ก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ อาจารย์ผู้สอนประชุมแลกเปลี่ยนปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ เป็นวิชาที่เน้นกิจกรรม&กระบวนการ โดยตั้งใจกันว่าจะลดการบรรยายให้เหลือน้อยที่สุด (อ่านได้ที่นี่)
วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ CADL จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจารย์ผู้สอนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชานี้ต่อเนื่อง โดยได้รับเกียรติจากทีมกระบวนกรอิสระมาช่วยเป็นเป็นคุณอำนวยเติมเสริม คือ คุณจุ้ย คุณอร และคุณนิคม... กระผมขอขอบพระคุณทั้งสามท่านอีกครั้งครับ ทั้งเกรงใจและเลื่อมใสในจิตอาสาของทีมอย่างยิ่ง เพzราะค่าตอบแทนที่ตั้งไว้กำหนดให้ท่านเดียวเท่านั้น แต่ท่านก็ยกทีมมาร่วมกันทั้งที่อยู่คนละทิศ
อาจารย์ผู้สอนมาร่วมกันเกือบครบทุกท่าน ขาดเพียง ๒ ท่านที่ติดภารราชการงานบริหาร และมีอาจารย์ใหม่มาร่วมด้วยอีก ๓ ท่าน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สุดครับ เพราะสิ่งนี้เป็นสัญญาว่าจะสามารถ "ขยาย" ได้ ไม่ใช่ค่อยๆ "หาย" ไป โดยเฉพาะเมื่อ ผอ.สำนักศึกษาทั่วไปให้ความสำคัญ ท่านมาเป็นประธานเปิดด้วยตนเอง ทำให้กำลังใจในการขับเคลื่อนฯ รายวิชา ... มาเต็มที่
กระบวนการของกระบวนกร สรุปเป็นตอนๆ ได้ดังนี้ครับ เริ่มด้วย "นำเข้า" หรือ Check In -> ระบายสีภาพน้ำบนชิ้นงานกระดาษ -> แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสาธิต -> Check Out ... ผมสรุปแบบจับความ ถอดความเอง และบันทึกสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ในการสอนต่อไปไว้ดังนี้ครับ
กระบวนการ check in "นำเข้า"
อ.จุ้ย (กระบวนกร) ชี้ชวนให้อาจารย์แต่ละท่านสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการ "นำเข้า" Check In แลกเปลี่ยนวิธีการและวัตถุประสงค์ในการทำ ... ผมจับได้ดังนี้ครับ
- อ.ธวัช จะใช้ธรรมะหรือหลักธรรมเป็นหลัง โดยเสียระฆังนำเข้า ไม่มีพิธีรีตอง เสียงระฆังสามารถดาวน์โหลดได้ (หรือจะแอปพลิแคชั่น) ด้วยใช้น้ำเสียง คำพูด สร้าง "พื้นที่" ให้ทุกคนได้เข้ามา สิ่งที่เราต้องการคือ ตัวรู้ สติ คลื่นสมองอัลฟ่า ใช้อัลฟ่าเป็นสะพาน อยากให้เขาหลุดจากคลื่นเบต้า... หยุ่ดพล่านเสียที ดำรงอยู่ตรงนี้สิ...
- อ.นริสา จะใช้หลากหลายวิธี จะใช้กลยุทธ์อะไรก็ได้ให้เขานิ่ง และสามารถทำให้เขาอยู่กับตนเอง เช่น
- วิธีที่ ๑ การพาเข้าโดยการพูดนำ.... ครูขอเวลาสัก ชั่วโมงครึ่ง ขอให้พวกเราอยู่กับครู ปิดโทรศัพท์ วางทุกอย่างลงอย่างลง ไม่ต้องจด ไม่ต้องอะไรเลย ให้นั่งฟัง วางทุกสิ่งที่วุ่นวาย ใครจะถอดเสื้อแจ็คเก็ตให้ทำได้ให้ตัวสบาย ....
- วิธีที่ ๒ คือ ให้ทุกคนอยู่กับลมหายใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้รู้สึกถึงลมหายใจ
- วิธีที่ ๓ คือ ใช้ดนตรีสมาธิ เปิดให้ฟังประมาณ ๕ นาที ก่อนเริ่มคลาส บอกเขาว่า ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้วางทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อมาเรียนรู้ร่วมกันอย่างเต็มที่
- วิธีที่ ๔ คือ ให้นิสิตเดินอย่างอิสระ แล้วสังเกตตนเอง ... ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ให้มีสติอยู่กับตนเอง และพร้อมต่อการเรียนรู้
- อ.ชัยสิทธิ์ จะใช้วิธีคลายดนตรีบำบัด ซึ่งได้เรียนรู้จาก โมเรโน่ ใช้วิธีการเปิดเพลง แล้วพูด เล่าเรื่องช้าๆ โดยใช้เรื่องที่นำสู่ความโล่ง โปร่ง เช่น ท้องฟ้า ฯลฯ
- อ.สุรเชษฐ์ ใช้หลายวิธีตามลำดับ ๒ สัปดาห์แรก ใช้ลมหายใจ ๒ สัปดาห์ถัดไป ใช้วิธีแสกนบอดี้ และใช้หลากหลายวิธีรวมกัน ส่วนหลังกลางภาคไปแล้ว จะใช้วิธีทำสมาธิของสถาบันจิตตานุภาพ
- อ.ต๋อย บอกว่า สังเกตพบว่า นิสิตจะสามารถเช็คอินเข้ามาได้ ตอนประมาณสัปดาห์ที่ ๓ ที่เจอกัน จึงเสนอว่า ควรจะมีการเช็คอินทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่จะมีกิจกรรมการเรียนรู้
- อ.จุ้ย แนะนำให้ลองใช้วิธี เล่นเกมให้สนุกสุดๆ ไปเลย แล้วพาหยุดทันที เพื่อให้เข้าพัก อยู่กับตนเอง แล้วให้พูดอารมณ์ความรู้สึกของเขา ถึงความแตกต่างระหว่างเมื่อสนุกสุดๆ กับตอนนี้ที่กำลังสะท้อน
- อ.มหานิคม มุมที่เคยใช้คือ นำเข้าด้วยสมาธิ ใช้วิธีพาดูลมหายใจ ดูจากลมหายใจยาว รู้ว่ายาว สั้นรู้ว่าสั้น ให้ทุกคนรู้ "อารมณ์" เอาลมหายใจเป็นอารมณ์ ดูความรู้สึกนึกคิด หรือจะดูความเคลื่อนไหวของกาย หรืออาจใช้เสียง หรือสี มีหลากหลายวิธี ... จะนำเข้าแบบไหนก็ได้ ... บางทีอาจพา ยืน เดิน นั่ง นอน คือ ให้ยืน ๒ นาที เดิน ให้เดินไปทั่วๆ นั่ง ๒ นาที แต่ละอริยาบทให้หยุดดูลมหายใจ .... เหล่านี้ เป็นการนำเข้าสู่ชุมชนเรียนรู้ หรือที่เราเรียกว่า เรียกสติ หรือเตรียมความพร้อม
- อ.วิไลลักษณ์ จะใช้เรื่องเล่า เล่าเรื่อง สังเกตว่านิสิตจะชอบฟังเรื่องเล่าประสบกการณ์จริงๆ มาก เช่น ทุก ๆ เช้าเราจะขับรถไปใส่บาตร เมื่อเห็นเรื่องราวการขับรถผิดกฎจราจรของคน จะนำมาเล่าให้นิสิตฟัง หรือนำเรื่องราวการทำความดีของคนมาเล่า ข่าวดีสำคัญๆ มาเล่า ... หรืออาจเป็นเรื่องความดีเล็กในชีวิตประจำวันของตนเอง เช่น การเดินไปปิดไฟที่ยังไม่มีใครไปปิดในตอนเช้าตรู่ ...นี่ก็เป็นความดีอีกแบบหนึ่ง ฯลฯ
- อ.แมว บอกว่า อีกสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ต้องกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากเรียนด้วย
- อ.จุ้ย สรุปว่า เรื่อง "นำเข้า" หรือ check in ก็เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม พร้อมจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย ความกังวล วุ่นวาย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องมี ควรกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของการทำกิจกรรมการเรียนรู้เลยครับ
บันทึกต่อไปมาดู กิจกรรมที่อาจารย์แต่ละท่านนำมาแลกเปลี่ยนครับ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น