วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เข้าร่วมโครงการ สัมมนาบูรณาการการศึษษแบบองค์รวม เพื่อการพัฒาบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ (๔) : AAR

การไปร่วมสัมมนาครั้งนี้ เกิดสิ่งที่ดีที่ผมเห็นกับตนเอง ดังนี้
  • ได้พบและรู้จักเครือข่ายการศึกษาทั่วไป จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  และประสบการณ์จากการขับเคลื่อนของแต่ละสถาบัน
    • มข. ก้าวไปไกล ด้วยการบูรณาการโครงการสร้างผู้ประกอบการกับโครงการพัฒนาบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะการร่วมมือกับ MIT  ยกเอาสิ่งดี ๆ มาสร้างกิจกรรมสร้าง StartUp  
    • ม.นครพนม มีทีมเข้มแข็งมาก กำลังขับเคลื่อนอ่างจริงจัง ... ท่านบอกว่าสิ่งสำคัญคือการบูรณาการระหว่างการปลูกฝัง Hard Skils และ Soft Skills 
    • มรภ. ร้อยเอ็ด มีรายวิชาศาสตร์พระราชา และกำลังบูรณาการศาสตร์พระราชากับการพัฒนาชุมชน 
    • มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังปลูกฝัง "ความพอเพียง" ผ่าน กิจกรรม "หลุมพอเพียง"  ภายในมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองที่มีพื้นที่จำกัด... น่าสนใจมากครับ 
    • วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย  ปลูกฝังโดยเน้นการทำตนเป็นแบบอย่าง และบ่มเพาะด้วยความรัก ความเมตตา  ...  ท่านเป็นอาจารย์พยาบาลครับ ... ผมรู้จักอาจารย์สอนพยาบาลหลายท่าน ที่มีบุคคลแห่งความใจดี มีเมตตาแบบนี้   ผมสงสัยว่าต้องมีอะไรสักอย่างในหลักสูตรของการสร้างพยาบาล ที่ปลูกฝังให้มีจิตใจเช่นนั้น 
    • วิทยาลัยพิชญบัณฑิต ... ท่านแข็งขันถึงขั้นพร้อมที่จะเป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเครือข่ายพัฒนาบัณฑิตแบบองค์รวมหรือการศึกษาทั่วไป ... รศ.ดร.ฉลาด จันทรสมบัติ ครูอาจารย์ของคนพอเพียงนั้นเองครับ ที่เป็นผู้นำขับเคลื่อน
    • วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู  น่าจะเป็นตัวอย่างของการบูรณาการการศึกษากับการพัฒนาชุมชนได้ดีมาก ... ผมคิดว่า อาจารย์ที่กำลังทำงานกับชุมชน ต้องเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับวิทยาลัยชุมชนนี้ 
    • วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร เป็นเอีกแห่งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ท่านที่เป็นตัวแทนอยู่ในกลุ่มย่อยที่ผมอยู่พอดี จึงมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกับท่าน ... (แต่ก็เสียดายที่เวลามีจำกัด อย่างไรก็ดี เราได้แลกเปลี่ยนเบอร์กันไว้แล้ว)
  • ได้เห็นต้นแบบของนักเรียนรู้  รศ.ดร.สุภาพ ณ นคร ผมสังเกตว่า ท่านอยู่ร่วมวงตลอด ๒ วัน ทั้งทำหน้าที่ช่วยเป็นฟากลุ่มย่อย ทั้งคอยสรุปและกำกับให้ทิศทางและเชียร์เด็กรุ่นหลัง ให้มีพลังก้าวต่อไป ... ท่านเป็นแบบอย่างของการทำอะไรด้วยใจ ท่านเป็นต้นแบบแห่งการคิดแบบองค์รวมอย่างแท้จริง สำนักศึกษาทั่วไปมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ท่านช่วยหลายอย่างจนเดินทางมาถึงทุกวันนี้


  • ผมฟังว่า ต่อไปอาจจะไม่มีเวทีดี ๆ แบบนี้ เพราะทาง สกอ. จะส่งตรงงบประมาณไปยังมหาวิทยาลัย (ซึ่งคงไปไม่ถึงสำนักศึกษาทั่วไป)  จึงลุกขึ้นเสนอตอนท้ายการประชุม กับเจ้าหน้าที่ของ สกอ. ที่ท่านมาร่วมวงด้วย  โดยฝากท่านว่า อยากให้มีเวทีกลางแบบนี้อีก เปิดโอกาสให้คนศึกษาทั่วไป นำเอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยนกัน แบบไม่ต้องแข่งขัน หรือวิ่งตามความโลภแบบฝรั่งที่ทุกมหาวิทยาลัยกำลังดิ้นรน 
สุดท้ายนี้ขอจบด้วยกลอนของ ท่านอาจารย์สุภาพ ณ นคร จากกลุ่มย่อยที่ ๓ ที่ขับขานในวงโดย อ.มดเอ็กซ์ จาก ม.นครพนม  ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมและเชียร์ดังสนั่นห้องไปเลยครับ 



(ขอแก้ที่ผมพิมพ์ผิดนิดเดียวครับ  เปลี่ยนจาก ชีวิตเอย เป็น เลี้ยงชีพเอย ในบรรทัดสุดท้าย)

ขอจบบันทึกการเข้าร่วมประชุมตรงนี้ครับ  โอกาสหน้าหวังว่าจะเจอทุกท่านอีกครับ 

เข้าร่วมโครงการ สัมมนาบูรณาการการศึษษแบบองค์รวม เพื่อการพัฒาบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ (๓) : การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ช่วงสาย ๆ ของวันที่ ๕ ก.ค. ๖๒ เป็นช่วงเวลาที่ผมรอคอยมากที่สุดสำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เป็นการเปิดเวทีให้แต่ละมหาวิทยาลัยออกไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ดี (Good Practice) ของตนเอง  เสียดายที่มีเวลาเพียงมหาวิทยาลัยละ ๑๐ นาที เท่านั้น  ผมนำเรื่องขับเคลื่อนการศึกษาทั่วไป ไปนำเสนอ โดยตั้งชื่อว่า "การศึกษาทั่วไปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"


ความจริง การศึกษาทุกระดับ ทุกหลักสูตร ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษา สาขาวิชาชีพ หรือการศึกษาอะไรก็ตาม ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด หลายคนคงนึกถึง SDGs (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ  ... ผมเสนอต่อที่ประชุมว่า นิสิตทุกคนควรจะนึกถึง SEP (Sufficiency Economy Philosophy) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะในหลวงทรงทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจนได้รับการยอมรับจากคนทั้งโลกแล้ว คนไทยทุกคนควรจะภูมิใจในเรื่องนี้ และศึกษาและนำมาปฏิบัติ

การศึกษาทั่วไป มีจุดมุ่งหมายเพื่อ สร้างบัณฑิตให้เป็นคนที่สมบูรณ์ เป็นผู้มีจิตใจสูง (ดังคำสอนของหลวงพ่อสุบรรณ์ ท่านเทศน์ไว้ในบันทึกแรกที่นี่) การศึกษาเพื่อพัฒนาสู่เป้าหมายนี้ จำเป็นต้องจัดการศึกษาแบบองค์รวม (Horistic Educaiton)  รวมทุกสิ่งอย่างมาสู่ก้าวย่างแห่งการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ซึ่งอาจแบ่งเป็น ๓ แนวทางการจัดการเรียนรู้ดังภาพ



  • มีวิาที่เน้นให้นิสิตรู้รอบ รู้กว้าง รู้โลก รู้สังคม  แม้จะเป็นการสอนเชิงบรรยายแบบถ่ายทอดความรู้ แต่ก็เน้นไปที่องค์ความรู้ที่จำเป็นที่นิสิตทุกคนควรต้องรู้   
  • รายวิชาส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การฝึกทักษะ โดยเฉพาะจริยะทักษะ (Soft Skills) ซึ่งจัดการเรียนรู้ แบบ Active Learning หลากหลายรูปแบบ ทั้ง 
    • Project-based Learning  การเรียนรู้บนฐานโครงการ  เรียนรู้ผ่านโครงการ เช่น รายวิชาภาวะผู้นำ รายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 
    • Problem-based Learning  การเรียนบนฐานปัญหา หรือ PBL  เรียนรู้ผ่านโครงการหรือโครงงานแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในชุมชน 
    • Service-based Learning การเรียนรู้ผ่านการบริการสังคม เช่น รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ฯลฯ 
    • Community-based Learnng การเรียนรู้ผ่านชุมชน ใช้ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้  เช่น รายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน (ของบางสาขา/หลักสูตร) 
    • Activity-based Learning การเรียนรู้โดยใช้กิจกรรมในชั้นเรียน เช่น รายวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ฯลฯ 
  • รายวิชาเพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายใน (Transformative Learning)  เน้นไปที่การเรียนรู้ฐานใจ เช่น รายวิชาศิลปะวิจักษ์ รายวิชาความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ เป็นต้น 
สำนักศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คิดอ่านเรื่องนี้มาตั้งแต่ ๔ ปีที่แล้ว เรากำหนดคุณลักษณะของบัณฑิตที่คาดหวังไว้ ๙ ประการ ดังรูป 



  • ทั้ง ๙ ข้อนี้ คือคุณลักษณะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ของ มมส.  แต่ละข้อจะมีรายวิชาที่เป็นจุดเดน้นฝึกฝนให้นิสิตพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายแต่ละข้อนั้น ๆ 


  • ภาพด้านบนนี้  คือรายวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรหมวดวิชาศึกษาทั่วไป พ.ศ.๒๕๕๘  ที่นำมา Mapping กับ เป้าประสงค์ ๙ ประการข้างต้น  
  • ดูเหมือนจะมีรายวิชาจำนวนมาก แต่จริง ๆ แล้ว  มีวิชาในหมวดหลักอยู่เพียง ๒๑ วิชา เท่านั้น นอกนั้นเป็นวิชาเลือก (ใช้อักษรสีน้ำเงิน) ที่ให้เลือกเรียนเพียง ๑ วิชาเท่านั้น  
  • จุดเด่นของหลักสูตรนี้ จึงเป็นเอกภาพในการขับเคลื่อนและปลูกฝังนิสิตอย่างมีทิศทาง 
  • ขอยกตัวอย่างบางรายวิชาต่อไปนี้ ที่เราทำกันมาอย่างต่อเนื่อง


  • รายวิชา ๐๐๓๕๐๐๑ หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน  เป็นวิชาบังคับเลือก (มีเพียง ๑ วิชาในกลุ่มสหศาสตร์ ต้องเลือกเรียน ๑ วิชา)  เพื่อมุ่งส่งเสริมการปลูกฝังอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย  
  • ประมาณดั่งว่า  ผู้ที่จบการศึกษามหาวิทยาลัย เป็นบัณฑิต จะคิดและทำอย่างผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน 


  •  คำนี้ยิ่งใหญ่ คนที่อ่านแล้ว ฟังแล้ว รู้สึกว่าสูงเกิดไป  นั่นไม่ใช่เพราะเป้าหมายที่ห่างไกล แต่เป็นเพราะใจของผู้อ่านเองที่ยังไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถไปใกล้ได้เพียงพอ 


  • ผมนำเสนอแผนการสอนของรายวิชานี้คร่าว ๆ ทั้ง ๑๗ สัปดาห์ และบอกว่า หากสนใจสามารถไปค้นอ่านได้ทางอินเตอร์เน็ต  (เช่น ที่นี่ เป็นต้น) 
  • ผมเคยถอดบทเรียนความสำเร็จของคณะต่าง ๆ ไว้  ลองค้นหาได้ เช่น คณะพยาบาลศาสตร์ ที่นี่  คณะศึกษาศาสตร์ที่นี่ เป็นต้น 


  • ทุก ๆ ปลายภาคเรียน รายวิชานี้จะจัดมหกรรมนำเสนอผลงานและผลการเรียนรู้ เพื่อให้นิสิตจากทุกคณะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน  


  • วิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้  เป็นวิชาฐานกิจกรรมที่เน้นการเรียนรู้จากภายในจิตใจ โดยใช้กิจกรรมจิตตปัญญาศึกษาเป็นเครื่องมือ  ซึ่งต้องใช้ห้องเรียนที่นิสิตสามารถยืน เดิน นั่ง นอน ได้สะดวก  (สนใจอ่านต่อที่นี่ครับ)


  • กิจกรรมสุนทียสนทนา  ที่นิสิตกลุ่มละ ๔ คน หันหน้าหากัน ฟังกันอย่างลึกซึ้ง ตั้งใจ ชื่นชม ไม่ตัดสิน  เป็นกิจกรรมที่เราทำกันเป็นปกติในรายวิชานี้  


  •  วิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  สอนเกี่ยวกับความเป็นมาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ท่านใดสนใจดาวน์โหลดเอกสารประกอบการสอนได้ที่นี่


  • ความพอเพียง คือ ความรู้กับคุณธรรม หากบุคคลใดมีนิสิตแห่งการใช้ความรู้ และอยู่อย่างมีคุณธรรม ก็ถือว่าเป็นบุคคลพอเพียงแล้ว  
  • ความพอเพียง ถ้าเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จะเห็น ก็คือความสมดุลและมีภมูิคุ้มกันพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกได้   หรือก็คือ จะเกิดความยั่งยืนขึ้นนั่นเอง 
  • ดังนั้น SDGs ก็คือเป้าหมายของการนำ SEP ไปปฏิบัตินั่นเอง 
  • รายวิชานี้จึงเป็นวิชากำลังสำคัญหลักอย่างหนึ่งของการศึกษาทั่วไป ที่ทุกมหาวิทยาลัยควรจะมี 


  • ทุก ๆ ปลายภาคเรียน รายวิชานี้ จะมีการจัดเวทีนำเสนอผลงาน ให้นิสิตนำผลงานในโครงการธุรกิจพอเพียงมานำเสนอ  ... ซึ่งกำลังพัฒนาต่อไป เป็น "ตลาดนัดพอเพียง" ในไม่ช้านี้  
  • ลองชมผลงานบางส่วนของนิสิตจากรายวิชานี้ คลิกที่นี่ 


  • วิชาสุดท้ายที่ผมนำเสนอต่อที่ประชุมสัมมนา (ด้วยเวลาจำกัดเพียง ๑๐ นาที) คือ รายวิชาภาวะผู้นำ   เป็นวิชาที่จัดการเรียนการสอนแบบ PBL โดยเฉพาะการเขียนโครงการ เราเน้นให้นิสิตเขียนโครงการเป็น และเน้นให้ได้ลงมือปฏิบัติอยู่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นหลัก (ท่านใดสนใจคลิกค้นอ่านได้ที่นี่)


  • ตัวอย่างนี้ เป็นโครงการบำเพ็ญประโยชน์ของนิสิตกลุ่มหนึ่ง  พวกเขาสร้างโครงการระดมกำลังนิสิตจิตอาสาจากคณะต่าง ๆ  มาร่วมกันพัฒนาตลาดน้อย ล้างทำความสะอาดพัดลม  ร่วมกับกองอาคารสถานที่  
ขณะที่ผมเขียนบันทึกนี้ โลกก็กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แต่อย่างไรก็ไม่น่ากลัวเท่ากับ ความโลภของคนที่เติบโตรวดเร็วกว่า  บางอันกลายมาเป็นนโยบายที่กำลังจะถูกใช้ขับเคลื่อนประเทศ  ผมมีความเห็นว่า การศึกษาทั่วไป คือความหวังที่จะฉุดรั้งหรือทำลายความโลภและความเห็นแก่ตัวในตน ในคนที่จะเป็นบัณฑิตต่อไปได้ ไม่มากก็คงไม่น้อย .....

ท่านใดที่อ่านมาถึงตรงนี้ อยากจะเป็นเครือข่ายการศึกษาทั่วไป เขตพื้นที่อีสานตอนบน เชิญมาคุยลุยกันทางไลน์ครับ


วันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เข้าร่วมโครงการ สัมมนาบูรณาการการศึษษแบบองค์รวม เพื่อการพัฒาบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ (๒) : "ชีวิตในยุค 5G"

ช่วงที่สองของโครงการฯ เป็นการบรรยายเชิงรุก (Active Lecture) ของ รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในหัวเรื่อง " การพัฒนาทักษะนักศึกษา เพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑" .... ใครสนใจ ดาวน์โหลดสไลด์ขท่านได้ที่นี่ ฟังเสียงบรรยายได้จากไฟล์เหล่านี้  ไฟล์ที่ ๑ และ ไฟล์ที่ ๒   ท่านบรรยายได้ดีมาก ๆ โดยเฉพาะใครที่ยังไม่ได้คิดติดตามเรื่องนี้มาก่อน

สำหรับผมแล้ว ได้เรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับวิธีการนำเสนอของท่าน เป็นการบรรยายประกอบการสาธิต และสื่อเคลื่อนไหว ทำให้ผู้ฟังเห็นชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายยิ่ง  ตอนท้าย ๆ ของการบรรยาย ท่านเปิดคลิปลักษณะชีวิต 5G ดังคลิปด้านล่างนี้


ท่านเห็นอะไรในคลิปนี้ครับ

  • ทีวี อินเตอร์เน็ตทีวี อยู่ในแว่นตา  และแว่นตาสามารถเปลี่ยนโหมดเป็นแว่นตาธรรมดาได้ 
  • กระจกรถยนต์ จะเป็นจอแสดงผลต่าง ๆ  
  • รถยนต์ขับเอง ไม่ต้องมีคนขับ  เพราะเชื่อมต่อ GPS ได้ แม่นยำ สั่งการได้รวดเร็ว ปลอดภัยกว่าคนขับเอง 
  • เกษตรกรใช้โดรนช่วยทำการเกษตร 
  • ไม่ต้องไปหาหมอ  สามารถพบหมอได้ทางอินเตอร์เน็ต หมอคำปรึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต  
  • กระจกเงาส่องแต่งหน้า  ทำหน้าที่เป็นจอแสดงผลได้ 
  • คนคุยกับรถยนต์ได้ สั่งงานรถยนต์ได้ สั่ง ... ทุกอย่างสั่งงานด้วย AI
  • ร้านขายของไม่ต้องมีคนขาย อยากได้อะไรหยิบใส่กระเป๋าได้เลย  เดินผ่านประตูร้าน ทุกอย่างจ่ายผ่านเงินดิจิทัลเรียบร้อย  โดยดูข้อมูลจากนาฬิกาข้อมือ 
  • ต่อไปไม่จำเป็นต้องเรียนภาษา  เพราะนาฬิกาและหูฟัง สามารถจะรับภาษาหนึ่งแล้วแปลเป็นอีกภาษาหนึ่งได้  และสามารถแปลภาษาที่เราพูด บอกออกเป็นอีกภาษาหนึ่งได้  
  • สามารถสื่อสารข้ามโลกได้หลากหลายรูปแบบและรวดเร็วมาก  เช่น  สามารถจะใช้กล้องสามมิติบินได้ เป็นเหมือนโดรนเล็ก ถ่ายภาพ ๓๖๐ องศา ส่งภาพเสียงผ่านไปยังคนที่อยู่ไกลคนละฝั่งโลก  
  • คอนแทคแลนส์ ไม่เป็นเพียงปรับสายตาได้เท่านั้น แต่ยังเป็นจอแสดงผล แค่กระพริบตา ก็รับภาพเสียงที่มาจากอีกฝั่งโลกได้ 
  • ไม่เพียงแต่เห็นหน้า ฟังเสียงเท่านั้น แต่ยังเห็นเป็นคนเป็นตัว ๆ จากโฮโลแกรมด้วย  นักดนตรีหลายคน สามารถมาเล่นดนตรีเป็นวงเดียวกันผ่านระบบโฮโลแกรมได้ 
อาจารย์โชว์ความสามารถของระบบ 5G ด้วยสไลด์นี้ครับ 


ท่านบอกว่า ปีหน้า (2020)  ระบบ 5G ซึ่งขณะนี้จีนเป็นผู้นำโลก จะเข้ามาในชีวิต  สังเกตที่ความเร็วของการรับส่งข้อมูลที่จะเร็วจากเดิมเป็นแสนเท่า  เขาจะสามารถสร้างเซ็นเซอร์รับส่งข้อมูลไว้กับอุปกรณ์ทุกอย่างรอบ ๆ ตัว  นับตั้งแต่เสื้อผ้า นาฬิกา รถยนต์ พัดลม ตู้เย็น หลอดไฟฟ้า ทีวี ถังขยะ ฯลฯ  แล้วท่านก็สาธิตการเชื่อมต่อจอมือถึอขึ้นจอใหญ่ ให้ทุกคนได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดที่คอนโดฯ ....ฮา... 

ผมสังเกตว่า ในใจหลายคนคงจะฮือฮาทีเดียว .... แต่สิ่งที่ผุดในใจผมกับเป็นประโยคทองของ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤษฎากร ที่ว่า "เงินทองของมายา... ข้าวปลาสิของจริง" ....

ท่านอธิบายได้ดีและเห็นภาพมากว่า แต่ละเทคโนโลยีจะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของคน(เมือง) อย่างไร โดยให้ตัวอย่างของเทคโนโลยีต่อไปนี้แต่ละอัน ๆ


ขอแนะนำว่า ท่านใดที่ไม่เคยฟังท่านบรรยาย ก็หาโอกาสลองไปฟังดูครับ แต่ถ้าอยากเรียนรู้แบบประหยัดก็เปิดพาวเวอร์พอยท์ท่านและฟังคลิปเสียงบรรยาย ท่านบอกตอนท้ายบรรยายว่าท่านจะเผยแพร่แชร์ให้  ... แสดงว่าท่านไม่ได้หวงดอก .... แต่ผมว่าไปฟังเองท่าจะดีกว่า....

ยิ่งศึกษาและติดตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากเท่าใด ผมยิ่งเห็นความสำคัญที่ในหลวง ร.๙ ได้ทรงสอนไว้ ... ผมคิดว่า ประเทศเราอาจจะหลุดออกจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สมดังที่ผู้นำส่วนใหญ่ในประเทศนี้กำลังจะพาไป แต่ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า เราจะไม่มีวันกลายเป็นประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีเหล่านั้น  เราจะเป็นประเทศที่ถูกหลอกให้บริโภคอย่างนี้ตลอดไป  และที่เจ็บใจทุกครั้งที่สุด คือ เราเป็นประเทศที่ถูกหลอกให้เป็นทาสผลิตอาหารให้ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยีกินอยู่อย่างสบาย .....

ในหลวงสอนเราว่า  ประเทศเราเป็นประเทศที่มั่งคั่งและทำให้พออยู่พอกินได้ไม่ยากเลย ... ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ยักษ์ที่ท่านว่า  อย่าไปดิ้นรนตั้งเป้าจะเอาความร่ำรวยเลย ไม่ต้องเป็นประเทศร่ำรวย จะรวยไปไหน ไม่ต้องไปสนใจกับดักรายได้ปานกลางอะไรหรอก  นั่นไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือความเหลื่อมล้ำต่างหาก ....

ผมคิดว่า มีผู้ใหญ่หลายคนรู้เรื่องนี้ดี และกำลังขับเคลื่อนอะไรบางอย่าง ให้เรากลับมาเดินถูกทางตามที่พ่อหลวงสอนไว้ .... พออยู่ พอกิน ไม่มีใครอดอยากในประเทศสยามนี้ ....

ผมก็กำลังพยายามขับเคลื่อนเต็มกำลังของตนเองเช่นกัน....

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

เข้าร่วมโครงการ สัมมนาบูรณาการการศึษษแบบองค์รวม เพื่อการพัฒาบัณฑิตที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ ๒๑ (๑) : "บัณฑิตคืออะไร"

วันที่ ๔-๕ กรกฎาคม ๒๕๖๒ มีโอกาสมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน  (ดาวน์กำหนดการได้ที่นี่)

ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่จะมาฟังการบรรยายของ พระอาจารย์สุบรรณ์ สิริธโร วัดถ้ำผาเกิ้ง อำเภอเวียงเก่า จังหวัดดขอนแก่น ในหัวเรื่อง "การพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและมีคุณธรรม"  จับประเด็นมาแลกเปลี่ยนท่านสด ๆ  ดังต่อไปนี้ครับ

  • ตอนนี้คุณภาพของมนุษย์ลดลง จนเกือบจะหมดแล้ว ท่านไปเทศน์ที่กรุงเทพฯ ... หามนุษย์แทบจะไม่เจอ 
  • ผู้นำที่ดี คือ ผู้นำที่นำแล้วพาเขาไปสู่ความสุข ความเจริญ และสำเร็จประโยชน์ในชีวิต
  • ผู้นำที่ดี ต้องมีคุณภาพสูง  เรียนรู้และเข้าถึงในการปฏิบัติของตนเอง สัมผัสถึงความรู้สึกนั้น ๆ จริง ๆ 
  • ถ้าผู้นำที่ไม่ได้ปฏิบัติด้วยตนเอง มาไปนำคนอื่น มันจะรู้สึก "เบา" ไม่เข้าถึง แต่ถ้าเข้าถึง คนฟังจะรู้สึกจริงจังขึ้นมา 
  • ตัวอย่างเช่น พระ ... พระถ้าไม่ปฏิบัติ มีแต่ปริญัติ การไปบรรยาย ก็ไม่รสชาติใด ๆ  
  • เหมือนเราไปเจอเสือในกรง กับการไปเจอเสือในป่า ความรู้สึกจะแตกต่างกันมาก... ฉันใดก็เหมือนกัน คุณภาพของมนุษย์ลดลงเยอะมาก 
  • คนอยู่ในขอนแก่นล้านสามแสนคน ก็แทบจะหามนุษย์ไม่ได้เหมือนกัน 
  • ความเป็นมนุษย์ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน ตรงที่ มีสภาวะที่เจริญได้ เป็นภูมิอันประเสริฐ 
  • มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ... พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า พวกเธอทั้งหลายจงถางป่า แต่อย่าตัดต้นไม้  ให้อากาศเตียนโล่ง อากาศระบาย ไม่มีสัตว์ร้าย อยูได้มีร่มเงา 
  • ทรงเปรียบร่างกายของมนุษย์เหมือนป่า มนุษย์ควรจะถากถางป่า ให้เหลือแต่ต้นไม้ใหญ่ เอาสิ่งที่ไม่ดีออก 
  • บัณฑิตคืออะไร.... ท่านถามให้คนในห้องประชุมตอบ 
    • ผมตอบในใจว่า  บัณฑิต คือ มนุษย์ที่สมบูรณ์ นั่นเองครับ  คือมีปัญญา รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้กาลเวลา รู้บุคคล รู้ชุมชน
  • ท่านเฉลยด้วยการเล่าเรื่อง .... แล้วสรุปว่า  มนุษย์มีใจสูง 
  • ใจสูงนี่เอง คือ คุณภาพที่ท่านหมายถึง  วิชาต่าง ๆ เป็นเพียงวิชาหากินเท่านั้นเอง 
  • ไม่เคยเห็นหมาตัวไหนบอกว่า ฉันยังไม่พร้อมแล้วฆ่าลูกตนเอง  แต่คนมี คลอดลูกออกมา แล้วบอกว่า ฉันยังไม่พร้อม  ฆ่าลูกตนเอง ....   
  • ผู้มีใจสูง จะเคารพบูชาบิดามารดา ผู้เป็น....
    • เป็นพระอรหันต์ของบุตร ท่านเป็นผู้ให้
    • เป็นพรหมของบุตร ท่านให้มีเมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา 
    • เป็นเทวดาของบุตร  ท่านคอยเป็นห่วงเป็นใยตลอด
  • ผู้เคารพดูแลบิดามารดา จะได้อานิสงฆ์ 
    • ได้เกิดในทิพย์วิมาน 
    • ได้เกิดในสกุลของกษัตริย์ พระราชา 
  • ผู้มีใจสูง จะรู้จักอารมณ์ ไมเป็นทาสของ ...
    • ความโกรธ 
    • ความโลภ 
    • ความหลง 
  • ผู้มีใจสูง จะรู้จักให้อภัย ไมถือโกรธ พยาบาท 
  • ผู้มีใจสูง จะรู้สึกยินดี พอใจในความสำเร็จของผู้อื่น 
  • ผู้มีใจสูง รู้จักคุณของครูอาจารย์ 
  • ใครยังไม่เป็นผู้มีใจสูง ถือว่ายังไม่ใช่บัณฑิต ... อย่าเพิ่งไปหาคู่แต่งงาน มีครอบครัว
  • ผู้มีใจสูง ให้...
    • เรียนรู้เพื่อ ฉลาดกับตนเอง รู้จักตนเอง ... เราจะรู้จักคนอื่นทั้งหมด 
    • ถ้าเรารู้จักตนเอง ทุกคน ครอบครัว สังคม ชุมชน จะได้ประโยชน์ 
  • มนุษย์สมบัติ มี ๒ ประการคือ ทาน และ ศีล 
  • การคิดเรื่องดี ๆ  จิตจะเป็นกุศล  แต่ถ้าลงมือทำ ทำทาน จะเกิดกุศล  เปรียบการคิดเหมือนเอามีดฟันน้ำม เห็นเป็นรอย แต่ยกมีดออกก็เป็นน้ำเหมือนเดิม ...ต้องทำทานการกุศลจึงเกิด 
  • ศีล ๕ คือ ตัวเจตนาคือตัวศีล  ตั้งใจเจตนา ....
    • ไม่ทำชีวิตผู้อื่นหรือสัตว์อืนให้ตกล่วง
    • ไม่ลักขโมย
    • ไม่ประพฤติผิดในกาม
    • ไม่พูดปด ส่อเสียด หยาบ เพ้อเจ้อ 
    • ไม่ดื่มสุราเมรัย
  • การจะเป็นมนุษย์ผู้มีใจสูง ต้องฝึก ต้องหัด  
  • พระอาจารย์บวชมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ รวมตอนนี้ ๓๕ พรรษา  ... นับแล้วเป็นเวลาเพียงนิดเดียว สั้นมาก 
  • มนุษย์มีใจสูง จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ด้วย  พ่อแม่ พี่น้อย ครอบครัว ชุมชน สังคม รวมถึงในภพภูมิอื่นด้วย เปรต ผี เทวดา ฯลฯ 
  • สวรรค์สมบัติ มี ๒ อย่าง  คือธรรมของเทวดา ได้แก่ หิริ โอตัปปะ  ได้จากการบำเพ็ญสมบัติของมนุษย์จนเป็นนิสัย 
  • ดังนั้น การดำเนินชีวิตไปสู่ความเจริญนั้น เพียงวิชานั้นไม่เพียงพอ  การศึกษาต้องพาให้นิสิตมองหาประโยชน์ที่คนอื่น ๆ จะได้จากตนเอง และต้องเข้าถึงด้วยตนเอง 
  • ความสุข ของมนุษย์ที่มีใจสูง  จะเป็นความสุขที่เกิดจากความสมดุล 
  • บันฑิตควรได้ฝึกให้ใจ เป็นผู้รู้ อารมณ์ทั้งหลายเป็นผู้ถูกรู้  ท่านสอนให้มีสัมมาสมาธิ ใจตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์ 
  • เมื่อฝึกไปถึงสูงสุดแล้ว จะเข้าไปสู่การเป็นอรหันต์ 
  • พระพุทธเจ้าตรัสว่า ครอบครัวใดมีศีล ๕ จะมีผู้มีบุญมาเกิด พระโพธิสัตว์ซึ่งสามารถเลือกตระกูลเกิดได้ จะมาจุติ ด้วยจะมีโอกาสได้ยิน ได้เห็น เพราะร่างกายมนุษย์ที่หยาบ จะทำให้ลืมทุกอย่างในภพก่อน 
  • มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ เพราะ  สามารถบำเพ็ญและพัฒนาตนเองไปสู่เทวดา พรหม และอรหันต์ได้ 
  • เราเกิดมาชาตินี้ เราจะได้รับประโยชน์จากร่างกายของเราหรือไม่  
  • ทุกคนจะต้องพัฒนาตนเองให้ได้เป็นบัณฑิต ต้องปฏิบัติ เรียนให้รู้แล้วลงมือปฏิบัติ ปฏิบัตเพื่อการบรรเทาทุกข์ 
  • ให้ทุกคนหันมาดูตนเอง  โอปณญิโก น้อมมาดูตนเอง ..... 
ท่านเล่าว่า ตั้งใจจะบวชเพียง ๗ วัน เพื่อทดแทนบุญคุณพ่อ แต่วันสุดท้ายทำสมาธิจิตรวมใหญ่จึงได้กำลังจึงไม่สึกเลยตั้งแต่นั้นมา  ท่านเล่าประสบการณ์ในสมาธินั้นให้เราฟังด้วย  (ผมอัดคลิปเสียงไว้ ท่านใดสนใจ เชิญดาวน์โหลดที่นี่ครับ)




วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ๒-๒๕๖๑ (๓) "Transformative Learning"

วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ม.ใหม่ สำนักศึกษาทั่วไป จัดเวทีพัฒนาอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ และอาจารย์ที่สนใจมาจากหหลากหลายคณะ  มีอาจารย์เข้าร่วมตอนเปิดเวทีถึงกว่า ๓๐ ท่าน  ....  เนื่องจากระยะเวลาน้อยเกินไป  จึงอยากจะสรุปความเข้าใจเรื่อง "Transformative Learning"  มาแลกเปลี่ยนกับอาจารย์ที่เข้าร่วมและผู้สนใจอีกครั้งหนึ่ง เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อไป



ผมบันทึกการอบรมพัฒนาอาจารย์เรื่องเดียวกันนี้เมื่อปีก่อนไว้ที่นี่  ความจริงอาจารย์ผู้สอนรายวิชาศึกษาทั่วไป ควรจะทำความเข้าใจกับสิ่งที่ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา มาบรรยายที่ มมส. เรา ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ Transformative Learning นี้มาก ๆ  (ผมบันทึกไว้ที่นี่และที่นี่) ... ขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ดังภาพล่างนี้ 


พัฒนาการด้านการศึกษาหรือการเรียนรู้ อาจจัดแบ่งออกได้เป็นยุค ๆ   ได้แก่  
  • ยุคแห่งการเรียนรู้แบบถ่ายทอดความรู้ (Informative Learning)  ที่เน้นการส่งผ่านความรู้ เรียนรู้แบบถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคน (Passive Learning) สิ่งที่สำคัญอันเป็นเป้าหมายของยุคนี้คือ "ความรู้" คนจะสนใจ 
  • ยุคของการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทักษะความสามารถ (Formative Learning)  จัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนมีส่วนร่วม และโดยเฉพาะการฝึกฝนให้เกิดทักษะด้านการอาชีพ (Hard Skills) 
  • ยุคของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในอย่างยั่งยืน (Transformative Learning) ที่เน้นที่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ เจตคติ เปลี่ยแปลงตนเอง  โดยเน้นการเผชิญกับสิ่งต่าง ๆ อย่างใคร่ครวญด้วยใจ ผ่านการสะท้อนการเรียน (Learning Reflection) ตนเอง หรือเฝ้ามองตนเอง 
การจัดการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงภายใน มีแนวปฏิบัติสำคัญ ๆ หลากหลาย แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดจะเน้นไปที่การสะท้อนการเรียนรู้ของตนเอง  ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น ๓ แบบ ได้แก่

  • การสะท้อนเพื่อพัฒนางงาน หรือ Reflecton for Learning  เครื่องมือที่ใช้เช่น การทำการทบทวนก่อนหลังการปฏิบัติการ BAR, AAR (ผมเขียนตัวอย่างการทำเรื่องนี้ไว้ที่นี่) ฯลฯ
  • การสะท้อนการเรียนรู้หลังกิจกรรม หรือ Reflection of Learning  โดยมุ่งไปที่การเรียนรู้ของตนเองหลังจากที่ผ่านกิจกรรมหรือทำอะไรบางอย่าง   รศ.ดร.เจริญ ไชยคำ ปรมาจารย์ด้านจัดการความรู้ท่านหนึ่ง ท่านใช้คำว่า After Learning Reflection หรือ ALR 
  • การสะท้อนการเรียนรู้ให้เกิดการเรียนรู้  หรือ Reflection as Learning  คือ ใช้กิจกรรมสะท้อนการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  เช่น การสะท้อนการเรียนรู้หเรื่องต่าง ๆ  แลกเปลี่ยนแบ่งปันกันในวงสุนทรียสนทนา ฯลฯ 
ผมสรุปตรงไว้สั้น ๆ  ดังนี้ก่อนว่า  ถ้า...
  • การสอนแบบบรรยาย ก็คือ การสอนแบบ Informative Learning 
  • การสอนฝึกทักษะ แบบฝึก โครงการ แก้ปัญหา Project-based , Problem-lbased, Work-based, Service-based, Community-based ฯลฯ เหล่านี้ทั้งหมด  คือการสอนในยุค Formative Learning ถ้ายังไม่มีการสะท้อนการเรียนรู้ที่ถูกต้อง 
  • การสะท้อนการเรียนรู้ ด้วยใจที่ใคร่ครวญ นั่นเอง ที่จะนำทำไปถึง Transformative Learning
สรุป Transformative Learning ก็คือ การปฏิบัติธรรม ด้วยกรรมกระบวนการต่าง ๆ นั่นเอง