วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561

บ้านสวนขวัญข้าว ๓ "สารแห่งความสุข"

บ้านสวนขวัญข้าวเริ่มขุดบ่อแบ่งดินตั้งแต่กุมภาพันธ์ (ตามบันทึกนี้) ล้อมรั้วกันวัว ปลูกแฝกกันดินขอบบ่อพัง คลุมฟางกันหน้าดินไหล (ตามบันทึกนี้) สร้างระบบให้น้ำทั้งสำหรับคนและต้นไม้ สุดท้ายล่าสุดเสร็จสับแล้วสำหรับห้องสุขา สิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับ "สามสาว" ที่จะหมดข้ออ้างในการมาสวนไป ๑ ข้อ (ฮา)  ถึงตอนนี้ (มิถุนายน ๒๕๖๑) บ้านสวนขวัญข้าวก็พร้อมแล้วสำหรับการปลูกข้าวและไม้ ๗ ชั้น ศึกษาเรียนรู้ภาคปฏิบัติตามรอยพ่อต่อไป

โจทย์ที่ยากที่สุดคือจะทำอย่างไรให้ "ขวัญ" และ "ข้าว" อยากมาเรียนรู้ภาคปฏิบัติด้วยตนเอง เป้าหมายคือคำว่า "หนูอยากมาบ้านสวน"  (ขณะนี้คำตอบยังเป็น "หนู่ไม่ไปค่ะ"...ฮา) เข้าใจว่าจะต้องทำให้เด็กๆ รู้สึกมีความสุขและสนุกทุกครั้งที่ได้มาบ้านสวน... ปัญหาคือทำอย่างไรล่ะ? 

ครึ่งชีวิต

หากแบ่งช่วงชีวิตเป็น ๒ ช่วง เริ่มต้นตั้งแต่วันเกิดถึงวันตาย สมมติเรียกจุดตรงกลางระหว่าง ๒ ช่วงนี้ว่า "ครึ่งชีวิต"  ถ้าเอาเกณฑ์เวลามาหา "ครึ่งชีวิต" ของตนเอง คงเป็นเรื่องสุดวิสัยเพราะไม่มีใครรู้จักวันตายของตนเอง จึงขอเสนอให้ลองแบ่งครึ่งชีวิตด้วยเกณฑ์ของเหตุแห่งความสุข 

หากเอาหลักคำสอนทางศาสนาพุทธมาเป็นเกณฑ์ ซึ่งมี "ใจเป็นใหญ่ จิตใจเป็นประธาน"   จุด "ครึ่งชีวิต" ของแต่ละคน คือจุดที่ใจเริ่มเห็นความสำคัญของการปล่อยวางในการยึดมั่นในตัวตน เพราะเหตุของทุกข์คือการยึดมั่น เหตุแห่งความสุขคือการปล่อยวาง แต่เหตุที่นำมาสู่การปล่อยวางอย่างแท้จริงนั้นเกิดขึ้นเมื่อเห็นแจ้งใน "ความจริง" (ผู้สงสัยแนะนำให้ศึกษาการเจริญวิปัสนา โดยหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช สืบค้นไม่ยากเลย)  แต่ละคนจะมีจุด "ครึ่งชีวิต" ที่อายุไม่เท่ากัน คนส่วนใหญ่มักมีจุด "ครึ่งชีวิต" อยู่ใกล้ๆ กับวันหมดชีวิต 

หากเอาหลักวิทยาศาสตร์(กายภาพ) มาเป็นเกณฑ์ คำตอบที่ได้จะเหมือนง่ายและคล้ายๆ กันทุกคนขึ้นอยู่กับวิถีการอยู่กินของคนแต่ละชนชาติเผ่าพันธุ์  เช่น คนไทยมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๗๔ ปี มีจุด "ครึ่งชีวิต" ประมาณ ๓๗ ปี ณ ขณะนี้ ผู้เขียนก็ผ่านครึ่งชีวิตแบบนี้มาแล้ว 

ความสุขและสารแห่งความสุข ๔ ชนิด

ในครึ่งแรกของชีวิตมนุษย์ ก่อนจะถึงจุด "ครึ่งชีวิต" ความสุขมักเกิดจากความสำเร็จ หรือได้สมหวังจากสิ่งที่ต้องการ (อยากมี) เป็นได้ดังสิ่งที่ปรารถนา (อยากเป็น) รากเหง้าของความสุขคือความยึดมั่นในตัวตน (Self) เมื่อได้มีหรือครอบครองเป็นเจ้าของตามที่ตนความต้องการ หรือได้เป็นตามสิ่งที่ปรารถนาที่ตนอยากจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อได้กิน ได้ดื่ม ได้ครอบครองทรัพย์สิน ความสุขจากความสมหวังจะผุดขึ้ืนในใจ มีสารแห่งความสุขที่เรียกว่า "โดพามีน" (Dopamine) หลั่งออกมาระหว่างรอยต่อของปลายประสาท (เว็บนี้เขียนดี) ต่อไปจะเรียกสารนี้ว่า "สารแห่งความสุขสำเร็จ" 

นอกจากโดพามีนแล้ว นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบสารที่หลั่งในสมองและร่างกายในขณะที่คนมีความสุขอีกสามชนิด (อ้างอิง) ได้แก่ สารออกซิโทซิน (Oxytocin) เกิดเมื่อมีความสุขจากการได้สัมผัส(รัก)จากคนรักคนใกล้ชิด และความอบอุ่นในพื้นที่ปลอยภัย ไว้ใจ เชื่อใจ เช่น คู่รัก พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน เป็นต้น ต่อไปจะเรียกสารนี้ว่า "สารแห่งความสุขสัมผัส" 

สารแห่งความสุขอีกชนิดหนึ่งคือ สารเซเรโทนิน (Serotonin) เกิดเมื่อมีความสุขจากการได้รับการยอมรับจากสังคม มีผู้อื่นเห็นความสำคัญ รู้สึกว่าฉันเป็นคนสำคัญ เป็นพิเศษ คือประสบความสำเร็จในการใส่หัวโขนแห่งเกียรติยศตำแหน่งแห่งที่อย่างเต็มตัว ต่อไปจะเรียกว่า "สารแห่งความสุขสังคม" 

อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า เอนโดร์ฟินส์ (Endorphins) เกิดขึ้นเมื่อคนก้าวกำลังจะข้ามขีดจำกัดต่างๆ ของตนเอง เป็นความสุขจากความสำเร็จในการชนะตนเอง เช่น ออกกำลังกายหนักๆ อดทนฝืืนจากความเจ็บปวด ฯลฯ เป็นที่น่าสนใจมากว่า สารเอนโดร์ฟินส์หลั่งในกิจกรรมที่ไม่ต้องอดทนฟืนหรือก้าวข้ามขีดจำกัดด้านร่างกายใดๆ เช่น การเต้นรำ การเล่นสนุก ทำสมาธิ ฯลฯ  

ผมตีความว่า เหตุแห่งความสุขประเภทนี้น่าจะเกิดจากการมีสมาธิแบบเพ่ง หรือสมาธิแบบหนูจับแมว  (แบบอารัมณูปนิฌาณ) เนื่องจากในช่วงที่คนเข้าใกล้ขีดจำกัดด้านร่างกาย หรือต้องเอาชนะใจตนเอง ต้องอดทนและเพ่งสมาธิไปที่สิ่งๆ ที่กำลังเกิดขึ้น จึงขอเรียกสารความสุขประเภทนี้ว่า "สารแห่งความสุขสมาธิ"

สรุปประเด็นคือ หากจะทำให้พี่ขวัญและน้องข้าวรู้สึกมีความสุขเมื่อได้มาที่บ้านสวนฯ  จะต้องสร้างบรรยากาศและกิจกรรมให้พวกเขาหลั่งสารแห่งความสุขอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ ชนิด ได้แก่ สารแห่งความสุขสำเร็จ (Dopamine)  สารแห่งความสุขสัมผัส (Oxytonin) สารแห่งความสุขสังคม (Serotonin)   และสารแห่งความสุขสมาธิ (Endorphins) (จำย่อๆ ได้ว่า DOSE) 

แนวคิดในการสร้างความสุขที่บ้านสวนขวัญข้าว

วิธีทำให้เกิดความสุขจากความสำเร็จ สำหรับผู้เริ่มดำเนินชีวิตใน "ครึ่งชีวิตแรก" อย่างพี่ขวัญและน้องข้าว น่าจะให้ปลูกต้นไม้ของตนเอง โดยให้เลือกต้นไม้เอง และจัดให้ไปดูแลเป็นระยะ ผู้ใหญ่คงต้องให้เวลากับการดูแลต้นไม้ของเด็กๆ นี้ให้โตตามวัยของเด็กๆ ให้ได้ ... คาดว่าเมื่อเขาเห็นต้นไม้เติบโต จะรู้สึกถึงความสำเร็จของตนเอง แล้วอยากมีความสุขและอยากบ้านสวน ฯ 

วิธีทำให้เกิดความสุขจากการสัมผัสและสายใยในครอบครัว คงต้องขอความร่วมมือให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งคุณตา คุณยาย พ่อ แม่ และป้าจอน ช่วยกันเชียร์ ชม และมาช่วยเด็กๆ เมื่อมาทำกิจกรรมต่างๆ ที่บ้านสวนฯ  

เมื่อเด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติ ปลูกต้นไม้ด้วยตนเอง ได้ฝึกฝืนทนจนงานสำเร็จในแต่ละกิจกรรม มีความสุขจากการหลั่งของ "สารแห่งความสุขสมาธิ" มีประสบการณ์และเรื่องเล่าเอาไปแลกเปลี่ยนที่โรงเรียนทั้งกับเพื่อนและกับครู น่าจะทำให้ "สารแห่งความสุขสังคม" หลั่งได้ 

อย่างไรก็ดี ปัญหาใหม่ และใกล้ตัวที่สุดคือ จะบำรุงดินอย่างไรให้ต้นไม้เด็กๆ เติบโต งดงาม ....  เจอกันบันทึกหน้าครับ 





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น