วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๖) ถอดบทเรียน ๓-๒-๔ จากกิจกรรมที่ทำแล้วดีและภูมิใจ

ครั้งที่ ๕ (๕ มิถุนายน ๒๕๖๑) ของกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) เป็นการ "ถอดบทเรียน" จากประสบการณ์การทำกิจกรรมที่ทำแล้วดี ทำแล้วภูมิใจ ที่นิสิตได้เขียนตอบไว้ในการตอบคำถาม ๘ ข้อ ของ ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา

เพื่อให้นิสิตที่เลือกกิจกรรมในลักษณะเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนสนทนากัน ให้รู้จักและคุ้นเคยกันให้มากขึ้น และเพื่อให้ได้ฝึกทักษะการฟังและสรุปใจความสำคัญร่วมกัน อาจารย์ผู้สอนที่วันนี้ทำหน้าที่เป็น Facilitator (ผู้อำนวยการเรียนรู้) จึงได้กำหนดเงื่อนไข ให้นิสิตจับคู่กับคนที่เลือกกิจกรรมเหมือนกันหรือคลายกัน แล้วเขียนคำตอบเดียวกัน (เขียนเหมือนกัน) ลงในใบกิจกรรมที่ ๒ (ต่อ) "ถอดบทเรียน ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข ๔ มิติ ดังแบบฟอร์มดังภาพ (ดาวน์โหลดได้ที่นี่ ผมเปลี่ยนคำว่า "นิสิต" เป็นคำว่า "นักเรียน" เผื่อคุณครูจะนำไปใช้สำหรับขับเคลื่อนในโรงเรียน)

โดยผู้สอนใช้ช่วงเวลาที่นิสิตกำลังอภิปรายกันเป็นคู่ อธิบายแทรกผ่านไมค์ไร้สายและเดินไปรอบๆ พร้อม ๆ กับเปิดโอกาสให้คู่ที่ไม่มั่นใจยกมือขึ้นถามว่าติดตรงไหนที่ทำไม่ได้ แล้วผู้สอนก็จะถอดบทเรียนให้เห็นเป็นตัวอย่าง  สอบถามไปเรื่อยๆ สาธิตการถอดบทเรียนไปเรื่อยๆ จนกว่านิสิตทุกคนจะเสร็จ


มีนิสิตเข้าเรียนในครั้งนี้ ๘๒ คน กิจกรรมที่นิสิตทำแล้วดีและภูมิใจ ได้แก่

  • ทำบุญตักบาตร ทำความสะอาดห้องน้ำวัด เลี้ยงแมวจรจัดหาบ้านให้สัตวอยู่ (รวม ๔ คน)
  • หารายได้พิเศษให้ตนเอง (๒ คน) 
  • เก็บออม (๔ คน )
  • กิจกรรมจิตอาสาเช่น บริจาค แบ่งปัน ปลูกป่า (รวม ๘ คน) 
  • กิจกรรมจัดค่ายหรือกิจกรรมพัฒนานิสิตต่างๆ (รวม ๑๙ คน) ได้แก่ ค่าย First Date First Love, ฝึกสต๊าฟ (๖ คน) ค่ายครูบ้านนอก ค่ายโครงการคุณธรรมเพื่อผู้สูงอายุ ค่ายนักดนตรีพัฒนาศักยภาพรุ่นน้อง ค่ายหัดบิน ร้องคอรัสประกอบละครคณะสถาปัตย์ฯ 
  • กิจกรรมผ่อนคลายหรืองานอดิเรก (รวม ๑๘ คน) ได้แก่ เล่นดนตรี (๕ คน) ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาสวยงาม เล่นเกมส์ ทำอาหาร (๔ คน) 
  • ออกกำลังกาย (รวม ๑๓ คน) ได้แก่ เล่นกีฬา รำและออกกำลังกาย เตะฟุตบอล และซ้อมกีฬา 
  • อ่านหนังสือและพัฒนาตนเอง (รวม ๑๔ คน) ได้แก่ เรียน อ่านหนังสือ (๘ คน) เรียนหนังสือ (๔ คน) และพัฒนาตนเอง (๒ คน)
จากการอ่านละเอียดทุกชิ้นงานและประเมินโดยกำหนดเกณฑ์โดยใช้ดุลยพินิจของอาจารย์ผู้สอน ดังนี้ 
  • ๕ คะแนน สำหรับนิสิตที่ส่งงาน (เขียนตอบงานตามเงื่อนไขให้ส่งตามชิ้นงานและเวลาที่กำหนด) แต่นิสิตยังไม่เข้าใน หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง 
  • ๖ คะแนน สำหรับนิสิตที่ส่งงาน แต่ยังไม่เข้าใจเป็นส่วนใหญ่ (เข้าใจเพียงบางห่วง บางเงื่อนไข หรือบางมิติ)
  • ๗ คะแนน สำหรับนิสิตที่ส่งงาน มีส่วนที่เข้าใจและส่วนที่ไม่เข้าใจพอๆ กัน (เข้าใจครึ่งหนึ่ง ไม่เข้าใจครึ่งหนึ่ง)
  • ๘ คะแนน สำหรับนิสิตที่ส่งงาน เข้าใจเป็นส่วนใหญ่ (แต่ยังมีบางห่วง บางเงื่อนไข บางมิติ ที่ยังไม่เข้าใจ)
  • ๙ คะแนน สำหรับนิสิตที่ส่งงาน เข้าใจเกือบทั้งหมด แต่ยังถอดบทเรียนไม่ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ
  • ๑๐ คะแนน สำหรับที่นิสิตทีส่งงาน เข้าใจทั้งหมด และถอดบทเรียนได้ครอบคลุมประเด็นสำคัญๆ 
สามารถสรุปดังภาพ 


ผลการตรวจใบกิจกรรมที่ ๒ ผู้เขียนประเมินให้นิสิตได้คะแนนดังนี้ 
  • ได้ ๕ คะแนน ๔ คน
  • ได้ ๖ คะแนน ๒ คน
  • ได้ ๗ คะแนน ๑๓ คน 
  • ได้ ๘ คะแนน ๒๑ คน 
  • ได้ ๘.๕ คะแนน ๑๐ คน 
  • ได้ ๙ คะแนน ๒๘ คน 
  • ได้ ๙.๕ คะแนน ๗ คน 
  • ได้ ๑๐ คะแนน ๒ คน 
หากถือว่า ผ่านเกณฑ์ตั้งแต่ ๘ คะแนนขึ้นไป จะมีนิสิตผ่านตามวัตถุประสงค์ถึง ๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๓ ถือว่า กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ได้ผลดีมาก  อย่างไรก็ตาม กิจกรรมประเมินด้วยการถอดบทเรียนเป็นคู่นิสิตแบบนี้อาจจะคลาดเคลื่อนได้ในกรณีที่นิสิตไม่ได้แลกเปลี่ยนอภิปรายกันแล้วค่อยลงข้อสรุปละเขียนตอบ แต่ใช้วิธีคัดลอกกัน อย่างไรก็ดี เชื่อว่านิสิตน่าจะมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นพอสมควร 

ต่อไปนี้เป็นชิ้นงานที่นิสิตได้ ๑๐ คะแนน และ ๙.๕ คะแนน ที่น่าจะมีประโยชน์สำหรับการทำความเข้าใจด้วยตนเองของนิสิต (คลิกที่ภาพ จะเข้าถึงต้นฉบับภาพที่ชัดอ่านง่าย)




งั้นชิ้นนี้ไม่ได้เต็ม ๑๐ คะแนน ถูกหัก ๐.๕ คะแนน เนื่องจาก การถอดบทเรียนในห่วง "ประมาณ" ไม่ชัดเจน ไม่เฉพาะเจาะจงเพียงพอให้เห็นการปฏิบัติ สังเกตว่า การพอประมาณกับศักยภาพของตนและงบประมาณที่มี ทุกโครงการก็ต้องคำนึงถึงอยู่แล้ว ควรเขียนให้ชัดเจนหรือยกตัวอย่างว่า กิจกรรมนี้ต้องพอประมาณกับศักยภาพด้านใดที่สำคัญๆ พอประมาณกับงบประมาณอย่างไรพิจารณาอย่างไร เป็นต้น


นิสิตคู่นี้ก็ไม่ได้คะแนนเต็ม ๑๐ คะแนน ถูกหัก ๐.๕ คะแนนจาก เงื่อนไขความรู้ ซึ่งความจริงบางข้อนิสิตก็เขียนได้ถูกต้องเช่น ความรู้เรื่องระเบียบวินัย แต่ก็ยังไม่เจาะจงเฉพาะเพียงพอ ที่จะสามารถน้ำไปเป็นแนวทางปฏิบัติได้สำหรับผู้อ่าน ยิ่งข้อที่เขียนว่า ความรู้ที่ได้เรียนมา ความรู้จากประสบการณ์ ยิ่งกว้างขวาง ไม่อาจทราบหรือระบุได้เลย


ส่วนนิสิตคู่นี้ ไม่ได้คะแนนเต็ม ๑๐ เพราะ เขียนในห่วง "ภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี" ว่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งน่าจะอยู่ที่ห่วง "พอประมาณ" มากกว่า  

ในห่วง "พอประมาณ" มีคำสำคัญคือ  พอประมาณกับศักยภาพ พอประมาณกับทรัพยากรที่มี พอประมาณกับเวลาที่มี เหมาะสมกับกาละและเทสะ เป็นต้น  ดังนั้น ความสามารถในการแก้ปัญหาและการมีความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นศักยภาพที่ควรมีให้เพียงพอ จึงควรจะอยู่ที่ห่วงพอประมาณมากกว่า 

ส่วนห่วง "ภูมิคุ้มกันที่ดีในตน" นั้น มีคำสำคัญคือ ป้องกันเหตุอันไม่คาดคิด พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง วางแผน ปลอดภัย ความเสี่ยงที่จะทำให้ไม่สำเร็จ การประเมินผลให้รู้เสมอว่ากำลังทำอะไร รวมถึง ภูมิคุ้มกันภายในคือ สติ สมาธิ และคุณธรรมประจำใจ ความรู้และประสบการณ์ด้วย 

อย่างไรก็ดี ทั้งสามห่วง เปรียบเหมือนวงแหวนที่คล้องกันไว้เสมอ ไม่สามารถดึงออกจากกันได้ ดังนั้นทุครั้งที่จะตัดสินใจต้องคิดให้รอบคอบคลุม ๓ ห่วง เสมอ  ในทางกลับกัน เมื่อเราถอดบทเรียนว่าสิ่งนี้ๆ สอดคล้องกับห่วงนี้  แท้จริงแล้วสิ่งนั้นจะสอดคล้องกับอีก ๒ ห่วงด้วยทุกครั้งเสมอ 

ขอจบบันทึกเท่านี้ครับ เจอกันใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น