วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ศิลปะวิจักษ์ (๓) ช่วยกันมองหาแนวทางกลางความหนาว

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ศิลปะวิจักษ์ (๑)
รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ศิลปะวิจักษ์ (๒)

คืนสุดท้ายที่เราค้างกลางความหนาวเย็น ผมตื่นมากลางดึก เปิดประตูออกมาเห็น อ.สยาม นั่งอยู่หน้าห้องใกล้หมอกเย็น ท่านกำลังฟังเพลงคลาสสิกจาก ไอ-โฟน จึงถือโอกาสสนทนากับท่านต่อเกี่ยวกับการพัฒนารายวิชาต่อไป ทั้งในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารที่จะทำหน้าที่ผลักดัน และบทบาทอาจารย์เกี่ยวกับงานการเรียนการสอน  ....  คุยไปกินเม็ดแตงไป ได้บทสรุปที่น่าสนใจยิ่ง ที่สมควรบันทึกสิ่งที่เราได้คุยกันไว้ตรงนี้ ดังนี้

๑) สำนักศึกษาทั่วไป ควรจะจัดตารางเรียนตารางสอนโดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับความต้องการลักษณะของห้องเรียนแต่ละรายวิชา

ตัวอย่างเช่น รายวิชาศิลปะวิจักษ์ ที่มีเป้าหมายให้ นิสิตได้เข้าถึงความสุนทรียะทางผัสสะหลายด้าน  งานด้านทัศนศิลป์ มุ่งให้เห็นความงามจากภาพศิลป์ สีสันจากธรรมชาติ ฯลฯ งานด้านดุริยางคศิลป์ที่เน้นสุนทรียะจากการได้ยินเสียงดนตรี เสียงเพลง ฯลฯ หรืองานด้านศิลปะการแสดง ที่ต้องเน้นทั้งแสง สี เสียง และเวที  ฯลฯ  การจัดตารางเรียนตามธรรมชาติรายวิชาให้สอดคล้อง หมายถึง ต้องจัดให้เรียนในห้องที่มีระบบเสียงที่ดี มีจอแสดงภาพที่ชัดคม  เหมาะสมกับรายละเอียดของสื่อที่ต้องใช้

ส่วนรายวิชาที่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือกระบวนการกลุ่ม สถานที่อาจเป็นที่ๆ เก้าอี้ไม่ Fixed ติด เคลื่อนย้ายไม่ได้  ซึ่งเหมาะจะใช้เพียงการสอนแบบบรรยายหรือสาธิตเท่านั้น

๒) การประเมินของรายวิชา ต้องสามารถสะท้อนผลลัพธ์ตามเจตนาหรือเป้าหมาย

เป้าหมายของรายวิชาศิลปะวิจักษ์  คือ ทำให้นิสิตรู้จัก ซาบซึ้ง และเข้าถึงความงามของงามของงานทัศนศิลป์ งานดุริยางคศิลป์ และศิลปะการแสดงต่างๆ  แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ทำให้การประเมินติดอยู่เพียงด้านความรู้หรือความคิด จากการทดสอบปลายภาคแบบปรนัยหลายตัวเลือก

เป็นไปได้หรือไม่ ที่สำนักศึกษาทั่วไป จะนำศักยภาพของระบบ E-testing มาใช้ทดสอบรายวิชานี้  โดยร่วมมือกับอาจารย์ให้ออกข้อสอบแบบอิเล็คทรอนิก ที่สามารถคลิกฟังเสียงเพลง เสียงดนตรี หรือ ดูภาพหลากสี แทนที่จะมีเพียงขาวดำ  เช่น  มีที่ให้คลิกฟังเสียงแล้วให้เลือกว่าเป็นเสียงของเครื่องดนตรีชนิดใด  มีภาพวาดให้เลือกว่าภาพใดเป็นภาพสีน้ำ สีน้ำมัน เป็นต้น

ความจริงเราคุยกันมากกว่า ๒ ประเด็นนี้ ผมคิดว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบไม่มีรูปแบบดีกว่าการทำงานแบบประชุมและเป็นทางการ  เช่น  การคุยครั้งนี้ ทำให้ผมทราบว่า อ.สยาม เชี่ยวชาญเรื่อง E-Learning มาก และท่านก็กำลังใช้ Moodle อยู่ในปัจจุบัน และสนใจที่จะเข้ามาพัฒนาระบบระเบียนให้ในลักษณะงานวิจัยด้วย ...


จบบันทึกไว้ในตอนที่ ๓ นี้ ครับ ไว้มีประชุมกันอีกเมื่อไหร่ จะนำมาเล่าให้ท่านฟังต่อไปครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น