จุดเด่นของหลักสูตร วท.บ. ฟิสิกส์ (พ.ศ. ๒๕๕๖)
หลักสูตรก่อนปี ๒๕๕๖ วท.บ. ยังไม่มีการฝึกงาน การปรับให้มีทั้งการฝึกงานและการทำซีเนียร์โปรเจ็ค (Senior Project) เป็นเรื่องที่ผู้ปรับปรุงถกเถียงกันอยู่นาน มาวันนี้น่าจะได้พิสูจน์แล้วว่า การตัดสินใจให้มีทั้งสองอยู่ในหลักสูตรนั้น เป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะ
- การฝึกงาน ทำให้นิสิตได้เห็นปัญหาจริง ได้สัมผัสกับความต้องการและลักษณะหน้างานจริงๆ เป็นการพิสูจน์ด้วยตนเองว่า ความคาดหวังในการประกอบอาชีพของตนในอนาคตนั้น ถูกต้องหรือไม่
- การฝึกงานน่าจะเป็นการค้นหาปัญหาและพัฒนาโจทย์สำหรับนำมาศึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบในรายวิชาซีเนียร์โปรเจ็ค
- การฝึกงานทำให้นิสิตได้เรียนรู้จากการทำงาน (Work-based Learning) หรือ เรียนรู้บูรณาการกับการทำงานจริง (Work Integrated Learning) ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้นิสิตได้รับประสบการณ์ (Experience) จริงๆ .... นี่คือการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ใกล้เคียงกับการเรียนรู้จากของจริง ได้ประสบการณ์จริง (Authentic Experience)
- การฝึกงาน เป็นสนามพัฒนา "จริยะทักษะ" (Soft Skills) ด้วย ในขณะที่นิสิตได้ทดลองนำความรู้และทักษะเกี่ยวกับสาขาวิชา ที่เรียกว่า "สมรรถนะทักษะ" (Hard Skills) ไปด้วย
- การไปฝึกงานของนิสิตที่มีทักษะและความสามารถเพียงพอนั้น สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรหรือชุมชนที่เป็นแหล่งฝึกงาน จึงเป็นการทำงานร่วมกันของมหาวิทยาลัยชุมชนหรือสังคม ได้ประโยชน์ร่วมกัน เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และหากเกิดผลกระทบต่อแหล่งฝึกงานอย่างเป็นรูปธรรมจริงๆ การฝึกงานของนิสิตก็ถือได้ว่า เป็น Social Engagement หรือ Public Engagement ที่ดีอย่างหนึ่ง (เรียกว่า มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม)
หลังจากไปนิเทศการฝึกงานของนายกัมพล จักรนารายณ์ ที่โรงเรียนท่าขอนยางพิทยาคมวันนี้ ผมค่อนข้างมั่นใจว่า สิ่งที่ผมได้กล่าวมาทั้ง ๕ ประการนั้น ไม่เกินความจริงมากนัก
สิ่งที่ได้ทำในการมาฝึกงาน
- ได้ออกแบบและสร้างปฏิบัติการทดลอง ซึ่งเป็นความต้องการของโรงเรียน
- ได้เป็นผู้ช่วยซ้อมฟุตบอลให้น้องๆ
- เป็นพี่ช่วยสอนเสริมทักษะคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ให้น้องๆ
- บางครั้งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สอนย่อเกีย่วกับปฏิบัติการ (ฺBrief Lab) ให้น้องๆ ก่อนเริ่มใช้เครื่องมือที่ตนเองพัฒนาขึ้น
สิ่งที่ควรชื่นชม
- กัมพล สามารถเซ็ตแลป (สร้างปฏิบัติการทดลอง) ได้ถึง ๗ ปฏิบัติการ ในเวลาเพียงเดือนเศษ ต้องขอชมเชยในความพยายามและความทุ่มเท เสียสละ
- อาจารย์พี่เลี้ยง (อ.อภิชาติ ภูหัวดอน) พอใจและชื่นชมมาก ในนามของภาควิชาฯ และคณะฯ ก็ภูมิใจด้วย นี่คือความสำเร็จประการหนึ่ง
- การเสียสละเวลา ช่วยสอนเสริมทักษะด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เป็นสิ่งที่น่าชื่นชม
- น้องๆ ที่มาฝึกงาน ต้องอดทน
- ต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ และพี่ๆ ร่วมงานให้ได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น