จากการที่ผมได้ทำหน้าที่ "กระบวนกร" หรือผู้อำนวยการการสนทนาแลกเปลี่ยนเรียนถอดบทเรียนกันในเวทีนี้ ผมมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ ที่อาจารย์กลุ่มอื่นๆ อาจจะนำไปใช้บ้าง ดังนี้ครับ
๑) ไม่มีปัญหาเรื่อง "ค่าตอบแทนการสอน"
ปัญหาสำคัญของการบริหารหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป คือ ทำอย่างไร คณาจารย์จะเห็นนิสิตผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนิสิตเป็นเรื่องหลัก พักเรื่องค่าตอบแทนการสอนหรือผลประโยชน์เป็นเรื่องรอง ยิ่งในระบบการจัดสรรค่าตอบแทนเป็นรายหัวนิสิต นิสิตเรียนมากได้มากเรียนน้อยได้น้อย ย่อมยิ่งยากต่อการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนแบบ "ได้ฟัง" ไปสู่การเรียนแบบ "ได้ฝึก" โดยเฉพาะรายวิชาที่ต้อง ดูแลนิสิตรายบุคคลอย่างด้านภาษา ยิ่งเป็นปัญหาหนัก ... แต่ขณะนี้สำนักศึกษาทั่วไปได้ออกระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทนสำหรับรายวิชาภาษาอังกฤษ ที่จะลดจำนวนนิสิตต่อกลุ่มให้ได้ "ฝึกพูด" "ฝึกคิด" มากขึ้น โดยที่ค่าตอบแทนสำหรับอาจารย์ผู้สอนเหมาะสมอยู่ได้...
ปัญหาค่าตอบแทนการสอน ทำให้หลายวิชา มีการตั้งคำถามไปยังผู้ประสานงานรายวิชาว่า จัดตารางสอนอย่างไร ใครได้กลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ ต้องมีการเฉลี่ยให้เท่ากันในแต่ละปีการศึกษา โดยเวียนขนาดกลุ่มการเรียนไปให้เฉลี่ยเท่าๆ กัน โดยไม่ได้เอาคุณภาพการสอนมาพิจารณา ...
แต่สำหรับรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม ตลอดการสนทนากัน ๑ วันครึ่ง ไม่มีการถกเถียงกันเรื่อง "ค่าตอบแทน" เลยแม้แต่น้อย ท่านใช้วิธีการหารเฉลี่ยแบ่งให้เท่าๆ กัน โดยมีการเวียนกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่ในแต่ละภาคการเรียน ท่านบอกว่า วิธีนี้ตัดจุดอ่อนที่เป็นปัญหาของระบบการพิจารณาค่าตอบแทนรายหัวได้ .... ตัดปัญหาได้จริงครับ เพราะเวลาส่วนใหญ่ในการสนทนา เป็นไปเพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานิสิตจริง
๒) ทำงานอย่างให้เกียรติกันอย่างยิ่ง
เทคนิคการบริหารจัดการของประสานงานรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม คือการยึดเอาความเชี่ยวชาญของอาจารย์แต่ละท่านเป็นจุดเริ่ม ก่อนจะช่วยกันเติมหรือตัดเนื้อหาให้สอดคล้องกับเจตนาและเป้าหมายของรายวิชา โดยมอบหมายให้อาจารย์แต่ละท่านที่เชี่ยวชาญเรื่องนั้นๆ เป็นคนเตรียมทั้งเนื้อหาและสื่อการสอน ตามแนวทางนี้ทำให้ได้ข้อสรุปด้านเนื้อหาโดยง่าย ดังนี้
บทที่ ๑ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมายและจริยธรรม
บทที่ ๒ สิทธิ หน้าที่ และบทบาทของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
บทที่ ๓ ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย
บทที่ ๔ พัฒนาการ รูปแบบ และแนวคิดทางปรัชญาของการใช้เหตุผล
บทที่ ๕ หลักกฎหมายและจริยธรรมเพื่อความสงบสุขในสังคม (หลักกฎหมายอาญา
และหลักเบญจศีล)
บทที่ ๖ หลักกฎหมายคอมพิวเตอร์และจริยธรรมบนโลกไซเบอร์
บทที่ ๗ หลักกฎหมายและจริยธรรมด้านธุรกิจ
บทที่ ๘ หลักกฎหมายเกี่ยวกับการจราจรและจริยธรรมบนท้องถนน
หลังจากผ่านภาคการเรียนแรก อาจารย์สะท้อนว่า ให้ตัดเรื่องกฎหมายแรงงานออก และให้เพิ่มเติมเรื่อง ซีเอสอาร์ (CSR: Cooperate Social Responsibility) เข้ามาในบทเรียน ส่วนบทอื่นๆ ก็ให้เขียนให้เป็น "รายวิชาศึกษาทั่วไป" มากขึ้น คือ ลดความเฉพาะทาง ให้อ่านง่าย ซึ่งจะทำให้อาจารย์ท่านอื่นนำไปสอนได้ง่ายขึ้น
แม้จะมีความเห็นเชิงวิพากษ์บ้าง แต่ผมสังเกตว่า อาจารย์แต่ละท่านจะคอยถาม อาจารย์เจ้าของเนื้อหาในบทนั้นๆ ว่า "....อย่างไรดีครับ?" "...ควรเป็นอย่างไร..." "...ปรับแบบนั้นได้ไหม?..." สะท้อนความหมายของการมอบให้อาจารย์ผู้นั้นเป็นคนตัดสินใจเอง ...
ยกตัวอย่างเช่น บทที่ ๔ เรื่อง พัฒนาการ รูปแบบ และแนวคิดทางปรัชญาของการใช้เหตุผล ที่รับผิดชอบเขียนโดย อาจารย์คะนอง ที่อาจารย์หลายท่านเสนอว่า ควรมีการจัดอบรมให้อาจารย์ท่านเป็นวิทยากร สอนอาจารย์ท่านอื่นๆ ว่าสอนอย่างไร .... สะท้อนถึงการเปิดใจเต็มที่ ไม่มีมานะอัตตาใดๆ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนดีของวิธีนี้ย่อมมีข้อด้อยด้านการบูรณาการของเนื้อหา จะสังเกตว่า วิธีการแบ่งงานแบบนี้ จะให้ผลค่อนข้างเด่นแบบ "เน้นเนื้อหา" เช่น บทที่ ๔ ที่กล่าวถึงนั้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดเวทีแลกเปลี่ยนแบ่งปันและพัฒนาการเรียนการสอนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง น่าจะทำให้อาจารย์แต่ละท่านบูรณาการเนื้อหาเข้าหากัน ซึ่งเมื่อนั้น การเรียนการสอนจะกลายเป็นแบบ Active Learning แน่นอน
๓) ผู้ประสานงานรายวิชาได้รับการยอมรับ
การพัฒนารายวิชาศึกษาทั่วไป บทบาทส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้ประสานงานรายวิชา ตั้งแต่หน้าที่เป็นแกนในการจัดทำแผนการสอน (มคอ.๓) รายงานผลสัมฤทธิ์ทางการสอน (มคอ.๕) และการพัฒนาเอกสารประกอบการสอนผ่านโครงการขับเคลื่อนต่างๆ ของสำนักศึกษาทั่วไป ผู้ประสานงานจะเป็นปัจจัยสำคัญทั้งสิ้น ดังนั้น สำนักศึกษาทั่วไป จึงควรสร้างกลไกและเครือข่ายให้ผู้ประสานงานรายวิชา สามารถออกแบบและสร้างกิจกรรมการพัฒนาวิชาได้อย่างสะดวก เช่น มีงบประมาณในการจัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเอง ถอดบทเรียน ทำวิจัย งบสนับสนุนให้ทำเอกสารทางวิชาการ สามารถเข้ามาใช้งานส่วนโรงพิมพ์ได้ตามเหมาะสม เป็นต้น
จุดแข็งอย่างหนึ่งของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๒ กฎหมายและจริยธรรม คือ มีอาจารย์ผู้ประสานงานที่ได้รับการยอมรับจากทุกคน จึงสามารถประสานงานกับอาจารย์ผู้สอนได้อย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพ จึงทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างรวดเร็วและเรียบร้อย
หากผู้ประสานงานได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการของการจัดทำเอกสาร และมอบหมายงานการประเมินการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการนิเทศการสอนด้วย จะช่วยเร่งพัฒนาการด้านผลสัมฤทธิ์ของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาศึกษาทั่วไปได้แน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น