วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิธีเขียน มคอ. ๓ รายวิชาศึกษาทั่วไป จับความจากการฟัง รศ.ดร.สุภาพ ณ นคร (๓) (จบ)

บันทึกที่ ๑
บันทึกที่ ๒

ผมเข้าใจว่าสาเหตุที่ สกอ. ประกาศให้ การทำ มคอ.๓ - มคอ.๗ เป็น "อิสระ" ตามแต่มหาวิทยาลัยจะดำเนินการ (อ่านในบันทึกแรก) อาจเป็นเพราะ เสียงสะท้อนว่าเป็นการไปเพิ่มภาระงานของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยโดยไม่จำเป็น

จากประสบการณ์ทำงาน PLC กับครูทุกหลายหน้าที่ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ผมได้เรียนรู้ว่า วิธีที่ควรทำเมื่อทำงานกับอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ "บอกว่าให้ทำอย่างไร" แต่ต้องบอก "ต้องการอะไร" หรือสำหรับอาจารย์ส่วนใหญ่อาจต้องเปลี่ยนเป็นคำถามให้นอบน้อมมากขึ้นว่า "หากต้องการแบบนี้ ควรจะทำอย่างไร" เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและพัฒนาร่วมกัน

ดังนั้น การให้อิสระกับมหาวิทยาลัย จึงเป็นวิธีที่มาถูกทาง และสิ่งที่ต้องทำคือ สร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ของ มคอ.๓ - มคอ.๗ ของ สกอ. (อ่านได้ที่นี่ หน้า , ) และเปิดให้โอกาสอาจารย์ผู้สอนเข้ามาเป็นผู้พัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา

อย่างไรก็ตาม แม้อาจารย์มหาวิทยาลัยจะมีจุดเด่นเรื่ององค์ความรู้ด้านทฤษฎี การวิจัย และเชี่ยวชาญด้านทักษะประกอบอาชีพ แต่อาจารย์ส่วนใหญ่โดยเฉพาะอาจารย์ใหม่ ไม่เคยเรียนศาสตร์ด้านการสอนและการจัดการเรียนการสอนมาก่อน เว้นแต่คณาจารย์ที่เรียนด้านครุศาสตร์ ดังนั้น สำนักศึกษาทั่วไปจึงควรสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านนี้อย่างจริงจัง จุดที่เป็นปัญหาที่สุดด้านการจัดการเรียนการสอนมี ๒ ข้อ หนึ่งคือปัญหาเรื่องวิธีการหรือเทคนิคการสอน และอีกอย่างคือ ไม่รู้ว่าจะประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างไร

วิธีการสอน


ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรม ด้านความรู้ ทักษะทางปัญญา หรือด้านใดๆ  วิธีการสอนก็เขียนไว้เหมือนเดิมหรือคล้ายๆ กัน แสดงว่า วิธีการสอนเหล่านั้น สามารถทำให้เกิดผลการเรียนรู้ได้ทุกด้านหรือหลายด้าน โดยมีข้อสังเกตแต่ละด้าน ดังนี้
  • การสอนแบบบรรยาย (Lecture) ใช้เป็นวิธีการสอนเพื่อให้เกิดผลการเรียนรู้ด้านคุณธรรมและความรู้  แต่ในด้านทักษะทางปัญญาและด้านอื่นๆ จำเป็นต้องใช้การสอนแบบอื่น หรืออย่างน้อยต้องเป็นแบบบูรณาการกับการบรรยาย (Integrate Lecture)
  • วิธีที่จะทำให้เกิดทักษะทางปัญญา มีหลายวิธี เช่น 
    • การสอนโดยยกกรณีศึกษา (Case Study) เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยมักสอนแบบนิรนัย (Deductive Learning) ที่ยกเอาทฤษฎี หลักการ หรือกฎต่างๆ มาบรรยายก่อน แล้วค่อยยกตัวอย่างหรือกรณีศึกษา มาพิสูจน์ว่าเป็นถูกต้อง 
    • การสอนแบบอุปนัย (Inductive Learning) ให้ทำความเข้าใจกรณีตัวอย่างหรือส่วนย่อยๆ ก่อนจะขยายความรู้ไปอธิบายกรณีอื่นๆ และสังเคราะห์ตกผลึกเป็นทฤษฎีหรือหลักการ 
    • การสอนโดยใช้กิจกรรมในชั้นเรียน (Activity-based Learning) ซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ Active Learning 
    • การสอนโดยให้อภิปรายกลุ่มย่อย (small group discussion) ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกคิดวิเคราะห์และใช้วิจารณญาณของตนเอง 
    • การสอนแบบโครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ที่ต้องถือว่า เป็นรูปแบบการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ คู่กับการเรียนรู้แบบปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) 
    • ฯลฯ
  • รูปแบบการทำ มคอ. ๓ ตามตัวอย่าง จะเขียนวิธีการสอนเป็นหัวข้อสั้นๆ ไว้ในหมวดที่ ๔  และเขียนวิธีสอนอย่างละเอียดไว้ในหมวดที่ ๕ ในตารางขวาง ซึ่งเขียนแยกไว้อย่างสอดคล้องกับ Unit LO ตามที่ได้นำเสนอไปในบันทึกที่ ๒
วิธีการประเมิน 

การเขียนวิธีประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบละเอียด สามารถดูในตารางขวางของ มคอ. ๓ หมวดที่ ๕  (อ่านในบันทึกที่ ๒ ) โดยเสนอตารางสรุปวิธีการประเมินผลไว้ตอนท้าย ดังตาราง


จากตาราง จะเห็นว่า ท่านได้แยกหมวดวิธีการประเมินไว้เป็นด้านๆ ตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังทั้ง ๕ ด้าน และเขียนแยกไว้เป็นสัดส่วนชัดเจนว่า วัดด้วยวิธีไหน? ด้านใด? กี่เปอร์เซ็นต์? โดยประเมินจาก ๕ วิธีการ ได้แก่  พฤติกรรมการเข้าชั้นเรียน แบบบันทึกการพัฒนา ใบงาน โครงงาน&การนำเสนอ และการสอบปลายภาค

มีการประเมินด้านคุณธรรมจริยธรรม ไว้ในทุกวิธีของการประเมิน  เว้นแต่การสอบปลายภาค  ซึ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับรายละเอียดในตารางขวาง จะเห็นความสอดคล้องกับพฤติกรรมการเข้าชั้นเรียนและความรับผิดชอบในการส่งงานที่ได้รับมอบหมาย ส่วนเรื่องจิตอาสาและวุฒิภาวะการเป็นผู้นำ น่าจะได้จากแบบบันทึกการพัฒนาภาวะผู้นำ ... ซึ่งต้องไปขอศึกษาดูงานจากท่านว่า ๕% ที่วัดด้านความรู้ในแบบบันทึกฯ ใบงาน และโครงงาน&นำเสนอ นั้น ท่านทำอย่างไรใช้แบบวัดอย่างไร




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น