มีอาจารย์ผู้สอนที่มาเข้าร่วมทั้งหมด ๒๓ ท่าน เป็นอาจารย์ใหม่ ๒ ท่าน อาจารย์เดิมที่ไม่สามารถมาร่วมได้ ๓ ท่าน อาจารย์ใหม่ที่สมัครมาเป็นอาจารย์ผู้สอนแล้ว แต่ไม่สามารถมาร่วมได้ ๒ ท่าน ในจำนวนอาจารย์ผู้สอนทั้งหมด ๒๓ ท่าน อยู่ร่วมกิจกรรมเต็มวันทั้งสิ้น ๑๔ ท่าน ได้แก่ อ.วรรณชัย อ.ประภัสสร อ.วรัญญู อ.บังอร อ.พัมนพล อ.ปณรัตณ์ อ.พรทิพย์ อ.เบ็ญจพร อ.สิริภัค อ.วิลาวัลย์ อ.มัณฑนา อ.ธวัช อ.จันทร์ฉาย และ อ.วันทกาญจน์ ส่วนที่เหลือไม่ได้ร่วมทั้งวันเพราะติดภารกิจราชการ ... ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ครับ
เราได้รับเกียรติจาก อาจารย์ศศินี ลิ้มพงษ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ มาเป็นวิทยากรพัฒนาแนวทางการสอนแบบ Active Learning โดยเฉพาะการ "ถอดบทเรียน" บนหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ของกิจกรรมต่างๆ ตามเอกสารประกอบการสอน
กระบวนการ/วิธีการสอนของวิทยากร ท่านวางแผนกระบวนการทั้งหมดในรูป Session Design (ดาวน์โหลดที่นี่) อย่างละเอียด เริ่มจาก แนะนำให้รู้จักมูลนิธิฯ ->ประสบการณ์การขับเคลื่อน ปศพพ. ในโครงการพัฒนาเยาวชน -> ทำให้เข้าใจหลัก ปศพพ. ให้ตรงกัน -> ฝึกตีความบนหลัก ปศพพ. -> เรียนรู้หัวใจแห่งความสำเร็จจากกรณีตัวอย่างในภาคธุรกิจ -> สรุปและทบทวน -> สรุปทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาฯ และการนำไปใช้ ->พักเที่ยง->แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอน ->ช่วยกันออกแบบการเรียนการสอน->สะท้อนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน ... โดยมีกระบวนการดำเนินการ ดังนี้
กิจกรรมที่ ๑ แนะนำตัว : ปศพพ.คืออะไร จะเอาไปใช้อย่างไร
อ.ศศินี เริ่มที่กระบวนการแนะนำตนเอง โดยให้อาจารย์จับคู่กัน แล้วโยนคำถาม ๒ ข้อ ได้แก่ ๑) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร และ ๒) จะนำไปใช้อย่างไรในการดำเนินชีวิต ใช้เวลาเพียงคนละ ๒ นาทีสลับกัน จากนั้นก็ให้บอกคำตอบของคู่หลังจากแนะนำตนเองให้วิทยากรรู้ ...ต่อไปนี้เป็นคำตอบของอาจารย์ผู้สอน ปีนี้ครับ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ในความเข้าใจของท่าน?
- พออยู่พอกิน ไม่เป็นหนี้สิน
- ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนา
- คือหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
- เป็นแนวคิดและหลักที่นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข
- เป็นการดำเนินชีวิตบนหลักของทางสายกลาง เป็นหนทางแห่งมรรค
- จะทำอะไรๆ ก็ต้องมีสติ การคิดก่อนทำ เป็นหลักการตัดสินใจในการกระทำทุกอย่าง
- เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต อย่างมีแบบแผน
- ฯลฯ
โดยสรุปความเข้าใจในนิยามของเรา น่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วดังนี้
ปรัชญาของเศษรฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร ?
- นำไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่บ้าน เกษตรผสมผสาน การน้อมนำไปใช้ในการเกษตรเป็นเพียงเพื่อการนำร่อง ซึ่งเหตุที่เป็นเรื่องการเกษตรเพราะสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ
- นำไปใช้ในการทำบัญชีรับ-จ่าย
- นำไปใช้ในทุกเรื่องในการดำเนินชีวิต ทุกครั้งที่จะตัดสินใจ
- นำไปสอนนิสิต ให้รู้จักวางแผนชีวิต และในการดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย
- นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้มากที่สุด
- นำไปใช้ในการสอน และการทำงานวิจัยของตนเอง
- ฯลฯ
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอาจแบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ นิยาม ตีความ และนำไปใช้
- ไม่ใช่แค่เพียงจดจำนิยาม แต่ต้องเข้าใจนิยาม
- ไม่ใช่เพียงเข้าใจในความคิดจึงสามารถตีความหรือวิเคราะห์ได้ แต่ต้องสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วยตนเองและสามารถ "ถอดบทเรียน" หรือ ตีความการปฏิบัติของตนเองบนหลักปรัชญาฯ ได้อย่างถูกต้อง
- ต้องมั่นใจว่า นิสิตได้ฝึกการนำเอาหลักปรัชญาฯ มาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือพัฒนาการที่สมดุล ๔ มิติ ทั้งด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่ความสุขและความยั่งยืน
บันทึกต่อไป มาดูกิจกรรมที่ ๒ ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น