วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

วิธีเขียน มคอ. ๓ รายวิชาศึกษาทั่วไป จับความจากการฟัง รศ.ดร.สุภาพ ณ นคร (๒)

บันทึกที่ ๑

รองศาสตราจารย์ สุภาพ ณ นคร  ท่านสอนไม่เหมือนวิทยากรทั่วไป นอกจากท่านจะมุ่งสู่ประเด็นตรงๆแบบไม่อ้อมหลงแล้ว ท่านยังวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา เรียกว่า ไม่ไว้หน้าใคร ... แต่ถ้าเปิดใจรับฟังท่านเต็มที่ จะพบว่าวิธีที่ท่านใช้นั้นทำให้เราเข้าใจได้ทันที

บันทึกนี้ขอยกเอา มคอ.๓ ตัวอย่าง ของรายวิชา ๐๐๐๑๔๕ ภาวะผูนำและการจัดการ (Leadership and Management) ซึ่งสามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ที่สำนักวิชาศึกษาทั่วไป มข. จัดทำไว้อย่างเป็นระบบที่นี่ ผู้สนใจเชิญดาวน์โหลดมาพิจารณา  ในที่นี้ ผมขอนำมาตีความเพียง ๒ หมวด ได้แก่ หมวด ๒ จุดมุ่งหมายของรายวิชา และ หมวด ๕ เรื่องแผนการสอนและการประเมิน เพราะคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ที่สุด

วิธีเขียนจุดมุ่งหมายของรายวิชา

ก่อนจะหยิบเอาตัวอย่างมาตีความ ขอแลกเปลี่ยนความรู้เดิมของตนเอง สรุปแสดงดังตารางด้านล่าง ... เผื่อท่านจะตีความซ้อนอีกที ว่าการสรุปครั้งนี้จะเชื่อถือดีหรือไม่
 


ตาราง ๙ ช่องนี้แสดงแผนผังความคิดรวบยอดของ "จุดมุ่งหมายรายวิชา" "วิธีการสังเกต" และ "เครื่องมือสังเกต/ชิ้นงาน หรือวิธีการประเมินผล"

จุดมุ่งหมายของรายวิชา แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ตามเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดกับผู้เรียน ได้แก่ ด้านความรู้ (Knowledge) ด้านทักษะ (Skills) และด้านเจตคติ (Attitude) ซึ่งเขียนกำกับไว้ในแต่ละแถวของตารางจากบนลงล่าง และเมื่อพิจารณาว่า จะต้องจัดการเรียนการอย่างไรถึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ครบถ้วนทั้ง ๓ ด้าน  ทฤษฎีการเรียนรู้บอกว่า ต้องจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกฝนครอบคลุมทั้งด้านร่างกาย (ฐานกาย Hand) ด้านความคิดสติปัญญา (ฐานคิด Head) และ ด้านคุณธรรมจริยธรรม จิตใจ (ฐานใจ Heart) โดยแสดงจากคอลัมน์ซ้ายไปขวา

ด้านความรู้หรือองค์ความรู้ (Knowledge) ทฤษฎีการเรียนรู้บอกว่า องค์ความรู้นั้นแท้จริงจะถูกสร้างขึ้นในตัวผู้เรียนเอง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ดีหากได้เรียนครบถ้วนทั้ง ๓ฐาน หรือ 3H แต่ในที่นี้จะหมายถึงความรู้จากการฟัง การอ่าน และการคิด ซึ่งจะตรงกับฐานการคิดหรือความคิด ที่ต้องใช้สมองเป็นเครื่องมือ (จึงใช้คำว่า "หัว" หรือ Head)  พัฒนาการจะเริ่มจาก จำได้ -> เข้าใจ -> นำไปใช้ได้
  • เมื่อจำได้ -> จะสามารถบอกได้  วัดได้ด้วยการทดสอบ เช่น ข้อสอบกลางภาค ปลายภาค ฯลฯ
  • เมื่อเข้าใจ -> จะสามารถอธิบายได้ และอภิปรายได้ วัดโดยการทดสอบหรืออภิปราย
  • เมื่อนำไปใช้ได้ -> จะเห็นประโยชน์ และคิดต่อยอดออกไปได้ 

ด้านทักษะ (Skills) ทักษะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติหรือลงมือทำ (ฐานกาย Hand) พัฒนาการด้านนี้ เริ่มที่ทำตามได้ -> ทำเองได้ -> ทำเป็นอัตโนมัติ
  • เมื่อทำตามได้ -> หมายถึงรู้จัก  อาจประเมินได้โดยใช้ใบงาน ใบกิจกรรม ฯลฯ 
  • เมื่อทำเองได้ -> ย่อมแก้ปัญหาได้  ต้องประเมินโดยการใช้สถานการณ์ปัญหา หรือให้ทำโครงงาน ฯลฯ 
  • เมื่อทำจนเป็นอัตโนมัติ -> นั่นคือติดเป็นทักษะขั้นนิสัย ซึ่งวิธีการวัดต้องใช้การสังเกตพฤติกรรมหรือสัมภาษณ์ หรือร่วมทำงานด้วยกัน ฯลฯ 
ด้านเจตคติ (Attitude)  เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนรู้ฐานใจ หรือใช้คำว่า Heart ซึ่งแบ่งพัฒนา ๓ ขั้น เริ่มที่ รับรู้ -> ตระหนัก -> รัก อาสา
  • เมื่อรับรู้ -> ส่วนที่จดจ่ออยู่ก็คือส่วนที่ยอมรับ  ส่วนนี้อาจจะพอตรวจสอบได้จากการทดสอบแบบอัตนัย ให้เขียน ฯลฯ
  • เมื่อตระหนัก เห็นความสำคัญ -> ก็จะให้ความร่วมมือ  เพราะเกิดการเปิดใจจึงนำมาสู่การร่วมใจ  ซึ่งการประเมินต้องใช้การสังเกตจากพฤติกรรมการเข้าร่วม และการกระทำ 
  • เมื่อรักจริงก็จะเกิดจิตอาสา -> และจะนำมาสู่การลงมืออนุรักษ์ หรืออาสาทำสิ่งต่างๆ  ซึ่งอาจหาร่องรอยได้จากเรื่องเล่าหรืออนุทินของผู้เรียน 
อาจารย์สุภาพ ณ นคร ท่านทำให้ผู้ฟังแม่นยำในการเขียนจุดมุ่งหมายของรายวิชามากขึ้น โดยเฉพาะวิธีใช้คำ จะเห็นจากตัวอย่างจุดมุ่งหมายของรายวิชา ภาวะผู้นำและการจัดการ ต่อไปนี้



ข้อสังเกตที่น่าสนใจ และน่าจะนำไปใช้
  • ครบถ้วนผลการเรียนรู้ (LO) ทั้ง ๕ ด้าน ตามกรอบ มคอ.๓
  • ด้านคุณธรรม จริยธรรม ให้ใช้คำว่า  "มี" ก่อนหน้า คุณลักษณะประสงค์ เช่น มีวินัยด้านการตรงต่อเวลา มีจิตอาสา มีความเอื้ออาทร ฯลฯ 
  • ด้านความรู้ ให้ใช้คำว่า "สามารถอธิบาย" ... แม้จะไม่มีคำว่า "บอกได้" แต่ข้อ ๑.๒ มีหลายหัวข้อที่เกี่ยวกับทฤษฎี หรือแนวคิด ซึ่งเป็นองค์ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) ที่ควรให้ "บอกได้" 
  • ด้านทักษะทางปัญญา ให้ใช้คำว่า "สามารถ.... ได้"  โดยขยายให้ลึกถึงคำกริยา เช่น  
    • สามารถนำความรู้ที่เรียน มาใช้ได้.... ไม่พอ ต้องเขียนว่า สามารถนำความรู้ที่เรียน มาใช้ในการวางแผนและออกแบบการดำเนินงานได้  
    • สามารถจัดการได้ ... ไม่พอ ... ต้องเขียนว่า สามารถจัดการและดำเนินงานตามแผนที่ออกแบบไว้ได้ 
    • สามารถแก้ปัญหาได้.... ไม่พอ ต้องเขียนว่า สามารถแก้ปัญหาในการดำเนินงานและสถานการณ์ต่างๆ 
    • ฯลฯ
  • ด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความรับผิดชอบ ให้เขียนชัดเจนว่า เป็นความรับผิดชอบด้านใด เช่น มีความรับผิดชอบต่อตนเองในงานที่ได้รับมอบหมาย  ฯลฯ 
  • ด้านทักษะการคิดวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  จะใช้คำที่ชัดเจนเช่นกัน 
    • สามารถสื่อสารได้ ... ไม่พอ ต้องเขียนว่า  สามารถสื่อสารภาษาไทยได้  สามารถใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษได้ 
    • สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ ...ไม่พอ ต้องเขียนว่า สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานได้ 
    • ฯลฯ
วิธีเขียนแผนการสอน ตามแบบฟอร์มของสำนักวิชาศึกษาทั่วไป ม.ขอนแก่น

หมวดที่ ๕ แผนการสอนและการประเมินผล มีองค์ประกอบที่สำคัญ ที่ท่านนำเสนอไว้ในตารางด้านล่าง

ผมตีความตามประสบการณ์ของตนเอง ว่า การเขียนแผนการเรียนการสอน ควรมีหลักการดังนี้

๑) การเขียน "หน่วยบทและหัวข้อ"  ให้หยิบเอาเนื้อหาที่กำหนดไว้ใน คำอธิบายรายวิชา มาเป็น "หน่วยบท" และเขียนแยกหัวข้อตามลำดับการสอน
๒) เขียนผลการเรียนรู้ ในแต่ละหน่วยบท (Unit LO) ให้ชัดเจนในช่อง "วัตถุประสงค์การเรียนรู้" และใช้สัญลักษณ์จุดกลมทึบ แสดงว่าแต่ละหน่วยบทนั้น เน้น LO ด้านใดในผลการเรียนรู้ 1-5 ด้านตามกรอบ มคอ. ๓
๓) การเขียน "วัตถุประสงค์การเรียนรู้" ให้ยกเอาจุดมุ่งหมายของรายวิชา มาเขียนแยกย่อยในรายละเอียด และชัดเจนว่า เกิดอะไรกับผู้เรียนบ้าง โดย(ส่วนใหญ่)ให้ขึ้นต้นด้วยคำว่า "ผู้เรียน.... " เช่น ผู้เรียนมี...  ผู้เรียนสามารถ.... ฯลฯ
๔) การเขียน "กิจกรรมการเรียนการสอน" ให้เขียนบอกบทบาทของผู้สอนและผู้เรียนให้ชัดเจน  (ส่วนใหญ่) จะใช้ข้อความขึ้นด้วยให้ชัดเลยว่า "ผู้สอนบอก... ผู้สอนแจ้ง...  ผู้สอนบรรยาย..." หรือ "ผู้เรียนทำกิจกรรม..." ฯลฯ
๕) การเขียนถึงสื่อการสอน นอกจากสื่อวีดีทัศน์และเพาเวอร์พอยท์แล้ว ให้เขียนรวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลด้วย เช่น ใบงานที่... กิจกรรมที่.....
๖) การเขียนวิธีประเมินผล ให้เขียนว่าประเมินอะไรจากอะไร เช่น
  • ประเมินความรู้จากการสอบปลายภาคเรียน 
  • ประเมินการตรงต่อเวลาจากพฤติกรรมการเข้าชั้นเรียน 
  • ประเมินความรับผิดชอบจากพฤติกรรมการส่งงาน
  • ประเมินภาวะผู้นำจากใบงานที่ ๑
  • ประเมินผลการทำงานเป็นทีมจากใบงานที่ ๑ และการสังเกตพฤติกรรม 
  • ฯลฯ 



สังเกตว่า ท่านพยายามบอกบรรยายเกี่ยวกับความคิดรวบยอดเรื่องนี้ หลายรอบ หลายแผ่นเขียน แสดงผลการประเมินความรู้เดิมของท่านต่อผู้ฟังว่า ต้องพัฒนาในส่วนใด...ชัดเจน

ขอจบเท่านี้ครับ สำหรับบันทึกนี้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น