วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๑ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้หลังการเรียนการสอนภาคเรียนที่ ๑/๒๕๕๘ (๑)

บันทึกล่าสุด เกี่ยวกับการขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๐ คลิกที่นี่

วันที่ ๒๓-๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘ CADL และอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน หลังจากสอนผ่านไปแล้ว ๑ ภาคการเรียน  มีอาจารย์ผู้สอนเดินทางมาร่วมกิจกรรมนี้ไม่มากนัก ทั้งด้วยเหตุผลจำเป็นส่วนตัว ติดราชการ ติดสัมมนาวิชาการ และรวมทั้งเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนของรายวิชาที่ผ่านมา

นอกจากจะแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียนกันแล้ว  ยังมีกำหนดการที่จะเข้าศึกษาดูงานที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งตั้งอยู่ที่ บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ด้วย ถือเป็นกระบวนการพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชานี้ด้วย

ข้อเรียนรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ที่อาจารย์อาจารย์ผู้สอนนำไปใช้ได้ 

๑ ) รูปภาพฉากเวที

รูปฉากเวทีที่อยู่ใกล้กับห้องประชุมของศูนย์ฯ เป็นภาพวาดสีน้ำที่สวยงาม ประณีตมาก และที่สำคัญเป็นภาพที่สะท้อนสิ่งที่ในหลวงทรงถนอมไว้ให้คนไทยทุกคนได้แก่ ดิน น้ำ ป่า อากาศ อันอุดมสมบูรณ์


หาก "ตัด crop" นิดหน่อย เราสามารถนำเอาภาพนี้ไปใช้เป็น "หัวเพจเฟสบุ๊ค" ได้เลย โดยเขียนอ้างอิงไว้ง่ายๆ ว่าได้มาจาก ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ


หรืออาจนำไปใช้ในการสรุปความหมายหรือให้คำนิยามของคำสำคัญๆ ที่ใช้ให้ตรงกันเป็นสากลทั่วประเทศ เช่น  เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร  ทฤษฎีใหม่คืออะไร?  ดังภาพด้านล่าง เป็นต้น




อาจารย์อาจให้นิสิตอ่านคำนิยามทั้ง ๓ นี้  แล้วให้ช่วยกันสรุปสังเคราะห์เป็นคำของตนเองหรือกลุ่มของตนเอง ให้สั้นและกระทัดรัดมากขึ้น  กระบวนการนี้จะทำให้นิสิตเข้าใจได้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

นิสิตที่เข้าใจจะรู้จัก "จับ" เอาคำสำคัญมาต่อเรื่องเนื่องร้อยกัน เป็นความหมายของตนเอง เช่น ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น แนวทางและวิธีปฏิบัติตนในการดำเนินชีวิต ที่ในหลวงทรงชี้แนะและเตือนสติประชาชนนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับรัฐ ให้ตั้งอยู่บน "ความพอเพียง" ไม่ประมาท ไม่ฟุ้มเฟ้อ ดำเนินชีวิตตามทางสายกลาง

"ความพอเพียง" คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และ การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว โดยอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และระมัดระวัง รวมทั้งคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและความเพียร มาใช้ในการวางแผนให้เกิดความสมดุลและพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังมีภาพดีๆ ที่เราสามารถถ่ายไวัเพื่อไปใช้ในการทำสื่อประกอบการสอนได้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ

๒) ใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ความสำเร็จของกิจการงานต่างๆ ของศูนย์ฯ มาเป็นกรณีศึกษาเกี่ยวกับการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ได้

นอกจากจะศึกษาวิจัย ให้บริการวิชาการ และบริการแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชนรอบๆ ศูนย์และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว ในพื้นที่ศูนย์ส่วนใหญ่ ยังเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสาธิตการทำ "ทฤษฎีใหม่" ไว้ครบทุกด้านและครบวงจร

อาจารย์ผู้สอน อาจเล่าถึงประวัติความเป็นมาของ "เกษตรทฤษฎีใหม่" โดยเฉพาะแปลงสาธิตที่ทรงริเริ่มเลือก ทำ แสดง บนที่ดินขนาดแปลง ๑๕ ไร่ ใกล้วัดมงคลชัยพัฒนา (อ่านเนื้อหาได้ที่นี่) คำถามที่นี่สนใจคือ ทำไมเรียกทฤษฎีใหม่? และ ทำไมต้อง ๑๕ ไร่?  ... อาจารย์น่าจะทิ้งคำถามนี้ไว้ให้นิสิตค้นหาคำตอบเอง รอไว้ไปสรุปเฉลยตอนปลายเทอม



สิ่งสำคัญไม่ใช่เนื้อหาในภาพนี้ เพราะในหนังสือหรือสื่อต่างๆ ก็มี  แต่หากใช้ภาพนี้เป็นสื่อ สิ่งสำคัญคือ "ภาพนี้ถ่ายมาจากไหน?" แล้วนำเข้าสู่บทเรียนโดยการสร้างแรงบันดาลใจ ให้นิสิตอยากไปเรียนรู้ ดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ด้วยตัวเองบ้าง การจะสร้างแรงบันดาลใจนี้ ทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีน่าจะได้ผลกับความแตกต่างของศรัทธาและความชอบของแต่ละคน  เช่น

เล่าถึงประวัติศาสตร์เขตพื้นที่แถบเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ "สีแดง" มาก่อน คือเป็นพื้นที่ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์  แทนที่จะทรงต่อสู้เอาชนะคอมมิวนิสต์ แต่พระองค์ทรงเห็นทุกคนเป็นประชาชนของท่าน  ท่านมุ่งพัฒนาเอาชนะความยากจน ทำให้ประชาชนทุกคนพออยู่พอกิน เช่น ทรงมีพระราชดำริจัดสร้างโรงงานหลวง (แห่งที่ ๓ เต่างอย) ณ พื้นที่บ้านนางอย ต.เต่างอย อ.เต่างอย จ.สกลนคร ผู้สนใจศึกษาได้ที่นี่ ทำให้ประชาชนมีอาชีพและรายได้ สามารถนำเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้และสนับสนุนจากศูนย์การศึกษาภูพานฯ มาใช้สร้างงานสร้างอาชีพของตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป

แสดงภาพแห่งความสำเร็จของการทำการเกษตรตัวอย่างของศูนย์ฯ เช่น ปศุสัตว์ ๓ ดำ ได้แก่ ไก่ดำ หมูดำ และวัวดำ  ที่สามารถทำกำไรให้กับคนเลี้ยงได้ดีเพราะกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดใน "ยุคสุขภาพ"  หรือจะเป็นเกษตรพืชสวน อย่างมะเขือยักษ์  สวนสมุนไพร ฯลฯ หรือเป็นเรื่องการประมงน้ำจืด เช่น เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน เลี้ยงกบ ฯลฯ  โดยเสนอภาพให้น่าสนใจ และยกตัวอย่างของผู้ประสบผลสำเร็จให้เห็น







หรืออาจจะใช้ศรัทธาต่อในหลวงของคนไทยส่วนใหญ่ นำเข้าสู่บทเรียน ด้วยคลิปด้านล่าง และทิ้งไว้ให้ไปเรียนรู้ด้วยตนเองว่าท่านทรงทำอะไรเพื่อคนไทยบ้าง


๓) นำเอาเรื่องราวของเกษตรกรตัวอย่าง ที่ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ไปใช้กับตนเองจนประสบความสำเร็จ  คือคุณบังอร ไชยเสนา ที่ต่อสู้ชีวิตอย่างล้มลุกคลุ่กคลาน แต่พอน้อมนำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตแล้ว ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป ... ปัจจุบันนี้เป็นตัวอย่างที่วิยากรกล่าวถึง



คุณบังอร ไชยเสนา และสามีเป็นคนขยันมาก แต่ก่อนยากจนมาก  ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง ต้องเช่าที่ของญาติเพื่อทำมาหากิน ก่อนจะรู้จักการทำงานตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คุณบังอรและสามีทำทุกอย่างที่เห็นว่าน่าจะได้กำไรดี  เช่น ไปตลาด พบดอกเบญจมาศราคาดี กิโลละ ๓๐ บาท รีบไปซื้อเมล็ดมาปลูกทันที  สองเดือนผ่านไปเบญจมาศของตนมีผลผลิต แต่ราคาเหลือกิโลกรัมละ ๔ บาท ผลคือขาดทุน  ... ไม่ว่าจะเจออะไรที่น่าสนใจ คุณบังอรจะนำมาทำตามทันที  แต่สุดท้ายมักจะขาดทุนเสมอ...

อุปนิสัย "พอเพียง" ที่สำคัญของคุณบังอรนอกจากความขยันหมั่นเพียร คือ ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อมีใครมาชวนหรือให้โอกาสได้ไปเรียนรู้ จะไปโดยและนำสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นมาลองทำดูเสมอ  เช่นเดียวกัน เมื่อได้มาเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ คุณบังอรก็นำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้เรียนรู้กลับไปทำ  เพียงแต่คราวนี้ไม่เหมือนครั้งอื่น  เพราะปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสอนให้คุณบังอรวางแผนและจดบันทึกทุกอย่าง ทุกสิ่งที่ทำ ไปตลาดก็คอยสังเกตและจดบันทึกว่า ผลผลิตทางการเกษตรอะไร ขายดีเมื่อไหร่ ราคาดีแค่ไหน  แต่ละชนิดต้องใช้ระยะเวลาจากปลูกถึงเก็บเกี่ยวนานเพียงใด   ทำให้การเกษตรเป็นไปอย่างมีแผน พอประมาณกับเวลา ความต้องการของตลาด  เก็บเกี่ยวในเวลาที่เหมาะสมตามแผนที่วางไว้ ทำให้ไม่นาน คุณบังอรและสามีกลายเป็นเศรษฐีใหม่ไปแล้ว....

สิ่งที่น่าสนใจ ที่คุณบังอร ไชยเสนา อธิบายถ่ายทอดอย่างไม่หวงความรู้เลย คือ การปลูก "ลิ้นไม้" (คำเรียกของคุณบังอร) หรือ "ลิ้นฟ้า" หรือ "เมกา" พันธุ์ดกอย่างไม่น่าเชื่อ ดังภาพด้านบน  คุณบังอรบอกว่า "ลิ้นไม้" พันธุ์นี้ทำรายได้ให้อย่างงดงาม ขนาดที่ขายได้ต้นละ ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งยากจะเชื่อ แต่พอได้รับคำอธิบายว่า ท่านไม่ขายฝัก แต่ขายเมล็ด และต้นกล้า พอลองคำนวณดูก็พบว่าเป็นไปได้  ใครสนใจดูคลิปการปลูกได้ด้านล่าง



บันทึกหน้าค่อยมาว่าเรื่อง รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น