วันพุธที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ _ เวทีพัฒนาอาจารย์ ๕๙ (๔) "สมอง ๓ ชั้น ปัญญา ๓ ฐาน โดย อ.ธวัช ชินราศรี"

บันทึกที่ (๑) บันทึกที่ (๒) บันทึกที่ (๓) 

ผมสังเกตว่า การเรียนรู้ในวงเวทีนี้ ถูกยกระดับขับไปด้วยความอยากรู้ของ อ.พีรยศ หลายครั้ง โดยเฉพาะการตั้งคำถามแบบเจาะจงแล้วส่งไมค์ให้ใครตอบแบบทำให้ดู เช่น ครั้งหนึ่งบอกว่า ท่านยังไม่ได้เป็นอาจารย์ผู้สอน เลยอยากให้ อ.ธวัช อธิบายให้ฟังหน่อยว่า สมอง "๓ ชั้นปัญญา ๓ ฐาน" คืออะไร? นำไปใช้อย่างไร? ฯลฯ ...

ผมจับประเด็น ทำความเข้าใจ และบันทึกไว้ เผื่อว่าท่านอื่นๆ จะเอาไปใช้เป็นสื่อการสอนครับ


ประเด็นสำคัญๆ ตามลำดับ (จากเหตุ->ผล)...
  • นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่า สมองของมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่ทำให้สามารถเรียนรู้และฉลาด แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ มนุษย์ไม่ได้ใช้ความสามารถของสมองตนเองเต็มที่  ดังนั้น หากรู้เรื่องสมองและดึงศักยภาพของสมองออกมาใช้ได้ดี จะทำให้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้และการทำงานดีขึ้น
  • การศึกษาเรื่องสมองเจริญรุดหน้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น เครื่อง MRI (Magneto-Resistance Imaging) ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า สมองแต่ละส่วนทำงานประสานแต่ละหน้าที่พฤติกรรมแตกต่างไป เช่น สมองชั้นใน (วงสีดำ) ควบคุมเกี่ยวกับการกระทำ เคลื่อนไหว ทรงตัว ออกแรง ต่อสู้ ฯลฯ สมองชั้นกลาง (วงสีน้ำเงิน) ส่งผลเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการแสดงอารมณ์ รัก เมตตา ริษยา โกรธ เกลียด ฯลฯ ส่วนสมองชั้นนอก จะบอกพฤติกรรมของมนุษย์ที่มีคุณธรรม ความดี สร้างสรรค์ แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ ฯลฯ  สมองทั้ง ๓ ชั้นนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเรียกชื่อใหม่ให้เข้าใจง่ายว่า สมองตะกวด สมองแมว และสมองคน ตามลำดับ
  • ในขณะที่วิทยาศาสตร์เจริญ ผู้ที่สนใจทางปรัชญา จิตวิทยา และศาสนา  ก็มีผู้ศึกษาเรียนรู้จนเห็นแจ้งมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ซึ่งปราชญ์ผู้รู้บางท่านบอกว่า น่าจะเป็น "ศาสตร์" มากกว่าเป็น "ศาสนา" เพราะไม่ได้มุ่งเน้นที่ศรัทธา แต่มุ่งท้าทายให้พิสูจน์ด้วยการนำมาปฏิบัติให้ "รู้" ให้อยู่เหนือ "การคิด" สอดคล้องกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง แตกต่างกันเพียงมุมมองของสิ่งสำคัญต่างกัน  วิทยาศาสตร์ปัจจุบันบอกว่า "สมองเป็นใหญ่" แต่พุทธวิจัยนั้นบอกว่า "ใจเป็นประธาน"
  • เมื่อมุมมองต่างกัน คำตอบของคำถามวิจัยจึงต่างกันคนละขั้ว เช่น ๑) ถ้าคลื่นสมองต่ำจนอยู่ในช่วงที่เรียกว่าอัลฟ่าจะทำให้จิตใจสบายผ่อนคลาย  กับอีกมุมกลับกันว่า  ๒) ถ้าทำใจให้สบาย ผ่อนคลาย จะทำให้คลื่นสมองต่ำลงจนอยู่ในช่วงคลื่นอัลฟ่า ฯลฯ
  • วิทยาศาสตร์เห็นดัวยกับแบบแรก จึงศึกษาค้นคว้าและวิจัยยาชนิดต่างๆ ที่ฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วทำให้ผ่อนคลาย ผลิตอาหารกินแล้วดี เช่นบอกว่ากินช็อคโกแล็ตจะทำให้ผ่อนคลายหายปวดหัว หรือบ้างก็บอกว่าให้ไปออกกำลังกาย ให้ไปฟังเพลงฟังดนตรี หรือบางตำราบอกให้มีเซ็กซ์ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นวิธี บนฐานความเชื่อนี้ทั้งนั้น
  • ส่วนด้านศาสนาสอนให้คนรู้คุณค่าของมนุษย์ โดยเน้นด้านจิตใจ หลากหลายวิธีการแตกต่างไป หลายศาสนาใช้ศรัทธาเพื่อควบคุมจิตใจ ไม่ให้หลงผิด หลงทำ หลงนำสิ่งไม่ดีสู่ชีวิต  ส่วนพุทธศาสนาเน้นแนวปฏิบัติไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ด้วยหนทางแห่งมรรคา ๘ ประการ ซึ่งย่อมาเป็น ศีล->สมาธิ->ปัญญา สู่การรู้แจ้งความจริงแท้ (อริยสัจ ๔) เห็นแจ้งนิพพาน
  • จิตตปัญญาศึกษา (วิถีพุทธ) เห็นตามข้อ ๒)  และปรับเอาความรู้ด้านประสาทวิทยา มาใช้บูรณาการเพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้สู่ความจริงสูงสุด  ดังนั้นการเรียนรู้ธรรมชาติของสมองจึงสำคัญ และมีส่วนสัมพันธ์กับกระบวนการเรียนรู้ตามแนวทางจิตตปัญญาศึกษา (วิถีพุทธ)

ประเด็นสำคัญจากการฟังครู

  • การทำงานของสมอง แบ่งได้เป็น ๒ โหมด คือ โหมดปกติ (ในพื้นที่สีฟ้าด้านบน) และโหมดปกป้อง (พื้นที่สีเหลือด้านล่าง) โหมดปกติจะผ่อนคลาย เรียนรู้ สมองจะอยู่ในคลื่นอัลฟ่า ส่วนโหมดปกป้อง สมองจะเครียดหรือหลงฟุ้งซ่าน ไม่เหมาะกับการทำงานหรือเรียนรู้ สมองจะอยู่ในช่วงคลื่นเบต้า
  • มนุษย์อาจเรียนรู้จากฐานทั้ง ๓ ได้แก่ ฐานกาย ฐานคิด และฐานใจ ฐานกายมักใช้สมองชั้นใน ฐานใจจะใช้สมองชั้นกลาง ส่วนสมองชั้นนอกจะเกี่ยวข้องกับฐานคิด ซึ่ง "จิต" จะทำหน้าที่ "รับรู้" ที่ฐานกาย "รู้สึก" ที่ฐานใจ และ "ระลึกเห็น" จากฐานคิดด้วย
  • ควบคุมสมองชั้นในต้องใช้ "ศีล" ประคองสมองชั้นกลางด้วย "สมาธิ" และ "พรหมวิหาร ๔" มีเมตตา กรุณา มุฑิตา และอุเบกขาเป็นที่สุด  ส่วนสมองชั้นนอกต้องฝึกการคิดโดยแยบคาย หรือ โยนิโสมนสิการ ทั้ง ๑๐ ประการ (โปรดเน้นสอน)
  • หากเห็นผิด คิดผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว...ก็จบ ....  (โหมดปกป้องการเข้าสู่นิพพาน)
  • แม้นเห็นถูก คิดถูก คิดดี ไม่โกรธ เกลียด ริษยา (คือมีสัมมาสติ) แต่ถ้าไม่มีสมาธิ ความเพียร ไม่สม่ำเสมอ ขาดตอน... นิวรณ์ก็ยังจะครอบงำ .... (ยังอยู่ในโหมดปกป้องการเข้าสู่นิพพาน)
  • แต่สำหรับผู้เริ่มต้นอย่างเรา ... ถ้าจะเข้าสู่โหมดปกติ ต้องมีสัมมาสติ เอาชนะกิเลสอย่างหยาบ เบื้องต้นก่อน
  • อ.ธวัช บอกว่า สุดยอดของสมองชั้นต้นคือ ศีล สุดยอดของสมองชั้นกลาง (ท่านคงหมายถึงปลายทาง หรืออีกฝากของ "สะพาน") คืออุเบกขา และสุดยอดของปัญญาจากสมองชั้นนอกคือ การสร้างสรรค์และการจับประเด็น


ผมชอบจับประเด็น ... แต่ถ้าจะให้เห็นจริงอย่างที่ท่านพูด คงต้องฝึกต่อไป .....


บันทึกหน้ามาว่ากันเรื่องมุมมองของปราชญ์แห่งวิชานี้ทั้งสองท่าน อ.อุดมศักดิ์ และ อ.ธวัช.... สนุกครับ

1 ความคิดเห็น: