วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

mini-UKM #19 @MSU (๔) เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ (ต่อ ๒) เทคนิคการตั้งคำถามเพื่ออภิปรายและการประเมิน

แม้จะผ่านเวลามาเป็นเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังอยากแบ่งเวลามาจับประเด็นเรื่อง เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ จากหนังสือเรื่อง สอนอย่างมือชั้นครู อีกเพราะผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้คือ "ต้นแบบ" ของ "บทเรียน" ที่ควรจะได้จากเวที mini-UKM ครั้งถัดไป

บันทึกนี้ อยู่ที่ "เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการอภิปราย" คือพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงคือ วิเคราะห์และสังคม และทักษะการตั้งคำถามเพื่อการประเมินค่า ดังนี้

วิธีการสอนของโซกราตีส (Socratis Method)

ปราชญ์ผํู้มีชื่อเสียงที่สุดที่มีชื่อเสียงเรื่องการสอนด้วยการตั้งคำถามคือ โซกาตีส (Socratis) จนวิธีการสอนแบบนี้ถูกเรียกว่า "วิธีของโซกราตีส"  มีขั้นตอนสำคัญๆ ดังนี้

  • เริ่มด้วยคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า โดยเลือกคำถามที่นิสิตผู้ตอบต้องแสดงจุดยืนหรือแนวความคิดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คำถามความรู้ความจำ 
  • อาจารย์ถามต่อโดยจี้ไปที่จุดอ่อนหรือข้อยกเว้นของแนวความคิดนั้น ให้นิสิตโต้ตอบ และให้ทางเลือก ๒ ทางกับนิสิต คือ ให้เหตุผลและหลักฐานยืนยันหรือให้จุดยืนใหม่ 
  • จากนั้นอาจารย์ให้อาจารย์บอกจุดอ่อนหรือข้อยกเว้นของคำตอบของนิสิตอีก แล้วให้นิสิตโต้ตอบ 
  • ดำเนินการแบบนี้ไปเรื่อยๆ  สักระยะหนึ่ง 
อาจารย์ที่จะใช้เทคนิคนี้ ต้องฝึกภาษาท่าทางของการตั้งคำถามอย่างนอบน้อม ไม่ทำให้นิสิตรู้สึกว่าถูกรุกให้จนมุม หรือทำให้ดูเป็นคนโง่ อ่อนด้อย  และให้ย้ำบ่อยๆ ว่า เป็นกระบวนการฝึกเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน

ถามไต่บันไดของบลูม

ทุกท่านคงเริ่มคุ้นชินกับ บันได ๖ ขั้น ของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธพิสัย ๖ ขั้น ของบลูมดังภาพ


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ ๖ ระดับของบลูม


คำถาม ๔ กลุ่ม ของ MacKeachie

MacKeachie เสนอหลักในการตั้งคำถาม ว่า ให้แบ่งคำถามออกเป็น ๔ กลุ่ม คล้ายๆ กับการถามไต่บันไดของบลูม ดังนี้

  • คำถามเปรียบเทียบ
  • คำถามเชิงประเมิน  เป็นการต่อยอดจากการเปรียบเทียบไปสู่การตัดสิน
  • คำถามเชื่อมโยงหรือหาสาเหตุ เป็นการฝึเชื่อมโยงข้อเท็จจริง หลักการ ความสัมพันธ์ ผู้เขียน และทฤษฎีเข้าหากัน โดยอาจให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของผู้เรียน 
  • คำถามเจาะลึก (Critical) เช่น ให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบ หรือ ให้หาหลักฐาน (Evidence) ที่มีผู้เสนอ หรือให้วิพากษ์ข้อคิดเห็นของผู้พูดคนก่อนหน้า 
คำถามที่มีโมเมนตัม (Linda B. Nilson)

เป็นคำถามที่จะทำให้ได้ฝึกคิดขั้นสูง (วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน)  มี ๗ ประเภท ได้แก่
  • ขอหลักฐานเพิ่ม
  • ขอให้ทำให้คำถาม หรือประเด็นชัดเจนขึ้น
  • คำถามเชิงเหตุ-ผล
  • คำถามเชิงสมมติฐาน
  • คำถามเปิด
  • คำถามที่เชื่อมโยงกับเรื่องเดิม 
  • คำถามเชิงสังเคราะห์หรือสรุป
คำถามชนิดบินไกล (Linda B. Nilson)

เป็นคำถามที่ทำให้ผู้เเรียนเกิดการเรียนรู้มาก ขยายความรู้ 
  • คำถามเพื่อระดมความคิด
  • คำถามให้เลือกและปกป้องตัวเลือก  โดยให้เลือกคำตอบจากหลายตัวเลือก แล้วให้ตอบพร้อมแสดงหลักฐาน 
  • คำถามสนามประลอง  เป็นคำถามที่มักถามต่อจากใบงาน เพื่อให้นิสิตได้ค้นคว้า ตีความ ตามประเด็น ต่อไป  เช่น ผู้เขียนต้องการอะไร ผู้เขียนใช้สมมติฐานอะไร จะเกิดอะไรขึ้นหาก....
คำถามที่เลว

  • คำถามทวนความจำ ควรมีเป็นระยะ ในประเด็นสาระสำคัญๆ  แต่คำถามทวนความจำที่ไม่ดี ได้แก่
    • คำถามที่มีคำตอบถูกคำตอบเดียว
    • คำถามที่มีคำตอบเดียว หรือคำตอบสั้นๆ  เช่น เชื่อคน สถานที่ วันที่ ฯลฯ
  • คำถามที่ไร้ประโยชน์ คือคำถามที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน และตัวคำถามไม่ชัดเจน หรือสร้างความสับสนให้นิสิต คำถามเหล่านี้เป็นโทษต่อการเรียนรู้ เช่น
    • คำถามที่ไม่ชัดเจน
    • คำถามที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรแบบแผนหรือทิศทาง
    • คำถามที่อาจารย์คาดหวังได้คำตอบเดียว
    • คำถามเพื่อโชว์ลวดลาย (อัจฉริยะ) ของผู้ถามหรือของผู้ตอบ
    • คำถามที่ต้องการคำตอบถูกผิด 
    • ฯลฯ
สุดท้ายของบทเรียนนี้  ท่านแนะนำให้ "กลับด้านคุณอำนวย" คือ แทนที่อาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ออกแบบ และสร้างคำถามต่างๆ  อาจารย์อาจมอบหมายให้นิสิตทำหน้าที่นี้ในลักษณะกลุ่ม คือ ร่วมกัน ออกแบบแผนการอภิปราย เช่น กิจกรรม ข้อสอบ ข้อเขียนหรือเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปราย ฯลฯ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น