วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๔ ความเป็นมนุษย์และการเรียนรู้ ๒-๒๕๖๑ (๑) "ห้องเรียน ๔ อริยาบท"

ปีการศึกษา ๒-๒๕๖๑ เป็นปีการศึกษาที่ ๒ ที่เราปรับเปลี่ยนสถานที่จัดการเรียนรู้มาอยู่ตึก B(408-409) (อาคารบี สำนักคอมพิวเตอร์) เป็นห้องเรียนสำหรับการจัดการเรียนรู้แบบ "๔ อริยาบท" ยืน เดิน นั่ง นอนได้ ไม่มีเก้าอี้ มีเบาะและเสื่อปูนั่ง ดังรูป







การจัดการเรียนการสอนแบบ "๔ อริยาบท" ผู้สอนต้องทำความเข้าใจและร่วมกันสร้างเงื่อนไขกับผู้เรียนตั้งแต่ต้นเทอมให้ดี เพราะนิสิตจะคุ้นชินกับการนั่งเรียนเขียนบนเก้าอี้เลคเชอร์  นั่นหมายถึงอาจารย์ผู้สอนต้องปรับวิธีการสอนไปของตนเอง มิเช่นนั้น จะได้ข้อความคอมเมนต์ของนิสิตเกี่ยวกับเก้าอี้ทันที

สำหรับผมแล้ว รายวิชานี้มีจุดเด่นประเด็นหนึ่งคืออิสระในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้สอน เรามีกิจกรรมหลัก ๆ เขียนเป็นแนวทางไว้ แต่อาจารย์แต่ละท่านสามารถออกแบบกิจกรรมเพิ่มเติมได้ ตราบใดที่มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ผลการเรียนที่คาดหวังของรายวิชา

ขอยกตัวอย่าง ...  ขอแลกเปลี่ยน... นำเอาบางกิจกรรมมาแบ่งปัน เผื่ออาจารย์ท่านอื่น ๆ จะนำไปใช้หรือให้คำแนะนำ  และเพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าเราจัดกิจกรรมแบบ "ยืน เดิน นั่ง นอน" จริง ๆ

อริยาบทยืน

ขอยกตัวอย่างกิจกรรมนำเข้าสู่ความสงบ นำเข้ามาสู่การรู้สึกตนเอง ผ่านการเรียนรู้ฐานกาย จุดมุ่งหมายคือให้เข้าใจ (เบื้องต้น) ด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง ในประเด็นดังนี้

  • การคิด กับ การรู้สึก ไม่เหมือนกัน แยกจากกัน เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน 
  • ความทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ (ทุกขัง) ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) และห้ามไม่ได้จริง (อนัตตา) ...  แค่ยกมือประสานเหยีดแขนตรงไว้ท่วมหัว ค้างไว้จนกว่าจะทนไม่ได้ นิสิตจะเข้าใจได้ไม่ยาก
  • รวบจิตใจ รวมจิตใจ ให้มีสมาธิมาอยู่กับตัว (กับกาย) โดยใช้ท่าทางประกอบกับการหายใจ โดยออกแบบท่าโดยยึดลักษณะของทรวงอกหดขยาย  เช่น กางแขนแล้วค่อย ๆ ยกขึ้น พร้อมสูดลมหายใจเข้า ค่อย ๆ วางมือลงพร้อมปล่อยลมหายใจออก สังเกตความรู้สึก ... เป็นต้น 
อีกกิจกรรมที่ผมทำบ่อย ๆ ได้ผลทุกครั้ง คือ กิจกรรมส่งสารสัมผัส เคยเขียนอธิบายไว้ที่นี่ สนใจเชิญนำไปลองทำดูครับ 




อริยาบทเดิน

ขอยกตัวอย่าง ๒ กิจกรรม ที่ทำแล้วรู้สึกได้ผลดีเสมอ คือ "มดไต่ขอบกระด้ง"  "ความไว้ใจ" และ "อะไรคือเป้าหมายของชีวิต ดังจะอธิบายพอสังเกตได้ดังนี้

"มดไต่ขอบกระด้ง"

กิจกรรม "มดไต่ขอบกระด้ง"  เริ่มด้วยการให้นิสิตเดินไปตามใจอิสระ ด้วยความเร็วเท่าใดก็ได้ กำชับให้ทุกคนต้องเดิน ไม่ได้อยู่กับที่ เมื่อผ่านไปสักนาทีแล้วให้หยุดเป็นระยะเพื่อทักทายทำความรู้จักกับเพื่อนที่อยู่ใกล้ในแต่ละครั้งที่หยุด ผ่านการหยุดไปครั้งที่ ๓  ให้สั่งเดินไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุด และสุ่มนิสิตสัก ๒-๓ คน ที่น่าจะพูดสะท้อนได้ดีแอบออกมายืนสังเกตลักษณะการเดินของเพื่อน แบบไม่ให้นิสิตที่กำลังเดินรู้ตัว โดยให้เดินไปจนเห็นทิศทางการเดิน แล้วสั่งหยุดนั่งพักตามสบาย สะท้อนการเรียนรู้ด้วยการตั้งคำถามกับนิสิตที่สุ่มมาเป็นผู้สังเกต ว่า ลักษณะการเดินเป็นอย่างไร เห็นอะไร คิดอย่างไร ก่อนจะสรุปตอนท้ายกิจกรรม



นิสิตส่วนใหญ่จะเดินเป็นวงกลมหรือวงรีตามรูปลักษณะของห้อง ตั้งคำถามกับนิสิตว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น อะไรเป็นตัวกำหนด เชื่อมโยงมาสู่ชีวิตที่นิสิตต้องคิดทำในแต่ละวัน แต่ละปี ทุกสิ่งอย่างที่ทำ ใครเป็นคนกำหนด เราได้กำหนดเองหรือไม่ หากเปรียบคล้ายกับมดที่กำลังไต่บนขอบกระด้งหรือไม่ ไต่ไปโดยคิดแต่เพียงว่าจะไปข้างหน้า โดยไม่เข้าใจว่าไม่มีจุดหมายใด  เวียนวนไปอย่างไรปลายทาง

สุดท้าย ให้สรุปเชื่อมโยงกับชีวิตการเรียนของนิสิต การคิด การดำเนินชีวิตในแต่ละวัน ต้องหันมาทำความรู้จักตนเอง และเป้าหมายของตนเอง ต้องไม่เป็นเหมือนมดที่กำลังไต่บนขอบกระด้ง

ความไว้ใจ 

วิธีนี้นิยมทำกันทั่วไป (ทั่วโลก) ให้จับคู่กัน คนหนึ่งปิดตาหรือหลับตา ให้อีกคนหนึ่งพาเดินไป สมมติเหมือนเป็นผู้ดูแลคนตาบอด พาเดินออกนอกห้องไป เวียนวนไปกลับมาที่เดิม  แล้วสลับคนหลับตา  สุดท้ายมารวมกันสะท้อนการเรียนรู้ในชั้นเรียน



สิ่งสำคัญคือ ความรู้สึก แลกเปลี่ยนถึงสภาวะของจิตใจ  เช่น ความกลัว ความชอบ ความกล้า ฯลฯ  ก่อนจะถกกันสุดท้ายว่า "ความไว้ใจ" คืออะไร สำคัญอย่างไร และจะนำไปปรับใช้อย่างไรในชีวิต

อะไรคือเป้าหมายของชีวิต

กิจกรรมเริ่มโดยให้เดินไปรอบ ๆ แบบอิสระไม่มีข้อกำหนดใด ๆ ทั้งทิศทางและความเร็ว แล้วสั่งให้หยุดและเติมเงื่อนไขคงไปทีละข้อดังนี้

  • เดินอิสระ.... หยุด ทำความรู้จักเพื่อนที่อยู่ใกล้สุด 
  • เดินต่อ... หยุด ... จดจำที่ที่อยู่ไว้ ได้ยินคำว่าหยุดครั้งต่อไป ให้กลับมายืนที่เดิม 
  • เดินต่อ... หยุด ... ให้จดจำตำแหน่งไว้ ออกเดินครั้งต่อไป ต้องกลับมาหายใจที่นั่น ขณะเดินต้องกั้นลมหายใจ เมื่อลมหายใจจะหมดต้องกลับมาหายใจที่ตำแหน่งนั้น เรียกว่า "บ้าน" 
  • สุ่มเลือกนิสิตมา ๔ คน คนหนึ่งสมมติแต่ละคนเป็นสิ่งที่คนสมัยนี้ต้องการ ได้แก่ 
    • คนที่ ๑ เงินทอง ทรัพย์สิน บ้าน ที่ดิน 
    • คนที่ ๒ ชื่อเสียงเกียรติยศ 
    • คนที่ ๓ อำนาจ บริวาร ลูกน้อง 
    • คนที่ ๔ ความสุข 
  • เดินออกจาก "บ้าน" ไป ต้องไม่หายใจ อยากได้อะไรให้เดินไปแตะตัวเพื่อนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเหล่านั้น ซึ่งกำลังเดินไปทั่วห้องเช่นกัน 
เปิดโอกาสให้นิสิต ๒-๓ คน ได้สะท้อนการเรียนรู้หรือความต้องการของตนเอง อภิปรายว่าทำไมต้องการสิ่งนั้น ๆ ก่อนจะร่วมกันสรุป  ผลสรุปสุดท้าย แท้จริงแล้วเราทุกคนก็เพียงแต่หวังเป็นสุข ความสุข เท่านั้นเอง 

อริยาบทนั่ง


ทุกกิจกรรมหลังเสร็จจากการยืน/เดิน/นอนแล้ว เราจะนั่งจับกลุ่มล้อมวงกันทำ "สุนทรียสนทนา" (Dialouge) กัน ดังนั้น กิจกรรมนั่งจึงทำเกือบจะตลอดภาคเรียน  เป็นการฝึกฟังอย่างจริงจัง  ด้วยกลวิธีการเติมเพิ่มเงื่อนไขที่ละอย่าง ๆ เข้าไปในกลุ่ม เพื่อฝึก

  • ให้คุยกันตามสบายคนละ ๒ นาที  ... จับเวลารวมประมาณ ๘ นาที แล้วตีระฆัง หรือเมื่อเงียบเสียงคุย 
  •  ก่อนจะคุยของวันนั้น ให้กล่าวคำว่า "เช็คอิน" (Check-in) ก่อนเสมอ 
  • กำหนดวัตถุศักดิ์สิทธิ์ เช่น ปากกาศักดิ์สิทธิ์ ก้อนหินศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ  ให้แต่ละคนตั้งกติกาด้วยศรัทธาว่า จะคุยอย่างจริงจัง จริงใจ ชื่นชม ไม่ตัดสิน ฟังอย่างรู้ตัว และจะไม่พูดสิ่งใด ๆ เว้นแต่จะเป็นใครที่ถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่ 
  • ก่อนจะเอื้อมมือไปจับวัตถุศักดิ์สิทธิ์ หลังจากตัดสินใจ ให้ประวิงเวลาไว้ ๓๐ วินาที 
  • ฯลฯ 

หัวเรื่องเบื้องต้นที่จะให้คุยคือ  ได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่เพิ่งผ่านไป  เห็นอะไร คิดอะไร เกิดอะไรขึ้นกับใจฉันหรือเปล่า 

นอกจากนี้แล้วจะมีกิจกรรมนั่งสมาธิทำความสงบ และเจริญสติก่อนเรียนทุก ๆ ครั้ง ดังรูป




อริยาบทนอน

กิจกรรมเดียวที่ใช้ในอริยาบทนอนคือกิจกรรม "ผ่อนพักตระหนักรู้" เคยเขียนอธิบายไว้ที่นี่  ถือเป็นวิธีที่ดีและง่ายสำหรับทุกคนที่จะทำให้สมองผ่อนคลาย ร่างกายสบาย ลดความถี่ของสมองให้ต่ำลง เข้าสู่โหมดอัลฟา ซึ่งจะทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่า จดจำได้แม่นยำกว่า


เหล่านี้เป็นตัวอย่างของห้องเรียนทีเปลี่ยนไปแล้วอย่างสิ้นเชิงกับการบรรยายทั่วไป ผู้อ่านท่านใดหรืออาจารย์ผู้สอนที่สนใจ เชิญมาร่วมพัฒนาตนเองและพัฒนานิสิตด้วยการพัฒนาจิตตนเองครับ

2 ความคิดเห็น: