ช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่าน ชมรมตามรอยเท้าพ่อได้เสนอโครงการต่อกองกิจการนิสิตและขออนุญาตจากองอาคารสถานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม น้อมนำเอาศาสตราพระราชาตอน "อธรรมปราบอธรรม" ที่ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงแก้ปัญหาน้ำเสียในบึงมักกะสัน มาสร้างเป็นกิจกรรมจิตอาสาเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) และเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-based Learning) ณ สระน้ำระหว่างอาคารบัญชีและการจัดการและอาคารราชนครินทร์ (ตึกบัญชีฯและตึกRN) ... ผมในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ขอบันทึกการเรียนรู้และความชื่มชมของตนไว้ เป็นกำลังใจต่อสมาชิกชมรมในอีกทางหนึ่ง
ศาสตร์พระราชาตอน "อธรรมปราบอธรรม"
หลักการทรงงานสำคัญประการหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ ทรงดำริใช้ "อธรรมปราบอธรรม" ดังตัวอย่างกรณีน้ำเน่าเสียจากโรงงานรถไฟมักกะสันและชุมชนรอบ ๆ ทรงพระราชทานคำแนะนำให้นำผักตบชวามาเป็นตัวกรองน้ำเสีย ดูดซับความโสโครก เป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ....
...บึงมะกะสันนี้ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...
อธรรม ๑ คือน้ำเสียจะถูกปราบด้วยอธรรม ๑ คือผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืช
หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ทรงจะเริ่มจากการศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้หลักวิชาการ จากนั้นเป็นการวางแผนงานด้วยการเขียนลงบนกระดาษ (เขียนแผนบนกระดาษ) ก่อนจะเริ่มดำเนินงานตามขั้นตอนที่กำหนด และดูแลจดจ่อต่อเนื่อง สร้างสรรค์ภูมิปัญญาไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน .... นี่คือกระบวนการที่นิสิตชมรมฯ จะได้เรียนรู้จากโครงการฯ
สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา
ครั้งหนึ่งในที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยพบบุคลากรส่วนกลาง (สำนักศึกษาทั่วไป เป็นหนึ่งในหน่วยงานส่วนกลางของมหาวิทยาลัย) มีลุกขึ้นสะท้อนปัญหาต่อเวทีว่า ตอนนี้น้ำในสระข้างตึกRN กำลังเน่าเสีย น้ำมีสีเขียว และมีกลิ่นเหม็น ... ในใจผมคิดว่า ผมทำงานอยู่ข้างตึกราชนครินทร์ทุกวัน ไม่ยักจะได้กลิ่นอะไร แต่ก็ตั้งใจว่าจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับนิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อ จากนั้นไม่นานก็ได้มีโอกาสได้หารือกับประธานชมรมฯ นางสาวมรรคณาวี รุ่งแสง (นิสิตชั้นปี ๔ สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะการบัญชีและการจัดการ) และต่อมาในที่ประชุมชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้มีมติเสนอโครงการตามรอยพ่อตอน "บำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา" ตามรอยพระราชดำริ ณ สระน้ำข้างตึกบัญชีและRN กระบวนการเรียนรู้ตามรอยพ่อ จึงเริ่มขึ้น
เริ่มต้นด้วยการศึกษาสภาพปัญหาและวางแผนบนกระดาษ ชมรมฯ ได้เชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภูวดล โกมณเฑียร และ ดร.ญาณวุฒิ อุทลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดน้ำด้วยวิธีนิเวศวิทยา มาร่วมประชุมให้ความรู้และให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาน้ำเสีย และลงพื้นที่สำรวจปัญหาเบื้องต้น ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐
ข้อสังเกตและคำแนะนำสำคัญที่ท่านทั้งสอง มีดังนี้
- ลักษณะของสระน้ำเป็นแบบปิด ไม่สามารถระบายน้ำเข้าออกได้ ดังนั้น ต้องจัดการกับต้นตอของปัญหา คือน้ำเสียจากอาคารหรือร้านอาหารที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่สระน้ำ
- ลำพังผักตบชวาที่ชมรมจะเลี้ยงไว้ในตัวอักษร MSU ที่สูงเพียงไม่เกิน ๑๐ เมตร ตัวอักษรกว้าง ๑ เมตร นั้น ไม่สามารถจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้ ต้องเพิ่มปริมาณผักตบให้มากขึ้น และใช้กังหันน้ำเติมอากาศช่วยด้วย หรือรวมถึงการใช้อีเอ็มบอลด้วย
- ต้องตรวจคุณภาพน้ำ วัดค่า DOC BOD และความเป็นกรด-เบส เพื่อระบุแนวทางการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง
ท่านอาจารย์ นพดล ได้มอบหมายให้นิสิตได้มาตรวจวัดคุณภาพน้ำ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐ ได้ผลดังตาราง
ผลการตรวจคุณภาพน้ำบอกว่า น้ำในสระเป็นน้ำเสีย ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ละลายในน้ำหรือค่า DO (Dissolved Oxygen, DOo คือค่าที่วัดวันแรกที่เก็บน้ำตัวอย่าง) ทุกจุดมีค่าต่ำกว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l, หรือ ppm) แสดงว่าเป็นน้ำเสีย ซึ่งปกติน้ำแหล่งน้ำในธรรมชาติทั่วไปจะมีค่า DO อยู่ที่ ๕-๘ ppm
จากการสำรวจ สาเหตุของการเน่าเสียของน้ำน่าจะมาจากการปล่อยน้ำจากร้านอาหารข้าง ๆ สระน้ำทั้งฝั่งทิศใต้และทิศเหนือ ซึ่งปล่อยให้ไหลจากที่ล้างจานชามผ่านร่องน้ำคอนกรีตลงน้ำโดยตรง อย่างน้อย ๓ จุด ภาพด้านล่างต่อไนปี้แสดงจุดที่น้ำล้างจานจากร้านอาหารแห่งหนึ่งด้านทิศใต้ของสระน้ำ
จากการศึกษาศาสตร์พระราชาที่ทรงแนะนำให้นำผักตบชวามาใช้บำบัดน้ำเสีย หลักสำคัญในการเพาะเลี้ยงและดูแล มีดังนี้
- เพาะเลี้ยงไว้ในที่จำกัดเขตของการขยาย ขนาดไม่ใหญ่เกินไป สามารถเข้าถึงได้และใช้เครื่องมือรื้อทิ้งผักตบเมื่อตอนแก่เต็มที่ได้ และเพื่อป้องกันการกระจายเต็มสระน้ำ ...
- ขนาดของแปลงผักตบ ควรมีรูปแบบที่ไม่กว้างยาวเกินไป จนปกปิดแสงอาทิตย์อันจำเป็นต่อการเจริญเติบของสิ่งมีชีวิตในน้ำ ... การเพาะเลี้ยงผักตบเป็นตัวอักษรขนาดกว้างเพียง ๑ เมตร จึงผ่านเป็นไปตามความข้อนี้
- ต้องรื้อผักตบแก่เก่าเอาออกทุก ๆ ๑๐ สัปดาห์ (๒ เดือนครึ่ง) เพื่อให้มีผักตบที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ตลอด ผักตบชวาจะดูดซับสิ่งโสโครกและสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำอันเป็นเหตุของน้ำเน่าเสีย ทำหน้าที่เป็นเหมือนไต ... ในหลวงทรงเรียกว่า "ไตธรรมชาติ"
- ลำพังผักตบชวาที่เพาะเลี้ยงนี้ จะไม่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ต้องใช้เครื่องเติมอากาศเพิ่มเติม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนี้แล้วอาจใช้อีเอ็มบอลช่วยเพิ่มจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง
(ขอบคุณ ภาพจาก มานะ ภูพันนา)
ขอเป็นกำลังใจและฝ่ายสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ต่อไป นิสิตควรขอบพระคุณกองกิจการนิสิตฯ ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมกิจกรรมเรียนรู้ที่ดีแบบนี้ในมหาวิทยาลัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น