วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๘) การเขียนโครงการ - ตัวชี้วัดความสำเร็จ

"ตัวชี้วัดความสำเร็จ" คือ ตัวชี้วัดความสำเร็จ ให้ความหมายตรงตัวไม่ต้องแปลความใดๆ  มาจากภาษาอังกฤษว่า Key Success Indicator หรือ Key Performance Indicator หรือ KPI ที่คนไทยนำมาใช้เป็นมาตรฐานในกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะระบบประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมักเรียกว่า "ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ"

นิสิตที่เรียนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ จะต้องฝึกกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการด้วยตนเอง จากการถอดบทเรียนจากการฟังบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ท่านแนะนำหลักในการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จไว้ที่นี่  ผมขอนำมาสอนนิสิตต่อ ดังนี้ครับ

ประเภทของตัวชี้วัดความสำเร็จ

ตัวชี้วัดความสำเร็จ อาจแบ่งเป็น ๒ หรือ ๓ ประเภทก็ได้ (คลิกศึกษาละเอียดที่นี่)
  • ถ้าแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือ สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ รายงานเป็นตัวเลขได้ และ
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ ที่บ่งบอกถึงคุณภาพและคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งนำเสนอออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้
  • ถ้าแบ่งเป็น ๓ ประเภท จะได้แก่
    • ๑) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือตัวชี้วัดที่สามารถนับได้ หรือ เป็นปริมาณเชิงกายภาพที่มีหน่วยวัด เช่น จำนวน ความยาว น้ำหนัก ระยะเวลา เป็นต้น
    • ๒) ตัวชี้วัดเชิงปริมาณที่ใช้วัดสิ่งที่เป็นนามธรรม คือ ตัวชี้วัดที่สร้างเกณฑ์ให้สิ่งนามธรรมนั้นเป็นตัวเลข เช่น ระดับความพึงพอใจ ระดับคุณธรรม ระดับความโปร่งใส ฯลฯ
    • ๓) ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ ตัวชี้วัดไม่ใช่เชิงปริมาณ ไม่มีหน่วยวัดใด ๆ แต่ใช้การวัดเทียบกับค่าเป้าหมายที่เป็นเกณฑ์ในลักษณะพรรณนา หรือเป็นคำอธิบายของเกณฑ์ซึ่งจะช่วยในการใช้วิจารณญาณของผู้ประเมิน เช่น การมีคุณค่ากับสถาบัน ศักยภาพของผู้เข้าอบรม ฯลฯ
หลักการเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ

การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จสำหรับโครงการ อาจเขียนได้ ๒ แบบ ๑) เขียนตัวชี้วัดความสำเร็จแยกจากเป้าหมาย โดยเขียนแยกไว้คนละหัวข้อ และ ๒) เขียนค่าเป้าหมายรวมไว้ในตัวชี้วัดความสำเร็จ แบบแรกนิยมสำหรับใช้ในการเขียนแผนพัฒนาหรือแผนปฏิบัติราชการที่ต้องใช้เวลา ๑ ปี ๕ ปี ๑๕ ปี หรือ ๒๐ ปี ในการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น ส่วนแบบหลังนิยมเขียนในโครงการระยะสั้น เช่น โครงการย่อย ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาหรือแผนปฏิบัติราชการ เป็นต้น

การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จไม่มีเคล็ดวิธีตายตัว ขอเสนอหลักสำคัญ ๓ ประการ ในการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ  ดังนี้

๑) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ... บอกได้ว่าวัตถุประสงค์นั้นบรรลุผลสำเร็จหรือไม่
๒) วัดประเมินได้จริง ... ด้วยวิธีการหรือเครื่องมือต่าง ๆ ... ต้องไม่ใช่ทึกทักปักธง...
๓) เน้นตัวชี้วัดเพื่อพัฒนา ... ไม่ใช่ชี้วัดปัญหา

ข้อที่ ๑) สอดคล้องวัตถุประสงค์ 

ถ้าผู้อ่านได้ศึกษาข้อแนะนำในการเขียนวัตถุประสงค์ ๔ ระดับ ได้แก่ ผลผลิต ผลลัพธ์ ผลพลอยได้ และผลกระทบ (อ่านที่นี่) การเขียนตัวชี้วัดความสำเร็จ (ตชว.) จะง่ายขึ้นทันที โดยมีแนวทางดังนี้

  • ตชว. สำหรับ "ผลผลิต"  เมื่อทำโครงการเสร็จแล้ว ตชว. นั้นจะต้องสำเร็จ สำเร็จแน่ ๆ ได้แน่ ๆ  ตัวชี้วัดความสำเร็จควรวัดออกมาเป็นตัวเลข เป็นเชิงปริมาณ 
  • ตชว. สำหรับ "ผลลัพธ์" จะเป็นสิ่งที่คาดหวังและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น เกิดประโยชน์ แก้ไขปัญหา เกิดการพัฒนา โดยเฉพาะหากเป็นโครงการเกี่ยวกับพัฒนาคน จะเน้นที่พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ดังนั้น นอกจากจะกำหนดเป็นตัวชี้วัดเชิงปริมาณแล้ว ยังต้องประเมินเชิงคุณภาพด้วย 
  • ตชว. สำหรับ "ผลพลอยได้" ควรจะง่ายต่อการประเมินตรวจสอบ มักเป็น ตชว. เชิงคุณภาพ จากการสัมภาษณ์ สนทนา หรือสังเกต ... ควรตั้ง ตชว. ผลพลอยได้ให้ประเมินง่ายกว่าตัวชี้วัดหลัก
  • ตชว. สำหรับ "ผลกระทบ"  ข้อนี้ไม่ต้องมีก็ได้ครับ ... เมื่อดำเนินโครงการผ่านไปสักระยะที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบในทางที่ดีขึ้น แล้วจึงประเมินต่างหากก็สามารถทำได้ 
ข้อที่ ๒) วัดประเมินได้จริง

ตชว. เชิงปริมาณ ที่วัดผลเป็นตัวเลข ปริมาณ จำนวน ประสบการณ์ตรวจทำงานที่ผ่านมา พบว่า ไม่ค่อยมีปัญหานัก เช่น
    • จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของกลุ่มเป้าหมาย 
    • จำนวนผลงานหรือชิ้นงาน อย่างน้อย ๕ ผลงาน 
    • ฯลฯ
  • ตชว. ที่เป็นปัญหาคือ ตัวชี้วัดที่เป็นนามธรรม คุณภาพ แต้ต้องการจะวัดเป็นเชิงปริมาณ ... ต้องสร้างเครื่องมือประเมิน เช่น 
    • ระดับความสำเร็จของ......   ซึ่งต้องตั้งเกณฑ์เป็นรายข้อละเอียดและกำหนดในเกณฑ์ว่าทำได้กี่ข้อจึงจะสำเร็จเป็นระดับ ๆ   นิยมใช้ในเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา 
    • ร้อยละของผลงานที่ได้มาตรฐาน   ต้องตั้งเกณฑ์แบบรูบิค (Rubic Scale) ว่ามาตรฐานคืออะไร พิจารณาอย่างไร 
    • ร้อยละของความพึงพอใจ ... ต้องใช้แบบสอบถามแบบเรทติงสเกล (Rating Scale)  ประเมินจากกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งต้องใช้ทั้งความรู้ด้านการสร้างเครื่องมือและทางสถิติ 
    • ฯลฯ
  • ตชว. ที่วัดยากที่สุดคือ ตชว.เชิงคุณภาพ  วิธีการในการประเมินต้องใช้ประสบการณ์และเครื่องต่าง ๆ ประกอบ ต้องระวังไม่ให้เป็นความคิดหรือความเห็นของตนเอง ระวังไม่ให้มีอคติใด ๆ ไปเกี่ยวข้อง เช่น 
    • ประสิทธิภาพ ... ต้องสร้างเกณฑ์ สร้างเครื่องมือวัดตามเกณฑ์ และวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลด้วย 
    • ศักยภาพของคน ...  ต้องสร้างแบบทดสอบความรู้ แบบประเมินศักยภาพ ฯลฯ 
    • พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง ... ต้องใช้การสัมภาษณ์ สังเกตุ และสังเคราะห์ 
    • ผลกระทบ ... ต้องมองรอบ ละเอียด และเป็นองค์รวม เชื่อมโยง
ข้อ ๓) เน้นตัวชี้วัดเชิงพัฒนา 

  • ตชว. ต้องเป็นเชิงบวก หรือไม่ก็กลาง ๆ เน้นไปที่ข้อเท็จจริงอันไม่กระทบให้ใครเดือดร้อน เช่น 
    • จำนวนนิสิตที่สอบผ่านเกณฑ์ร้อยละ ๖๐ ของคะแนนเต็ม 
    • บางครั้งใช้ ตชว. เชิงลบ เช่น  จำนวนนิสิตที่สอบตก..... ก็สามารถทำได้ แต่ไม่ดี 
  • ตชว. เป็นแบบ Transformative คือ สะท้อนการเปลี่ยนแปลง หรือปัจจัยให้เปลี่ยนแปลง  ไม่ใช่ ตชว. แบบได้ตก หรือ Summative อย่างเดียว  เช่น 
    • ระดับความสำเร็จของการพัฒนาไม่น้อยกว่า ๓.๕๐ (คะแนนเต็ม ๕)  
    • จำนวนแนวปฏิบัติที่ดี อย่างน้อย ๒ แนวปฏิบัติ 
    • ฯลฯ
วิพากษ์การกำหนดตัวชี้วัด จากงานชิ้นแรก

ดูตัวอย่างของกลุ่มอินทรี ดังภาพ


สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดี  (วิพากษ์วัตถุประสงค์ไปแล้วที่นี่)  แต่ที่เขียนมายังเหมือน ตชว.ความสำเร็จ
  • นิสิตเข้าเรียนทันเวลาในรายวิชาที่เรียน  .... ควรเปลี่ยนเป็น  จำนวนนิสิตที่เข้าเรียนทันเวลา 
  • นิสิตมีพื้นที่เพียงพอต่อการจอดรถ... ควรเปลี่ยนเป็น จำนวนรถจักรยานยนต์ที่จอดได้เพิ่มขึ้น 
  • นิสิตมีจิตสำนึกในการจอดรถให้เป็นระเบียบ ...  ควรเปลี่ยนเป็น จิตสำนึกในการจอดรถของนิสิต ....  ซึ่งต้องสร้างเครื่องมือประเมินจิตสำนึก  ตัวชี้วัดนี้จึงไม่เหมาะสำหรับโครงการระยะสั้น   หากปรับจุดประสงค์เป็น "ส่งเสริมจิตสำนึกการจอดรถเป็นระเบียบ" จะสามารถกำหนด ตชว. ให้ง่ายขึ้นได้เช่น ความพึงพอใจของผู้จอดรถ หรือ จำนวนนิสิตที่จอดรถไม่เป็นระเบียบ  เป็นต้น 
ตัวอย่างของกลุ่มดอกบัว


สิ่งที่ต้องปรับมากที่สุดคือ ความสอดคล้องกันระหว่าง ตัวชี้วัดความสำเร็จกับวัตถุประสงค์ สำคัญมาก... 
  • "ผู้เข้าร่วมโครงการ" ....  ควรเปลี่ยนเป็น  จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ 
  • "นิสิตใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และรู้จักทำงานร่วมกัน ตลอดจนการแก้ไขปัญหาและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น" ... 
    • ถ้าคิดว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์ ผู้เข้าร่วมจะได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์  ตชว. จะเป็น "จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการไม่น้อยกว่า........ คน" 
    • ถ้าต้องการให้รู้จักทำงานร่วมกันและแก้ปัญหาเป็น  ควรตั้ง ตชว. เป็น "จำนวนผลงาน" หรือ "ระดับความสำเร็จฯ" หรือ "ประสิทธิภาพของการทำงาน" เป็นต้น 
    • ถ้าต้องประเมินการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น หรือการทำงานเป็นทีม ทักษะเรื่องเก่งคน (Soft Skills)  ตชว. ควรจะเป็น "เจตคติในการทำงานเป็นทีม" ... ซึ่งต้องออกแบบวัดเจตคติ หรืบแบบสัมภาษณ์   
  • "นิสิตได้รับประสบการณ์จากการทำงาน ตลอดจนมีจิตสำนึก ในความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมเมื่อสำเร็จการศึกษา"  ...
    • นิสิตได้รับประสบการณ์...  ตชว. อาจเป็น  จำนวนนิสิตที่เข้าร่วมโครงการ 
    • มีจิตสำนึกรับผิดชอบที่มีต่อสังคมเมื่อสำเร็จการศึกษา ... ไม่สามารถวัดได้ และไม่น่าจะเกิดจริงครับ 
ดูตัวอย่างจากกลุ่มหมี 


หากข้ามเรื่องความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์กับ ตชว. ไป กลุ่มหมียังมีสิ่งที่ต้องปรับดังนี้
  • ข้อแรก ให้เขียนเฉพาะ ตชว. ไม่ต้องเอา "กลุ่มเป้าหมาย" มารวมด้วย  ควรจะเป็น "จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ" และต้องแยกให้ชัดเจนว่า กลุ่มเป้าหมายคือนิสิตผู้ใช้สนามกีฬา ไม่ใช่นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการ  
  • "ผู้ใช้สนามมีความพึงพอใจในการใช้ไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป็าหมาย" .... ข้อนี้โอเค เว้นแต่เขียนไม่กระชับ ควรเปลี่ยนคำว่า "ผู้ใช้สนามมี" เป็น "กลุ่มเป้าหมาย" และตัดคำว่าคำว่า "จำนวน" ออก 
  • "กลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ "  ... ข้อนี้ก็เป็นไปตามหลักการเขียนที่กล่าวถึงข้างต้น แต่การใช้ไม้รีดน้ำไม่ใช่เรื่องยากที่ควรนำมาตั้งเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เนื่องจากเป็นเรื่องพื้นฐานของทุกคนที่สามารถใช้ไม้รีดน้ำเป็นอยู่แล้ว
  • "กลุ่มเป้าหมายนำไม้รีดน้ำเอนกประสงค์ไปใช้งานได้จริงไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด" ... ข้อนี้ก็เหมือนจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้  แต่เป็นเรื่องยากมากที่ผู้มาใช้สนามทุกคนจะนำเอาไม้รีดน้ำไปใช้ถึงร้อยละ ๘๐ ของผู้มาใช้สนาม  และการประเมินจำนวนคนนำไปใช้ทำได้ยากมาก 
  • "บรรลุเป้าหมายตามแผนของโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนกลุ่มเป้าหมายทั้งหมด" ...ข้อนี้ใช้ไม่ได้ เพราะไม่สมเหตุสมผล ไม่อาจเข้าใจได้ว่าหมายถึงข้อใด  ดูเหมือนจะหมายถึงการตรวจสอบระดับความสำเร็จของการดำเนินการตามแผนการดำเนินการที่กำหนดไว้ในโครงการ 
ตัวอย่างจากกลุ่มภาพอิสระ


  • "จำนวนผู้ที่จอดรถผิดกฎระเบียบประมาณ ๔๐ - ๕๐ คัน" .... ตัวชี้วัดความสำเร็จต้องเขียนให้เป็นเกณฑ์ชัดเจน ไม่ใช้คำว่า "ประมาณ"  ควรเปลี่ยนเป็น "จำนวนรถที่จอดถูกต้องตามกฎระเบียบอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ ของพื้นที่เป้าหมาย"
  • ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ บางประการที่เกี่ยวกับการจอดรถสามารถกำหนดได้ เช่น ความเป็นระเบียบของการจอดรถของนิสิตเพิ่มขึ้น ทัศนคติที่ดีต่อการจอดรถตามกฎระเบียบ  ความรู้ความเข้าใจในกฎระเบียบในการจอดรถ  เป็นต้น 
เนื่องจากหลายกลุ่มไม่ได้กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จมาให้ในการส่งงานชิ้นแรกนี้  จึงขอนำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างข้างต้นนี้เท่านั้น 


วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๗) การเขียนโครงการ - ชื่อโครงการ

ในการเขียนโครงการ สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือ "การตั้งชื่อโครงการ" ต้องใช้ทักษะด้านการคิดสังเคราะห์และด้านการใช้ภาษา ชื่อโครงการที่ดีไม่มีเกณฑ์อะไรตายตัว ขึ้นอยู่กับมุมมอง (วิธีคิด) และประสบการณ์ของผู้ได้อ่าน จึงไม่ต้องแปลกใจหากต่อไปนิสิตจะตั้งชื่อโครงการแล้วมีผู้วิพากษ์หลากหลาย เช่น

  • บางท่านเน้นให้เด่นเห็นการปฏิบัติ 
  • บางท่านเน้นให้คล้องจองและลัดสั้นสละสลวย กระทัดรัด 
  • บางท่านบอกว่าต้องอ่านแล้วรู้เรื่องไม่ต้องกลัวเปลืองบรรทัด ชัดเจน
  • ฯลฯ 
อย่างไรก็ดี จากการถอดบทเรียนจากการบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ เรื่องการเขียนโครงการ ท่านได้ให้แนวทางในการตั้งชื่อโครงการที่ดีไว้ดังนี้ (อ่านที่นี่)

การตั้งชื่อโครงการ

การตั้งชื่อโครงการ ควรระบุให้ทราบถึงแนวทางปฏิบัติและความคาดหวังหรือผลตอบแทนจากการทำโครงการ คืออ่านแล้วให้ทราบทิศทางของโครงการนั้น เช่น 
  • โครงการกล้าใหม่ต้นอ้อ ต่อยอดภูมิปัญญา
  • โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ
  • โครงการวัยรุ่นรักษ์วัฒนธรรม
  • โครงการขับขี่ปลอดภัย 
  • ฯลฯ
หลักการในการตั้งชื่อโครงการ มีดังนี้

  • อ่านแล้วทราบถึงแนวทาง ทิศทางของโครงการ หรือบอกว่าเกี่ยวกับอะไร
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานนโยบาย ควรเขียนให้สอดคล้องกับกลยุทธ์หรือนโยบายนั้นๆ เช่น โครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานปัญหา อาจเขียนได้ ๒ แบบ คือ 
    • ๑) เขียนแบบบอกปัญหา เช่น โครงการแก้ปัญหา....... หรือ 
    • ๒) เขียนแบบบอกทางแก้ไข เช่น โครงการชวนน้องอ่านหนังสือ 
    • ฯลฯ
  • ถ้าเป็นโครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ เขียนให้เห็นภาพฝันหรือภาพแห่งความสำเร็จจะดี เช่น โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากขยะ 
  • ฯลฯ
วิพากษ์ชื่อโครงการจากงานเขียนโครงการชิ้นแรก 
  • กลุ่มหมี ตั้งชื่อว่า "โครงการไม้รีดน้ำเอนกประสงค์" ... ชื่อเหมือนโครงงานหรือโครงการสร้างสิ่งประดิษฐ์  ควรตั้งชื่อให้สื่อถึงสิ่งที่กลุ่มหมีจะไปดำเนินการทั้งหมด  เช่น  โครงการนิสิตจิตอาสาแก้ปัญหาน้ำขังสนามกีฬาเอนกประสงค์ ฯลฯ 
  • กลุ่มอินทรี ตั้งชื่อว่า "โครงการร่วมใจไม่ไร้จิตสำนึกในการจอดรถ" ... เป็นเหมือนคำสุนทรพจน์ หรือคำขวัญ หรือคำรณรงค์  ควรตั้งชื่อให้สื่อว่าใครทำอะไรเพื่ออะไร และยังไม่สื่อถึงแก่นสำคัญของโครงการ เช่น โครงการนิสิตจิตอาสาพัฒนาการจอดรถจักรยานยนต์ ฯลฯ 
  • กลุ่มภาพอิสระ ตั้งชื่อว่า "โครงการจัดระเบียบการจอดรถเพื่อลดปัญหาการจอดซ้อนคัน" ... เป็นการตั้งชื่อที่ไม่เลวเลยครับ เห็นชัดว่าจะปฏิบัติอะไร ใช้ได้เลยทีเดียว
  • กลุ่มดวงอาทิตย์ ตั้งชื่อว่า "โครงการจิตอาสาแก่ปัญหาที่จอดรถของวิทยาลัยการเมืองการปกครอง"  ... ตั้งชื่อได้ดีครับ แต่ดูเหมือนจะยิ่งใหญ่และบรรลุได้ยาก ผมชอบชื่อของกลุ่มภาพอิสระที่ใช้คำว่าลดปัญหา... ง่ายขึ้นและสะท้อนสอดคล้องกับสิ่งที่ทำครับ 
  • กลุ่มเพชรตั้งชื่อว่า "โครงการปลูกจิตสำนึกและสร้างระเบียบวินัยให้ผู้ขับขี่จักรยานยนต์" ... เป็นชื่อโครงการที่ดี แต่ไม่เหมาะสำหรับการทำโครงการระยะสั้น ๆ แบบที่เรากำลังทำในรายวิชานี้ เพราะ คำว่า 
    • "ปลูกจิตสำนึก"  เป็นคำที่มีเป้าหมายที่คน สำหรับโครงการที่มุ่งพัฒนาคน ซึ่งจิตสำนึกนั้นมีรากฐานมาจากศรัทธาความเชื่อ ->วิธีคิด->ท่าที->กระทำ->ความเคยชิน->นิสัย->อุปนิสัย ทั้งหมดนี้แสดงออกมาจาก "จิต" นั่นคือ "จิตสำนึก" ที่เราพูดถึง ... ดังนั้นการใช้คำว่า "ปลูกฝัง" จึงควรเป็นโครงการต่อเนื่องจะดี 
    • คำว่า "สร้างระเบียบวินัย"  ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน เป็นนามธรรม และวัดประเมินได้ยาก โดยเฉพาะถ้าใช้คำว่า "สร้าง" ซึ่งหมายถึง ไม่มีแล้วเกิดมี  อาจเปลี่ยนให้ง่ายลงได้ด้วยคำว่า "ส่งเสริม" คือ หนุนเสริมให้เกิดมี แม้ว่าหลังโครงการจะประเมินว่าเกิดมีได้ยาก แต่กิจกรรมที่ได้ดำเนินการไป ก็ใช้รับการประเมินได้ 
  • กลุ่มกำปั้น ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ปัญหา ฝึกนิสัย มีวินัยในการจอดรถ" ...  เป็นชื่อโครงการที่ยังไม่ชัด 
    • แม้จะพอคาดเดาได้ว่า เกี่ยวกับวินัยการจอดรถ แต่คำว่า "แก้ปัญหา" โดยไม่บอกว่าปัญหาอะไร ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการขาดหายใบของบางส่วน 
    • ฝึกนิสัย เป็นคำใหญ่ที่ต้องใช้สำหรับโครงการต่อเนื่อง 
  • กลุ่มลำธาร ตั้งชื่อว่า "โครงการผู้นำอาสาพัฒนาโรงเรียน" ... ใช้ได้ สั้นกระทัดรัดดี ถ้าจะดีกว่านี้คือใส่คำว่า สนามกีฬาเข้าไปด้วย เป็น "โครงการผู้นำอาสาพัฒนาสนามกีฬาโรงเรียนบ้านขามเรียง"  จะดีมาก 
  • กลุ่มภูเขา ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ไขท่อระบายน้ำอุดตันในตลาดน้อย" ... ชัดเจนว่าจะไปทำที่ไหนดี แต่ยังไม่ใช่ชื่อโครงการที่ดี เพราะ
    • ชื่อโครงการสื่อความหมายยิ่งใหญ่เกินกำลังของนิสิตจิตอาสาเพียง ๘ คน ที่จะไปแก้ไขการอุดตันของท่อน้ำทิ้ง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง
    • ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่จะไปทำ กลุ่มภูเขาจะไปออกแบบทำตระแกรงป้องกันการอุดตันของท่อ ไม่ได้จะไปแก้ปัญหาน้ำอุดตัน
  • กลุ่มเทียน ตั้งชื่อว่า "โครงการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งศึกษา" ... ก่อนจะแสดงคอมเมนต์ ขอสรุปให้เห็นความหมายของคำเหล่านี้ก่อน 
    • คำว่าฟื้นฟู หมายถึง พัฒนาสิ่งที่เคยดีอยู่แต่เสื่อมไปให้กลับมาดีดังเดิม อะไรที่หลับไปให้ฟื้นขึ้น อะไรที่จมหายไปให้กลับลอยขึ้น มักใช้กับมิติทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
    • คำว่าพัฒนา หมายความถึง การทำให้สิ่งที่ยังไม่ดีดีขึ้น หรือสิ่งที่ดีแล้วดียิ่งขึ้นอีก 
    • ดังนั้น การใช้คำว่า ฟื้นฟูและพัฒนา จึงควรแยกให้เห็นว่า จำทำอะไรให้เด่นชัด เช่น 
    • โครงการฟื้นฟูป่าโคกหนองคอง โครงการฟื้นฟูศิลปะการปั้นดินบ้านหม้อ ฯลฯ 
    • โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ โครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 
    • หากต้องการทำทั้งสองประเด็น ก็เขียนให้เห็นโดยเชื่อมด้วยคำว่า "และ" 
  • กลุ่มบันได ตั้งชื่อว่า "โครงการจิตอาสาล้างพัดลม"  ... ชัดเจนขึ้นได้อีกเป็น
    •  "โครงการจิตอาสาล้างพัดลมตลาดน้อย" ... ทำให้บรรลุได้ง่ายขึ้นและมีคุณค่ามากขึ้นได้เป็น
    • "โครงการส่งเสริมจิตอาสาแก้ปัญหาพัดลมตลาดน้อย"
    • ฯลฯ
  • กลุ่มดอกบัว ตั้งชื่อว่า "โครงการแก้ปัญหาวินัยการจอดรถของนิสิต" ... เป็นชื่อที่ชัดถึงวัตถุประสงค์ดีครับ แต่การใช้คำยังไม่ดีนัก  ควรปรับคำให้เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น เช่น  
    • โครงการจิตอาสาแก้ปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์หลังอาคารบัญชีและการจัดการ
    • โครงการเสริมสร้างวินัยการจอดรถจักรยายนต์
    • ฯลฯ
นอกจากการเขียนหลักการและเหตุผล (อ่านที่นี่) การเขียนวัตถุประสงค์ (อ่านที่นี่) และการตั้งชื่อโครงการตามบันทึกนี้แล้ว  การกำหนดตัวชี้วัด คือปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จเช่นกัน ... บันทึกหน้ามาว่ากันครับ 


รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๖) การเขียนโครงการ - วัตถุประสงค์

ในการเขียนโครงการ แม้จะเริ่มด้วย "หลักการและเหตุผล" (หรือที่มาและความสำคัญ) (อ่านได้ที่นี่) แต่ในทางปฏิบัติ สิ่งที่ต้องชัดเจนก่อนเริ่มเขียน ควรจะเป็น "วัตถุประสงค์" ของโครงการ

ในรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ผมแนะนำให้นิสิตไปศึกษาจากบันทึกถอดบทเรียนจากการฟังบรรยายของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ (ที่นี่) ก่อนจะมอบหมายให้ทุกกลุ่มไปเขียนโครงการด้วยลายมือ แล้วให้มานำเสนอหน้าชั้นเรียน และส่งโครงการที่เขียนมาในวันเดียวกัน (วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐)  

ท่านบอกว่า วัตถุประสงค์ คือ ความต้องการที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากโครงการ ลักษณะที่ดีของวัตถุประสงค์ คือ ชัดเจน ทำได้จริง วัดประเมินได้ สามารถบอกเป้าหมายหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หากเป็นการพัฒนาคน ต้องระบุได้ว่าพฤติกรรมที่พึงประสงค์คืออะไร  และได้ให้หลักคิดในการเขียนวัตถุประสงค์ไว้ ๕ ประการ คือ SMART ที่แปลว่าฉลาด ... ผมปรับใช้โดยยึดเอาหลักคิดนี้ มาเรียงใหม่ตามความสำคัญและสอดคล้องกับการเขียนโครงการบนฐานปัญหา เป็น RAMS ได้แก่ 
  • Realistic  คือ ปฏิบัติจริงได้ ไม่เพ้อฝัน
  • Attainable คือ บรรลุผลได้
  • Measurable คือ ประเมินผลได้ วัดได้ 
  • Specific คือ หนึ่งข้อหนึ่งประเด็น
ส่วนการเรียงลำดับ ขอเสนอให้มีวัตถุประสงค์ ๒-๔ ระดับ เรียงตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
  • ระดับที่ ๑ ให้เขียนถึง "ผลผลิต" (Output) คือ สิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นทันทีหลังจบโครงการ ค่อนข้างมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่นอน และต้องสามารถประเมินได้ทันทีหลังจบโครงการ เป็นสิ่งที่ผู้ทำโครงการมีความมั่นใจว่าเกิดขึ้นแน่ ๆ เพราะเป็นวัตถุประสงค์หลักของโครงการ
  • ระดับที่ ๒ ให้เขียนถึง "ผลลัพธ์" (Outcome) คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เป็นความคาดหวังของโครงการที่อยากให้เกิดขึ้น เช่น การกระทำ ทักษะ ความสามารถ หรือศักยภาพ หรือเจตคติ  ฯลฯ
  • ระดับที่ ๓ ให้เขียนถึง "ผลพลอยได้" (By-product) หรือประโยชน์ทางอ้อมที่สำคัญและมีคุณค่าที่สุดที่จะเกิดขึ้นจากโครงการ
  • ระดับที่ ๔ (ถ้ามี...ในกรณีเป็นโครงการต่อเนื่องหรือโครงการระยะยาว) ให้เขียนถึง "ผลกระทบ" (Impact) คือสิ่งที่จะเป็นผลตามมาจากโครงการ หรือผลที่เกิดขึ้นต่อจากการมีผลผลิตนั้น ๆ
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์จะเขียนกี่ระดับก็ได้ แต่ทุกข้อที่เขียนจะต้องวัดผลและประเมินผลได้ จำนวนวัตถุประสงค์ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปจนทำให้ความสำคัญของโครงการน้อย วัตถุประสงค์ควรจะครอบคลุมสาระสำคัญของโครงการ
ขอนำเอาผลงานการกำหนดวัตถุประสงค์ของนิสิต ที่ลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษานี้ (๑-๒๕๖๐) มาวิพากษ์เพื่อเป็นประโยชน์ในภาคการศึกษาต่อไป  
กลุ่มอินทรี


  • เพื่อให้นิสิตเข้าเรียนทันเวลาในรายวิชาที่เรียน ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับผลลัพธ์  เหมือนจะประเมินได้ด้วยการสังเกต เก็บข้อมูล หรือสอบถามอาจารย์ผู้สอนในแต่ละชั้นเรียน แต่ในทางปฏิบัติภายใต้ข้อจำกัดของเวลา กลุ่มอินทรีไม่สามารถประเมินได้จริงแน่ จึงถือว่าเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ดี (ไม่ผ่านข้อ Measurable)
  • เพื่อให้นิสิตมีพื้นที่เพียงพอต่อการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลผลิต (กลุ่มอินทรีจะไปตีเส้นจอดรถและทำป้ายรณรงค์)  แม้จะเพิ่มพื้นที่จอดรถได้จริงจากการจอดอย่างเป็นระเบียบ  แต่ด้วยขนาดของพื้นที่ที่จะดำเนินการมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและกำลังคน  จึงไม่อาจสามารถบรรลุเป้าหมายข้อนี้ได้ จึงเป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ดีเช่นกัน 
  • เพื่อให้นิสิตมีจิตสำนึกในการจอดรถให้เป็นระเบียบ ...  ถือเป็นวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ในกรณีที่ป้ายและเส้นที่ตีไว้เป็นสัญลักษณ์จราจรทั่วไป ... แต่หากป้ายที่เขียน เป็นข้อความที่สามารถกระตุกกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกได้ ก็สามารถกำหนดไว้เป็นวัตถุประสงค์แบบผลลัพธ์ได้เช่นกัน ซึ่งสามารถประเมินทราบได้จากการสุ่มสัมภาษณ์ 
  • กลุ่มอินทรี ไม่น่าจะได้อ่านบันทึกการถอดบทเรียนที่ส่งให้  ฝากเป็นงานการบ้านให้ปรับปรุงนะครับ 
กลุ่มภูเขา


  • วัตถุประสงค์ควรเขียนเป็นข้อ ๆ  แต่ละข้อมีประเด็นเดียว  ลักษณะการเขียนของกลุ่มภูเขา เหมือนกำลังจะเขียนหลักการและเหตุผล 
  • ย่อหน้าที่สองไม่ใช่การเขียนวัตถุประสงค์ เป็นเหมือนการเขียนวิธีการดำเนินงานซึ่งตามแบบฟอร์มแล้วจะแยกไว้ในอีกหัวข้อหนึ่ง 
  • การเขียนวัตถุประสงค์ของกลุ่มภูเขาสะท้อนว่า ไม่ได้ศึกษาบันทึกแนะนำการเขียนก่อนจะลงมือเขียน  ...  ให้แก้ไขใหม่ตามคำแนะนำมากขึ้นนะครับ 
กลุ่มเทียน


  • เพื่อให้เกิดจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสนุก พร้อมทั้งให้นิสิตได้มีความสามัคคีในหมู่คณะกันมากยิ่งขึ้น ... 
    • วัตถุประสงค์เป็นนามธรรม (ไม่ Realistic) การร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพียงครั้งเดียวไม่ได้ทำให้เกิดจิตสำนึก อีกทั้งยังประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) และบรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) หากเปลี่ยนเป็น "ส่งเสริมให้เกิดจิตสำนึก.... " จะสามารถบรรลุผลได้ง่ายขึ้น 
    • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific)  ทั้งจิตสำนึก ความสามัคคี และการมีส่วนร่วม วัตถุประสงค์ที่ดีแต่ละข้อควรมีประเด็นเดียว 
  • เพื่อร่วมทำความสะอาดพื้นที่บริเวณสวนสนุก ให้เป็นที่พักผ่อนของนิสิตและประชาชนทั่วไปมาใช้ ...
    • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific) ทั้งเพื่อทำความสะอาด (ปรับปรุงภูมิทัศน์...) เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ
    •  เพื่อให้นิสิตและประชาชนมาใช้ ...ภายใต้ข้อจำกัดด้านเวลา คงไม่สามารถจะประเมินได้ 
กลุ่มภาพอิสระ


  • เพื่อให้นิสิตผู้ใช้รถและถนนตลาดน้อยจอดรถเป็นระเบียบมากขึ้น ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่เป็นจริงได้ (มี Realistic) บรรลุผลได้ (มี Attainable) และประเมินผลได้ (มี Measurable) และมีประเด็นเจาะจงเดียว (มี Specific) สรุปคือ ผ่าน RAMS สิ่งที่ต้องปรับคือการใช้คำให้กระทัดรัดเป็นทางการมากขึ้น เช่น "เพื่อให้การจอดรถในลานจอดรถหลังตลาดน้อยมีความเป็นระเบียบมากขึ้น " เป็นต้น 
  • เพื่อให้ผู้อื่นที่มาใช้บริการตลาดน้อยมีที่จอดรถที่เพียงพอ ...  เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" คือเมื่อสิ้นโครงการแล้วควรจะบรรลุผลเลย แต่ในที่นี้ กลุ่มภาพอิสระจะไปตีเส้นที่จอดและทำป้ายบอกเส้นทางเข้าจอดเพียงบางส่วนของลานจอดรถเท่านั้น จึงไม่อาจจะบรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้ได้ (ไม่ Attainable) 
  • เพื่อความเป็นระเบียบและถูกต้องตามกฎจราจร ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" คือพฤติกรรมของผู้จอดรถที่จะเปลี่ยนไป  นอกจากคำไม่ชัด ที่ต้องตัดวัตถุประสงค์ข้อนี้ออกเนื่องจากซ้ำซ้อนกับข้อแรก
กลุ่มดวงอาทิตย์

  • เพื่อปรับปรุงที่จอดรถให้มีพื้นที่เพียงพอต่อความต้องการของนิสิต ... เป็นวัตถุประสงค์แบบผลผลิต ที่ไม่อาจบรรลุผลได้จริง (ไม่ Attainable) 
  • เพื่อให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงจุดแก้ไขเกี่ยวกับปัญหาที่จอดรถ... เข้าใจว่ากำลังเขียนวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ (by-product) แต่ใช้คำไม่ถูก ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเป็นการสั่งให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงที่จอดรถ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เจาะจงลงการปฏิบัติ (ไม่ Realistic และ ไม่ Specific)
  • เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจราจรที่สืบเนื่องจากการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับต้น (ผลิตผล คือ บรรลุผลได้แน่ถ้าทำโครงการ)  โครงการบนฐานปัญหาของรายวิชานี้ทุกโครงการ ควรจะกำหนดวัตถุประสงค์ข้อนี้ไว้เป็นข้อแรก   
กลุ่มดอกบัว


  • เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถของคณะบัญชีและการจัดการบริเวณข้างอาคารเอนกประสงค์ให้เป็นระเบียบ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับผลลัพธ์ที่ปฏิบัติได้ (Realistic) บรรลุผลได้ (Attainable) ประเมินผลได้ (Measurable) และจำเพาะเจาะประเด็น (Specific)  เว้นแต่ใช้คำยังไม่กระทัดรัด  ควรปรับเป็น "เพื่อแก้ไขปัญหาการจอดรถไม่เป็นระเบียบ..... "  หรือไม่ก็เป็น "เพื่อให้การจอดรถบริเวณ....เป็นระเบียบมากขึ้น" ฯลฯ 
  • เพื่อลดปัญหาจราจรติดขัด ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลพลอยได้  ประเมินได้ยาก แต่ก็สามารถประเมินได้ด้วยการสังเกต 
  • เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลกระทบ" ประเมินได้ยากยิ่ง เพราะปัจจัยให้เกิดอุบัติเหตุมีหลากหลาย ควบคุมและวัดผลได้ยาก 
กลุ่มกำปั้น

  • เพื่อปรับปรุงสถานที่จอดรถให้จอดเป็นระเบียบมากขึ้นโดยการตีเส้นตารางเพื่อแบ่งช่องการจอดรถ ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต"  ที่ผ่านตามหลัก RAMS แต่ต้องปรับคำให้ถูกต้อง 
    • ไม่ต้องบอกวิธีการดำเนินการละเอียดในวัตถุประสงค์  ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้จากการอ่านหลักการและเหตุผลมาก่อนแล้ว และสามารถอ่านละเอียดได้ในหัวข้อ "วิธีการดำเนินการ" 
    • ใช้คำให้เป็นเหตุเป็นผล  เช่น เพื่อให้นิสิตจอดรถเป็นระเบียบมากขึ้น  หรือ เพื่อปรับปรุงสถานที่จอดรถให้สามารถรองรับจำนวนรถได้มากขึ้น เป็นต้น 
  • เพื่อให้นิสิตเข้าใจถึงปัญหาการจอดรถที่ล้ำเส้นและผิดระเบียบ ... เหมือนจะเป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" คล้ายวัตถุประสงค์ของการอบรมหรือรณรงค์ให้เข้าใจด้วยการอธิบายหรือประชาสัมพันธ์ 
    • ยังไม่เห็นแนวปฏิบัติ (ไม่ Realistic) ไม่ชัดว่านิสิตจะเข้าใจและยอมรับความผิดของตนเองในขั้นตอนใด
    • วัดประเมินผลได้ยาก (ไม่ Measurable) ต้องตั้งคำถามสัมภาษณ์ หรือจัดทำแบบทดสอบ 
    • บรรลุผลได้ยาก ในกรณีที่ไม่ได้มุ่งไปที่การพัฒนาคน 
  • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการจอดรถในมหาวิทยาลัยให้มีระเบียบและสามารถเป็นแบบอย่างให้กับมหาวิทยาลัยอื่น  
    • เพื่อสร้างภาพลักษณ์ ... เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลพลอยได้ ... ไม่จำเป็นต้องตั้งเป็นวัตถุประสงค์
    • เป็นแบบอย่างให้มหาวิทยาลัยอื่น ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลกระทบ" (Impact)  เข้าขั้นเพ้อฝัน (ไม่ Realistic) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable)
    • มีหลายประเด็น (ไม่ Specific)
กลุ่มลำธาร

  • เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่บุคลากรภายในโรงเรียน (ครู นักเรียน) ... 
    • เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลผลิต" คือ สิ้นโครงการจะได้สำเร็จเป็นแน่ ...แต่ใช้คำยังไม่สื่อ ควรปรับให้ชัดในการปฏิบัติและชัดในขอบเขตของงาน (Specific) เช่น  เพื่อผลิตสื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้น ป.๕ โรงเรียน..... เป็นต้น 
    • การเขียนวัตถุประสงค์ ไม่นิยมใช้วงเล็บขยายความ 
  • เพื่อส่งเสริมศักยภาพของนักเรียนในด้านการเรียนรู้ กล่าวคือ ควรมีสื่อพร้อม และทักษะดี ก่อให้เกิดกีฬา ที่นำมาซึ่งความสามัคคี มีน้ำใจ เหล่านี้เป็นต้นกำเนิดของพลเมืองที่ดีของประเทศ ...
    • เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์"  
    • ใช้คำไม่ถูก ส่งเสริมศักยภาพ  ควรเปลี่ยนเป็น  ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ฯลฯ  
    • วัตถุประสงค์ต้องสั้นกระทัดรัด ไม่ต้องขยายความ  ตัดตั้งแต่คำว่ากล่าวคือ.... ออก
  • เพื่อถือเป็นการพัฒนาชุมชนด้านบุคลากร ให้มีสภาพร่างกายที่แข็งแรง ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ นักเรียนไม่หมกมุ่น และเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าสังคมด้วยกีฬา ... 
    • เป็นวัตถุประสงค์เชิงผลลัพธ์หรือผลกระทบ ...  ที่มีหลายประเด็น (ไม่ Specific) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable)  
    • ไม่กระชับ ขยายความอ้อมค้อม ดังเช่นสองประโยคตอนท้าย 
    • ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ค่อนข้างเป็นนามธรรม ประเมินผลได้ยาก 
กลุ่มเพชร

  • เพื่อให้นิิสิตเห็นความสำคัญในกฎระเบียบ ... ไม่เห็นการปฏิบัติ (ไม่ Realistic) บรรลุผลได้ยาก (ไม่ Attainable) ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) 
  • เพื่อให้นิสิตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันในสังคม ... ไม่มี RAM และค่อนข้างเพ้อฝัน (ไม่ Specific)
  • เพื่อให้พื้นที่ในการจอดรถมีระเบียบ ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" บรรลุผลได้ แต่ยังใช้คำไมสื่อการปฏิบัติ 
กลุ่มหมี


  • เพื่อบำรุงสนามไม่ให้เกิดน้ำขัง .... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลผลิต" ที่ยังไม่ชัดว่าปฏิบัติอย่างไร (ไม่ Realistic) จึงไม่รู้ว่าจะประเมินอย่างไร  ควรเปลี่ยนคำว่า "บำรุง" เป็นคำกิริยาที่ชัดขึ้น 
  • เพื่อป้องกันอันตรายแก่ผู้ที่มาใช้สนาม เพื่อปลอดภัยของผู้ใช้สนาม ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่ประเมินได้ยาก (ไม่ Measurable) 
  • เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการใช้สนามร่วมกัน ... เป็นวัตถุประสงค์เชิง "ผลลัพธ์"  ที่สามารถประเมินจากลักษณะของกิจกรรม และการสัมภาษณ์ผู้มาใช้สนาม แต่กลุ่มหมีต้องไม่ใช่แค่ทำไม้รีดน้ำไปทิ้งไว้ ต้องใช้กิจกรรมเพื่อปลูกฝังด้วย 
  • เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการต่อไป ... ข้อนี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ข้อนี้  ไม่มี RAMS และถือเป็นหลักพื้นฐานว่าทุกโครงการเป็นฐานของการพัฒนาอยู่แล้ว 
กลุ่มบันได



  • เพื่อสำรวจสภาพปัญหาพัดลมในตลาดน้อย ... เป็นวัตถุประสงค์ระดับ "ผลผลิต" ที่ดี  ทุกกลุ่มควรจะมีข้อนี้เป็นข้อแรกสำหรับการเขียนโครงการบนฐานปัญหา  แต่อาจเขียนให้ชัดสละสลวยมากขึ้น เช่น เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการระบายความร้อนด้วยพัดลมในตลาดน้อย ฯลฯ 
  • เพื่อทำความสะอาดและซ่อมบำรุงเบื้องต้นพัดลมตลาดน้อย ... เป็นวัตถุประสงค์แบบ "ผลลัพธ์" ที่ชัดเจนแนวปฏิบัติ (มี Realistic) บรรลุผลได้ (มี Attainable) วัดประเมินผลได้ (Measurable) และ เจาะจงลงลึกในประเด็น (Specific) จึงผ่าน 
  • เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตจิตอาสาได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกัน ... เป็นวัตถุประสงค์แบบผลพลอยได้ที่ดี มีทั้ง RAMS จึงใช้ได้ 
  • กลุ่มนี้เขียนดีทั้งสามข้อครับ 

วันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๕) การเขียนโครงการ - หลักการและเหตุผล

วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ กิจกรรมการเรียนการสอนรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ เป็นสัปดาห์การนำเสนอเค้าโครงการบนฐานปัญหา ซึ่งได้มอบหมายงานให้ทุกกลุ่มเขียนโครงการด้วยลายมือ โดยแนะนำให้ศึกษาจากบันทึกถอดบทเรียนของ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ไว้ที่นี่  และวิธีการเขียนหลักการและเหตุผล ที่เคยบันทึกแลกเปลี่ยนไว้ที่นี่ บันทึกนี้จะวิพากษ์ผลงานการเขียนหลักการและเหตุผล เท่านั้น เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้และฝึกฝนของนิสิตรุ่นต่อ ๆ ไป

หลักการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการ

ขอเสนอวิธีการแบ่งประเภทของโครงการออกเป็น ๔ ประเภท เพื่อให้ง่ายต่อการเขียนหลักการและเหตุผล ซึ่งเคยเขียนไว้นานแล้วที่นี่

๑) โครงการฐานนโยบาย (Policy-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้แผนงานของหน่วยงาน เช่น แผนกลยุทธ์ แผนปฏิบัติราชการประจำปี ฯลฯ บรรลุเป้าประสงค์ของแผน กล่าวคือ เป็นโครงการที่เกิดจากการแปลงแผนกลยุทธ์มาเป็นแผนปฏิบัติ สิ่งที่ได้คือ "แผนดำเนินการ" ซึ่งประกอบด้วยโครงการต่าง ๆ

๒) โครงการบนฐานปัญหา (Problem-based Project) หมายถึง โครงการที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหา สำคัญว่าต้องมีการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ปัญหาอย่างดี ให้ได้ปัญหาที่แท้จริง ปัญหาที่เข้าท่า เป็นสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาสำคัญ คือ เมื่อแก้ปัญหานั้นแล้วไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาใหม่ขึ้นตามมา
โครงการบนฐานปัญหานี้ อาจแบ่งแยกย่อยไปอีกตามเป้าหมายเน้นของโครงการ ได้เป็น ๓ ประเภท ได้แก่
  • ๒.๑) โครงการเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน คือ โครงการที่มุ่งแก้ปัญหานั้น ๆ ให้ดีขึ้นในระยะเวลาไม่นาน โดยการลงมือทำเพียงครั้งเดียว เป็นโครงการระยะสั้น เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการค่ายอาสาสร้าง หรือ โครงการบริการชุมชนและสังคม (Service-based Project) หรือ โครงการบริการวิชาการ ที่มุ่งแก้ปัญหาของชุมชนโดยการถ่ายทอดองค์ความรู้หรือเทคโนโลยี เป็นต้น
  • ๒.๒) โครงการเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ หรือเรียกว่า "โครงงาน" หรือ Project for Learning คือ โครงการที่มุ่งศึกษา ค้นคว้า เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้ทำโครงงานเอง มักใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • ๒.๓) โครงการเพื่อการศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ หรือเรียกว่า "โครงการวิจัย" หรือ Research-based Project คือ โครงการที่มุ่งศึกษาค้นคว้าหาทางแก้ปัญหาที่กำหนดอย่างเป็นระบบ
๓) โครงการบนฐานความคิดสร้างสรรค์ (Creative-based Project) หมายถึง โครงการที่เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ ผู้ต้องการทำโครงการมีฉันทะที่จะพัฒนาสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้นใหม่ หรือนำสิ่งใหม่ๆ นำนวัตกรรม หรือมองไปในอนาคตและทำนายด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้น จึงเขียนโครงการขึ้นเพื่อป้องกัน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ๆ ขึ้น ฯลฯ

ในรายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ(การเปลี่ยนแปลง) ได้กำหนดให้นิสิตเลือกทำโครงการบนฐานปัญหา และฝึกเขียนหลักการและเหตุผลบนฐานปัญหา ... ต่อไปนี้เป็นงานชิ้นแรกของนิสิต เป็นการเขียนหลักการและเหตุผลของโครงการหลังจากบอกให้ไปอ่านวิธีการเขียนข้างต้นนี้ 

กลุ่มอินทรี



  • เป็นลักษณะการเขียนโครงการบนฐานปัญหา ซึ่งสามารถเขียนระบุปัญหาได้ดี แต่มีข้อแม้ว่า ผู้อ่านต้องอยู่ในสถานการณ์ปัญหานั้นด้วย  หากผู้อ่านไม่เคยประสบพบปัญหาในสถานการณืเดียวกัน อ่านแล้วจะไม่เข้าใจ ดังนั้น จึงต้องปรับคำอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น  เปลี่ยนคำว่า "ถนนเส้นนี้" เป็น "ถนนหน้าอาคารราชนครินทร์" เป็นต้น 
  • การเขียนยังไม่เห็นระดับความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหา  ผู้อ่านอาจรู้สึกว่าผู้เขียนโครงการไม่ได้ลงพื้นที่สำรวจอย่างจริงจัง  หากมีการระบุตัวเลขจำนวนรถที่จอดผิดระเบียบ จำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้น ฯลฯ  ข้อมูลที่แม่นยำ คือสิ่งที่จำทำให้งานสำเร็จ 
  • การเขียนหลักการและเหตุผล ยังขาดประเด็นสำคัญอยู่อย่างน้อย ๒ ประการ ได้แก่  แนวคิดในการแก้ไขปัญหา และภาพแห่งความสำเร็จหลังการทำโครงการ 
  • กลุ่มอินทรี น่าจะไม่ได้อ่านบันทึกแนะนำการเขียนโครงการมาก่อน 
กลุ่มหมี





  • กลุ่มหมีพยายามจะเขียนหลักการและเหตุผลบนฐานนโยบายหรือคำสั่งให้จำเป็นต้องทำโครงการ  แต่โครงการที่มอบหมายไปอยากให้เขียนโครงการบนฐานปัญหา เอาปัญหาที่ขีดเส้นใต้มาขยายความให้เห็นบริบทและความรุนแรงของปัญหา เห็นแนวคิดในการแก้ปัญหา และเห็นเป้าหมายหรือภาพความสำเร็จหลังการดำเนินโครงการ  
  • เข้าใจว่า กลุ่มหมีพยายามอ่านบันทึกแนะนำ เรื่องฝึกเขียนต้องเพียรกันต่อไปครับ 


กลุ่มบันได




  • กลุ่มเทียนเขียนข้อมูลปัญหาจากการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจได้ดีพอสมควรครับ ขาดไปบ้างเพียงแค่ความสละสลวยสอดคลัองเป็นเหตุเป็นผลของภาษาเขียน ซึ่งถือเป็นทักษะการเขียนที่ผู้เรียนต้องเพียรเขียนบ่อย ๆ   สิ่งที่ควรเพิ่มคือบริบทของ "ตลาดน้อย" ที่หากผู้อ่านไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ ไม่เคยไปตลาดน้อย อาจจะอ่านไม่เข้าใจ 
  • กลุ่มเทียนเขียนตามคำแนะนำเรื่องการนำเอาผลสำรวจเชิงตัวเลขมาเสริมความน่าเชื่อถือได้ดี  และมีสาระตามคำแนะนำ ปัญหาคืออะไร จะแก้อย่างไร ผลที่คาดจะเกิดคืออะไรได้ดี  ... เขียนบ่อย ๆ  จะดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ 


กลุ่มภูเขา



  • ย่อหน้าแรกจะถือว่าเขียนได้ดีในกรณีที่ผู้รับผิดชอบโครงการเป็นสำนักศึกษาทั่วไป ถือเป็นการเขียนหลักการและเหตุผลแบบ "ตามนโยบายหรือคำสั่ง"  แต่ในกรณีนี้ อาจมุ่งไปที่วัตถุประสงค์ของรายวิชาหรือมุ่งไปที่บริบทและเหตุผลบนฐานปัญหาเลย 
  • เขียนบริบทของปัญหา (สถานการณ์ปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ) ได้ดีพอสมควร  การปรับปรุงประโยคให้สละสลวยกระทัดรัดชัดเจนขึ้นและบอกที่มาที่ไปของตลาดน้อยเกริ่นนำก่อน จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพมากขึ้น เช่น  " ตลาดน้อยคือโรงอาหารกลางขนาดใหญ่ที่สุดของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม วิทยาเขต ต. ขามเรียง (ม.ใหม่) ทุกๆ วัน นิสิตจำนวนกว่า ๒๐,๐๐๐ คนจะมารับประทานอาหารกลางวันและอาหารเย็นที่นี่ .... " เป็นต้น 
  • ควรปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหา ให้นิสิตทุกคนในกลุ่มได้มีส่วนร่วม นิสิตได้คิดเอง ทำเอง แก้ปัญหาเองมากที่สุด


กลุ่มเทียน



  • ย่อหน้าแรกเขียนได้ดีครับ เห็นว่าปัญหาคืออะไร อยู่ที่ไหน อะไรคือสาเหตุของปัญหา  
  • ย่อหน้าที่สองและที่สาม เป็นไม่ใช่ลักษณะการเขียนหลักการและเหตุผล แต่เป็นลักษณะการเขียนหนังสือราชการแบบบันทึกข้อความ
  • ในส่วนที่จะสื่อว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ใช้คำมีลำดับขั้นตอน ๑ ๒ ๓ จึงควรจะไปเขียนไว้ที่วิธีการดำเนินการ การเขียนในส่วนหลักการและเหตุผลนั้น ต้องสังเคราะห์รวบลัดชัดเจนเห็นแนวคิด ไม่ต้องลงรายละเอียดย่อย 
  • โดยรวมถือว่า โอเคครับ เขียนดี ศึกษาจากการอ่านบันทึกได้ดี สู้ต่อไปครับ
กลุ่มลำธาร


  • โดยภาพรวมเขียนได้ดีครับ เข้าใจง่ายดี แต่....
  • การเริ่มด้วยคำว่า "คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานศึกษานั้นสำคัญมากเพียงใด ...."  ซึ่งเป็นประโยคคำพูด (ภาษาพูด) ทำให้รู้สึกไม่ค่อยเป็นทางการ  เป็นลักษณะนิยาย เรื่องสั้น   การเขียนโครงการนิยมใช้ภาษาเขียน โดยเฉพาะภาษาเขียนที่เป็นทางการ 
  • ความเป็นเหตุเป็นผลเป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวดในการเขียนหลักการและเหตุผล  ตัวอย่างเช่น การบอกว่า โรงเรียนสำคัญสื่อจึงสำคัญ ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลกันชัดเจน  นักเรียนเรียนไม่เข้าใจเพราะขาดแคลนสื่อ จึงถือว่าพอจะใช้ได้ เป็นต้น 
  • สองสามบรรทัดที่ขีเเส้นใต้ เป็น "น้ำ" นอกประเด็นไกลเกินไป  การเขียนหลักการและเหตุผล ควรเน้นไปที่ประเด็นปัญหาเด่นไปเลย ไม่ต้องอ้อม ไม่เขียนกว้าง แต่เขียนลึก ลึกลงในข้อมูลปัญหา สาเหตุปัญหา ตัวเลขจำนวน ความรุนแรง เป็นต้น 
กลุ่มภาพอิสระ


  • ตัวหนังสือสวยมากครับ ขอขอบคุณมาก ขอให้รักษาความดี (ต่อผู้อ่าน) นี้ไปตลอดกาล สอนให้ลูกหลานของเราต่อ ๆ ไป 
  • การเขียนยังเป็นภาษาพูด เช่น "พากันมีรถ..."  หรือ "ด้วยกันทั้งนั้น" ฯลฯ การเขียนโครงการนิยมใช้ภาษาเขียน ภาษาทางการ ราชการ  ... ฝากไว้ให้ฝึกต่อไปครับ 
  • ความเป็นเหตุเป็นผลของประโยคต่อประโยคเป็นเรื่องสำคัญอันดับหนึ่ง  จากการอ่านบอกว่า คนไม่เคารพกฎจึงเล็งเห็นความสำคัญ   น่าจะเขียนถึงผลกระทบจึงเห็นความสำคัญ เช่น  
    • การไม่เคารพกฎจาราจรเป็นเหตุให้เกิดการจราจนติดขัดในช่วงโมงเร่งด่วน ทำให้นิสิตเข้าเรียนสายเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการเรียนในที่สุด จึงเล็งเห็นความสำคัญ 
    • ฯลฯ 
  • บางคำบางประโยคปรับให้ชัดเจนขึ้นได้เช่น  
    • ขับรถไม่เป็นระเบียบ   น่าจะเป็น  จอดรถไม่เป็นระเบียบ หรือ ขับรถไม่เป็นไปตามกฎจราจร 
    • ฯลฯ
  • กลุ่มภาพอิสระนี้ไม่น่าจะได้อ่านคำแนะนำวิธีการเขียนตามลิงค์ที่ส่งให้ 
กลุ่มดวงอาทิตย์ 


  • เขียนย่อหน้าเกี่ยวกับปัญหาได้ดีครับ เว้นแต่ยังขาดข้อมูลเชิงปริมาณเพื่อสะท้อนความรุนแรงของปัญหา 
  • ประโยคสั้นกระทัดรัด เป็นเหตุเป็นผลดี  (สะดุดความหมายนิดเดียวตรงที่ขีดเส้นใต้ แต่ก็เข้าได้ในการอ่านรอบสอง)
  • ยังขาดอยู่สองประเด็นคือ แนวคิดในการแก้ปัญหา (ปัญญา) และภาพแห่งความสำเร็จที่จะเกิดขึ้น 
  • กลุ่มดวงอาทิตย์ ไม่น่าจะได้อ่านคำแนะนำในการเขียนก่อน 
กลุ่มดอกบัว

  • เขียนภาพแห่งความสำเร็จได้ดีครับ ... แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรมมาก  เดี๋ยวบันทึกต่อไปจะมาว่าวิพากษ์เรื่องวัตถุประสงค์ครับ 
  • ยังขาดบริบทของปัญหาครับ  
  • การใช้คำเชื่อม  "จึง ต่อ แต่ และ ต้อง ฯลฯ"  เช่น  โครงการ...จึงคิด....  โครงการคิดไม่ได้ ควรเปลี่ยนเป็น  ทีมนิสิตกลุ่มดอกบัวจึงมีแนวคิด.....
  • การใช้คำกิริยาต่าง ๆ เช่น  จัดสรรพื้นที่โดยการติดป้ายบอก  ที่จอดรถถูกจัดสรรไว้แล้วโดยกองอาคารสถานที่ของมหาวิทยาลัย การติดป้ายเป็นถือเป็นการ "จัดการ" ให้การ "จัดสรร" นั้นเป็นไปตามวัตถุประสงค์  ลองดูความหมายของคำต่อไปนี้ 
    • จัดสรร  คือแบ่งสิ่งที่มีอยู่ออกเป็นส่วน ๆ  ให้เป็นสัดเป็นส่วน เช่น จัดสรรงบประมาณ จัดสรรพื้นที่ ฯลฯ 
    • จัดหา จัดซื้อ จัดจ้าง จัดให้มี  คือ สิ่งที่ไม่มีทำให้มีขึ้น 
    • จัดการ คือ การสร้างกระบวนการ การดำเนินการให้มี เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ 
    • ฯลฯ 
  • กลุ่มดอกบัวก็น่าจะยังไม่ได้อ่าน คำแนะนำในบันทึกก่อนจะเขียนครับ 
กลุ่มเพชร


  • ชอบที่สุดคือการทำหัวกระดาษเป็นโลโก้รูปเพชรครับ หนังสื่อราชการหรือในหน่วยงานเกือบทุกหน่วยงานจะมีโลโก้หัวกระดาษแบบนี้ครับ ... แนะนำให้ทุกกลุ่มทำบ้างครับ ... เป็นแต่เพียงเพื่อฝึกศึกษานะครับ  เพราะถ้าทำจริงต้องผ่านขั้นตอนการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะตราสินค้าต่าง ๆ 
  • อ่านแล้วให้ความรู้สึกว่า ยังไม่ใช่หลักการและเหตุลของโครงการฐานปัญหาครับ เป็นเหมือนการเขียนบันทึกข้อความทั่วไป ที่มักขึ้นต้นด้วยคำเหล่านี้ 
    • เนื่องด้วย เนื่องจาก.... ซึ่งเขียนตอนจะเริ่มเรื่องไปหาใครในหน่วยงาน
    • ตามที่ .... เอาไว้ตอบหนังสือ หรือ ทำงานต่อเนื่องจากงานเดิม
    • ด้วยข้าพเจ้า.... ซึ่งเอาไว้เขียนเรื่องของตนเอง 
    • ฯลฯ 
  • ยังไม่เห็นบริบทของปัญหา (สถานการณ์ปัญหาหรือสภาพปัญหา สาเหตุ และผลกระทบ) 
  • ยังไม่เห็นแนวคิดในการแก้ปัญหา 
  • เห็นภาพความสำเร็จ  แต่ค่อนข้างเป็นนามธรรม  ประเมินได้ยาก ... จะมาวิพากษ์ในบันทึกต่อไปครับ 
  • กลุ่มเพชร คงยังไม่ได้อ่านบันทึกแนะนำ ก่อนจะเขียนงานชิ้นนี้ครับ 
กลุ่มกำปั้น



  • กลุ่มกำปั้นเขียนได้ดีครับ แสดงว่าได้อ่านคำแนะนำตามบันทึกที่ส่งลิงค์ให้ (ที่นี่)  มีปัญหาอย่างเดียวคือ เขียนแนวคิดในการแก้ปัญหาละเอียดเกินไป จนกลายเป็นการเขียนวิธีดำเนินการไป  ควรเขียนสรุปภาพรวมให้เห็นเพียงรวบรัดชัดเจนเห็นแนวคิดเท่านั้น 














วันพุธที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ชมรมตามรอยเท้าพ่อ_ (๑) ศาสตร์พระราชาแก้ปัญหาน้ำเสีย "ใช้อธรรมปราบอธรรม"

ช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่าน ชมรมตามรอยเท้าพ่อได้เสนอโครงการต่อกองกิจการนิสิตและขออนุญาตจากองอาคารสถานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม น้อมนำเอาศาสตราพระราชาตอน "อธรรมปราบอธรรม" ที่ทรงมีพระราชดำริให้หน่วยงานต่าง ๆ ร่วมกันปรับปรุงแก้ปัญหาน้ำเสียในบึงมักกะสัน มาสร้างเป็นกิจกรรมจิตอาสาเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) และเรียนรู้บนฐานปัญหา (Problem-based Learning) ณ สระน้ำระหว่างอาคารบัญชีและการจัดการและอาคารราชนครินทร์ (ตึกบัญชีฯและตึกRN) ... ผมในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาชมรม ขอบันทึกการเรียนรู้และความชื่มชมของตนไว้ เป็นกำลังใจต่อสมาชิกชมรมในอีกทางหนึ่ง 

ศาสตร์พระราชาตอน "อธรรมปราบอธรรม" 

หลักการทรงงานสำคัญประการหนึ่งของในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ ทรงดำริใช้  "อธรรมปราบอธรรม"  ดังตัวอย่างกรณีน้ำเน่าเสียจากโรงงานรถไฟมักกะสันและชุมชนรอบ ๆ ทรงพระราชทานคำแนะนำให้นำผักตบชวามาเป็นตัวกรองน้ำเสีย ดูดซับความโสโครก เป็นเครื่องกรองน้ำธรรมชาติ  ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ....

...บึงมะกะสันนี้ทำโครงการที่เรียกว่าแบบคนจน โดยใช้หลักว่าผักตบชวาที่มีอยู่ทั่วไปนั้น เป็นพืชดูดความโสโครกออกมาแล้วก็ทำให้น้ำสะอาดขึ้นได้ เป็นเครื่องกรองธรรมชาติ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์และธรรมชาติของการเติบโตของพืช...

อธรรม ๑ คือน้ำเสียจะถูกปราบด้วยอธรรม ๑ คือผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืช 



หลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ นั้น ทรงจะเริ่มจากการศึกษาปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาโดยใช้หลักวิชาการ จากนั้นเป็นการวางแผนงานด้วยการเขียนลงบนกระดาษ (เขียนแผนบนกระดาษ) ก่อนจะเริ่มดำเนินงานตามขั้นตอนที่กำหนด และดูแลจดจ่อต่อเนื่อง สร้างสรรค์ภูมิปัญญาไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน .... นี่คือกระบวนการที่นิสิตชมรมฯ จะได้เรียนรู้จากโครงการฯ 

สำรวจและวิเคราะห์ปัญหา

ครั้งหนึ่งในที่ประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยพบบุคลากรส่วนกลาง (สำนักศึกษาทั่วไป เป็นหนึ่งในหน่วยงานส่วนกลางของมหาวิทยาลัย) มีลุกขึ้นสะท้อนปัญหาต่อเวทีว่า ตอนนี้น้ำในสระข้างตึกRN กำลังเน่าเสีย น้ำมีสีเขียว และมีกลิ่นเหม็น ... ในใจผมคิดว่า ผมทำงานอยู่ข้างตึกราชนครินทร์ทุกวัน ไม่ยักจะได้กลิ่นอะไร แต่ก็ตั้งใจว่าจะเอาเรื่องนี้ไปคุยกับนิสิตชมรมตามรอยเท้าพ่อ จากนั้นไม่นานก็ได้มีโอกาสได้หารือกับประธานชมรมฯ  นางสาวมรรคณาวี รุ่งแสง (นิสิตชั้นปี ๔ สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ คณะการบัญชีและการจัดการ) และต่อมาในที่ประชุมชมรมตามรอยเท้าพ่อ ได้มีมติเสนอโครงการตามรอยพ่อตอน "บำบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา" ตามรอยพระราชดำริ ณ สระน้ำข้างตึกบัญชีและRN กระบวนการเรียนรู้ตามรอยพ่อ จึงเริ่มขึ้น 

เริ่มต้นด้วยการศึกษาสภาพปัญหาและวางแผนบนกระดาษ ชมรมฯ ได้เชิญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ภูวดล โกมณเฑียร และ ดร.ญาณวุฒิ อุทลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบำบัดน้ำด้วยวิธีนิเวศวิทยา  มาร่วมประชุมให้ความรู้และให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาน้ำเสีย และลงพื้นที่สำรวจปัญหาเบื้องต้น ในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๐

ข้อสังเกตและคำแนะนำสำคัญที่ท่านทั้งสอง มีดังนี้ 
  • ลักษณะของสระน้ำเป็นแบบปิด ไม่สามารถระบายน้ำเข้าออกได้ ดังนั้น ต้องจัดการกับต้นตอของปัญหา คือน้ำเสียจากอาคารหรือร้านอาหารที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่สระน้ำ 
  • ลำพังผักตบชวาที่ชมรมจะเลี้ยงไว้ในตัวอักษร MSU ที่สูงเพียงไม่เกิน ๑๐ เมตร ตัวอักษรกว้าง ๑ เมตร นั้น ไม่สามารถจะช่วยบำบัดน้ำเสียได้  ต้องเพิ่มปริมาณผักตบให้มากขึ้น และใช้กังหันน้ำเติมอากาศช่วยด้วย หรือรวมถึงการใช้อีเอ็มบอลด้วย 
  • ต้องตรวจคุณภาพน้ำ วัดค่า DOC BOD และความเป็นกรด-เบส  เพื่อระบุแนวทางการดำเนินการอีกครั้งหนึ่ง 


ท่านอาจารย์ นพดล ได้มอบหมายให้นิสิตได้มาตรวจวัดคุณภาพน้ำ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๐ ได้ผลดังตาราง 


ผลการตรวจคุณภาพน้ำบอกว่า น้ำในสระเป็นน้ำเสีย ปริมาณก๊าซออกซิเจนที่ละลายในน้ำหรือค่า DO (Dissolved Oxygen, DOo คือค่าที่วัดวันแรกที่เก็บน้ำตัวอย่าง) ทุกจุดมีค่าต่ำกว่า ๓ มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/l, หรือ ppm) แสดงว่าเป็นน้ำเสีย ซึ่งปกติน้ำแหล่งน้ำในธรรมชาติทั่วไปจะมีค่า DO อยู่ที่ ๕-๘ ppm

จากการสำรวจ สาเหตุของการเน่าเสียของน้ำน่าจะมาจากการปล่อยน้ำจากร้านอาหารข้าง ๆ สระน้ำทั้งฝั่งทิศใต้และทิศเหนือ ซึ่งปล่อยให้ไหลจากที่ล้างจานชามผ่านร่องน้ำคอนกรีตลงน้ำโดยตรง  อย่างน้อย ๓ จุด  ภาพด้านล่างต่อไนปี้แสดงจุดที่น้ำล้างจานจากร้านอาหารแห่งหนึ่งด้านทิศใต้ของสระน้ำ


ปลูกผักตบชวา

จากการศึกษาศาสตร์พระราชาที่ทรงแนะนำให้นำผักตบชวามาใช้บำบัดน้ำเสีย หลักสำคัญในการเพาะเลี้ยงและดูแล มีดังนี้
  • เพาะเลี้ยงไว้ในที่จำกัดเขตของการขยาย ขนาดไม่ใหญ่เกินไป สามารถเข้าถึงได้และใช้เครื่องมือรื้อทิ้งผักตบเมื่อตอนแก่เต็มที่ได้ และเพื่อป้องกันการกระจายเต็มสระน้ำ ... 
  • ขนาดของแปลงผักตบ ควรมีรูปแบบที่ไม่กว้างยาวเกินไป จนปกปิดแสงอาทิตย์อันจำเป็นต่อการเจริญเติบของสิ่งมีชีวิตในน้ำ  ...  การเพาะเลี้ยงผักตบเป็นตัวอักษรขนาดกว้างเพียง ๑ เมตร จึงผ่านเป็นไปตามความข้อนี้ 
  • ต้องรื้อผักตบแก่เก่าเอาออกทุก ๆ ๑๐ สัปดาห์ (๒ เดือนครึ่ง) เพื่อให้มีผักตบที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ตลอด  ผักตบชวาจะดูดซับสิ่งโสโครกและสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำอันเป็นเหตุของน้ำเน่าเสีย ทำหน้าที่เป็นเหมือนไต ... ในหลวงทรงเรียกว่า "ไตธรรมชาติ" 
  • ลำพังผักตบชวาที่เพาะเลี้ยงนี้ จะไม่สามารถบำบัดน้ำเสียได้ ต้องใช้เครื่องเติมอากาศเพิ่มเติม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยได้ดำเนินอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากนี้แล้วอาจใช้อีเอ็มบอลช่วยเพิ่มจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมอีกทางหนึ่ง 
(ขอบคุณ ภาพจาก มานะ ภูพันนา)


ขอชื่นชมจิตอาสาและความสามัคคีของสมาชิกชมรมตามรอยเท้าพ่อทั้ง ๓๐ คน  ปัญหาน้ำเน่าเสียจะแก้ไขได้จริง คงต้องทำต่อไปอย่างต่อเนื่องและตามหลักวิชาการวิธีต่าง ๆ  แต่สิ่งที่บรรลุและเกิดเป็นผลลัพธ์อย่างรูปธรรมแล้วคือ ประสบการณ์และความภูมิใจร่วมกันในการทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวมนี้

ขอเป็นกำลังใจและฝ่ายสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ต่อไป นิสิตควรขอบพระคุณกองกิจการนิสิตฯ ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมกิจกรรมเรียนรู้ที่ดีแบบนี้ในมหาวิทยาลัย

อีกบทบาทหนึ่งของการทำงานสืบสานปณิธานตามพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ ๙ คือ การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมตามรอยเท้าพ่อ ... ด้วยความภูมิใจและชื่นชม...