วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไม่น่าเชื่อ !!!! ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้เรื่องนี้หลังจากที่เหลือชีวิตไม่ถึงครึ่งชีวิต (๑)

ไม่น่าเชื่อ !!!  ผมเพิ่งจะมามีโอกาสศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คราวนี้ ทั้งที่เคยได้ยินเรื่องนี้มาสัก ๕ ปีแล้วได้ ...  "พระพุทธอุบัติภูมิแท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ในอินเดีย"...
สิ่งที่ผมสืบค้นได้ทางเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด เป็นการอภิปรายโต้เถียงกันไปมา จับได้ ๔ ประเด็นว่า 
  • พระพุทธอุบัติภูมิ (การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า) อยู่ที่อินเดีย .... ผู้เสนอเรื่องนี้เป็นฝรั่งชาวอังกฤษ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย  
  • พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่ได้อยู่อินเดีย .... 
  • พระพุทธอบัติภูมิ อยู่ที่สุวรรณภูมิ .... ผู้เสนอเรื่องนี้ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยยงค์ พรมวงศ์ บอกว่า แท้จริงแล้วชมพูทวีปน่าจะอยู่ที่สุวรรณภูมิ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ 
  • พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่อยู่ที่สุวรรณภูมิ .... กลุ่มที่บอกแบบนี้คือผู้ที่เข้ามาตอบโต้ ศาสตราจารย์.ดร.ชัยยงค์ และผู้สำคัญว่าตนเองรู้ดีกว่าซึ่งเข้ามาตอบตามกระทู้ต่างๆ ในหลากหลายเว็บไซต์
ขอยกเอาหลักฐานและการอธิบายยืนยันของแต่ละฝ่าย โดยหยิบเอาเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าน่าเชื่อถือของแต่ละประเด็นดังนี้ครับ 
พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่อินเดีย (อุตตรประเทศ)
  • ประมาณปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.๒๔๑๙) เซอร์ อเล็กเซาเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham) บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย ได้ขุดค้นศึกษาที่เมือง Sahet Mahet และบอกว่านี่นั่นคือกรุงกบิลพัศดุ์ (Kapilavastu) และบอกว่า สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหรือสวนลุมพินีวันอยู่ที่เมือง Piprahawa  
  • ในปี ค.ศ. 1895-6 ดร.แอนตัน ฟูเลอร์ (Alois Anton Führer) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน พบว่า สถานที่ประสูติไม่ใช่ที่เมือง Piprahawa ของอินเดีย แต่อยู่ที่เมือง Tilaurakot ของประเทศเนปาล  ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบันทึกของนักเดินทางชาวจีนที่ไปแสวงบุญชื่อ Fha Hien ในศตวรรษที่ ๕ และ Huen Tsian (พระถังซัมจั๋ง) ในศตวรรษที่ ๗ (อ้างอิงที่นี่)  ...  มีข้อสังเกตว่า ดร.แอนตัน ฟูเลอร์ ได้รับการมอบหมายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลให้มาทำการศึกษาครั้งนั้น หลังจากอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม บอกว่าลุมพินีอยู่ที่อินเดีย
  • ปี ค.ศ.1899 นักโบราณคดีชาวอินเดียชื่อ Dr. P.C. Mukherjee ศึกษาลงละเอียดที่เมือ Tilaurakot พบคลองคูน้ำรอบๆ เนิน พบประตูทางตะวันออก พบสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซากปรักหักพังต่างๆ ในป้อม 
  • ปี ค.ศ. 1961-2 Debala Mitra แห่ง Archaeological Survey of India (ASI) มาศึกษาตามคำเชิญของรัฐบาลเนปาล (นัยว่าเอาให้ชัดๆ ไปเลย) Mitra พบว่า วัตถุโบราณต่างๆ เช่น เครื่องเงิน ทองแดง ดินเผา รูปแกะสลักคนหรือสัตว์ หิน ลูกปัด กำไล ฯลฯ  ทั้งหมดมีอายุไม่ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ปี ก่อนคริสตจักร เท่านั้น ... นั่นหมายถึง เมือง Tilaurakot อาจไม่ใช่กรุงกบิลพัศดุ์ 
  • ในปี ค.ศ.1967 เป็นต้นมา รัฐบาลเนปาลได้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังต่อเนื่อง ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศต่างๆ และขอความร่วมมือจากหน่วยงาน UNESCO 
  • ปี ค.ศ. 1996-7 นักโบราณคดีของ UNESCO ชาวอังกฤษคือ Dr. Robin Coningham ร่วมกับ Dr. Armin Schmidt และ Kosh Acharya พบกองเหรียญกษาปน์โบราณ กับเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่เก่าแก่พอที่จะยืนยันได้ว่า กบิลพัสดุ์ อยู่ที่ Tilaurakot และ UNESCO ก็ประกาศให้บริเวณนี้เป็นมรดกโลกในปี 1997 (อ้างอิงที่นี่ และ ที่นี่)
นั่นหมายถึง มีการยืนยันและรับรองจาก UNESCO ว่า กรุงกบิลพัศดุ์อยู่ที่เนปาล โดยใช้วิธีพิสูจน์ว่า วัตถุโบราณนั้นเก่าพอที่จะอยู่ในช่วง ๖๐๐ ปีก่อนคริสตจักรหรืออยู่ในช่วงสมัยพุทธกาลหรือไม่ .... ข้อสังเกตว่า นักโบราณคดีไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับพระไตรปิฎกที่พุทธศานิกชนนิกายเถรวาทเท่าใดนัก 
พระพุทธอุบัติภูมิไม่ได้อยู่ที่อินเดีย
กลุ่มนักวิชาการไทยที่ "สงสัย" และทำวิจัยเรื่องนี้มีหลายท่าน นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ ท่านเผยแพร่ผลงานโดยตรงลงบนเว็บไซต์ http://www.buddhabirthplace.net/ หรือมีผู้นำมาเผยแพร่ต่อพอสมควร เช่นที่นี่ และอธิบายผลงานของทีมวิจัยทางยูทูป ดูได้ที่นี่  ผมฟังแล้ว จับประเด็นที่ท่านบอกว่า อินเดียไม่ใช่พระพุทธอุบัติภูมิ (นัยว่า แน่นอน ท่านมั่นใจมาก)
  • เมื่อเปรียบเทียบระยะทางระหว่างเมืองที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งต่างๆ ของโบราณสถานที่อ้างโดยนักโบราณคดีอินเดีย  เช่น ในพระไตรปิฎก บอกว่า กรุงพาราณาสี ห่างจากตักสิลา ๑๐ โยชน์ หรือเท่ากับ (๑๐x๑๖) ๑๖๐ กิโลเมตร เท่านั้น ในขณะที่เมืองตักสิลาที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบัดในประเทศปากีสถานห่างจากเมืองพาราณาสี ๑,๓๔๗ กิโลเมตร (วัดโดยใช้แผนที่อากู๋) หรือประมาณ ๘๗ โยชน์ ซึ่งไม่ตรงกัน เป็นต้น .... ด้วยหลักฐานนี้ก็ตัดสินแล้วว่า  ถ้าใครเชื่อพระใตรปิฎกก็ต้องเชื่อว่าอินเดียไม่ใช่พระพุทธอุบัติ ถ้าใครเชื่อหลักฐานของฝรั่งก็ต้องอธิบายกันต่อไป   

  • ในพระไตรปิฎกบอกว่า ทิศทางระหว่างกุสินาราไปราชคฤห์ต้องผ่านสาวัตถี ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งของเมืองต่างๆ ในโบราณสถานที่อินเดีย 

  • เมืองสาเกต อโยธยา อยู่ห่างจาก สาวัตถีและเมืองโกสัมพี ไม่ตรงกับที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎก สาเกตถึงสาวัตถี ควรเป็น ๗ โยชน์ แต่ที่อินเดีย ๕ โยชน์ ส่วนสาเกตถึงโกสัมพี ควรจะเป็น ๖ โยชน์ แต่ที่อินเดีย ๑๐ โยชน์ 

  • ในพระไตรปิฎกบอกว่า เมืองกบิลพัสดุ์อยู่ที่แคว้นสักกะ ส่วนกุสินาราย (ศ.ชัยยงค์ ท่านบอกว่าเพี้ยนมา กุสินารา) อยู่ที่แควันมัลละ ดังนั้นกุสินาราควรจะอยู่ไกลจากกบิลพัสดุ์มาก แต่ในอินเดีย สองเมืองนี้ห่างกันเพียง ๑๒ โยชน์

โดยสรุป ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของเมืองต่างๆ ในอินเดีย ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (บาลี) เลย  .... สำหรับผมหลักฐานเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่ใช่อยู่ในอินเดีย เพราะผมเชื่อพระไตรปิฎก นั่นเองครับ  แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้ 
  • พระเจ้าแผ่นดินตระกูลศากยะ (ศากยะวงศ์) จะมีประเพณีแรกนาขวัญ มีอาชีพทำนา ในพระไตรปิฎกพระเจ้าสุทโทธนะก็ทรงทำนา ประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดินประกอบพิธีแรกนาขวัญ มีเพียงประเทศในดินแดนสวุวรรณภูมิเท่านั้นคือ ไทย ลาว มอญ 
  • ในหลักฐานเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราช เขียนไว้ บอกว่า ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ขยายขจรขจายไปทั่วทุกทิศ สร้างเจดีย์บูชาจำนวน 84,000 องค์  แต่ที่อินเดียนับรวมกันแล้วมีเพียง ๑๒๐ เท่านั้น 
  • การเขียนประวัติของพระพุทธศาสนาของ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม เขียนขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ใช้เพียงหลักฐานทางวัตถุ ไม่ได้ศึกษาเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกของชาวพุทธ 
แต่นอกจากเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีข้อมูลที่ต้อง "ใช้ใจที่มีศรัทธา" เปิดรับฟัง ต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้นตามพระไตรปิฎก ถึงข้อกำหนดที่มีชัดเจนเรื่องข้อห้ามอันเป็นเหตุให้ผู้ละเมิดขาดจากความเป็นสงฆ์ ได้แก่ ๑) ฆ่าคน ๒) ลักขโมย ๓) เสพเมถุน และ ๔) กล่าวอวดอุตริมนุษยธรรม (โกหกว่าตนเองบรรลุธรรมหรือคุณวิเศษ)  ดังนั้น พ่อแม่ครูจารย์ (คำเรียกหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ที่เชื่อว่าท่านบรรลุธรรม) ท่านจะไม่ทำผิด ปารชิก ๔ นี้แน่นอน  หากยอมรับข้อนี้ ท่านจงพิจารณาดูประเด็นต่อไปนี้ 
  • หลวงปู่มั่น ได้เล่าให้หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ฟังว่า ท่านได้พิจารณาดีแล้วจนหมดข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น .... พระพุทธเจ้าเป็นคนไทยไม่ใช่แขก (อ่านเองได้ที่นี่)
  • ประเทศที่แม้แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่มี ย่อมไม่ใช่ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เพราะกรรมนิยามย่อมกำหนดผลของกรรม 
อ่านถึงตรงนี้ ท่านคิดว่าไงครับ ...  
ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ โดยเฉพาะเมื่อท่านได้อ่านงานเขียนของพระธรรมเจดีย์ (ปาน) ครั้งแรก (อ่านได้ที่นี่ ฟังได้ที่นี่) บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องนี้โดยเฉพาะครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น