วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๔) เริ่มเขียนโครงการ-การกำหนดวัตถุประสงค์

วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๖๐ รายวิชา ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ (ผู้นำการเปลี่ยนแปลง) เรียนรวมกันในชั้นเรียนอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้กำหนดปัญหาและลงพื้นที่เพื่อ "สอบถาม" สภาพปัญหาและสาเหตุเพิ่มเติม ขั้นต่อไปตามกระบวนการเรียนรู้ PBL แบบ "๗ส." คือ "สืบค้น" และ "สังเคราะห์" (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่) ทั้งสามกระบวนการนี้ สามารถประเมินจากชิ้นงานเดียวจากนิสิตผู้เรียนคือ "การเขียนโครงการ"

ภาคเรียนที่่ผ่านมา (๒-๒๕๕๙) เราเชิญ ผศ.ดร.จินดาพร จำรัสเลิศลักษณ์ ผู้ช่วยอธิการฝ่ายประกันคุณภาพ มาบรรยายพิเศษเรื่องการเขียนโครงการและการประเมินโครงการ ผมถอดบทเรียนเรื่องการเขีนโครงการไว้ที่นี่ และเรื่องการะประเมินโครงการไว้ที่นี่ ... นิสิตต้องอ่านและทำความเข้าใจบันทึกทั้งสองนี้ก่อนจะเริ่มเขียนโครงการ บันทึกนี้นำเอาผลงานของนิสิตแต่ละกลุ่มมาบันทึกไว้ เผื่อว่าเป็นตัวอย่างสำหรับนิสิตในรุ่นถัดๆ ไป

เครื่องมือช่วยระดมสมองก่อนเริ่มเขียนโครงการ

เครื่องมือช่วยเขียนโครงการคือ "ต้นไม้ปรารถนา" (ต้นไม้แห่งความสำเร็จ)  ต่อเนื่องจากที่ให้วาด "ต้นไม้ปัญหา" ที่ได้ทำกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นิิสิตกลุ่มที่ควรจะได้คะแนนมากจากกิจกรรม "ต้นไม้ที่ตายแล้ว" นี้ ต้องเป็นกลุ่มที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดคล่อง ทักษะการคิดยืดหยุ่น และทักษะการคิดแบบละเอียดละออ  ซึ่งจะสะท้อนผ่านชิ้นงาน ดังนี้

  • ทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเกตจากความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละปัญหาและสาเหตุ  โดยสาเหตุของปัญหาหนึ่งอาจเป็นผลของสาเหตุอื่น ๆ ไปตามรากเป็นลำดับชั้นย่อย ๆ  ยิ่งแตกแขนงรากยิ่งแสดงถึงทักษะของการคิดวิเคราะห์  ส่วนการแตกกิ่งก้านของต้นไม้แห้ง ยิ่งเห็นผลกระทบมาก เห็นลำดับเชื่อมโยงของการส่งผลกระทบเป็นลำดับ ยิ่งแสดงถึงทักษะของการคิดวิเคราะห์มาก ... ซึ่งจะต้องใช้ความใส่ใจ ตั้งใจ และความเข้าใจในการทำชิ้นงาน 
  • ทักษะคิดคล่อง สังเกตจาก ประสิทธิภาพของการระดมสมองในเวลาที่กำหนด  ยิ่งคิดระดมสมองกันได้ประเด็นปัญหาหรือสาเหตุได้มาก แสดงว่ามีทักษะการคิดคล่องดี .... ในการสอนทุก ๆ ครั้ง ผมจะสังเกตปริมาณผลของการระดมสมองที่นิสิตเขียนในห้วงเวลา ๓๐ นาทีแรก  
  • ทักษะการคิดยืดหยุ่น  สังเกตจากจำนวนประเด็นปัญหา สาเหตุ หรือหมวดหมู่ของปัญหาสาเหตุ หรือผลกระทบ ยิ่งแยกเป็นประเด็นได้หลายประเด็น แสดงความเชื่อมโยงได้หลากหลาย ยิ่งสะท้อนว่านิสิตมีทักษะการคิดยืดหยุ่นมาก 
  • ทักษะการคิดละเอียดละออ สังเกตจาก ขนาดของประเด็นที่เห็น เป็นประเด็นเล็กๆ  น้อย ๆ ที่หลายคนออกมองข้าม แต่หากกลุ่มใดมองเห็นหยิบมาร้อยเรียงเป็นเหตุเป็นผล   




ส่วนกิจกรรม "ต้นไม้ปรารถนา" นอกจากสะท้อนทักษะการคิดวิเคราะห์ คิดคล่อง ยืดหยุ่น และคิดละเอียดละออ แล้ว ยังบ่งบอกได้ถึงทักษะการคิดขั้นสูงที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ และทักษะการคิดเชิงประเมินค่า โดยสังเกตจากชิ้นงานได้ ดังนี้

  • ทักษะการคิดสร้างสรรค์ พิจารณาจากวิธีการมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหา วิธีการที่ริเริ่มใหม่ หรือได้จากการสังเคราะห์ความรู้เดิมแล้วมาต่อยอด  แสดงถึงความสร้างสรรค์ของผู้คิด 
  • ทักษะการคิดเชิงประเมินค่า พิจารณาจาก ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และวิธีการตัดสินใจเลือกวิธีการ และแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม ถูกต้อง 
ต่อไปมาลองวิพากษ์ชิ้นงานของนิสิตในแต่ละกลุ่ม 


กลุ่มอินทรีย์ 

กลุ่มอินทรีย์ บอกว่า ปัญหามาสอง ข้อ (ความจริงต้องเลือกมาปัญหาเดียว) คือ ๑) ที่จอดรถจักรยานยนต์ไม่เพียงพอ และ ๒) นิสิตจอดรถจักยานยนต์ไม่เป็นระเบียบ ...ปัญหาที่น่าจะแก้ไขใด้ พอประมาณกับศักยภาพและเวลาน่าจะเป็นปัญหาที่ ๒)

สาเหตุที่กลุ่มอินทรีย์ระบุสาเหตุไม่ชัดเจน และไม่เข้าใจว่าความแตกต่างและวัตถุประสงค์ของงานที่กำหนดให้ทำต้นไม้ตายกับต้นไม้เป็น  ชิ้นงานที่ออกมาแม้จะดูสวยงาม แต่ไม่ได้ตอบโจทย์หรืออธิบายว่า สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไร จะแก้อย่างไร 

ดังนั้งผลงานของกลุ่มอินทรีย์จึงยังไม่สามารถจะเป็นตัวอย่างให้น้อง ๆ รุ่นต่อไปได้   ชิ้นงานไม่ได้สะท้อนถึงการคิดคล่อง คิดวิเคราะห์ คิดยืดหยุ่น และคิดละเอียอดละออ  ... อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจว่าต้องระดมสมองกันอย่างไร จึงทำให้ยังไม่เห็นวิธีการแก้ปัญหาในผลงานชิ้นนี้




กลุ่มกำปั้น

กลุ่มกำปั้น เลือกปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาเหตุเพราะ ๑) ที่จอดรถไม่เพียงพอกับความต้องการ (นี่ไม่ใช่สาเหตุของปัญหา นี่คือตัวปัญหา) ๒) ขาดวินัยในการจอดรถ เช่น จอดรถซ้อนคัน และ ๓) ไม่มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่การจอดรถที่ชัดเจน ....ถือเป็นการวิเคราะห์หนึ่งขั้น ยังไม่เห็นความเชื่อมโยงแตกแขนงของสาเหตุปัญหา

กลุ่มกำปั้นไม่ได้บอกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร วัตถุประสงค์และผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ ๑) การจอดรถจะเป็นระเบียบมากขึ้น ๒) อุบัติเหตุจะลดลง และ ๓) คนจะมีวินัยในการจอดรถมากขึ้น  การจราจร (บริเวณที่จอดรถ) จะไม่ติดขัด ... ผมเดาว่าคงจะไปตีเส้นที่จอดหรือทำป้ายบอกทางเดินรถและพื้นที่จอด ซึ่งน่าจะแก้ปัญหาข้อ ๑) ได้บ้าง แต่ข้อ ๒) และข้อ ๓)  ไม่ได้เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนกับวิธีการแก้ปัญหานี้








ผมคาดหวังจะเห็นนิสิต ลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบและละเอียด กลุ่มที่เลือกปัญหาที่จอดรถแบบนี้ น่าจะสามารถอธิบายภาพรวมทั้งหมดของสิ่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น ใครเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง การแก้ปัญหาเรื่องนี้เป็นหน้าที่ใคร  ในมหาวิทยาลัยมีรถกี่คัน พื้นที่จอดทั้งหมดรับได้กี่คัน มีรถกี่คันที่จอดในพื้นที่ห้ามจอด เหตุใดนิสิตจึงมาจอดโดยพื้นที่ห้ามจอด ฯลฯ  ... ข้อมูลเชิงลึกมีรายละเอียดเชิงปริมาณและคุณภาพเช่นนี้ ต้องได้มาจากการสนใจฝ่รู้ และลงพื้นที่สอบถามและสืบค้นอย่างจริงจัง

กลุ่มบันได

กลุ่มบันได เลือกปัญหา พัดลมที่ตลาดน้อยสกปรก  สาเหตุของปัญหาคือ ๑) ติดตั้งในสถานที่ที่ยากต่อการดูแล ๒) ไม่ได้รับการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ๓) มีอายุการใช้งานนาน  ไม่ได้บอกว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาใด? อย่างไร? แต่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ ดังนี้

  • เสริมสร้างสภาพแวดล้อมภายในตลาดน้อย  ... การวัตถุประสงค์ต้องเรียงลำดับตามความสำคัญ วัตถุประสงค์ข้อนี้ควรอยู่ท้าย ๆ หรือไม่ก็ไม่ต้องกำหนดเป็นวัตถุประสงค์ เพราะการทำความสะอาดเพียงพัดลม ไม่ได้ช่วยให้สภาพแวดล้อมภายในตลาดน้อยดีขึ้นจนเห็นได้ชัด 
  • เพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า ... ข้อนี้เป็นวัตถุประสงค์ที่ดูเหมือนจะดี แต่ในทางปฏิบัติ นิสิตไม่สามารถจะประเมินผลว่าสำเร็จหรือไม่ได้โดยง่าย  เพราะต้องจัดเก็บข้อมูลอย่างละเอียดและเป็นระบบมาก  การตั้งวัตถุประสงค์ต้องคำนึงถึงการประเมินวัตถุประสงค์นั้นเสมอ 
  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพัดลมให้มากขึ้น ....  คำว่า "ประสิทธิภาพ" ต้องการคำนิยามและการทดสอบ จึงยังไม่เหมาะกับโครงการระยะสั้นนี้ 
  • เพื่อให้พัดลมสะอาดและน่าใช้งาน ... วัตถุประสงค์ข้อนี้ใช้ได้ และเหมาะสมจะเป็นวัตถุประสงค์ข้อแรก แต่ควรปรับคำเขียนเล็กน้อย
  • ขอเสนอตัวอย่างของวัตถุประสงค์โครงการ ดังนี้
    • เพื่อสำรวจสภาพปัญหาพัดลมในตลาดน้อย 
    • เพื่อทำความสะอาดและซ่อมบำรุงเบื้องต้นพัดลมตลาดน้อย 
    • เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตจิตอาสาทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกัน




กลุ่มดวงอาทิตย์

กลุ่มดวงอาทิตย์กำหนดปัญหา การจราจรติดขัดตรงถนนข้างวิทยาลัยการเมืองการปกครอง วิเคราะห์ว่าสาเหตุหลักคือพฤติกรรมการจอดรถซ้อนคัน ขวางทางเดินรถซึ่งแคบและเปิดให้วิ่งสวนทางอยู่แล้ว ตั้งวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ ได้แก่

  • เพื่อแก้ปัญหาที่จอดรถ  .... เป็นวัตถุประสงค์ที่ไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไร  ใช้ "คำใหญ่" ภาพกว้างเกินไปสำหรับโครงการที่ใช้เวลาระยะสั้น
  • เพื่อปรับภูมิทัศน์ที่จอดรถให้เป็นระเบียบ ... ถือเป็นวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร และระบุผลผลิต (output) ชัดเจนว่า บริเวณที่จอดรถจะเป็นระเบียบเมื่อสิ้นโครงการ อย่างไรก็ดี 
กลุ่มดวงอาทิตย์ไม่ได้บอกวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจน ... ปัญหาน่าจะเป็นเพราะนิสิตยังไม่ได้ระดมสมอง สำรวจปัญหา และหาข้อมูลอย่างเพียงพอ ชิ้นงานจึงยังไม่สะท้อนถึงการคิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดละออ และคิดสร้างสรรค์   





ชอบมากที่กลุ่มนี้มีการตั้งเป้าหมายแยกไว้ต่างหากจากวัตถุประสงค์  ดังนี้

  • มีพื้นที่จอดรถเพียงพอ ... เนื่องจากนิสิตไม่สามารถที่จะเพิ่มพื้นที่จอดรถได้เอง เพราะเป็นหน้าที่ของกองอาคารสถานที่ (มหาวิทยาลัย) จึงควรปรับคำให้สอดคล้องกับวิธีการแก้ปัญหามากขึ้น เช่น  ลานจอดรถจักรยานยนต์วิทยาลัยการเมืองการปกครองสามารถรองรับจำนวนรถจักรยานยนต์ได้มากขึ้น  หรือ  การจอดรถจักรยานยนต์บริเวณข้างอาคารวิทยาลัยการเมืองการปกครองเป็นไปอย่างมีระเบียบเต็มตามศักยภาพ  เป็นต้น 
  • มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ... ในการประเมินโครงการจะต้องแสดงข้อมูลหรือภาพถ่ายเปรียบเทียบให้ชัดเจน   ในเล่มโครงการจะต้องขยายความให้อ่านแล้วเข้าใจชัดเจน เช่น  การจอดรถจักรยานยนต์ที่ข้างวิทยาลัยการเมืองการปกครองมีความเป็นระเบียบมากขึ้น 
  • มีความปลอดภัย ...
  • การใช้รถใช้ถนนมีความสะดวกมากขึ้น ... ข้อนี้ควรเป็นเป้าหมายข้อแรก เพราะเป็นผลผลิต (output) ที่ได้โดยตรงจากโครงการ แต่อาจปรับคำให้สลวยและเป็นทางการมากขึ้น เช่น การจราจรบนถนนระหว่างวิทยาลัยการเมืองการปกครองและคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความคล่องตัวมากขึ้น 
กลุ่มเทียน


กลุ่มเทียนเลือกปัญหาสวนสนุกมหาวิทยาลัยเสื่อมโทรม เพราะ ๑) ถูกปล่อยรกร้าง ๒) ไม่มีการกำจัดขยะที่ดี ๓) สะพานชุารุด (...ข้อนี้น่าจะเขียนหมายถึง สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ในสวนสนุกไม่ได้รับการซ่อมบำรุง)  ส่งผลกระทบให้สวนสนุกมหาวิทยาลัยกลายเป็น ๑) แหล่งเพาะพันธุ์ยุง ๒) แหล่งเพาะพันธุ์เชื่อโรค ๓) ทำให้เกิดอันตราย และ ๔) ไม่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ... (ในตอนทำรายงานให้แสดงภาพประกอบและรายละเอียดด้วยนะครับ โดยเฉพาะข้อ ๒) ๓) และ ๔) ที่ดูค่อนข้างรุนแรง)




พิจารณาจาก "ต้นไม้ปัญหา" ทำให้เข้าใจว่า จะปรับปรุงซ่อมแซมสวนสนุก ซึ่งน่าจะเกินกำลังของนิสิต แต่เมื่อดูชิ้นงาน "ต้นไม้ปรารถนา"  จะพบว่า โครงการของกลุ่มเทียนที่กำลังจะเขียนนั้น เป็นโครงการบนฐานคิดสร้างสรรค์ ต้องการที่จะสร้างแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ โดยกำหนดวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่

  • สร้างแหล่งเรียนรู้ ...  ควรเขียนให้ชัดเจนมากขึ้น สร้างแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศสมุนไพรในมหาวิทยาลัย ฯลฯ  
  • เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ... ข้อสังเกตของวัตถุประสงค์นี้ คือ การพัฒนาจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจนั้น เกินศักยภาพหรือไม่ เพราะปัญหาความเสื่อมโทรมที่กล่าวถึงข้างต้นค่อนข้างมาก  แต่ถ้าหากมองว่าจะปรับปรุงบางพื้นที่ก็อาจเป็นไปได้ 
  • ปรับปรุงภูมิทัศน์ ... วัตถุประสงค์ข้อนี้จัดเป็น Output เช่นกัน ทำแล้วเกิดทันที 
วิธีที่กลุ่มเทียนจะทำคือ ๑) ทำความสะอาดในพื้นที่ ๒) ทำจุดทิ้งขยะ ๓) ติดป้ายให้ความรู้เรื่องต้นไม้ และ ๔) ติดป้ายเตือนบริเวณสะพานที่ชำรุด  ... การดำเนินการเพียง ๔ ข้อนี้ คงยังไม่สามารถบอกได้ว่า บรรลุสำเร็จเป็นแหล่งเรียนรู้ได้  กลุ่มเทียนจะต้อง สำรวจและสืบค้นให้มาก แหล่งเรียนรู้คืออะไร มีพืชพรรณไม้กี่ชนิด องค์ความรู้อะไรที่ผู้มาชมแหล่งเรียนรู้จะได้รับ  ... นาสนใจมาก  

กลุ่มภาพอิสระ

กลุ่มภาพอิสระ เลือกปัญหาการขาดแคลนที่จอดรถจักรยายนต์บริเวณหลังตลาดน้อย ม.ใหม่ โดยเล็งไปที่การจอดรถไม่เป็นระเบียบ จอดซ้อนคัน จอดขวางทางเข้าออก ทำให้พื้นที่จอดไม่เพียงพอ กลุ่มภาพอิสระวิเคราะห์ว่า สาเหตุของปัญหาที่กลุ่มตนน่าจะสามารถแก้ไขได้คือ การไม่มีการกำหนดจุดจอดรถแยกตามประเภทอย่างชัดเจน จึงนำมาสู่วิธีการแก้ปัญหาที่กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้ 
  • ๑) เพื่อให้การจอดรถเป็นระเบียบเรียงร้อย ...    เป็นการเขียนวัตถุประสงค์ข้อแรกที่ดี เว้นแต่ต้องเพิ่มรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น เช่น  เพื่อให้การจอดรถในที่จอดรถหลังตลาดน้อย ม.ใหม่ เป็นไปอย่างเป็นระเบียบ  ฯลฯ 
  • ๒) ลดปัญหาการจอดขวางทางเข้า-ออก .... ข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับวัตถุประสงค์ข้อแรก  เพราะหากจอดเป็นระเบียบย่อมไม่ขวางทางเข้าออก  การเขียนวัตถุประสงค์ต้องไม่ซ้ำประเด็นกัน 
  • ๓) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจอดรถ ... เป็นการตั้งวัตถุประสงค์ที่วัดผลได้ยาก แต่ก็สามารถทำได้ โดยการสัมภาษณ์หรือสอบถามผู้ใช้ลานจอดรถ  การเขียนวัตถุประสงค์เชิงคุณภาพเช่นนี้สามารถทำได้ แต่มักใช้คำว่า "ส่งเสริม"  เช่น  ส่งเสริมคุณลักษณะนิสิตที่พึงประสงค์ของหมวดวิชาศึกษาทั่วไปด้านจิตอาสาและจิตสาธารณะ  ฯลฯ  (จัดโครงการระดมกำลังนิสิตจิตอาสามาช่วยกัน)




วิธีการแก้ปัญหาของกลุ่มภาพอิสระคือ การตีเส้นประกวดจุดจอดรถ และติดป้ายกำหนดจุดจอดรถให้ชัดเจน โดยแยกจุดจอดรถยนต์และรถจักรยานยนต์จากกันอย่างชัดเจน ... วิธีการแก้ปัญหานี้เป็นแนวทางมาตรฐานที่ทำกันทั่วไป แต่นิสิตคงไม่สามารถทำได้ทันที ต้องติดต่อประสานงานกับผู้รับผิดชอบดูแลเพื่อขออนุญาตก่อน  

นอกจากวิธีนี้แล้ว อยากเสนอให้นิสิตช่วยกันคิดหาวิธีใหม่ ๆ สร้างสรรค์ เหมาะและเฉพาะกับคนยุค Gen Z  เช่นตัวอย่างดังคลิปในบันทึกนี้  ครับ ... เพราะความคิดสร้างสรรค์จะทวีความสำคัญแบบเท่าทวีในอีกไม่กี่สิบปีนี้ 

ในการเขียนโครงการ (ซึ่งได้มอบหมายในสัปดาห์ที่ผ่านมา) จะต้องเขียนแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและละเอียดขึ้น อ่านแล้วเห็นกระบวนการดำเนินงานและขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น พร้อมกับระบุช่วงเวลาในแต่ละขั้นตอน 

กลุ่มเพชร

กลุ่มเพชรเลือกปัญหาเกี่ยวกับที่จอดรถจักรยายนต์บริเวณตึกราชนครินทร์  และวิเคราะห์สาเหตุว่า เป็นเพราะ ๑) ที่จอดรถไม่เพียงพอ ๒) คนขาดวินัยในการจอดรถ และ ๓) เส้นเครื่องหมายและป้ายบอกไม่ชัดเจน  และกำหนดแนวทางการแก้ไขด้วยการ  ๑) ทำเครื่องหมายและป้าย (ข้อ ๓)) และ ๒)สร้างจิตสำนึกให้เห็นความสำคัญของวินัยในการจอดรถ ... เป็นการวิเคราะห์ที่เป็นเหตุเป็นผลดีครับ  น่าสนใจมากว่าสองแนวทางนี้จะแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของที่จอดรถได้หรือไม่ 

กลุ่มเพชรกำหนดวัตถุประสงค์ ๒ ประการ  ได้แก่ 
  • ๑) เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรบริเวณตึกราชนครินทร์  ...  เยี่ยมมากครับ หากเป็นโครงการใหม่ ควรมีขั้นตอนนี้ก่อนเสมอ 
  • ๒) เพื่อศึกษาปัญหาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนสถานที่จอดรถ... ข้อนี้เป็นประเด็นเดียวกับข้อ ๑) ครับ ควรตัดออก  
วัตถุประสงค์น่าจะขาดไป ๒ ข้อ เมื่อพิจารณาถึงวิธีการแก้ปัญหาที่กำหนด คือ ๑) สร้างเครื่องหมายและปัายบอกจุดจอดรถจักรยานยนต์บริเวณ......    และ ๒) ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกในการจอดรถจักรยานยนต์อย่างมีวินัย ฯลฯ 








กลุ่มภูเขา

กลุ่มภูเขาเลือกปัญหา ท่อน้ำที่ตลาดน้อยอุดตัน เนื่องจาก ๑) พ่อค้าแม่ค้าทิ้งเศษอาหารลงท่อน้ำ (ตระแกรงกรองอาหารชำรุด) ๒) ขนาดของท่อระบายน้ำตื้น(เล็ก)เกินไป ๓) อุดตันเพราะเศษใบไม้ ๔) การทำความสะอาดท่อระบายน้ำของแม่บ้านไม่เต็มประสิทธิภาพ และ ๕) ขาดงบประมาณในการซ่อมบำรุงท่อระบายน้ำ

หลังจากการระดมสมองกัน กลุ่มภูเขากำหนดวิธีแก้ปัญหาไปที่สาเหตุที่ ๑) และ ๓) โดยจะระดมเงินกันในกลุ่มเพื่อไปจัดซื้ออุปกรณ์ (ตะแกรงรองเศษอาหารและใบไม้) มาติดตั้ง ...  วิธีนี้อาจไม่ดีสำหรับนิสิตทุกคน เพราะนิสิตบางคนอาจเดือดร้อนเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ และการไปซื้ออุปรณ์สำเร็จรูปมาติดตั้งนั้น นิสิตจะไม่ได้เรียนรู้หรือฝึกฝนการนำองค์ความรู้ของตนและไม่ได้ฝึกฝนการพึ่งตนเองในการแก้ปัญหา 

ขอแนะนำให้ระดมสมองกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะแก้ปัญหานี้อย่างไร โดยให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วมทั้งแรงใจ แรงกาย ใช้ทักษะการคิดสร้างสรรค์ หากจำเป็นต้องจัดซื้อหรือระดมทุน จะสามารถทำได้อย่างไรโดยไม่ให้เพื่อนเดือดร้อน หรือหากจะระดมทุนกันเองก็ต้องเป็นไปอย่าง "พอประมาณ" กับศักยภาพ อาจสร้างเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาเพียงจุดเดียว (ให้เห็นกระบวนการทำงานของทีม ภาวะผู้นำของทีม)





กลุ่มหมี
กลุ่มหมีเลือกน้ำท่วมบริเวณสนามกีฬาคอนกรีตข้างอาคารพลศึกษา  กำหนดเป้าหมายในการแก้ปัญหา ๒ ข้อ ได้แก่ 
  • ๑) สร้างจิตสำนึกให้บุคคลที่ใช้สนาม ... ถือเป็นเป้าหมายเชิงคุณภาพและเป็นนามธรรม ประเมินได้ค่อนข้างยาก แต่สามารถประเมินได้ด้วยการสังเกตพฤติกรรมและสัมภาษณ์  เป็นผลลัพธ์ (Outcome) เชิงพฤติกรรม ซึ่งหากทำสำเร็จจะนำมาสู่ประโยชน์ใหญ่และความยั่งยืนในตัวบุคคล   การเขียนวัตถุประสงค์ควรเพิ่มให้ชัดเจนและสามารถบรรลุจริงได้ เช่น ส่งเสริมจิตสำนึกสาธารณะในการใช้สนามกีฬาร่วมกัน ฯลฯ 
  • ๒) เกิดความสามัคคีในการใช้สนามและทำความสะอาดสนาม ... เป็นเป้าหมายเชิงนามธรรมเช่นกัน  เช่น ส่งเสริมความสามัคคี... แต่หากเน้นไปที่ความสามัคคี เป้าหมายข้อนี้จะเป็นประเด็นเดียวกับข้อแรก  จึงควรเน้นไปที่การแก้ปัญหาน้ำท่วมสนามฯ  ให้เห็นผลผลิต (Output) ของโครงการ เช่น  ได้อุปกรณ์สำหรับรีดน้ำออกจากสนามคอนกรีต ฯลฯ  หรือหากเขียนเป็นวัตถุประสงค์ จะเป็น เพื่อจัดทำอุปกรณ์สำหรับรีดน้ำออกจากสนามคอนกรีต เป็นต้น 
กลุ่มหมีไม่ได้เขียนวัตถุประสงค์ จึงยังไม่สามารถวิพากษ์ทักษะในการกำหนดเขียนวัตถุประสงค์ได้  (บันทึกต่อไปน่าจะได้เห็นครับ)



กลุ่มดอกบัว

กลุ่มดอกบัว เลือกปัญหา ที่จอดรถในมหาวิทยาลัยเช่นกันกับหลาย ๆ กลุ่ม  วิเคราะห์สาเหตุปัญหาว่า สถานที่จอดไม่เพียงพอ และการจอดรถซ้อนคัน นิสิตขี้เกียจขับไปจอดด้านใน  คล้าย ๆ กับหลายกลุ่ม แต่ที่น่าสนใจคือ แนวทางในการแก้ปัญหาน่าสนใจ  โดยกำหนดไว้ดังนี้ 
  • จะทำตนเองเป็นแบบอย่าง 
  • จะชักชวนเพื่อนสนิทให้เปลี่ยนแปลงตนเองบ้าง
  • จะไปเขียนป้ายบอกทางเข้าไปจอดให้ชัด 

    นี่คุณสมบัติของการเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง  หากจะเปลี่ยนเแปลงอะไร สิ่งที่ทำให้ได้คือ ๒ ประการแรก





    กลุ่มลำธาร

    กลุ่มลำธาร ตั้งปัญหาว่า "สนามกีฬาไม่สมบูรณ์"  ... ชื่อยังไม่ชัดเจน การตั้งปัญหาที่ชัดเจน จะนำไปสู่การตั้งชื่อโครงการที่ชัดเจน  ชื่อโครงการควรชัดเจนเห็นแนวทางการปฏิบัติพอสมควร  เช่น  พื้นสนามกีฬาคอนกรีตชำรุด  อุปกรณ์กีฬาชำรุด ฯลฯ  

    กลุ่มลำธารวิเคราะห์สาเหตุหลักของปัญหาคือ โรงเรียนบ้านท่าขอนยางมีงบประมาณน้อย จึงจะระดมเพื่อน ๆ จิตอาสา ไปร่วมพัฒนาสนามกีฬา ดังกล่าว 

    เมื่อลงพื้นที่นิสิตจะได้เรียนรู้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทักษะในการคิดเชื่อมโยง ตั้งคำถาม สืบค้น หาวิธีนำเอาความรู้ที่มีไปปรับใช้ ... สิ่งเหล่านี้น่าจะสะท้อนมาให้เห็นในการนำเสนอหลังจากโครงการเริ่มดำเนินการ 




    ข้อสังเกต

    ๑) นิสิตแต่ละกลุ่มวาดภาพระบายสีต้นไม้ได้สวยงามมาก  มีรากและกิ่งก้านแตกสาขาออกไปมากมาย 
    ๒) แต่สิ่งสำคัญคือทักษะในการวิเคราะห์ คิดคล่อง คิดยืดหยุ่น คิดละเอียดละออ และคิดริเริ่ม ยังไม่ได้แสดงออกผ่านชิ้นงาน .... อาจเป็นเพราะกระบวนการเรียนรู้ของผมเองที่ควรจะเอาตัวอย่างที่ดีในแต่ละขั้นตอนมาให้ดูก่อน  อย่างไรก็ดี มีกลุ่มที่ทำได้ดีพอสมควร เช่น กลุ่มภูเขา เป็นต้น  
    ๓) นิสิตส่วนใหญ่ยังเขียนวัตถุประสงค์ไม่ดี มีเพียงบางส่วนที่ทำได้ดี เช่น กลุ่มเพชร ที่กำหนดวัตถุประสงค์ข้อแรก 
    ๔) วิธีการแก้ปัญหาของนิสิตเกือบทั้งหมด ยังอยู่ในระดับ "ลอกเลียน" คือมีคนเคยทำแบบนี้และจะนำมาปรับใช้ปรับทำบ้าง ยังไม่ได้เกิดการ "สังเคราะห์" "ต่อยอด" หรือ "ริเริ่ม" วิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่ทันสมัย และได้นำความรู้และทักษะของนิสิตมหาวิทยาลัยมาใช้ให้เต็มที่  (ดูภาพ)




    ๕) เหตุผลที่ทำให้ชิ้นงานของนิสิตไม่ได้สะท้อนถึงทักษะการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และสังสรรค์ มากนัก น่าจะเป็นเพราะการลงพื้นที่หาข้อมูลและการสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องยังน้อย 

    ยังมีวิธีการที่หลากหลายและทันสมัยที่ผมเชื่อว่า นิสิตสามารถทำได้ .... และต่อไปจะนำมาบันทึกไว้แลกเปลี่ยนครับ 

    เจอกันในบันทึกที่ (๕) ครับ 

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น