วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

mini-UKM #19 @MSU (๔) เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ (ต่อ ๒) เทคนิคการตั้งคำถามเพื่ออภิปรายและการประเมิน

แม้จะผ่านเวลามาเป็นเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังอยากแบ่งเวลามาจับประเด็นเรื่อง เทคนิคการสอนแบบมืออาชีพ จากหนังสือเรื่อง สอนอย่างมือชั้นครู อีกเพราะผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้คือ "ต้นแบบ" ของ "บทเรียน" ที่ควรจะได้จากเวที mini-UKM ครั้งถัดไป

บันทึกนี้ อยู่ที่ "เทคนิคการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการอภิปราย" คือพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงคือ วิเคราะห์และสังคม และทักษะการตั้งคำถามเพื่อการประเมินค่า ดังนี้

วิธีการสอนของโซกราตีส (Socratis Method)

ปราชญ์ผํู้มีชื่อเสียงที่สุดที่มีชื่อเสียงเรื่องการสอนด้วยการตั้งคำถามคือ โซกาตีส (Socratis) จนวิธีการสอนแบบนี้ถูกเรียกว่า "วิธีของโซกราตีส"  มีขั้นตอนสำคัญๆ ดังนี้

  • เริ่มด้วยคำถามที่เตรียมไว้ล่วงหน้า โดยเลือกคำถามที่นิสิตผู้ตอบต้องแสดงจุดยืนหรือแนวความคิดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่คำถามความรู้ความจำ 
  • อาจารย์ถามต่อโดยจี้ไปที่จุดอ่อนหรือข้อยกเว้นของแนวความคิดนั้น ให้นิสิตโต้ตอบ และให้ทางเลือก ๒ ทางกับนิสิต คือ ให้เหตุผลและหลักฐานยืนยันหรือให้จุดยืนใหม่ 
  • จากนั้นอาจารย์ให้อาจารย์บอกจุดอ่อนหรือข้อยกเว้นของคำตอบของนิสิตอีก แล้วให้นิสิตโต้ตอบ 
  • ดำเนินการแบบนี้ไปเรื่อยๆ  สักระยะหนึ่ง 
อาจารย์ที่จะใช้เทคนิคนี้ ต้องฝึกภาษาท่าทางของการตั้งคำถามอย่างนอบน้อม ไม่ทำให้นิสิตรู้สึกว่าถูกรุกให้จนมุม หรือทำให้ดูเป็นคนโง่ อ่อนด้อย  และให้ย้ำบ่อยๆ ว่า เป็นกระบวนการฝึกเพื่อประโยชน์ของผู้เรียน

ถามไต่บันไดของบลูม

ทุกท่านคงเริ่มคุ้นชินกับ บันได ๖ ขั้น ของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธพิสัย ๖ ขั้น ของบลูมดังภาพ


ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการตั้งคำถามเพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ ๖ ระดับของบลูม


คำถาม ๔ กลุ่ม ของ MacKeachie

MacKeachie เสนอหลักในการตั้งคำถาม ว่า ให้แบ่งคำถามออกเป็น ๔ กลุ่ม คล้ายๆ กับการถามไต่บันไดของบลูม ดังนี้

  • คำถามเปรียบเทียบ
  • คำถามเชิงประเมิน  เป็นการต่อยอดจากการเปรียบเทียบไปสู่การตัดสิน
  • คำถามเชื่อมโยงหรือหาสาเหตุ เป็นการฝึเชื่อมโยงข้อเท็จจริง หลักการ ความสัมพันธ์ ผู้เขียน และทฤษฎีเข้าหากัน โดยอาจให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์จริงของผู้เรียน 
  • คำถามเจาะลึก (Critical) เช่น ให้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อค้นพบ หรือ ให้หาหลักฐาน (Evidence) ที่มีผู้เสนอ หรือให้วิพากษ์ข้อคิดเห็นของผู้พูดคนก่อนหน้า 
คำถามที่มีโมเมนตัม (Linda B. Nilson)

เป็นคำถามที่จะทำให้ได้ฝึกคิดขั้นสูง (วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมิน)  มี ๗ ประเภท ได้แก่
  • ขอหลักฐานเพิ่ม
  • ขอให้ทำให้คำถาม หรือประเด็นชัดเจนขึ้น
  • คำถามเชิงเหตุ-ผล
  • คำถามเชิงสมมติฐาน
  • คำถามเปิด
  • คำถามที่เชื่อมโยงกับเรื่องเดิม 
  • คำถามเชิงสังเคราะห์หรือสรุป
คำถามชนิดบินไกล (Linda B. Nilson)

เป็นคำถามที่ทำให้ผู้เเรียนเกิดการเรียนรู้มาก ขยายความรู้ 
  • คำถามเพื่อระดมความคิด
  • คำถามให้เลือกและปกป้องตัวเลือก  โดยให้เลือกคำตอบจากหลายตัวเลือก แล้วให้ตอบพร้อมแสดงหลักฐาน 
  • คำถามสนามประลอง  เป็นคำถามที่มักถามต่อจากใบงาน เพื่อให้นิสิตได้ค้นคว้า ตีความ ตามประเด็น ต่อไป  เช่น ผู้เขียนต้องการอะไร ผู้เขียนใช้สมมติฐานอะไร จะเกิดอะไรขึ้นหาก....
คำถามที่เลว

  • คำถามทวนความจำ ควรมีเป็นระยะ ในประเด็นสาระสำคัญๆ  แต่คำถามทวนความจำที่ไม่ดี ได้แก่
    • คำถามที่มีคำตอบถูกคำตอบเดียว
    • คำถามที่มีคำตอบเดียว หรือคำตอบสั้นๆ  เช่น เชื่อคน สถานที่ วันที่ ฯลฯ
  • คำถามที่ไร้ประโยชน์ คือคำถามที่มีเป้าหมายไม่ชัดเจน และตัวคำถามไม่ชัดเจน หรือสร้างความสับสนให้นิสิต คำถามเหล่านี้เป็นโทษต่อการเรียนรู้ เช่น
    • คำถามที่ไม่ชัดเจน
    • คำถามที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างไรแบบแผนหรือทิศทาง
    • คำถามที่อาจารย์คาดหวังได้คำตอบเดียว
    • คำถามเพื่อโชว์ลวดลาย (อัจฉริยะ) ของผู้ถามหรือของผู้ตอบ
    • คำถามที่ต้องการคำตอบถูกผิด 
    • ฯลฯ
สุดท้ายของบทเรียนนี้  ท่านแนะนำให้ "กลับด้านคุณอำนวย" คือ แทนที่อาจารย์ผู้สอนจะเป็นผู้ออกแบบ และสร้างคำถามต่างๆ  อาจารย์อาจมอบหมายให้นิสิตทำหน้าที่นี้ในลักษณะกลุ่ม คือ ร่วมกัน ออกแบบแผนการอภิปราย เช่น กิจกรรม ข้อสอบ ข้อเขียนหรือเนื้อหาที่จะใช้ในการอภิปราย ฯลฯ 


วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไม่น่าเชื่อ !!!! ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้เรื่องนี้หลังจากที่เหลือชีวิตไม่ถึงครึ่ง (๓) (จบ)

​บันทึกที่ (๑)​ บอกว่า ตำแหน่งที่ตั้งเมืองต่างๆ ในอินเดียและเนปาล ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฎในพระไตรปิฏก ถ้าเรานับถือเถรวาทจริง สิ่งที่แสดงไว้ในอินเดียเนปาลนั้น ไม่ใช่สถานที่จริงของสังเวชณียสถาน 
บันทึกที่ (๒)​บอกว่า ข้อมูลที่ทีมวิจัยเรื่อง "พระพุทธอุบัติภูมิไม่ใช่ในอินเดียเนปาล แต่อยู่ในสุวรรณภูมิ" นำเสนอ หลายอย่างสอดคล้องกับข้อมูลในพระไตรปิฎก  และค่อนข้างชัดเจนว่า บรระบุรุษของประชาชนคนในสุวรรณภูมิขณะนี้ คือผู้ที่อยู่ในแคว้นมคธในตอนนั้น อันเป็นตำแหน่งที่พระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น 
จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้ศึกษา และสรุปมาใน ๒ บันทึกดังกล่าวนั้น  สมมติฐานเกี่ยวกับ "พระพุทธอุบัติภูมิ" เป็นไปได้เพียง ๓ แนวทางได้แก่ 
  • ๑) พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่สุวรรณภูมิ และคนที่อยู่สถานที่พระพุทธศาสนาอุบัติขึ้น ก็คือชาวสุวรรณภูมิในขณะนี้
  • ๒) พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่อินเดียหรือเนปาล หรือศรีลังกา (แต่ไม่ใช่ตรงตามหลักฐานที่ว่ากันในปัจจุบัน) อพยพมาอยู่ที่สุวรรณภูมิสืบสายมาจนบัดนี้ 
  • ๓) พระพุทธอุบัติภูฒิอยู่ที่สุวรรณภูมิ ขยายไปที่อินเดีย ก่อนจะเสื่อมในสุวรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองที่อินเดีย แล้วขยายกลับมาเจริญใหม่ในสุวรรณภูมิ 
ก่อนจะมาพิจารณาว่าอย่างไรมีน้ำหนักมากกว่า  มีเรื่องเล่าของผู้ที่เราเชื่อว่าเป็นพระอริยะและบุคคลสำคัญ ๒ คน ให้ท่านศึกษา คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต  และพระเจ้าอโศกมหาราช  ดังนี้

เรื่องเล่าจากหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
ผู้ที่บันทึกเรื่องเล่าของหลวงปู่มั่นไว้ และมีผู้นำมาเผยแพร่ทางเว็บไซต์ต่างๆ มากที่สุดคือ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ พระอุปัฏฐากใกล้ชิดหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ในหนังสือชื่อ "รำลึกวันวาน" (อ่านได้ที่นี่)
ขอย้ำอีกครั้งครับว่า การโกหกว่ารู้เห็นเป็นพิเศษ (อุตริมนุษยธรรม คุณวิเศษ) สำหรับพระเป็นหนึ่งในปาราชิก ๔ ที่จะทำให้ผู้พูดหมดจากความเป็นสงฆ์ ... ท่านย่อมไม่โกหก
ผมจับประเด็นจากเรื่องเล่าได้ว่า 
  • พระเจ้าปเสนทิโกศล มาเกิดเป็นรัชกาลที่ ๔ ของรัตนโกสินทร์  กลับมาฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ตามคำปรารถของพระพุทธเจ้าที่เกล่าวไว้ในสมัยหนึ่งในวัยชราเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าเฝ้า 
  • เมื่อครั้ง ร.๔ ยังครองเพศบรรพชิต (ทรงบวชนานถึง ๒๗ พรรษา) ครั้งหนึ่งทรงเสด็จธุดงค์ไปที่สุโขทัย ทรงได้ไปพักที่ดอนศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ชาวบ้านมาเล่าถวาย และได้พบกับหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงโดยบังเอิญ 
  •  "อันนี้ (ท่านหมายถึงตนเอง)ได้พิจารณาแล้วว่า พระพุทธเจ้าเป็นคนไทย พระอนุพุทธสาวกในยุคพุทธกาล ตลอดถึงยุคปัจจุบัน ล้วนแต่ไทยทั้งนั้น ชนชาติอื่น แม้แต่สรณคมน์และศีล 5 เขาก็ไม่รู้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ดูไกลความจริงเอามากๆ เราได้เล่าให้เธอฟังแล้วว่า ชนชาติไทย คือ ชาวมคธ รวมรัฐต่างๆ มีรัฐสักกะ เป็นต้น หนีการล้างเผ่าพันธุ์มาในยุคนั้น และชนชาติพม่า คือ ชาวรัฐโกศล เป็นรัฐใหญ่ รวมทั้งรัฐเล็กๆ จะเป็นวัชชี มัลละ เจติ เป็นต้น ก็ทะลักหนีตายจากผู้ยิ่งใหญ่ด้วยโมหะ อวิชชา มาผสมผสานเป็นมอญ (มัลละ) เป็นชนชาติต่างๆ ในพม่าในปัจจุบัน"
  •  "ของเหล่านี้นั้น ต้องไปตามวาสตามวงศ์ตระกูล อย่างเช่น วงศ์พระพุทธศาสนาของเรานั้น เป็นอริยวาส อริยวงศ์ อริยตระกูล เป็นวงศ์ที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติ คุณแปลธรรมบทมาแล้ว คำว่า ปุคฺคลฺโล ปุริสาธญฺโญ ลองแปลดูซิว่า พระพุทธจะเกิดในมัชฌิมประเทศ หรืออะไรที่ไหนก็แล้วแต่ จะเป็นที่อินเดีย หรือที่ไหนก็ตาม ทุกแห่งตกอยู่ในห้วงแห่งสังสารวัฏฏ์ ถึงวันนั้นพวกเราอาจจะไปอยู่อินเดียก็ได้"
  • เมื่อครั้งมีการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖) มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถมาก (พระเจ้าอโศกมหาราช) ดำริว่าพระพุทธศาสนาขณะนั้นกระจุกตัวเฉพาะชมพูทวีป หากมีอันเป็นไปด้วยเภทภัยต่างๆ พระพุทธศาสนาอาจสูญสิ้นได้ จึง(จัดพระสงฆ์เป็น ๙ สาย)ส่งพระโสณะและท่านพระอุตตระมาเผยแผ่ทางดินแดนสุวรรณภูมิ 
  • สมัยนั้นที่สุวรรณภูมิมีคนอาศัยอยู่แต่จำนวนไม่มาก และมีอันตรายจากสัตว์ร้ายและเภทภัยต่างๆ จุดที่เป็นแหล่งรวมญาติโยมชุมชนและรวมถึงคนแสวงโชคจากชมพูทวีปคือนครปฐมในปัจจุบัน นักแสวงโชคกลับไปบอกญาติๆ ที่ชมพูทวีป จึงเกิดการอพยพกันมาอีก
  • พ.ศ. ๕๐๐ - พ.ศ. ๙๐๐ มีชนชาติชาวเปอร์เซียคือแถบตะวันออกกลางเกิดมีลัทธิหนึ่ง ได้จัดขบวนทัพอันเกรียงไกรรุกรานเข้าไปที่ชมพูทวีป เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันอย่างรุนแรงแบบให้สิ้นชาติ ชาวพุทธทั้ง ๗ รัฐหนีตายกันอย่างทุลักทุเล พระสงฆ์เป็นหมื่นๆ ตายเป็นเบือ สถานที่วัดวาอารามราบเรียบเป็นหน้ากลอง  เกิดการอพยพครั้งใหญ่ สายที่มาทางสุวรรณภูมิ มีดังนี้ 
    • ชาวรัฐโกศลและรัฐเล็กรัฐน้อย เช่น ลิจฉวี มัลละ ฯลฯ อพยพมาเป็นชาวมัณฑะเลย์ หงสาวดี  คือ พม่า มอญ ไทยใหญ่ ในปัจจุบัน 
    • ชาวมคธรัฐ ซึ่งมีกรุงราชคฤห์เป็นเมืองหลวง อพยพมาเป็นชาวอโยธยา มาเป็นคนไทยในปัจจุบัน 
    • พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเป็นพิเศษกับคนไทยและคนพม่าในอดีต  พม่าเป็นเมืองเศรษฐีอุปถัมภ์ ส่วนไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครสนูปถัมภก พุทธศาสนาจึงอยู่ยาวนานและจะอยู่ต่อไป
    • ชาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงคืก ไทยอีสานและลาว ก็เป็นชาวราชคฤห์ในแคว้นมคธ เหมือนกับชาวไทย(ในสมัยนี้) ไทยและลาวจึงเป็นเชื้อชาติเดียวกัน  แต่ตอนนั้นอพยพหนีตายมาคนละสาย  ชาวลาวอพยพเข้าไปทางจีนตอนใต้ คนจีนไม่ยอมรับ เรียกว่า คนป่าคนเถื่อน จึงขับไล่ลงมา จนต้องถอยลงมาอยู่ดินแดนสุวรรณภูมิ มาอยู่แถว ไทย สิบสองจุไทย สิบสองปันนา หนองแส หลวงพระบาง ฯลฯ
    • มาตั้งเมืองใหม่คือ "กรุงศรีสัตตนาคนหุต" (เมืองล้านช้าง หลวงพระบางในปัจจุบัน) มีกษัตริย์ปกครอง คือ พระเจ้าโพธิสาร 
    • พระเจ้าโพธิสารมีโอรส ๒ พระองค์  ทรงส่งพระองค์พี่ขยายอาณาเขตไปตามแม่น้ำโขง มาสร้าง "กรุงจันทบุรีศรีสัตตนาคนหุต" (เวียงจันทร์)
    • ส่งพระองค์น้องไปตามแม่น้ำน่าน มาตั้ง "กรุงสุโขทัย" ไปมาหาสู่กับญาติที่นครปฐม 
    • ชาวมคธบางส่วนหนีตายโดยลงเรือข้ามทะเลไปขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราช ชาวใต้ทั้งหมดก็เป็นชาวมคธ
  • หลวงปู่มั่นบอกว่า สมเด็๗พระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นเป็นจอมปราชญ์แห่งยุค ๒,๐๐๐ กว่าปี ในกรุงรัตนโกสินทร์ไม่มีปราชญ์ใดเทียม
พระเจ้าอโศกมหาราช
  • พระเจ้าอโศกมหาราชมีชีวิตระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ 
  • ทรงทำสังคยานาครั้งที่ ๓ ที่เมืองปาตลีบุตร ในปี พ.ศ. ๒๓๖ ได้คัมภีร์กถาวัตถุ
  • ตามตำราของชาวลังกา บอกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชส่งสมณะฑูตออกไปเผยแพร่ศาสนาพุทธ ๙ สาย หนึ่งในนั้นคือไปที่ดินแดนสุวรรณภูมิ
  • ที่รัฐโอริสสา อดีตแคว้นกาลิคะ มีหลักฐานเป็นเสาหินที่เก่าแก่ที่สุดของพระเจ้าอโศกที่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
  • แคว้นกะลิงคะนี้เอง ที่พระเจ้าอโศกหันมาศึกษาพระธรรม แล้วเริ่มเผยแผ่ไปทั่วอาณาจักร
  • ข้อความหนึ่งเขียนว่า "การชนะที่แท้จริงคือการชนะใจตนเอง"
  • พระถังซัมจั๋ง บันทึกไว้ว่า เมือเดินทางไปถึงกะลิงคะ ได้พบสถูปจำนวนมาก
  • ตลอดระยะสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างสถูปเจดีย์และเสาหินไว้จำนวนมาก มีสถูปเจดีย์นับหมื่นแห่งที่พระเจ้าอโศกสร้างขึ้น แต่ยังเหลือในปัจจุบันไม่กี่แห่ง ที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งคือ สถูปสาญจี
  • มีหลักฐานมากมายที่แสดงถึงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศกมหาราช เช่น 
    • สถูปสาญจี เป็นพระมหาสถูป ตั้งอยู่บนเนินเขาสาญจี อยู่ในรัฐมัฐถยะประเทศ 
      • ภาพต่างๆ ที่พบที่สถูปสาญจี บอกว่า กว่า ๕๐๐ ปีหลังการปรินิพพาน ก็ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้น  
      • ในภาพเล่าตอนแสดงปฐมเทศนาจะใช้แทนพระธรรมจักร 
      • เมื่อเล่าตอนปรินิพพานก็ใช้ภาพสถูป 
      • ใช้รูปรอยพระบาทแทนการปรากฎของพระพุทธองค์ในที่ต่างๆ  
      • ใช้รูปตรีศูนย์และร่มแทนพระพุทธ
      • ใช้รูปธรรมจักระแทนพระธรรรม 
      • ใช้รูปดอกบัวแทนพระสงฆ์
      • ใช้รูปต้นโพธิ์แทนพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว
    • มีรอยจารึกบนรั้วหินด้านหนึ่งของสถูปสาญจีว่า พระเจ้าจันทรคุป เป็นผู้ที่นำพระพุทธรูปมาที่สาญจี (๘๐๐ ปี หลังปรินิพพาน) 
    • หลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ไม่มีร่อยรอยของชุมชนพุทธที่สาญจีอีก
    • มีภาพแสดงเหตุการณ์ที่พระเจ้าอโศกเสด็จสักการะพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาก่อนเดินทางไปเผยแผ่ที่ศรีลังกา 
    • ไม่มีใครรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น รู้แต่ว่า ไม่ได้ถูกทำลายลงเพราะสงคราม เกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น??? อาจเป็นเพราะเขาย้ายไปที่อื่น หรือ ถูกกลืนด้วยศาสนาฮินดูไป 
    • ต่อมาในปี พ.ศ. ๓๕๐ มีการค้นพบหมู่วัดถ้ำอจันตา ที่รัฐมหาราษฎร์  ซึ่งค้นพบเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๒ นายทหารชาวอังกฤษชื่อ จอน สมิท ได้ตามล่าเสื่อจนไปพบโดยบังเอิญ  หมู่วัดถ้ำอจันตามีอายุกว่า ๑,๕๐๐ ปี เป็นวัดถ้ำ สร้างโดยการแกะสลักหินเข้าไปในภูเขา ในถ้ำมีภาพแกะสลักหิน บอกเรื่องราวต่างๆ ดังนี้ 
      • วัดยุคแรกๆ เป็นวัดเถรวาท หลายถ้ำแกะสลักเป็นห้องบูชา เป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีเจดีย์อยู่ปลายสุดของห้อง  ยังไม่มีการแกะสลักพระพุทธรูปให้เห็น
      • พ.ศ.๕๕๐ ไม่พบหลักฐานของพุทธเถรวาทอีก 
      • พุทธศตวรรษที่ ๑๐ พบการสร้างถ้ำเพิ่ม  ไม่ทราบว่า ๔๐๐ ปีที่ไม่มีหลักฐานบอก เกิดอะไรขึ้น 
      • การสร้างถ้ำเริ่มหลังจากเกิดพุทธมหาญานถึง ๔๐๐ ปี   มีการแกะสลักเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีภาพเขียนสีที่สวยที่สุดในโลก 
    • มีถ้ำลักษณะแบบถ้ำอจันตากว่าร้อยๆ ถ้ำ อยู่รอบนครบอมเบย์ไม่ไกลนัก จำนวนกว่า ๑๑๒ ถ้ำ หมู่ถ้ำแห่งหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียตะวันตกคือ หมู่ถ้ำกฤษณะคีรี (Kanhiri Caves) ถ้ำแห่งนี้มีอายุประมาณ ๑,๑๐๐ ปี จากหลักฐานแสดงเส้นแบ่งเวลาระหว่างพระเถรวาทและพระมหายาน เวลาสร้างห่างกันถึง ๔๐๐ ปี  เช่นกัน 
  • สายของพระโสณะและพระอุตตระได้นำเอา "พระพรหมจารสูตร" เพื่อลดทิฐิของคนที่นับถือผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ  (ข้อมูลนี้ตรงกับพระพุทธสาสน์สุวัณณภูมิ ที่เขียนโดยพระราชกวี (อ่ำ))
  • เชื่อว่าพระโสณะและพระอุตตระได้สร้างพระปฐมเจดีย์ทรงบาตรคว่ำ (เหมือนกับเจดีย์ที่สาญจี) ไว้ที่จ.นครปฐมในปัจจุบัน ก่อนที่ท่านจะปรินิพพานใน พ.ศ. ๓๐๐ 
  • มีหลักฐานที่แสดงว่า พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในพุทธศตวรรษที่ ๙ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐมในปัจจุบัน  ก็คือยุคทวารวดี
ข้อสังเกต
  • มีหลักฐานทางโบราณคดีเก่าแก่ที่สุดในอินเดียไปถึงแค่ ๓๐๐ ปีหลังปรินิพพาน (พ.ศ.๓๐๐) แม้จะมีข่าวใหม่ล่าสุดว่า ที่สวนลุมพินีวัน ที่ประเทศเนปาลจะพบหลักฐานใหม่ (อ่านที่นี่) แต่ก็พิสูจน์ได้เพียงว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนม์อยู่ในช่วงเวลาที่สอดคล้องพระไตรปิฎกเท่านั้น 
  • ช่วงเวลา พ.ศ.๕๐๐ - พ.ศ.๙๐๐ ที่หลวงปู่มั่นเล่าว่า เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สอดคล้องกับเส้นแบ่งเวลาที่หลักฐานทางประวัติศาสตร์หายไป หรือเส้นแบ่งเวลาระหว่างพุทธเถรวาทและพุทธมหายาน ในหมู่ถ้ำอจันตาและหมู่ถ้ำกฤษณะคีรี  ....   
  • ในหนังสือ "อ้อยต้นจืดปลายหวาน กินนานอร่อย" ของพระธรรมเจดีย์ (ปาน) บอกว่า พ.ศ. ๒๑๙ พระมหินท์เถราจารย์ ได้เผยแผ่พุทธศาสนาออกไปกว้างไกลไปถึงเกาะลังกา  ช่วงเวลาร้อยปีก่อนจะมีพระเจ้าอโศกมหาราช  และตำแหน่งก็สอดคล้องกันเพราะรัฐโอริสสาอยู่ใกล้กว่าลังกา (ศรีลังกา) เป็นได้ว่า  ศาสนาเกิดในดินแดนสุวรรณภูมิ แล้วขยายไปอินเดีย ในช่วงก่อน พ.ศ. ๓๐๐ ก่อนจะขยายใหญ่ไกลไปทั่วในยุคของพระเจ้าอโศก 
สรุปและตีความ

หากท่านตามอ่าน บันทึกการศึกษา ในบันทึกที่ผมเขียนมาตามลำดับแล้ว ท่านเห็นว่าอย่างไร  ... ผมมีความเห็นว่า อาจเป็นไปได้ว่า พระพุทธอุบัติภูมิเป็นไปตามแนวทางที่ (๓) 
  • ๓) พระพุทธอุบัติภูฒิอยู่ที่สุวรรณภูมิ ขยายไปที่อินเดีย ก่อนจะเสื่อมในสุวรรณภูมิ เจริญรุ่งเรืองที่อินเดีย แล้วขยายกลับมาเจริญใหม่ในสุวรรณภูมิ 
จากการศึกษาผม พบสมมติฐาน มากมาย ที่ผู้รู้ ผู้ดู(แล คือรัฐบาล) ควรจะลงมือศึกษาค้นหาหลักฐานอย่างจริงจัง ดังนี้ 
  • พระพทธอุบัติภูมิเกิดขึ้นที่สุวรรณภูมิ   ... ไม่มีหลักฐานวัตถุ มีแต่เรื่องราวในจารึก พงศาวดาร คัมภีร์โบราณ และตำแหน่งเมืองต่างๆ ที่สอดคล้องกับพระไตรปิฎก 
  • สถานที่ประสูต คือตำแหน่ง พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย ... หลักฐานรอการพิสูจน์
  • สถานที่ตรัสรู้ในพระไตรปิฎก บอกว่า อยู่ที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลา เสนานิคม ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖   แม่น้ำเนรัญชราน่าจะเป็นแม่น้ำน่านในปัจจุบัน .... ไม่มีหลักฐานโบราณวัตถุ  
  • สถานที่แสดงปฐมเทศนา  อาจเป็น วัดพระแท่นศิลาอาสน์  อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ...หลักฐานรอการพิสูจน์.... ในพระไตรปิฎก บอกว่าอยู่ในเมืองพาราณสี (ป่าอิสิปรนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘)
  • สถานที่ปรินิพพาน  อยู่ที่บริเวณวัดพระแท่นดงรัง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี  .... หลักฐานรอการพิสูจน์ 
  • พุทธศตวรรษที่ ๑-๒ พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในดินแดนสุวรรณภูมิก่อน แล้วขยายไปกับพ่อค้า (ผู้แสวงโชคชาวอินเดียไปทางเรือ) รุ่งเรืองไปไกลถึง เกาะศรีลังกา  จึงเป็นไปได้ว่า ขยายไปถึงนครกาลิงคะ รัฐโอริสสา ศูนย์กลางการขยายพระพุทธศาสนาของพระเจ้าอโศก 
  • พุทธศตวรรษที่ ๒ ศาสนาเสื่อมที่สุวรรณภูมิ คนย้ายถิ่นฐานไปที่อินเดีย  ตั้งชื่อเมืองต่างๆ ตามชื่อเมืองเดิมที่อยู่สุวรรณภูมิ ที่อยู่ในพระไตรปิฎก  (เถรวาท) .... ไม่มีหลักฐาน 
  • พุทธศตวรรษที่ ๒.๓-๓ โดยพระโสณะและพระอุตตระ  ทำให้พระพุทธศาสนากลับมาเจริญใหม่ในสุวรรณภูมิ .... มีหลักฐานคือ พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม
  • ช่วงนั้น พระเจ้าอโศกมหาราชเผยแผ่ไปทั่วโลก ในพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ โดยเฉพาะที่อินเดียเนปาล ....  มีหลักฐานมากมาย ชัดเจน  หลักฐานทุกอย่างไม่เก่าเกิน พุทธศตวรรษที่ ๓
  • พุทธศตวรรษที่ ๔ - ๘ ศาสนาพุทธเสื่อมที่อินเดีย  ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากชาวเปอร์เซีย (อารยัญ) ... มีหลักฐานที่พระเจ้าอโศกจารึกไว้มากมาย  
  • พุทธศตวรรษที่ ๘ ศาสนาพุทธนิกายมหายานเกิดขึ้น แล้วขยายกลับเข้าไปในอินเดีย.. มีหลักฐานที่หมู่ถ้ำอจันตา และหมู่ถ้ำกฤษณะคีรี  
  • พอถึง พ.ศ. ๑๐๐๐ เป็นต้นมา ประวัติศาสตร์ชาติต่างๆ ก็เริ่มมีบันทึกไว้มากมายตรงกัน  ท่านสนใจลองหาอ่านเองเถิด 
นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากการศึกษาและสืบค้นงานนาน ๓ วันของกระผม ท่านเห็นว่าไง โปรดใช้วิจารณญาณเถิด
สุดท้ายนี้  หากผมได้เป็นนายกรัฐมนตรี  ผมจะสั่งให้มีการขุดค้น ศึกษา เอาวิทยาการสมัยใหม่ต่างๆ เข้ามา พิสูจน์หาหลักฐานต่างๆ ทันที 

ขอจบเท่านี้ครับ 

วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไม่น่าเชื่อ !!!! ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้เรื่องนี้หลังจากที่เหลือชีวิตไม่ถึงครึ่ง (๒)

การศึกษาสืบค้นข้อมูลทุติยภูมิตามบันทึกที่ (๑) ​ทำให้เชื่อได้ชัดเจนว่า พระพุทธอุบัติภูมิไม่ใช่อินเดีย เพราะให้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ไม่สอดคล้องกับพระไตรปิฎกเลย บันทึกนี้จะเสนอข้อมูลที่ทางทีมวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ ให้ผู้อ่านลงพิจารณาเองว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่สุวรรณภูมิจริงหรือไม่ 
พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่สุวรรณภูมิ
แรงบันดาลใจแห่งความสงสัย
จากการสืบค้นศึกษาพบว่า สิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนที่หันมาสนใจโดยเฉพาะนักวิจัยทีมนี้คือ หนังสือ “พระเจ้า 500 ชาติ อ้อยต้นจืดปลายหวาน กินนานอร่อย” ที่พระธรรมเจดีย์ (ปาน) ท่านเขียนขึ้นถวายรัชกาลที่ ๕ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระปิยมหาราช ครองราชย์ได้ ๒๙ ปี​ (อ่านด้วยตนเองได้ที่นี่​ หรือฟังเสียงอ่านได้ที่นี่​) ผลการวิจัยหลายประเด็นเป็นการพิสูจน์ทราบว่าข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้เป็นจริง ดังนั้นจึงขอนำเอาสาระในหนังสือเล่มนั้นมาตีแผ่ให้ท่านทราบเป็นเบื้องต้นก่อน ก่อนจะย้อนไปดูสมมติฐานและผลของงานวิจัยเรื่อง "พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่ประเทศไทย--ไม่ใช่อินเดียเนปาล" ของศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ และทีม 
ผมจับประเด็นที่เห็นว่าน่าสนใจจากหนังสือ "อ้อยต้นจืดปลายหวาน กินนานอร่อย" ได้ดังนี้ 
  • พระธรรมเจดีย์ (ปาน) (๒๓๗๑-๒๔๔๗) เขียนผลงานนี้ในประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๐ (ร.๕ ขึ้นครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑) ​ขณะที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราวรวิหาร ก่อนจะรับเลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นพระอุบาฬีคุณูปมาจารย์ (ป.ธ.๗) ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (มหานิกาย)... มีประวัติท่านเขียนไว้น้อยมากที่นี่
  • ส่วนที่กล่าวถึงพระพุทธอุบัติภูมิของหนังสือ “พระเจ้า 500 ชาติ อ้อยต้นจืดปลายหวาน กินนานอร่อย” ไม่ได้เขียนเป็นภาษาที่อ่านเข้าใจง่าย (อย่างน้อยที่สุดสำหรับผม) ท่านแต่งเป็นฉันท์ ๒๘ (ศึกษาวิธีการอ่านได้ที่นี่​)​ 
  • ปฐมเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ท่านต้องเขียนหนังสือนี้  น่าจะเป็นความเป็นห่วงใยว่าคนไทยจะทิ้งองค์ความรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับพุทธประวัติที่ประชาชนคนไทย ลาว มอญ พม่า เขมร สืบต่อกันมา ไปศรัทธาเชื่อถือว่า พุทธศาสนามาจากแขกอินเดีย ตามแขกชาวกาสี ๘ คน ที่นำมาเผยแพร่ในขณะนั้น ..... องค์ความรู้และความภาคภูมิใจที่ท่านห่วง ล่วงหล่นหายไปจริงๆ ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องนี้เลยจนกระทั่งตนเกือบจะ ๔๐ ปี 
  • พระธรรมเจดีย์ เริ่มย่อหน้าแรกของหนังสือ บอกว่า ท่านปรารถนาพุทธภูมิ (บำเพ็ญจะเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต) เป็นพระพุทธภูมิสายความเพียร (วิริยาธิกะพุทธเจ้า) ต้องบำเพ็ญอย่างน้อย ๑๖ องสงไขย 
  • สาระในหนังสือเล่มนี้ (บางส่วน) บอกว่า 
    • แดนสุวรรณภูมิขณะนั้นผู้คนที่อยู่คือ คนมัคราชซึ่งต่อมาเป็นคนม่าล(ม่าน คือ ชาวพม่า) ชาวรามัญซึ่งต่อมาเป็นคนมอญ ชาวสยาม ลาว และเขมร 
    • สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธเจ้าตั้งอยู่เมือง "โกสินนาราย" (ฝรั่งบอกว่าบอกว่า กุสินารา) เมืองนี้ต่อมาหายกลายเป็นดงป่า  เรียกว่า เมืองมงคล -> เมืองตูม ->เมืองพันทูม -> ....  ปัจจุบันโกสินนารายกลายมาอยู่พื้นที่ อ.ท่ามะกา จ.กาญจณบุรี  ณ วัดพระแท่นดงรังวรวิหาร วันนี้ในหลวง ร. ๕ ร.๖ ล้วนเสด็จ ร.๙ เสด็จ ๒ ครั้ง และทรงสร้างพระประธานประดิษฐานไว้นานยิ่งแล้ว (เชิญศึกษาเองที่นี่​) 
    • นครอุชเชนีเป็นเมืองของคนมอญพม่า(ม่าล) -> กลายมาเป็นอุไทยธานี 
    • พระเกษธาตุ นำไปที่เมืองมอญ 
    • พระอุรังคะธาตุ (กระดูกหน้าอก) อยู่ที่พระธาตุพนม จ.นครพนมในปัจจุบัน 
    • พระทนต์ธาตุ (กระดูกฟัน) อยู่ที่ปฐมเจดีย์ จ.นครปฐมในปัจจุบัน
    • สถานที่ประสูติ คือป่าลุมพินีวัน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหมัน ปัจจุบันอยู่ที่พระธาตุศรีสมรักษ์ อ.ด่านซ้าย จ.เลย ​
    • พระธาตุศรีสองรัก เป็นสถานที่แห่งไมตรีสัญญาระหว่างสองกษัตราคือ พระเจ้าจักรพรรดิของไทยและพระไชยเชษฐาธิราชของลาว (อ่านเองที่นี่​)
    • พระพุทธบาท ๔ แห่ง อยู่ในแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ พระแท่นศิลาอาสน์ พระธาตุลำพูนชา พระธาตุลำปาง และพระธาตุหลวง (เวียงจันทร์)
    • พระธาตุเคี้ยวแก้วอยู่ที่เมืองกาลึงค์ -> เมืองกาลึง->เมืองการุ้ง ...(มีเมืองโบราณชื่อการุ้ง อยู่ที่ ต.วังหิน อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี (อ่านเองที่นี่​))
    • พระธาตุพระบาทนั้น (กระดูกเท้า) มีเป็นพันเจดีย์ นับไม่ถ้วน 
    • กษัตริย์ของชาวพุทธจะทำพิธีแรกนาขวัญ คือประเพณีที่ทำมาตั้งแต่ตอนพุทธกาล มีเพียงประเทศแถบสวุรรณภูมิเท่านั้นที่ทำ ... สอดคล้องกับพระไตรปิฎก
    • เจดีย์ต่างๆ เหล่านี้ที่กล่าวมา ท่าน ๕,๐๐๐ ปีจึงจะถูกทำลาย
    • เมืองสาเกต คือ จ.ร้อยเอ็ดในปัจจุบัน
    • บ้านพระสารีบุตร อยู่ที่แม่น้ำโพในปัจจุบัน ชื่อกัมโพชพรราชธานี 
    • บ้านพระโมคคัลาน์ อยู่ที่แม่น้ำพิงในปัจจุบัน ชื่อสวรรค์โลกบุรี
    • ตักสิลา คือ จ.ตาก ในปัจจุบัน 
    • กรุงกบิลพัศดุ์ คือ เมืองพิชัย (อาจจะเป็น อ.พิชัย จ.อุทัยธานี)
    • รัชกาลที่ ๔ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อว่า พระพุทธศาสนาเกิดที่นี่ ประเทศสยาม ....  แสดงว่า คนไทยเปลี่ยนความเชื่อตามฝรั่งภายหลัง
    • กรุงราชคฤห์ มีภูเขา ๕ ลูกล้อมรอบ ได้แก่ เขาเวภาระบรรพต วิบูลบรรพต เขาคิชฌกูฎ เขาอิสิคิลิต และเขาบัณฑวะบรรพต  เขาเวภาระบรรพตก็คือเขารังรุ้ง (น่าจะเป็นพื้นที่วัดพระพุทธบาท ๔ รอย ต.สะลวง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่)
    • เมืองสาวัตถีอยู่ริมแม่น้ำอจีรวดี
    • แม่น้ำปาวาย กลายมาเป็นแม่น้ำปาว
    • แม่น้ำปาวายมีหลายที่ แม่น้ำปาวายน้อยอยู่ลพบุรี แม่น้ำปาวายหลวงอยู่ร้อยเอ็ด 
    • ตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พระกัสสปะมาจากปาวายหลวง เดินตัดเมืองลาวไปยังเมืองมอญ ตอนนั้นก็คือโกสินาราย เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จ ได้พระอุรังค์ธาตุเอาไปไว้ที่พระธาตุพนม
    • ที่ตำแหน่งพระธาตุพนม เคยเป็นที่ฝังของพระพุทธเจ้าถึง ๓ พระองค์ คือ พระกุกกุสันโธ พระโคนาคม และพระกัสสปะ 
    • เมื่อปรินิพพานไป ๑ ปี มีการสร้างประตูที่เมืองสาเกษ ๑๐๑ ประตู สำหรับให้กษัตริย์จาก ๑๐๑ เมือง (ประตูใครประตูมัน) เมื่อจะมาเข้าเฝ้าต้องผ่านประตูเหล่านี้ เมืองสาเกตจึงมีชื่อว่า เมืองร้อยเอ็ดทวาร โดยมีการสร้างตำหนักไว้ที่ปาวายรอเข้าเฝ้า 
    • ส่วนโคกพระยาร้อยเอ็ด เป็นชื่อเรียกเมืองลพบุรี 
    • ระยะทางจากเมืองสาเกต (ร้อยเอ็ด) ถึงสาวัตถี คิดเป็น ๘๐๐ โยชน์ 
    • เมืองสาเกตนคร เป็นศูนย์กลางของความรุ่งเรืองในขณะนั้น (๑ ปีหลังปรินิพพาน)
    • แม่น้ำอจิรวดี ถูกเรียกเป็นชือต่างๆ ต่อมา เช่น ฝรั่งเรียกอิราวดี พม่าเรียกแม่น้ำมะระแหม่ง แม่น้ำสาลวิน ฯลฯ
    • แม่น้ำคงที่เมืองมอญ น่าจะเป็นแม่นำเนรัญชรา
    • แม่น้ำอโนมา กว้างประมาณ ๔๐ เส้นกว่า 
    • พระเจ้าวิฑูฑะภะ ที่(หลังจากแก้แค้นตระกูลศากยะแล้ว)ไปนอนหาดทราย (แล้วน้ำบ่ามาท่วมฉิบหาย) ก็ที่แม่นำอิศรวดีนี้  ไม่ใช่เมืองที่อินเดียอ้างซ้อนขึ้นมา 
    • พระโพธิสัตว์ ๑๐ ชาติสุดท้าย มีดังนี้ 
      • พระเตมีใบ้ เป็นคนรามัญเมืองมอญ (พม่า)
      • พระเนมีย์ราช และ พระเวชสันดร เป็นคนลาวพุงขาว (ลาวเหนือ ภาคเหนือของเราตอนนี้)
      • พระภูริฑัต และพระทนทนะเวศ เป็นคนพม่า
      • พระนารอทดาบส เป็นพรมโลไกย
      • พระมโสสถ และ พระสุวรรณสาม เป็นเชื่อชาติไทย
      • พระจันทรกุมาร และ พระวิฑูทะภะ เป็นชาติเขมร
    • ชาวสยามมีพระราชาจากพระเวชสันดรมาจนถึงพระเจ้าสุโทธนะ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์  ในขณะที่ชาวลาวพุงขาว (ลาวพวน) มีพระราชา ๑๖๐,๐๐๐ องค์
    • ในระหว่างนี้รบตีกันไปมา เจือเชื้อสายกันไปมา 
    • พราห์มเมืองหิริภุชชัย สร้างเมืองใหม่ชื่อ อโศกไทย กลายมาเป็นสุโขทัย เป็นชาวสยาม
    • ก่อนจะมาถึง ๑๐ ชาติสุดท้าย พระโพธิสัตว์ เคยเป็น (รวมแล้วน่าจะ ๕๐๐ ชาติ) ดังนี้
      • ฤาษี ๙๖ ชาติ
      • เป็นพระอินทรา ๒๐ ชาติ
      • เป็นพระพรหม ๓ ชาติ
      • เป็นรุกขเทวดา ๓๒ ชาติ
      • เป็นอากาศเทวดา ๗ ชาติ
      • เป็นสมุท (เทวดา) ๓ ชาติ
      • เป็นกษัตริย์ ๖๘ ชาติ
      • เป็นปุโรหิต ๑๒ ชาติ
      • เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ๑๘ ชาติ
      • เป็นพราห์ม ๘ ชาติ
      • เป็นเศรษฐี ๒๑ ชาติ
      • เป็นพ่อค้า ๑๖ ชาติ
      • เป็นขมังธนู (นายพราน) ๓ ชาติ
      • เป็นช่างทอง ๘ ชาติ 
      • เป็นกุมารผู้ฉลาด เป็นลูกขุน ๘ ชาติ
      • เป็นหมอช้าง ๒ ชาติ
      • เป็นพระยาลิง ๑๐ ชาติ
      • เป็นพระยาเนื้อ ๑๓ ชาติ
      • เป็นราชสีห์ ๑๐ ชาติ
      • เป็นสุนัข ๑ ชาติ 
      • เป็นโคอุศุภราช (วัว) ๕ ชาติ
      • เป็นกระบือ ๑ ชาติ 
      • เป็นม้า ๔ ชาติ
      • เป็นช้างดำ ๓ ชาติ
      • เป็นกระต่าง ๑ ชาติ 
      • เป็นจิ้งจอก ๒ ชาติ
      • เป็นเหี้ย ๔ ชาติ
      • เป็นพระยากา ๒ ชาติ
      • เป็นพระยาแร้ง ๔ ชาติ
      • เป็นนกยางขาว ๔ ชาติ
      • เป็นไก่เถื่อน (ไก่ป่า) ๒ ชาติ
      • เป็นนกกระจาบ ๑ ชาติ
      • เป็นนกกลิ้งโครงเศียร (น่าจะหมายถึงนกหัวขวาน) ๑ ชาติ
      • เป็นนกดุเหว่า ๒ ชาติ
      • เป็นนกคุ้ม ๓ ชาติ
      • เป็นนกกะทา ๒ ชาติ
      • เป็นนกแขกเต้า หรือนกสาลิกา ๙ ชาติ
      • เป็นพระยาหงส์ ๑๐ ชาติ
      • เป็นกบ ๑ ชาติ
      • เป็นปูทอง ๒ ชาติ
      • เป็นเต่าทองใหญ่ ๒ ชาติ
      • เป็นมังกรเหลา ๒ ชาติ
      • เป็นนกยูง ๓ ชาติ 
      • เป็นนกกาน้ำ ๑ ชาติ
      • เป็นพระยางู ๓ ชาติ
      • เป็นพระยาหนูท้องขาว ๒ ชาติ
      • เป็นปลาหมึก (สัตว์ ๑๐ ขา) ถึง ๓ ชาติ
      • เป็นพระยาครุฑ ๒ ชาติ
      • เป็นจระเข้ ๑๖ ชาติ
      • เป็นช่างหม้อ ๔ ชาติ
      • เป็นปราชญ์ยากจน ๘ ชาติ
      • เป็นกฎุมพี (กรรมกร) ๕ ชาติ
      • เป็นคนเข็ญใจ ๑๔ ชาติ
      • เป็นลูกศิษย์ ๔ ชาติ
      • เป็นคนจันฑาล ๔ ชาติ
    • พระยามิลินท์ เป็นคนเชื้อลาวพุงดำ 
    • พระนาคเสน เป็นลูกพราห์ม อาศัยอยู่ในสยาม
    • เมื่อพระพุทธศาสนาล่วมาแล้ว ๑,๒๐๐ ปีเศษ ศาสนาพุทธค่อยขยายไปยังชาวสิงหฬ ชาวฮินดู และไปยังชาวมะลายูโดยพระมาลัย 
    • ระยะทางต่างๆ ระหว่างเมืองในสมัยพุทธกาล เป็นดังนี้  
      • ราชคฤห์ ถึง สาวัตถี ๑๕ โยชน์
      • ตักศิลา ถึง ราชคฤห์ ๙๐ โยชน์
      • ราชคฤห์ ถึง เวฬุวัน ๓๐๐ เส้น (๑ โยชน์ เท่ากับ ๔๐๐ เส้น  ๑ เส้นเท่ากับ ๔๐ เมตร)
      • สาวัต ถึง โกสัมพี ๓ โยชน์
      • เสนานิคม ถึง อิสิปัตน์ (พาราณสี) ๑๘ โยชน์
      • ราชคฤห์ ห่างจาก แม่น้ำคงคา ๕ โยชน์
      • แม่น้ำคงคา ถึง เวสาลี ๓ โยชน์
      • ตักสิลา ถึง เขตเวียงพาราณาสี ๑๐ โยชน์
      • ราชคฤห์ ถึง มหาโพธิ์ (น่าจะเป็นที่ตรัสรู) ๖๐๐ โยชน์
      • มหาโพธิ์ ถึง ปาตลีบุตร ๗ โยชน์
      • ราชคฤห์ ถึง โกสินารา ๑๒๕ โยชน์
      • เชตุดร (น่าจะวัดเชตุพล) ถึง เทพลังการ ๓๐ โยชน์
      • พาราณาสี ถึง มหาโพธิ์ ๓๐๐ โยชน์
      • ราชคฤห์อยู่ริมน้ำเนรัญชรา
      • อุลุเวลาเสนานิคม อยู่ใกล้ เนรัญชรา 
      • แม่น้ำอู่ตงค์ มีน้ำใส ปากอ่าวจะมีลูกคลื่นใหญ่มาก คลื่นลูกเดียวสร้างความเสียหายได้ 
    • แรงจูงใจที่แขกอินเดียต้องการสร้างแผนที่ (ประวัติพุทธใหม่) เพื่อเอามาขายเอาเงิน 
    • แต่เดิมนั้น (ท่านพระธรรมเจดีย์บอกว่า) ในแผนที่อินเดียไม่มีชื่อเนรัญชรา แต่ต่อมาพิมพ์ออกมากลับมี  (ก่อนหน้านั้นแขกชาวกาสี ๘ คน เอาพระไตรปิฎกกลับไปศึกษา พอกลับมาแผนที่เปลี่ยน)
    • แขกพิมพ์บอกว่าเกี่ยวกับการค้นพบต่างๆ ที่อินเดีย และบอกว่าพบสถานที่ตรัสรูที่พุทธคยา แล้วเอาแผนที่มาแสดง เรี่ยไรเงินคนที่หลงชื่อ ทั้งโยมทั้งพระ พระก็ร่วมถวายผ้าไตร แต่แทนที่แขกจะเอาเงินเอาของไปที่อินเดีย กลับเอากลับไปขายเวียนวนให้กับจีนฮ่องกง คนที่รวยก็คือแขกกับจีนฮ่องกง  คนไทยหลงเชื่อ  
    • ต่อมา นักปราชญ์ไทยฝ่ายเหนือ เชื่อชาติลาวพุงดำ ดูถูก (เหยียดเชื้อชาติ)ลาว จึงเกิดการปรับแปลงภาษาบาลี (ซึ่งเป็นภาษาไทยลาวเดิมของชาวมคธ) นำภาษาสันสกฤตมาใช้ 
    • ปี พ.ศ. ๒๑๙ ที่ลังกา พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก มีพระอรหันต์เถระ และพระอรันต์เถรี จะนวนมาก มีพระอรหันต์ชาวสิงหฬเกิดขึ้นจำนวนมาก ศาสนาพุทธขยายไปที่อินเดีย 
    • ต่อมา มะหะหมัดมา (น่าจะเกี่ยวกับแขกอิสลาม) เข้ามาในอินเดีย เริ่มมีการทำลายวัดวาอาราม รุกมาถึงพม่า มอญ 
    • ปราชญ์ไทยในขณะนั้น ไม่เชื่อ (ท่านพระธรรมเจดีย์ว่า ไม่อ่าน ไม่ดู) พงศาวดาร หนังสือโบราณลาวไทย  แต่เชื่อตามคำฝรั่งตะวันตกอย่างเดียว  
  • มัชฌิมะประเทศ คือ สยาม ลาว มอญ พม่า กัมพูชา
ระเบียบวิธีวิจัย
 ทีมวิจัยที่นำโดย ศ.ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ ประกอบด้วยกลุ่มคน ๔ คณะ ได้แก่ 
  • คณะของ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ และ รศ.ดร.นิคม ทางแดง จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช
  • คณะของ อ.แสงจันทร์ และ อ.โสภณ วงศเทวัน นักปฏิบัติธรรมสายหลวงปู่ทวด 
  • คณะของ อ.เอกอิสโร วรุณศรี และคณาจารย์จากสถาบันพระจอมเกล้า ลาดกระบัง
  • คณะของ อ.อาตม ศิโรศิริ นักวิชาการอิสระ 
ท่านกำหนดวัตถุประสงค์แบบ "ตั้งธง" ไว้ ๓ ประเด็นคือ ๑) พิสูจน์ว่าชมพูทวีปคือดินแดนสุวรรณภูมิ หรือ พิสูจน์ว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ในสวรรณภูมินั่นอง ๒) ศึกษาร่องรอยพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา การเผยแผ่ และการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และ ๓) เพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔ 
วิธีวิจัยของทีมทั้งหมด มี ๓ ขั้นตอน ได้แก่  ๑) ศึกษาวิจัยจากเอกสารข้อมูล จากพระไตรปิฎก อรรกถาจารย์ เอกสารโบราณทางพระพุทธศาสนา ศิลาจารึก พงศาวดาร และตำนาน รวมถึงการสัมภาษณ์ผู้มีอายุสูงกว่า ๙ ๐ ปี ๒) การศึกษาภาคสนาม เดินทางไปศึกษาตามสถานที่ต่างๆ ทั้งหมด รวมถึงการเดินทางไปที่อินเดียและเนปาล ๓) วิเคราะห์ข้อมูลจากทั้งสองขั้นตอน แล้วสรุปผลตอบวัตถุประสงค์
ผมตีความว่า สิ่งสำคัญที่ขาดไปของทีมวิจัยนี้คือ การขุดค้นภาคสนามทางโบราณคดี  คงจะเป็นเพราะหน่วยงานของรัฐไม่ให้ความสำคัญ ไม่ให้ความร่วมมือ .... ช่างแตกต่างจากประเทศเนปาล ที่รัฐบาลเขาทำทุกอย่างเพื่อให้โลกยอมรับ 
และยิ่งตอนที่ท่านพูดบ่อยๆ ว่า ท่านไม่สัมผัสรังสีหรือรัศมีหรือบารมีใดๆ เมื่อท่านไปที่อินเดียและเนปาล แทนที่จะเป็นผลดี สำหรับคนทั่วไปที่ไร้ศรัทธาต่อพลังสมาธิ ย่อมมองว่า เหนือธรรมชาติ ทึกทัก จึงถอยห่างจากความเชื่อของหลักฐานอื่นๆ ไป 
อย่างไรก็ดี หากผู้อ่านผู้ฟังมีวิจารณญาณแบบกลางๆ  ประเด็นที่ท่านว่ามาก็น่าเชื่อถืออย่งยิ่ง ดังนี้ 
ผลการวิจัย "พระพุทธอุบัติภูมิเกิดในประเทศไทย"
๑) สภาพภูมิศาสตร์ที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกสอดคล้องกับดินแดนสุวรรณภูมิ เช่น 
  • พระพุทธอุบัติภูมิ มี ๓ ฤดู ทราบจากที่พระเจ้าสุโทธนะสร้างปราสาทสามฤดูให้เจ้าชายสิทธัตถะ ตรงกับ ๓ ฤดูในสุวรรณภูมิ แต่ไม่ตรงกับกรุงบิลพัสดุ์ในเนปาลที่เป็น ๔ ฤดู (อยู่ในเส้นแวงหรือเส้นขนานที่ ๒๔ จัดอยู่ใน Tropical Cancer)
  • ความยาวของฤดูเข้าพรรษา ๓ เดือน ตรงกับปฏิทินจันทรคติของสยาม ตรงกับที่บัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก คือ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ (กลางเดือนกรกฎาคม) จนถึง ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ (กลางเดือนพฤศจิกายน)
  • ระยะทางระหว่างเมือง และทิศทางระหว่างเมือง สอดคล้องกับที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกมากกว่า เช่น 
    • สาวัตถี (สมมติฐานว่า เป็น บ.สาวะถี จ.ขอนแก่น) ถึง โกสัมพี (อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม) ๕๑ กิโลเมตร หรือ ๓.๒ โยชน์ ใกล้เคียงกับพระไตรปิฎกที่บอกไว้ว่า ๓ โยชน์
    • ตักสิลา (อ.บ้านตาก จ.ตาก) ถึง พาราณสี ๑๒๐ กิโลเมตร หรือ ๗ โยชน์ ใกล้เคียงกับที่บอกไว้ว่า ๑๐ โยชน์  .... ในที่นี้ทีมวิจัยของ ศ.ดร.ชัยยง เสนอว่า พาราณสีน่าจะอยู่แถว อ.กลางดง จ.นครราชสีมา แต่จากการเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ผมพบว่า น่าจะอยู่ที่อุตรดิตถ์ ที่พระแท่นศิลาอาสน์มากกว่า
    • เมืองสาวัตถี ถึง สาเกตนคร (จ.ร้อยเอ็ด) ๑๑๗ กิโลเมตร หรือ ๗ โยชน์เศษ ตรงกับที่บอกไว้ในพระไตรปิฎก
    • เมืองสาเกต ถึง โกสัมพี ๖๖ กิโลเมตรหรือ ๔ โยชน์ พอรับได้เมื่อเทียบกับ ๖ โยชน์ที่กำหนดไว้ในพระไตรปิฎก
  • อย่างไรก็ดี ก็มีไม่ตรงบ้างเช่นกัน (หลายอัน) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับที่กล่าวไว้ในหนังสือ "อ้อยต้นจืดปลายหวานฯ " เช่น  พาราณสีไปมหาโพธิ์ ๓๐๐ โยชน์ ราชคฤห์ไปมหาโพธิ์ ๖๐๐ โยชน์ ฯลฯ ซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมาก เกินกว่าจะเป็นทวีปเ(เดินท้าว)

๒) ขนบธรรมเนียมประเพณี 

ข้อนี้ถือเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพระพุทธอุบัติภูมิ ทั้งหมดของหลักฐานที่มีถือเป็นวัฒนธรรมติดตน ติดคน ติดสังคม  หากคนย้ายถิ่นไปก็อาจติดตามไปด้วยได้  มุมมองนี้สนับสนุนคำบอกเล่าของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บอกว่าคนไทยถูกขับไล่ ย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นมคธ  
ประเพณีที่ทีมวิจัยยกมาได้แก่ พิธีแรกนาขวัญ ประเพณีแต่งงาน การเผาศพเก็บกระดูก การถือวรรณะที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องอย่างดีกับวิถีคนในแดนสุวรรณภูมินี้ ในขณะที่ในอินเดียหามีไม่ ... ซึ่งคนที่เชื่อทางอินเดียก็อาจบอกได้ว่า ก็เพราะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันหมดไง ... ก็ว่ากันไป 
๓) วิถีชีวิตหลังสมัยพุทธกาล 
ประเด็นนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ยกมานั้นแม้จะสอดคล้องอย่างดีกับประเพณีของคนสุวรรณภูมิ ซึ่งได้แก่ 
  • ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (จิตใจดี) ของผู้คน
  • พระสงฆ์ในพระพุทธกาลฉันข้าวเป็นคำๆ จะเห็นได้จากคำสอนเกี่ยวกับพระวินัยในการขบฉัน  (ศ.ดร.ชัยยงค์ ตีความว่าเป็นข้าวเหนียว) เหมือนคนไทยลาวพม่าในเวลานี้
ยกเว้นประเด็นหนึ่ง คือ พืชพันธุ์ไม้ในพระไตรปิฎกกว่า ๒๖๔ ชนิด ล้วนพบเห็นได้ในเมืองไทยทั้งนั้น  ข้อนี้น่าจะมีน้ำหนักพิสูจน์เสริมนิดหนึ่งได้ว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่นี่
๔) โบราณสถานและโบราณวัตถุ
๔) ขนบธรรมเนียมประเพณี 

ข้อนี้ถือเป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่ง แต่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของพระพุทธอุบัติภูมิ ทั้งหมดของหลักฐานที่มีถือเป็นวัฒนธรรมติดตน ติดสังคม  หากคนย้ายถิ่นไปก็อาจติดตามไปด้วยได้  มุมมองนี้สนับสนุนคำบอกเล่าของพ่อแม่ครูอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บอกว่าคนไทยถูกขับไล่ ย้ายถิ่นฐานมาจากแคว้นมคธ  
ประเพณีที่ทีมวิจัยยกมาได้แก่ พิธีแรกนาขวัญ ประเพณีแต่งงาน การเผาศพเก็บกระดูก การถือวรรณะที่ค่อนข้างแตกต่างไปจากในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดนี้สอดคล้องอย่างดีกับวิถีคนในแดนสุวรรณภูมินี้ ในขณะที่ในอินเดียหามีไม่ ... ซึ่งคนที่เชื่อทางอินเดียก็อาจบอกได้ว่า ก็เพราะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันหมดไง ... ก็ว่ากันไป 
๕) วิถีชีวิตหลังสมัยพุทธกาล 
ประเด็นนี้ก็เช่นกัน สิ่งที่ยกมานั้นแม้จะสอดคล้องอย่างดีกับประเพณีของคนสุวรรณภูมิ ซึ่งได้แก่ 
  • ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ (จิตใจดี) ของผู้คน
  • พระสงฆ์ในพระพุทธกาลฉันข้าวเป็นคำๆ จะเห็นได้จากคำสอนเกี่ยวกับพระวินัยในการขบฉัน  (ศ.ดร.ชัยยงค์ ตีความว่าเป็นข้าวเหนียว) เหมือนคนไทยลาวพม่าในเวลานี้
ยกเว้นประเด็นหนึ่ง คือ พืชพันธุ์ไม้ในพระไตรปิฎกกว่า ๒๖๔ ชนิด ล้วนพบเห็นได้ในเมืองไทยทั้งนั้น  ข้อนี้น่าจะมีน้ำหนักพิสูจน์เสริมนิดหนึ่งได้ว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่นี่

๖) โบราณสถานและโบราณวัตถุ

  • มีหลักฐานในจารึกวัดศรีชุม ยืนยันว่า ปาตาลีบุตร อยู่ห่างจากศรีสัชนาลัย ๒๓ คืน และยืนยันว่า เมืองปาตลีบุตรและแม่น้ำอโนมานทีที่เจ้าชายสิทธัตถะปรงเกศาอยู่ห่างจากสุโขทัยเพียง ๒-๓ คืนเท่านั้น ...  (นัยว่า ท่านต้องการยืนยันว่า เมืองปาตลีบุตร อยู่ในสุวรรณภูมิ ไม่ได้อยู่ที่อินเดีย)
  • ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายแห่ง เอ่ยถึงคำสำคัญว่า ชมพูทวีป กุรุราฐ ฯลฯ และในนิทานใบลานธรมก็กล่าวถึง "ซมพูทวีป" เป็นจำนวนมาก 
  • ในศิลาจารึกหลักที่ ๘  บอกว่า พระเจ้าลิไทพาบริวารไปนมัสการพระบาทลักษณ์ บนยอดเขาสมนกูฎ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นเขาสมอแคลงในจังหวัดพิษณุโลก
  • ในดินแดนสุวรรณภูมิมีวัดอยู่หลายหมื่นแห่ง บางแห่งมีอายุกว่า ๒,๐๐๐ ปี โดยเฉพาะหลักฐานและเรื่องราวต่างๆ จากแผ่นกระเบื้องจาร จากหนังสือ พระพุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์ ที่เขียนโดย พระราชกวี (อ่ำ ธรรมทัตโต ป.ธ.๖) ที่บอกว่า วัดเก่าแก่ที่สุดสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 24  อ่านได้ที่นี่ 
๗) พุทธศิลปะและพุทธสถาปัตยกรรม 


  • ท่านบอกว่าโบสถ์ เจดีย์ พุทธสถาน ทั้งรูปร่างและลักษณะเฉพาะ เช่น ช่อฟ้า ใบระกา ฯลฯ ล้วนแล้วแต่วิจิตรบรรจง และคงความเป็นพุทธศิลปะไว้ได้ ... ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็อาจเป็นสิ่งติดตน ติดคน  และสืบทอดได้ โดยไม่ผูกพระพุทธอุบัติภูมิ
๘) ภาษามคธหรือภาษาบาลี
  • ภาษามคธ เป็นภาษาที่ใช้บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่า "ภาษาบาลี" ในใบลานที่พบในอีสานและภาคเหนือ ล้วนเป็น "ภาษาธรรม" คือ เป็นพระคัมภร์ทางพระพุทธศาสนา 
  • คนที่บอกว่า อักษรไทยมาจากอินเดียคือหมอบลัดเลย์ (ผู้ตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในสยาม)  ซึ่งเขียนไว้ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓
  • ศ.ดร. ชัยยงค์ บอกว่า ในสมัยพุทธกาล มีการใช้ภาษาเขียนบันทึกพระธรรมคำสอนแล้ว ไม่ใช่เพียงจุดจำ "มุขปาฐะ" และเพิ่งจะมีเหมือนที่สอนกันว่าเพิ่งจะมีหลังการสังคยาครั้งที่ ๔ ที่ลังกา  อย่างที่เข้าใจ  โดยอ้างหลักฐานคือ คำสอนตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเรียก "พระใบลานเปล่า" และ ทรงสอนไม่ให้เชื่อเพราะเป็นตำรา ในกาลามสูตร ๑๐ 
  • อักษรขอม  ประดิษฐ์ขึ้นโดยขุนขอมไทย ๑๕ ปีหลังจากขุนสือไทยคิดลายสือไทยใน "ปีอิน ๑๒๓๕" (๖,๗๗๖ ปีมาแล้ว) ...  ท่านน่าจะอ้างมาจาก ข้อมูลจากจารึกกระเบื้องจาร ในหนังสือพระพุทธสาสนสุวัณณภูมิปกรณ์ 
  • ชื่อเมือง แม่น้ำ ป่ คน ฯลฯ ในดินแดนสุวรรณภูมิ ส่วนมากใช้ภาษาบาลี เช่น กุกกนที (แม่น้ำกก) ธนนที (แม่น้ำโขง) ธนมูลนที (แม่น้ำมูล) ชีวายนที (แม่น้ำชี) ฯลฯ จึงมั่นใจว่า ภาษามคธหรือภาษาบาลี เป็นภาษาดั่งเดิมที่คนไทยลาวใช้ในดินแดนสุวรรณภูมิ 
  • ในปี ค.ศ.1687 (พ.ศ. ๒๒๓๐) O. van Hiniber เขียนไว้ในหนังสือชื่อ Seleced Papers on Pali Studies ว่า ชาวตะวันตกรู้จักภาษาบาลีครั้งแรกในประเทศสยาม โดย  M. Siman de la Loubere เอกอัครราชฑูตของพระเจ้าหลุยที่ 14 ซึ่งถูกส่งมาประจำประเทศไทย  และในช่วงเวลาแห่งการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกไปในอินเดียศรีลังกา ไม่พบว่ามีการใช้ภาษาบาลี มีกล่าวถึงก็เพียงภาษาสันสกฤต โดย Jame Prinsep เท่านั้น ...  เรื่องนี้ก็ยังเป็นสิ่งติดตัวติดคนติดตนติดสังคม  ไม่น่าจะยืนยันได้ว่าที่นี่เป็นพระพุทธอุบัติภูมิ 
๙) หลักฐาน/ตำนานไทย
  • พงศาวดารเหนือ มีการระบุเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ  
  • ใบลานจารของลาว มีการเอ่ยชื่อเมืองต่างๆ ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก เช่น เมืองคันธาง เมืองสาเกต เมืองปาวาย ฯลฯ 
  • พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงชมพูทวีปในพระราชสาสน์ของพระมหาจักรพรรดิ์ถึงพระเจ้ากรุงหงสาวดี 
  • สังคีติยวงศ์ กล่าวไว้ว่า กรุงสุโขทัยปุระ ณ สยามประเทศ ตั้งอยู่ในชมพูทวีป 
  • ประกาศเทวดา เมื่อครั้งสังคยานาพระไตรปิฎกในรัชกาลที่ ๑ บอกว่า พระพุทธโฆษาจารย์ ไปแปลพระไตรปิฎกจากภาษาสิงหล มาเป็นภาษามคธ  (บอกว่า "...นำมาไว้ในชมพูทวีป")
ผมคิดว่า หลักฐานเหล่านี้ ไม่มีน้ำหนักมากนัก เพราะเป็นหลักฐานที่คนเขียนขึ้น  หากคนย้ายไป ความเชื่อและองค์ความรู้ของคนจะติดตนไปได้ด้วย  อย่างไรก็ดี หลักฐานในพงศาวดารหรือใบลานจารต่างๆ เหล่านี้ ก็ยืนยันความเชื่อความเข้าใจของคนไทยในยุคนั้นๆ   ซึ่งแตกต่างกันกับคนไทยในยุคนี้มากๆ 

ตีความหลังสืบค้นศึกษา

หลังจากศึกษาและสืบค้นในประเด็นว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิ ผมเห็นประเด็นน่าสนใจดังนี้  (ย้ำว่า ต้องตกลงเชื่อว่าเรื่องราวในพระไตรปิฎกของเถวาทเป็นจริง)
  • คนไทย (สยาม) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ย้อนกลับไปในอดีต เชื่อว่า พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ในดินไทย ลาว พม่า เขมร หรือก็คือแถบสวุรรรณภูมินี้  
  • คนไทย มาเชื่อตามฝรั่ง ว่าศาสนาพุทธในประเทศไทย ถ่ายทอดมาจากอินเดียในช่วงรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมานี้เอง 
  • ระยะห่างระหว่างเมืองต่างๆ ที่ปรากฎในพระไตรปิฎก (มีผู้สรุปไว้ที่นี่)  สอดคล้องกับตำแหน่งที่ตั้งสมมติฐานและงานเขียนของพระธรรมเจดีย์ (ปาน) ... สอดคล้องมากกว่าสถานที่ที่เชื่อกันตอนนี้ว่าอยู่ในอินเดียเนปาลมาก
  • หลักฐานทุกอย่างที่กล่าวมา บอกว่า คนในพุทธกาลคือคนที่กำลังอาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิตอนนี้  .... เป็นไปได้สูงมากกว่า พระพุทธเจ้าก็คือคนไทยหรือคนในดินแดนนี้ในปัจจุบัน  กล่าวคือ หลักฐานที่เห็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ยืนยันว่าพระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่นี่ แต่บอกว่าคนที่นี่เคยอยู่ที่ดินแดนที่เป็นพระพุทธอุบัติภูมิ (ยกเว้นเรื่องระยะห่างของเมือง)
บันทึกหน้ามาว่าเรื่องทฤษฎีการย้ายถิ่นที่ของชาวมคธจากอินเดียมาสุวรรณภูมิตามเรื่องเล่าของหลวงตาทองคำ (สำหรับผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเท่านั้น)

วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ไม่น่าเชื่อ !!!! ข้าพเจ้าเพิ่งจะรู้เรื่องนี้หลังจากที่เหลือชีวิตไม่ถึงครึ่งชีวิต (๑)

ไม่น่าเชื่อ !!!  ผมเพิ่งจะมามีโอกาสศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คราวนี้ ทั้งที่เคยได้ยินเรื่องนี้มาสัก ๕ ปีแล้วได้ ...  "พระพุทธอุบัติภูมิแท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ในอินเดีย"...
สิ่งที่ผมสืบค้นได้ทางเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด เป็นการอภิปรายโต้เถียงกันไปมา จับได้ ๔ ประเด็นว่า 
  • พระพุทธอุบัติภูมิ (การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า) อยู่ที่อินเดีย .... ผู้เสนอเรื่องนี้เป็นฝรั่งชาวอังกฤษ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย  
  • พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่ได้อยู่อินเดีย .... 
  • พระพุทธอบัติภูมิ อยู่ที่สุวรรณภูมิ .... ผู้เสนอเรื่องนี้ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ชัยยงค์ พรมวงศ์ บอกว่า แท้จริงแล้วชมพูทวีปน่าจะอยู่ที่สุวรรณภูมิ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ 
  • พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่อยู่ที่สุวรรณภูมิ .... กลุ่มที่บอกแบบนี้คือผู้ที่เข้ามาตอบโต้ ศาสตราจารย์.ดร.ชัยยงค์ และผู้สำคัญว่าตนเองรู้ดีกว่าซึ่งเข้ามาตอบตามกระทู้ต่างๆ ในหลากหลายเว็บไซต์
ขอยกเอาหลักฐานและการอธิบายยืนยันของแต่ละฝ่าย โดยหยิบเอาเฉพาะประเด็นที่เห็นว่าน่าเชื่อถือของแต่ละประเด็นดังนี้ครับ 
พระพุทธอุบัติภูมิอยู่ที่อินเดีย (อุตตรประเทศ)
  • ประมาณปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.๒๔๑๙) เซอร์ อเล็กเซาเดอร์ คันนิงแฮม (Alexander Cunningham) บิดาแห่งโบราณคดีอินเดีย ได้ขุดค้นศึกษาที่เมือง Sahet Mahet และบอกว่านี่นั่นคือกรุงกบิลพัศดุ์ (Kapilavastu) และบอกว่า สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหรือสวนลุมพินีวันอยู่ที่เมือง Piprahawa  
  • ในปี ค.ศ. 1895-6 ดร.แอนตัน ฟูเลอร์ (Alois Anton Führer) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน พบว่า สถานที่ประสูติไม่ใช่ที่เมือง Piprahawa ของอินเดีย แต่อยู่ที่เมือง Tilaurakot ของประเทศเนปาล  ข้อมูลนี้สอดคล้องกับบันทึกของนักเดินทางชาวจีนที่ไปแสวงบุญชื่อ Fha Hien ในศตวรรษที่ ๕ และ Huen Tsian (พระถังซัมจั๋ง) ในศตวรรษที่ ๗ (อ้างอิงที่นี่)  ...  มีข้อสังเกตว่า ดร.แอนตัน ฟูเลอร์ ได้รับการมอบหมายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลให้มาทำการศึกษาครั้งนั้น หลังจากอเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม บอกว่าลุมพินีอยู่ที่อินเดีย
  • ปี ค.ศ.1899 นักโบราณคดีชาวอินเดียชื่อ Dr. P.C. Mukherjee ศึกษาลงละเอียดที่เมือ Tilaurakot พบคลองคูน้ำรอบๆ เนิน พบประตูทางตะวันออก พบสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ซากปรักหักพังต่างๆ ในป้อม 
  • ปี ค.ศ. 1961-2 Debala Mitra แห่ง Archaeological Survey of India (ASI) มาศึกษาตามคำเชิญของรัฐบาลเนปาล (นัยว่าเอาให้ชัดๆ ไปเลย) Mitra พบว่า วัตถุโบราณต่างๆ เช่น เครื่องเงิน ทองแดง ดินเผา รูปแกะสลักคนหรือสัตว์ หิน ลูกปัด กำไล ฯลฯ  ทั้งหมดมีอายุไม่ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ ปี ก่อนคริสตจักร เท่านั้น ... นั่นหมายถึง เมือง Tilaurakot อาจไม่ใช่กรุงกบิลพัศดุ์ 
  • ในปี ค.ศ.1967 เป็นต้นมา รัฐบาลเนปาลได้ทุ่มเทศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจังต่อเนื่อง ร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศต่างๆ และขอความร่วมมือจากหน่วยงาน UNESCO 
  • ปี ค.ศ. 1996-7 นักโบราณคดีของ UNESCO ชาวอังกฤษคือ Dr. Robin Coningham ร่วมกับ Dr. Armin Schmidt และ Kosh Acharya พบกองเหรียญกษาปน์โบราณ กับเครื่องปั้นดินเผาโบราณที่เก่าแก่พอที่จะยืนยันได้ว่า กบิลพัสดุ์ อยู่ที่ Tilaurakot และ UNESCO ก็ประกาศให้บริเวณนี้เป็นมรดกโลกในปี 1997 (อ้างอิงที่นี่ และ ที่นี่)
นั่นหมายถึง มีการยืนยันและรับรองจาก UNESCO ว่า กรุงกบิลพัศดุ์อยู่ที่เนปาล โดยใช้วิธีพิสูจน์ว่า วัตถุโบราณนั้นเก่าพอที่จะอยู่ในช่วง ๖๐๐ ปีก่อนคริสตจักรหรืออยู่ในช่วงสมัยพุทธกาลหรือไม่ .... ข้อสังเกตว่า นักโบราณคดีไม่ได้ให้ความสำคัญกับความสอดคล้องกับพระไตรปิฎกที่พุทธศานิกชนนิกายเถรวาทเท่าใดนัก 
พระพุทธอุบัติภูมิไม่ได้อยู่ที่อินเดีย
กลุ่มนักวิชาการไทยที่ "สงสัย" และทำวิจัยเรื่องนี้มีหลายท่าน นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ ท่านเผยแพร่ผลงานโดยตรงลงบนเว็บไซต์ http://www.buddhabirthplace.net/ หรือมีผู้นำมาเผยแพร่ต่อพอสมควร เช่นที่นี่ และอธิบายผลงานของทีมวิจัยทางยูทูป ดูได้ที่นี่  ผมฟังแล้ว จับประเด็นที่ท่านบอกว่า อินเดียไม่ใช่พระพุทธอุบัติภูมิ (นัยว่า แน่นอน ท่านมั่นใจมาก)
  • เมื่อเปรียบเทียบระยะทางระหว่างเมืองที่ปรากฎในพระไตรปิฎก ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งต่างๆ ของโบราณสถานที่อ้างโดยนักโบราณคดีอินเดีย  เช่น ในพระไตรปิฎก บอกว่า กรุงพาราณาสี ห่างจากตักสิลา ๑๐ โยชน์ หรือเท่ากับ (๑๐x๑๖) ๑๖๐ กิโลเมตร เท่านั้น ในขณะที่เมืองตักสิลาที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงอิสลามาบัดในประเทศปากีสถานห่างจากเมืองพาราณาสี ๑,๓๔๗ กิโลเมตร (วัดโดยใช้แผนที่อากู๋) หรือประมาณ ๘๗ โยชน์ ซึ่งไม่ตรงกัน เป็นต้น .... ด้วยหลักฐานนี้ก็ตัดสินแล้วว่า  ถ้าใครเชื่อพระใตรปิฎกก็ต้องเชื่อว่าอินเดียไม่ใช่พระพุทธอุบัติ ถ้าใครเชื่อหลักฐานของฝรั่งก็ต้องอธิบายกันต่อไป   

  • ในพระไตรปิฎกบอกว่า ทิศทางระหว่างกุสินาราไปราชคฤห์ต้องผ่านสาวัตถี ไม่สอดคล้องกับตำแหน่งของเมืองต่างๆ ในโบราณสถานที่อินเดีย 

  • เมืองสาเกต อโยธยา อยู่ห่างจาก สาวัตถีและเมืองโกสัมพี ไม่ตรงกับที่เขียนไว้ในพระไตรปิฎก สาเกตถึงสาวัตถี ควรเป็น ๗ โยชน์ แต่ที่อินเดีย ๕ โยชน์ ส่วนสาเกตถึงโกสัมพี ควรจะเป็น ๖ โยชน์ แต่ที่อินเดีย ๑๐ โยชน์ 

  • ในพระไตรปิฎกบอกว่า เมืองกบิลพัสดุ์อยู่ที่แคว้นสักกะ ส่วนกุสินาราย (ศ.ชัยยงค์ ท่านบอกว่าเพี้ยนมา กุสินารา) อยู่ที่แควันมัลละ ดังนั้นกุสินาราควรจะอยู่ไกลจากกบิลพัสดุ์มาก แต่ในอินเดีย สองเมืองนี้ห่างกันเพียง ๑๒ โยชน์

โดยสรุป ข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของเมืองต่างๆ ในอินเดีย ไม่สอดคล้องกับข้อมูลที่กล่าวไว้ในพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท (บาลี) เลย  .... สำหรับผมหลักฐานเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่จะบอกว่า พระพุทธอุบัติภูมิ ไม่ใช่อยู่ในอินเดีย เพราะผมเชื่อพระไตรปิฎก นั่นเองครับ  แต่ก็มีอีกหลายอย่างที่น่าสนใจ ดังนี้ 
  • พระเจ้าแผ่นดินตระกูลศากยะ (ศากยะวงศ์) จะมีประเพณีแรกนาขวัญ มีอาชีพทำนา ในพระไตรปิฎกพระเจ้าสุทโทธนะก็ทรงทำนา ประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดินประกอบพิธีแรกนาขวัญ มีเพียงประเทศในดินแดนสวุวรรณภูมิเท่านั้นคือ ไทย ลาว มอญ 
  • ในหลักฐานเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราช เขียนไว้ บอกว่า ทรงเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้ขยายขจรขจายไปทั่วทุกทิศ สร้างเจดีย์บูชาจำนวน 84,000 องค์  แต่ที่อินเดียนับรวมกันแล้วมีเพียง ๑๒๐ เท่านั้น 
  • การเขียนประวัติของพระพุทธศาสนาของ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม เขียนขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ใช้เพียงหลักฐานทางวัตถุ ไม่ได้ศึกษาเทียบเคียงกับพระไตรปิฎกของชาวพุทธ 
แต่นอกจากเรื่องภูมิศาสตร์แล้ว ยังมีข้อมูลที่ต้อง "ใช้ใจที่มีศรัทธา" เปิดรับฟัง ต้องยอมรับข้อตกลงเบื้องต้นตามพระไตรปิฎก ถึงข้อกำหนดที่มีชัดเจนเรื่องข้อห้ามอันเป็นเหตุให้ผู้ละเมิดขาดจากความเป็นสงฆ์ ได้แก่ ๑) ฆ่าคน ๒) ลักขโมย ๓) เสพเมถุน และ ๔) กล่าวอวดอุตริมนุษยธรรม (โกหกว่าตนเองบรรลุธรรมหรือคุณวิเศษ)  ดังนั้น พ่อแม่ครูจารย์ (คำเรียกหลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ที่เชื่อว่าท่านบรรลุธรรม) ท่านจะไม่ทำผิด ปารชิก ๔ นี้แน่นอน  หากยอมรับข้อนี้ ท่านจงพิจารณาดูประเด็นต่อไปนี้ 
  • หลวงปู่มั่น ได้เล่าให้หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ ฟังว่า ท่านได้พิจารณาดีแล้วจนหมดข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น .... พระพุทธเจ้าเป็นคนไทยไม่ใช่แขก (อ่านเองได้ที่นี่)
  • ประเทศที่แม้แต่ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่มี ย่อมไม่ใช่ศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา เพราะกรรมนิยามย่อมกำหนดผลของกรรม 
อ่านถึงตรงนี้ ท่านคิดว่าไงครับ ...  
ผมคิดว่าผมเข้าใจความรู้สึกของ ศ.ดร.ชัยยงค์ พรมวงศ์ โดยเฉพาะเมื่อท่านได้อ่านงานเขียนของพระธรรมเจดีย์ (ปาน) ครั้งแรก (อ่านได้ที่นี่ ฟังได้ที่นี่) บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องนี้โดยเฉพาะครับ 

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๑ (๑) BAR

ปีการศึกษา ๑-๒๕๖๑ รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ปรับปรุงกระบวนการจัดการเรียนการสอนครั้งใหญ่พอสมควร  ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการทดลองทำ Team Teaching ในรายวิชาศึกษาทั่วไป  เราออกแบบให้เป็นชั้นเรียนขนาดใหญ่ นิสิต ๓๐๐ คน เรียนรวมกัน สัปดาห์ละ ๓ ชั่วโมง (๒(๑-๒-๓)) มีอาจารย์ผู้สอนประจำ ๕ ท่าน ได้แก่
  • ผศ.ดร.ธรินธร นามวรรณ  คณะศึกษาศาสตร์  หัวหน้าภาควิชาบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.กาญจน์ เรืองมนตรี คณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิสอนการบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.พีระศักดิ์ วรฉัตร คณะศึกษาศาสตร์ อาจารย์ผู้สอน สาขาวิชาบริหารการศึกษา
  • ผศ.ดร.ชลธี โพธิทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์
  • อ.ดร.ฤทธิไกร ไชยงาม คณะวิทยาศาสตร์ รองผู้อำนวยการสำนักศึกษาทั่วไป 
ตกลงกันว่า ภาคการศึกษานี้เราจะจัดการเรียนรู้แบบเป็นทีม หรือ Team Teaching เมื่ออาจารย์ทุกท่านเข้าใจแนวกระบวนการเดียวกันแล้ว ค่อยพิจารณาปรับแยกกลุ่มการเรียนต่อไปในภาคเรียนหน้า 

คำอธิบายรายวิชา 

การพัฒนาบุคลิกภาพ ความเป็นผู้นำ ลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ การเตรียมความพร้อมในการทำงานทักษะในการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้จากการทำโครงการ การวางแผน การเขียนข้อเสนอโครงการ การนำเสนอ และประเมินผลโครงการ

Personality development, leadership, career preparation, team-working skill, project-based learning, planning, project proposal writing, presentation, and project evaluation


จุดมุ่งหมายการเรียนรู้

จุุดมุ่งหมายของรายวิชาฯ มีทั้งหมด ๒๑ ข้อ แบ่งเป็นจุดมุ่งหมายเฉพาะของรายวิชาที่สอดคล้องกับ คำอธิบายรายวิชาฯ ๖ ข้อแรก และสอดคล้องกับมาตรฐานตามกรอบ TQF ของหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (มคอ.๒) ทั้งหมด ๑๕ ข้อ  รายละเอียดรายวิชา   สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่

BAR

เราทำกิจกรรมทบทวนก่อนการปฏิบัติการ (Before Action Review) ด้วยคำถาม ๔ คำถาม คือ ๑) ทำไมจึงมาเรียนรายวิชานี้ ๒) ผู้นำที่ดีต้องมี..ต้องเป็น...อย่างไร ๓) ต้องการหรือคาดหวังอะไรจากรายวิชานี้ และ ๔) อะไรที่จะทำให้ไม่บบรรลุผลนั้น ดังภาพ


ในการพบกันครั้งแรก มีนิสิตเข้าเรียนเพียง ๑๑๗  คน  ตอบคำถามสรุปได้ ดังนี้

ทำไมจึงมาเรียนรายวิชานี้ 

สามารถจำแนกคำตอบได้เป็น ๔ ประเด็นหลักๆ ดังนี้

  • นิสิต ๔๒ คน ตอบว่า มาเรียนเพราะต้องการจะเก็บหน่วยกิตให้ครบ หรือ มาลงเพราะจำเป็นต้องลงทะเบียนเรียนอะไรสักอย่าง หรือไม่มีวิชาอื่นให้ลง 
  • นิสิต ๒๘ คน บอกว่า ต้องการนำเอาความรู้และทักษะที่ได้จากรายวิชานี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือในอนาคต 
  • นิสิต ๒๕ คน บอกว่า ลงทะเบียนตามเพื่อน เพื่อนแนะนำ หรือรุ่นพี่แนะนำมา 
  • นิสิต ๒๒ คน บอกว่าสนใจ อยากรู้ อยากเรียนรู้  จึงมาลงทะเบียนเรียน 
สังเกตว่า นิสิต ๗๐ คน ยังไม่มีเป้าหมายในการเรียนที่แน่ชัด ทั้งที่ขณะนี้ งานวิจัยยืนยันแล้วว่า คนที่มีเป้าหมายชัดเจนกว่า จะประสบผลสำเร็จในชีวิตมากกว่า

ผู้ที่ดีที่สุดจะต้อง..... (มีอะไร/เป็นอะไร)


ต่อไปนี้คือคำตอบของนิสิต ก่อนเรียน เมื่อถามว่า ผู้นำที่ดีที่สุดจะต้องเป็นอย่างไร โดยให้เวลาเขียนอย่างรวดเร็วภายใน ๑ นาที นำคำตอบของนิสิตมาดู พบสิ่งที่น่าในใจ ดังนี้

  • ในจำนวน ๑๑๗ คน มีนิสิตที่เขียนตอบว่า ผู้นำที่ดีที่สุดต้องมีความ "ซื่อสัตย์" ถึง ๔๕ คน ในจำนวนนี้มี ๖ คน ที่นึกถึงคำว่า "ซื่อสัตย์" เป็นอันดับแรก 
  • ๑๐ คุณสมบัติของผู้นำที่ดีที่สุดที่นิสิตตอบ ได้แก่
    • ซื่อสัตย์
    • กล้าตัดสินใจ
    • มีความรับผิดชอบ
    • เป็นแบบอย่าง
    • มีอุดมการณ์
    • ริเริ่มสร้างสรรค์
    • มีวินัย 
    • พูดเก่ง
    • แก้ปัญหา
    • ไม่เห็นแก่ตัว
จะเห็นว่านิสิต (๑๘-๒๐ ปี น่าจะเป็นนิสิตปี ๒) รู้ว่าผู้นำที่ดีมีลักษณะอย่างไร หากพวกเขาเหล่านี้ออกไปร่วมเลือกผู้นำของสังคมอย่างพร้อมเพียง ประเทศไทยจะได้ผู้นำที่ดีๆ เป็นแน่

คาดหวังอะไรจากรายวิชานี้ 
  • มีนิิสิตถึง ๖๙ คน เขียนตอบว่า คาดหวังเกรด A 
  • ที่เหลือเกือบทั้งหมด ๔๗ คน บอกว่า คาดหวังที่จะได้ความรู้หรือทักษะเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือการดำเนินชีวิตในอนาคต
  • มีนิสิต ๑ คน เขียนตอบว่า "ต้องการจะเป็นผู้นำทางด้านความคิดและการตัดสินใจ" 
สังเกตว่า เกือบทั้งห้องเรียน (วันนั้น ๑๑๗ คน) แทบจะไม่มีใครตั้งเป้าหมายในชีวิตว่าจะเป็นผู้นำแบบชัดๆ เลย 

อุปสรรคอะไรที่จะทำให้ไม่บรรลุผล

นิสิตส่วนใหญ่ตอบไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด คือ การมองไปที่พฤติกรรมของตนเอง  เช่น 
  • ความขี้เกียจ ไม่ขยัน
  • การไม่ตั้งใจเรียน 
  • ขาดเรียน
  • การไม่ส่งงาน ไม่รับผิดชอบ
  • ไม่อ่านหนังสือ
  • ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตอบ  ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในตนเอง
  • เล่นโทรศัพท์
  • ไม่ไปสอบ
  • ไม่พยายาม
  • ไม่ตั้งเป้าหมาย ผลัดวันประกันพรุ่ง
  • ไม่เอาใจใส่
  • ไม่อดทน
  • ไม่ลงมือปฏิบัติ
  • ไม่ทำงานช่วยเพื่อน
มีนิสิตเพียงคนเดียวที่เขียนเกี่ยวกับปัจจัยอื่น คือ เขียนว่า "อาจารย์ไม่ช่วย ให้คะแนนน้อย" ...

นอกจากกิจกรรม BAR แล้ว วันแรกที่เจอกัน เรายังได้ทำกิจกรรมทดสอบความรู้เกี่ยวกับผู้นำในสังคมไทยและสังคมโลก โดยเปิดภาพให้ดูสั้นๆ แล้วให้นิสิตให้คะแนนตนเอง ดังนี้ 
  • ๑ คะแนน ถ้ารู้จัก และรู้ด้วยว่า คนในรูปเป็นใคร เป็นผู้นำอะไร ได้รับการยอมรับเรื่องอะไร 
  • ๐ คะแนน หากพอรู้ เคยรู้ รู้จักแต่ชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเป็นผู้นำอะไร หรือผู้นำใคร ด้านใด 
  • -๑ คะแนน ถ้าไม่รู้จักเลย ไม่รู้ชื่อ  
ภาพที่นำเสนอมีดังนี้ 























ถ้านิสิตได้คะแนนเต็ม ตอบถูกทุกรูป จะได้คะแนน ๓๓ คะแนน (วลาเดเมียร ปูติน นับซ้ำ ๑ ครั้ง)  สรุปผลการตอบ ที่น่าสนใจ ดังนี้ 
  • มีนิสิตที่ได้คะแนนเป็นบวกเพียง ๒๐ คน จาก ๑๑๗ คน เท่านั้น 
  • คะแนนสูงสุด ๑๓ คะแนน คือ นายภูมินันท์ ภูมี นิสิตวิทยาลัยการเมืองการปกครอง รองลงมา ๑๑ คะแนน คือนายปณวัชร สายโสภา นิสิตระบบพิเศษ คณะนิติศาสตร์ 
  • นายภูมินันท์ บอกว่า ที่มาเรียนรายวิชานี้ เพราะต้องการความรู้และทักษะการเป็นผู้นำไปในการเรียน การทำกิจกรรม และการทำงาน 
  • คะแนนติดลบมากที่สุด -๒๒ คะแนน รองลงมาคือ -๒๐ คะแนน  รวมๆ แล้วคนได้คะแนนติดลบคิดเป็นมากกว่าร้อยละ ๘๐ 
สังเกตว่า นิสิตเกือบทุกคนจะรู้จักผู้นำที่เป็นดารานักร้อง หรือเรื่องราวที่ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์  แต่ไม่ค่อยรู้จักผู้นำของประเทศ ยกเว้นแต่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เท่านั้นที่ทุกคนรู้จัก ....  ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา หากนำเอาแบบทดสอบนี้ไปทดสอบตอนผมเรียนอยู่ตอน ป.ตรี  คงได้คะแนนติดลบท๊อปล่างเป็นแน่เทียว ....

สำหรับนิสิตที่ลงทะเบียนช้า ให้ลองอ่านทำความเข้าใจบันทึกนี้ แล้วทำกิจกรรมด้วยตนเอง เขียนลงในกระดาษ A4 นำมาส่งครับ 


(คาบเรียนใน ๒ สัปดาห์ถัดมา)