วันอังคารที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๖๐๐๖ ภาวะผู้นำ ๑-๒๕๖๐ (๒) สำรวจปัญหาในมหาวิทยาลัย

บันทึกที่ (๑)

ในภาคการศึกษานี้ จำนวนสมาชิกในกลุ่มย่อยกำหนดไว้ไม่เกิน ๘ คน และมีเงื่อนไขว่า จะต้องคละสาขาวิชาหรือคณะต้นสังกัด ป้องกันไม่ให้รวมความถนัดไว้อยู่ที่กลุ่มเดียวกัน และเพื่อเพิ่มโอกาสในการฝึกฝนเรื่อง "เก่งคน" (Soft-Skills) หรือทักษะทางสังคม และตั้งชื่อตามบาบาทของผู้นำ ๑๒ ประการ แล้วมอบหมายให้เลือกพื้นที่และลงพื้นที่สำรวจด้วยตนเอง

การสำรวจรอบแรก ปัญหาที่พบเกือบทั้งหมดเป็นปัญหาด้านกายภาพ ได้แก่ ขยะ ห้องน้ำ น้ำเสีย สิ่งก่อสร้างชำรุดหรือเสื่อมโทรม จอดรถไม่เป็นระเบียบ ปัญหาการใช้รถใช้ถนน เป็นต้น สะท้อนว่าเป็นการสำรวจแบบสังเกตด้วยตา ปัญหาเหล่านี้ จัดว่าเป็นปัญหามิติวัตถุและมิติด้านสิ่งแวดล้อม  ปัญหามิติสังคมและวัฒนธรรมนั้น เป็นมิติอีกชั้นหนึ่งซึ่งจะพบได้ต้องใช้การสังเกตเชิงวิเคราะห์ สนทนา หรือสัมภาษณ์

ผมตั้งใจจะบันทึกกิจกรรมการเรียนรู้ของนิสิตไว้ให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้นิสิตรุ่นถัดไป ในปีการศึกษาถัดไป ได้เข้ามาศึกษาและนำมาต่อยอดต่อไป ลดการเรียนแบบเริ่มต้นใหม่ ส่งเสริมให้การเรียนรู้แบบวงจรวิจัยในชั้นเรียนไปในตัว

งานแรกที่มอบหมายคือ ให้นิิสิตแต่ละกลุ่มย่อยระดมสมองและลงสำรวจปัญหาในพื้นที่มหาวิทยาลัยหรือพื้นที่ใกล้เคียง และเลือกพื้นที่ ๆ สนใจ นำเสนอในลักษณะแผนที่เดินดิน และนำเสนอปัญหาและปัญหาด้วยตารางด้านล่างนี้


เพื่อให้นิสิตได้ฝึกวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้น จึงได้กำหนดแบ่งประเภทของปัญหาออกเป็น ๔ ประเภท โดยยึดเอาเกณณฑ์ตาม ๔ มิติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และแยก "ปัญญา" ออกจาก "ปัญหา" ซึ่งนิสิตมักมีคำถามเกี่ยวกับ "ปัญญา" ในที่ีนี้หมายถึง จุดเด่น จุดแข็ง โอกาศ (ในทฤษฎี SWOT) หรือภูมิปัญญาของชุมชน เช่น

  • มิติวัตถุ "ปัญญา" หมายถึง แหล่งผลิต ผลิตภัณฑ์โอท็อป ผลงานชิ้นสำคัญ หรือวัตถุดิบ  หรือภูมิปัญญาเกี่ยวกับการประดิษฐ์ หรือผลิต เป็นต้น 
  • มิติสังคม "ปัญญา" หมายถึง ภูมิปัญญาของสังคม ความร่วมมือที่เข้มแข็งของสังคม ความสำเร็จที่เกิดจากความสามัคคีของสังคม จุดเด่น จุดแข็งของคน ครอบครัว ชุมชน เป็นต้น 
  • มิติสิ่งแวดล้อม "ปัญญา" หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำ ป่า เขา แม่น้ำ ดิน ฯลฯ 
  • มิติด้านวัฒนธรรม "ปัญญา" หมายถึง วัฒนธรรม ประเพณี ที่ได้สืบสาน ทำนุบำรุงสืบต่อกันมา ฯลฯ 
ต่อไปนี้เป็นผลการสำรวจปัญหาเบื้องต้นของแต่ละกลุ่มย่อย ที่นำเสนอตามที่ได้รับมอบหมาย  โดยจำกัดเวลาการทำไว้เพียงกลุ่ม ๒๐ นาที  แต่ละกลุ่มต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด ให้แล้วเสร็จตามที่กำหนด 

กลุ่มลำธาร

กลุ่มลำธาร มีสมาชิก ๘ คน มาจาก ๕ สาขาวิชา เลือกพื้นที่โรงเรียนบ้านท่าขอนยาง (ติดลำน้ำชี) ปัญหาที่พบคือ ห้องน้ำเสื่อมโทรม ถนนทรุดโทรม โรงอาหารชำรุดทรุดโทรม สนามกีฬาไม่พร้อมใช้งาน บุคลากรไม่เพียง ขยะ น้ำท่วมอาคารเรียน บริเวณโรงเรียนรกร้าง







กลุ่มเพชร

กลุ่มเพชรสมาชิก ๘ คน เลือกพื้นที่สำรวจบริเวณลานจอดรถจักรยานยนต์ข้างตึกราชนครินทร์ หน้าร้านอาหารสวัสดิการ ติดกับสระน้ำข้างอาคาร  ปัญหาที่พบ  ปัญหาที่พบ ได้แก่ การจอดรถซ้อนคัน จอดในที่ห้ามจอด จอดในที่จัดไว้สำหรับรถยนต์ จอดไม่เป็นระเบียบแต่ล็อคคอรถ ที่จอดไม่เพียงพอ เส้นจราจรไม่ชัดเจน



(ขออภัยที่ภาพไม่ชัด จะมาแก้ไขภายหลัง)





กลุ่มดวงอาทิตย์

กลุ่มดวงอาทิตย์ มีสมาชิก ๗ คน พื้นที่ ๆ เลือกสำรวจคือรอบ ๆ ลานแปดเหลี่ยม ปัญหาที่พบ ได้แก่ การจราจร ไม่สวมหมวกกันน็อค ขยะ ความไม่สะอาดของบริเวณอาคาร อินเตอร์เน็ตช้า ... ต้องสู้ต่อไปครับในการลงรายละเอียดและความสมจริงของแผนที่มากขึ้น





กลุ่มดอกบัว

กลุ่มดอกบัวมีสมาชิก ๙ คน (อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ) จาก ๓ สาขาวิชา เลือกพื้นที่ตลาดนัดทางโค้งเทศบาลบ้านท่าขอนยาง ปัญหาที่พบได้แก่

  • การแข่งขันระหว่างพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าชนิดเดียวกัน 
  • สินค้าราคาแพง
  • นิสิตติดสินค้าแบรนด์เนม (Brand name) จึงไม่มาซื้อของในตลาด แม่ค้าขายไม่ดี
  • ปัญหาเรื่องขาดที่จอดรถ ขวางการจราจร 
  • การบริหารจัดการของเจ้าของตลาดไม่ดีนัก 
  • มลภาวะทางอากาศและเสียง 
  • ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ทิ้งลงท่อระบายน้ำ 
  • เป็นจุดเสี่ยงอันตรายจากการจราจร  นิสิตต้องเดินข้ามถนน








กลุ่มอินทรีย์

กลุ่มอินทรีย์มีสมาชิก ๘ คน จาก ๕ สาขาวิชา เลือกพื้นที่ระหว่างตึกราชนครินทร์ บัญชีและการจัดการ ศิลปกรรมฯ และสถาปัตยกรรมฯ ปัญหาที่พบ ได้แก่  การจอดรถไม่เป็นระเบียบ ขยะ น้ำเสีย


(ขออภัยที่ภาพไม่ชัด จะมาแก้ไขในภายหน้าครับ)




กลุ่มภาพอิสระ

กลุ่มภาพอิสระมีสมาชิก ๘ คน จาก ๗ สาขาวิชา เลือกพื้นที่บริเวณสวนสุขภาพ ม.มหาสารคาม วิทยาเขตในเมือง ปัญหาที่พบคือ ไฟฟ้าไม่เพียง สะพานชำรุด เครื่องเล่นไม่เพียงพอ สุนัขอุจาระเกลื่อน จอดรถในที่ห้ามจอด ทิ้งขยะไม่เป็นที่ น้ำในคลองไม่สะอาด  จุดเด่นของพื้นที่คือ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่ดีมาก บรรยากาศร่มรื่น มีศาลาพักเพียงพอและเหมาะสมต่อการพักผ่อน




กลุ่มเทียน

กลุ่มเทียนมีสมาชิก ๙ คน (เป็นกรณีพิเศษ) จาก ๖ สาขาวิชา เลือกพื้นที่สวนป่าสมุนไพรของมหาวิทยาลัย (ผมตั้งชื่อเอง น่าจะตรงกว่าที่นิสิตเรียกกันว่า "สวนสนุก")  ปัญหาที่พบ ได้แก่ เครื่องเล่นชำรุด (ไม่น่าจะซ่อมให้กลับมาใช้งานได้) ป่ารก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง  จุดเด่นหรือ "ปัญญา" คือ บริเวณนี้สามารถเป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้หรืออาจพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ หรือแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้








กลุ่มภูเขา

กลุ่มภูเขามีสมาชิก ๖ คนในเบื้องต้น จาก ๒ สาขาวิชา (จัดว่าผิดเงื่อนไขที่กำหนด ต้องมีอย่างน้อย ๓ สาขาวิชา) เลือกพื้นที่บริเวณโรงอาหารตลาดน้อย ปัญหาที่พบคือ

  • อากาศร้อนอบอ้าว
  • ถังขยะไม่เพียงพอ
  • ไม่มีที่กรองเศษอาหารสำหรับร้านอาหาร มีการเทเศษอาหารลงท่อ
  • ท่อระบายน้ำอุดตัน 
  • สถานที่คับแคบ 
  • ทิ้งขยะไม่เป็นที่
  • ขยะส่งกลิ่นเหม็น 
  • บางครั้งอาหารไม่เพียงพอ
  • พื้นที่บริเวณรอบไม่สะอาด








กลุ่มกำปั้น
กลุ่มกำปั้นมีสมาชิก ๙ คน จาก ๖ สาขาวิชา พื้นที่เลือกสำรวจคือ บริเวณหมู่บ้านลักษณาวดี หลัง สถานีตำรวจภูธรเขวาใหญ่ ปัญหาที่พบคือ ถังขยะไม่เพียงพอ ไม่มีการแยกขยะ ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีระบบการปกครองในหมู่บ้าน ไม่มีผู้รับผิดชอบ




กลุ่มหมี

กลุ่มหมี มีสมาชิก ๘ คน จาก ๓ สาขา เลือกพื้นที่บริเวณอาคารพลศึกษา มหาวิทยาลัยวิทยาเขต ม.ใหม่ ปัญหาที่พบ ได้แก่

  • ห้องน้ำชำรุด 
  • สนามกีฬาชำรุด
  • ที่จอดรถไม่เพียงพอ 
  • ความสว่างของสถานที่
  • ความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุในการสัญจร เพราะถนนอยุ่หลังสนามกีฬา (ลูกบอลกระเด็นไปโดน)
  • ทิ้งขยะไม่เป็นที่
  • ความสกปรกของขี้นก




ก่อนจบบันทึกนี้ ขอตั้งข้อสังเกตเพื่อการพัฒนา ดังนี้ครับ

  • หลายกลุ่มไม่ได้ลงรายละเอียดในแผนที่เดินดิน น่าจะเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงาน หรือการวางแผนและการแบ่งงานในทีม  ภายในเวลาที่กำหนดให้แค่ ๒๐ นาที ... ส่วนนี้น่าจะพัฒนาได้  ภาษาสากลที่ใช้เรียกผลการทำงานทั้งปริมาณและคุณภาพภายในเวลาที่จำกัดว่า "ประสิทธิภาพ" สิ่งที่ผู้นำต้องคำนึงถึงและพัฒนาอยู่เสมอคือ "ประสิทธิภาพในการทำงาน" 
  • ปัญหาที่พบเกือบทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงกายภาพ ที่ส่วนใหญ่ นิสิตไม่น่าจะสามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ... ประเด็นนี้เรามีเครื่องมือช่วยนิสิตวิเคราะห์ ซึ่งจะเขียนในบันทึกต่อไป 
  • นิสิตแต่ละกลุ่มตั้งใจทำ และทำงานร่วมกันอย่างสนุกสนาน เป็นวิชาเรียนที่ไม่ง่วง ไม่ต้องฟังบรรยาย 
  • นิสิตหลายกลุ่มไม่เติมช่อง "ปัญญา" และมีคำถามเยอะมากว่า อาจารย์ผู้สอนต้องการจะให้เติมอะไร ... ดังนั้น ปีการศึกษาถัดไป ควรตัดช่อง "ปัญญา" ทิ้งไปเลย ใช้ฐานปัญหาอย่างเดียวจะดีกว่า 
สุดท้าย ขอมอบหมายให้ท่านผู้อ่านที่เป็นนิสิตผู้ลงทะเบียนเรียนรายวิชานี้ในภาคเรียนนี้ เติมความความเห็นหรือข้อเสนอแนะเชิงพัฒนา ลงต่อท้ายบันทึกนี้ในลักษณะความเห็น พร้อมระบุชื่อจริงและรหัสนิสิต ไว้ให้ชัดเจน .... (เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น