วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๑ (๑) BAR

ปีการศึกษา ๑-๒๕๖๑ รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนครั้งใหญ่พอสมควร  ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการทดลองทำ Team Teaching ในรายวิชาศึกษาทั่วไป  เราออกแบบให้เป็นชั้นเรียนขนาดใหญ่ นิสิต ๓๐๐ คน เรียนรวมกัน สัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง (๒(๑-๒-๓)) มีอาจารย์ผู้สอนประจำ ๕ ท่าน ได้แก่
  • ผศ.ดร.ธรินธร นามวรรณ  คณะศึกษาศาสตร์  หัวหน้าภาควิชาบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.กาญจน์ เรืองมนตรี คณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสอนการบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.พีระศักดิ์ วรฉัตร คณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ผู้สอน สาขาวิชาบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.ชลธี โพธิทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
  • อ.ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม คณะวิทยาศาสตร์ รองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป 
ตกลงกันว่า ภาคการศึกษานี้เราจะจัดการเรียนรู้แบบเป็นทีม หรือ Team Teaching เมื่ออาจารย์ทุกท่านเข้าใจแนวกระบวนการเดียวกันแล้ว ค่อยพิจารณาปรับแยกกลุ่มการเรียนต่อไปในภาคเรียนหน้า 

คำอธิบายรายวิชา 

การพัฒนาบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ ลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ การเตรียมความพร้อมในการทำงานทักษะในการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้จากการทำโครงการ การวางแผน การเขียนข้อเสนอโครงการ การนำเสนอ และประเมินผลโครงการ

Personality development, leadership, career preparation, team-working skill, project-based learning, planning, project proposal writing, presentation, and project evaluation


จุดมุ่งหมายการเรียนรู้

จุุดมุ่งหมายของรายวิชาฯ มีทั้งหมด ๒๑ ข้อ แบ่งเป็นจุดมุ่งหมายเฉพาะของรายวิชาที่สอดคล้องกับ คำอธิบายรายวิชาฯ ๖ ข้อแรก และสอดคล้องกับมาตรฐานตามกรอบ TQF ของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (มคอ.๒) ทั้งหมด ๑๕ ข้อ  รายละเอียดรายวิชา   สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

BAR

เราทำกิจกรรมทบทวนก่อนการปฏิบัติการ (Before Action Review) ด้วยคำถาม ๔ คำถาม คือ ๑) ทำไมจึงมาเรียนรายวิชานี้ ๒) ผู้นำที่ดีต้องมี..ต้องเป็น...อย่างไร ๓) ต้องการหรือคาดหวังอะไรจากรายวิชานี้ และ ๔) อะไรที่จะทำให้ไม่บบรรลุผลนั้น ดังภาพ


ในการพบกันครั้งแรก มีนิสิตเข้าเรียนเพียง ๑๑๗  คน  ตอบคำถามสรุปได้ ดังนี้

ทำไมจึงมาเรียนรายวิชานี้ 

สามารถจำแนกคำตอบได้เป็น ๔ ประเด็นหลักๆ ดังนี้

  • นิสิต ๔๒ คน ตอบว่า มาเรียนเพราะต้องการจะเก็บหน่วยกิตให้ครบ หรือ มาลงเพราะจำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนอะไรสักอย่าง หรือไม่มีวิชาอื่นให้ลง 
  • นิสิต ๒๘ คน บอกว่า ต้องการนำเอาความรู้และทักษะที่ได้จากรายวิชานี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือในอนาคต 
  • นิสิต ๒๕ คน บอกว่า ลงทะเบียนตามเพื่อน เพื่อนแนะนำ หรือรุ่นพี่แนะนำมา 
  • นิสิต ๒๒ คน บอกว่าสนใจ อยากรู้ อยากเรียนรู้  จึงมาลงทะเบียนเรียน 
สังเกตว่า นิสิต ๗๐ คน ยังไม่มีเป้าหมายในการเรียนที่แน่ชัด ทั้งที่ขณะนี้ งานวิจัยยืนยันแล้วว่า คนที่มีเป้าหมายชัดเจนกว่า จะประสบผลสำเร็จในชีวิตมากกว่า

ผู้ที่ดีที่สุดจะต้อง..... (มีอะไร/เป็นอะไร)


ต่อไปนี้คือคำตอบของนิสิต ก่อนเรียน เมื่อถามว่า ผู้นำที่ดีที่สุดจะต้องเป็นอย่างไร โดยให้เวลาเขียนอย่างรวดเร็วภายใน ๑ นาที นำคำตอบของนิสิตมาดู พบสิ่งที่น่าในใจ ดังนี้

  • ในจำนวน ๑๑๗ คน มีนิสิตที่เขียนตอบว่า ผู้นำที่ดีที่สุดต้องมีความ "ซื่อสัตย์" ถึง ๔๕ คน ในจำนวนนี้มี ๖ คน ที่นึกถึงคำว่า "ซื่อสัตย์" เป็นอันดับแรก 
  • ๑๐ คุณสมบัติของผู้นำที่ดีที่สุดที่นิสิตตอบ ได้แก่
    • ซื่อสัตย์
    • กล้าตัดสินใจ
    • มีความรับผิดชอบ
    • เป็นแบบอย่าง
    • มีอุดมการณ์
    • ริเริ่มสร้างสรรค์
    • มีวินัย 
    • พูดเก่ง
    • แก้ปัญหา
    • ไม่เห็นแก่ตัว
จะเห็นว่านิสิต (๑๘-๒๐ ปี น่าจะเป็นนิสิตปี ๒) รู้ว่าผู้นำที่ดีมีลักษณะอย่างไร หากพวกเขาเหล่านี้ออกไปร่วมเลือกผู้นำของสังคมอย่างพร้อมเพียง ประเทศไทยจะได้ผู้นำที่ดีๆ เป็นแน่

คาดหวังอะไรจากรายวิชานี้ 
  • มีนิิสิตถึง ๖๙ คน เขียนตอบว่า คาดหวังเกรด A 
  • ที่เหลือเกือบทั้งหมด ๔๗ คน บอกว่า คาดหวังที่จะได้ความรู้หรือทักษะเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินชีวิตในอนาคต
  • มีนิสิต ๑ คน เขียนตอบว่า "ต้องการจะเป็นผู้นำทางด้านความคิดและการตัดสินใจ" 
สังเกตว่า เกือบทั้งห้องเรียน (วันนั้น ๑๑๗ คน) แทบจะไม่มีใครตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะเป็นผู้นำแบบชัดๆ เลย 

อุปสรรคอะไรที่จะทำให้ไม่บรรลุผล

นิสิตส่วนใหญ่ตอบไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด คือ การมองไปที่พฤติกรรมของตนเอง  เช่น 
  • ความขี้เกียจ ไม่ขยัน
  • การไม่ตั้งใจเรียน 
  • ขาดเรียน
  • การไม่ส่งงาน ไม่รับผิดชอบ
  • ไม่อ่านหนังสือ
  • ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตอบ  ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตนเอง
  • เล่นโทรศัพท์
  • ไม่ไปสอบ
  • ไม่พยายาม
  • ไม่ตั้งเป้าหมาย ผลัดวันประกันพรุ่ง
  • ไม่เอาใจใส่
  • ไม่อดทน
  • ไม่ลงมือปฏิบัติ
  • ไม่ทำงานช่วยเพื่อน
มีนิสิตเพียงคนเดียวที่เขียนเกี่ยวกับปัจจัยอื่น คือ เขียนว่า "อาจารย์ไม่ช่วย ให้คะแนนน้อย" ...

นอกจากกิจกรรม BAR แล้ว วันแรกที่เจอกัน เรายังได้ทำกิจกรรมทดสอบความรู้เกี่ยวกับผู้นำในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเปิดภาพให้ดูสั้นๆ แล้วให้นิสิตให้คะแนนตนเอง ดังนี้ 
  • ๑ คะแนน ถ้ารู้จัก และรู้ด้วยว่า คนในรูปเป็นใคร เป็นผู้นำอะไร ได้รับการยอมรับเรื่องอะไร 
  • ๐ คะแนน หากพอรู้ เคยรู้ รู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้นำอะไร หรือผู้นำใคร ด้านใด 
  • -๑ คะแนน ถ้าไม่รู้จักเลย ไม่รู้ชื่อ  
ภาพที่นำเสนอมีดังนี้ 























ถ้านิสิตได้คะแนนเต็ม ตอบถูกทุกรูป จะได้คะแนน ๓๓ คะแนน (วลาเดเมียร ปูติน นับซ้ำ ๑ ครั้ง)  สรุปผลการตอบ ที่น่าสนใจ ดังนี้ 
  • มีนิสิตที่ได้คะแนนเป็นบวกเพียง ๒๐ คน จาก ๑๑๗ คน เท่านั้น 
  • คะแนนสูงสุด ๑๓ คะแนน คือ นายภูมินันท์ ภูมี นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง รองลงมา ๑๑ คะแนน คือนายปณวัชร สายโสภา นิสิตระบบพิเศษ คณะนิติศาสตร์ 
  • นายภูมินันท์ บอกว่า ที่มาเรียนรายวิชานี้ เพราะต้องการความรู้และทักษะการเป็นผู้นำไปในการเรียน การทำกิจกรรม และการทำงาน 
  • คะแนนติดลบมากที่สุด -๒๒ คะแนน รองลงมาคือ -๒๐ คะแนน  รวมๆ แล้วคนได้คะแนนติดลบคิดเป็นมากกว่าร้อยละ ๘๐ 
สังเกตว่า นิสิตเกือบทุกคนจะรู้จักผู้นำที่เป็นดารานักร้อง หรือเรื่องราวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์  แต่ไม่ค่อยรู้จักผู้นำของประเทศ ยกเว้นแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เท่านั้นที่ทุกคนรู้จัก ....  ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา หากนำเอาแบบทดสอบนี้ไปทดสอบตอนผมเรียนอยู่ตอน ป.ตรี  คงได้คะแนนติดลบท๊อปล่างเป็นแน่เทียว ....

สำหรับนิสิตที่ลงทะเบียนช้า ให้ลองอ่านทำความเข้าใจบันทึกนี้ แล้วทำกิจกรรมด้วยตนเอง เขียนลงในกระดาษ A4 นำมาส่งครับ 


(คาบเรียนใน ๒ สัปดาห์ถัดมา)








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น