ง ๓ ส่วนต้องเชื่อมโยงสอดคล้องกัน 




  • การศึกษาให้การยอมรับทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม (Benjamin S. Bloom) และทีมงาน ซึ่งเสนอขอบเขตในการศึกษาเป็น ๓ ส่วน ได้แก่  การศึกษาให้เกิดปัญญา (จากการคิด) เรียกว่า พุทธิพิสัย (Cognetive Domain) การศึกษาให้เกิดทักษะ เรียกว่า ทักษะพิสัย (Psychromotor) และการศึกษาเพื่อพัฒนาเจตคติ เรียกว่า จิตพิสัย (Attitude) 



  • ในกรณีของรายวิชาศึกษาทั่วไป ส่วนที่เกี่ยวข้องมากที่สุดคือ การศึกษาพัฒนาปัญญาด้าน พุทธิพิสัย ๖ ขั้นตอนดังสไลด์ 





  • ลักษณะของพฤติกรรมตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม จะเป็นลำดับขั้น (Bloom Taxnomy)  ทักษะทางปัญญาที่สูงขึ้น จำเป็นต้องมีพื้นฐานทักษะทางปัญญามาตามลำดับก่อน 





  • ผมวาดรูปสรุการเรียนรู้ของตนเองอีกครั้งดังสไลด์ด้านบนนี้  
  • ความรู้จำแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม ความจำเนื้อหา กระบวนการ และความรู้รวบยอด (Concept)
  • ความเข้าใจ มี ๓ ลักษณะ ได้แก่ การแปลความ การตีความ และการขยายความ
  • การวิเคราะห์ แบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ การวิเคราะห์ความสำคัญ วิเคราะห์ความสัมพันธ์ และวิเคราะห์หลักการ
  • การประเมิน แบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ การประเมินตัดสินโดยใช้ข้อเท็จจริงในเรื่องและนอกเรื่อง 




  • เครื่องมือวัดหลักทางการศึกษามีเพียง ๔ ประเภท ได้แก่ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ และแบบสังเกต 
  • บางทีอาจมีผู้ใช้คำว่า แบบวัด เช่น แบบวัดความสามารถ แบบวัดภาคปฏิบัติ  ฯลฯ  เหล่านี้อาจเป็นการวัดจากการสังเกตเทียบกับเกณฑ์ ซึ่งก็คือแบบสังเกตนั่นเอง เช่น แบบสังเกตจากแฟ้มสะสมงาน สังเกตจากรายงานผล สังเกตจากการเขียนบันทึกสะท้อนผล การสังเกตพฤติกรรมการอภิราย แบบบันทึกการสังเกตแบบฝึกหัด ฯลฯ 



  • เครื่องมือประเมินที่นิยมใช้วัดด้านพุทธิพิสัย ได้แก่ แบบทดสอบ (ข้อสอบกลางภาค ปลายภาค) แบบสังเกตพฤติกรรม แบบสังเกตแฟ้มสะสมงาน แบบสัมภาษณ์ ฯลฯ 



  • เครื่องมือวัดสำหรับด้านทักษะพิสัย ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบ แบบสังเกตแฟ้มสะสมงาน ฯลฯ 



  • การวัดผลประเมินผลด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เครื่องมือที่นิยม ได้แก่ แบบสังเกตพฤติกรรม  แบบสอบถาม (การสำรวจ) แบบวัดเจตคติ (มักเป็นแบบสอบถาม) แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตผลงาน ฯลฯ 



  • คุณสมบัติของแบบทดสอบที่ดี มี ๕ ปริมาณ ได้แก่ ความเที่ยงตรง (Validity) ความเชื่อมั่น (Reliability) ความเป็นปรนัย (Objectivity) ความยาก (Difficulty) และ ค่าอำนาจจำแนก (Discrimination) 




  • ความเที่ยงตรง (Validity) หรือหากเป็นศิษย์จุฬาฯ มักเรียกว่า ความตรง ศิษย์ มศว. เรียกความเที่ยงตรง
  • ความเที่ยงตรง หมายถึง คุณภาพของเครื่องมือว่า สามารถวัดคุณลักษณะที่ต้องการจะวัด (วัตถุประสงค์ของการวัด) ได้หรือไม่ วัดได้ครอบคลุม ครบถ้วน และสอดคล้องกับคุณลักษณะจริงๆ หรือไม่  ถือเป็นปริมาณที่สำคัญที่สุดของแบบทดสอบ  




  • ความเที่ยงตรงแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่ 
    • ความเที่ยงตรงตามเนื้อหา (content validity)  บอกว่า ข้อสอบนั้นสามารถวัดได้ตรงตามวัตถุประสงค์ตามหลักสูตร วัดเนื้อหาได้ครบถ้วน ครอบคลุมมากเพียงใด 
    • ความเที่ยงตรงตามเกณฑ์สัมพันธ์ (Criterion-Relate Validity) มีสองส่วน ได้แก่ 
      • ความเที่ยงตรงตามสภาพ (Concurrent Validity) บอกว่า ข้อสอบนั้นสามารถวัดได้ตรงตามสภาพจริงได้หรือไม่  หลังการวัดต้องนำผลการวัดไปเปรียบเทียบกับสภาพจริงที่เกิดขึ้น  ... เหมือนการทวนสอบคำตอบ 
      • ความเที่ยงตรงตามการพยากรณ์ (Predictive Validity)  บอกว่า เครื่องมือนั้นสามารถวัดได้ตรงตามเหตุการร์ที่จะเกิดขึ้นภายหน้าได้ 
    • ความเที่ยงตรงเชิงโครงสร้าง (Construct Validity) บอกว่า เครื่องมือสามารถวัดพฤติกรรมและสมรรถนะต่างๆ ครบถ้วนตามจุดมุ่งหมายและเป็นไปตามทฤษฎีอย่างครบถ้วน 



  • ความเชื่อมั่น (Reliability) หมายถึง ความคงเส้นคงวาของคะแนนในการวัดแต่ละครั้ง  เครื่องมือที่มีความเชื่อมั่นสูง คือ เครื่องมือที่วัดครั้งใดๆ ก็ได้ผลเหมือนเดิม 



  • ปัจจัยที่มีผลต่อความเชื่อมั่นของข้อสอบ ๗ ประการคือ ความเป็นเอกพันธ์ของผู้ตอบ จำนวนผู้ตอบ จำนวนข้อคำถาม ตัวผู้ตอบ การให้คะแนน สภาพแวดล้อม และค่าอำนาจจำแนกและความยากของข้อสอบ 



  • การวัดความเชื่อมั่นของข้อสอบ สามารถทำได้หลายวิธี เช่น 
    • การวัดความคงที่ (Stability) ใช้เครื่องมือนั้นวัดซ้ำๆ ผลการวัดใกล้เคียงกันคือมีความเชื่อมั่นสูง
    • การวัดความสมมูลกัน (Equivalence) ใช้แบบทดสอบคู่ขนาน วัดในเวลาไล่เลี่ยกัน
    • การวัดความสอดคล้องภายใน ด้วยสถิติของ Richardson (KR20) หรือ วิธีของ Cronbach (alpha Coefficient)



  • ความเป็นรนัยสูง หมายความว่า ทุกๆ ฝ่าย มีความเห็นสอดคล้องกันในเรื่องของคำถาม การประเมิน เกณฑ์การประเมิน ซึ่ง จำเป็นที่ข้อสอบจะต้องมี
    • คำถาม หรือ ข้อคำถาม ที่มีความชัดเจน 
    • การให้คะแนนตรงกัน มีเกณฑ์การให้คะแนนแน่นอน ไม่ขึ้นกับอารมณ์หรือเวลาที่ตรวจ
    • การแปลความหมายของคะแนนที่ตรงกัน มีเกณฑ์การแปลความหมายของคะแนนชัดเจน 




  • ค่าอำนาจจำแนกของข้อสอบ  คือความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งที่วัดได้อย่างชัดเจน สามารถแบ่งแยกผู้เรียนออกได้ทุกระดับ ตั้งแต่ เก่ง กลาง อ่อน 
  • ความยากง่าย (Difficulty) แทนด้วยสัญลักษณ์ p  เรียกว่า ค่าพี ข้อสอบที่ดีควรมีค่า p อยู่ในช่วง 0.20 - 0.80 
  • ความยุติธรรม (Fair) คือ ลักษณะของข้อสอบที่ไม่สร้างความได้เปรียบให้กับผู้เข้าสอบกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  



  • แบบทดสอบเป็นเพียงสิ่งเร้าให้เราสังเกตพฤติกรรมได้ 



  • ข้อสอบแบบปรนัย ไม่ได้มีแต่แบบเลือกตอบ หลายตัวเลือกเท่านั้น  ข้อสอบแบบถูก-ผิด แบบจับคู่ ก็เรียกว่าข้อสอบปรนัย 



  • ข้อสอบแบบปรนัย มีหลายแบบ แบบคำถามเดี่ยว แบบตัวเลือกคงที่ หรือแบบสถานการณ์ 



  • ขั้นตอนในการทำข้อสอบ มีถึง ๗ ขั้นตอน  เริ่มจาก การวิเคราะห์หลักสูตรและจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตร -> กำหนดรูปแบบข้อคำถาม -> เขียนข้อสอบ -> ตรวจทานข้อสอบ -> ตรวจสอบความเที่ยงตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ -> นำไปทดลองใช้และวิเคราะห์หาคุณภาพ ค่าพีค่าอาร์  -> คัดเลือก ปรับปรุง และจัดชุดข้อสอบ 




  • การจัดทำข้อสอบแบบอิงเกณ์ มีขั้นตอนเพิ่มขึ้นเป็น ๘ ขั้นตอน เริ่มจาก การวิเคราะห์หลักสูตรและจัดทำตารางวิเคราะห์หลักสูตร -> กำหนดพฤติกรรมย่อย  -> กำหนดรูปแบบข้อคำถาม -> เขียนข้อสอบ -> ตรวจทานข้อสอบ -> ตรวจสอบความเที่ยงตรงโดยผู้เชี่ยวชาญ -> นำไปทดลองใช้และวิเคราะห์หาคุณภาพแบบอิงเกณฑ์  -> คัดเลือก ปรับปรุง และจัดชุดข้อสอบ 



  • ลักษณะของข้อสอบที่ดีมี ๗ ประการ ได้แก่ ตรงวัตถุประสงค์ เป็นประโยคคำถามที่สมบูรณ์ มีความเป็นปรนัย ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย หลีกเลี่ยงคำปฏิเสธ มีความยุติธรรม และไม่แนะนำคำตอบ 



  • การหาคุณภาพข้อสอบ มีลำดับขั้นดังสไลด์นี้ 



  • การหาความเที่ยงตรง ที่นิยมคือ วิธีการถามผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อถามความเห็นว่า ข้อสอบข้อนั้นตรงกับวัตถุประสงค์หรือไม่ เรียกว่า วิธี Index of Consistancy  (IOC) 




  • ค่าความยาก คำนวณจากสูตรดังสไลด์ด้านบนนี้ 



  • ในกรณีที่จำนวนผูสอบมีจำนวนมาก นิยามจัดเอาเฉพาะผู้ตอบกลุ่มบนและกลุ่มล่างเท่านั้น ไม่ใช้จำนวนนิสิตทั้งหมด



  • ค่า p เท่ากับ 1.00 หมายถึง ตอบถูกทุกคน  ค่า p 0.80 หมายถึง ร้อยคนตอบถูก 80 คน 



  • ค่าอำนาจจำแนก r ยิ่งมากยิ่งดี ค่าอำนาจจำแนก 1.0 หมายถึง จำแนกได้อย่างสมบูรณ์ 











ในหลักสูตร เวลาส่วนใหญ่เป็นการ Workshop ออกข้อสอบ  แล้วนำเสนอ วิพากษ์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  ผม AAR ว่า น่าจได้ผลไม่มากก็ไม่น้อย 

ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ญาณภัทร สีหะมงคล อีกครั้งครับ 







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น