วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๗) "ศาสตร์พระราชา"

ครั้งที่ ๖ ของกิจกรรมการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  (๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๑) มีวัตถุประสงค์ให้นิสิตมีความรู้ความเข้าใจเรื่อง "ศาสตร์พระราชา" และ "หลักการทรงงาน" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙

ผู้เขียนเคยถอดบทเรียนการเรียนรู้เรื่อง "ศาสตร์พระราชา ศาสตร์แห่งแผ่นดิน" จากการฟังคลิปบรรยายโดย ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ไว้ที่นี่  ท่านบอกว่า ศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ก็คือ "สิ่งที่ทรงทำ คำที่ทรงสอน" แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) ศาสตร์แห่งการพัฒนา ๒) ศาสตร์ในการครองตนและครองงาน และ ๓) ศาสตร์ในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข  ศาสตร์พระราชามีที่มาจาก ๓ ส่วน ได้แก่ ๑) จากพระราชประสบการณ์ ๒) จากพระราชกรณียกิจ และ ๓) พระราชดำรัส พระบรมราโชวาท

ในเอกสารประกอบการสอน (ดาวน์โหลดที่นี่) เรานิยาม "ศาสตร์พระราชา" ตามความหมายของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิสกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ว่า ศาสาสตร์พระราชา คือ องค์ความรู้ของในหลวง เป็นความรู้ที่เป็นปัญญาจากกระบวนการทรงงานในโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ทรงช่วยเหลือปวงชนคนไทย ประกอบด้วย ๓ ส่วนหลักๆ ได้แก่ ๑) องค์ความรู้ใหม่ในรัชกาล ที่ทรงคิดค้นและสร้างขึ้น ๒) หลักการทรงงาน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นผู้รวบรวมไว้ (คลิกที่นี่) และ ๓) ขั้นตอนการทรงงาน โดยมีโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ เป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นตัวอย่างให้ได้ศึกษาอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย


๑) ตัวอย่าง "ศาสตร์พระราชา" (ตัวอย่างองค์ความรู้ใหม่ในรัชกาลที่ ๙)

ขออัญเชิญ "ศาสตร์พระราชา" ๖ ประการ ดังต่อไปนี้ มาเป็นกรณีศึกษา ให้นิสิตได้ค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง อันจะทำให้เกิดความเข้าใจ ในและนำไปใช้กับการดำเนินชีวิตของตนเองต่อไป  ได้แก่ ๑) "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ๒) เกษตรทฤษฎีใหม่ ๓) หญ้าแฝก ๔) แกล้งดิน ๕) แก้มลิง และ ๖) ฝนหลวง ดังจะอธิบายพอสังเขป ดังนี้

๑) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็น

" ปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์  ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และรวมถึงความจำเป็นที่ต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันจะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ รอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำหลักวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน  และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต  และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งทางวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี "

(คำนิยามนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) อัญเชิญมาเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบาย วางแผน และ ทำแผนปฏิบัติในทุกระดับ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา) 

สำนักศึกษาทั่วไปเล็งเห็นความสำคัญที่จะต้องสืบสานพระราชปณิธานนี้สืบไป ให้ประชาชนคนไทยทุกคนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการจัดการเรียนรู้รายวิชานี้ นิสิตควรจะเข้าไปศึกษาพระราชาดำรัสทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ที่นี่

๒) เกษตรทฤษฎีใหม่

เกษตรทฤษฎีใหม่เป็นตัวอย่างของการนำ "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ไปใช้ในการทำการเกษตร ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงทำเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรไทย ... รายละเอียดเรื่อง เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นเนื้อหาในบทเรียนต่อไปของรายวิชานี้

๓) หญ้าแฝก

ก่อนที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ จะทรงพระราชทานแนะนำ นักวิชาการเข้าใจว่า หญ้าแฝกเป็นวัชรพืช ทรงศึกษาทดลอง สาธิต แสดงให้เห็นว่า หญ้าแฝกไม่ใช่วัชรพืช แต่เป็นหญ้าที่มีประโยชน์ในการพัฒนาดินอย่างยิ่ง ทรงเรียกว่า "หญ้ามหัศจรรย์" ด้วยลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกที่มีรากยาวหลายเมตรหยั่งลึกลงในดิน จึงช่วยอุ้มน้ำรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดิน แก้ปัญหาพื้นที่ดินทราย เป็นแหล่งเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลายอินทรีย์วัตถุทำให้ดินทำให้ดินดานกลายเป็นดินร่วน เมื่อนำมาปลูกเรียงเป็นแถวกั้นแนวทางน้ำไหล จะเป็นเหมือนกำแพงกั้นการพลังทลายของดิน ลักษณะการเจริญของรากหญ้าแฝกที่ไม่แผ่ขยายไปด้านข้าง ทำให้สามารถปลูกสลับ สับ แซม หรือปลูกรวมกับพืชหลักโดยไม่วัชรพืชแต่อย่างใด

(ต้นพันธุ์หญ้าแฝกเตรียมแจกจ่ายให้เกษตรกร ของกรมพัฒนาที่ดิน อ.เมือง จ.มหาสารคาม)

ผู้สนใจสามารถสืบค้นและศึกษาได้ง่าย โดยเฉพาะจากเว็บไซต์ของ กปร. (ที่นี่) และหากต้องการจะทดลองปลูกด้วยตนเอง ก็สามารถติดต่อขอรับได้ที่งานส่งเสริมของกรมพัฒนาที่ดินใกล้บ้านได้ไม่ยากเลย

๔) แกล้งดิน 

การแกล้งดิน คือวิธีการแก้ปัญหาดินเปรี๊ยวหรือดินเป็นกรด มีสารกัมมะถันมากเกินไป ซึ่งในประเทศไทยมีประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ ไร่ (เฉพาะจังหวัดนาราธิวาส มีพื้นที่ดินเปรี๊ยวถึง ๓๐๐,๐๐๐ ไร่) โดยใช้วิธีการจัดการน้ำเพื่อล้างความเปรี้ยวของดิน .... นิสิตผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดได้จากเว็บไซต์ของ กปร. ที่นี่

ในฤดูฝนที่มีน้ำขัง สารไพไรต์ในดินจะลายในน้ำ และเมื่อน้ำแห้งลงในหน้าแล้ง สารนั้นทำปฏิกิริยากับอากาศเกิดเป็นดินเปรี๊ยวหรือดินเป็นกรดที่มีกัมมะถันปริมาณมาก ทำให้ไม่สามารถปลูกพืชได้ ทรงมีพระราชดำริให้ "แกล้งดิน" โดยผันน้ำเข้าและออก ให้เหมือนว่าดินได้ผ่านหน้าฝนและหน้าแล้งสลับไปหลายครั้งในหนึ่งปี (สี่รอบ) ทำให้สารกัมมะถันก็ถูกล้างออกไป พร้อมๆ กับการแก้ไขควาเป็นกรดของดินด้วยปูนขาว ... คลิบวีดีโอที่อธิบายเรื่องนี้ได้สั้นกระทัดรัดและดีมากๆ อยู่ที่นี่ 

๕) แก้มลิง

ทรงมีพระราชดำริถึงลิงเมื่อได้รับกล้วยคราวละมากๆ ลิงจะปลอกเปลือกแล้วเก็บกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มจนกว่าจะหมดหรือเต็มกระพุ้งแก้ม ก่อนจะนำออกมาเคี้ยวกินในภายหลัง ทรงใช้แนวคิดนี้ในการแก้ปัญหาอุทกภัย ทรงดำริให้ทำโครงการแก้มลิง จัดหาพื้นที่รับน้ำฝนชั่วคราว ก่อนจะระบายน้ำลงทะเลในภายหลัง ... ให้นิสิตศึกษาจากเว็บไซต์ กปร. ที่นี่ 

๖) ฝนหลวง

พระราชดำริ ฝนหลวง คือ การศึกษา วิจัย และพัฒนา การทำฝนเทียม เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างได้ผล  และได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่เรียกว่า "SUPPER SANDWICH TECHNIQUE" ทรงสรุปขั้นตอนโดยมีภาพการ์ตูนประกอบ และพระราชทานให้เป็นตำราฝนหลวง  ศึกษารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ที่นี่

๒) หลักการทรงงาน

หลักการทรงงานที่ กปร. เป็นผู้รวบรวมและเผยแพร่ ๒๓ ข้อ ให้นิสิตคลิกที่นี่ เพื่อศึกษาแต่ละข้อให้เข้าใจ ... กิจกรรมการเรียนการสอนในวันนี้ ได้กำหนดให้แต่ละกลุ่มนิสิตเลือกหลักการทรงงานที่ประทับใจที่สุด แล้วสืบค้นและเขียนสรุปลงในกระดาษบรู๊ฟ

(ขออภัยผู้อ่าน จำเป็นต้องใส่ภาพไว้ที่นี่ เพื่อใช้ในการตรวจสอบการเข้าร่วมกิจกรรมกับนิสิต)















สังเกตกว่า นิสิตหลายกลุ่มเลือกหลักการทรงงานเหมือนกันหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ "การพึ่งตนเอง" "ระเบิดจากภายใน" "ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ"

๓) ขั้นตอนการทรงงาน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีวิธีการทรงงาน ๕ ขั้นตอน ได้แก่ ๑) ศึกษาข้อมูล  ๒) หาข้อมูลในพื้นที่ ๓) ศึกษาข้อมูลและจัดทำโครงการ ๔) ดำเนินงานตามโครงการ และ ๕) ติดตามผลงาน  ศึกษารายละเอียดได้ที่นี่

นิสิตที่กำลังเรียนรายวิชานี้ ควรจะสามารถอธิบายความหมายและยกตัวอย่างพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับแต่ละข้อของหลักการทรงงานได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น