มีการกำหนดเป็นตัวชี้วัด (KPI) เป็นกลไกก้าวไปสู่ความสำเร็จตามวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้ ๒ ประการ ได้แก่
๑.๓.๑) ระดับความสำเร็จของการจัดการศึกษาที่สะท้อนเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์นิสิตในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปหรือในหลักสูตรของคณะ
๓.๑.๑) ร้อยละหลักสูตร (ป.ตรี) ที่มีการดำเนินการตามนโยบายหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน เพื่อเป็นที่พึ่งทางวิชาการแก่งสังคม ด้วยการผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ในการช่วยเหลือสังคมและชุมชน ผ่านกระบวนการบูรณาการ การเรียนการสอน การวิจัย และ/หรือ การให้บริการวิชาการร่วมกับชุมชน เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ยั่งยืน
ข้อแรกบอกว่า สำนักศึกษาทั่วไปต้องมีการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หรือรายวิชา ๐๐๓๖๐๐x ภาวะผู้นำ ส่วนข้อหลังบอกว่า ทุกคณะ (ความจริงเป้าหมายปีนี้คือร้อยละ ๘๐) จะต้องทำโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน และจะต้องนำไปบูรณาการกับการเรียนการสอนดัวย จุดนี้คือเจตนาของการสร้างและกำหนดให้รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนเป็นวิชาบังคับที่นิสิตทุกคนต้องเลือกลงทะเบียน เพื่อเอื้อให้นิสิตไปร่วมโครงการฯ ... แม้จะบอกไม่ได้ว่า นิสิตทุกคนที่ไปร่วมโครงการจะไม่ได้ไปด้วย "จิตอาสา" แต่ระบบและกลไกนี้ น่าจะพัฒนาขยายผลให้จำนวนคนจิตอาสาเพิ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
สำนักศึกษาทั่วไป เป็นผู้รับผิดชอบ ก.พ.ร. ตัว ๑.๓.๑) ซึ่งถือเป็นตัวชีวิตระดับสถาบัน ดังนั้นเพื่อให้มั่นใจว่า สำนักฯ จะดำเนินงานตามเป้าหมาย จึงได้กำหนดตัวชี้วัดของตนเองขึ้นอีกหนึ่งตัวชี้วัดที่ ๙.๑.๑) ความสำเร็จของการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน หากได้สำเร็จในรายวิชานี้ เราก็คิดว่านิสิตจะมีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ที่มหาวิทยาลัยต้องการมากขึ้น
แผนภาพแสดง ทามไลน์ (timeline) ด้านล่างนี้ เป็นทั้งแผนการทำงานที่บอกวิธีการขับเคลื่อนฯ และรายงานความก้าวหน้า ตามที่ฝ่ายกำกับติดตาม ก.พ.ร. จะขอมา...
กระบวนการพัฒนารายวิชาและจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ แบ่งเป็น ๕ ระยะ ตามอักษรแสดงใต้ลูกศรสีแดง ได้แก่ ช่วยยกร่างแผนการสอน -> พัฒนาอาจารย์ -> สอน-> ถอดบทเรียนและประเมินผล -> และ รายงานผล เพื่อนำไปเริ่มปรับแผนการสอนใหม่ และส่งผลให้ผู้กำกับ ก.พ.ร.
คำสั่งแต่งตั้งที่ใช้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนฯ เรื่องนี้มี ๔ คำสั่ง ได้แก่
๑) คำสั่งแต่งตั้งกรรมการเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างคณะ-วิทยาลัย กับสำนักศึกษาทั่วไป (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
คำสั่งนี้เป็นกลไกที่จะส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักศึกษาทั่วไปและคณะ-วิทยาลัยต่างๆ ในฐานะต้นสังกัดของอาจารย์ผู้สอน
สิ่งที่นำมาสู่การสร้างเครือข่ายระหว่างสำนักฯ กับคณะ-วิทยาลัยอย่างจริงจัง คือ การมองแยกส่วนกันอย่างชัดเจนของคณะฯ ว่า สำนักฯ เป็นของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่หน้าที่ของคณะฯ จึงไม่ได้ส่งเสริมให้อาจารย์ผู้สนใจและเข้าใจ "การศึกษาทั่วไป" มาเป็นอาจารย์ผู้สอน บางคณะฯ ไม่คิดให้เป็นภาระงาน เพราะเห็นว่ามีค่าตอบแทนแล้ว หลายคณะไม่มีอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม น่าจะนำมาสู่ การมองอย่างเป็นองค์รวมและการทำงานที่บูรณาการกันมากขึ้น
๒) คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการ และการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไป (ดาวน์โหลดที่นี่)
คำสั่งนี้เป็นกลไกให้เกิดความชัดเจนและหวังจะให้มีประสิทธิภาพในการพัฒนารายวิชามากขึ้น โดยแต่งตั้งอนุกรรมการฯ เป็นฝ่ายๆ ตามกลุ่มวิชา และกำหนดให้ผู้บริหารของสำนักฯ เป็นประธานกรรมการดำเนินงานในการพัฒนารายวิชาในกลุ่มนั้นๆ
สำหรับรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน อยู่ในกลุ่มวิชาสหศาสตร์ ซึ่งมีอยู่เพียงรายวิชาเดียว จึงเป็นรายวิชาบังคับให้นิสิตทุกคนต้องลงทะเบียน
๓) คำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการพัฒนารายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)
หลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนารายวิชาฯ และประชุมระดมสมองอาจารย์ผู้สอนครั้งที่ ๑ พบว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องที่ควรจะเชิญมาร่วมเป็นผู้ร่างแผนการสอนและกำหนดแนวทางประเมินผลและพัฒนารายวิชาฯ จึงได้กำหนดให้ตั้งอนุกรรมการพัฒนารายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนขึ้น โดยมีหน้าที่ ๔ ประการได้แก่ ๑) กำหนดแนวทางการพัฒนารายวิชา ๒) จัดทำรายละเอียดรายวิชา (มคอ.๓) ๓) จัดทำเอกสารประกอบการสอน และ ๔) จัดส่ง มคอ.๓ และเอกสารประกอบการสอน ไปยังอนุกรรมการเครือข่ายฯ ... สรุปคือ คำสั่งนี้เป็นกลไกให้ดำเนินการจัดทำแผนการสอนและเอกสารประกอบการสอนนั่นเอง
อนุกรรมการชุดนี้ได้ประชุมและดำเนินการแล้ว ๒ ครั้ง ได้รายละเอียดของรายวิชา (มคอ. ๓) และเอกสารประกอบการสอนของรายวิชาแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จสมบูรณ์ตามที่อนุกรรมการคาดหวัง แต่ก็ได้นำไปทดลองใช้แล้วในภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๘ นี้
๔) คำสั่งแต่งตั้งอาจารย์ผู้ประสานงานรายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน
ฝ่ายวิชาการของสำนักฯ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ ทราบว่า ได้แต่งตั้งไปบ้างแล้ว โดยเฉพาะการแต่งตั้งอาจารย์ผู้ประสานงานของคณะฯ ในกรณีที่ในคณะนั้นๆ มีหลายหลักสูตร แต่ทำงานบูรณาการกัน
ภาคการศึกษาที่ ๒/๒๕๕๘ นี้ มีคณะ-วิทยาลัยที่เปิดสอนนำร่องแล้ว ๔ คณะ ได้แก่ คณะวิทยาการสารสนเทศ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มีนิสิตลงทะเบียนเรียนทั้งสิ้นกว่า ๑,๕๐๐ คน ผลจะเป็นอย่างไร จะมีการแสดงและแลกเปลี่ยนกันในงาน "มหกรรมนำเสนอของรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ประจำปี ๒๕๕๙) นี้.... จะนำเอาสิ่งดีๆ มาเล่าให้ท่านฟังต่อไปครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น