วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๗) การเขียนโครงการ - ชื่อโครงการ

ในการเขียนโครงการ สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือ "การตั้งชื่อโครงการ" ต้องใช้ทักษะด้านการคิดสังเคราะห์และด้านการใช้ภาษา ชื่อโครงการที่ดีไม่มีเกณฑ์อะไรตายตัว ขึ้นอยู่กับมุมมอง (วิธีคิด) และประสบการณ์ของผู้ได้อ่าน จึงไม่ต้องแปลกใจหากต่อไปนิสิตจะตั้งชื่อโครงการแล้วมีผู้วิพากษ์หลากหลาย เช่น

  • บางท่านเน้นให้เด่นเห็นการปฏิบัติ 
  • บางท่านเน้นให้คล้องจองและลัดสั้นสละสลวย กระทัดรัด 
  • บางท่านบอกว่าต้องอ่านแล้วรู้เรื่องไม่ต้องกลัวเปลืองบรรทัด ชัดเจน
  • ฯลฯ 
อย่างไรก็ดี จากการถอดบทเรียนจากการบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ เรื่องการเขียนโครงการ ท่านได้ให้แนวทางในการตั้งชื่อโครงการที่ดีไว้ดังนี้ (อ่านที่นี่)

การตั้งชื่อโครงการ

การตั้งชื่อโครงการ ควรระบุให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังหรือผลตอบแทนจากการทำโครงการ คืออ่านแล้วให้ทราบทิศทางของโครงการนั้น เช่น 
  • โครงการกล้าใหม่ต้นอ้อ ต่อยอดภูมิปัญญา
  • โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ
  • โครงการวัยรุ่นรักษ์วัฒนธรรม
  • โครงการขับขี่ปลอดภัย 
  • ฯลฯ
หลักการในการตั้งชื่อโครงการ มีดังนี้

  • อ่านแล้วทราบถึงแนวทาง ทิศทางของโครงการ หรือบอกว่าเกี่ยวกับอะไร
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานนโยบาย ควรเขียนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น โครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานปัญหา อาจเขียนได้ ๒ แบบ คือ 
    • ๑) เขียนแบบบอกปัญหา เช่น โครงการแก้ปัญหา....... หรือ 
    • ๒) เขียนแบบบอกทางแก้ไข เช่น โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ 
    • ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ เขียนให้เห็นภาพฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จจะดี เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ 
  • ฯลฯ
วิพากษ์ชื่อโครงการจากงานเขียนโครงการชิ้นแรก 
  • กลุ่มหมี ตั้งชื่อว่า "โครงการไม้รีดน้ำเอนกประสงค์" ... ชื่อเหมือนโครงงานหรือโครงการสร้างสิ่งประดิษฐ์  ควรตั้งชื่อให้สื่อถึงสิ่งที่กลุ่มหมีจะไปดำเนินการทั้งหมด  เช่น  โครงการนิสิตจิตอาสาแก้ปัญหาน้ำขังสนามกีฬาเอนกประสงค์ ฯลฯ 
  • กลุ่มอินทรี ตั้งชื่อว่า "โครงการร่วมใจไม่ไร้จิตสำนึกในการจอดรถ" ... เป็นเหมือนคำสุนทรพจน์ หรือคำขวัญ หรือคำรณรงค์  ควรตั้งชื่อให้สื่อว่าใครทำอะไรเพื่ออะไร และยังไม่สื่อถึงแก่นสำคัญของโครงการ เช่น โครงการนิสิตจิตอาสาพัฒนาการจอดรถจักรยานยนต์ ฯลฯ 
  • กลุ่มภาพอิสระ ตั้งชื่อว่า "โครงการจัดระเบียบการจอดรถเพื่อลดปัญหาการจอดซ้อนคัน" ... เป็นการตั้งชื่อที่ไม่เลวเลยครับ เห็นชัดว่าจะปฏิบัติอะไร ใช้ได้เลยทีเดียว
  • กลุ่มดวงอาทิตย์ ตั้งชื่อว่า "โครงการจิตอาสาแก่ปัญหาที่จอดรถของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง"  ... ตั้งชื่อได้ดีครับ แต่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่และบรรลุได้ยาก ผมชอบชื่อของกลุ่มภาพอิสระที่ใช้คำว่าลดปัญหา... ง่ายขึ้นและสะท้อนสอดคล้องกับสิ่งที่ทำครับ 
  • กลุ่มเพชรตั้งชื่อว่า "โครงการปลูกจิตสำนึกและสร้างระเบียบวินัยให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์" ... เป็นชื่อโครงการที่ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับการทำโครงการระยะสั้น ๆ แบบที่เรากำลังทำในรายวิชานี้ เพราะ คำว่า 
    • "ปลูกจิตสำนึก"  เป็นคำที่มีเป้าหมายที่คน สำหรับโครงการที่มุ่งพัฒนาคน ซึ่งจิตสำนึกนั้นมีรากฐานมาจากศรัทธาความเชื่อ ->วิธีคิด->ท่าที->กระทำ->ความเคยชิน->นิสัย->อุปนิสัย ทั้งหมดนี้แสดงออกมาจาก "จิต" นั่นคือ "จิตสำนึก" ที่เราพูดถึง ... ดังนั้นการใช้คำว่า "ปลูกฝัง" จึงควรเป็นโครงการต่อเนื่องจะดี 
    • คำว่า "สร้างระเบียบวินัย"  ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เป็นนามธรรม และวัดประเมินได้ยาก โดยเฉพาะถ้าใช้คำว่า "สร้าง" ซึ่งหมายถึง ไม่มีแล้วเกิดมี  อาจเปลี่ยนให้ง่ายลงได้ด้วยคำว่า "ส่งเสริม" คือ หนุนเสริมให้เกิดมี แม้ว่าหลังโครงการจะประเมินว่าเกิดมีได้ยาก แต่กิจกรรมที่ได้ดำเนินการไป ก็ใช้รับการประเมินได้ 
  • กลุ่มกำปั้น ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ปัญหา ฝึกนิสัย มีวินัยในการจอดรถ" ...  เป็นชื่อโครงการที่ยังไม่ชัด 
    • แม้จะพอคาดเดาได้ว่า เกี่ยวกับวินัยการจอดรถ แต่คำว่า "แก้ปัญหา" โดยไม่บอกว่าปัญหาอะไร ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการขาดหายใบของบางส่วน 
    • ฝึกนิสัย เป็นคำใหญ่ที่ต้องใช้สำหรับโครงการต่อเนื่อง 
  • กลุ่มลำธาร ตั้งชื่อว่า "โครงการผู้นำอาสาพัฒนาโรงเรียน" ... ใช้ได้ สั้นกระทัดรัดดี ถ้าจะดีกว่านี้คือใส่คำว่า สนามกีฬาเข้าไปด้วย เป็น "โครงการผู้นำอาสาพัฒนาสนามกีฬาโรงเรียนบ้านขามเรียง"  จะดีมาก 
  • กลุ่มภูเขา ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ไขท่อระบายน้ำอุดตันในตลาดน้อย" ... ชัดเจนว่าจะไปทำที่ไหนดี แต่ยังไม่ใช่ชื่อโครงการที่ดี เพราะ
    • ชื่อโครงการสื่อความหมายยิ่งใหญ่เกินกำลังของนิสิตจิตอาสาเพียง ๘ คน ที่จะไปแก้ไขการอุดตันของท่อน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง
    • ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่จะไปทำ กลุ่มภูเขาจะไปออกแบบทำตระแกรงป้องกันการอุดตันของท่อ ไม่ได้จะไปแก้ปัญหาน้ำอุดตัน
  • กลุ่มเทียน ตั้งชื่อว่า "โครงการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งศึกษา" ... ก่อนจะแสดงคอมเมนต์ ขอสรุปให้เห็นความหมายของคำเหล่านี้ก่อน 
    • คำว่าฟื้นฟู หมายถึง พัฒนาสิ่งที่เคยดีอยู่แต่เสื่อมไปให้กลับมาดีดังเดิม อะไรที่หลับไปให้ฟื้นขึ้น อะไรที่จมหายไปให้กลับลอยขึ้น มักใช้กับมิติทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
    • คำว่าพัฒนา หมายความถึง การทำให้สิ่งที่ยังไม่ดีดีขึ้น หรือสิ่งที่ดีแล้วดียิ่งขึ้นอีก 
    • ดังนั้น การใช้คำว่า ฟื้นฟูและพัฒนา จึงควรแยกให้เห็นว่า จำทำอะไรให้เด่นชัด เช่น 
    • โครงการฟื้นฟูป่าโคกหนองคอง โครงการฟื้นฟูศิลปะการปั้นดินบ้านหม้อ ฯลฯ 
    • โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 
    • หากต้องการทำทั้งสองประเด็น ก็เขียนให้เห็นโดยเชื่อมด้วยคำว่า "และ" 
  • กลุ่มบันได ตั้งชื่อว่า "โครงการจิตอาสาล้างพัดลม"  ... ชัดเจนขึ้นได้อีกเป็น
    •  "โครงการจิตอาสาล้างพัดลมตลาดน้อย" ... ทำให้บรรลุได้ง่ายขึ้นและมีคุณค่ามากขึ้นได้เป็น
    • "โครงการส่งเสริมจิตอาสาแก้ปัญหาพัดลมตลาดน้อย"
    • ฯลฯ
  • กลุ่มดอกบัว ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ปัญหาวินัยการจอดรถของนิสิต" ... เป็นชื่อที่ชัดถึงวัตถุประสงค์ดีครับ แต่การใช้คำยังไม่ดีนัก  ควรปรับคำให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เช่น  
    • โครงการจิตอาสาแก้ปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์หลังอาคารบัญชีและการจัดการ
    • โครงการเสริมสร้างวินัยการจอดรถจักรยายนต์
    • ฯลฯ
นอกจากการเขียนหลักการและเหตุผล (อ่านที่นี่) การเขียนวัตถุประสงค์ (อ่านที่นี่) และการตั้งชื่อโครงการตามบันทึกนี้แล้ว  การกำหนดตัวชี้วัด คือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จเช่นกัน ... บันทึกหน้ามาว่ากันครับ 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น