วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๒) กิจกรรมที่ ๑ ทำไมต้องน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

บทที่ ๑ ของการจัดการเรียนรู้รายวิชา ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจ คือ "ที่มาของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" เพื่อให้นิสิตเห็นเห็นความสำคัญของการน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต

นิสิตทุกคนควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์เมื่อปี ๒๕๔๐ (แม้นิสิตทุกคนในชั้นเรียนจะเกิดไม่ทัน) ที่ประเทศเกือบจะล้มละลายจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เรียกว่า "วิกฤษตต้มยำกุ้ง"  โดยศึกษาทั้ง "ผลกระทบจากวิกฤต พ.ศ. ๒๕๔๐" (คลิกที่นี่) และ "สาเหตุของฟองสบู่แตก" อันนำมาสู่วิกฤตดังกล่าว (คลิกที่นี่)

ใบงานที่ ๑ ตั้งคำถามให้นิสิตเขียนตอบ (งานเดี่ยว) ทั้งหมด ๔ คำถาม ได้แก่ ๑) ทำไมคนไทยจึงควรศึกษา ปศพพ. และน้อมนำมาใช้ ๒) หากคนไทยไม่สนใจเรียนรู้และน้อมนำฯ มาใช้ จะเกิดอะไรขึ้น ๓) หากข้าพเจ้านำมาใช้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร และ ๔) ถ้าข้าพเจ้าไม่สนใจเรียนรู้และน้อมนำฯ มาใช้ จะมีผลเสียหรือไม่อย่างไร .... ต่อไปนี้คือคำตอบที่น่าสนใจจากนิสิต

นิสิตที่เข้าเรียนวันนี้ (๒๒ พ.ค. ๒๕๖๑) ทั้งหมด ๘๗ คน เกือบทั้งหมด (๘๓ คน) ตอบไปในแนวทางเดียวกัน ตอบเฉพาะมิติวัตถุ/เศรษฐกิจเท่านั้น คือ เพื่อให้คนไทยพออยู่พอกิน หากไม่น้อมนำมาใช้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หากตนเองนำมาปฏิบัติจะทำให้เป็นคนประหยัด อดออม แสดงให้เห็นว่า นิสิตเกือบทั้งหมดยังไม่เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง "เศรษฐกิจพอเพียง" กับ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"

และเมื่อมอบหมายให้นิสิตทุกคนวาด "ภาพในอนาคตของตนเอง" ลงด้านหลังของใบงานภายในเวลา ๑๐ นาที โดยสามารถเลือกได้ว่าจะว่า อนาคตของตนเองถ้า "น้อมนำ ปศพพ.ไปใช้" หรือ "ไม่น้อมนำ ปศพพ. ไปใช้"  พบว่า ภาพที่นิสิตวาดส่วนใหญ่ (๕๙ คน) เป็นความล้มเหลวด้านการเงิน มีหนี้สิน ส่วนนิสิตที่เหลือ (๒๖ คน) วาดภาพแปลงเกษตรผสมผสานและบ้านพร้อมทุ่งนา





มีนิสิต ๔ คน ที่เขียนคำตอบได้อย่างน่าประทับใจ และน่าจะนำมาแบ่งปันให้นิสิตทุกคนได้อ่าน  ดังนี้

"หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักที่ใช้ทั้งเหตุและผล ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงคิดและทำเป็นแนวทาง โดยได้ผลจริง ดังนั้นคนไทยจึงควรน้อมนำปรัชญานี้มาใช้ ... ทำให้คนไทยรู้จักพึ่งพาตนเอง"

หากคนไทยไม่น้อมนำฯ มาใช้จะ "..เกิดความอ่อนแอในหลายๆ ด้าน เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากร.." และ "...อาจจะทำให้เกิดวิกฤตฟองสบู่อีกครั้ง..." 

หากข้าพเจ้าน้อมนำมาใช้ "...จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านความคิด ด้านการเป็นอยู่..."  หากไม่นำมาใช้ก็จะเกิด "...การแก่งแย่งและเห็นแก่ตัว..."

และภาพที่น่าประทับใจที่สุดคือ ภาพที่คนไทยทุกคนมีความสุข มีรอยยิ้มเต็มใบหน้ากันทุกคน



เจอกันใหม่บันทึกหน้าครับ..


วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๕ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ๓-๒๕๖๐ (๑) BAR ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? คำถามก่อนเรียน

วันนี้เปิดเรียนภาคเรียนพิเศษเป็นวันแรก (๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๑)  มีจำนวนนิสิตลงทะเบียนประมาณ ๑๐๐ คน มีอาจารย์ผู้สอน ๓ ท่าน ๒ ท่านเป็นอาจารย์ใหม่สำหรับวิชานี้ เป็นการสังเกตการสอนก่อนที่ท่านจะเริ่มสอนในปีการศึกษาหน้า  วันนี้มีนิสิตเข้าเรียน ๖๓ คน

ผมใช้กิจกรรม "ดอกไม้ ๕ กลีบ" เพื่อทำ BAR (Before Action Review) ด้วย ๕ คำถาม ได้แก่ ๑) ทำไมถึงมาเรียนรายวิชานี้ ๒) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ปศพพ.) คืออะไร ๓) จะนำ ปศพพ. ไปใช้อย่างไร ๔) ไม่นำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้หรือไม่ เพราะอะไร และ ๕) ใครคือคนที่ "พอเพียง" ที่สุด ที่เคยเห็นมา







ทำไมถึงมาเรียนรายวิชานี้

มีคำตอบหลากหลายกระจายไป แต่ที่มากที่สุดคือ "มาเก็บหน่วยกิต" "ลงวิชาอื่นไม่ทัน" "ลงตามเพื่อน" "หน่วยกิตเหลือ" "ลงวิชาจีนไม่ทัน" (หมายถึงวิชาภาษาจีน) "เวลาเรียนพอดี" "ตารางไม่ซ้อนวิชาอื่น"  มีนิสิตที่เขียนว่า "ชอบ อยากเรียน" ๑๗ คน มี ๓ คนเท่านั้น ที่เขียนว่า เพื่อนำไปต่อยอดชีวิตของเรา และมีเพียง ๑ คน เขียนว่า "คิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตตนเองพอเพียงมากขึ้น"





ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร 

คำตอบหลากหลาย สามารถแบ่งได้เป็น ๕ กลุ่มคำตอบ มีนิสิตจำนวน ๒๐ ตอบว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ การประหยัด อดออม ใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า  นิสิต ๑๔ คน ตอบย้อนคำถามว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคือ "ความพอเพียง" หรือ "เศรษฐกิจพอเพียง" มีนิสิต ๑๑ คน บอกว่า ปศพพ. คือ "๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข" มีนิสิตจำนวนถึง ๑๖ คนที่สามารถตอบได้อย่างถูกต้องตามเอกสารที่เผยแพร่กันทั่วไป เช่น "พออยู่ พอกิน" "การใช้ชีวิตบนทางสายกลาง" "การใช้ชีวิตบนความพอดี" "พอกินพอใช้" "แบ่งปัน" "แนวคิดแนวปฏิบัติที่ใช้ในชีวิตประจำวัน"  ฯลฯ มีนิสิต ๓ คน บอกว่า "เป็นแนวคิดของในหลวง ร.๙"

จะนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างไร 

คำตอบของนิสิตน่าสนใจยิ่ง แบ่งได้เพียง ๔ กลุ่มคำตอบเท่านั้น  นิสิตส่วนใหญ่ (๔๓ คน) ตอบว่า การนำ ปศพพ. ไปใช้คือ การประหยัด อดออม มีนิสิต ๒๒ คน ตอบว่า "นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน" มีนิสิตประมาณ ๕ คน บอกว่า ใช้ในการทำการเกษตร จัดสรรที่ดิน อีก ๔ คน บอกว่า จะนำไปบริหารจัดการชีวิต

เมื่อสังเกตดีๆ ผมพบว่า กลุ่มที่ตอบว่า ใช้ในชีวิตประจำวัน บางคน ยกตัวอย่างว่า "ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ประหยัด อดออม" อาจเป็นไปได้ว่า มีนิสิตสองกลุ่มนี้มีความเข้าใจคล้ายกัน คือ เข้าใจการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปช้เฉพาะในมิติวัตถุและเศรษฐกิจ

ใครคือคนที่พอเพียงที่สุดที่เคยเห็นมา

แบ่งคำตอบได้เป็น ๓ กลุ่มเช่นกัน นิสิต ๓๓ คน ตอบว่า "ในหลวง ร.๙" นิสิต ๒๘ คน บอกว่า คนที่ "พอเพียง" ที่สุดคือพ่อ แม่ หรือปู่ (ญาติสนิท)  มี ๖ คนที่เขียนเป็นชื่อเพื่อน

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมตัวเลขรวมจึงไม่เท่ากับ ๖๓ จำนวนผู้เข้าเรียน  ที่เป็นเช่นนั้น เป็นเพราะมีการซ้ำกันของคำตอบ เนื่องจากตอนที่ให้นิสิตสุ่มไปหาเพื่อน ๕ คน เพื่อถาม ๕ คำถามนั้น อาจมีบางคนถูกถามซ้ำได้

ผมตีความจากข้อมูลที่ได้จากการสำรวจแบบมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนครั้งนี้ดังนี้

  • นิสิตเข้าใจถูกต้องแล้วว่า ปศพพ. ไม่ใช่ใช้ในการเกษตรเท่านั้น 
  • นิสิตเข้าใจแล้วว่า สามารถนำหลัก ปศพพ. มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ 
  • นิสิตส่วนใหญ่ ยังเข้าใจ ปศพพ. ในมิติวัตถุหรือเศรษฐกิจเท่านั้น
  • นิสิตส่วนใหญ่ มีศรัทธาต่อในหลวง ร.๙  
ผม AAR ว่า การขับเคลื่อน ปศพพ. ในมหาวิทยาลัยที่ผ่านมา ๒ ปี เริ่มมีมรรคผลบ้างแล้ว ....

ขอบคุณทุกท่านครับ 



วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

บ้านสวนขวัญข้าว ๒ "ศาสตร์พระราชา น้อมมาปฏิบัติ"

บ้านสวนขวัญข้าว ขุดบ่อยกแปลงดินไปตั้งแต่ต้นปี ถึงวันนี้ (พฤษภาคม ๒๕๖๑) ระบบน้ำและรั้วเรียบร้อยแล้วดังภาพด้านล่าง แผนต่อไปคือปลูกหญ้าแฝกรอบๆ ริมบ่อและร่องน้ำเพื่อป้องกันการพังของดินให้ได้มากที่สุด ปลูกกล้วยไว้เป็นพืชพี่เลี้ยงรักษาความชื้นและใช้ลำต้นและใบเป็นอินทรีวัตถุให้จุลินทรีย์ทำหน้าที่ต่อ และเมื่อฝนมา ก็จะถึงเวลาของการลงปลูกพืช ๗ ชั้น ตามแผนที่ได้เขียนไว้ในบันทึกแรก (อ่านที่นี่

คุณยายของขวัญข้าวเล่าว่า ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ ทรงมีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) สืบสานเอาพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ขยายผลไปสู่คนชนบท  มรภ.ชัยภูมิเริ่มแล้วตอนนี้ และถามว่า ที่บ้านสวนขวัญข้าว น้อมนำศาสตรพระราชาอะไรมาใช้บ้าง วันนี้มีแรงบันดาลใจ ขอใช้บันทึกนี้ตอบไว้แลกเปลี่ยนกับผู้รู้ต่อไป  ดังนี้ 

ศาสตร์พระราชาเพื่อพัฒนาดิน  

แน่นอนว่าศาสตร์พระราชาที่กำลังน้อมนำมาใช้คือ "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "เกษตรทฤษฎีใหม่" แต่หากจะลงรายละเอียดว่านำมาใช้อย่างไรในแต่ละด้าน ณ ขณะนี้ กำลังศึกษาและลองผิดลองถูกในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการ "พัฒนาดิน" มาใช้ 

สิ่งที่ทั่วโลกยกย่องในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่สุดเรื่องหนึ่งคือการพัฒนาดิน ถึงขั้นที่สหประชาชาติกำหนดให้วันคล้ายวันพระราชสมภพ ๕ ธันวาคม ของทุกปีเป็น "วันดินโลก" (Wold Soil Day) ทรงทำให้ดู แสดงให้เห็นว่า ดินพรุที่เปรี๊ยวจัดก็แก้ได้ ผู้สนใจให้ศึกษาข้อมูลจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นาราธิวาส  ดินปนทรายที่เสื่อมโทรมแบบสุดๆ จนเหลือแต่ทราย ขนาดมันสัมปะหลังยังปลูกไม่ได้ผล ก็สามารถแก้ได้จนกลายเป็นป่า ไปดูที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ จ.ฉะเชิงเทรา ดินที่เป็นหินกรวดและแล้ง ก็หายได้ด้วย กลายเป็นต้นแบบของ "ป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง" ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ จ.เชียงใหม่ หรือหากเป็นดินดาน แข็ง และดินเป็นดินลูกรัง ก็กลายเป็นดินสมบูรณ์ได้ ตัวอย่างอยู่ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จ.เพชรบุรี และหากเป็นดินเค็มในพื้นที่ภาคอีสาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ โดยเฉพาะบริเวณห้วยบ่อแดง บ.ม่วง จ.สกลนคร ก็เป็นตัวอย่างเชิงประจักษ์ ... (ผู้สนใจคลิกอ่านตามลิงค์ เหล่านี้ได้ บทความจากผู้จัดการออนไลน์ มูลนิธิปิดทองฯ และที่ผมชอบมากคือเรื่องนี้

ที่บ้านสวนขวัญข้าวชั้นหน้าดินลึกลงไปประมาณ ๑ เมตรเป็นดินร่วนปนทรายค่อนข้างอุดมสมบูรณ์เพราะเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของป่าโคกกลางมาก่อน ลึกลงไปเป็นดินหนียวปนทรายที่ไม่น่าจะมีอินทรีย์วัตถุใดๆ ปัญหาคือตอนที่ขุดดินรถขุดไม่ได้แยกตามที่บอกไว้ หน้าดินส่วนใหญ่จึงกลายเป็นดินทรายปนดินเหนียวไป  ดังนั้นโจทย์ที่สำคัญในช่วงปีแรกจึงเป็นการพัฒนาดิน ไม่ใช่การปลูกหวังผลอย่างที่คาดไว้  

การตรวจคุณภาพดินตาม "ระบบราชการ" ที่กำหนดไว้ให้บริการชุมชนของสำนักพัฒนาที่ดิน ต้องใช้เวลาทั้งกระบวนการประมาณ ๒ เดือน เกษตรกรต้องเป็นผู้เก็บตัวอย่างดินตามคำแนะนำที่กำหนด (อ่านที่นี่) หรือดูคลิปด้านล่าง 


สิ่งที่ตรวจได้ทันดีคือค่าความเป็นกรด-เบส และจากการสังเกตและสอบถามชาวบ้านเบื้องต้น ดินมีสีน้ำตาลแดง-ขาว มีน้ำซับ (น้ำใต้ดิน) ที่ระดับความลึก ๓ เมตรในหน้าแล้ง (มีนาคม-เมษายน) เป็นน้ำกร่อย แสดงว่าน่าจะเป็นดินเค็มเป็นกรดซึ่งต้องหว่านด้วยปูนขาว ... ต้องเอาไว้คำนวณปริมาณให้พอดีทำตอนนี้ไม่ได้ 

หญ้าแฝก

จากที่กล่าวมา ศาสตร์พระราชาที่ควรน้อมนำมาใช้ทันทีคือ การปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันดินขอบร่องและบ่อพังทลาย ราคาหญ้าแฝกในตลาดออนไลน์ซื้อขายกันที่ต้นละ ๓๐ สตางค์ มัดละ ๑๕ บาท แต่ละมัดมี ๕๐ ต้น จากการคำนวณต้องใช้ประมาณ ๑๐,๐๐๐ ต้น จึงต้องลงทุนไปถึง ๓,๖๐๐ บาท  ความจริงหากเป็นเกษตรกรที่มีกำลังและเวลาเต็มที่ มีหญ้าแฝกที่ขึ้นตามคลองน้ำสาธารณะให้ไปขอขุดมาขยายพันธ์ได้ด้วยตนเองแบบฟรี  ในกรณีนี้ทำเองไม่ได้ เพราะลองดูแล้ว ใช้เวลาไปครึ่งวันได้มาเพียงประมาณ ๓๐๐ ต้น จึงใช้วิธีการซื้อและจ้างคนปลูกไปอีก ๑,๒๐๐ บาท รวมเป็น ๔,๘๐๐ บาท เฉพาะแฝก  .... แต่กลับรู้สึกดีที่ได้ทำให้คนปลูกแฝกมีรายได้และพี่ชาวบ้านที่รู้จักมีรายได้  ... ปัญหาคือหญ้าแฝกจะโตทันกับฝนหรือไม่ (เอาไว้เล่าให้ฟังครั้งต่อไป)






การห่มดิน

ศาสตร์พระราชาอีกประการในการพัฒนาดินคือ "การห่มดิน" ปกติชาวนาจะมีฟางข้าวเหลือจากการเก็บเกี่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นวัสดุที่เหมาะที่สุดสำหรับการห่มดินน่าจะเป็นฟางแห้ง ในกรณีนี้เราไม่มี แต่ดวงดีที่มีฟางจากงานเกษตรแฟร์ขายทิ้งถูกๆ ก้อนละไม่ถึง ๑๐ บาท (ปกติก้อนละ ๒๕-๓๕ บาท) จึงได้เหมามาทั้งหมดกว่า ๑๐๐ ก้อน พอสำหรับคลุมดินทั่วพื้นที่ปลูกได้กว่า ๘๐ % โดยคาดหวังว่าฟางจะทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น คลุมรักษาหน้าดิน ป้องกันแรงน้ำจากฝนไม่ให้ไหลแรงไปทลายดิน และปกคลุมควบคุมไม่ให้วัชพืชขึ้นและก่อปัญหาทีหลัง และที่สำคัญที่สุดคือกลายเป็นปุ๋ยพืชแห้งที่อุดมไปด้วยฟอสฟอรัสให้พืชต่อไป 

บ้านสวนขวัญข้าวมีหลายสิ่งที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากการทำการเกษตรทั่วไป เช่น ระบบน้ำที่สามารถฉีดนำจุลินทรีย์ได้ทั่วบริเวณพื้นที่ปลูก การล้อมรั้วที่ทิ้งระยะห่างกว่า ๖ เมตรเพื่อประหยัดต้นทุน แต่ออกแบบเทปูนซีเมนต์ทำฐานอย่างดีเพื่อความยั่งยืน ฯลฯ เอาไว้เล่าต่อคราวหน้าว่าจะได้ผลเพียงใด ผู้สนใจโปรดติดตามตอนต่อไป หรือแนะนำความรู้จะดีมาก 



หลังจากสิ่งก่อสร้างที่จำเป็นเช่นห้องสุขาเสร็จ เคลียร์เศษตะปูและกองไม้ แหล่งเรียนรู้ของขวัญข้าวก็จะพร้อมให้มาปลูกต้นไม้ทันที 

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๓) ผลการตรวจคุณภาพน้ำในสระน้ำข้างอาคารราชนครินทร์

ผมเคยเขียนบันทึกเกี่ยวกับ โครงการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้แก้ปัญหาน้ำเสียในสระน้ำข้างอาคารราชนครินทร์และอาคารคณะบัญชี "อธรรมปราบอธรรม" โดยนำเอาผักตบชวามาเพาะพันธุ์ในสระ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๖๐ (อ่านได้ที่นี่) ถึงวันนี้เวลาผ่านไปเกือบปี มีผลการตรวจน้ำมาแสดง และมีภาพแปลงผักตบทีแยกออกเป็นส่วน ๆ ให้ผู้สนใจดู เผื่อจะได้เรียนรู้ร่วมกันต่อไป

ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ

ขอขอบพระคุณทีมอาจารย์ (ผศ.ดร.ภูวดล โกมณเฑียร และ อ.ดร.ญาณวุฒิ อุทรลักษณ์) และนิสิตจากหลักสูตรชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่มาช่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง จนได้ข้อมูลทางวิชาการที่เป็นประโยชน์

ในช่วงเดือนมกราคม แปลงผักตบชวา เจอพายุลมฝน จนแต่ละแปลงที่เป็นองค์ประกอบของตัวอักษร MSU ได้แยกจากกัน เสียแล้ว แต่ก็เป็นการดี เพราะตำแหน่งที่แปลงผักวางอยู่นั้นไกลจากบริเวณที่น้ำทิ้งไหลลงสระ จึงเป็นการดีที่เราจะจัดแปลงผักให้เป็นระเบียบและทำทางลงเก็บผักตบที่เจริญเติบโตเต็มที่ไปทำปุ๋ยหมักต่อไป


ทีมตรวจคุณภาพน้ำกำหนดตำแหน่งเก็บตัวอย่างน้ำจำนวน ๑๐ จุด ดังภาพ


มีการตรวจคุณภาพน้ำ ๓ ครั้ง ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ และวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ ปรากฎผลตามตาราง (ผลตรวจครั้งที่ ๑) (ผลตรวจครั้งที่ ๒) (ผลตรวจครั้งที่ ๓)





พิจารณาสังเกตที่ค่า DO ที่บอกปริมาณของออซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำ  น้ำสะอาดจะมีค่า DO สูง โดยทั่วไป จะมีค่า DO อยู่ที่ ๕-๘ มิลลิกรัมต่อลิตร น้ำเสียจะมีค่า DO ต่ำหว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร และค่า BOD ที่บอกถึงปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องการใช้ในการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ น้ำที่ดีมีคุณภาพจะมีค่า BOD ไม่เกิน ๖ มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้ามากกว่านี้น้ำจะเน่าเสีย ค่ายิ่งสูงน้ำยิ่งเน่า

จากการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ค่า DO มีข้อสังเกตดังนี้

  • ๑) DO ที่ตรวจวัดวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐  บอกว่า น้ำในสระเป็นน้ำเสีย ทุกจุดตรวจ แม้จะเป็นช่วงเดือนที่ปริมาณน้ำควรจะมาก แต่ปริมาณฝนในช่วงนั้นไม่มากนัก ทำให้เกิดปรากฎการณ์แบคทีเรียบูม น้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว และส่งกลิ่นเหม็น 
  • ๒) DO ที่ตรวจวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๑ (ต่อมา ๒ เดือน) น้ำมีคุณภาพดีทุกจุดตรวจ  น่าจะเป็นเพราะฝนมามากขึ้น  ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มปริมาณออกซิเจนด้วยเครื่องเติมอากาศของมหาวิทยาลัย  สังเกตว่าจุดตรวจที่ ๑๐. ซึ่งมีแปลงผักตบชวาอยู่ในบริเวณนั้น ค่า DO มีค่าสูงที่สุด 
  • ๓) DO ที่ตรวจวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ ทุกจุดตรวจมีค่ามากว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร ยกเว้นจุดตรวจที่ ๗. ซึ่งอยู่ใกล้กับอาคารราชนครินทร์ ซึ่งน้ำทิ้งจากการล้างจานไหลลงโดยตรง 
แม้ว่าผลการรายงานของทีมตรวจจะสันนิษฐานว่า คุณภาพของน้ำที่ดีขึ้นอาจเป็นเพราะแปลงผักตบชวาที่ช่วยดูดซับของเสียในน้ำ แต่ด้วยปริมาณแปลงผักตบที่มีจำนวนน้อยเกินไป และมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมาก จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่า น้ำดีขึ้นเพราะผักตบ  

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ ควรจะดำเนินโครงการนี้ต่อเนื่อง  จัดทำแปลงผักตบชวา และทำเป็นสะพานทางเดินเพื่อเก็บเอาผักตบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วออก ให้ผักตบได้ขยายเจริญเติบโตใหม่ซึ่งจะช่วยให้น้ำดีขึ้นได้ 

ขอเชียร์ให้กำลังใจเรียนรู้ศาสตร์พระราชาด้วยการนำมาปฏิบัติต่อไป ....







วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๒) ค่ายจิตอาสาพาน้องเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง"

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๑  ได้รับเกียรติจากชมรมตามรอยเท้าพ่อ ไปร่วมเปิดค่ายอาสาพาน้องเรียนรู้ "เศรษฐกิจพอเพียง" ที่โรงเรียนบ้านดอนหมากพริกลิ้นฟ้า ตำบลแคนเหนือ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  โรงเรียนประถมศึกษา (เปิดถึง ป.๖)  ทั้งโรงเรียนมีนักเรียน ๒๘ คน มีครู ๓ คน นักการ ๑ คน และมีเลือดครูรุ่นใหม่ไปฝึกงานอีก ๑ คน (ดูข้อมูลโรงเรียนที่นี่​)​
ค่ายนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา ผมรู้สึกชื่นชมทั้งนิสิตและกองกิจฯ กำหนดนโยบาย ที่ริเริ่มทำกิจกรรมอาสานำพาเพื่อนๆ นิสิตผู้สนใจไปสู่สนามเรียนรู้ของจริง มีนิสิตจิตอาสาไปร่วมค่ายนี้กว่า ๓๐ คน รวมคณะกรรมการชมรมผู้ดำเนินค่ายอีกประมาณ ๒๐ AAR แล้วคุ้มค่าต่อการปลูกฝังยิ่งนัก


ขอขอบพระคุณ ผอ.รุ่งโรจน์ โบราณมูล และผู้นำชุมชนทั้ง ผู้ใหญ่บ้านทั้งสองหมู่บ้าน (บ้านดอนหมากพริกและบ้านหมากลิ้นฟ้า) ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พี่ อสม. (อาสาพัฒนาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) สอบต. (สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล) และผู้ปกครองของนักเรียนจำนวนร่วม ๑๐ ท่านมาต้อนรับอย่างอบอุ่น และให้เกียรติอย่างสูงยิ่ง ... ที่จริงวันนั้นท่านมีราชการต้องเดินทางก่อนวันค่าย แต่ท่านไม่ไป เลือกที่จะขับรถยนต์ส่วนตัวตามไป

กิจกรรมที่ชมรมตามรอยเท้าพ่อ ออกแบบไว้ ๖ กิจกรรม ได้แก่ ทำแปลงผักพอเพียง ทำพานบายศรี แข่งกีฬาโบราณ ทำสบู่จากสมุนไพร ปลูกต้นไม้ และร่วมขบวนแห่งบุญเผวสของหมู่บ้าน กิจกรรมหลังนี้เป็นการปรับเพิ่มให้เข้ากับสถานการณ์และความต้องการของชุมชน ...  ด้วยเหตุผลของคนมีครัวจึงไม่สามารถจะอยู่ร่วมเรียนรู้ดูผลงานของนิสิตตลอดค่ายได้ จึงมีโอกาสเพียงช่วยขุดดินในฐานแรก "แปลงผักพอเพียง"

"พอเพียง" คือ การพึ่งตนเองบนทางสายกลาง โรงเรียนมีพื้นที่ๆ สามารถปลูกผักได้เอง นักเรียนจะได้กินผักที่ตนเองปลูกอย่างภาคภูมิใจ ครูและผู้ปกครองก็จะมั่นใจเต็มที่ว่าลูกหลานได้กินผักปลอดสารปลอดภัยที่สุด

การออกแบบกิจกรรมของชมรมฯ ก็ทำอย่าง "พอเพียง" คือ พอประมาณกับศักยภาพของน้องๆ ตัวเล็กๆ  ให้ช่วยกันกรอกดินใส่ถุงและส่งลำเลียงถังดินที่ใส่แต่เพียงครึ่ง และให้ยืนแทรกระหว่างพี่ๆ ที่ส่งแรงและโมเมนตัมเหวี่ยงต่อๆ กัน  ในส่วนขุดแปลงและผสมดินเป็นหน้าที่ของน้านักการฯ และเป็นงานของผู้ชาย (กว่าจะเสร็จมือก็สุก เพราะดินแห้งแข็งมาก)








แปลงผักพอเพียง จะเป็นแปลงผัก "พอเพียง" ตามที่ในหลวงทรงสอนหรือไม่ สามารถวัดได้จากความสุขและความสำเร็จ ทราบข่าวในตอนเย็นว่า กระบวนการปลูกผักสำเร็จเสร็จด้วยดี  แต่นี่ก็ยังไม่ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์  ผลผลิตจากแปลงผักนี้ จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งว่า มีการดูแลแปลงผักนี้อย่าง "พอเพียง" หรือไม่

ขณะที่เขียนนี้ ทราบว่า ผักเริ่มขึ้นแปลงแล้ว ได้ผลผลิตอย่างไรจะมาเล่าอีกที หากมีโอกาส