วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๘) การเขียนโครงการ - ตัวชี้วัดความสำเร็จ

"ตัวชี้วัดความสำเร็จ" คือ ตัวชี้วัดความสำเร็จ ให้ความหมายตรงตัวไม่ต้องแปลความใดๆ  มาจากภาษาอังกฤษว่า Key Success Indicator หรือ Key Performance Indicator หรือ KPI ที่คนไทยนำมาใช้เป็นมาตรฐานในกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะระบบประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมักเรียกว่า "ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ"

นิสิตที่เรียนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ จะต้องฝึกกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการด้วยตนเอง จากการถอดบทเรียนจากการฟังบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ท่านแนะนำหลักในการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จไว้ที่นี่  ผมขอนำมาสอนนิสิตต่อ ดังนี้ครับ

ประเภทของตัวชี้วัดความสำเร็จ

ตัวชี้วัดความสำเร็จ อาจแบ่งเป็น ๒ หรือ ๓ ประเภทก็ได้ (คลิกศึกษาละเอียดที่นี่)
  • ถ้าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือ สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ รายงานเป็นตัวเลขได้ และ
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนำเสนอออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้
  • ถ้าแบ่งเป็น ๓ ประเภท จะได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับได้ หรือ เป็นปริมาณเชิงกายภาพที่มีหน่วยวัด เช่น จำนวน ความยาว น้ำหนัก ระยะเวลา เป็นต้น
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ตัวชี้วัดที่สร้างเกณฑ์ให้สิ่งนามธรรมนั้นเป็นตัวเลข เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับคุณธรรม ระดับความโปร่งใส ฯลฯ
    • ๓) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดไม่ใช่เชิงปริมาณ ไม่มีหน่วยวัดใด ๆ แต่ใช้การวัดเทียบกับค่าเป้าหมายที่เป็นเกณฑ์ในลักษณะพรรณนา หรือเป็นคำอธิบายของเกณฑ์ซึ่งจะช่วยในการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมิน เช่น การมีคุณค่ากับสถาบัน ศักยภาพของผู้เข้าอบรม ฯลฯ
หลักการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ

การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จสำหรับโครงการ อาจเขียนได้ ๒ แบบ ๑) เขียนตัวชี้วัดความสำเร็จแยกจากเป้าหมาย โดยเขียนแยกไว้คนละหัวข้อ และ ๒) เขียนค่าเป้าหมายรวมไว้ในตัวชี้วัดความสำเร็จ แบบแรกนิยมสำหรับใช้ในการเขียนแผนพัฒนาหรือแผนปฏิบัติราชการที่ต้องใช้เวลา ๑ ปี ๕ ปี ๑๕ ปี หรือ ๒๐ ปี ในการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น ส่วนแบบหลังนิยมเขียนในโครงการระยะสั้น เช่น โครงการย่อย ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาหรือแผนปฏิบัติราชการ เป็นต้น

การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จไม่มีเคล็ดวิธีตายตัว ขอเสนอหลักสำคัญ ๓ ประการ ในการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ  ดังนี้

๑) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ... บอกได้ว่าวัตถุประสงค์นั้นบรรลุผลสำเร็จหรือไม่
๒) วัดประเมินได้จริง ... ด้วยวิธีการหรือเครื่องมือต่าง ๆ ... ต้องไม่ใช่ทึกทักปักธง...
๓) เน้นตัวชี้วัดเพื่อพัฒนา ... ไม่ใช่ชี้วัดปัญหา

ข้อที่ ๑) สอดคล้องวัตถุประสงค์ 

ถ้าผู้อ่านได้ศึกษาข้อแนะนำในการเขียนวัตถุประสงค์ ๔ ระดับ ได้แก่ ผลผลิต ผลลัพธ์ ผลพลอยได้ และผลกระทบ (อ่านที่นี่) การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ (ตชว.) จะง่ายขึ้นทันที โดยมีแนวทางดังนี้

  • ตชว. สำหรับ "ผลผลิต"  เมื่อทำโครงการเสร็จแล้ว ตชว. นั้นจะต้องสำเร็จ สำเร็จแน่ ๆ ได้แน่ ๆ  ตัวชี้วัดความสำเร็จควรวัดออกมาเป็นตัวเลข เป็นเชิงปริมาณ 
  • ตชว. สำหรับ "ผลลัพธ์" จะเป็นสิ่งที่คาดหวังและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เกิดประโยชน์ แก้ไขปัญหา เกิดการพัฒนา โดยเฉพาะหากเป็นโครงการเกี่ยวกับพัฒนาคน จะเน้นที่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ดังนั้น นอกจากจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณแล้ว ยังต้องประเมินเชิงคุณภาพด้วย 
  • ตชว. สำหรับ "ผลพลอยได้" ควรจะง่ายต่อการประเมินตรวจสอบ มักเป็น ตชว. เชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ สนทนา หรือสังเกต ... ควรตั้ง ตชว. ผลพลอยได้ให้ประเมินง่ายกว่าตัวชี้วัดหลัก
  • ตชว. สำหรับ "ผลกระทบ"  ข้อนี้ไม่ต้องมีก็ได้ครับ ... เมื่อดำเนินโครงการผ่านไปสักระยะที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบในทางที่ดีขึ้น แล้วจึงประเมินต่างหากก็สามารถทำได้ 
ข้อที่ ๒) วัดประเมินได้จริง

ตชว. เชิงปริมาณ ที่วัดผลเป็นตัวเลข ปริมาณ จำนวน ประสบการณ์ตรวจทำงานที่ผ่านมา พบว่า ไม่ค่อยมีปัญหานัก เช่น
    • จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของกลุ่มเป้าหมาย 
    • จำนวนผลงานหรือชิ้นงาน อย่างน้อย ๕ ผลงาน 
    • ฯลฯ
  • ตชว. ที่เป็นปัญหาคือ ตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม คุณภาพ แต้ต้องการจะวัดเป็นเชิงปริมาณ ... ต้องสร้างเครื่องมือประเมิน เช่น 
    • ระดับความสำเร็จของ......   ซึ่งต้องตั้งเกณฑ์เป็นรายข้อละเอียดและกำหนดในเกณฑ์ว่าทำได้กี่ข้อจึงจะสำเร็จเป็นระดับ ๆ   นิยมใช้ในเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา 
    • ร้อยละของผลงานที่ได้มาตรฐาน   ต้องตั้งเกณฑ์แบบรูบิค (Rubic Scale) ว่ามาตรฐานคืออะไร พิจารณาอย่างไร 
    • ร้อยละของความพึงพอใจ ... ต้องใช้แบบสอบถามแบบเรทติงสเกล (Rating Scale)  ประเมินจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ด้านการสร้างเครื่องมือและทางสถิติ 
    • ฯลฯ
  • ตชว. ที่วัดยากที่สุดคือ ตชว.เชิงคุณภาพ  วิธีการในการประเมินต้องใช้ประสบการณ์และเครื่องต่าง ๆ ประกอบ ต้องระวังไม่ให้เป็นความคิดหรือความเห็นของตนเอง ระวังไม่ให้มีอคติใด ๆ ไปเกี่ยวข้อง เช่น 
    • ประสิทธิภาพ ... ต้องสร้างเกณฑ์ สร้างเครื่องมือวัดตามเกณฑ์ และวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลด้วย 
    • ศักยภาพของคน ...  ต้องสร้างแบบทดสอบความรู้ แบบประเมินศักยภาพ ฯลฯ 
    • พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ... ต้องใช้การสัมภาษณ์ สังเกตุ และสังเคราะห์ 
    • ผลกระทบ ... ต้องมองรอบ ละเอียด และเป็นองค์รวม เชื่อมโยง
ข้อ ๓) เน้นตัวชี้วัดเชิงพัฒนา 

  • ตชว. ต้องเป็นเชิงบวก หรือไม่ก็กลาง ๆ เน้นไปที่ข้อเท็จจริงอันไม่กระทบให้ใครเดือดร้อน เช่น 
    • จำนวนนิสิตที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๖๐ ของคะแนนเต็ม 
    • บางครั้งใช้ ตชว. เชิงลบ เช่น  จำนวนนิสิตที่สอบตก..... ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ดี 
  • ตชว. เป็นแบบ Transformative คือ สะท้อนการเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยให้เปลี่ยนแปลง  ไม่ใช่ ตชว. แบบได้ตก หรือ Summative อย่างเดียว  เช่น 
    • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาไม่น้อยกว่า ๓.๕๐ (คะแนนเต็ม ๕)  
    • จำนวนแนวปฏิบัติที่ดี อย่างน้อย ๒ แนวปฏิบัติ 
    • ฯลฯ
วิพากษ์การกำหนดตัวชี้วัด จากงานชิ้นแรก

ดูตัวอย่างของกลุ่มอินทรี ดังภาพ


สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดี  (วิพากษ์วัตถุประสงค์ไปแล้วที่นี่)  แต่ที่เขียนมายังเหมือน ตชว.ความสำเร็จ
  • นิสิตเข้าเรียนทันเวลาในรายวิชาที่เรียน  .... ควรเปลี่ยนเป็น  จำนวนนิสิตที่เข้าเรียนทันเวลา 
  • นิสิตมีพื้นที่เพียงพอต่อการจอดรถ... ควรเปลี่ยนเป็น จำนวนรถจักรยานยนต์ที่จอดได้เพิ่มขึ้น 
  • นิสิตมีจิตสำนึกในการจอดรถให้เป็นระเบียบ ...  ควรเปลี่ยนเป็น จิตสำนึกในการจอดรถของนิสิต ....  ซึ่งต้องสร้างเครื่องมือประเมินจิตสำนึก  ตัวชี้วัดนี้จึงไม่เหมาะสำหรับโครงการระยะสั้น   หากปรับจุดประสงค์เป็น "ส่งเสริมจิตสำนึกการจอดรถเป็นระเบียบ" จะสามารถกำหนด ตชว. ให้ง่ายขึ้นได้เช่น ความพึงพอใจของผู้จอดรถ หรือ จำนวนนิสิตที่จอดรถไม่เป็นระเบียบ  เป็นต้น 
ตัวอย่างของกลุ่มดอกบัว


สิ่งที่ต้องปรับมากที่สุดคือ ความสอดคล้องกันระหว่าง ตัวชี้วัดความสำเร็จกับวัตถุประสงค์ สำคัญมาก... 
  • "ผู้เข้าร่วมโครงการ" ....  ควรเปลี่ยนเป็น  จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 
  • "นิสิตใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และรู้จักทำงานร่วมกัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น" ... 
    • ถ้าคิดว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ ผู้เข้าร่วมจะได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์  ตชว. จะเป็น "จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า........ คน" 
    • ถ้าต้องการให้รู้จักทำงานร่วมกันและแก้ปัญหาเป็น  ควรตั้ง ตชว. เป็น "จำนวนผลงาน" หรือ "ระดับความสำเร็จฯ" หรือ "ประสิทธิภาพของการทำงาน" เป็นต้น 
    • ถ้าต้องประเมินการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือการทำงานเป็นทีม ทักษะเรื่องเก่งคน (Soft Skills)  ตชว. ควรจะเป็น "เจตคติในการทำงานเป็นทีม" ... ซึ่งต้องออกแบบวัดเจตคติ หรืบแบบสัมภาษณ์   
  • "นิสิตได้รับประสบการณ์จากการทำงาน ตลอดจนมีจิตสำนึก ในความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมเมื่อสำเร็จการศึกษา"  ...
    • นิสิตได้รับประสบการณ์...  ตชว. อาจเป็น  จำนวนนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ 
    • มีจิตสำนึกรับผิดชอบที่มีต่อสังคมเมื่อสำเร็จการศึกษา ... ไม่สามารถวัดได้ และไม่น่าจะเกิดจริงครับ 
ดูตัวอย่างจากกลุ่มหมี 


หากข้ามเรื่องความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์กับ ตชว. ไป กลุ่มหมียังมีสิ่งที่ต้องปรับดังนี้
  • ข้อแรก ให้เขียนเฉพาะ ตชว. ไม่ต้องเอา "กลุ่มเป้าหมาย" มารวมด้วย  ควรจะเป็น "จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ" และต้องแยกให้ชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายคือนิสิตผู้ใช้สนามกีฬา ไม่ใช่นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ  
  • "ผู้ใช้สนามมีความพึงพอใจในการใช้ไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป็าหมาย" .... ข้อนี้โอเค เว้นแต่เขียนไม่กระชับ ควรเปลี่ยนคำว่า "ผู้ใช้สนามมี" เป็น "กลุ่มเป้าหมาย" และตัดคำว่าคำว่า "จำนวน" ออก 
  • "กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ "  ... ข้อนี้ก็เป็นไปตามหลักการเขียนที่กล่าวถึงข้างต้น แต่การใช้ไม้รีดน้ำไม่ใช่เรื่องยากที่ควรนำมาตั้งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เนื่องจากเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคนที่สามารถใช้ไม้รีดน้ำเป็นอยู่แล้ว
  • "กลุ่มเป้าหมายนำไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ไปใช้งานได้จริงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด" ... ข้อนี้ก็เหมือนจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้  แต่เป็นเรื่องยากมากที่ผู้มาใช้สนามทุกคนจะนำเอาไม้รีดน้ำไปใช้ถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้มาใช้สนาม  และการประเมินจำนวนคนนำไปใช้ทำได้ยากมาก 
  • "บรรลุเป้าหมายตามแผนของโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด" ...ข้อนี้ใช้ไม่ได้ เพราะไม่สมเหตุสมผล ไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงข้อใด  ดูเหมือนจะหมายถึงการตรวจสอบระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในโครงการ 
ตัวอย่างจากกลุ่มภาพอิสระ


  • "จำนวนผู้ที่จอดรถผิดกฎระเบียบประมาณ ๔๐ - ๕๐ คัน" .... ตัวชี้วัดความสำเร็จต้องเขียนให้เป็นเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช้คำว่า "ประมาณ"  ควรเปลี่ยนเป็น "จำนวนรถที่จอดถูกต้องตามกฎระเบียบอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่เป้าหมาย"
  • ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ บางประการที่เกี่ยวกับการจอดรถสามารถกำหนดได้ เช่น ความเป็นระเบียบของการจอดรถของนิสิตเพิ่มขึ้น ทัศนคติที่ดีต่อการจอดรถตามกฎระเบียบ  ความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบในการจอดรถ  เป็นต้น 
เนื่องจากหลายกลุ่มไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จมาให้ในการส่งงานชิ้นแรกนี้  จึงขอนำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้เท่านั้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น