วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์กับการเรียนรู้ _ เวทีพัฒนาอาจารย์ ๕๙ (๑) Check-In


ก่อนเปิดภาคเรียนที่ ๒/๒๕๕๘ อาจารย์ผู้สอนประชุมแลกเปลี่ยนปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอนให้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ เป็นวิชาที่เน้นกิจกรรม&กระบวนการ โดยตั้งใจกันว่าจะลดการบรรยายให้เหลือน้อยที่สุด (อ่านได้ที่นี่)

วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ CADL จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจารย์ผู้สอนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนรายวิชานี้ต่อเนื่อง โดยได้รับเกียรติจากทีมกระบวนกรอิสระมาช่วยเป็นเป็นคุณอำนวยเติมเสริม คือ คุณจุ้ย คุณอร และคุณนิคม... กระผมขอขอบพระคุณทั้งสามท่านอีกครั้งครับ ทั้งเกรงใจและเลื่อมใสในจิตอาสาของทีมอย่างยิ่ง เพzราะค่าตอบแทนที่ตั้งไว้กำหนดให้ท่านเดียวเท่านั้น แต่ท่านก็ยกทีมมาร่วมกันทั้งที่อยู่คนละทิศ

อาจารย์ผู้สอนมาร่วมกันเกือบครบทุกท่าน ขาดเพียง ๒ ท่านที่ติดภารราชการงานบริหาร และมีอาจารย์ใหม่มาร่วมด้วยอีก ๓ ท่าน  ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สุดครับ เพราะสิ่งนี้เป็นสัญญาว่าจะสามารถ "ขยาย" ได้ ไม่ใช่ค่อยๆ "หาย" ไป โดยเฉพาะเมื่อ ผอ.สำนักศึกษาทั่วไปให้ความสำคัญ ท่านมาเป็นประธานเปิดด้วยตนเอง ทำให้กำลังใจในการขับเคลื่อนฯ รายวิชา ... มาเต็มที่ 










กระบวนการของกระบวนกร สรุปเป็นตอนๆ ได้ดังนี้ครับ เริ่มด้วย "นำเข้า" หรือ Check In -> ระบายสีภาพน้ำบนชิ้นงานกระดาษ -> แลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบสาธิต -> Check Out  ... ผมสรุปแบบจับความ ถอดความเอง และบันทึกสิ่งที่น่าจะมีประโยชน์ในการสอนต่อไปไว้ดังนี้ครับ















กระบวนการ check in "นำเข้า"

อ.จุ้ย (กระบวนกร) ชี้ชวนให้อาจารย์แต่ละท่านสะท้อนความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการ "นำเข้า" Check In แลกเปลี่ยนวิธีการและวัตถุประสงค์ในการทำ ... ผมจับได้ดังนี้ครับ
  • อ.ธวัช จะใช้ธรรมะหรือหลักธรรมเป็นหลัง โดยเสียระฆังนำเข้า ไม่มีพิธีรีตอง  เสียงระฆังสามารถดาวน์โหลดได้ (หรือจะแอปพลิแคชั่น)  ด้วยใช้น้ำเสียง คำพูด สร้าง "พื้นที่" ให้ทุกคนได้เข้ามา   สิ่งที่เราต้องการคือ ตัวรู้ สติ คลื่นสมองอัลฟ่า ใช้อัลฟ่าเป็นสะพาน อยากให้เขาหลุดจากคลื่นเบต้า...  หยุ่ดพล่านเสียที ดำรงอยู่ตรงนี้สิ...
  • อ.นริสา  จะใช้หลากหลายวิธี จะใช้กลยุทธ์อะไรก็ได้ให้เขานิ่ง และสามารถทำให้เขาอยู่กับตนเอง  เช่น   
    • วิธีที่ ๑ การพาเข้าโดยการพูดนำ.... ครูขอเวลาสัก ชั่วโมงครึ่ง ขอให้พวกเราอยู่กับครู ปิดโทรศัพท์ วางทุกอย่างลงอย่างลง ไม่ต้องจด ไม่ต้องอะไรเลย ให้นั่งฟัง วางทุกสิ่งที่วุ่นวาย ใครจะถอดเสื้อแจ็คเก็ตให้ทำได้ให้ตัวสบาย .... 
    • วิธีที่ ๒ คือ ให้ทุกคนอยู่กับลมหายใจ  หายใจเข้าลึกๆ  หายใจออกยาวๆ   ให้รู้สึกถึงลมหายใจ   
    • วิธีที่ ๓ คือ ใช้ดนตรีสมาธิ  เปิดให้ฟังประมาณ ๕ นาที  ก่อนเริ่มคลาส  บอกเขาว่า ที่ทำแบบนี้เพราะอยากให้วางทุกสิ่ง ทุกอย่าง เพื่อมาเรียนรู้ร่วมกันอย่างเต็มที่ 
    • วิธีที่ ๔ คือ ให้นิสิตเดินอย่างอิสระ แล้วสังเกตตนเอง  ... ด้วยวัตถุประสงค์เดียวกัน คือ ให้มีสติอยู่กับตนเอง และพร้อมต่อการเรียนรู้ 
  • อ.ชัยสิทธิ์ จะใช้วิธีคลายดนตรีบำบัด ซึ่งได้เรียนรู้จาก โมเรโน่  ใช้วิธีการเปิดเพลง แล้วพูด เล่าเรื่องช้าๆ โดยใช้เรื่องที่นำสู่ความโล่ง โปร่ง เช่น ท้องฟ้า ฯลฯ  
  • อ.สุรเชษฐ์ ใช้หลายวิธีตามลำดับ  ๒ สัปดาห์แรก ใช้ลมหายใจ  ๒ สัปดาห์ถัดไป ใช้วิธีแสกนบอดี้ และใช้หลากหลายวิธีรวมกัน   ส่วนหลังกลางภาคไปแล้ว จะใช้วิธีทำสมาธิของสถาบันจิตตานุภาพ 
  • อ.ต๋อย บอกว่า สังเกตพบว่า นิสิตจะสามารถเช็คอินเข้ามาได้ ตอนประมาณสัปดาห์ที่ ๓ ที่เจอกัน  จึงเสนอว่า ควรจะมีการเช็คอินทุกสัปดาห์ หรือทุกครั้งที่จะมีกิจกรรมการเรียนรู้  
  • อ.จุ้ย แนะนำให้ลองใช้วิธี เล่นเกมให้สนุกสุดๆ ไปเลย แล้วพาหยุดทันที เพื่อให้เข้าพัก อยู่กับตนเอง  แล้วให้พูดอารมณ์ความรู้สึกของเขา ถึงความแตกต่างระหว่างเมื่อสนุกสุดๆ  กับตอนนี้ที่กำลังสะท้อน 
  • อ.มหานิคม มุมที่เคยใช้คือ นำเข้าด้วยสมาธิ  ใช้วิธีพาดูลมหายใจ ดูจากลมหายใจยาว รู้ว่ายาว  สั้นรู้ว่าสั้น  ให้ทุกคนรู้ "อารมณ์"  เอาลมหายใจเป็นอารมณ์  ดูความรู้สึกนึกคิด หรือจะดูความเคลื่อนไหวของกาย  หรืออาจใช้เสียง  หรือสี  มีหลากหลายวิธี ... จะนำเข้าแบบไหนก็ได้  ... บางทีอาจพา ยืน เดิน นั่ง นอน   คือ  ให้ยืน ๒ นาที  เดิน ให้เดินไปทั่วๆ  นั่ง ๒ นาที แต่ละอริยาบทให้หยุดดูลมหายใจ  .... เหล่านี้ เป็นการนำเข้าสู่ชุมชนเรียนรู้  หรือที่เราเรียกว่า เรียกสติ หรือเตรียมความพร้อม 
  • อ.วิไลลักษณ์  จะใช้เรื่องเล่า  เล่าเรื่อง สังเกตว่านิสิตจะชอบฟังเรื่องเล่าประสบกการณ์จริงๆ มาก  เช่น  ทุก ๆ เช้าเราจะขับรถไปใส่บาตร เมื่อเห็นเรื่องราวการขับรถผิดกฎจราจรของคน จะนำมาเล่าให้นิสิตฟัง  หรือนำเรื่องราวการทำความดีของคนมาเล่า  ข่าวดีสำคัญๆ มาเล่า  ... หรืออาจเป็นเรื่องความดีเล็กในชีวิตประจำวันของตนเอง  เช่น  การเดินไปปิดไฟที่ยังไม่มีใครไปปิดในตอนเช้าตรู่  ...นี่ก็เป็นความดีอีกแบบหนึ่ง  ฯลฯ 
  • อ.แมว บอกว่า อีกสิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ ต้องกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้ อยากเรียนด้วย
  • อ.จุ้ย สรุปว่า เรื่อง "นำเข้า" หรือ check in ก็เป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อม  พร้อมจากความรู้สึกไม่ปลอดภัย  ความกังวล  วุ่นวาย    ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่ต้องมี  ควรกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขของการทำกิจกรรมการเรียนรู้เลยครับ 
 ความจริงก่อนที่ทีมวิทยากรจะเริ่มคุยทำกิจกรรม "นำเข้า" หรือ "Check In" โดย อ.มหานิคม  อ.จุ้ยได้พาพวกเรา "เข้า" มาสู่บทเรียนนานแล้ว โดยให้แลกเปลี่ยนถึง กิจกรรมการเรียนการสอนที่ตนเองทำแล้วชอบและถนัดที่สุด  ...  ผมทำหน้าที่จับประเด็นอยู่นอกวง 


บันทึกต่อไปมาดู กิจกรรมที่อาจารย์แต่ละท่านนำมาแลกเปลี่ยนครับ ...

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๙ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๖) จบ

บันทึกที่ (๑)บันทึกที่ (๒) บันทึกที่ (๓) บันทึกที่ (๔) บันทึกที่ (๕)

ช่วงบายของการฝึกอบรมฯ  เป็นการระดมสมองและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ใน ๓ ประเด็นคำถาม คือ

  • ที่ผ่านมาท่านสอนอย่างไร มีความสำเร็จอะไรที่อยากแลกเปลี่ยน? 
  • มีปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขอย่างไร?
  • มีสิ่งใดอยากจะบอกมายังส่วนประสานงานกลาง (GE)? 
ต่อไปนี้คือคำตอบความเห็นของอาจารย์ครับ  ท่านเขียนมามากกว่า ๓ ประเด็นข้างต้น  นำเอามาบันทึกไว้ ในภายหน้าว่าเราจะเปลี่ยนไปแค่ไหนอย่างไร...

วิธีการสอน 
  • สอนตามแผนการสอนใน มคอ. ๓
  • ยกตัวอย่างใกล้ตัว เช่น การใช้จ่าย การเข้าเรียน ฯลฯ
  • ยกตัวอย่างปัญหา (ด้วยสื่อต่างๆ เช่น เพาเวอร์พอยท์ วีดีโอ หรือเอกสาร) แล้วให้วิเคราะห์/อภิปราย
  • ฝึกวิเคราะห์จากใบกิจกรรม 
  • ใช้สื่อประกอบให้มากขึ้น 
  • เน้นกิจกรรมกลุ่มในชั้นเรียน แล้วส่งตัวแทนนำเสนอ 
  • สอดแทรกประสบการณ์ของผู้สอน  และให้นิสิตเล่าประสบการณ์
  • สอนโดยการเล่าเรื่อง 
  • ให้นิสิตแบ่งกลุ่มทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย 
  • ใช้การซักถาม 
  • เริ่มเหมือน Homeroom ด้วย มรรค ๘ เชื่อมโยงประสบการณ์ ตัวอย่าง เข้าสู่เนื้อหา
  • ให้ทำบัญชีรับ-จ่าย ของนิสิต ทำให้นิสิตเกิดการออม 
  • ทำเป็นตัวอย่างแก่นิสิต เรื่องการออม และใช้ในชีวิตประจำวันหลังการสอน 
ความสำเร็จที่อยากแลกเปลี่ยน
  • เกิดการเรียนรู้เรื่องการออม ความเพียร 
  • มีการวางแผนก่อนการทำงาน
  • มีการวางแผนชีวิตและวางเป้าหมายในชีวิต
เทคนิคการสอน
  • ติดตามงานเดิมก่อนจะสอนเรื่องใหม่เสมอ
  • เปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างนิสิตกับผู้สอน เช่น facebook page ฯลฯ 
  • ให้นำเสนองานผ่าน Youtube.com
  • เปิดพื้นที่ใจก่อนการเรียนรู้ (ละลายพฤติกรรม) 
ปัญหาที่พบ
  • ไวรัสในคอมพิวเตอร์ในห้องเรียนเยอะมาก
  • ห้องเรียนใหญ่เกินไป /นิสิตน้อย 
  • นิสิตไม่ตั้งใจเรียน เล่นโทรศัพท์ เดินออกนอกห้อง 
  • นิสิตมาสาย โดยเฉพาะชั้นเรียนเช้า 
  • นิสิตขาดเรียน
  • นิสิตไม่กล้าแสดงออก
  • นิสิตไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานกลุ่ม
  • นิสิตมาเรียนเพื่อเอาเกรด
  • นิสิต LA ไม่รู้หน้าที่ 
  • นิสิตส่งงานช้า ไม่รับผิดชอบ
  • นิสิตไม่เห็นความสำคัญ 
  • วัตถุประสงค์ของรายวิชาไม่ชัดเจน 
(สังเกตไหมครับ ...  ปัญหานิสิต ก็คือ ปัญหาของอาจารย์เรานั่นเอง.... สู้ครับ หน้าที่ครูเพื่อศิษย์)


    แนวทางในการแก้ไข 
    • ห้องเรียน ไม่ควรจัดนิสิต ๑๐๐ คน ไว้ในห้องเรียนขนาด ๓๐๐ ที่นั่ง 
    • รณรงค์มารยาทในการเรียน ในชั้นเรียน 
    • จัดให้มีไมค์ลอยในห้องเรียนขนาดใหญ่ 
    • ตั้งกฎเกณฑ์ให้ส่งงานอย่างเคร่งครัด 
    • จัดอบรมแนวปฎิบัติของนิสิต LA 
    • พยายามเน้นย้ำความสำคัญของ ปศพพ. บ่อยๆ 
    • สร้างจิตสำนึกใหม่ ค่านิยมใหม่ ให้มีระเบียบวินัยและคุณธรรม (ให้รางวัล ชมเชย คะแนนโบนัส)
    • ปรับปรุงวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดในรายวิชาให้ชัดเจน นำไปปฏิบัติได้ 
    • ฯลฯ 
    สิ่งที่อยากได้จากส่วนกลาง (GE)
    • ไมค์ลอยให้ครบทุกชั้นเรียน (อาจารย์ทุกคน)
    • สำนักศึกษาทั่วไปรณรงค์เรื่องเครื่องแต่งกายให้ถูกระเบียบ 
    • หน้าเว็บไซต์ของ GE ต้องมีสื่อการสอน สามารถดาวน์โหลดได้  ในรายวิชานี้ 
    • จัดการเรื่องไวรัสอย่างสม่ำเสมอ
    • ดูแลห้องเรียนให้สะอาด (ตึกวิทย์)
    • นิสิตนำเอาหลัก ปศพพ. ไปใช้ในชีวิตได้ 
    • เชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บ่อยๆ 
    • พาไปศึกษาดูงานศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ เพื่อนำมาปรับปรุงการสอน
    • Laser Pointer
    • ระบบคอมฯ เครื่องเสียงที่สมบูรณ์  ไฟฟ้าที่สว่าง
    • อยากได้นิสิต LA
    • นำนิสิตเข้าฟังบรรยายพิเศษเกี่ยวกับ ปศพพ. กับวิทยากรที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตระดับชาติและเป็นที่สนใจ เช่น เถ้าแก่น้อย ฯลฯ 
    จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้วันนี้ไปใช้อย่างไร 
    • ครูควรฝึกตั้งคำถามที่แยบคาย เชื่อมโยง ลงลึก ให้สัมพันธ์กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
    • นำไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนรู้ของนิสิต  เน้นให้ลงมือปฏิบัติ -> ถอดบทเรียน










    วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2559

    CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๘ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๕)

    กิจกรรมที่ ๕  ตัวอย่างการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับธุรกิจในตลาดหุ้น บริษัทบาธรูมดีไซด์ จำกัด   เป็นเทปเล่าเรื่องของนายวัชรมงคล เบญจธนฉัตร์ ประธานกรรมการบริษัท ความยาวประมาณ ๑๓ นาที ... เสียดายที่เสียงไม่ค่อยดีเท่าใดนัก 
    ช่วงค่ำก่อนวันอบรมเชิงปฏิบัติการ ผมเล่าเรื่องการเชิญ อ.ทนง ขันทอง มาบรรยายพิเศษให้ อ.ศศินี ฟัง  จึงได้เรียนรู้หลายเรื่องเกี่ยวกับแง่มุมทางธุรกิจที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น และเรื่องเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์ไทย  คุยไปคุยมา ได้ทราบว่า ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานด้านการเงินมานาน ก่อนจะมาทำงานขับเคลื่อน ปศพพ. ท่านเคยเป็นผู้จัดการกองทุนรวม และเห็นว่าความสามารถด้านการเงิน (Money Literacy)  เรื่องการทำบัญชีรับ-จาย เป็นเรื่องที่นิสิตมหาวิทยาลัยควรจะมีและทำเป็นประจำ 


    ความหมายและความเข้าใจ

    • ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือการพัฒนาอย่างสมดุล
    • มีคำสำคัญ ๓ คัญ คือ ความสุข ความรัก สมดุล  
    • ความสุขคือเป้าหมาย ความรักคือตัวขับเคลื่อน ความสมดุลคือพื้นฐานทั้งหมดทุกสิ่ง 
    • เป้าหมายของบริษัทไม่ใช่ "ความสำเร็จ" แต่เป็น "ความสุข"  
    • "...นักจิตวิทยาพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จมักไม่มีความสุข  ส่วนคนที่มีความสุขมักไม่ประสบความสำเร็จ ..."
    • "...แต่ของพิเศษของพ่อ... จะนำมาสู่ทั้งความสำเร็จและความสุข..." 
    • ความรัก  ๑ คือ รักงาน มีฉันทะในสิ่งที่ทำ  ๒ คือ  รักผู้อื่น ยิ่งให้ยิ่งมีความสุข   
    • ต้องสมดุล ๔ มิติ ของธุรกิจ 
      • องค์กรสมดุล ความพอประมาณคือ เรา  เราเก่งอะไร เรามีจุดอ่อนตรงไหน มีเหตุมีผลคือ เขา เขาคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  การมีภูมิคุ้มกันคือความรู้ รู้เขา รู้โลก รู้การเปลี่ยนแปลง 
      • สมดุลของคน คือ คนต้องมีคุณธรรม 
      • สมดุลเป้าหมาย  คือ ต้องไม่มองเฉพาะเงิน กำไร แต่ต้องมองประโยชน์สุข  คือ ทั้งประโยชน์และความสุข
      • สมดุลสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ ประโยชน์สุขแบ่งปันสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ใช่เฉพาะผู้ถือหุ้น 
    การน้อมนำไปใช้ในการทำธุรกิจ
    • ธุรกิจขนาดกลาง เริ่มตอนปี ๓๘  นำเข้าผลิตภัณฑ์สินค้าในห้องน้ำ นำเข้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีแบรนด์ตนเอง  ขายดีมาก 
    • วิกฤต ๔๐ หนี้เพิ่มขึ้นกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือน สินค้าขายไม่ดี แบงค์ก็เริ่มทวงหนี้ ต่างประเทศบอกว่าขายไม่ดีจะดึงแบรนด์กลับ  
    • ๔ ธ.ค. ๒๕๔๐ ได้ฟังในหลวงเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ทางทีวี  สนใจเลยติดตามฟังบรรยายของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล 
    • เริ่มกลับมาวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว 
    • ระยะสั้น มีปัญหาเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงิน  จึง ลดราคาสินค้าก่อน  เอาเงินที่ขายได้มาจ่ายเงินเดือนพนักงาน  เจรจากับแบงค์ให้ยึดเวลาการชำระหนี้ออกไป   
    • ระยะกลาง ลดการนำเข้า  และสร้างแบรนด์ของตนเอง  เราเริ่มศึกษาว่าโรงงานในกรุงเทพฯ มีอะไรบ้าง  แล้วค่อยให้ฝ่ายออกแบบออกแบบเอง แล้วไปจ้างโรงงานทำ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยสมดุล ๖ มิติ  design->function->technology->materials-> Social->environment  จากสินค้าที่นำเข้าทั้งหมดก็เริ่มมีตลาดของเราเอง 
    • เริ่มจากการ design ชั้นวางของในห้องน้ำ ใช้วัสดุเมทาริกสีขาวทดแทนตะแกรงโลหะต่างๆ  เริ่มมีตลาดเพราะไม่มีคู่แข่ง
    • จากนั้นใส่ function เข้าไป จากอ่านเปล่า ก็กลายเป็นมีระบบน้ำวน  ถือเป็นเจ้าแรกในประเทศ  
    • ต่อมาจีนเข้ามาตีตลาดด้วยสินค้าราคาถูกกว่า ๓ เท่า  จึงต้องเอา technology เข้ามา... เป็นที่มาของ Ispa  อ่างน้ำวนที่เชื่อมต่อ Ipod ได้ สามารถวัดอัตราการเผาพลาญแคลอรี่ได้  ไม่ขายเฉพาะฮาร์ดแวร์ แต่ขายซอร์ฟแวร์ที่สามารถดาวน์โหลดออนไลน์ได้ ...  ทำให้ธุรกิจค่อยๆ ขยับ 
    • อีกเรื่องที่สำคัญคือคน  เน้นความรัก รักเหมือนพ่อเหมือนแม่ ปลูกฝังฝ่ายบริการให้มองลูกค้าเหมือนคุณพ่อคุณแม่  
    • ส่วนพนักงาน  ขนาดกลางที่มีประมาณ ๕๐๐ คน จะดูแลให้เกิดสมดุลทั้งด้านมูลค่าและคุณค่า  
    • ด้านมูลค่าคือ เงินในกระเป๋า  ใช้หลักว่า " เงินได้ไม่สำคัญเท่าเงินเหลือ "   จ้างทำอาหารกลางวัน กำข้าวตักได้ไม่อั้น ทำให้พนักงานประหยัดได้ ๗๐ บาทต่อวัน   จัดการหนี้นอกระบบของพนักงานโดยประสานกับธนาคารออมสิ จากดอกเบี้ยร้อยละ ๕ เหลือร้อยละ ๐.๕  มีกิจกรรมทำแปลงเกษตรหลังโรงงาน ส่งเสริมการเพาะเห็ดให้พนักงานเอากลับไปทำที่บ้าน ส่งเสริมอาชีพเสริมต่างๆ  ...อย่างสนุกสนาน 
    • ด้านคุณค่า คือสิ่งที่จะทำให้พนักงานอยู่กับเรา  ไม่ใช่เพราะเงิน  หลักคิดคือ ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกว่ามีคุณค่า และทำให้เขาเห็นคุณค่าของผู้อื่น  วิธีการคือการใส่ใจกับวันสำคัญของพนักงาน เช่น วันเกิด ก่อนวันเกิดจะมีขนมแค้กอวยพร  และให้หยุดงานได้ในวันเกิด  ฯลฯ  
    • ส่วนวิธีการทำให้เห็นคุณค่าของผู้อื่น จะเน้นการมีส่วนร่วมและใช้ความรักขับเคลื่อนไม่ใช่เงิน  บริษัทจะประเมินผลด้านความดี ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้วัดความเก่งอย่างเดียว 
    • บริษัทจะน้อมนำเอา ๒๓ หลักการทรงงานมาใช้ โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วนคือ ๑๐+๑๐+๓  หรือ ปริยัติ+ปฏิบัติ+ปฏิเวท  
    • ยกตัวอย่างเช่น ๑๐ ข้อแรก   จะทำอะไรต้องหาความรู้ก่อน ต้องระเบิดจากขัางใน  ทำจากจุดเล็กๆ ง่ายๆ ก่อน และทำตามลำดับขั้น  การศึกษาภูมิสังคม การศึกษาองค์รวมตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน อนาคต จะไปถึงไหน ต้องไม่ติดตำรา การประหยัดเรียบง่าย ประโยชน์สูงสุด การทำให้ง่าย การมีส่วนร่วม 
    • ๑๐ ข้อที่สอง คือ จะทำอะไรต้องเน้นประโยชน์ส่วนรวม  ต้องบริการรวมที่จุดเดียวทั้ง Authority และ Responsibility ต้องไปคู่กัน ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ คนทำดีองค์กรนั้นจะได้ดี  ให้อธรรมปราบอธรรม คนไหนเคยไม่ดีก็ให้กลับตัว ปลูกป่าในใจคนคือปลูกฝังความดีในใจคน ขาดทุนคือกำไร คือให้มองกำไรระยะยาว รู้จุักพึ่งพาตนเอง พออยู่พอกิน เศรษฐกิจพอเพียง และ ซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจต่อกัน 
    • ปฏิเวท ๓ ข้อ คือ  ๑) ทำงานอย่างมีความสุข  ทุกเช้าตื่นขึ้นมาอยากมาทำงานหรือเปล่า ลูกค้ามีความสุข คนในชุมชนมีความสุข  ๒) ความเพียร  ทุกคนทำงานอย่างสนุกสนานแลท้าทาย ไปทำงานเหมือนทำข้อสอบ  และ ๓) รู้ รัก สามัคคี รู้คือรู้เขารู้เรา  รักคือรักกัน รักงาน รักลูกค้า รักผู้อื่น แล้วความสามัคคีจะมาเอง  
    • ความสามัคคีคือหัวใจของทั้งหมด 
    หากเราสืบค้นด้วยคำสัญว่า "วัชรมงคล" จะพบคลิปเผยแพร่เรื่องราว เรื่องเล่า ผลของการน้อมนำเอา ปศพพ. มาใช้จนประสบผลสำเร็จ  ผมคิดว่า เราควรแนะนำให้นิสิตดูคลิปต่อไปนี้  หรืออาจใช้คลิปเหล่านี้เป็นสื่อการสอนเลยก็ได้ครับ 




    ผม AAR ว่า การยกตัวอย่างการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะทำให้นิสิตเข้าใจมากขึ้นแล้ว น่าจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะนำไปปรับใช้บ้าง ไม่มากก็ไม่น่าจะน้อย....  เชิญให้ทุกท่านทดลองนำคลิปวีดีโอนี้ไปใช้สอน ถอดบทเรียน แล้วมาแลกเปลี่ยนกันครับ ....

    CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๗ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๔)

    บันทึกที่ (๒)

    บันทึกที่ (๓)

    กิจกรรมที่ ๔ ถอดบทเรียนจากสื่อวีดีทัศน์
    การสอนด้วยการเปิดสื่อให้ดู โดยเฉพาะสื่อวีดีทัศน์จาก youtube.com เป็นที่นิยมมาก เพราะนอกจากจะเป็นที่สนใจและได้ข้อมูลที่ทันสมัยแล้ว  ยังทำได้ง่าย สะดวก เพราะห้องเรียนรวมทุกห้อง สามารถล็อคอินออนไนล์ใช้อินเตอร์เน็ตได้ 
    ตอนที่เราไปแลกเปลี่ยนกันที่ จ.สกลนคร  เพื่อนอาจารย์ท่านหนึ่งแลกเปลี่ยนเทคนิคง่ายๆ ในการเตรียมสอนของท่านคือ  การสืบค้นเลือกดูคลิปบน youtube  แล้วจดจำไว้เฉพาะคำสำคัญที่ใช้ในการค้นหาผ่าน google  เมื่อถึงวันสอนให้ไปก่อนเวลาสักเล็กน้อย เพื่อไปสืบค้นบน youtube ที่คอมพิวเตอร์หน้าห้องเรียนได้เลย  ... 
    กระบวนการของอาจารย์ศศินี มีขั้นตอนดังแผนภาพด้านล่าง (ถอดความจากการสังเกต) เครื่องมือที่สำคัญก็คือ "การตั้งคำถาม" -> แลกเปลี่ยน -> ยกตัวอย่าง -> สรุปสาระสำคัญและสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน 

    คลิปแรกที่นำมาเป็นตัวอย่างคือ บ้านอนุรักษ์กระดาษสา ของแม่ฟองคำ หล้าปินตา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่

    คลิปที่ใช้สั้นแค่เพียง ๓ นาทีเศษ  อาจารย์ผู้สอนที่ต้องการอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ศึกษาได้จากเอกสาร "ฟองคำ หล้าปินตา"  (ดาวน์โหลดได้ที่นี่
    ตัวอย่างคำถามที่ อ.ศศินี ใช้เป็นเครื่องมือในการถอดบทเรียนบนหลักปรัชญาฯ 
    • เห็นอะไรจากวีดีทัศน์บ้างคะ? 
    • มีความพอประมาณตรงไหนบ้างคะ?
    • มีเหตุผลอยู่ตรงไหนบ้างคะ?
    • มีภูมิคุ้มกันที่ดียังไงคะ? 
    • เบื้องหลังของสิ่งนี้คืออะไร? 
    • ฯลฯ 

    ผมเปิดคลิปแล้วจับประเด็นไวๆ ได้ดังนี้ครับ 
    • เป็นอาชีพที่สืบทอดต่อกันมายาวนาน  ป้าฟองคำทำมาต่อเนื่องกว่า ๔๐ ปี 
    • นอกจากถ่ายทอดความรู้ด้านการทำกระดาษเท่านั้น  แต่จะส่งต่อคติการทำงาน ความคิด ความเชื่อในการดำเนินชีวิต 
    • ไม่ได้เรียนทฤษฎีธุรกิจอะไร เกิดจากประสบการณ์อันยาวนาน 
    • ทำธุรกิจกับต่างประเทศต้องรักษามาตรฐาน เวลาต้องตรง  รับได้เท่าไหร่ก็ต้องทำเท่านั้น  
    • เริ่มต้นด้วยภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อแม่
    • ด้วยหลักความพอประมาณ ทำให้ธุรกิจค่อยๆ เติบโตอย่างมั่นคง  ไม่คาดหวังผลกำไรที่เกินกว่าศักยภาพและกำลังการผลิต จึงโตอย่างยังยืน 
    • ธุรกิจค่อยๆ ขยายจากครอบครัวไปสู่ธุรกิจชุมชน และชุมชนใกล้เคียง กว่า ๓๐๐ ชีวิต
    • หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นทั้งหลักในการดำเนินชีวิตและหลักในการฝึกจิตใจด้วย
    • มีการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษไปหลายประเทศทั่วโลก 
    • การบริหารธุรกิจนั้น แท้จริงแล้วก็คือการบริหารชีวิต ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านตำรายากๆ 

    เห็นอะไรจากวีดีทัศน์บ้างคะ? 
    • เห็นชาวไทยมีอาชีพทำกระดาษสาที่ได้สืบทอดภูมิปัญญามาจากบรรพบุรุษ ทำรายได้ให้ครอบครัวของป้าฟองคำและสามี  รวมทั้งคนในชุมชน 
    • เห็นการถ่ายทอดภูมิมปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เห็นการอนุรักษและสืบต่อภูมิปัญญาอาชีพ
    • เห็นการทำธุรกิจระดับชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ร่วมมือกัน (ไม่ใช่การแข่งขันแก่งแย่งกัน) 
    • เห็นวิถีไทย ที่ให้และแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่กัน
    • เห็นวิธีคิดของป้าฟองคำ เกี่ยวกับแนวทางการนำเอาหลักปรัชญาฯ ไปใช้
    • ฯลฯ
    มีความพอประมาณอยู่ตรงไหนคะ?
    • มียอดสั่งจองจากต่างประเทศเข้ามามาก แต่ป้าคำฟอง ก็รับงานตามศักยภาพในการผลิตเท่านั้น เรียกได้ว่า พอประมาณกับศักยภาพการผลิตของตนเอง 

    มีเหตุผลอยู่ตรงไหนบ้างคะ?
    • ป้าฟองคำยึดหลัก(คุณธรรม)ว่า ทำธุรกิจกับต่างชาตินั้น สิ่งคัญคือคุณภาพของสินค้า และการส่งงานที่ตรงเวลา  นี่คือเหตุผลว่า ทำไมป้าฟองคำไม่รับงานเกินตัว 
    มีภูมิคุ้มกันที่ดียังไงคะ? 
    • การประเมินศักยภาพตนเอง ไม่รับงานเกินตัว แต่ตัดสินใจเลือกที่จะค่อยๆ พัฒนา ขยายผล แบ่งปันไปยังคนในชุมชน โดยใช้ความรักความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง ทำให้เกิดความมั่นคงของธุรกิจ ...  การไม่ตาโต การคิดเพื่อผู้อื่นในชุมชน  ความรักสามัคคีแบบพี่น้อง เหล่านี้ล้วนเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวป้าฟองคำ 
    เบื้องหลังของสิ่งนี้คืออะไร? 
    • เบื้องหลังของทั้งหมดคือ ความขยัน อดทน พึ่งตนเอง เรียนรู้ เผื่อแผ่ แบ่งปัน สามัคคี ฯลฯ  เหล่านี้ คือ ความ"พอเพียง" ในใจของฟ้าฟองคำนั่นเองครับ ...

    ผมมองว่า สิ่งสำคัญของการใช้ "คำถาม" และ "คำถามตามติด"  คือความเข้าใจและประสบการณ์ในการสะท้อนและถอดบทเรียนบนหลัก ปศพพ.  ส่วนเรื่องเล่าที่นำมายกตัวอย่าง จะเป็นหัวใจของการยกระดับความเข้าใจให้นิสิตได้ โดยเฉพาะประสบการณ์ตรงของตนเอง ...





    วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2559

    CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๖ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๓)

    บันทึกที่ (๑)
    บันทึกที่ (๒)

    กิจกรรมที่ ๓ ถอดบทเรียน จากประสบการณ์ที่สำเร็จของตนเอง 

    อ.ศศินี ท่านได้มอบหนังสือไว้เล่มหนึ่งชื่อ  "ตัวอย่างการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างอุปนิสัย "พอเพียง"  (ดาวน์โหลดได้ที่นี่)  นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว ศูนย์พัฒนาวิชาการเพื่อการเรียนรู้ หรือ CADL ยังได้รับการสนับสนุนเป็นเอกสารหนังสือที่จัดแสดงไว้ ณ มูลนิธิสยามกัมมาจล และเผยแพร่ออนไลน์ไว้ (ดูได้ทีนี่) ... อาจารย์ท่านใดสนใจ แวะมาเลือกดู ยืมไปอ่านได้ครับ ...

    หน้าที่ ๑๒-๑๗ ของหนังสือเล่มนี้ เผยแพร่กระบวนการ "เคลียร์คอนเซ็ป" ของ ดร.ฉลาด ปาโส  ครูโรงเรียนเชียงขวัญพิทยาคม จ.ร้อยเอ็ด  (ผมเคยเผยแพร่คลิปการอธิบายกระบวนการนี้ของท่านไว้ที่นี่  และเอารูปแบบของท่านมาดันแปลงและใช้ในการขับเคลื่อนฯ ในลักษณะคล้ายกันและได้บันทึกไว้ที่นี่)...แนะนำให้ทุกท่านที่กำลังจะสอนเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษา คลิกเข้าไปศึกษาดูครับ

    อ.ศศินี นำเอาวิธีการนี้ มาใช้กับการอบรมอาจารย์ครั้งนี้   สรุปพอเข้าใจขั้นตอนกิจกรรม (ที่สามารถนำไปใช้สอนได้) โดยกำหนดเป็น ๓ ขั้น ดังนี้

    ขั้นที่ ๑ เกริ่นนำและวาดรูป 

    เกริ่นนำถึงสิ่งที่ได้สรุปร่วมกันมาว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาฯ ที่นไปสู่ความสุข ความสำเร็จ เป็นหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  ในชีวิตของตนผ่านความยากลำบาก ต้องฝึกฝน ฟันฝ่ามากมาย  มีกิจกรรมใดไหม? ที่เราได้ทำสำเร็จแล้ว ทำให้เรามีความสุข  ให้คิดมาหลายๆ กิจกรรม

    ให้ทุกคนวาดรูป "หัวใจ" ไว้ตรงกลางกระดาษ A4  แล้ววงกลมใหญ่ๆ เหนือรูปหัวใจ และวงกลม (หรือวงรี) ให้มีขนาดเท่ากันไว้ด้านซ้ายล่างและล่างขวา ดังรูปด้านล่าง



    ขั้นที่ ๒ เขียนเตรียมเล่าเรื่อง

    ให้ทุกคนเขียนตอบคำถาม ตามประเด็นๆ ที่กำหนดไว้ดังนี้ 

    • ให้เขียนกิจกรรมที่ตนเองเคยทำ ซึ่งมีลักษณะ ๓ ประการ ได้แก่  ๑) ทำสำเร็จ ๒)รู้สึกภูมิใจมาก และ ๓) อยากจะบอกต่อเผยแพร่แบ่งปันกับผู้อื่น โดยเขียนเฉพาะชื่อกิจกรรมนั้นสั้นๆ 
    • ในวงกลมด้านบน ให้เขียนเป็นประเด็นๆ ให้เห็นวิธีการหรือขั้นตอนในการกระทำกิจกรรมนั้นๆ รวมถึงเขียนโน๊ตไว้สั้นๆ ด้วยว่า ทำทำไม? โดยเดลือกเอาเหตุผลที่สำคัญที่สุด  และผลดีหรือประโยชน์ที่สำคัญที่สุดไว้สั้นๆ  ...  เป็นการเตรียมเนื้อหาไว้มาแลกเปลี่ยนตอนเล่าเรื่อง ในขั้นตอนต่อไป 
    • วงรีด้านซ้าย ให้เขียนบอกว่า การจะทำกิจกรรมนั้นๆ ให้ได้ดี จะต้องมีความรู้อะไรบ้าง 
    • วงรีด้านขวา ให้เขียนบอกว่า กิจกรรมนั้นๆ จะสำเร็จได้ใช้คุณธรรมข้อไหน หรือต้องมีเจตคติที่ดีอย่างไร  ... ควรเขียนแบบเน้นๆ ว่า ถ้าขาดสิ่งนั้นๆ จะไม่สำเร็จแน่นอน
    ขั้นที่ ๓ เล่าเรื่องแลกเปลี่ยน 

    ให้จับคู่กัน แล้วเล่าเรื่องกิจกรรมของตน แล้วสลับกับเล่าเรื่องอย่างละเอียด โดยใช้กระดาษที่ตนเขียนไว้เป็นสื่อประกอบ   ผู้เล่าเรื่องเล่าอย่างซื่อตรง เล่าความจริง (ไม่ใส่ไข่ เติมสี) ผู้ฟังก็ฟังอย่างชื่นชม ตั้งใจ อาจใช้คำถามซักให้เข้าใจในแต่ละขั้นตอนได้  อาจใช้ ๗ คำถามของ รศ.ดร.ทิศนา แขมมณี (อ่านได้ที่นี่ หรือที่นี่) ที่ทางมูลนิธิฯ ขับเคลื่อนฯ และได้ผลดี 

    ขั้นที่ ๔ สะท้อนและสรุปบทเรียน

    เครื่องมือที่ อ.ใช้ในการอบรมคือ "คำถาม"  รวมถึงขั้นตอนสรุปสาระสำคัญ ท่านก็ยังใช้คำถามว่า  "กิจกรรมที่เราทำมานี้ มีเศรษฐกิจพอเพียงอยู่ตรงไหนบ้างคะ?..."   ก่อนจะสรุปตอนท้าย และแนะให้ระวัง การยึดติดกับรูปแบบมากเกินไป  ซึ่งมักใช้คำถามตรงๆ เช่น  เหตุผลคืออะไร พอประมาณคืออะไร ภูมิคุ้มกันคืออะไร ฯลฯ ตามตารางที่เราใช้ถอดบทเรียนในเอกสารประกอบการสอน  

    ก่อนจะสรุปด้วยแนวทางการถอดบทเรียน ตามสไลด์นี้ 



    หลังกิจกรรม ผม AAR ว่า  
    • กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเดียวกันกับกิจกรรมที่ ๒ ของเอกสารประกอบการสอนที่เราใช้อยู่   อาจารย์ท่านใดจะเอากิจกรรมนี้ไปใช้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหา 
    • นิสิตที่ทำกิจกรรมที่แล้ว จะเข้าใจและสามารถอธิบายว่า จะเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตกิจกรรมได้อย่างไร 
    • กิจกรรมการเรียนรู้น่าจะเป็นไปอย่างสนุก นิสิตน่าจะมีความสุข เพราะได้เล่าเรื่องที่ตนชอบ ทำเสร็จ และอยากแบ่งปัน  ซึ่งเป็นเรื่องเงื่อนไขให้เลือกกิจกรรมนั้นๆ อยู่แล้ว 




    ท่านอาจารย์ธวัช ชินราศรี  ท่านอาสาออกมาเล่าเรื่องแลกเปลี่ยนการนำเอาหลักปรัชญาฯ ไปใช้ในการดำเนินชีวิตเป็นท่านแรก  ท่านทำเกษตรผสมผสาน คาดว่าในอนาคต เราจะยกพลผู้สอนไปศึกษาดูงานบ้านท่านให้ได้ครับ... ขอบคุณท่านที่มาร่วมประชุมตลอด ทุกครั้ง และเสริมพลังให้กับกลุ่มตลอด ...  


    วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2559

    CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๕ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๒)

    บันทึกที่ (๑)

    ผมเล่าให้อาจารย์ศศินีสฟังก่อนวันอบรมฯ หลายเรื่อง เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำผ่านมาในการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สรุปเป็นประเด็นๆ พอสังเขปดังนี้
    • อาจารย์สะท้อนว่า นิสิตได้เรียนรู้เรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมามากแล้วตั้งแต่ตอนสมัยมัธยมปลาย 
    • อาจารย์สะท้อนหลายคนว่า เนื้อหาในเอกสารประกอบการสอนน้อยเกินไป ควรเพิ่มเนื้อหาให้มากกว่านี้ 
    • ผมตีความว่า ข้อสะท้อนของอาจารย์ทั้งสองข้อ บอกว่า อาจารย์อาจจะยังสอนแบบบรรยาย บอกเนื้อหา นิสิตเรียนรู้แบบรับความรู้ อาจารย์ส่งผ่านความรู้ หรือ Passive Learning  
    ดังนั้นเมื่อท่านถามว่าผมว่า คาดหวังอะไรในการฝึกอบรมครั้งนี้? ผมตอบว่า คาดว่าอาจารย์ผู้สอนจะได้ฝึกการ "ถอดบทเรียน" บนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเห็นตัวอย่างการสอนแบบเน้นกระบวนการ หรือการสอนแบบตื่นตัว (Active Learning)   เพราะถ้าอาจารย์สอนแบบใช้กิจกรรม แล้ว "ถอดบทเรียน" และสะท้อนการเรียนรู้จากกิจกรรม  ความเห็นที่ว่า เนื้อหาน้อยเกินไป หรือ ที่สะท้อนว่านิสิตรู้หมดแล้ว จะหายไป  ในทางกลับกัน การไม่เน้นเนื้อหา จะทำให้อาจารย์มีเวลาพานิสิตฝึกคิด ฝึกน้อมนำไปทำ และมีเวลาที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น

    กิจกรรมที่ ๒ พับกระดาษ

    กิจกรรมง่ายๆ ที่วิทยากรแจกกระดาษ A4 ให้คนละแผ่น แล้วบอกให้ "พับอะไรก็ได้ ภายใน ๓ นาที" แล้วให้ทุกคนเอาผลงานของตนมารวมกันหน้าห้อง โดยกองไว้แยกกันจาก ๒ กลุ่ม  แล้วให้แต่ละคนสลับกลุ่มไปเลือกผลงานที่ตนเองประทับใจที่สุด   เพียงเท่านั้น...


    มีข้อสังเกตว่า เกือบทุกคนพับจรวดกับเรือ มีเพียงบางท่านเท่านั้น ที่ตั้งใจจะทำสิ่งที่แตกต่างออกไป เช่น พับที่ใส่ซีดี หรือพับเป็นกระทงใส่คลิปลวด  ฯลฯ





    แล้วท่านก็เริ่มพาเข้าสู่กระบวนการ "ถอดบทเรียน" ตนเอง (โดยไม่ได้บอกว่ากำลังจากพาถอดบทเรียน) วิธีการคือเปิดประเด็นคำถาม ให้ถามตอบ แล้วซักถามต่อไปเรื่อยๆ  ประกอบกับการยกตัวอย่างในประเด็นนั้นๆ ให้เข้าใจ ก่อนจะขยับไปตั้งคำถามประเด็นใหม่  จนพอใจ แล้วสรุปสาระสำคัญตอนท้าย   กระบวนการของท่าน พอสรุปได้ดังแผนภาพด้านล่าง



    ตัวอย่างการสนทนา โดยเริ่มจากถามผู้เลือกก่อน เป็นประมาณว่า (เป็นการถอดความ ไม่ใช่การถอดเทปนะครับ) ...
    • ทำไมถึงเลือกงานชิ้นนี้คะ  ...เพราะดูแล้วชอบค่ะ จรวดลำนี้น่าจะบินได้ดี ...
    • ทำไมถึงคิดว่าจะบินได้ดีคะ ...ดูปีกมันกว้าง และได้สมดุลดีค่ะ...
    • ทำไมปีกกว้างแล้วจะบินดี แล้วทำไมต้องมีสมดุลด้วย ...ปีกว้างจะกินลมได้เยอะกว่าทำให้ลอยอยู่ได้นานกว่า... และจากประสบการณ์ของดิฉัน ถ้าพับไม่ได้สมดุล จะตกไวมาก...
    • ทดลองซัดดูไหมคะ ... (ชวนใด้ทดลองดู ... บินได้นานจริงตามที่คาด)
    • จรวดนี้ของใครคะ... (ถามหาคนพับจรวด, ถามหาคนทำ)
    ถามคนทำ (ถอดความและจิ้นเพิ่มจากการถาม-ตอบจริง)
    • ทำยังไงคะ จรวดถึงได้บินดีจัง... จากประสบการณ์ของผม ถ้าพับแบบนี้จะบินดีที่สุดครับ ... ผมลองพับหลายๆ แบบ แล้วทดลองบินเทียบกันดู พบว่าแบบนี้ดีที่สุดครับ...
    • ต้องใช้ความรู้หรือคำนึงถึงหลักการอย่างไรไหมคะ ... ช่วงแรกเหมือนลองผิดลองถูก แต่ตอนหลังก็จับหลักได้ว่า การพับให้หัวจรวดไม่หนักเกินไป ให้จุดศูนย์กลางมวลอยู่ตรงกลาง  และจัดให้สมดุลให้ดี  จะทำให้บินได้นานครับ...
    • มีตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่ดีไหมคะ ...เนื่องจากเวลาจำกัดเพียง ๒ นาที จึงต้องวางแผนว่าจะพับอย่างไรก่อน เพื่อไม่ให้พลาด  และขณะพับก็ต้องใช้สมาธิและมีสติกำกับ 
    • เงื่อนไขคุณธรรมเกี่ยวข้องกับการพับจรวดแบบนี้ไหมคะ ... ใครอยากจะพับแบบนี้ยินดีจะสอนครับ...
    • ฯลฯ
    ถามทุกคน 
    • การพับจรวดเกี่ยวข้องกับมุมมองในมิติวัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมหรือไม่ อย่างไร ...
      • ด้านมิติวัตถุ ต้องใช้สิ่งขอให้คุ้มค่า ประหยัด  เช่น  อาจใช้กระดาษใช้แล้ว หรือ ถ้ายังไม่ใช้ก็อาจนำไปใช้ต่อ... 
      • ด้านมิติสังคม จะคำนึงว่าดีต่อผู้อื่นหรือชุมชนสังคมอย่างไร  เช่น  การเข้าร่วมกิจกรรม ตั้งใจพับจรวดและยินดีในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้  ฯลฯ  ... การแบ่งปัน ที่นำไปสู่ความสามัคคี 
      • ด้านมิติวัฒนธรรม   การพับกระดาษเป็นวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงของชาวญี่ปุ่นที่เรียกว่า โอริกามิ  โดยเฉพาะวัฒนธรรมการพับนกกระเรียน ๑,๐๐๐  ตัว  คำสำคัญของการพิจารณาด้านนี้คือคำว่า "คุณค่า" คือมุ่งให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมต่างๆ 
      • มิติด้านสิ่งแวดล้อม  เกี่ยวข้องกับกระดาษ เพราะกระดาษทำจากต้นไม้  ดังนั้นการใช้กระดาษอาจส่งผลการการตัดไม้ได้  ฯลฯ 
    ข้อสังเกตสำคัญคือ  การซักถามแบบไม่มีรูปแบบตายตัว ในช่วงแรกๆ เป็นคำถามตามเรื่อง ตามความสงสัยและสนใจของผู้ถาม  ช่วงหลังจะสบด้วยคำถามที่สอดคล้องกับหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข  และจบด้วยการถามตรงๆ ถึง ๔ มุมุมองในแต่ละมิติ 

    บันทึกต่อไปมาดูการสอนด้วยสื่อวีดีทัศน์ครับ 

    วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2559

    CADL ขับเคลื่อน ปศพพ. ใน มมส. _ ๑๔ : รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาอาจารย์ผู้สอน ๒๕๕๙ (๑)

    วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๙  ทีม CADL สำนักศึกษาทั่วไป จัดเวทีอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเตรียมความพร้อมของอาจารย์ผู้สอนในภาคการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙ และเป็นเวทีพัฒนาอาจารย์ใหม่ ซึ่งถือเป็นกลไกให้อาจารย์ผู้สนใจเข้ามาร่วมเป็นอาจารย์ผู้สอน

    มีอาจารย์ผู้สอนที่มาเข้าร่วมทั้งหมด ๒๓ ท่าน เป็นอาจารย์ใหม่ ๒ ท่าน อาจารย์เดิมที่ไม่สามารถมาร่วมได้ ๓ ท่าน อาจารย์ใหม่ที่สมัครมาเป็นอาจารย์ผู้สอนแล้ว แต่ไม่สามารถมาร่วมได้ ๒ ท่าน  ในจำนวนอาจารย์ผู้สอนทั้งหมด ๒๓ ท่าน อยู่ร่วมกิจกรรมเต็มวันทั้งสิ้น ๑๔ ท่าน ได้แก่ อ.วรรณชัย อ.ประภัสสร อ.วรัญญู อ.บังอร อ.พัมนพล อ.ปณรัตณ์ อ.พรทิพย์ อ.เบ็ญจพร อ.สิริภัค อ.วิลาวัลย์ อ.มัณฑนา อ.ธวัช อ.จันทร์ฉาย และ อ.วันทกาญจน์  ส่วนที่เหลือไม่ได้ร่วมทั้งวันเพราะติดภารกิจราชการ ... ขอขอบพระคุณอาจารย์ทุกท่านที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ครับ

    เราได้รับเกียรติจาก อาจารย์ศศินี ลิ้มพงษ์  หัวหน้าโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์   มาเป็นวิทยากรพัฒนาแนวทางการสอนแบบ Active Learning โดยเฉพาะการ "ถอดบทเรียน" บนหลัก ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ของกิจกรรมต่างๆ ตามเอกสารประกอบการสอน

    กระบวนการ/วิธีการสอนของวิทยากร ท่านวางแผนกระบวนการทั้งหมดในรูป Session Design (ดาวน์โหลดที่นี่) อย่างละเอียด เริ่มจาก แนะนำให้รู้จักมูลนิธิฯ ->ประสบการณ์การขับเคลื่อน ปศพพ. ในโครงการพัฒนาเยาวชน -> ทำให้เข้าใจหลัก ปศพพ. ให้ตรงกัน -> ฝึกตีความบนหลัก ปศพพ. -> เรียนรู้หัวใจแห่งความสำเร็จจากกรณีตัวอย่างในภาคธุรกิจ -> สรุปและทบทวน -> สรุปทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาฯ และการนำไปใช้ ->พักเที่ยง->แลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนการสอน ->ช่วยกันออกแบบการเรียนการสอน->สะท้อนการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน  ... โดยมีกระบวนการดำเนินการ ดังนี้

    กิจกรรมที่  ๑ แนะนำตัว : ปศพพ.คืออะไร จะเอาไปใช้อย่างไร 

    อ.ศศินี เริ่มที่กระบวนการแนะนำตนเอง โดยให้อาจารย์จับคู่กัน แล้วโยนคำถาม ๒ ข้อ ได้แก่ ๑) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร และ ๒) จะนำไปใช้อย่างไรในการดำเนินชีวิต  ใช้เวลาเพียงคนละ ๒ นาทีสลับกัน จากนั้นก็ให้บอกคำตอบของคู่หลังจากแนะนำตนเองให้วิทยากรรู้ ...ต่อไปนี้เป็นคำตอบของอาจารย์ผู้สอน ปีนี้ครับ

    ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร ในความเข้าใจของท่าน?
    • พออยู่พอกิน ไม่เป็นหนี้สิน
    • ทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนา
    • คือหลักคิดและหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิต
    • เป็นแนวคิดและหลักที่นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข 
    • เป็นการดำเนินชีวิตบนหลักของทางสายกลาง เป็นหนทางแห่งมรรค 
    • จะทำอะไรๆ ก็ต้องมีสติ การคิดก่อนทำ เป็นหลักการตัดสินใจในการกระทำทุกอย่าง
    • เป็นปรัชญาในการดำเนินชีวิต อย่างมีแบบแผน 
    • ฯลฯ 
    โดยสรุปความเข้าใจในนิยามของเรา น่าจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วดังนี้ 



    ปรัชญาของเศษรฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร ? 
    • นำไปทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่บ้าน เกษตรผสมผสาน  การน้อมนำไปใช้ในการเกษตรเป็นเพียงเพื่อการนำร่อง  ซึ่งเหตุที่เป็นเรื่องการเกษตรเพราะสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ 
    • นำไปใช้ในการทำบัญชีรับ-จ่าย 
    • นำไปใช้ในทุกเรื่องในการดำเนินชีวิต ทุกครั้งที่จะตัดสินใจ 
    • นำไปสอนนิสิต ให้รู้จักวางแผนชีวิต และในการดำเนินชีวิตในมหาวิทยาลัย 
    • นำไปใช้ในการดำเนินชีวิตให้เป็นประโยชน์กับคนอื่นให้มากที่สุด 
    • นำไปใช้ในการสอน และการทำงานวิจัยของตนเอง 
    • ฯลฯ 
    อาจารย์ศศินีสรุปสาระสำคัญ ว่า เมื่อเราเข้าใจตรงกันแล้วว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร และสามารถนำไปปฏิบัติกับตนเองแล้ว  คำถามสำคัญต่อไปคือ เราจะทำให้นิสิตเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างไร?  ... และอธิบายแนวทางการจัดกิจกรรมและออกแบบการเรียนรู้ที่เป็นเหมือนบันได ๓ ขั้น ดังภาพ


    ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอาจแบ่งเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ นิยาม ตีความ และนำไปใช้

    • ไม่ใช่แค่เพียงจดจำนิยาม แต่ต้องเข้าใจนิยาม  
    • ไม่ใช่เพียงเข้าใจในความคิดจึงสามารถตีความหรือวิเคราะห์ได้  แต่ต้องสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วยตนเองและสามารถ "ถอดบทเรียน" หรือ ตีความการปฏิบัติของตนเองบนหลักปรัชญาฯ ได้อย่างถูกต้อง
    • ต้องมั่นใจว่า นิสิตได้ฝึกการนำเอาหลักปรัชญาฯ มาใช้ในการดำเนินชีวิต  ซึ่งจะมีลักษณะสำคัญคือพัฒนาการที่สมดุล ๔ มิติ ทั้งด้านวัตถุ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม  อันจะนำไปสู่ความสุขและความยั่งยืน 
    บันทึกต่อไป มาดูกิจกรรมที่ ๒ ครับ