วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิธีเขียน มคอ. ๓ รายวิชาศึกษาทั่วไป จับความจากการฟัง รศ.ดร.สุภาพ ณ นคร (๑)

วันเสาร์ที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ฝ่ายวิชาการ สำนักศึกษาทั้่วไป จัดโครงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์ผู้สอน เรียนเชิญ รองศาสราจารย์สุภาพ ณ นคร มาเป็นวิทยากร ให้ความรู้เรื่องการเขียน มคอ. ๓ และ มคอ.๕ กลุ่มเป้าหมายเป็นอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ผมมาร่วมงานในฐานะผู้ประสานงานรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในมหาวิทยาลัย




ผมเขียนบันทึกนี้ ด้วยหวังใจจะให้อาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั้่วไปที่มาร่วมและรวมถึงท่านที่ติดภาระ ได้อ่านและรับทราบถึงหลักการและตัวอย่างของ มคอ.๓ และ มคอ.๕  ที่ผมได้เรียนรู้จากวิทยากร ที่ท่านคร่ำหวอดอยู่กับ "การศึกษาทั่วไป" ของประเทศไทยมายาวนาน  และหลังจากการบรรยาย อาจารย์ผู้ฟังหลายคนสะท้อนว่า ได้ประโยชน์จากวิธีการ "บรรยวิพากษ์" (ผมสร้างคำเอง หมายถึงการ บรรยายเชิงวิพากษ์) ของท่าน  ท่านจะยกเอาตัวอย่างจาก ม.ขอนแก่น ที่ท่านทำเอง และยกตัวอย่าง มรภ.ลำปาง ที่ท่านเพิ่งได้ไปตรวจพิจารณาในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ และนำเอา มคอ.๓ บางรายวิชา มาตีความและวิพากษ์ให้เห็นว่า เข้าใจหรือไม่เข้าใจ ดีหรือไม่ดี จะดีกว่านี้ต้องเขียนอย่างไร  และเปิดโอกาสให้อาจารย์ได้ร่วมแลกเปลี่ยนอธิบายไปพร้อม ๆ กัน 


มคอ.๓ - มคอ. ๗ เป็นเพียง "แนวทางให้ทำ"  ไม่ใช่ "ต้องทำตาม" อีกต่อไป

ก่อนการ "บรรยวิพากษ์" ท่านได้นำเอา ประกาศคณะกรรมการการอุดมศึกษา เรื่อง แนวทางการปฏิบัติตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓)  (ดูได้หนังสือนำแจ้งฯ   ประกาศ สกอ.ฯ หน้าที่ ๑   ประกาศ สกอ. ฯ หน้าที่ ๒ ) สาระสำคัญของประกาศฯ บอกว่า
  • ให้ยกเลิกประกาศเดิม (ฉบับที่ ๒)  ที่บังคับให้ ทุกมหาวิทยาลัยใช้ตัวชี้วัด เกี่ยวกับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ มคอ.๓ - มคอ.๗ ในรูปแบบเดียวกัน และกำหนด ๑๒ ตัวชี้วัด เหมือนกัน 
  • ให้ใช้ มคอ.๓-มคอ.๗ ที่ยกเลิกการบังคับนั้น เป็น "แนวทางการปฏิบัติ" ในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร การเรียนการสอน และการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา โดยให้ยึดตามเจตนารมณ์ของ มคอ.๓-มคอ.๗ ที่แนบท้ายประกาศ (อ่านได้ที่นี่ หน้า ,  )
  • ให้ใช้ ๑๒ ตัวชี้วัดที่เคยกำหนดแนบท้ายประกาศเดิม เป็นเพียง "ตัวอย่าง"  หลักสูตรใดจะนำไปใช้ก็ได้ หรือจะกำหนดเพิ่มก็ได้ แต่ต้องได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย 
  • ทั้งหมดนี้ สกอ. ให้เหตุผลว่า เพื่อให้ สถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการบริหารจัดการการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของสถาบันอุดมศึกษา 
....  ผมขอชมเชย ในความกล้าหาญในการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะทุกคนก็รู้ดีว่า แม้เจตนาจะดีหรือมีหลักการแค่ไหน แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า โดยส่วนใหญ่ไม่ได้ผล คนก็ไม่เป็นสุข  อยากให้ สพฐ. กล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงแบบนี้บ้าง  ไม่ใช่ปล่อยไว้ว่า การเน้นเรื่องแผนการสอนน่ะดี... แต่ปัญหาคือครูไม่มีใจทำ.... (คือไปโยนความผิดให้ครู)...

ความคิดรวบยอด การเขียน มคอ.๓ และ มคอ.๗ 

ท่านใช้วิธีการวิพากษ์ มคอ.๓ ของรายวิชาต่างๆ เป็นรายหมวด (มคอ.๓ ประกอบด้วยหมวดต่างๆ ๗ หมวด) ตรงไหนมีข้อแนะนำ ท่านจะสลับมาอธิบายหรือบางครั้งก็บรรยายให้เข้าใจทันที ว่าที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร วิธีนี้ดีมากสำหรับคนที่เปิดใจและยอมรับท่านอยู่แล้ว  เป็นการเรียนรู้จากปัญหา หรือมีเอาปัญหาเป็นฐาน  ซึ่งสอดคล้องกับการเรียนรู้ของคนที่ มักเรียนรู้จากสิ่งผิด มากกว่าเรียนรู้จากสิ่งที่ถูก   

ต่อไปนี้เป็น "ความคิดรวบยอด" หรือ Concept ที่ท่านเน้นย้ำว่า อาจารย์ผู้สอนและโดยเฉพาะผู้ประสานงานต้องเข้าใจ และแม่นยำ สำหรับการพัฒนารายวิชาศึกษาทั่วไป  



๑) เริ่มต้นด้วยการกำหนด "พิมพ์เขียว" หรือ Spec. ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปก่อน สเปคข้อใดที่ต้องการให้เกิดในรายวิชาที่กำลังจะเขียน มคอ. ๓ นี้  ....  ถ้าท่านผู้อ่านจำได้ สำนักศึกษาทั่วไปของเรา กำหนดผลการเรียนที่คาดหวัง หรือ อาจเรียกว่า คุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปไว้ ๙ ประการ  คลิกไปอ่านต่อได้ที่นี่  

๒) นำผลการเรียนที่คาดหวังที่เกี่ยวข้องซึ่งกำหนดไว้ในหลักสูตรฯ มากำหนด จุดมุ่งหมายของรายวิชา เป็น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (Learning Outcome : LO) ของรายวิชา ... ท่านใช้คำว่า Course LO  ในภาษาราชการจะเขียนว่า "จุดมุ่งหมายของรายวิชา"

๓) นำ Course LO ไปออกแบบ  Unit LO คือ ต้องออกแบบว่า ใน ๑๕ สัปดาห์ของการเรียนการสอน ในแต่ละสัปดาห์ มี LO อะไรที่ต้องการ เน้นหนักด้านใดใน ๕ ด้านตามกรอบ มคอ. ได้แก่ 
  • ด้านคุณธรรม จริยธรรม 
  • ด้านความรู้ 
  • ด้านทักษะทางปัญญา
  • ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ  และ
  • ด้านทักษะการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ 
Unit LO ในแต่ละสัปดาห์ ผู้สอนต้องกำหนดลงในช่อง "วัตถุประสงค์การเรียนรู้" ให้ชัดเจน  
ในการอธิบายเรื่องนี้ ท่านได้ยกเอาตัวอย่างที่ดีซึ่งท่านทำที่ ม.ขอนแก่น มาให้ดู  ซึ่งจัดไว้ในหมวด ๕ แผนการสอน 

ในการกำหนด "วัตถุประสงค์หการเรียนรู้" หรือ Unit LO นี้ ท่านเน้นความเข้าใจของผู้เขียน เกี่ยวกับสิ่งที่ต้องการให้เกิดกับผู้เรียนว่า ต้องชัดเจนระหว่าง ข้อมูล ความรู้ หรือ เป็นปัญญาแตกฉาน  
  • Information (ข้อมูล) สามารถสอนได้ด้วยวิธีบรรยาย Lecture ทั่วไป หรือเป็น 
  • Knowledge (ความรู้) ผู้สอนต้องออกแบบให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติ สืนค้น วิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือเป็น
  • Wisdom (ปัญญา) หรือความรู้แจ้ง รุ้ลึก ผู้เรียนต้องได้ฝึก และบ่มเพาะปลูกฝังเป็นระยะเวลานานพอและต่อเนื่อง จนเกิดเป็นนิสัยหรือฝังเข้าไปในจิตใจ จนเป็นอัตโนมัติ 
๔)  ออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องตอบโจทย์เป้าหมาย LO รายสัปดาห์ เรียกสั้นๆ ว่า Learning Process  ซึ่งต้องมีความรู้เรื่องการเรียนการสอนพอสมควร เช่น 
  • Active Learning 
  • Student Engagement Learning 
  • Project-based Learning 
  • Problem-based Learning 
  • Activity-based Learning 
  • Community-based Learning 
  • Integrate Lecture-based Learning 
  • ฯลฯ 
โดยออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Activity) ไปพร้อมๆ กับบอกสื่อการเรียนรู้ (Learning Media) และเตรียมความพร้อมเรื่องนี้อย่างละเอียดว่า จะใช้สื่อเมื่อไหร่ อย่างไร 

๕) สร้างเครื่องมือประเมินผลให้สอดคล้อง ตอบคำว่า  แต่ละ LO เกิดหรือไม่เกิด ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด  โดยเบื้องต้นต้องแบ่งให้ได้ว่า แต่ละด้านให้ค่าน้ำหนักเท่าใด และบอกลักษณะของการประเมินให้เข้าใจ เช่น ประเมินจากพฤติกรรมการเข้าเรียน ประเมินจากแบบบันทึก จากใบงาน จากการทำโครงการนำเสนอ หรือจากการสอบปลายภาค  ฯลฯ 

ท่านที่สนใจ สามารถดาวน์โหลด ตัวอย่าง มคอ.๓ ที่ท่านนำมาเป็นต้นแบบได้ที่นี่ครับ 



ไม่รู้ว่า "การถอดบทเรียน" ครั้งนี้จะมีประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่บันทึกต่อไป จะมาดูว่าอะไรคือข้อสังเกตที่น่าสนใจหรือเทคนิคในการเขียน มคอ.๓ ในแต่ละหมวด ที่ได้เรียนรู้จากวิทยากรครับ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น