วันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ _ เวทีพัฒนาอาจารย์ ๕๙ (๒) "จิตตกรสอนตน"

บันทึกที่ (๑) 

กิจกรรม "เติม" แรกของกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันที่ทีมกระบวนกรนำมาแบ่งปันคือ "จิตตกรสอนตน"   (ผมตั้งชื่อเองครับ... เพราะจำไม่ได้ว่ากิจกรรมนี้มีชื่อไหม) วิธีการคือแบ่งกลุ่มๆ ละ ๔  ท่าน นั่งล้อมเป็นวง เว้นตรงกลางไว้ให้เห็นผลงานของกันและกัน  อุปกรณ์ก็มีเพียงพู่กัน ๑ อัน กระดาษครึ่งแผ่น A4 และมีสีน้ำที่ละลายไว้ในแก้ว ๓ ใบให้เลือก ๓ สี  และกำหนดเงื่อนไขอีกว่า "ห้ามระบายแบบวาดหรือปาดพู่กันลงในกระดาษ แต่ให้ใช้วิธี จุด-> หยุด->ยก  ดูผลงานของอาจารย์ครับ









ผมจงใจใช้คำว่า "จิตตกร" ไม่ใช่คำว่า "จิตรกร" เพราะคำสองคำนี้ให้ความหมายแตกต่างกันคนละมุมมอง ภาษาฟิสิกส์เขาเรียกว่า คนละจุดสังเกต คนละกรอบอ้างอิง ดังจะอธิบายต่อไปนี้

ภาษาอังกฤษของคำว่า "จิตรกร" คือ painting ซึ่งแปลเป็นคำไทยตรงๆ ว่า ช่างเขียนภาพ ช่างวาดภาพ  แต่ถ้าสืบค้นด้วยคำว่า "Painting"  จะได้ความหมายกว้างขึ้น คือ ภาพวาด การทาสี การระบายสี  และเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่า Painting (เพ้นติ้ง) คือการระบายสี

ผมตีความว่า นี่คือตัวอย่างหนึ่งของขีดจำกัดของวจนภาษา ที่ไม่อาจจะนำมาสื่อสารงานศิลปะได้ดีพอ เพราะทุกชิ้นงานของการระบายสี ไม่น่าจะเรียกได้ว่า "จิตรกรรม" ที่แปลว่า ทำได้อย่างดี เลิศ ออกจากมือของ "จิตรกร" (จิตร เป็นภาษาสันสกฤตว่า แปลว่า ดี เลิศ งาม หลากหลาย "กร" แปลว่ามือ ) แต่สิ่งอันนั้นๆ เรียกได้ว่าเพ้นติ้งทั้งหมด ดังนั้นคำว่า "จิตรกร" จึงเป็นมุมมองของการเอา ความงามของชิ้นงานศิลป์เป็นสำคัญ

ส่วนคำว่า "จิตตกร" ยังไม่มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษ (หรืออาจมีแต่ผมไม่ทราบ)  มาจากคำว่า "จิตต" เป็นภาษาบาลี แปลว่า จิต หรือ ใจ ในขณะที่ระบายสีด้วย "กร" คือมือ โดยไม่ได้มุ่งหวังว่างานชิ้นนั้นจะออกมาดีเลิศประการใด  แต่มุ่งให้ผู้ระบายได้ศึกษาเรียนรู้สภาวะของจิตใจตนเองเป็นสำคัญ ด้วยหมายความแบบนี้จึงได้ใช้คำว่า "จิตตกร" แทนที่จะใช้คำว่า "จิตรกร"

เทคนิคของกิจกรรมนี้ คือการผสมสีน้ำที่เจือจางมากๆ และใส่เงื่อนไขว่าไม่ให้ระบายหรือละเลง ซึ่งก็ได้ผล เพราะหลายคนสะท้อนว่า รำคาญ หงุดหงิด และเสนอความคิดย้อนแย้งว่า ควรทำอย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ ฯลฯ

สิ่งที่น่าจะนำไปปรับใช้ต่อได้ในการเรียนการสอน คือ หลักการสร้างเงื่อนไขให้ใจต้องฝืนกับความเคยชินความสุข ข้อควรระวังน่าจะอยู่ที่ว่า เงื่อนไขนั้นต้องไม่ทำให้เกิดความทุกข์มากเกินไป จนทำให้ใจพาสมองเข้าโหมดปกป้อง ...  ซึ่งยากมากเพราะพื้นฐานนิสิตที่หลากหลายเหลือคณา....

ภาพด้านล่างคือ สิ่งที่ผมจับประเด็นจากการสะท้อนการเรียนรู้ของอาจารย์หลังจากทำกิจกรรมนี้  โดยใช้กรอบความคิดของพฤติกรรมจาก ๓ ฐาน คือ อารมณ์หรืออาการฐานใจ ฐานคิด และฐานกาย


 ผมมีความเห็นว่า นิสิตที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้นี้ น่าจะมีทักษะในการแยกแยะและเรียนรู้จากทั้ง ๓ ฐาน อย่างดีระดับหนึ่งครับ





ขอบคุณกิจกรรมดีๆ โอกาสต่อไป คงมีมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น