วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๕ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๒)

บันทึกที่ (๑)

ผมเล่าให้อาจารย์ศศินีสฟังก่อนวันอบรมฯ หลายเรื่อง เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำผ่านมาในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นประเด็นๆ พอสังเขปดังนี้
  • อาจารย์สะท้อนว่า นิสิตได้เรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมามากแล้วตั้งแต่ตอนสมัยมัธยมปลาย 
  • อาจารย์สะท้อนหลายคนว่า เนื้อหาในเอกสารประกอบการสอนน้อยเกินไป ควรเพิ่มเนื้อหาให้มากกว่านี้ 
  • ผมตีความว่า ข้อสะท้อนของอาจารย์ทั้งสองข้อ บอกว่า อาจารย์อาจจะยังสอนแบบบรรยาย บอกเนื้อหา นิสิตเรียนรู้แบบรับความรู้ อาจารย์ส่งผ่านความรู้ หรือ Passive Learning  
ดังนั้นเมื่อท่านถามว่าผมว่า คาดหวังอะไรในการฝึกอบรมครั้งนี้? ผมตอบว่า คาดว่าอาจารย์ผู้สอนจะได้ฝึกการ "ถอดบทเรียน" บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเห็นตัวอย่างการสอนแบบเน้นกระบวนการ หรือการสอนแบบตื่นตัว (Active Learning)   เพราะถ้าอาจารย์สอนแบบใช้กิจกรรม แล้ว "ถอดบทเรียน" และสะท้อนการเรียนรู้จากกิจกรรม  ความเห็นที่ว่า เนื้อหาน้อยเกินไป หรือ ที่สะท้อนว่านิสิตรู้หมดแล้ว จะหายไป  ในทางกลับกัน การไม่เน้นเนื้อหา จะทำให้อาจารย์มีเวลาพานิสิตฝึกคิด ฝึกน้อมนำไปทำ และมีเวลาที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น

กิจกรรมที่ ๒ พับกระดาษ

กิจกรรมง่ายๆ ที่วิทยากรแจกกระดาษ A4 ให้คนละแผ่น แล้วบอกให้ "พับอะไรก็ได้ ภายใน ๓ นาที" แล้วให้ทุกคนเอาผลงานของตนมารวมกันหน้าห้อง โดยกองไว้แยกกันจาก ๒ กลุ่ม  แล้วให้แต่ละคนสลับกลุ่มไปเลือกผลงานที่ตนเองประทับใจที่สุด   เพียงเท่านั้น...


มีข้อสังเกตว่า เกือบทุกคนพับจรวดกับเรือ มีเพียงบางท่านเท่านั้น ที่ตั้งใจจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เช่น พับที่ใส่ซีดี หรือพับเป็นกระทงใส่คลิปลวด  ฯลฯ





แล้วท่านก็เริ่มพาเข้าสู่กระบวนการ "ถอดบทเรียน" ตนเอง (โดยไม่ได้บอกว่ากำลังจากพาถอดบทเรียน) วิธีการคือเปิดประเด็นคำถาม ให้ถามตอบ แล้วซักถามต่อไปเรื่อยๆ  ประกอบกับการยกตัวอย่างในประเด็นนั้นๆ ให้เข้าใจ ก่อนจะขยับไปตั้งคำถามประเด็นใหม่  จนพอใจ แล้วสรุปสาระสำคัญตอนท้าย   กระบวนการของท่าน พอสรุปได้ดังแผนภาพด้านล่าง



ตัวอย่างการสนทนา โดยเริ่มจากถามผู้เลือกก่อน เป็นประมาณว่า (เป็นการถอดความ ไม่ใช่การถอดเทปนะครับ) ...
  • ทำไมถึงเลือกงานชิ้นนี้คะ  ...เพราะดูแล้วชอบค่ะ จรวดลำนี้น่าจะบินได้ดี ...
  • ทำไมถึงคิดว่าจะบินได้ดีคะ ...ดูปีกมันกว้าง และได้สมดุลดีค่ะ...
  • ทำไมปีกกว้างแล้วจะบินดี แล้วทำไมต้องมีสมดุลด้วย ...ปีกว้างจะกินลมได้เยอะกว่าทำให้ลอยอยู่ได้นานกว่า... และจากประสบการณ์ของดิฉัน ถ้าพับไม่ได้สมดุล จะตกไวมาก...
  • ทดลองซัดดูไหมคะ ... (ชวนใด้ทดลองดู ... บินได้นานจริงตามที่คาด)
  • จรวดนี้ของใครคะ... (ถามหาคนพับจรวด, ถามหาคนทำ)
ถามคนทำ (ถอดความและจิ้นเพิ่มจากการถาม-ตอบจริง)
  • ทำยังไงคะ จรวดถึงได้บินดีจัง... จากประสบการณ์ของผม ถ้าพับแบบนี้จะบินดีที่สุดครับ ... ผมลองพับหลายๆ แบบ แล้วทดลองบินเทียบกันดู พบว่าแบบนี้ดีที่สุดครับ...
  • ต้องใช้ความรู้หรือคำนึงถึงหลักการอย่างไรไหมคะ ... ช่วงแรกเหมือนลองผิดลองถูก แต่ตอนหลังก็จับหลักได้ว่า การพับให้หัวจรวดไม่หนักเกินไป ให้จุดศูนย์กลางมวลอยู่ตรงกลาง  และจัดให้สมดุลให้ดี  จะทำให้บินได้นานครับ...
  • มีตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่ดีไหมคะ ...เนื่องจากเวลาจำกัดเพียง ๒ นาที จึงต้องวางแผนว่าจะพับอย่างไรก่อน เพื่อไม่ให้พลาด  และขณะพับก็ต้องใช้สมาธิและมีสติกำกับ 
  • เงื่อนไขคุณธรรมเกี่ยวข้องกับการพับจรวดแบบนี้ไหมคะ ... ใครอยากจะพับแบบนี้ยินดีจะสอนครับ...
  • ฯลฯ
ถามทุกคน 
  • การพับจรวดเกี่ยวข้องกับมุมมองในมิติวัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร ...
    • ด้านมิติวัตถุ ต้องใช้สิ่งขอให้คุ้มค่า ประหยัด  เช่น  อาจใช้กระดาษใช้แล้ว หรือ ถ้ายังไม่ใช้ก็อาจนำไปใช้ต่อ... 
    • ด้านมิติสังคม จะคำนึงว่าดีต่อผู้อื่นหรือชุมชนสังคมอย่างไร  เช่น  การเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งใจพับจรวดและยินดีในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้  ฯลฯ  ... การแบ่งปัน ที่นำไปสู่ความสามัคคี 
    • ด้านมิติวัฒนธรรม   การพับกระดาษเป็นวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า โอริกามิ  โดยเฉพาะวัฒนธรรมการพับนกกระเรียน ๑,๐๐๐  ตัว  คำสำคัญของการพิจารณาด้านนี้คือคำว่า "คุณค่า" คือมุ่งให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมต่างๆ 
    • มิติด้านสิ่งแวดล้อม  เกี่ยวข้องกับกระดาษ เพราะกระดาษทำจากต้นไม้  ดังนั้นการใช้กระดาษอาจส่งผลการการตัดไม้ได้  ฯลฯ 
ข้อสังเกตสำคัญคือ  การซักถามแบบไม่มีรูปแบบตายตัว ในช่วงแรกๆ เป็นคำถามตามเรื่อง ตามความสงสัยและสนใจของผู้ถาม  ช่วงหลังจะสบด้วยคำถามที่สอดคล้องกับหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข  และจบด้วยการถามตรงๆ ถึง ๔ มุมุมองในแต่ละมิติ 

บันทึกต่อไปมาดูการสอนด้วยสื่อวีดีทัศน์ครับ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น